เครือข่ายธุรกิจค่าปลีก มีอิทธิพลต่อสังคมไทยมากขึ้น ในหลายมิติ เครือข่ายที่ขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้งตลอดหลายทศวรรษ ทั้งนี้สะท้อนภาพผ่านความเคลื่อนไหวอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยของกลุ่มเซ็นทรัล
ผมเชื่อว่า การติดตามและศึกษาเรื่องราวของกลุ่มเซ็นทรัล ไม่เพียงให้ภาพเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกในสังคมไทยได้อย่างชัดแจ้ง หากให้ภาพพัฒนาการและแรงบันดาลใจของธุรกิจไทย เป็นบทเรียนสำคัญ สามารถผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านเหตุการณ์สำคัญของสังคม ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง เป็นต้นมา
ในฐานะผู้ติดตามและนำเสนแอเรื่องราวเซ็นทรัลมาอย่างต่อเนื่องตลอด 25 ปี มีเรื่องเล่าบางตอนที่ควรกล่าวถึง เป็นฉากหลังเรื่องราวที่มีสีสัน ถือเป็นการโหมโรงการนำเสนอบทความเป็นซีรีย์ค่อนข้างยาว
เท่าที่จำได้ ผมเคยนำเสนอเรื่องราวเซ็นทรัลชุดใหญ่ครั้งแรก ในราวปี 2529 มีโอกาสได้สนทนากับมาชิกคนสำคัญๆของตระกูลจิราธิวัฒน์ โดยเฉพาะวันชัย จิราธิวัฒน์ ช่วงนั้นเป็นระยะก่อนการเปลี่ยนผ่านผู้นำกลุ่มเซ็นทรัล
ในปี 2532วันชัย ขึ้นเป็นประธานกลุ่มเซ็นทรัล แทนสัมฤทธิ์ จากนั้นในปี 2535 สัมฤทธิ์ ก็ถึงแก่กรรม วันชัย จิราธิวัฒน์ เป็นผู้นำกลุ่มเซ็นทรัลในช่วงยาวนานที่สุด (2532-2555) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง เตียง จิราธิวฒน์ ในยุคก่อตั้ง และยุคสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ (2511-2532) ยุควันชัย จิราธิวัฒน์ เป็นช่วงเวลาเซ้นทรัลขยายอาณาจักรไปอย่างกว้างขวาง ด้วยความพร้อมและมั่นใจอย่างเต็มที่ ของทีมบริหารล้วนเป็นคนในตระกูลจิราธิวัฒน์
ในงานเขียนชุดนั้น(ปี 2529) ผมได้ค้นคว้าและตั้งใจยำเสนอ Family tree ของตระกูลจิราธิวัฒน์ อย่างเป็นระบบครั้งแรก ขณะนั้นจิราธิวัฒน์ มีถึง 4 รุ่นแล้ว มีทายาทรวมกัน 68 คน (ถ้าหากรวมหลาน – เหลนที่เกิดจากลูกสาว – หลานสาว เชื้อสายจิราธิวัฒน์เพิ่มเป็น 100 คนพอดี ) เป็นภาพนำเสนอที่เรียกกันในปัจจุบันว่า Info graphicแต่ด้วยตัดขัดปัญหาบางประการ ในที่สุด Info graphic ชิ้นดังกล่าวไม่ได้ตีพิมพ์ ต่อมาไม่นาน หนังสือ”จิราธิวัฒน์สัมฤทธิ์” หนังสืออนุสรณ์งานศพสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ปี 2535 ได้ตีพิมพ์ Family Tree ของตระกูลจิราธิวัฒน์ขึ้นอย่างคร่าวๆ เป้นครั้งแรก
ในปี 2543 ผมและทีมงานร่วมกันนำเสนอเรื่องราวกลุ่มเซ็นทรัลครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง
เราให้ความสำคัญของความผันแปรของธุรกิจค้าปลีก ทีมีเรื่องเล่าที่มีสีสันมากมาย สะท้อนบทเรียนอย่างเป็นระบบ กลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่และซับซ้อนที่สุดในเมืองไทย ฝ่ามรสุมทางเศรษฐกิจช่วงปี 2540 ได้อย่างไร ขณะนั้น สุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ เป็นประธานกลุ่ม การค้นคว้าเกิดขึ้น พร้อมๆกับสนทนากับผู้เกี่ยวข้อง หลายคน หลายครั้ง มีถึงทั้งที่ทำงาน—เซ็นทรัล ชิดลม จนถึงที่บ้านพัก (รมทั้งบ้านพักตากอากาศของสุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ ที่เคยมีอยู่ที่ มวกเหล็ก) มีโอกาสเยี่ยมชมบ้านศาลาแดง ที่ซอยศาลาแดง สีลม ในฐานะศูนย์รวมที่พักอาศัยสมาชิกส่วนใหญ่ของระกูลจิราธิวัฒน์ ที่มีมาตั้งแต่ปี 2499
และถือเป็นครั้งแรกที่ได้กล่าวถึง Family council รูปแบบการจัดการสมัยใหม่ของตระกูลจิราธิวัฒน์ ที่มีพัฒนาการมาจากระบบกังสี
เรื่องราวของเซ้นทรัล และจิราธิวัฒน์ อย่างละเอียดและเป็นระบบ มีการจัดทำเป็นหนังสือเล่ม “70 ปีจิราธิวฒน์ Central ยิ่งสู้ยิ่งโต” ผู้เขียน วิรัตน์ แสงทองคำ ปัณฑป ตั้งศรีวงศ์ และสมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย โดยมีสุปราณี คงนิรันดรสุข เป็นบรรณาธิการ จัดทำโดย Manage classicปี2546
ผมเองยังไม่แน่ใจนักว่า ข้อเขียนชุดใหม่ จะสามารถนำเสนอได้ดี เช่นหนังสือเล่มดังกล่าวหรือไม่
และอีกครั้งหนึ่งที่ผมเองเคยนำเสนอเรื่องราวตระกูลจิราธิวัฒน์ ในแง่มุมที่แตกต่างออกไป ในหนังสือ “หาโรงเรียนให้ลูก” ของผมเอง ฉบับปรับปรุงใหม่และพิมพ์ ครั้งที่สอง ปี 2548
“ผู้คนที่มีความปรารถนาจะส่งบุตรหลานไปศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมในต่างประเทศนั้น พวกเขาควรเชื่อมโยง เป้าหมายของเราจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เข้ากับการปรับยุทธศาสตร์ในเรื่องการศึกษาของชาติ จะเชื่อมโยงเป้าหมายของตนเอง เข้ากับยุทธศาสตร์ในการสร้างคน มิใช่เพียงเป็นบุคลากรที่มีโอกาสมากกว่าคนอื่นๆในสังคมไทยเท่านั้น หากจะเป็นสร้างทรัพยากรมนุษย์ของชาติในการทำให้ชาติไทยสามารถ ทั้งแข่งขันในระดับโลก หรือดำรงอยู่ในโลกในฐานะที่สำคัญและบุคลิกของชาติไทยอยู่” บางส่วนของคำนำหนังสือที่นำเสนอ เรื่องราวและความคิด ของการส่งบุตรหลานไปการศึกษาระดับมัธยมศึกษาในต่างประเทศ
“กรณีทศ จิราธิวัฒน์บุตรชายคนสำคัญของสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ผู้นำรุ่นที่สองของตระกูล ผู้สร้างเครือเซ็นทรัลเติบใหญ่ ส่งไปเรียนมัธยมที่สหรัฐ ในโรงเรียนเอกชนธรรมดาๆโรงเรียนหนึ่ง ในเมืองไมอามี่ มลรัฐฟลอริด้า Palmer School (ต่อมาปี2534เปลี่ยนชื่อเป็นPalmer Trinity School เนื่องมาจากควบกิจการโรงเรียนสองแห่งเข้าด้วยกัน) เมื่อประมาณปี2520”นี่คือเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือเล่มดังกล่าวในตอนที่เน้นกล่าวถึงโรงเรียนมัธยมในสหรัฐฯ โดยพาดถึง ทศ จิราธิวัฒน์
“ทศ จิราธิวัฒน์ เกิด23 พฤศจิกายน 2507 เป็นบุตรชายของสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ เขาเริ่มต้นการศึกษาตามสูตรตระกูลจิราธิวัฒน์ ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ จนถึงมัธยมปีที่2 ก็เดินทางไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา
เขาเรียนที่Palmer School ที่ไมอามี่ มลรัฐฟลอริด้า จากนั้นเข้าเรียนปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์ที่Wesleyan University ในช่วงปี2526-8 เขาได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ถูกส่งไปเรียนที่อังกฤษ ที่LSE (London School of Economics and Political Science) สถาบันชื่อดังที่ผลิตนักเศรษฐศาสตร์ไทยหลายคน อาทิ บุญมา วงศ์สวรรณ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พิสุทธิ์ นิมมานเหมินทร์เป็นต้น
ทศ จิราธิวัฒน์ จบปริญญาตรีในปี2528 ก็ทำงานตามสูตร ที่Masey Department Store ที่นิวยอร์ก เพื่อหาประสบการณ์ประมาณครึ่งปี ลาออกไปเรียนMBA ที่Columbia University ที่นิวยอรค์นั่นเอง เมื่อจบในปี2531 เขาทำงานที่Citibank สาขาประเทศไทย แต่ทำได้เพียงปีเดียว ได้ตัดสินใจลาออกมาทำงานในกลุ่มเซ็นทรัลของตระกูลจิราธิวัฒน์ ในปี2532 อยู่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจตลอดมา จนเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่เซ็นทรัลรีเทล (CRC)” อีกตอนหนึ่งของหนังสือได้ กล่าวถึงโปรไฟล์ของ ทศ จิราธิวัฒน์ เป็นการเฉพาะ (ช่วงเวลาที่อ้างถึงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่เซ็นทรัลรีเทล ของทศ จิราธิวัฒน์ ต้องอ้างอิงช่วงเวลาการตีพิมพ์ หนังสือ “หาโรงเรียนให้ลูก” ในปี 2548 )
การศึกษาและติดตาม ความเป็นไปของกลุ่มเซ็นทรัลปัจจุบัน ควรติดตามความคิดของ ทศ จิราธิวัฒน์ ในฐานะ ในฐานะผู้นำคนใหม่ กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่และซับซ้อนที่สุดในเมืองไทย
ผมหวังว่า จากบท “เกริ่นนำ” จะเป็นการจุดกระแส ติดตามตอนต่อๆไป ทั้งเป็นการ “จุดปะทุ”การค้นคว้า นำเสนอเรื่องราวกลุ่มเซ็นทรัลยุคใหม่ ในฐานะภาพสะท้อน และ “ลมหายใจ”ธุรกิจค้าปลีกในสังคมไทย