นับแต่นี้“ความอ่อนไหว”ของสาธารณชนที่มีต่อธุรกิจจะมีมากขึ้น นอกจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องมีมากขึ้นแล้ว ยังมาจากกลไกอันซับซ้อนของธุรกิจไทยเองด้วย
กรณี AIS ส่งสัญญาณเช่นนั้น
บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ถือเป็นเครื่องหมายการค้า หรือแบรนด์เนม ในขณะที่ใช้ชื่อย่อ“ADVANC” ในฐานะหลักทรัพย์ในตลาดหุ้น
เครือข่าย
“AIS เป็นผู้นำธุรกิจในด้านการสื่อสารโทรคมนาคมแบบไร้สาย ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดในเชิงรายได้ที่สูงกว่า 54% ในปี 2555 และนำเสนอบริการคุณภาพให้แก่ลูกค้ากว่า 36 ล้านเลขหมาย หรือ 44% ของจำนวนผู้ใช้บริการในประเทศไทย”รายงานของAIS เองอ้างไว้
AIS มีเครือข่ายผู้ใช้บริการสื่อสารไร้สายอย่างเป็นระบบมากที่สุดในประเทศ เครือข่ายผู้ใช้บริการมีมากกว่าจำนวนบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานว่า มีไม่ถึง 20 ล้านบัตร
อีกด้านหนึ่ง ADVANC เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหุ้นที่มีมูลค่าตามราคาตลาดหุ้น (Market capitalization) ประมาณ 8 แสนล้านบาท มีการซื้อขายต่อวันโดยเฉลี่ยประมาณ 1,700 ล้านบาท หากคำนวณคร่าวๆ การซื้อขายทั้งปี มากกว่า 4แสนล้านบาท ถือว่าผู้มีเกี่ยวข้องจำนวนไม่น้อยที่เป็นนักลงทุน
ADVANC ถือเป็นหุ้นยอดนิยม โดยเปรียบเทียบ ขอยกตัวอย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์หรือ SCB ในฐานะในช่วง 3 ปีมานี้( 2553-2555 ) มีรายได้ใกล้เคียงกัน SCBมีมูลค่าตลาดราคาตลาด(Market capitalization)เพียงประมาณ 5 แสนล้านบาท การซื้อขายแต่ละวัน ประมาณ 1200 ล้านบาท ทั้งนี้ทั้ง SCB และ ADVANC มีจำนวนหุ้นทั้งสิ้นใกล้เคียงกันประมาณ3พันล้านหุ้น แต่ SCB ราคาพาร์ 10บาท ส่วน ADVANC เพียง 1 บาท ทั้งนี้ราคาซื้อขายหุ้นปัจจุบัน SCB อยู่ที่ระดับ 140 บาทต่อหุ้น ในขณะที่ ADVANC อยู่ในระดับ 200บาทต่อหุ้น แม้ว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา SCB มีผลกำไรมากกว่า ADVANC ก็ตาม
ผู้ถือหุ้นใหญ่
AIS หรือ ADVANC ได้รายงานข้อมูลผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ในข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์ฯล่าสุด (21สิงหาคม 2556)
—อันดับ1. บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีสัดส่วน 40.45% และอันดับ2. SINGTEL STRATEGIC INVESTMENTS PTE LTD. มีสัดส่วน 23.31% รวมแค่ 2ราย ถือเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ มีอำนาจในการควบคุมการบริหารกิจการแล้ว
โดยปกติผู้ถือหุ้นข้างมาก สามารถมีอำนาจบริหารกิจการ โดยไม่จำเป็นต้องมีสัดส่วนถือหุ้นเกินกึ่งหนึ่ง เป็นโมเดลทั่วไปของกิจการในตลาดหุ้น ขอเปรียบเทียบกับ SCB อีกเช่นกัน
SCB มีผู้ถือหุ้นหลัก 2 กลุ่ม หนึ่ง-สำนักงานทรัพย์สินฯ กับทุนลดาวัลย์ (ถือหุ้น 100% โดยสำนักงานทรัพย์สินฯ) รวมกันประมาณ 24% สอง- กระทรวงการคลัง (ผ่านกองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง) ประมาณ23% เป็นที่รู้กันว่า สำนักงานทรัพย์สินฯ มีอำนาจควบคุมการบริหาต่อเนื่องมา แม้ว่าทั้งสองกลุ่มไม่ถือว่ามีความสัมพันธ์กันโดยตรงก็ตาม
ส่วนกรณี AIS ต้องกลับพิจารณาโครงสร้างผู้ถือหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่น อีกชั้นหนึ่ง พบว่าแต่เดิมชิน คอร์ปอเรชั่น เคยมีผู้ถือหุ้นหลัก 2 รายรวมกันเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่างเบ็ดเสร็จ คือ Cedar Holdings และ Aspen Holdings ถือหุ้นรวมกันประมาณ 96% (ข้อมูลเมื่อปี 2554) แต่เมื่อปีที่แล้ว(26 มกราคม2555—จากรายงานประจำปี 2555)ทั้งสองกลุ่มถือหุ้นรวมกันเหลือเพียงประมาณ 80% และล่าสุด(27 สิงหาคม 2556) เหลือเพียง Aspen Holdings เท่านั้นถือหุ้นในจำนวนเท่าๆเดิม 41.62%
คำอรรถาธิบายสำคัญบางเรื่องมีมานานแล้ว ตั้งแต่ดีลซื้อขายหุ้นครั้งใหญ่ที่สุดเมื่อปี 2549 จากข่าวทางการของTemasek (ปัจจุบันยังอยู่ใน NEWS RELEASES ของ Temasek — http://www.temasek.com.sg/ ) Temasek-SCB led investor group acquires Shinawatra and Damapong Families’ stakes in Shin Corp/23 January 2006 รวมทั้งมีฉบับภาษาไทยอย่างเป็นทางการด้วย—เทมาเส็ก-ไทยพาณิชย์และกลุ่มนักลงทุนไทยร่วมซื้อหุ้นชินคอร์ปจากชินวัตรและ ดามาพงศ์ / กรุงเทพฯ/23 มกราคม 2549
ประเด็นที่หนึ่ง-สัดส่วน51/49
“ซีดาร์ เป็นบริษัทที่เทมาเส็กถือหุ้นอยู่49% และธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัทกุหลาบแก้วถือหุ้นในส่วนที่ เหลือ51% ขณะที่แอสเปนเป็นบริษัทที่เทมาเส็กถือหุ้นแต่เพียงผู้เดียวทางอ้อม” คำอธิบายที่มาของบริษัททั้งสองในช่วงนั้น ถือว่าชัดเจน (อ้างจากฉบับภาษาไทย) ส่วนความเชื่อมโยงระหว่าง Temasek ในชินคอร์ป กับSingtel เป็นเรื่องที่รู้ดีกันอยู่แล้ว กรณี Cedar Holdings ถือเป็นหัวใจของโครงสร้างถือหุ้น 51/49 เชื่อว่ามีที่มาจากแนวทางการลงทุนของบริษัทต่างประเทศที่พยายามเป็นบริษัทไทย เรื่องราวทำนองนี้เกิดขึ้นมาแล้วมากมายในหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะกรณีบริษัทญี่ปุ่น ภายใต้โครงสร้างถือหุ้น ไทย/ญี่ปุ่น 51/49 โดยญี่ปุ่นมีอำนาจการบริหารกิจการ หลายกรณียังตกทอดมาถึงปัจจุบัน ผมค่อนข้างเชื่อว่าโมเดลในระยะก่อนหน้านี้ สร้างความอึดอัดต่อธนาคารไทยพาณิชย์พอสมควร
ประเด็นที่สอง Cedar Holdings หายไปไหน
ก่อนอื่นขออธิบายกระบวนการลดสัดส่วนการถือหุ้นของ Cedar Holdings เสียก่อน
ความจริงแล้วในครั้งแรกๆ ทั้ง Cedar Holdings และ Aspen Holdings จำเป็นต้องถือหุ้นรวมกันมากถึงกว่า 90% นั้นมีเหตุผล “ตามข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แหงประเทศไทย ่ ซีดาร์ และแอสเปนจะร่วมกันทำคําเสนอชื้อหุ้นส่วนที่เหลือของบริษัทชิน คอร์ปจากผู้ถือหุ้นรายย่อย” (อ้างจากข่าวชิ้นเดียวกัน)
หลังจากนั้น สามารถขายหุ้นออกไปตามที่เห็นสมควร โดยพยายามคงสัดส่วนข้างมากอย่างเหมาะสม ดูเป็นยืดหยุ่นมากขึ้น เมื่อสัดส่วนการถือครองของรายย่อยในตลาดหุ้นมีมากขึ้น เท่าที่พิจารณาข้อมูลจากตลาดหุ้น ถือว่าในช่วงที่ผ่านมาเป็นจังหวะที่เหมาะ จากเดิมราคาหุ้นที่ซื้อเมื่อปี 2549 ราคาเพียง49 บาท ในช่วงปี 2556-7 ราคาหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่น หรือIntuch สูงขึ้นพอสมควรอยู่ที่ประมาณ 69 บาท
นอกจากนั้น ถ้อยแถลงเมื่อ 6 ปีที่แล้วยังได้ตอบคำถามที่ดังกระหึ่มในเวลานั้น ซึ่งเผอิญยังดังมาถึงปัจจุบันไว้ด้วย
“ภายหลังการซื้อขายหุ้นในครั้งนี้ ตระกูลชินวัตร และตระกูลดามาพงศ์ จะไม่มีหุ้นเหลืออยู่ในชินคอร์ป แม้แต่หุ้นเดียว โดยดร.สุวรรณ วลัยเสถียร ได้กล่าวว่า “ดีลนี้เป็นการขายหุ้นออกทั้งหมด และไมมี่เงื่อนไขให้ทั้งสองครอบครัวซื้อหุ้นคืนแต่อย่างใด””
ประเด็นสุดท้ายเมื่อพิจารณาโครงสร้างการบริหาร AIS พบความชัดเจนว่า คนของ Singtel มีอำนาจอย่างแท้จริง และผมค่อนข้างเชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างTemasek –Singtel กับเครือข่ายไทยพาณิชย์-เอสซีจี นั้นมีมากทีเดียวเมื่อพิจารณาถึงบุคคลสำคัญๆที่เกี่ยวข้องกับทั้งIntuch และAIS ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่เริ่มต้นจากชุมพล ณ ลำเลียง ผู้บริหารคนสำคัญของเครือข่ายธุรกิจสำนักงานทรัพย์สินฯ เข้าดำรงตำแหน่งประธานกรรมการSingtel ในช่วงสำคัญช่วงหนึ่ง (2546-2554) มาจนถึงบทบาทใหม่ของอดีตผู้บริหารคนสำคัญเอสซีจีซึ่งยังทำงานให้เครือข่ายธุรกิจเดิม– อวิรุทธ์ วงศ์พุทธพิทักษ์ (ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการบริหารเทเวศร์ประกับภัย ที่ปรึกษาสำนักงานทรัพย์สินฯ และกรรมการ ทุนลดาวัลย์และ วังสินทรัพย์) เข้าเป็นกรรมการAIS (2549- ปัจจุบัน) และ ชลาลักษณ์ บุนาค (ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สยามสินธร และที่ปรึกษาทุนลดาวัลย์) เข้าเป็นกรรมการชินคอร์ป (2550-ปัจจุบัน)
ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น ก่อตัวตั้งแต่วิกฤตการณ์ปี 2540 นั้น มีความสำคัญมากกว่า ที่ใครๆคิด