บทเรียนตัน ภาสกรนที  

เรื่องราวของตัน ภาสกรนที น่าสนใจมากขึ้น ในฐานะคนๆหนึ่งที่ผ่านประสบการณ์อย่างน่าทึ่ง  3 ช่วงสำคัญ ตลอด15 ปีที่ผ่านมา

(1) ภาพใหญ่

ผู้ก่อตั้งโออิชิ

“ตัน ภาสกรนที เกิดเมื่อปี 2502 ในครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ต่อมาทำงานที่บริษัท ราชธานี เมโทร ซึ่งขายฟิล์มสีซากุระ ซึ่งทำงานเป็นพนักงานแบกของ เริ่มต้นค่าแรงในการทำงาน 700 บาท และหันมาทำอาชีพพ่อค้าแผงหนังสือที่ชลบุรี และได้เริ่มต้นซื้อห้องแถวขยายกิจการจนเป็นเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย” ผมเคยเขียนถึง ตัน ภาสกรนทีไว้ครั้งแรก เมื่อปี 2543

เขาเป็นคนๆหนึ่งที่มีประสบการณ์ร่วมในวิกฤติการณ์ปี2540

“ผมเขยิบมาเปิดร้านกิ๊ฟช็อป ร้านกาแฟ ร้านอาหาร แล้วก็มาทำธุรกิจเรียลเอสเตท…กำลังจะมีเงิน 100-200 ล้านบาท พอรัฐบาลประกาศค่าเงินบาทลอยตัว กลายเป็นผมมีหนี้ร้อยกว่าล้าน ตายตอนปี 2539 แต่ผมพยายามแก้ปัญหา ผมมีทั้งหนี้ธนาคารและหนี้นอกระบบ ค่อย ๆ แก้วิกฤต เจรจาประนอมหนี้ ค่อย ๆ ใช้หนี้ไป ผมเริ่มต้นใหม่ ผมว่าทุก ๆ ช่วงของชีวิตเหมือนฟ้าทดสอบเรา หรือถ้าพูดอีกแบบชีวิตมันมีวิกฤตอยู่ ว่าแต่จะเจอตอนไหน แล้วคุณจะยอมแพ้หรือเปล่า” อ้างมาจากคำสัมภาษณ์ของตัน  ภาสกรนที  มีบทสรุปตอนท้ายไว้อย่างน่าฟัง (จากนิตยสารขวัญเรือน)

ตำนาน “โออิชิ”เกิดขึ้นหลังวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ของสังคมไทย   ในปี 2542 เขาเริ่มต้น ด้วยการเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นสไตล์บุฟเฟ่ต์ตลอดทั้งวันในชื่อ “Oishi” ที่ซอยทองหล่อ ใช้เวลาไม่น่านก็ได้รับกระแสตอบรับอย่างดี จากผู้บริโภค ปีต่อมาจึงได้จัดตั้งกิจการในรูปบริษัทอย่างเป็นการเป็นงาน –บริษัท โออิชิ เรสเตอร์รองจำกัด ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรกเพียง 10 ล้านบาท ซึ่งต่อมาคือ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ในช่วง 5 ปีก่อนหน้า แม้ว่าการเติบโตของธุรกิจร้านอาหาร จะมีมากเพียงใด   คงไม่หวือหวาเท่ากับช่วงปี2546เมื่อเครื่องดื่มชาเขียวออกสู่ตลาด ภายใต้ชื่อ “โออิชิ กรีนที”

จังหวะและโอกาส เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว  ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ตัน ภาสกรนที มีความสามารถในการปรับตัวและฉวยเอาไว้ได้    ปรากฏการณ์ “ชาเขียว”เพียงช่วงข้ามปี สร้างความสำเร็จให้เขาอย่างน่าทึ่ง เข้าได้ฉวยโอกาส ตัดสินใจเพิ่มทุนบริษัท โออิชิ กรุ๊ป อย่างก้าวกระโดด จาก 10 ล้านบาทเป็น370 ล้านบาท   จากนั้นได้นำบริษัทเข้าจดทะเบียนและทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (25 สิงหาคม 2547)

ในฐานะปัจเจก ตัน ภาสกรนที   ได้ใช้เวลาเพียง 5 ปี สะสมความมั่งคั่ง สามารถยกฐานะตนเอง กลายเป็นผู้มีโอกาสใหม่คนแรกๆในช่วงหลังวิกฤติการณ์ ขณะเดียวกันภาคสังคม ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นวิกฤติ มองความสำเร็จของเขากลายเป็น “ต้นแบบ”ที่น่าทึ่ง

ลูกจ้างโออิชิ

การปรับตัวกับโอกาสใหม่ ดำเนินต่อเนื่องราวติดปีก เพียงปีเศษจากนั้น ตัน  ภาสกรนที  ตัดสินใจครั้งใหญ่ อีกครั้ง ชนิดสร้างความงุนงงกับผู้คน  ด้วยการขายหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัท โออิชิ กรุ๊ป ให้เจริญ สิริวัฒนภักดี

เมื่อปลายปี 2548   ตัน ภาสกรนที ประธานกรรมการบริษัทโออิชิ กรุ๊ป ได้ลงนามขายหุ้นบริษัทโออิชิกรุ๊ปเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้นในสัดส่วน 55%ของหุ้นในบริษัท ได้เงินก้อนใหญ่สุดในชีวิต  มากกว่า3, 000 ล้านบาท

ในทันที  เขาได้เปลี่ยนสถานะ จากเจ้าของและผู้ก่อตั้ง กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยและลูกจ้าง  ย่อมเป็นประสบการณ์ที่แตกต่างออกไปอยู่แล้ว  และทีแตกต่างอย่างมากในอีกมิติหนึ่ง  คือ โออิชิเป็นเพียงจิ๊กซอร์ชิ้นเล็กๆ ในภาพใหญ่ของกลุ่มไทยเจริญ และไทยเบฟเวอเรจ เจ้าของธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ซึ่งได้ขยายกิจการอย่างมากในช่วงเวลานั้น ที่สำคัญกลุ่มไทยเจริญกำลังดำเนินแผนการสร้างภาพรวมที่เป็นปึกแผ่น ด้วยยุทธ์ศาสตร์บูรณาการ พร้อมๆกับการมาของทายาทคนหนุ่มสาว

เท่าที่พิจารณาอย่างคร่าวๆ โออิชิในช่วงเวลานั้น  ดำเนินกิจการไป อย่างไม่โฟกัสเท่าที่ควร   มีความพยายามขยายไลน์สู่ธุรกิจร้านอาหารเป็นพิเศษ  ในขณะที่คู้แข่งในธุรกิจชาเขียวก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ช่วงเวลา 5 ปีที่สองในฐานะลูกจ้าง แม้บางคนบอกว่าในบางครั้ง ตัน ภาสกรนที พยายามทำตัวเป็นเจ้าของ ซึ่งสร้างความอึดอัดพอประมาณ แต่เชื่อว่าเป็นประสบการณ์ที่ดี

ตันโออิชิ

ในที่สุด เขาเริ่มต้นกลับมายืนที่เดิมอีกครั้ง แต่อยู่ในสถานการณ์แตกต่างออกไป

ตัน ภาสกรนทีลงทุนลงแรงอีกครั้ง ในการสร้างตำน่านเครื่องดื่มชาเขียวของตนเองขึ้นมาใหม่   ภายใต้สถานการณทางธุรกิจที่เต็มไปด้วยคู่แข่ง รวมทั้งโออิชิที่เขาสร้างขึ้นมาเองซึ่งอยู่ภายใต้เครือข่ายธุรกิจอันน่าเกรงขาม   ภายใต้สถานการณ์ที่เชื่อกันว่ากระแสชาเขียวได้ลดระดับความร้อนแรงลงไปบ้างแล้ว แต่เชื่อว่ามีฐานตลาดที่กว้างขวางเดิมอย่างมาก

ประการสำคัญ ตัน ภาสกรนที ไม่ใช่บุคคลโนเนม  เช่นในช่วงต้นเมื่อทศวรรษก่อนหน้านั้น  หากเขาเป็น Role model มีผู้ติดตามเขาในฐานะเป็นแบรนด์ยิ่งกว่าตัวสินค้าชาเขียวเสียอีก เขาพยายามสร้างความต่อเนื่อง “คุณค่าแบรนด์   “ตันโออิชิ” ให้กลายเป็น “อิชิตัน” ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างเหลือเชื่อ

5ปี ช่วงที่3 ของตัน ภาสกรนที แตกต่างช่วง 5 ปีแรกพอสมควร

ดูเหมือนเขาใช้เวลาเพียง 5ปีเช่นเดียวกันในการสร้างแบรนด์ใหม่   “อิชิตัน” ให้กลับมายืนในจุดที่ดีที่สุด แต่แท้จริงแล้วแตกต่างจากครั้งก่อน   ตรงที่ครั้งนี้เขาให้เวลา 5 ปีเต็มกับเครื่องดื่มชาเขียว ขณะที่ครั้งก่อนเขาเริ่มต้นจากธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น โดยเครื่องดื่มชาเขียว “โออิชิ” เกิดขึ้นภายใต้กระแสอันร้อนแรง ใช้เวลาสั้นมากเพียงปีเดียว

5 ปีที่เท่ากันที่สำคัญ คือโอกาสในการสร้างความมั่งคั่งของปัจเจก   เขาสามารถนำพากิจการเข้าตลาดหุ้นได้อีกครั้ง ฝ่ากระแสที่ไม่ดีของสถานการณ์บ้านเมือง สามารถระดมเงินได้มากกว่า 3พันล้านบาท ซึ่งถือเป็นจุดตั้งต้นครั้งใหญ่อีกครั้ง   ในครั้งนี้ดูเหมือนเขามองไปสู่ระดับใหม่   ที่สูงกว่าเดิม

เรื่องราวของ ตัน ภาสกรนที  ควรกล่าวถึงให้มากกว่านี้

เหตุการณ์สำคัญ

ช่วงที่หนึ่ง

2542 เปิดร้านอาหารญี่ปุ่นสไตล์บุฟเฟ่ต์ ภายใต้ชื่อ “OISHI”ที่สุขุมวิท 55 (ซอยทองหล่อ)

2543 ได้จัดตั้ง บริษัท โออิชิ เรสเตอร์รอง จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 10 ล้านบาท   ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

2546 เปิดโรงงานที่โรงงานนวนคร ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อสนับสนุนร้านอาหาร และเริ่มการผลิตเครื่องดื่มชาเขียวออกสู่ตลาด ภายใต้ชื่อ “โออิชิ กรีนที”

2547  นำหุ้นสามัญเพิ่มทุน (จาก 10 ล้านบาทเป็น370 ล้านบาท) ของบริษัทเข้าทำการซื้อขาย ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

2548(ธันวาคม) บริษัทโออิชิ กรุ๊ป ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ขายหุ้นบริษัทโออิชิกรุ๊ปจำนวน 55%ให้กับกลุ่มไทยเบฟ   ด้วยมูลค่ามากกว่า3, 000 ล้านบาท

ช่วงที่สอง

2549 ต้น ภาสกรนที ยังคงเป็นผู้บริหารโออิชิ ซึ่งอยู่ภายใต้เจ้าของใหม่

2553(กันยายน)  ลาออกจากตำแหน่งบริหารโออิชิ

ช่วงที่สาม

2553ก่อตั้ง บริษัท ไม่ตัน จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 500ล้านบาท

2554(พฤษภาคม) ตัน ภาสกรนที ในฐานะผู้บริหารบริษัทไม่ตัน เปิดตัวสินค้าเครื่องดื่มสำเร็จรูปชาเชียว  “อิชิตัน”

2554   เปลี่ยนชื่อ เป็นบริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด

2557

-เมษายน   อิชิตัน  เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และทำการซื้อขายหุ้นเป็นวันแรก

–พฤษภาคม   อิชิตัน  ซื้อสิทธิ์เครื่องหมายการค้า และสูตรในการผลิตเครื่องดื่ม Bailey’s   รวมทั้งลงทุนในที่ดิน อาคารเครื่องจักรในการผลิต รวมเป็นเงินทั้งหมด 1780 ล้านบาท

(2) โอกาสใหม่

เรื่องราวของตัน ภาสกรนที น่าสนใจมากขึ้น ในฐานะคนๆหนึ่งที่สามารถนำกิจการประเภทเดียวกันเข้าตลาดหุ้นได้ 2 ครั้ง ในช่วงเวลาห่างกัน 10   ปี

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นและความเป็นไปธุรกิจในปี 2547 กับ 2557 แตกต่างกันอย่างมาก

2547

สภาพตลาดหุ้นไทยก่อนหน้า(2542-2546) ถือว่าอยู่ภาวะตกต่ำ ดัชนีราคาหุ้นเป็นเหตุและผลโดยตรงกับเหตุการณ์ปี2540 รัฐบาลไทยจำเป็นต้องลดค่าเงินบาท เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จากนั้นดัชนีตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ภาวะซบเซาอย่างแท้จริงตั้งแต่ต้นปี 2542 จนถึงสิ้นปี 2545 ดัชนีราคาหุ้นคงอยู่ในระดับต่ำมากๆเฉลี่ยประมาณ 400 จุด ต่อเนื่องติดต่อ 4 ปีเต็ม ถือเป็นช่วงตกต่ำครั้งใหญ่ของตลาดหุ้นไทย กินเวลาค่อนข้างยาวนาน

และแล้วไม่นานสถานการณ์กลับพลิกฟื้น     ในปี  2547เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากวิกฤติครั้งใหญ่ที่ยืดเยื้อพอสมควร   ดัชนีสำคัญ –การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบสองทศวรรษ เช่นเดียวกับราคาน้ำมันเริ่มสูงขึ้น    ความเป็นไปนั้นสอดคล้องกับ พัฒนาการขั้นใหม่ของปตท.

ปตท.ขยายตัวครั้งยิ่งใหญ่ จากสินทรัพย์ระดับ 3แสนล้านบาทในปี2545 เพิ่มเป็น 9 แสนล้านบาทในปี2547 จากกำไรประมาณ 24,000 ล้านบาท ในปี2545 เพิ่มเป็นประมาณ 90,000   ล้านบาทในปี 2548-9     ขณะเดียวกันราคาหุ้น จากไม่ถึง 50 บาทในวันเข้าตลาดหุ้นในปลายปี 2545 เพิ่มขึ้นทะลุ400 บาทในปี 2547 จากนั้น ปตท.จึงกลายเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ระดับโลกของไทยอย่างที่ไม่มีกิจการเป็นมาก่อน

เป็นจังหวะที่ดี สำหรับโออิชิเช่นกัน   เข้าชื่อขายในตลาดหุ้นได้ในเดือนสิ่งหาคม2547   แม้ว่า โออิชิพยายามอรรถาธิบายให้แตกต่างออกไป “ปี 2547 แม้ว้าเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยจะไม่เติบโตตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้อันเป็นผลกระทบจากสภาวะความผันผวนของราคาน้ำมัน  การระบาดของโรคไข้หวัดนก” อ้างจากแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีสิ้นสุดวันที่31 ธันวาคม 2547 บริษัท โออิชิิ กรุ๊ป จํากัด(มหาชน)

ทั้งๆที่ ความเป็นไปในปี 2546-2547 ถือเป็นความมหัศจรรย์ อันเนื่องจาก สิ่งที่อาจเรียกว่า “ปรากฏการณ์ชาเขียว”

จากข้อมูลชุดที่อ้างถึงข้างต้น   ยอดขายของโออิชิในปี 2445 มีเพียงประมาณ 700ล้านบาท ทั้งหมดม าจากธุรกิจร้านอาหารและเบเกอรี่     ในปี2546  เป็นปีทีเปิดตัวสินค่าใหม่—เครื่องดื่มชาเขียวโออิชิ ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 1300 ล้านบาท เครื่องดื่มชาเขียวมีสัดส่วนอยู่เพียง 13% ถือว่าการเติบโตส่วนใหญ่มาจากธุรกิจดั้งเดิม   ปี2547 ปีที่โออิชิเข้าตลาดหุ้น เป็นปีที่เติบโตอย่างมหัศจรรย์  ยอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 3000 ล้านบาท โดยที่เครื่องดื่มชาเขียว  มีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง  60%    โออิชิกลายเป็นผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มชาเขียวในทันที   โออิชิ กลายเป็นผู้สถาปนาสินค้ากลุ่มใหม่ขึ้นมาครั้งแรกในตลาดเมืองไทย  เป็นสินค้าที่เติบโตอย่างต่อเนื่องอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

การเข้าตลาดหุ้นในช่วงเวลานั้นถือเป็นจังหวะที่ดีมาก  ว่ากันว่า  ตัน  ภาสกรนที  ได้ระดมเงินจากตลาดหุ้นครั้งแรกในชีวิตในระดับพันล้านบาท   แต่ในเวลาต่อมาเพียงปีเศษๆ เมื่อมีข้อเสนอซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของเขาในโออิชิจากกลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี ด้วยมูลค่ากว่า 3000 ล้านบาท ย่อมเป็นเรื่องที่ตื้นเต้นกว่ามาก

ตำนานภาคแรกของ ตัน ภาสกรนที จึงปิดฉากลงอย่างรวดเร็ว อย่างน่าประหลาดใจ

2557

แม้ว่าตอนที่แล้ว จะกล่าวว่า  ตัน ภาสกรนที ได้ใช้เวลาในการเริ่มต้นตำนานใหม่—อิชิตัน เป็นเวลา5 ปี นั่นเป็นเวลาโดยรวม แต่เครื่องดื่มชาเขียว แบรนด์เนมใหม่—อิชิตัน เริ่มต้นในตลาดอย่างจริงจังเมื่อปี2554 (เดือนพฤษภาคม)นี้เอง  ในช่วงเวลาไม่ค่อยดีนัก ด้วยยอดขายเพียงประมาณหนึ่งพันล้านบาท  เนื่องจาก “รายได้จากการขายในปี 2554 มาจากการว่าจ้างผลิตทั้งหมด และได้รับผลกระทบจากกมหาอุทกภัยในเดือนตุลาคม”    แต่ในปีต่อมา ยอดขายเพิ่มขึ้น ถึงเกือบ4000 ล้านบาท เนื่องจากโรงงานเดินเครื่องได้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้อาจวิเคราะห์เพิ่มเติมด้วยว่า เป็นผลมาจากแรงกระตุ้นทางการตลาด มาจากอารมณ์ร่วมของผู้บริโภค เชื่อมโยงกับบุคลิกและภาพความเคลื่อนไหวอย่างมีสีสัน ของตัน  ภาสกรนที (ในฐานะ ตัน ภาสกรนที เป็นแบรนด์ที่มีคุณค่ามากกว่าอิชิตันด้วยซ้ำ-โปรดอ่านบทวิเคราะห์ตอนก่อนๆ) เป็นปรากฏการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นและประทับใจผู้คนในช่วงวิกฤติการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 ในช่วงเวลาดังกล่าว ตลาดรวมเครื่องดื่มชาเขียวเติบโตขึ้นอย่างมากอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

ในปี 2556 ตลาดเครื่องดื่มชาพร้อมดื่ม (Ready to Drink Tea) มีมูลค่ารวม 16,143 ล้านบาท เพิ่ม ขึ้นจากปีก่อน 23% ซึง ถือเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดเป็นอันดับ 1 เมือเปรียบเทียบกับเครื่องดื่มประเภทอื่นๆและยังมีแนวโน้มการเติบโตทีเพิ่มขึ้นนอย่างต่อเนืองโดยในช่วง 4 ปีทีผ่านมา (ปี 2553 ถึงปี 2556) มูลค่าตลาดเครื่องดื่มชาพร้อมดื่ม มีอัตราเติบโต ประมาณ 26%สำหรับปี 2555 มูลค่าตลาดเครื่องดื่มชาพร้อมดื่มเพิ่มขึ้น จากปี 2554 ถึง 39% เนืองจากปี 2554 เป็นปีทีเกิดมหาอุทกภัย”สรุปข้อสนเทศบริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (ICHI)ที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์อ้างไว้

จากรายงานอ้างจากการสำรวจ—ดัชนีค้าปลีกของ Nielsen ข้อมูลมกราคม 2557   ระบุว่า อิชิตันใช้เวลาไม่ถึง3 ปีสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำเครื่องดื่มชาเขียว “ผู้นำตลาดเครื่องดื่มชาพร้อมดื่ม 3 รายแรกของปี 2556 ได้แก่ อิชิตัน, โออิชิ และ เพียวริคุ ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 42% 39%และ 9% ตามลำดับ” ทั้งๆที่ในตลาดเครื่องดื่มชาเขียว เต็มไปด้วยคู้แข่งรายใหญ่ โดยเฉพาะ โออิชิ– แบรนด์ที่เขาสร้างมากับมือซึ่ง ครองความเป็นผู้นำมากว่าทศวรรษ ซึ่งอยู่เครือข่ายไทยเบฟเวเรจ   และเพียวริคุ– หนึ่งในแบรนด์ดังของกลุ่มกระทิงแดง

หากพิจารณาเฉพาะความเป็นไปของธุรกิจเครื่องดื่มชาเขียวข้างต้น  นับเป็นช่วงเวลาที่ดีอีกเช่นกัน ที่บริษัทอิชิตันได้เข้าตลาดหุ้นในเดือนเมษายน 2557

แม้โดยภาพรวมไม่ได้เป็นเช่นนั้น

“ในปี2556 เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างตอเนื่อง จากการหยุดชะงักของหลายกลไกขับเคลื่อน ทั้งดานการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนภายในประเทศ รวมถึงการสงออกที่ประสบปัญหาในการฟื้นตัว ขณะที่แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2557 ยังมีความไมแน่นอนสูงจากหลายปัจจัยเสี่ยง อาทิ สถานการณการเมือง แผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เลื่อนออกไป และการสงออกของไทยที่ยังฟื้นตัวตามหลังเศรษฐกิจโลก

….เนื่องจากการคลี่คลายของปมการเมืองที่ซับซอนในขณะนี้ยังมีประเด็นปัญหาในหลายดาน ทําให้อาจตองใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกวาที่กลไกภาครัฐจะสามารถกลับมาเดินหนาผลักดันแรงกระตุนเขาสูภาคเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นให้แกภาคเอกชน ซึ่งหมายความวาแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจในปีนี้ คงตองอาศัยภาคการสงออกเป็นหัวใจสําคัญ” บทวิเคราะห์ของธนาคารสิกรไทยเมื่อต้นปี 2557 เชื่อมโยงกับสถานการณ์ที่รุนแรงต่อเนื่องของการชุมนุมใหญ่ทางการเมือง ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ต่อเนื่องมาจนถึง การรัฐประหารในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

อิชิตันเข้าตลาดหุ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่เป็นแรงเสียดทาน  สามารถระดมทุนเกือบๆ 4000 ล้านบาท ในแผนการทางธุรกิจที่ ดูยิ่งใหญ่ กว่าเมื่อ10 ปีที่แล้ว

ตำนานอิชิตันเพิ่งเริ่มต้นขึ้น   ขณะที่ตัน ภาสกรนที มีแรงบันดาลใจเพิ่มขึ้นจากเมื่อทศวรรษก่อน     มีแผนการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง  และตามมาด้วยแผนการใหม่ๆที่ตื้นเต้น  ท่ามกลางสถานการณ์ไม่ปกติ  ก่อนการรัฐประหารไม่กี่วัน

(3)ทางแยก

ยุคอิชิตัน มีแรงบันดาลใจและความเชื่อมั่นสูงกว่ายุคก่อนอย่างมาก  เพียงไม่ถึงเดือนที่นำกิจการเข้าตลาดหุ้น   ตัน ภาสกรนที ได้กระโดดข้ามชอร์ตไปอีก

21 เมษายน 2557 อิชิตัน เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และทำการซื้อขายหุ้นเป็นวันแรก

14 พฤษภาคม 2557   อิชิตัน ตกลงซื้อสิทธิ์เครื่องหมายการค้า และสูตรในการผลิตเครื่องดื่ม Bailey’s   รวมทั้งลงทุนในที่ดิน อาคารเครื่องจักรในการผลิต รวมเป็นเงินทั้งหมด 1780 ล้านบาท

ตัน ภาสกรนทีในช่วงทศวรรษที่แล้วกับปัจจุบัน   มีความเป็น “ตัวตน”ที่แตกต่างกันอย่างมาก จะด้วยตั้งใจหรือไม่ เชื่อว่าเขามีเจริญ สิริวัฒนภักดี  เป็นบุคคลอ้างอิง

“ธุรกิจของตัน มีความสัมพันธ์กับฐานผู้บริโภคระดับกว้าง ซึ่งมีความผันแปร ว่าด้วยรสนิยม วิถีชีวิต และสื่อ ในอีกด้านหนึ่งเป็นธุรกิจเปิด ใครๆ ก็เข้ามาได้ และสามารถเข้ามาได้อย่างรวดเร็ว  ความได้เปรียบทางธุรกิจในฐานะผู้มาก่อนมีอายุสั้นมาก ที่สำคัญความสามารถ สัญชาติญาณของเขายากที่จะส่งต่อให้คนอื่นๆ   คุณค่าธุรกิจโออิชิอยู่ที่สัญชาติญาณของตัน    นับวันคุณค่าจะค่อยๆ ลดลง และมีความเสี่ยงมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น หากเขากระจายความเสี่ยง  เขาย่อมจะมีเวลามากขึ้น ในการสะสมความมั่นคง ณ ที่อยู่บนยอดคลื่นไว้” ผมเคยวิเคราะห์แรงจูงใจของตัน ภาสกรนที ในช่วงขายหุ้นใหญ่โออิชิ ให้เจริญ สิริวัฒนภักดี  (ตัน กับ เจริญ   2549)

“เจริญ สิริวัฒนภักดี  รู้มานานแล้วว่า “คุณค่าธุรกิจ” ที่มาจากระบบอุปถัมภ์และสัมปทานไม่คงทน เพราะตลาดเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกว่าที่ใครๆ คิด และที่สำคัญมันไม่ใช่สินทรัพย์ที่ส่งต่อให้ทายาทได้  เป็นที่เข้าใจกันว่า ฐานธุรกิจสำคัญที่สุดของเขา  คือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์   เจริญและทีมผู้บริหารมืออาชีพผู้ปราดเปรื่องของเขาคงพิเคราะห์แล้วว่า คุณค่าของธุรกิจที่สำคัญ  อยู่ที่ความสามารถการบริหารเครือข่ายการตลาด  หากเขามีสินค้าที่มีฐานแข็งแรง เข้าเสียบอย่างเหมาะเจาะ  ย่อมจะสร้างฐานและขยายธุรกิจที่มั่นคงต่อไป   ที่สำคัญกว่านั้น เขาสามารถเดินทางข้ามผ่านจากธุรกิจเก่าไปสู่ธุรกิจใหม่ที่มีอนาคตมากขึ้น”ข้อเขียนชิ้นนั้นได้วิเคราะห์แรงจูงใจของเจริญด้วย

ตัน ภาสกรนที จากนักธุรกิจโนเนมคนหนึ่ง ใช้จังหวะสั้นมากๆกับ “ความมหัศจรรย์กระแสชาเขียว”  ก้าวขึ้นเป็นผู้รำรวยใหม่อย่างรวดเร็ว   ว่าไปแล้วในเวลานั้น เทียบไม่ได้กับเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของเครือข่ายธุรกิจยิ่งใหญ่ ดังนั้น เมื่อตัน สามารถเข้าไปอยู่ในเครือข่ายเจริญได้ ย่อมถือเป้นความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง

ผมเชื่ออีกเช่นกันว่า  วันนี้ ตัน  ภาสกรนที ก็ยังคงอ้างอิงเจริญ สิริวัฒนภักดีอยู่ แต่ในมิติที่แตกต่างกันอย่างมาก

โดยเฉพาะกรณีอิชิตัน พยายามก้าวเข้าสู่ธุรกิจเครื่องดื่มที่ออกจาก “ชาเขียว”

—อิชิตันซื้อสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้า”ไบเล่”(BIRELEY) พร้อมสูตรการผลิต จากSunny Herb International Beverage ด้วยมูลค่า 240 ล้านบาท ข้อตกลงการซื้อสิทธิเครื่องหมายการค้า พร้อมสูตรการผลิตครอบคลุม 16ประเทศ ได้แก่ไทย กัมพูชา เกาหลีใต้ แคนาดา พม่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย ฮ่องกง บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ไต้หวัน และเวียดนาม

BIRELEY เป็นแบรนด์ที่อยู่ในตลาดเมืองไทยมาช้านาน “บริษัท ไบเล่คาลีฟอร์เนียโอเร้นซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2491 โดย มิสเตอร์ วิลเลียม จาร์ดีน หลานชายของ มิสเตอร์บี ไบเล่     ไบเล่ฯ เป็นสาขาในต่างประเทศสาขาแรกของ Bireley’s California Orange ประเทศสหรัฐอเมริกา โรงงานแห่งแรกตั้งอยู่ที่ถนนมหาชัย กรุงเทพฯ ต่อมาในปี 2511http://www.bireleythailand.com/)  แม้เป็นแบรนด์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯมาตั้งแต่ปี 2481 เท่าที่ทราบในปัจจุบัน มีตำแหน่งทางการตลาดเฉพาะในเมืองไทยและญี่ปุ่น( ผู้ถือสิทธ์ในญี่ปุ่นคือ Asahi Group ซึ่งถือว่านอกเหนือการซื้อสิทธิ์ครั้งนี้)

–อิชิตันเข้าลงทุนซื้อที่ดิน 75 ไร่ ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ พร้อมลงทุนก่อสร้างอาคารและระบบเครื่องจักรภายในรวมประมาณ 1300ล้านบาท

“เป็นการกระจายความเสี่ยงให้กับอิชิตัน ไปยังตลาดน้ำผลไม้ ที่เน้นความสดชื่นซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ เหมาะกับผู้บริโภคได้ทุกวัย และยังออกแนวสุขภาพ” นี่คือความมุ่งหวังของอิชิตัน จากถ้อยแถลงพื้นๆที่มีต่อนักลงทุนและสาธารณชน

การลงทุนทางทางธุรกิจเกือบ 2000ล้านบาท ย่อมถือเป็นแผนการเดินหน้าครั้งใหญ่   ผู้เกี่ยวข้องมีมุมมองและความคาดหวังที่แตกต่างกันออกไป สะท้อนผ่านราคาหุ้นอิชิตัน ที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับใหม่ จาก 16-20 บาท ในเข้าตลาดหุ้นช่วงแรกๆ ขึ้นสูระดับใหม่ 23-27 บาท หลังดีลข้างต้น ตั้งแต่ช่วงก่อการรัฐประหารจนถึงปัจจุบัน    ขณะที่ในนักวิเคราะห์หลักทรัพย์บางราย ยังแสดงข้อกังวลกับดีลข้างต้น

ผมเชื่อว่าแผนการใหม่ของตัน ภาสกรนที มีอีกหลายมิติ  ว่าด้วยบทเรียนและแรงบันดาลใจ

มิติแรก   ตันกับอิชิตัน เป็นผู้สร้างตำนานภาคใหม่   ผ่านจากยุค “ความมหัศจรรย์ชาเขียว”ในยุคบุกเบิก ช่วงปี2546-7 มาสู่ยุคใหม่ การสร้างแบรนด์ใหม่ ภายใต้ตลาดเครื่องดื่มชาเขียวที่มีการแข่งขันสูง มี่คู้แข่งรายใหญ่ๆรวมอยู่ด้วย การสร้างแบรนด์ครั้งใหม่ เป็นส่วนผสมระหว่างสินค้ากับตัวบุคคล–ตัน ภาสกรนที ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ทางธุรกิจ ที่เกิดและคงอยู่มาเกือบทศวรรษแล้ว ที่สำคัญแบรนด์ใหม่—อิชิตัน ใช้เวลาไม่กี่ปี สามารถเอาชนะแบรนด์เก่า—โออิชิ ซึ่งอยู่ภายใต้เครือข่ายเจริญ สิริวันภักดีได้

มิติที่สอง   เป็นไปได้ว่า ตัน  จับตาความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับธุรกิจเครื่องดื่มของเจริญ  สิริวัฒนภักดี  โดยเฉพาะความพยายามเดินออกจากเส้นทางเดิม จากเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์สู่เครื่องดื่มไม่มี แอลกอฮอล์  ตั้งแต่กรณีซื้อกิจการบริษัทเสริมสุข  ไปจนถึงกรณี เข่าซื้อกิจการใหญ่ในสิงคโปร์  เมื่อปี2555

การเข้าครอบงำ Fraser and Neave ของกลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี ถือเป็นดีลที่ยิ่งใหญ่ ครึกโครม มีมูลค่าเกือบหนึ่งแสนล้านบาท เมื่อพิจารณาอย่างเจาะจง พบว่า นอกจากสินค้าและแบรนด์ของF&N Food’s ในเครือ Fraser and Neave มีสินค้าที่น่าสนใจจำนวนมาก โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่หลากหลาย รวมทั้งน้ำผลไม้

อาจเป็นการส่งต่อแรงบันดาลใจที่ว่าด้วยเรื่อง Diversificationอย่างน่าสนใจ

อีกมิติหนึ่งกรณี  Fraser and Neave   มองได้แง่หนึ่ง เจริญ สิริวัฒนภักดี กำลังก้าวเข้าสู่เกมใหม่ ทีมองกว้างกว่าประเทศไทย   แม้ว่า กรณี BIRELEY จะเทียบกันกับกรณี Fraser and Neave   ไม่ได้ แต่ ตัน ภาสกรนที ได้ให้สัมภาษณ์ ถึงแผนการในอนาคตของดีลดังกล่าว ไปในทิศทางเดียวกัน แม้ผู้คนจะมองว่า ยังห่างชั้นกันมากก็ตาม

ที่แน่ๆในวันนี้หลายคนเชื่อ ว่า  ตัน ภาสกรนที เดินตามเงา เจริญ สิริวัฒนภักดีไม่ห่างนักแล้ว อย่างน้อยใน  Thailand‘s 50 Richest 2014 จัดโดยนิตยสาร Forbes แห่งสหรัฐฯ ออกเผยแพร่ล่าสุด (Forbes AsiaJune 16, 2014) ปรากฏชื่อ ตัน ภาสกรนที เข้าสู่ทำเนียบเป็นครั้งแรก ในฐานะผู้ร่ำรวยอันดับที่ 34ของไทย ในขณะที่ เจริญ สิริวัฒนภักดี ยึดตำแหน่งต้นๆ ติดต่อกันมาหลายปีแล้ว (ปีนี้อยู่ในอันดับ3 เท่ากับปีที่แล้ว)

ผมไม่ได้สนใจเรื่องข้างต้นนัก หากสนใจติดตามความเป็นไปของบุรุษวัย 55 ปี เชื่อกันว่าเขาควรศึกษาบทเรียนด้านลบ ของเจริญ สิริวัฒนภักดี ด้วย  

โดยเฉพาะบทเรียนโออิชิ   จากปรากฏการณ์  “เสียสมดุล”ระหว่างการขยายสินค้าใหม่ กับการรักษาผู้นำตลาดสินค้าเดิม

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: