บทส่งท้าย: ไม่มีผู้ยึดครอง

สังคมธุรกิจไทยปัจจุบันเติบโตขึ้นมาก เปิดโอกาสอย่างกว้างขวางสำหรับบางกลุ่มแม้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็มีผู้ถดถอย พ่ายแพ้ ล้มหายตายจากไปในช่วงวิกฤติเป็นระยะๆ  ถือเป็นภาวะผกผันในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ แต่มีบทสรุปหนึ่งที่ชัดเจน  แนวทางอรรถาธิบายเดิม ว่าด้วยการผูกขาด ว่าด้วยการครอบงำ และสายสัมพันธ์แบบเดิมที่เชื่อและมีอิทธิพลเมื่อ 2-3 ทศวรรษที่แล้ว    ใช้ไม่ได้แล้ว   

 

ภาพความเคลื่อนไหวซึ่งเป็นจุดเพ่งมองที่จำเป็น   ต้องเริ่มต้นที่ระบบธนาคารไทยและความคลี่คลาย ไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีเส้นทาง(หรือเชื่อว่า)มาจากการผูกขาด

 

ธนาคารไทย

 

ธนาคารไทยเริ่มต้นอย่างจริงจังหลังสงครามโลกครั้งที่2 ในช่วงธนาคารอาณานิคมถอนตัวออกจากเมืองไทย ภายใต้ยุทธ์ศาสตร์ส่งเสริมกิจการไทย ธนาคารกลายเป็นตัวแทนหรือชิ้นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทยควรได้รับการปกป้อง คุ้มครอง โดยอ้างอิงกับความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจธนาคารจึงกลายเป็นแกนกลางของสังคมธุรกิจไทย

 

แต่เนื้อใน ธนาคารพาณิชย์ไทยเกิดขึ้นด้วยเหตุผลคลาสสิก สนับสนุนธุรกิจของตนเอง โดยเฉพาะการค้าระหว่างญาติพี่น้องชาวจีนโพ้นทะเลระหว่างไทย-ฮ่องกง-สิงคโปร์ ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ธนาคารพาณิชย์ไทย เกิดขึ้นรวดเดียวหลายแห่ง แสดงพลังเข้าแทนที่ธนาคารอาณานิคม   ธนาคารเกิดใหม่มักประกอบไปด้วยขุนนางผู้มีอำนาจ กับพ่อค้าชาวจีนซึ่งมีทุน  และความรู้ที่มาจากบุคคลผู้ผ่านการศึกษาจากต่างประเทศ   พวกเขาส่วนหนึ่งมาจากธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ภาวะทางเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงปรับตัว(ปี 2493-2503) ธนาคารพาณิชย์ไทยมีบัญชีเงินฝากเพียงประมาณ 21% ของตลาด ในขณะที่ธนาคารต่างชาติครองอยู่ประมาณ 30%

 

ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์   ในช่วง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ตรา พรบ.ธนาคารพาณิชย์ปี 2505 อันมีผลต่อการบริหารกิจการธนาคาร โดยกำหนดเงินกองทุนให้มากขึ้น ขณะเดียวกับประกาศหยุดให้ใบอนุญาตตั้งธนาคารใหม่ และห้ามธนาคารต่างชาติเปิดสาขา ในภาพรวมช่วง 10 ปี (2500-2510) ยุคสฤษดิ์ต่อเนื่องถึงถนอม-ประภาสธุรกิจธนาคารขยายตัวอย่างมากถึงเกือบ 8 เท่า ขณะเดียวกับธนาคารพาณิชย์ไทยได้เพิ่มมาร็เก็ตแชร์เงินฝากเป็น 68%

 

ประวัติศาสตร์ชี้ว่าธนาคารที่เกาะเกี่ยวกับการค้าหรือธุรกิจหลักของประเทศจะเติบโตไปไม่หยุดยั้ง เช่นธนาคารกรุงเทพ ครอบครองบริการธุรกิจค้าส่งออกพืชไร่อันเป็นธุรกิจหลักและเติบโตมาก ๆ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา

 

ปี 2515 ธนาคาร 3 แห่ง (ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารกรุงไทย) มีสินทรัพย์ประมาณ 57% ของทั้งระบบ (ธนาคาร 16 แห่ง) พอมาปี 2516 เพิ่มขึ้นเป็น 88.4% จากนั้นปรากฏการณ์ผู้ถือหุ้นใหญ่ซึ่งกุมอำนาจบริหารธนาคารพาณิชย์ ได้ขยายอาณาจักรธุรกิจของตนเองออกไปอย่างกว้างขวาง เป็นภาพที่ตรึงตาตึงใจ มาตั้งแต่ทศวรรษ2520

 

ผมเคยอรรถาธิบายปรากฏการณ์ในช่วงยิ่งใหญ่ของธนาคารพาณิชย์ ไทยโดยเรียกกว่า โมเดลระบบธนาคารครอบครัว ไว้ในบทนำหนังสือ The Fall of Thai banking ปี2548 โดยแบ่งเป็นสองช่วงสำคัญ   ขอยกมาอย่างย่นย่อและอธิบายในบางมุมเพิ่มเติม

 

–ช่วงที่หนึ่ง(2505-2525)

ธนาคารเข้าถือหุ้นในกิจการของผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม พร้อมสนับสนุนทางการเงินอย่างเต็มที่   ถือเป็นช่วงน่าทึ่งของการขยายเครือข่ายธุรกิจให้ใหญ่และเข้มแข็งโดยมีขั้นตอน ยกระดับเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ  

 

ขั้นที่หนึ่ง สร่างเครือข่ายธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับธนาคารดยตรง เช่น ประกันภัย ประกันชีวิต และคลังสินค้า   ถือว่าอยู่ในช่วงต้นของยุคธนาคาร  ในยุคการค้าส่งออกสินค้าเกษตร  ขั้นที่สอง สร้างเครือข่ายธุรกิจอื่น  เป็นการแสวงหาโอกาสใหม่ตามสถานการณ์  ตามบุคลิก และเครือข่ายของแต่ละธนาคาร   เช่น  ธนาคารกรุงเทพ กับพันธมิตรชาวจีนโพ้นทะเล   ในช่วงก่อนสงครามเวียดนาม  เข้าลงทุนในกิจการส่งออกสินค้าเกษตร ต่อมาช่วงสงครามเวียดนาม   หันมาให้ความสำคัญ อุตสาหกรรมเกิดใหม่ โดยเฉพาะสิ่งทอ    ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย มีความสัมพันธ์กับเครือข่ายธุรกิจจากตะวันตก   โดยเข้าถือหุ้นในกิจการใหม่ๆ  ก่อนสงครามเวียดนามเน้นไปที่ยุโรป ในช่วงสงครามเวียดนาม ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจจากสหรัฐ

 

ขั้นที่สาม สร้างความเข้มเข็งธุรกิจการเงิน อีกชั้นหนึ่ง  เมื่อธุรกิจทั้งระบบเติบโตอย่างมาก ขณะที่แหล่งเงินทุนจากธนาคารมุ่งสนับสนุนเฉพาะเครือข่ายธุรกิจตนเอง  รัฐจำต้องผ่อนปรนให้เปิดสถาบันการเงินชั้นรองที่มิใช่ธนาคาร เพื่อตอบสนองธุรกิจที่อยู่นอกเหนือเครือข่ายธนาคาร  อย่างไรก็ตามธนาคารเดิมได้ฉวยโอกาสสร้างเครือข่ายการเงินที่เข้มแข็งขึ้นอีก

 

เมื่อเผชิญวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ สถาบันการเงินชั้นรองที่ไม่มีธนาคารสนับสนุนต้องมีอันเป็นไป  ในขณะที่เครือข่ายการเงินธนาคารสามารถผ่านมรสุมมาได้ และสร้างโอกาสเพิ่มขึ้นอีก

 

–ขั้นที่สอง( 2525-2540)

ตลาดหุ้นไทย เปิดตลาดและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมามีนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาในตลาดได้

“จากปี2529 ถือเป็นช่วงที่ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเกือบ 400จุดในปลายปี  จนถึงจะดับสูงสุดเมื่อ 4 มกราคม 2537 ที 1, 753 จุด ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่สามารถไปไม่ถึงจุดนั้นได้เลย   ความจริงดัชนีตลาดหุ้นส่งสัญญาณถึงความเปราะบางและผันผวนมาตั้งแต่กลางปี 2537 จนถึงกลางปี 2539 ดัชนีมีการเคลื่อนไหวช่วงกว้างมากๆ ด้วยการขึ้นลงในช่วง 12, 00-1,500 จุด”  (จากเรื่อง  สี่ปีในแดนสนธยา  กรกฎาคม 2554  )

 

เป็นช่วงต่อเนื่องของการเปิดเสรีทางการเงินทั้งระบบ   ด้วยมีกิจการวิเทศธนกิจขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ในยุควิจิตร สุพินิจ  เป็นผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย และช่วงต้น ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์  ในตำแหน่งรัฐมนตรีคลังครั้งแรก(กันยายน 2535 –พฤษภาคม 2538  ) ถือเป็นการเปิดเสรีการเงินครั้งใหญ่ เงินตราต่างประเทศทะลักเข้ามาทั้งผ่านธนาคารและเข้าถึงธุรกิจโดยตรง “เศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไปในทศวรรษ 1990นี้จะเติบโต แข็งแรง และยืดหยุ่นมากพอที่จะรับมือกับสิ่งท้าทายต่างๆที่เกิดขึ้น ไม้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมืองภายในประเทศ ภายในภูมิภาค หรือในระดับนานาชาติ” คำกล่าวของธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ (จากปาฐกถา “ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในทศวรรษ1990” 30 มีนาคม 2536 จัดโดย EUROMONEY magazine) สะท้อนถึงโอกาสและความเชื่อมั่นของกลุ่มธุรกิจดั้งเดิมและรากฐานของไทย โดยไม่คาดคิดจะมีความผันแปรอย่างยิ่งกำลังเกิดขึ้น

 

เครือข่ายธนาคารทั่วไปมองเห็นโอกาสด้วยเช่นกัน   แล้วแต่ความสามารถของแต่ละแห่ง  ซึ่งโดยรวมเครือข่ายธุรกิจธนาคารระบบครอบครัวเดิมมีความพร้อมและโอกาสมากกวาใครๆ   ขณะเดียวกันโอกาสได้เปิดกว้าง สำหรับผู้อยู่รอบนอกด้วยเช่นกัน   ว่าไปแล้วในเวลานั้น สำหรับธนาคารระบบครอบครัวที่พัฒนาในโมเดลที่อ้างถึงข้างต้น  ถือเป็นจุดสูงสุดของเครือข่ายธนาคารครอบครัว ในกระบวนการสร้างความมั่งคั่ง

 

วิกฤติเศรษฐกิจในปี2540   กระทบเครือข่ายธุรกิจธนาคารอย่างมากมาย สร้างผลกระทบเชิงทำลายที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับผลกระทบเชิงทวีคูณในช่วงก่อนหน้านั้น

 

ในบทความชุดนี้มีหลายตอน  ผมได้อรรถาธิบายถึงยุคใหม่ของธนาคารพาพาณิชย์ไทย ซึ่งไม่มีทางจะย้อนเวลาไปสู่ความสำคับ ความยิ่งใหญ่เช่นอดีตได้อีกแล้ว รวมทั้งในความหมายว่าด้วยอิทธิพลในฐานกลไกล ควบคุม  และครอบงำ ความเป็นไปของสังคมธุรกิจไทย

 

ธุรกิจใหญ่

 

เมื่อมองไปยังธุรกิจใหญ่  ผู้คนในสังคมมักมองว่าเป็น ธุรกิจที่มาจากการผูกขาด การแข่งขันน้อยราย ได้รับสิทธิพิเศษหรือสัมปทานจากรัฐ หรือมีลักษณะครอบงำตลาด และเชื่อแน่ว่าคงต้องมองไปยัง เครือซิเมนต์ไทย  ซีพี  กลุ่มไทยเจริญ(ทีซีซี)  ในฐานะผู้ทรงอิทธิพลดั้งเดิม    รวมทั้ง ปตท.  ในฐานะธุรกิจอิทธิพลรายใหม่ที่รับการติดตาม เฝ้ามองเป็นพิเศษด้วย

 

เครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจีในวันนี้ อยู่ท่ามกลางการแข่งขันค่อนข้างเต็มที่แล้ว ไม่ว่าธุรกิจซีเมนต์ ซึ่งกำลังเป็นธุรกิจเก่าเติบโตไม่มาก และมีคู่แข่งที่น่ากลัวกว่าเดิม  ส่วนธุรกิจใหม่กำลังขยายตัวและมีอิทธิพลมากขึ้น –เคมีภัณฑ์ ก็กำลังเผชิญการแข่งขันกับปตท.ซึ่งถือเป็นการแข่งขันที่สมน้ำสมเนื้อ  ภายใต้โครงสร้างตลาดที่เปิดกว้างในระดับภูมิภาค และระดับโลก เอสซีจีในภาพที่เป็นจริง กำลังเผชิญการแข่งขันอย่างมาก เผชิญบททดสอบที่ท้าทาย  สำหรับความพยายามจะเป็นธุรกิจระดับภูมิภาคพร้อมๆกับเป็นธุรกิจศตวรรษ

 

ส่วนซีพี มีเพียงธุรกิจอาหารเท่านั้น ที่มีบุคลิกของความเป็นผู้นำ ผู้กำหนดมาตรฐาน(ไม่ใช่ธุรกิจผูกขาด)บางระดับตลาดในประเทศและภูมิภาค โดยไม่สามารถเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มครอบงำตลาดได้   ส่วนธุรกิจสื่อสาร มองผ่านๆเป็นเครือข่ายที่น่าเกรงขาม แต่ความจริงต้องเผชิญการปรับตัวและต่อสู้เพื่อความอยู่รอดอย่างต่อเนือง โดยเฉพาะภาระหนักทีมาจากระบบสัมปทาน—โทรศัพท์พื้นฐาน ขณะที่ธุรกิจสื่อสารไร้สายเป็นธุรกิจหลัก กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ต้องแข่งขันกับคู่แข่งรายใหญ่ และต้องลงทุนอีกจำนวนมาก

 

เช่นเดียวที่ซีซี แม้มีเครือข่ายข่ายธุรกิจหลากหลาย อย่างครอบคลุม  แต่ยังไม่แสดงให้เห็นถึงความเป็นปึกแผ่นเข้มแข่งอย่างแท้จริง แม้แต่ธุรกิจเบียร์ซึ่งถือว่ามีน้ำหนักมากเป็นพิเศษ ก็ต้องแข่งขันกับคู่แข่งที่ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ   ภายใต้โครงสร้างตลาดเครื่องดื่มอัลกอร์ฮอลที่มีสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาแทรกอย่างหลากหลาย

 

ธุรกิจที่อยู่ในตลาดแข่งขันอย่างเสรี มีความเสี่ยง มีความผันแปร เป็นปกติ  ความสามารถในการครอบงำตลาด  เป็นภาวะชั่วคราวเท่านั้น   ขณะเดียวบทความชุดใหญ่ประมาณ 50 ตอน ว่าด้วยโฉมหน้าใหม่ธุรกิจไทย เชื่อว่าคงให้ภาพ พัฒนาการอย่างหลากหลาย ซับซ้อน ให้เชื่อเช่นนั้น

 

ส่วนปตท.ภายใต้โครงสร้างธุรกิจ  โดยมีบทบาทของรัฐกำกับด้วย   แม้จะดูได้เปรียบคู่แข่งในบางมิติ  แต่ในภาพใหญ่ ความสัมพันธ์กับการเมืองอย่างแนบแน่นในปัจจุบัน ไม่ใช่สถานการณ์ที่ดีในระยะยาวอย่างที่ควรจะเป็น

 

ภาพความยิ่งใหญ่  มักเป็นภาพที่โดดเด่น เป็นภาพเก่าที่ตราตรึงอยู่ในช่วงต้นของพายุการเปลี่ยนแปลงโหมกระหนำ   สถานการณ์สังคมธุรกิจไทยที่แท้จริงในเวลานี้   ย่อมเป็นภาพสะท้อนถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่ผู้คนบางส่วนยังมองไม่ออกด้วย

 

มติชนสุดสัปดาห์   13 กรกฎาคม 2555

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: