อิตาเลียนไทย(1)

ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทอิตาเลียนไทย กับโครงการทวาย มีความหมายสำคัญ ทั้งจากมุมมองกว้าง เชื่อมโยงกับช่วงเวลาที่เศรษฐกิจภูมิภาคกำลังเริ่มต้นพยายามทำงานอย่างเป็นระบบใหญ่มากขึ้น  สู่พัฒนาการและบทบาทธุรกิจไทยสำคัญ ทีมีความสัมพันธ์กับความเป็นไปของสังคมไทยซึ่งกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย

 

 

“บริษัท ทวาย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ได้จดทะเบียนโดย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด มหาชน ที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2554 และดำเนินกิจการบริหารโครงการทวาย โดยบริษัท อิตาเลียนไทย ได้รับสิทธิ์จากรัฐบาลพม่าในการพัฒนาพื้นที่บริเวณ 205 ตร.กม. ในทวาย ภายใต้การลงนามขอบข่ายข้อตกลงระหว่างบริษัท อิตาเลียนไทย และการท่าเรือแห่งสหภาพพม่า”

ข้อมูลสำคัญบางตอนของบริษัทเอง(  http://daweidevelopment.com/ )  ถือว่าเป็นความพยายามเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็น ผู้คนซึ่งสนใจอ่านและวิพากษ์วิจารณ์โครงการนี้  จำเป็นต้องอ่านทั้งหมดอย่างละเอียด  แม้ว่าข้อมูลทางการชุดนี้ ทำขึ้นเพื่อเปิดเผยต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ในฐานะบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน )เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย และโครงการทวาย มีความสำคัญในฐานะไม่เพียงผู้รับเหมาก่อสร้างได้งานใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยทำมา   หากเป็นโครงการที่จะต้องพยายามทำงานด้านการตลาดอย่างเข้มข้น จริงจัง และกว้างขวาง แสวงหาลูกค้าจากต่างประเทศจำนวนมาก  เข้ามาลงทุนในโครงการนี้

มองจากพัฒนาการของธุรกิจไทย  เรื่องราวอิตาเลียนไทย นับว่ามีสีสันและตำนานต่อเนืองอย่างน่าสนใจทีเดียว

 

จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ขยายสู่กิจการอื่นๆที่เกี่ยวข้องมากมายในช่วง 3ทศวรรษแรก จนมาถึงบทบาทในฐานะเป็นเจ้าของสัมปทานโครงการขนาดใหญ่ในพม่าซึ่งมีอายุถึง75 ปี เป็นพัฒนาการของความพยายามผสมผสานโมเดลธุรกิจ จากธุรกิจที่มีรายได้ผันแปรไปตามโครางการระยะสั้นต่างๆเป็นหลัก สู่การแสวงหารายได้ต่อเนื่องในระยะยาว

โครงการทวาย( Dawei  Project) ไม่ใช่โครงการใหญ่โครงการแรกของความพยายามยุคใหม่   ก่อนหน้านี้บริษัท อิตาเลียนไทย มีโครงการต่อเนื่องมาแล้ว หลายโครงการ แม้ไม่ใหญ่เท่าก็ตาม

โครงการพัฒนาแหล่งแร่ที่จังหวัดอุดรธานี   โดยค้นพบว่ามีปริมาณแร่โพแทชถึง 1 พันล้านตัน ในนามบริษัทเอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น  ถือเป้นความพยายามดำเนินโครงการระยะยาวที่เริ่มต้นสำรวจตั้งแต่ปี2538 เป็นโครงการที่มีต้นทุนอย่างมาก ทั้งการลงทุนทางตรง และต้นทุนการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและชุมชน     เมื่อปี2548 เข้าซื้อกิจการก่อสร้างขนาดใหญ่ในประเทศอินเดีย  สุดท้ายเปลี่ยนชื่อเป็น ITD Cementation India   มาจากรากฐานกิจการก่อสร้างเก่าแก่ของอังกฤษที่เปลี่ยนมือมาอีกสองครั้งก่อนมาถึงปัจจุบัน   การดำเนินธุรกิจก่อสร้างในอินเดียดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ได้รับงานสำคัญจำนวนไม่น้อยเช่นกัน  จนมาถึงโครงการสร้างทางด่วนยกระดับที่เมืองหลวง บังคลาเทศ  เป็นระบบสัมปทาน25 ปี ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับได้รับสัมปทานโครงการทวายจากรัฐบาลพม่า

จากธุรกิจที่เริ่มต้นตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในช่วงการพัฒนาสาธารณูปโภคครั้งใหญ่ครั้งแรกของรัฐบาลกรุงเทพฯสมัยใหม่ บริษัทอิตาเลียนไทยผ่านการทำงานในสถานการณ์ผันแปร หลายช่วง เริ่มด้วยการแข่งขันอย่างหนักกับธุรกิจก่อสร้างระดับโลก  จนต้องเปลี่ยนยุทธ์ศาสตร์เป็นหุ้นส่วน และร่วมมือ แทนการแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย   รวมทั้งมีความพยายามออกสู่ตลาดต่างประเทศ  ขณะเดียวกันเผชิญปัญหาและวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจหลายครั้ง รวมทั้งครั้งร้ายแรงในปี 2540 ด้วย   จนต้องปรับโครงสร้างหนี้ หลังจากนั้นไม่นานสังคมไทยก็เผชิญปัญหาทางการเมืองอย่างต่อเนื่องอีก

“ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ยังเป็นประเด็นที่ส่งผลต่อเนื่องต่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างเมกะโปรเจ็คของภาครัฐ ที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการรอบปีที่ผ่านมา ต้องยกเลิกและชะลอโครงการออกไป และในช่วงปลายปีที่มีอุบัติเหตุทางการเมือง จนส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างรุนแรง ยิ่งส่งผลให้โครงการต่างๆของภาครัฐต้องกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งอีกครั้ง “อ้างมาจากรายงานประจำปี 2549 ของบริษัทอิตาเลียนไทย สะท้อนความรู้สึกว่าด้วยผลกระทบต่อธุรกิจ   อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จากการรัฐประหารในปลายปี 2549

แม้ว่าบริษัทอิตาเลียนไทย  จะก้าวขึ้นสู่กิจการที่รายได้มากกว่าสองหมื่นล้านบาท  ถือว่าเป็นธุรกิจใหญ่ในสังคมไทยแล้ว  แต่เผชิญปัญหาของการประกอบการต่อเนื่อง(โปรดดูข้อมูลตอนท้ายเรื่อง)  นี่อาจมองเป็นแรงบีบคั้น ในความพยายามครั้งใหญ่  ด้วยแรงบันดาลใจที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงมากขึ้นด้วย  แต่โดยธรรมชาติธุรกิจก่อสร้างที่ว่ากันว่า ต้องใช้เส้นสายผู้อำนาจนั้น โดยเนื้อแท้ คือความพยายามวิเคราะห์ แนวโน้ม การเปลี่ยนแปลง ทั้งอำนาจ โครงสร้าง สังคมที่กว้างขึ้นกว่าอดีต กว้างกว่าสังคมไทย

เรื่องราวของอิตาเลียนไทย เริ่มต้นเมือเกือบ 60 ปีที่แล้ว   ผมเองเคยนำเสนออย่างเป็นเรื่องราว เมื่อปี 2529 ด้วยบทสนทนาหลักของผู้ก้อตั้ง-นายแพทย์ชัยยุทธ์ กรรณสูตร บทความชิ้นนั้น ดูเหมือนจะเป็นข้อมูลอ้างอิงของเรื่องราวอิตาเลียนไทยต่อจากนั้น (หากผู้อ่านสนใจอ่านงานคลาสสิกชิ้นนั้น ผมจะเรียงเรียงและปรับปรุง— ARCHIVE–น.พ.ชัยยุทธ กรรณสูต กับอิตัลไทยกรุ๊ป )

“วันที่ 16 เมษายน 2521 วันที่เปิดตึก 16 ชั้น บ้านใหญ่อิตัลไทยกรุ๊ป บนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ อันแสดงถึงความก้าวหน้าและมั่นคงของกรุ๊ปนั้น จีออร์จีโอ แบร์ลิงเจียรี ได้กล่าวสุนทรพจน์ถึงความสำเร็จของอิตัลไทยกรุ๊ปว่า มีปัจจัยสำคัญ 3 ประการ หนึ่ง-มิตรภาพที่จริงใจและจริงจังระหว่างเขากับนายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต ในฐานะผู้ก่อตั้ง สอง-การพัฒนาอย่างแข็งขันของประเทศไทยที่สามารถผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก และได้รับผลสำเร็จไม่น้อย สาม-ทีมทำงานของอิตัลไทยกรุ๊ป ที่อุทิศตัวซื่อสัตย์ และทุ่มเททำงานหนัก

นับแต่ปี 2489 จนถึงปี 2521 หรือห้วงเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงเวลาที่หมอชัยยุทธ-แบร์ลิงเจียรี ทุ่มโถมกำลังกาย สมอง และทรัพย์ ผ่านอุปสรรคขวากหนามถึงทางสะดวกแล้ว เมื่อปี 2521 อิตัลไทยจึงเป็นกลุ่มธุรกิจไทยกลุ่มหนึ่งที่เปิดตัวออกมาอย่างน่าเกรงขาม และดูเหมือนจะมีความพร้อมทุกด้าน

อิตัลไทยเป็นธุรกิจกลุ่มใหญ่ที่มีกิจการ 5 สาขาหลัก หนึ่ง-การค้า-สอง-ก่อสร้าง สาม-โรงงานอุตสาหกรรม สี่-โรงแรมและธุรกิจที่ดิน และห้า-ธุรกิจหนังสือพิมพ์ ทุกวันนี้อิตัลไทยก็ยังคงฐานะธุรกิจแขนงต่างๆ เหล่านี้ไว้ โดยที่พยายามขยายขนาดเพิ่มขึ้นๆ อย่างไม่หยุดยั้ง “คัดและตัดตอนบางส่วนจากเรื่อง นายแพทย์ชัยยุทธ์ กรรณสูต    เรื่องโดยวิรัตน์ แสงทองคำ    มิถุนายน 2529

ในตอนนั้นบริษัทอิตาเลี่ยนไทย ถือว่าอยู่ในกลุ่มธุรกิจ—กลุ่มอิตัลไทย   โดยถือว่าบริษัทอิตาเลี่ยนไทย เป็นกิจการทีทำรายได้มากที่สุดแล้ว เมื่อบริษัทอิตาเลียนไทยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทยในปี2537 บทบาทที่แยกกันระหว่างอิตาเลียนไทยกับกลุ่มอิตัลไทยเริ่มปรากฏชัดเจนมากขึ้น และหลังจากการถึงแก่กรรมของนายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต ในปลายปี 2547ช่องว่างระหว่างกิจการทั้งสอง ดูเหมือนมีมากขึ้นไปอีก

“บริษัท อิตัลไทยอุตสาหกรรม จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2498 เป็นบริษัทแรกของ กลุ่มบริษัทฯ ในเครืออิตัลไทย  เพื่อรับผิดชอบสายงานธุรกิจการค้าอิตัลไทยอุตสาหกรรม เป็นผู้นำเข้า และจัดจำหน่ายสินค้าจากต่างประเทศ นอกจากนั้นยังได้พัฒนาผลิตสินค้าที่มี คุณภาพสูงภายใต้ตรายี่ห้อของบริษัทฯ เอง เพื่อจัดจำหน่ายทั้งในประเทศ และส่งออกไปตลาดต่างประเทศด้วย โดยมีเครือข่ายการขาย และบริการทั่วประเทศ ประกอบไปด้วย 4 สำนักงาน และ 5 สาขากลุ่มธุรกิจหลักของบริษัทฯ แบ่งเป็น 4 กลุ่มธุรกิจการค้า :กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม  กลุ่มธุรกิจพลังงานและการขนส่ง กลุ่มธุรกิจสินค้าอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง  กลุ่มธุรกิจแมชินเนอรี่ โซลูชั่น”  นี่คือบทบาทของอีกกิจการหนึ่ง (http://www.italthai.co.th ) ต้องถือว่าเป็นมรดกของนายแพทย์ชัยยุทธ กรรญสูตกับจีออร์จีโอ แบร์ลิงเจียรี   แม้ว่าบริษัททั้งสองมีความสัมพันธ์ทั้งผู้ถือหุ้นและกรรมการ แต่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม  คือ บริษัทอิตาเลี่ยนไทย ขยายกิจการเติบโตมากขึ้นๆ ขณะทีอิตัลไทยอุตสาหกรรมพยายามรักษาฐานะเดิมเอาไว้ แต่ดูเหมือนจะลดบทบาทในสังคมธุรกิจไปพอสมควร

เป็นทีทราบกันดีดว่าบริษัทอิตาเลียนไทย ถือหุ้นใหญ่และบริหารโดยบุตรชายคนเดียวที่เหลือยู่ –เปรมชัย กรรณสูต ส่วนอิตัลไทยอุตสาหกรรม ถือหุ้นใหญ่และบริหารโดยบุตรสาวคนสำคัญ –นิจพร จรณะจิตร์        โดยกิจการหลัง นำเสนอเรื่องราวสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไป พิจารณาจากข้อมูลในWebsite ให้ความสำคัญกับอดีตประธานกรรมการบริหาร — อดิศร จรณะจิตต์ มากเป็นพิเศษ ขณะที่อิตาเลียนไทยยังกล่าวถึงนายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต กับจีออร์จีโอ แบร์ลิงเจียรี

อดิศร จรณะจิตต์   เป็นสามีของนิจพร   ถือเป็นบุตรเขยที่เอาการเอางานมากคนหนึ่ง ของนายแพทย์ชัยยุทธ์ กรรณสูต เริ่มต้นชีวิตอย่างบุคคลธรรมดา สามารถมีโอกาสแสดงฝีมืออย่างเต็มที จากการเป็นบุตรเขยของนายแพทย์ชัยยุทธ  แต่น่าเสียดายเขาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเมื่อปี2546 เพียงปีเดียวก่อนนายแพทย์ชัยยุทธ จะถึงแก่กรรม

เรื่องราวสะเทือนใจ เกี่ยวกับการจากไปของบุตรเขย และตัวนายแพทย์ชัยยุทธ   ในช่วงสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่ออิตาเลียนไทย  ในช่วงการฟื้นฟูให้พ้นจากวิกฤติการณ์   เป็นเหตุการณ์มีร่องรอยทำนองเดียวกันเคยเกิดขึ้นในอดีตมาครั้งหนึ่ง  เรื่องราวเช่นว่าไม่เพียงสะท้อนเรื่องชีวิตผู้คนในสังคมธุรกิจเท่านั้น ยังเชื่อมโยงกับยุทธ์ศาสตร์ธุรกิจอันผันแปร ด้วย

 

 

ข้อมูลทางการเงินสำคัญ(ล้านบาท)

บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน )

 

 

ปี            2553        2552       2551      2550      2549      2548       2547

 

รายได้  39,140     41,455    43,699   46,512   40,459   38,995     31,037

 

 กำไร       298       (1,774)    (2,656)   1,011   (2,146)    1,262       1,218

 

 

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: