บทเรียนเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์

เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์
25เมษายน2492- 20ตุลาคม 2555
ภาพจาก”ข่าวสด”

ข้อเขียนชิ้นนี้ไม่ประสงค์เจาะจงตัวบุคคล(ไม่ว่าจะถูกหรือผิด)  หากเป็นทางผ่านไปสู่ความเข้าใจประวัติศาสตร์ธนาคารไทย และบทเรียนจากยุคหนึ่งสู่อีกยุคหนึ่ง อาจเป็นบทเรียนที่คลาสสิกก็เป็นได้

แม้ว่าธนาคารไทยก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์  แต่ความหมายและโอกาสอย่างแท้จริงเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ปฐมบทธนาคารไทย

“…การที่ญี่ปุ่นบุกและเข้ายึดครองไทย ทำให้กลุ่มอิทธิพลทางการเงินของอังกฤษ สลายตัวและเกิดกลุ่มนักลงทุนใหม่ ประกอบด้วยคนไทยและคนจีนในไทย… หนึ่งปีก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะสิ้นสุดลง ได้มีธนาคารพาณิชย์ก่อตั้ง ขึ้นในประเทศไทยรวม 4 ธนาคาร ทั้งนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่ากลุ่มพ่อค้าที่ฉวยโอกาสตักตวงความมั่งคั่งจากภาวะสงครามมีสายตายาวไกลยิ่งกว่านั้น การที่ธนาคารของอังกฤษเลิกกิจการ ก็ยิ่งเป็นจังหวะที่วิเศษยิ่งสำหรับผู้ก่อตั้งธนาคารขึ้นมาใหม่เพื่อรับช่วงธุรกิจการค้าต่อ และข้อสำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือ การตอบสนองความต้องการของพ่อค้าภายในประเทศ ที่ถูกธนาคารต่างชาติเอาเปรียบ…” (พันศักดิ์ วิญญรัตน์; ประวัติธนาคารกรุงเทพ (แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ฉบับย่อ), ปี 2529)

หนึ่งในนั้น คือ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ

บรรดาพ่อค่าชาวจีนโพ้นทะเล รวมตัวกันก่อตั้งธนาคารแห่งนี้ล้วนเป็นผู้ทรงอิทธิพลในเวลานั้น–  ผู้ก่อตั้งกิจการเดินเรือทะเลระดับภูมิภาค—โหงวฮก (ปัจจุบันยังคงบทบาทอยู่ที่บริษัท อาร์ ซี แอล)   ผู้นำตระกูลหวั่งหลีรุ่นที่สองยุคขยายอาณาจักรธุรกิจอย่างกว้างขวาง แต่หลังวิกฤติการณ์ปี2540 กิจการได้แตกกระจายเป็นกลุ่มเล็กๆของรุ่นที่ 4   ต้นตระกูล บูลสุข ผู้ริเริ่มธุรกิจเครื่องดื่มน้ำดำในประเทศไทย-Pepsiเพิ่งยกเลิกสัญญามาสู่เครือข่ายทีซีซี   และสหัส มหาคุณ ผู้ริเริ่มตำนานธุรกิจสุราและแบรนด์—แม่โขงซึ่งปัจจุบันเป็นสุราคลาสสิกไปแล้ว

“การจะมีธนาคาร ต้องดำเนินตามสูตรสำเร็จ 2 ขั้นตอน หนึ่ง-ต้องเชื้อเชิญ “ผู้มีอำนาจ” เข้าร่วมเพื่อความสะดวกในการดำเนินการ ในกรณีนี้คือ พระพินิจชนคดี ผู้บัญชาการตำรวจ นครบาล (ขณะนั้น) ในฐานะคนจีนด้วยกัน และที่สำคัญเป็นคนจีนที่ได้ดิบได้ดี หลุดเข้ามา ในวงจรของผู้มีอำนาจคิดว่าจะพึ่งพิงได้”

พระพินิจชนคดี คือพี่เขยหม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช(อดีตนายกรัฐมนตรีและประธานธนาคาร)  และตาของเกริกเกียรติ  ชาลีจันทร์  ต่อมาครอบครัวของเขาสามารถครอบครอบธนาคารแต่เพียงผู้เดียว

“สูตรที่สอง-หาผู้บริหารที่มีความรู้และประสบการณ์   ส่วนงานด้านบัญชีก็ดึงคนจากธนาคารชาติ (ขณะนั้นถือกันว่างานบัญชีเป็นความรู้การธนาคารชั้นสูงและ TECHNOCRAT เหล่านี้ส่วนใหญ่หาได้จากธนาคารแห่งประเทศไทย คล้าย ๆ กับเหตุการณ์ 2—3 ทศวรรษก่อนหน้า –ธนาคารพาณิชย์ที่มีปัญหา เชื่อว่าถ้าจะหาผู้บริหารธนาคาร ต้องหาจากแหล่งเดียวกันนี้) คนหนึ่งในนั้นคือ ธะนิต พิศาลบุตร” (จากเรื่อง ปีศาจแห่งอำนาจ ตอนที่1 สำเภาเดียวกัน)

ต่อมา ธะนิต พิศาลบุตร เป็นผู้บริหารธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการ เป็นคนนอกครอบครัว  ที่อยู่ในตำแหน่งนานพอสมควร

ธนาคารครอบครัว

เมื่อระบบธนาคารครอบครัว(ตามแนวคิดของ หนังสือ  The Fall of Thai banking 2548 ของผมเอง) ดำเนินไปสู่จุดสูงสุด

“สถานการณ์เวลานั้น ด้านหนึ่ง ธนาคารไทยสำคัญปรับตัว ปรับยุทธ์ศาสตร์สร้างฐานธุรกิจเครือข่ายขยายตัวออกไปอย่างกว้าวขวาง  แม้เผชิญวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญในช่วงปี2522-2524    ก็ผ่านมาได้ ท่ามกลางความล่มสลายของสถาบันการเงินเฉพาะกิจไม่มีธนาคารหนุนหลัง โดยเฉพาะธนาคารที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่รายเดียว เช่นธนาคารกรุงเทพฯ ธนาคารกสิกรไทย ยิ่งกว่านั้น ธนาคารเหล่านี้กำลังเตรียมการนำ”ทายาท”เข้ามาบริหารธนาคารด้วย หรือแม้แต่ธนาคารไทยพาณิชย์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็กำลังพัฒนาก้าวหน้าไปมาก ธุรกิจธนาคารกลายเป็นแกนกลางของสังคมธุรกิจไทยขึ้นมา

แต่อีกด้าน มีสถานการณ์ไม่น่าไว้วางสำหรับธนาคารขนาดกลางและเล็ก กำลังเผชิญการต่อสู้ของผู้ถือหุ้นในการแย่งชิงความเป็นเจ้าของธนาคาร ในเวลาเดียวกันกฎเกณฑ์ที่กำกับโดยธนาคารแห่งประเทศไทยก็เข้มข้นขึ้น   ความผันแปรของธนาคารสั่นสะเทือนไปทั่ว ไม่ว่ากรณี ธนาคารแหลมทอง สหธนาคาร หรือธนาคารเอเชีย  แรงสั่นไหวกระทบมาถึงธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้” (จากเรื่องปีศาจแห่งอำนาจ ตอนที่2เลือดข้นกว่าน้ำ)

ในที่สุด เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ในฐานะคนมีประสบการณ์รุ่นน้องที่ห่างกันหลายสิบปีจากธนาคารแห่งประเทศไทย เข้ามาแทนที่รุ่นพี่  ธะนิต  พิศาลบุตร  แต่ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เกริกเกียรติมาในฐานะคนในครอบครัวเจ้าของธนาคาร

ปัจฉิมบทธนาคารไทย

เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ มาในช่วงสถานการณ์ที่กดดันและขับคัน

หนึ่ง–แผนการเพิ่มทุน เป็นแรงกดดันทั้งจากธนาคารแห่งประเทศไทยและโอกาสในจุดสูงสุดของระบบธนาคารครอบครัว   แต่เนื่องจากธนาคารมีกำไรน้อยลง ครอบครัวของเขาไม่พร้อมเพิ่มทุน ซึ่งก็เป็นเช่นนี้ มานับสิบปี แต่เขายังเชื่อว่า สถานการณ์ได้แตกต่างออกไป ตลาดหุ้นช่วงนั้นคึกคัก หากใช้กลไกตลาดทุน และสาขาจำนวนมาก  เชื่อว่าสามารถระดมทุนจากรายย่อยได้  ขณะเดียวกัน สัดส่วนการถือครองหุ้นของครอบครัว ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

ในที่สุดธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ เข้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อปลายปี2530

จากนั้นเกมการเพิ่มทุนอย่างต่อเนื่องจึงเริ่มต้นขึ้น  เป็นสถานการณ์ทั้งโอกาสทางธุรกิจ และเป็นความเสี่ยงของความเป็นเจ้าของธนาคารในฐานะที่อยู่ในเวทีเปิดกว้าง

สอง-เกิดปรากฏการณ์ท้าทายความเป็นเจ้าของธนาคารอย่างไม่น่าเชื่อ เป็นเกมต่อสู้ที่หนักหนาสาหัส

สอง วัชรศรีโรจน์ เป็นนักลงทุนธรรมดาคนหนึ่งในตลาดหุ้น มองธนาคารเหมือนคนอื่นๆในสังคม ธนาคารคือสิ่งมีค่าในเชิงอุดมคติในการเข้าถือครอง ทั้งๆที่รู้ว่าการเป็นเจ้าของธนาคารของคนรุ่นเขานั้นยากยิ่ง แต่ท้าทาย ประหนึ่งเข้าถึงสังคมธุรกิจวงใน ดูมั่นคงและได้รับการยอมรับ   ในฐานะ “บุรุษหน้าใหม่โนเนม”ของสังคมธุรกิจไทย เมื่อโชคดีสามารถสะสมความมั่งคั่งจากตลาดหุ้นขาขึ้น การก้าวสู่บทบาทใหม่จึงน่าพิสมัย แม้ว่าผลที่ตามมาต้องเผชิญชะตากรรมที่เลวร้ายพอสมควร

เมื่อพิจารณาข้อกล่าวหาในภาพรวมของทางการต่อราเกซ  สักเสนา (เกี่ยวข้องกับเกริกเกียรติด้วย)  เชื่อกันว่ามีจุดเริ่มต้นและเชื่อมโยงกับเกมการต่อสู้ที่ต้องใช้เงินอย่างมาก ในเวลาจำกัดทีขับคันประหนึ่งสงคราม   แม้ว่าคู่ต่อสู้ถูกกำจัดไปในเวลาไม่นานนัก แต่ดูเหมือนวงจรนั้นไม่สามารถหยุดได้

“ประการที่หนึ่ง- ในฐานะที่ปรึกษาธนาคารได้ตกแต่งบัญชี ธนาคารจากขาดทุนมหาศาลให้มีกำไร ส่งผลให้การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะชนที่มีผลต่อราคาหุ้น ในช่วงนั้น บิดเบี้ยวอย่างมาก

ประการที่สอง -ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การได้ปล่อยกู้โดยไม่มีหลักทรัพย์ ค้ำประกับเพียงพอให้กับเกริกเกียรติ  ชาลีจันทร์ และตัวเอง คนละนับหมื่นล้านบาท ผ่านไปยังบริษัทเครือข่ายใหม่ที่มีการวิเคราะห์กันอย่างชัดเจนว่า พวกเขาได้นำเงินของธนาคาร ไปสู่กิจการของตนเอง ที่ไม่มีกิจการอะไรเป็นเรื่องเป็นราว นอกจากจะทำหน้าที่ซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้น ซึ่งอยู่ในเกมการต่อต้านการครอบครองหุ้นธนาคาร จากอีกฝ่ายหนึ่ง” (อ้างจากเรื่องปีศาจแห่งอำนาจ ตอนที่3ไม่อาจครอบครองได้ )

ว่าไปแล้วเป็นข้อหาทำนองเดียวกันกับธนาคารครอบครัวไทยที่เคยล่มสลายไปทั้งช่วงก่อนหน้าและจากนั้น

แต่มีเป้าหมายแตกต่างกัน  ส่วนใหญ่เพื่อขยายอาณาจักร   แต่กรณีนี้อาจเป็นเพียงเพื่อปกป้องอาณาจักร

จุดจบของธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการเป็นเรื่องเข้าใจได้  แต่การจบชีวิตของเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ในทศวรรษถัดมา เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ

ประชาชาติธุรกิจฉบับวันที่  28 ตุลาคม 2555

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: