ศตวรรษหัวหิน

ผมเห็นด้วยว่า  เราควรเฉลิมฉลองหนึ่งศตวรรษหัวหิน  ปีที่มีความหมายเป็นพิเศษ

ประวัติศาสตร์ที่ว่า  นายช่างชาวอังกฤษค้นพบชายหาดอันสวยงามเมื่อร้อยปีทีแล้ว เป็นเพียงชิ้นส่วนย่อยๆของภาพใหญ่ ในช่วงเวลา สยามกู้เงินสกุลปอนด์สเตอริ่ง เพื่อสร้างทางรถไฟสายใต้อีกช่วงหนึ่ง ต่อจากเพชรบุรีผ่านหัวหิน    เป็นกุศโลบายชนชั้นนำสยาม ในความพยายามผนวกระบบเศรษฐกิจภาคใต้ ท่ามกลางแรงบีบคั้นจากระบบอาณานิคม

เป็นภาพต่อเนื่อง กระบวนการทีเรียกว่าWesternization of Siam ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมา ภาพหนึ่งคือการปรับโฉมหน้ากรุงเทพฯ

พระราชวังดุสิตสร้างขึ้น(2442) ในฐานะศูนย์กลางความทันสมัยของกรุงเทพฯ พร้อมๆกับถนนราชดำเนิน(2444)  ต่อเนื่องถึงพระที่นั่งอนันตมหาสมาคม(2451)  เป็นยุคสร้างแลนด์มาร์คใหม่กรุงเทพฯ โดยได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมอาณานิคม  ในเวลานั้นการก่อสร้างวังหรือที่อยู่อาศัยของชนชั้นนำไทย ดำเนินไปในแนวเดียวกันอย่างครึกโครม    อาทิ  วังปารุสกวัน(2446)  วังลดาวัลย์(2449)  วังพญาไท ( 2452)  วังจันทร์เกษม(2453)  วังเทวะเวสม์(2457)  วังสระปทุม(2459)  (2461)  ทั้งนี้รวมถึง วังไกลกังวล(สร้าง2469) ที่หัวหิo ควรรวมสถานีรถไฟหัวหิน และโรงแรมรถไฟ ซึ่งมีมาก่อนหน้าเล็กน้อยเปิดบริการในปี 2554และ246ุ6ด้วย)

เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น  ทั้งจากแรงบีบคั้น และแรงบันดาลใจ รวมทั้งมีต้นทุนที่สูงมากด้วย

การลงทุนพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัยช่วงปลายรัชสมัยรัชการที่5  ได้ใช้เครื่องมือการเงินระบบอาณานิคมด้วย   นั่นคือ การออกพันธบัตรขายในตลาดต่างประเทศ ทั้งที่ลอนดอน ปารีส และเบอร์ลิน ในบางมิติมิติ แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลานั้น จนได้รับความเชื่อถือจากระบบอาณานิคม  แต่อีกด้านหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งต้นตอวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตอ่จากนั้น  ในช่วงก่อนการเปลี่ยนการปกครอง2475

การออกพันธบัตรครั้งสำคัญ เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายรัชการที่5(ปี2448 และ2450) มูลค่า 3ล้านปอนด์สเตอริง เพื่อนำมาใช้สร้างระบบสาธารณูปโภค  แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ในปี 2552จำต้องกู้เงินเพิ่มอีกก้อนหนึ่ง  เป็นการกู้เงินครั้งใหญ่ ผ่อนชำระยะยาวถึง40 ปี  จำนวน 4,630,000 ปอนด์ จาก Federation of Malay Straits(เขตปกครองหนึ่งของสหราชอาณาจักรในยุคอาณานิคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งมาเลเซียในปัจจุบัน) เป็นการกู้เงินที่มีวัตถุประสงค์เจาะจงเพื่อสร้างทางรถไฟบริเวณแหลมมลายูในส่วนที่เป็นเขตแดนของสยาม ซึ่งไปว่าแล้วเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อเจ้าอาณานิคมอังกฤษเป็นพิเศษ  โดยใช้เส้นทางรถไฟเป็นหลักทรัพย์คำ้ประกันเงินกู้ก้อนดังกล่าวด้วย ( อ่านเพิ่มเติมจากEconomic Handbook of the Pacific Area     Edited by Frederick V. Field for the Institute of Pacific Relations , Foreword by Newton D. Baker Doubleday, Doran & Company  Inc. Garden City, New York 1934  )

การสร้างทางรถไฟสายใต้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2444 เริ่มก่อสร้างจากธนบุรี บริเวณริมฝั่งเจ้าพระยา   สร้างถึงเพชรบุรีในปี2446   เงินไม่พอจึงหยุดสร้างไปหลายปี   หลังจากกู้เงินก้อนใหม่ จึงสร้างต่ออีกครั้งในปี2452 จนถึงสงขลา(2458) และต่อเนื่องถึงปลายทาง ที่ปาดังเบซาร์(2461)

ประวัติศาสตร์การสร้างทางรถไฟมีสีสัน ในช่วงต้นๆมีแบ่งเขตอิทธิพลอาณานิคมด้วยขนาดของรางรถไฟ โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นแบ่ง   เขตเหนือ–ใช้มาตรฐานฝรั่งเศส ส่วนเขตใต้–ใช้มาตรฐานอังกฤษ

การสร้างรถไฟสายใต้เป็นยุทธศาสตร์ในความพยายามผนวกระบบเศรษฐกิจทางภาคใต้ที่กำลังเติบโต   หลังจากการค้าข้าวและสัมปทานไม้สักในภาคกลางและภาคเหนือถึงจุดอิ่มตัว    การค้าแร่ดีบุกทางภาคใต้เพิ่งเริมต้นโดยมีตัวเร่งจากแรงบีบจากอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งมีอำนาจครอบงำกิจการเหมืองแร่ในเขตปกครองมาเลเซีย  กำลังมีความพยายามเข้ามาเมืองไทย  โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เข้าแทนที่การทำเหมืองแบบเก่าโดยเจ้าเมืองเชื้อสายจีน(อ้างจากหนังสือของ Capital Accumulation in Thailand 1855-1985 ของ Akira Suehiro )

หัวหินเป็นเพียงชิ้นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ทางประวัติศาสตร์หน้านี้

กุศโลบายหนึ่งในยุคอาณานิคม ว่าด้วยการส่งพระโอรส ข้าราชบริพาร ขุนนาง ไปเรียนรู้วิชาการยุโรป กลายเป็นกระบวนการสร้างชนชั้นนำใหม่  ผู้มีไลฟสไตล์แบบยุโรปด้วย จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

จากหนังสือ แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม (โดย ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ และ ไอลีน ฮันเตอร์ แปลโดย พันขวัญ พิมพ์พยอม –เรื่องเล่าเกี่ยวกับสามัญชนชาวรัสเซีย กับเจ้าฟ้าสยาม  ต้นราชสกุลจักรพงษ์  เจ้าของวังปารุสกวัน)  มีหลายตอนกล่าวถึงชนชั้นนำใหม่สยาม  ผู้ผ่านการศึกษาจากต่างประเทศ  ว่าด้วยรสนิยม และการใช้ชีวิตแบบผู้ดียุโรป ไว้อย่างมีสีสัน

การสร้างหัวหินให้เป็นสถานที่ตากอากาศ เชื่อมโยงกับชนชั้นนำ เชื่อมโยงกับไสฟ์สไตล์ใหม่ จึงมีมิติ มากกว่าคำนิยามง่ายๆ ว่าด้วยเขตปกครอง ตำบล หรืออำเภอ 

การสร้างทางรถไฟและสถานีหัวหิน  เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางจากกรุงเทพฯ  เป็นปฐมบท”หัวหิน”  สถานตากอากาศแห่งแรกของสยาม  เป็นไปอย่างมีระบบ มิใช่เรื่องบังเอิญ    จากช่วงรัชการที่6 ต่อเนื่องถึงรัชการที่ 7   วังไกลกังวล คือต้นแบบที่พักตากอากาศของชนชั้นสูง   จุดกระแส การสร้างบ้านตากอากาศของชนชั้นนำอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นชุมชนใหม่ จนมาถึงการสร้างโรงแรมหัวหินเพื่อรองรับผู้คนฐานกว้างมากขึ้น

เป็นทีทราบกันว่า ทั้งรัชกาลที่ 6และ 7 เป็นกษัตริย์ไทยสองพระองค์แรกเคยใช้ชีวิตในยุโรป

รัชการที่6 ทรงเป็นกษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ผ่านการศึกษาจากอังกฤษ  โดยเฉพาะจาก Oxford University และ Royal Military Academy, Sanhurst (2440)  แม้ว่าการใช้ชีวิตจะแตกต่างไปบ้างก็ตาม  ในหนังสือ “เจ้าชีวิตของ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์  เขียนไว้ว่า “พระองค์ทรงเสียพระทัยที่มิได้โดยไม่มีโอกาสเข้าโรงเรียนกินนอนของอังกฤษที่เขาเรียกว่าปับลิกสคูล(Public School) เช่นเดียวกับพระอนุชาทั้งหลาย เพราะพระจุลจอมเกล้าทรงเห็นว่า พระองค์อยู่ใกล้พระราชบัลลังก์เกินไป”  ส่วนรัชกาลที่7 เป็นคนไทยคนแรกที่ผ่านโรงเรียนมัธยม Eton College  โรงเรียนประจำแบบฉบับของ”ผู้ดีอังกฤษ” ทีมีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่ง ในทำเนียบศิษย์เก่าทีมีชื่อเสียง   ในกลุ่มRoyal (ในWebsiteของโรงเรียน)  มีพระราชวงศ์ไทย3พระองค์อยู่ด้วย(อีกสองพระองค์ พระเจ้าพีระพงศ์ภานุเดชและ  พระองค์เจ้าเฉลิมพลฯ) ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับกษัตริย์ของราชวงศ์เนปาลพระองค์ก่อน(Birendra of Nepal H.M .King)ที่ถูกปลงพระชนม์ไปเมื่อปี2544

หัวหินร้อยปี ควรมีความหมายมากกว่า  สถานตากอากาศทั่วไป  หัวหินมิใช่มีเพียงโรงแรมระดับโลกมาตั้งอยู่ ไม่ใช่มีเพียงชายหาดที่สวยงาม หากเชื่อมโยงประวัติศาสตร์การเมืองสยามในช่วงสำคัญๆ   มีคุณค่ามากพอจะเป็น Destinatioการท่องเที่ยวระดับโลก

เคิร์ท ว๊าชไฟท์ อดีตกรรมการผู้จัดการโรงแรมโอเรียนเต็ล ผู้ดำรงตำแหน่งยาวนานและประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่ง    เคยกล่าวกับผมไว้ว่า “นี่คือ สิ่งที่สำคัญมาก ทุกครั้งที่แขกของเรา ตื่นนอนขึ้นมา เขาจะต้องรู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน …..โรงแรมที่ดีจะต้องแทรก ให้เห็นวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ เพราะเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องการ แขกจากสหรัฐอเมริกา จะไม่เดินทางมาที่นี่ หากที่นี่เหมือนกับชิคาโก หรือซานดิเอโก เพราะพวกเขาต้องการประสบการณ์ใหม่ๆ” (ในคอลัมน์ จากโต๊ะบรรณาธิการ, นิตยสารผู้จัดการ ฉบับกุมภาพันธ์ 2544)

ประสบการณ์ที่หัวหินกับร่องรอยประวัติศาสตร์   มีวังไกลกังวล เป็นสัญลักษณ์สำคัญเชื่อมโยงสถาบัน กับประวัติศาสตร์การเมืองไทย  แวดล้อมด้วยสิ่งก่อสร้างสะท้อนอิทธิพลสถาปัตยกรรมอาณานิคมอีกบางแห่งที่หลงเหลืออยู่

คุณค่าที่สร้างจากประวัติศาสตร์ มิอาจสร้างขึ้นมาใหม่ได้   นับวันจะมีค่ามากขึ้น เมื่อเครื่องมือการตลาดสมัยใหม่ทำงานมากขึ้น

หากมีโอกาสต่อไป อาจจะกล่าวถึงบุคคล 3คน   ได้แก่ นายธนาคารผู้ล่วงลับ (บุญชู โรจนเสถียร) พัฒนารูปแบบการผักผ่อนแบบใหม่–ชีวาศรม (ปี2538)   คนอเมริกันสัญชาติไทย ผู้สร้างโอกาสยุคหลังสงครามเวียดนาม (วิลเลียม ไฮเนค)จุดกระแสเชนโรงแรมไทยระดับโลก-เปืดตัว เชน”อนันนตรา”ที่แรกที่นี่(ปี2544) และผู้มีประสบการณ์ขายเครื่องดื่มชูกำลังในต่างประเทศ (เฉลิม อยู่วิทยา)บุกเบิกVineyard ผืนใหญ่ที่หัวหิน(ปี2545)

ทั้งสามคนเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ   ในฐานะที่พวกเขาเข้าใจคุณค่าหัวหิน  และพยายามเชื่อมโยงสู่ยุคใหม่ๆ

————————————————————–

หัวหิน2490

“หัวหินรุ่งเรืองที่สุดสมัยรัชการที่7 สมเด็จพระปกเกล้าฯทรงโปรดปรานมาก     วังไกลกังวล เป็นพระราชวังส่วนพระองค์ สำหรับเป็นที่พักผ่อนสำราญพระอริยบทในเวลาฤดูร้อน ในสมัยรัชการที่เจ้านายและขุนนาง ตลอดจนผู้ดีมีเงินทั้งหลาย ต่างก็หาซื้อที่หัวหินมาปลูกบ้านพักกันมากมาย”

“ในปี ค.ศ.1947 นั้น เมืองพัทยายังไม่เกิด และถึงแม้มีเมืองชายทะเลอื่นๆ เช่น หาดบางแสนและหาดบางปูที่มีคนนิยมใช้เป็นสถานที่พักผ่อน แต่ในเวลาฤดูร้อน หัวหินยังครองตำแหน่งเป็นอันดับหนึ่ง และสังคมเมืองหลวงก็มุ่งไปพักผ่อนที่หัวหินเป็นส่วนมาก ข้าพเจ้ายังจำได้ดีว่าเมื่อข้าพเจ้าอยู่ตำหนักคอมตันเฮาส์ เจ้านายทุกๆพระองศ์เห็นเป็นเรื่องขำขันที่ข้าพเจ้าไม่เคยไปเที่ยวหัวหินเลย เพราะหัวหินเป็นสถานที่ตากอากาศที่มีชื่อเสียงที่สุดในรัชสมัยของสมเด็จพระปกเกล้าฯ”

“แหล่งที่สำคัญที่สุด และน่าสนใจของทุกคนที่ไปเที่ยวหัวหิน คือที่โรงแรมรถไฟหัวหิน และชายหาดแถวหน้าโรงแรมหัวหิน ผู้ที่ไม่มีบ้านพักของตนเอง มักมาจองบังกะโลรอบๆบริเวณโรงแรมรถไฟซึ่งปลูกไว้หลายหลังเรียงรายติดกัน มีผู้มาจองสำหรับพักในฤดูร้อนเต็มทุกๆปี นอกจากบังกะโลเหล่านี้ ก็ยังมีบังกะโลส่วนตัวซึ่งปลูกอยู่ใกล้ๆกับบังกะโลของรถไฟ ส่วนมากเป็นบังกะโลที่เจ้านายหรือลูกหลานของเจ้านายเป็นเจ้าของ ซึ่งมักจะให้เช่าและมีคนมาแย่งกันจองไว้หลายเดือนก่อนฤดูร้อน”

“พอตกเย็นทุกคนก็บ่ายหน้าไปสู่ชายหาดหน้าโรงแรมรถไฟ ทุกคนแต่งตัวสวยและขึ้นรถสามล้อไปลงหน้าโรงแรม เดินสู่ชายหาดหน้าโรงแรมรถไฟ ซึ่งเต็มไปด้วยฝูงชน ทั้งหนุ่มสาวโสด และไม่โสด ทุกเพศทุกวัย พวกเด็กสาวแต่งตัวประกวดประชันกันตามแฟชั่น สวมเสื้อสีสวยงดงามดังนางแบบที่ออกมาจากแคตตาล็อก แบบเสื้อสาวๆที่ล้ำหน้ากว่าคนอื่นๆ ก็ไล่แว่นกันแดดสีดำ สวมเสื้อไส่ชุดอาบน้ำสองท่อน ซึ่งทำให้เห็นเนื้อขาวผ่องตรงกลาง เป็นแฟชั้นใหม่ของเสื้ออาบน้ำที่ตกมาถึงเมืองไทย และมีคนไส่เสื่ออาบน้ำแบบนี้เดินอยู่ประปรายให้คนทึ่ง เป็นที่ตื่นตาตื่นใจของผู้ได้ชมยิ่งนัก “

 (ตัดตอนมาจากหนังสือ “ชีวิตเหมือนฝัน” (2533) ของคุณหญิงมณี ศิริวรสาร   เล่าประสบการณ์สำคัญของตนเอง ถือว่าเป็นหนังสือที่สั่นสะเทือนวงสังคมชั้นสูงของไทยพอสมควร    เนื่องจากคุณหญิงมณี (นามสกุลเดิมบุนนาค) มีชีวิตที่โลดโผน เคยเป็นนักเรียนทุน ก.พ.เรียน Oxford University  แต่ไม่จบ แต่งงานเสียก่อนกับพระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต     ซึ่งถือเป็นโอรสบุญธรรมของรัชการที่ 7   ในช่วงนั้นรัชการที่7 ประทับอยู่ประเทศอังกฤษ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เธอมีโอกาสตามเสด็จไปยังที่ต่าง ๆรวมทั้งเมืองตากอากาศสำคัญ ๆในยุโรป)

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

One thought on “ศตวรรษหัวหิน”

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: