บทเรียนสหพัฒน์(1) ช่วงก้าวกระโดด

ผมไม่ทราบว่า บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา จะพูดถึงพัฒนาการ กลุ่มธุรกิจสหพัฒน์อย่างไรในปาฐกถาครั้งสำคัญ ในสุดสัปดาห์นี้

กลุ่มธุรกิจนี้เกิดขึ้นและเติบโตหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีพัฒนาการที่น่าศึกษา โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านสำคัญ   ในช่วง30 ปีแรก ถือว่าเป็นยุคก้าวกระโดด จากนั้นมาเป็นช่วงการสร้างระบบ และขยายตัวตามโมเมนตัมทางธุรกิจ

 จุดเปลี่ยนสำคัญอย่างมีสีสันและตื้นเต้น   ถือเป็นบุคลิกและวงจรสำคัญ ของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ ไลฟ์สไตล์ มักจะเกิดขั้นเป็นระยะๆ   สำหรับสหพัฒน์ในยุคหลังๆมานี้ ดูเหมือนยังไม่มาถึง แม้ว่าบางคนจะมองว่าการกำเนิดของแบรนด์ไทย — bsc มีความสำคัญมากในยุค บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา แต่ยังต้องติดตามผลต่อไป

ผมเพียงหวังว่า มุมมองของผมจากนี้ จะช่วยให้การฟังบทเรียนจากปากของคนไม่ค่อยจะแสดงต่อสาธารณะชนนัก  น่าสนใจขึ้น ไม่มากก็น้อย

เราไม่อาจมองชื่อ สหพัฒน์ มีคุณค่าเป็นแบรนด์รวมของกลุ่มธุรกิจคอนซูเมอร์  ได้อย่างชัดเจน แม้ว่าจะมีการจัดงานแสดงความเป็นผู้ผลิตสินค้าคอนซูเมอร์หลากหลายที่สุดในประเทศมาแล้วในงาน Saha group fair มากกว่าสิบครั้ง ไม่ต้องพูดสินค้ามีจำนวนมากมาย ไม่เพียงแต่คนนอก แม้คนในยังนับไม่ถูก จำได้ไม่กี่บริษัท ผู้บริโภคจึงไม่ได้อ้างอิงถึง มีเพียงสินค้าที่กระจัดกระจาย ด้วยคุณค่าด้วยตัวมันเอง บางแบรนด์ มีความต่อเนื่องหลากหลายสินค้า

ที่สำคัญสินค้าส่วนใหญ่ที่ผู้คน จำได้ และยอมรับนั้น เป็นแบรนด์มาจากต่างประเทศ ความเชื่อมโยงทางความรูสึกของผู้บริโภคไม่อาจเชื่อมาถึง สหพัฒน์ได้โดยตรง

ผู้บริหารอาจไม่ให้ความสำคัญกับ สิ่งสำคัญสิ่งนี้  สำหรับกิจการเริ่มต้นมากับพัฒนาการไลฟ์สไตล์ของสังคมไทยเกือบๆ 60 ปี ไม่ได้หมายความจะไม่สามารถสร้างได้   หากต้องใช้เวลา และการบริหารอันเหมาะสม

อีกด้านหนึ่ง เมื่อมองลึกกว่ากว่าผู้บริโภค  ไม่ว่าในฐานะนักลงทุน หรือผู้ติดตามความเป็นทางสังคมเช่นผม  น่าจะได้บทสรุปว่ากลุ่มสหพัฒน์ เป็นกลุ่มบริษัทคนไทย  สามารถพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมั่นคง และยอมรับว่ามาจากการบริหารที่ดี

ผมลองค้นข้อมูลคร่าวๆจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของกลุ่มสหพัฒน์  มีประมาณ  20บริษัท   ในจำนวนนี้ เป็นบริษัทหลักๆของกลุ่มด้วย ในนี้มีสองบริษัทถือเป็นโฮลดิ้งคัมปะนีด้วย (บริษัทลงทุน ซึ่งสะท้อนบุคลิกของกลุ่มได้ระดับหนึ่ง)  บริษัทสหพัฒนพิบูล ถือเป็นชื่อบริษัทแม่ ทำหน้าที่จัดจำหน่าย และถือหุ้นบริษัทเครือ ใน 20 ปีมานี้ ยอดขายส่วนใหญ่มาจากการจัดหน่ายสินค้าในเครือเติบโตมาตลอด ประมาณ5เท่า จนเกือบถึงสองหมื่นล้านบาทในปีที่แล้ว(หากรวมทุกบริษัทในเครือในตลาดหุ้น ยอดขายรวมกับเกือบหนึ่งแสนล้านบาท) แต่ในระยะห้าปีนี้เติบโตช้าลง   อีกแห่ง บริษัทสหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง มีรายได้จากเงินปันผลในการถือหุ้นในเครือ และให้เช่าสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรม   มีรายได้หลักส่วนใหญ่มาจากค่าสาธารณูปโภค ประมาณสองพันล้านบาท ส่วนรายได้จากเงินปันผล เช่นเดียวกับบริษัทแรกถือว่าน้อยมาก  ระดับร้อยล้านบาทเท่านั้น

 การเจริญอย่างช้าๆหรือมั่นคง ดูเหมือนต้องใช้ความพยายามมากกว่าในอดีตอย่างมาก สังเกตได้จากจำนวนบริษัทในเครือเติบโตจากระดับร้อยบริษัทเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีมากกว่าสามเท่าในปัจจุบัน จากแบรนด์ประมาณ 100 แบรนด์เพิ่มอย่างมากมายมาถึง 1, 000 แบรนด์ในเวลานี้ ถือเป็นจำนวนที่มีนัยยะสำคัญในเชิงการจัดการ สำหรับการรักษาอัตราการเติบโต เช่นที่ผ่านมา

อีกประเด็นหนึ่ง  เท่าที่ประเมินอย่างค่ร่าวๆ บริษัทผลิตและจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ (เสื้อผ้า เครื่องสำอาง รองเท้า ฯลฯ) มีอัตราการเจริญเติบโตที่ช้ากว่าบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าพื้นฐาน  โดยเฉพาะสินค้าอาหาร  สิ่งเหล่านี้ สะท้อนพฤติกรรมผู้บิโภคที่น่าสนใจ ตลาดผู้บิโภคที่เชื่อมโยงกับไล์ฟ์สไตล์  มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  มีความซับซ้อนมากขึ้น และมีสินค้าในตลาดจำนวนมาก ในหลากหลายระดับ เป็นภาวะการแข่งขันที่ค่อนข้างเต็มที่ เมื่อเปรียบกับยุคก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะช่วงสงครามเวียตนาม   ในยุคที่สหพัฒน์ เติบโตอย่างมีสีสันที่สุด

ดัชนีนี้ย้ำว่า สหพัฒน์ในยุคบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา  เป็นผู้นำ เมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว เป็นยุคการปรับตัว ท่ามกลางกระแสการแข่งขันที่เข้มข้น สลับซับซ้อน การเตรียมตัวเพื่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต คงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมาก ผมจะขออรรถาธิบายในตอนต่อไป

เป็นไปไม่ได้ที่เข้าใจ สหพัฒน์อย่างดี หากไม่กลับมาพิจารณาสิ่งที่กล่าวถึง การเปลี่ยนแปลงสำคัญ ในช่วงก้าวกระโดดเสียก่อน

เทียม โชควัฒนา(2459 -2534) 

หนังสือบริหารสมัยใหม่ มีความเชื่อตรงกันว่า ประสบการณ์ที่มีค่าของนักบริหาร ไม่ใช่จำนวนปี หากต้องเผชิญและแก้ปัญหาด้วยความยุ่งยาก  และซับซ้อน  แนวคิดนี้พอจะสนับสนุนความจริงที่ว่า ผู้บุกเบิกสร้างรากฐานธุรกิจไทยปัจจุบัน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง  ล้วนผ่านประสบการณ์แห่งความยุ่งของชีวิต และการจัดการธุรกิจ ภายใต้สถานการณ์ผันแปร  ตั้งแต่การเปลี่ยนการแปลงครอง  สงครามโลกครั้งที่สอง  ประสบการณ์โดยตรง ท่ามกลางกิจการค้าของชาวจีนโพ้นทะเล  ฝรั่ง และญี่ปุ่น  ที่สำคัญได้เห็นพฤติกรรมของผู้บริโภค เริ่มคลี่คลายและ แยกแยะเป็นหลายระดับ จากความต้องการพื้นฐาน เริ่มเข้าสู่สินค้าที่เกี่ยวกับชีวิตสมัยใหม่

 เทียม  โชควัฒนา เกิดและเติบโตในใจกลางของเหตุการณ์นั้น

เขาเริ่มต้นตามแบบฉบับชาวจีนในแผ่นดินไทย ด้วยค้าขายโซห่วย ธุรกิจขั้นต้น ท่ามกลางการค้าส่งออกข้าวของชาวจีนโพ้นทะเลที่ทรงอิทธิพล     ขณะที่ฝรั่งตะวันตกเปิดห้างสินค้าที่ยกระดับอีกขั้น– สินค้าคอนซูเมอร์ กับสังคมชั้นสูง โดยมีญี่ปุ่นในยุคโซโกะโซชะ เปิดกิจการอย่างเงียบๆแทรกตัวอยู่ด้วย เมื่อสงครามโลกระบิดขึ้น ความยุงยากเกิดขึ้นพร้อมๆกับโอกาสใหม่  ห้างฝรั่งปิดตัวเอง ญี่ปุ่นเข้ามาบทบาทพร้อมกับกองทหาร  กลุ่มการค้าชาวจีนดั้งเดิม กลุ่มใหญ่ ต่อต้านญี่ปุ่น กลุ่มที่จำเป็นหรือต้องการค้าขายกับญี่ปุ่นมีโอกาสขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มใหม่

ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด ถึงความแตกต่างของจีนในไทยสองกลุ่ม แต่เมื่อสงครามโลกจบลง แม้ญี่ปุ่นจะเป็นผู้พ่ายแพ้สงคราม แต่มีกลุ่มชาวจีนในไทยกลุ่มหนึ่ง  พร้อมจะเสี่ยงด้วยการตั้งกิจการค้าขายกับญี่ปุ่นโดยตรง     เทียม คือคนไทยเชื้อสายจีน รุ่นที่เติบโตหลังสงครามโลก  รุ่นนั้น รุ่นเดียวกับอีกหลายคน เช่น ถาวร พรประภา แห่งสยามกลการ   หรือเกียรติ ศรีเฟื้องฟุ้ง

การตัดสินใจตั้งกิจการร่วมทุนกับชาวญี่ปุ่นที่เคยทำงานบริษัทการค้าในไทยที่เมืองโอซาก้า เพื่อจัดหาสินค้าญี่ปุ่นมาขายในเมืองไทย ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดของกลุ่มสหพัฒน์ในยุคบุกเบิก

ธุรกิจสินค้าคอนซูเมอร์ญี่ปุ่น สร้างกิจการภายใต้ขอกำจัดมากมาย หลังจากพ่านแพ้ในสงครามโลก เป็นบทเรียนที่มีค่ามาก สำหรับคนไทยที่ส่งไปฝังตัวทำการค้าที่นั่น  แนวคิดนี้ยังทันสมัยเสมอ หากคุณจะดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ ไม่ว่ายุคเทเล็กซ์  หรืออินเทอร์เน็ท  แท้ที่จริงก็คือบทเรียนของสินคอนซูเมอร์ญี่ปุ่นที่ครองตลาดโลกนั่นเอง แต่เทียม โชควัฒนาขอใช้บทเรียนเพียงครึ่งเดียว

แค่นั้นก็นับว่าเพียงพอแล้ว สำหรับผู้บริหารธุรกิจคนไทย ประหนึ่งเข้าโรงเรียนการบริหารแบบญี่ปุ่น  สองสามคน ที่เทียมโชควัฒนา ส่งไปประจำที่นั่น  เป็นผู้สร้างเครือข่ายธรกิจอุตสาหกรรมที่ใหญ่โตในเวลาต่อมา ถึงสองกลุ่มธุรกิจ  นั่นคือ สหยูเนียน และสหพัฒน์   โดยมาจากคนสองคน คือ ดำหริห์ ดารากานนท์(น้องภรรยาของเทียม)  และบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา(บุตรชายผู้สืบทอด)

พวกเขามีความเชื่อมั่นอย่างสูง ไม่เพียงสินค้า  หากรวมถึง ความสัมพันธ์  การบริหาร และ ยุทธ์ศาสตร์แบบฉบับญี่ปุ่น   ที่สำคัญเข้าใจไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค  ในมิติการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และส่งผลสะเทือนถึงกัน ในกรณีญี่ปุ่น ได้รับอิทธิพลมาจากสังคมอเมริกัน ในตอนนั้น ญี่ปุ่นถูกกำหนดทิศทางประเทศและวิถีชีวิต โดยคนอเมริกัน   เชื่อว่าอิทธิพลจะส่งผลมาถึงเมืองไทยในไม่ช้า  ซึ่งก็เป็นจริง เมื่อสหรัฐเช้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคนี้  โดยเฉพาะเมืองไทย ไม่เพียงธุรกิจอเมริกันเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคม ธุรกิจญี่ปุ่นก็ฉวยโอกาสได้ไม่แพ้กัน  และรู้สึกจะแนบเนียนกว่าด้วยซ้ำ

ความเข้าใจรวบยอดธุรกิจสินค้าคอนซูเมอร์ของเทียม โชควัฒนา พัฒนาไปอีกขั้น  ในฐานะผู้บุกเบิกการโฆษณาสินค้า และสร้างแบรนด์   ถือเป็นเรื่องใหม่มากในสังคมไทย  แต่เป็นเรื่องที่คึกคักในสังคมญี่ปุ่น   “กิจการบริษัทโฆษณาซึ่งเติบโตในราวปี 2505 ทั้งบริษัทคนไทยกลุ่มหนึ่ง และบริษัทญี่ปุ่น เช่นเดนท์สุ (2507) ซูโอเซ็นโก (2506) และของตะวันตก เช่น แมคแคน-อิริคสัน (2508) ในช่วง 10 ปีแรกเติบโตอย่างไม่หวือหวามากนัก ครั้นสถานการณ์เศรษฐกิจเปลี่ยนไป เข้าสู่ภาวะวิกฤติอันสืบเนื่องจากวิกฤติการณ์น้ำมัน และการแข่งขันทางธุรกิจมากขึ้น ธุรกิจโฆษณาได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญของสินค้าคอนซูเมอร์ ต่างชาติ ที่ทยอยเข้ามาอย่างมากในช่วงเวลานั้น” (ส่วนหนึ่งจากงานเขียนของผมเอง อรรถาธิบายสังคมธุรกิจไทยไว้เมื่อปี2530–โปรดอ่านเรื่อง สามทศวรรษธุรกิจไทย TRADING SOCIETYยังครอบงำหนาแน่น)

ในปี2507 นั่นเอง บริษัทฟาร์อีสต์แอดเวอร์ไทซิ่ง เกิดขึ้น ตำนานการโฆษณาสินค้า สามารถเข้าถึงคนทั่วประเทศ ผ่านสื่อต่างๆโดยเฉพาะยุคทรานซิสเตอร์เริ่มต้นขึ้น พร้อมๆกันนั้น ขบวนสินค้าของสหพัฒน์ กระจายด้วยเครือข่ายจัดจำหน่ายทั่วประเทศ   ตอบสนองผู้บริโภคที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสังคมครั้งใหญ่ในยุคสงครามเวียตนาม

“อิทธิพลทางเศรษฐกิจของสหรัฐในภูมิภาคนี้และต่อมาขยายไปทั่วโลก  ได้กระตุ้นโดยตรงให้กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของโลก  แสวงหาโอกาสใหม่ในขอบเขตทั่วโลกด้วย  ในเวลานั้น เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็น การเดินทางไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษย์ มีการถ่ายทอดสดทางโทรศัพท์มาถึงครัวเรือนประเทศไทยด้วย ที่สำคัญเป็นพิเศษ การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์สัมพันธ์กับชีวิตระดับบุคคล(Individual) เกิดขึ้นครั้งใหญ่ อาทิ   เทปวิดีโอ (ปี2512) Floppy Disc (2513) Microprocessor (2513) เคร่องคิดเลขขนาดเล็ก (2515) Compact Disc (2515) Microcomputer (2515) เทปVHS (2518) สิ่งเหล่านี้ ย่อมจะสร้างแรงผลักดันในเชิงธุรกิจให้แสวงหาตลาดที่กว้างขวางขึ้น    

ประเทศไทยได้รับอิทธิพลโดยตรงจากปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ  ในทางเศรษฐกิจเกิดการพัฒนาในด้านสาธารณูปโภค ระหว่างเมืองกับหัวเมืองและชนบท การเข้ามาของการลงทุนจากต่างประเทศ และการเติบโตของธุรกิจท้องถิ่น เปิดโอกาสเกิดกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ  เพื่อสนองพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยที่เริ่มเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง(Critical Mass) ใช้สินค้าเพื่อความสะดวกสบายแบบตะวันตกมากขึ้น”คำอธิบายของผม เมื่อ 10 ปีที่แล้ว(โปรดอ่านเรื่อง Critical Mass ว่าด้วยอิทธิพลของสงครามเวียตนาม ที่สอดคล้องกัน

บุณยสิทธิ์  โชควัฒนา(2480-ปัจจุบัน)

อายุและประสบการณ์ของเขาเทียบเคียงได้กับ ธนินทร์ เจียรวนนท์  แห่งซีพี  ด้วยวัยใกล้เคียงกัน และมีบทบาทในการบริหารและสร้างอาณาจักรธุรกิจในระยะเดียวกัน โดยอยู่ในวงจรการพัฒนา และความยุ่งยากทางธุรกิจอย่างยาวนานเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าบุณยสิทธิ์ มีบิดาเป็นพี้เลียงในช่วงก้าวกระโดดครั้งแรก

 เทียมกับบุณยสิทธิ์ แตกต่างจาก   Like father like son     ของสังคมธุรกิจไทยตรงที่สามารถสร้างความต่อเนื่องอย่างมหัศจรรย์ เป็นภาพสะท้อนพัฒนาการธุรกิจคอนซูเมอร์ในประเทศไทย หรืออาจกล่าวได้ว่า นี่คือ บทบาทสำคัญคนสองรุ่น ในบริบทเฉพาะธุรกิจคอนซูเมอร์มีพลวัตรสูง ในสังคมไทย อย่างน้อยก็3-4 ทศวรรษ

งานของเขา ถือเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ  มีผลต่ออนาคตของกลุ่มสหพัฒน์ ด้วยความทุ่มเท    ฐานะคนไทยและธุรกิจไทยในการนำพาเข้าสู่พรมแดนที่ไม่คุ้นเคย   นั่นคือรากฐานการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ที่มีวงจร และกระบวนการต่อเนื่อง   สม่ำเสมอ และมีมาตรฐานเดียวกัน  การผลิตสินค้าคอนซูเมอร์ ถือเป็นการวางรากฐานของธุรกิจ  เพื่อสร้างวงจรธุรกิจที่ทรงพลัง ของกลุ่มสหพัฒน์ ในช่วงสำคัญที่สุดอีกช่วงหนึ่งของประวัติสาสตร์

ที่สำคัญจากนั้น ในกระบวนการนี้  สามารถเลือกสินค้า  ตอบสนองความต้องการ วิถีชีวิตสมัยใหม่ของคนไทยได้อย่างลงตัวอย่างยิ่ง  

คำว่ากลุ่มสหพัฒน์  อาจจะกล่าวได้ว่า เริ่มต้นจากตรงนี้

ผมคิดว่า เราฟังความเห็นของบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา เสียก่อน แล้วค่อยมาว่ากันต่อ

 

หมายเหตุ

เมื่อ 3-4 สัปดาห์ก่อน สมใจ วิริยะบัณฑิตกุล   เพื่อนร่วมงานเก่าของผม นำต้นฉบับ”บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา   ชีวิตนี้เป็นอะไรก็ได้ แต่ต้องเป็นหนึ่ง” มาให้อ่าน เข้าใจว่าหนังสือคงพิมพ์เสร็จแล้ว มีแจกในงานปาฐกถาของ บุณยสิทธิ์ สุดสัปดาห์นี้ (8 สิงหาคม) ด้วย   เป็นหนังสืออ่านสนุกมาก ผมเลยเกิดไอเดียเขียนเรื่องขึ้นมาชุดหนึ่ง (2ตอน) โดยอาศัยข้อมูลจากต้นฉบับนี้ ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ การค้นคว้าอย่างเร็วๆจากอินเทอร์เน็ต และข้อเขียนบางเรื่องที่เกี่ยวพันในฐานข้อมูลของตนเอง

เหตุการณ์สำคัญ

สงครามโลกครั้งที่สอง( 2482-2488)

2484 กองทหารญี่ปุ่นบุกไทย

2485 ห้างเฮี้ยบเซ่งเชียง ก่อตั้งขึ้น   โดยเทียม โชควัฒนา เพื่อขายสินค้าเบ็ดเตล็ด

2487 ธุรกิจสำคัญของไทยเริ่มก่อตั้งขึ้น    ตั่งแต่  ธนาคารกรุงเทพ( 2487 ) กสิกรไทย,กรุงศรีอยุธยา( 2488 )     สยามกลการ ,ซีพี(2495  )  เซ็นทรัล( 2499)

2489 ตั้งบริษัทฮิบเฮงฮง ที่ ฮ่องกง (ในช่วงอังกฤษกลับมาปกครองอีกครั้งหลังสงคราม) จัดหาสินค้า ส่งมาให้ห้างเฮี้ยบเซ่งเชียงจำหน่าย

2491 กองบัญชาการทหารพันธมิตร นำโดยสหรัฐฯ อนุญาตให้เอกชนญี่ปุ่น ทำการค้าระหว่างประเทศได้อย่างจำกัด ความสัมพันธ์ทางการค้าไทย-ญี่ปุ่นเริ่มต้นบ้าง

ตีพิมพ์ครั้งแรก มติชนสุดสัปดาห์ 7-13 สิงหาคม 2552

 

เรื่องต่อเนื่อง

กลุ่มสหพัฒน์(2)โมเดลทางธุรกิจ

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: