เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ เข้ามาดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ในวันที่12 พฤษภาคม 2529 นับเป็นจุดเริ่มต้น ของยุคอีกยุคหนึ่ง ของธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ เป็นครั้งแรกธนาคารแห่งนี้บริหารโดยคนในครอบครัวผู้ถือหุ้นใหญ่ และกลาย เป็นครั้งสุดท้ายด้วยเช่นกัน
แม้ว่าที่ผ่านมา อินทิรา ชาลิจันทร์ เป็นผู้จัดการทั่วไป และต่อมาเมื่อโค่นธนิต พิศาลบุตรแล้ว เธอก็ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือน เธอมิได้เป็นผู้มีบทบาทอย่างแท้จริง เพียงปีเดียวจากนั้น บุตรชาย คนเดียว ผู้ทำงานธนาคารแห่งประเทศไทย และให้คำปรึกษาอยู่ข้างหลังมาระยะหนึ่ง ก็มาเป็นรองกรรมการผู้จัดการ เป็นที่รู้กันว่า นี่คือ ผู้บริหารตัวจริง
ว่าไปแล้ว แรงกดดันจากธนาคารแห่งประเทศไทยมีพอสมควร ว่าด้วยปรับปรุงการบริหาร และการเพิ่มทุนสำรอง ขณะเดียวกันดูเหมือนเกรงใจประธานกรรมการธนาคารด้วย การมาของเกริกเกียรติ จึงดูเหมือนเป็นทางออกที่ดีแก่ทุกฝ่าย
เกริกเกียรติ เกิดปี2485 เรียนจบระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสาธิตประสานมิตร แล้วนิธิพัฒน์ ผู้พ่อ ซึ่งเคยไป ประชุมที่นิวซีแลนด์ แล้วชอบประเทศนี้มาก จึงส่งไปเรียนที่นั่น เข้าเรียนระดับมัธยมปลายที่ Scots College โรงเรียนเอกชน ในเมืองWellington เขาเองก็มีความเป็นผู้นำอยู่บ้างเหมือนกัน ในฐานะเป็นถึง หัวหน้านักเรียน (Prefect) จากนั้น เข้าเรียน ด้านเศรษฐศาสตร์ Victoria University of Wellington นิวซีแลนด์ แต่เข้าใจว่าไม่จบ จึงตัดสินใจเปลี่ยนแผน เรียนปริญญาตรีใหม่ในสาขาเดิม ณ มหาวิทยาลัยของรัฐขนาดกลางWashburn University มลรัฐKansas สหรัฐอเมริกา แล้วมาเรียนMBA (Finance) University of Wisconsin
เนื่องจากใช้เวลาเรียนหนังสือมากกว่าปกติ จึงเริ่มต้นเมื่ออายุ34ปี เขาเข้าทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ในหน่วยงานกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน ไต่เต้าจากระดับผู้ช่วยนักวิเคราะห์ จนถึงหัวหน้าส่วนเวลาถึง9ปีเต็ม ในขณะที่นักเรียนทุนของธนาคารแห่งนี้ จะไปไกลกว่านี้มาก อย่างไรก็ดี เนื่องจากอายุมาก เขาจึงนับเป็นเพื่อนๆกับนักเรียนทุนแบงก์ชาติที่มีบทบาทมากในช่วงนั้น ไม่ว่าจะเป็นเริงชัย มะระกานนท์ หรือเอกกมล คีรีวัฒน์
เกริกเกียรติ เป็นคนนิสัยดี เพื่อนฝูงรักใคร่ อีกด้านหนึ่งบางคนก็ว่าเขาเชื่อคนง่าย และไม่เขี้ยวพอที่จะทำธุรกิจ ผู้คนที่รูจักเขาดี เชื่อว่า การเข้ามาบริหารธนาคารครอบครัว ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แล้วก็เป็นจริงอย่างนั้น
ปัญหาที่เขาเผชิญ มีอย่างน้อย2ประการ
ประการแรก แผนการเพิ่มทุน เนื่องจากธนาคาร มีกำไรน้อยลง ครอบครัวอินทรทูต ย่อมไม่พร้อมจะเพิ่มทุน ซึ่งก็เป็นเช่นนี้ ตลอดเวลานับสิบปี แต่เขายังเชื่อว่า สถานการณ์ได้แตกต่างออกไป ตลาดหุ้นเริ่มคึกคัก หากใช้กลไกตลาดทุน และสาขาจำนวนมาก ของธนาคาร ก็เชื่อว่าสามารถระดมทุนจากรายย่อยได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น สัดส่วนการถือครองหุ้นของครอบครัว ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่
การมองการณ์ในแง่ดีเรื่องนี้ คือปัญหาสำคัญในเวลาต่อมา
อีกประการหนึ่ง บุคลากรในธนาคารแห่งนี้ถือว่าต่ำว่ามาตรฐานมาก บรรดาญาติพี่น้องที่นั่งในตำแหน่งบริหารระดับต่างๆ จนถึงระดับพนักงานทั่วไป มันกลายเป็นปัญหา ครอบครัวอินทรทูต นั่นเอง ส่วนใหญ่คนเหล่านี้ ไม่ค่อยจะมีความรู้เรื่องธุรกิจธนาคารด้วย
บุคลิกของเกริกเกียรติ มิใช่คนที่แก้ปัญหาข้างต้นได้ง่าย มีเรื่อง เล่าเรื่องหนึ่ง เขามีภรรยาเป็นนักเรียนนิวซีแลนด์ด้วยกัน แต่เธอไม่สามารถเข้ากับครอบครัวของเขาได้ โดยเฉพาะมารดา ซึ่งก็คือกรรมการผู้จัดการธนาคาร แล้วในที่สุดต้องหย่าร้างกัน บางคนยกตัวอย่างและเชื่อว่าเมื่อเป็น ปัญหา ครอบครัวขยาย ทีผสมกับธุรกิจด้วยแล้ว ย่อมเป็นเรื่องที่น่าหนักใจ
อย่างไรก็ตาม ข้อนี้ มิใช่ปัญหาเร่งด่วน เขาได้พาเพื่อนจากแบงก์ชาติ2คนไปร่วมบริหารด้วย โดยเฉพาะดูแลเรื่องสินเชื่อ และประชาสัมพันธ์ เมื่อมีคนหนุ่ม เข้าบริหาร และ มีข่าวมากขึ้น ดูเหมือนธนาคารมีการพัฒนา แต่แท้ที่จริงปัญหา หลายอย่างยังไม่ได้แก้ไข และดูเหมือนจะปะทุมากขึ้นด้วยธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ เป็นธนาคารแห่งสุดท้ายที่เข้าตลาดหุ้น และเมื่อต้องการระดมทุนผ่านตลาดหุ้น ภารกิจแรกของเกริกเกียรติ ชาลิจันทร์ ก็คือการนำธนาคารเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปได้อย่างคล่องตัว เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ จึงขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการอย่างเต็มตัว
การเพิ่มทุนของธนาคารจึงเริ่มต้นขึ้น ในที่สุดธนาคารแห่งนี้ เข้าซื้อขายหุ้น ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อปลายปี2530
จากนั้นเกมการเพิ่มทุนอย่างต่อเนื่อง เข้าสู่เวทีเปิดครั้งแรก ในสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยบูม ความสนใจการบริหารธนาคารของเกริกเกียรติ ชาลิจันทร์ จึงเน้นมาอยู่ที่การบริหารหุ้น และเกมการเพิ่มทุนธนาคาร ตามเงื่อนไขธนาคารแห่งประเทศไทย
และแล้วภาพที่เคยหลอกหลอนในอดีตของตระกูลอินทรทูต กลายเป็นจริง และดูใหญ่โตขึ้น
เมื่อปรากฏปรากฏการณ์ท้าทายความเป็นเจ้าของธนาคาร จากบุรุษหน้าใหม่โนเนม ในสายตาของคนตระกูลอินทรทูต จนเขาต้องใช้”บุรุษหน้าใหม่โนเนม” เช่นเดียวกัน ในเกมต่อสู้เพื่อความเป็นเจ้าของธนาคารที่หนักหนาสาหัส
สอง วัชรศรีโรจน์ กับราเกซ สักเสนา คือบุรุษหน้าใหม่โนเนม
คนแรก เป็นนักลงทุนในตลาดหุ้น เขามองธนาคารเหมือนคนอื่นๆในสังคม ธนาคารคือสิ่งมีค่าในเชิงอุดมคติในการเข้าถือครอง ทั้งๆที่รู้ว่าการเป็นเจ้าของธนาคาร ของคนรุ่นเขานั้นยากยิ่ง แต่ก็ท้าทาย ประหนึ่งเข้าถึงสังคมธุรกิจวงใน ดูมั่นคงและได้รับการยอมรับ ขณะเดียวกันเขาเป็นนักเก็งกำไร เขาวิเคราะห์ว่า ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จะต้องพัฒนาอีกมาก ในฐานะธนาคารที่นับว่าล้าหลัง ดังนั้นการลงทุนในธนาคารนี้ โอกาสงอกเงยมีมาก
คนที่สอง เขามายืนอยู่ฝ่ายเกริกเกียรติ ใช้เกมในตลาดหุ้น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ ธุรกิจทั้งที่อ้างเพื่อปกป้องธนาคารมิให้คนอื่นเข้ามาครอบครอง ด้วยการสร้างเครือข่ายธุรกิจผ่านกลไกตลาดหุ้น
ว่าไปแล้วโมเดลความคิดทางธุรกิจของคนๆหลังนี้ คือโมเดลของนักการเงิน หลายคนในช่วงนั้น ที่ขยายอาณาจักรธุรกิจภายใต้ภาพมายา ของตลาดหุ้นที่กำลังบูม เพียงแต่ว่าเขาทำในที่มืดกว่าเท่านั้น
ราเกซ สักเสนา(Rakesh Saksena) เป็นอีกคนหนึ่งที่ผู้คนไม่ค่อยให้สำคัญที่มาของเขา เท่ากับสิ่งที่เขาทำ ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ว่า เรื่องราวของเขา ไม่มีใครรู้มากนัก รู้แต่ว่า เขาถือพาสพอร์ตอินเดีย เริ่มมาทำงานเมืองไทยราวๆปี2520 ในฐานะผู้เชี่ยวชาญการเงิน เคยเป็นที่ปรึกษาในกิจการใหญ่ๆหลายแห่ง แต่ก็อยู่ได้ไม่ได้นาน
อย่างไรก็ตาม อีกหลายปีต่อมา ก็พบว่าเขายังมีน้องคนหนึ่ง ทำงานในธนาคารไทยอย่างเป็นล่ำเป็นสัน Deepak Sarup ผู้มีความรู้ด้านบัญชี จากอังกฤษ เคยทำงานที่ธนาคารแหลมทองตั้งแต่ปี2537 ในยุคท้ายของสุระ จันทร์ศรีชวาลา และเมื่อธนาคารนี้ถูกยุบ และกลายเป็นธนาคารรัตนสิน Deepak ก็มาทำงานต่อเนื่องช่วงหนึ่ง ในยุค ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัยเป็นประธานกรรมการ เมื่อวิชิต ข้ามมาเป็นประธานธนาคารไทยพาณิชย์ Deepak ก็ถูกทาบทามให้มาทำงานด้วย
ในช่วงเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ กำลังอยู่ในเกมการต่อสู้กับภาพมายา ที่ว่า ด้วยมีคนพยายามเข้าครอบครองธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ โดยผ่านกลไกตลาดหุ้น ซึ่งถือว่าเป็นสงครามเปิดที่ไม่อาจจะมองเห็นคู่ต่อสู้ได้ชัดเจน
ราเกซ สักเสนา เริ่มเป็นที่ปรึกษาเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อย่างเงียบๆ ในราวปี2535 ชื่อของเขาเริ่มปรากฏ ในช่วงที่ สอง วัชรศรีโรจน์ เปิดตัวภายใต้สถานการณ์คลุมเครือ ในปลายปีนั้น สอง วัชรศรีโรจน์ ได้ประกาศว่าเข้าถือ หุ้นธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การได้เกิน25% ราเกซ สักเสนา ก็ออกตัวในฐานะผู้เดินเกมต่อสู้ ฝ่ายเกริกเกียรติ หรือตระกูลอินทรทูต
ตอนนั้นไม่มีภาพแน่ชัดว่าเขาทำอะไรอย่างไร เพียงแต่ เขาได้ก่อตั้งบริษัทหนึ่งขึ้นมาเป็นแกน และสร้างเครือข่ายกิจการหลากหลาย รวมทั้งเข้าซื้อกิจการบริษัท ในตลาดหุ้น แล้วสุดท้ายก็มีการเชื่อมโยงว่า เครือข่ายกิจการใหม่เหล่านี้ มีเกริกเกียรติรวมอยู่ด้วย ในฐานะผู้ถือหุ้น และมีบทบาทบริหาร
ในที่สุด การต่อสู้จบลงค่อนข้างรวดเร็ว กว่าที่คิด สอง วัชรศรีโรจน์ ถูกจับด้วยขอห้าปั้นหุ้น ในกรณี ซื้อขายหุ้นธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ เรื่องราวของเกม การยึด ครองธนาคารแห่งนี้ดูเหมือนจบลง ไม่แน่ชัดว่าเป็นชัยชนะของราเกซ สักเสนา หรือ สายสัมพันธ์ของสังคมวงใน แต่ที่สำคัญ ราเกซ มีบทบาทมากขึ้นๆในธนาคารแห่งนี้
บางคนสรุปว่า สอง วัชรศรีโรจน์ เป็น”ตัวอย่างเล็กๆ”ของคนหน้าใหม่ ในความพยายาม ท้าทายฐานธุรกิจดั้งเดิม แม้ว่าอาณาจักรธุรกิจดั้งเดิมนั้นจะเปราะบางเพียงใด แต่อิทธิพลที่ซ่อนตัวอย่างเงียบๆยังทรงพลังไม่น้อยในเดือนพฤศจิกายน 2535 สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต.(ขณะนั้นเอกกมล คีรีวัฒน์ เป็นเลขาธิการ)แจ้งความดำเนินดีกับสอง วัชรศรีโรจน์ กับพวก ในข้อหาสร้างราคาหุ้น ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ
เพียง4 เดือนจากนั้น (มีนาคม 2536) อัยการยื่นฟ้องต่อศาล ด้วยข้อหา 1. กระทำอำพรางให้ผู้อื่นเข้าใจว่า มีการซื้อหุ้นมากในหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง 2. ซื้อหุ้นตัวหนึ่งตัวใด อย่างต่อเนื่อง เพื่อจูงใจผู้อื่น 3. เมื่อซื้อหุ้นได้5% ไม่รายงานกลต. 4. เมื่อซื้อหุ้น25% ไม่ทำคำเสนอซื้อขายหุ้นต่อกลต. และไม่แจ้งต่อสาธารณะชน โดยขอให้ศาลตัดสิน จำคุก2 ปี และปรับเงิน2เท่าของผลประโยชน์ที่ได้ไป2000ล้านบาท
อีกสามปีต่อมา คดีนี้ก็เปิดฉากลง(5 กรกฎาคม 2539 ศาลฎีกาตัดสินยกฟ้อง) ในระยะเดียวกับที่ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชการ กำลังเผชิญปัญหาที่แท้จริงปัญหาที่ไม่อาจปกปิดได้ แม้ดูเหมือนมีความจงใจปกปิดจากหลายฝ่ายก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็โดนหางเลขด้วย หากไม่เกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า ปัญหา ธนาคาร แห่งนี้ อาจปกปิดได้นานกว่านี้
ราเกซ สักเสนา “บุรุษหน้าใหม่โนเนม”ในสังคมไทย กลายเป็นจำเลยสำคัญของวิกฤติการณ์ธนาคารนี้ จนเขาต้องหนีออกนอกประเทศ ไปปักหลักที่แวนคูเวอร์ คานาดา
จากนั้นเรื่องราวที่เขาก่อขึ้น ตั้งแต่เมื่อ 5 ปี (ปี2535) ก็ถูกเปิดขึ้น จนเป็นที่น่าสงสัยกัน ทำไมจึงปกปิดในนานเพียงนั้น ทั้งๆที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เฝ้าดูธนาคารแห่งนี้อย่างใกล้ชิด ตั้งแต่เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ เข้ามาบริหารราวปี2530แล้ว
ข้อหาที่มาต่อราเกซ สักเสนา สะท้อนปัญหาธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์ การ ได้อย่างดี
ประการที่หนึ่ง- เขาในฐานะที่ปรึกษา ธนาคารได้ตกแต่งบัญชี ธนาคารจากขาดทุนมหาศาลให้มีกำไร ส่งผลให้การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะชนที่มีผลต่อราคาหุ้น ในช่วงนั้น บิดเบี้ยวอย่างมาก
ประการที่สอง -ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การได้ปล่อยกู้โดยไม่มีหลักทรัพย์ ค้ำประกับเพียงพอให้กับเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ และตัวเอง คนละนับหมื่นล้านบาท ผ่านไปยังบริษัทเครือข่ายใหม่ที่มีการวิเคราะห์กันอย่างชัดเจนว่า พวกเขาได้นำเงินของธนาคาร ไปสู่กิจการของตนเอง ที่ไม่มีกิจการอะไรเป็นเรื่องเป็นราว นอกจากจะทำหน้าที่ซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้น ซึ่งอยู่ในเกมการสร้างราคา และการต่อต้านการครอบครองหุ้นธนาคาร จากอีกฝ่ายหนึ่ง
ทั้งนี้ไม่รวมถึงการปล่อยกู้ในลักษณะเดียวกัน ให้กับนักการเมือง ซึ่งหวังว่าสายสัมพันธ์อันฉาบฉวยจะช่วยให้บางสิ่งบางอย่างดำเนินไปได้ง่ายขึ้น
ราเกซ สักเสนา ถูกยกว่าเขาคือคนที่อยู่เบื้องหลังการกระทำที่ไม่ชอบมาพากลนี้ทั้งหมด และกล่าวกันต่อไป เขากลายเป็นคนรวยที่มีเงินมากคนหนึ่งที่เกิดขึ้นชั่วพริบตาจากวิกฤติการณ์ เรื่องนี้ทำนองนี้ มิใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย เพียงแต่กรณีมีชาวอินเดียคนนี้เกี่ยวข้อง เรื่องจึงมีสีสันเป็นพิเศษ
ในช่วงวิกฤติการณ์สังคมเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่ กลายเป็นต้นต่อวิกฤติการณ์ระดับโลก อำนาจรัฐไทยไม่สามารถกำหนดกติกา แสวงหาแนวทาง และควบคุมการกอบกู้วิกฤติด้วยตนเองได้ เช่นเดียวกันความสามารถในการคุ้มครองอิทธิพลดั้งเดิม ก็มีอย่างจำกัดด้วยในปี2540ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ายึดกิจการธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ 10ปีที่ธนาคารแห่งนี้อยู่ภายใต้อุ้งมือของคนในตระกูล คนหนุ่มที่มีความรู้การธนาคารมากที่สุดในตระกูล แต่สินทรัพย์สำคัญของตระกูลกลับหลุดมือไปอย่างไม่น่าเชื่อ ในช่วงคับขันเกริกเกียรติ ชาลิจันทร์ ดูเหมือนไม่อาจปรึกษาใครได้ โดยเฉพาะ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้มีประสบการณ์โชกโชนไม่เพียงเรื่องการเมือง หากรวมเรื่องธนาคารด้วย ในฐานะเคยทำงานที่แบงก์ชาติ แบงก์ไทยพาณิชย์ และตำแหน่งสุดท้ายประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการ ท่านก็ด่วนลาจากโลกไปในช่วงก้อนหน้านั้น (ปลายปี 2538)
ในที่สุดเขาก็ไม่อาจรอดพ้นจากวงจรปีศาจแห่งอำนาจได้ ถูกดำเนินคดีในข้อหากระทำผิด พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งหมดเกือบ 20 คดี บางส่วนพิพากษาคดีเสร็จแล้ว ชะตากรรมของเกริกเกียรติ ชาลิจันทร์ในช่วงปลายของชีวิต จึงแยกไม่ออกจาก ราเกซ สักเสนา ผู้ต้องหาที่ต้องใช้เวลากว่าสิบปีในการนำตัวมาขึ้นศาลไทย
ชีวิต และอำนาจ อนิจจัง