เซ็นทรัลยุคต้น ในฐานะต้นแบบห้างสรรพสินค้าสมัยใหม่ เป็นเรื่องราวที่น่าต้นเต้น กลายเป็นบทเรียนสำคัญ ท่ามกลางช่วงเปลี่ยนผ่านของกรุงเทพฯ
(1)
“นี่เตียง แซ่เจ็ง หรือเตียง จิราธิวัฒน์ ชายหนุ่มวัย 22 ปี รอนแรมฝ่าคลื่นลมจากมณฑลไหหลำประเทศจีนมาลงหลัก ปักฐาน ณ ดินแดนสยาม พร้อมภรรยา และ บุตรชายวัย 2 ปี ในวันนั้น คงไม่มีใครแม้แต่ตัวเขาเอง จะคาดคิดว่า จะกลายมาเป็นผู้พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์การค้าของไทย เริ่มจากร้านค้าเล็กๆ ขายกาแฟและของใช้เบ็ดเตล็ดย่านบางมด จนมาเปิดร้านค้า แถวบางขุนเทียน ทั้งร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านของใช้ ร้านตัดเสื้อ ร้านตัดผม และที่อยู่อาศัยไว้ในหนึ่ง เดียวกัน
ลูกชายคนโตของตระกูลจิราธิวัฒน์ –สัมฤทธิ์มีส่วนร่วมสร้างความเติบใหญ่ให้กับกิจการเสมอมา นับแต่ช่วยพายเรือขาย ของตามคลองย่านฝั่งธนฯ ช่วยงานที่ร้านอย่างเข้มแข็ง จนร่วมกับเพื่อนรับนิตยสารจากต่างประเทศไปจำหน่ายตาม ห้างร้านในกรุงเทพฯ มาสู่การเป็นผู้จำหน่ายหนังสือเอง เขาเปิดร้านห้องแถวหนึ่งคูหาแถวสี่พระยา และนี่คือปฐมบท ของห้างเซ็นทรัล” สาระสำคัญ (โดยตัดทอนข้อความเพียงเล็กน้อย) คัดมาจากประวัติในยุคต้นที่กลุ่มเซ็นทรัลเขียนขึ้นเอง (http://www.central.co.th/ ) “ปฐมบท ของห้างเซ็นทรัล” เชื่อว่ามาจากร้าน “Central trading” ในปี 2490 แต่อาจไม่ถือเป็นจุดกำเนิด ห้างสรรพสินค้าสมัยใหม่
ขณะนั้นสังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ร้านค้าปลีก สินค้านำเข้าจากต่างประเทศ เริ่มขยายวงออกไปจากราชสำนัก สู่สามัญชนในวงกว้างมากขึ้น ห้างฝรั่งได้ถ่ายทอดโนว์ฮาวค้าปลีกไปสู่คนไทยระดับหนึ่ง
“เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 อิทธิพลของห้างฝรั่งซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของยุคอาณานิคมอ่อนแอลงไป พ่อค้าชาวจีนในเมืองไทยซึ่งสะสมประสบการณ์ ความสัมพันธ์และความขัดแย้ง กับอิทธิพลอาณานิคมในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาระยะหนึ่ง สะสมความรู้ธุรกิจระหว่างประเทศพอสมควร จึงพยายามเข้าสู่ช่องว่างแห่งโอกาส ประวัติศาสตร์ธุรกิจไทยในช่องว่างนี้ ถือเป็นข้อต่อสำคัญมาก” ผมเคยอรรถาธิบายความเป็นไปของสังคมไทยกับยุคก่อตั้งกลุ่มเซ็นทรัลไว้ โดยให้ความสำคัญบทบาทสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์
“ธุรกิจขายหนังสือต่างประเทศที่สี่พระยา เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของการกำเนิดห้างเซ็นทรัล…การเปิดพรมแดนความรู้ต่างประเทศ ในช่วงสังคมธุรกิจไทยกำลังขยายตัวอย่างก้าวกระโดดหลังสงครามโลก และการเติบโตของกลุ่มคนรุ่นใหม่ และปัญญาชนสยามต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง”
อีกด้านหนึ่ง การศึกษาวิถีชีวิตที่มีอิทธิพล ตั้งแต่สังคมไทยเปิดกว้างรับอิทธิพลตะวันตก เป็นผลึกความรู้ของตระกูจิราธิวัฒน์ที่ตกทอดมายาวนาน เริ่มจากสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ผู้มีพื้นฐานในการใช้ภาษอังกฤษ บวกกับประสบการณ์ในธุรกิจจำหน่ายหนังสือ และนิตยสารต่างประเทศ มาสู่ประเพณีครอบครัวใหญ่“จิราธิวัฒน”ให้ความสำคัญส่งบุตรหลานศึกษาเล่าเรียนในต่างประเทศ พวกเขาจึงกลุ่มคนที่มีความรู้ ความเข้าใจ ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิตสมัยใหม่กับรสนิยมที่เปลี่ยนแปลงในระดับโลก นับเป็นฐานความรู้สำคัญของผู้นำธุรกิจร้านค้าปลีก
ยุดต้นธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ แยกไม่ออกจากพัฒนาการของเซ็นทรัล จากห้างเล็ก ๆ แถวสี่พระยา และตรอกโรงภาษีเก่าหน้าโรงเรียนอัสสัมชัญ จุดตั้งต้นที่สำคัญควรอ้างอิง — ห้างเจ็งอันตง เกิดขึ้นในราวปี 2500 ในย่านวังบูรพา ข้อมูลของกลุ่มเซ็นทรัลเองอ้างเช่นนั้น แม้รายละเอียดของบางแหล่งข้อมูลจะแตกต่างกับบ้าง
“จากร้านขาย ในย่านชุมชนชาวจีนของกรุงเทพซึ่งเริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2490 คุณสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ บุตรชายคนโตของนายห้างเตียง จิราธิวัฒน์ เปิดห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลแห่งแรกในปี พ.ศ. 2500 ที่วังบูรพา ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าสมบูรณ์แบบที่สุดของไทยได้เกิดขึ้นแล้ว พร้อมกำเนิดของการติดป้ายราคา … นวัตกรรมของวงการค้าปลีกที่ไม่ต้องเสียเวลาต่อราคาอีกต่อไป” (http://www.centralretail.com/ )
“ณ วังบูรพา แหล่งเที่ยวทันสมัยที่สุดของวัยรุ่นบางกอกในยุค 2500…คุณเตียง และลูกชาย 3 คน – สัมฤทธิ์ วันชัย สุทธิพร- ร่วมกันขยายงานก่อตั้งเป็น ห้างเซ็นทรัลสาขาวังบูรพา ห้างสรรพสินค้าสมบูรณ์แบบที่สุดของไทยได้เกิด ขึ้นแล้ว” (http://www.central.co.th/)
แท้จริงแล้ว “วังบูรพา แหล่งเที่ยวทันสมัยที่สุดของวัยรุ่นบางกอกในยุค 2500” มีภาพทีใหญ่กว่านั้น
“วังบูรพา เป็นทำเลการค้าสำคัญ ใกล้กับย่านพาหุรัด บางลำพูและเยาวราช ซึ่งมีธุรกิจการค้าปลีกในรูปแบบห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้น เช่นห้างใต้ฟ้า ห้างแมวดำในย่านเยาวราชและห้างไนติงเกลโอลิมปิค ที่หลังวังบูรพา” (“70 ปีจิราธิวฒน์ Central ยิ่งสู้ยิ่งโต” ผู้เขียน วิรัตน์ แสงทองคำ ปัณฑป ตั้งศรีวงศ์ และสมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย โดยมีสุปราณี คงนิรันดรสุข เป็น บรรณาธิการ จัดทำโดย Manage classic ปี2546)
ผมเองเคยนำเสนอว่า “ย่านวังบูรพา อยู่ในยุคสร้างเมืองธุรกิจแห่งแรกๆในกรุงเทพฯ” ทั้งนี้มีเรื่องราวมากมาย มีบางมิติที่ควรกล่าวถึง โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับ “วังบูรพาภิรมย์”
วังบูรพาภิรมย์ เป็นวังที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี 2418 อาณาบริเวณวังเก่ามาแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพระราชทานให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์สุดท้องในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
วังบูรพาภิรมย์ เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานแนวโคโลเนียล ถือเป็นยุคต้นการปรับโฉมหน้าครั้งใหญ่ของกรุงเทพฯ ก่อนการสร้างพระราชวังดุสิต(2442) ในฐานะศูนย์กลางความของเมืองสมัยใหม่ กับการสร้างถนนราชดำเนิน(2444) ต่อเนื่องถึงการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตมหาสมาคม(2451) ตามมาด้วยวังหรือที่อยู่อาศัยของชนชั้นนำอย่างครึกโครม ด้วยสถาปัตยกรรมยุคอาณานิคม อาทิ วังปารุสกวัน(2446 ) วังลดาวัลย์(2449 ) วังพญาไท ( 2452) วังจันทร์เกษม(2453) วังเทวะเวสม์(2457 ) วังสระปทุม(2459) เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่ต่อเนื่องตลอดสองทศวรรษ(จากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงสงครามโลกครั้งที่2) ส่งผลในหลายมิติ
เมื่อปี 2495 โอสถ โกศิน นักกฎหมายและนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คนสำคัญ ได้ซื้อวังบูรพาภิรมย์ ตามมาด้วยแผนการสั่นสะเทือนสังคมกรุงเทพ ด้วยการรื้อวังบูรพาภิรมย์ เพื่อสร้างเป็นศูนย์การค้า (ตึกแถว) และโรงภาพยนตร์3 แห่ง (คิงส์ ควีนส์ และแกรนด์)
โอสถ โกศิน เป็นบุคคลที่น่าสนใจ สะท้อนโอกาสผู้คนในยุคเปลี่ยนผ่าน เขาจบการศึกษาเนติบัณฑิตไทย(ปี 2474) รับราชการจนเป็นผู้พิพากษา แล้วโอนไปกระทรวงพาณิชย์ ต่อมาลาออกจากราชการไปเป็นทนายความและดำเนินธุรกิจส่วนตัวอยู่ประมาณ 10 ปี การสร้างศูนย์การค้าวังบูรพาเป็นผลงานสำคัญสุดท้าย ก่อนเขาเดินทางไปศึกษาวิชากฎหมาย ณ ประเทศอังกฤษ จนจบเนติบัณฑิตจากLincoln’s Innในปี 2500 จากนั้นกลับเข้ารับราชการอีกครั้ง ในช่วงสุดท้ายเขามาเป็นกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทยหรือ เอสซีจีในช่วงปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ (ในปี 2514) ในระหว่างนั้นเคยลาออกจากตำแหน่งไปเป็นรัฐมนตรีหลายครั้ง เขาเป็นกรรมการเอสซีจี อยู่ยาวนานจนถึงปี 2545
การเกิดขึ้นของห้างเซ็นทรัลวังบูรพา สอดคล้องกับพัฒนาการกรุงเทพฯ ถือเป็นบทเรียนธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่สำคัญบทแรกๆ
(2)
ห้างเซ็นทรัลกำเนิดขึ้น ในฐานะผู้จุดกระแสและพัฒนา “ห้างสรรพสินค้า”ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ของกรุงเทพ
แม้ว่าในเชิงเทคนิค ข้อมูลของกลุ่มเซ็นทรัล(http://www.central.co.th/และhttp://www.centralretail.com/ ) อ้างว่า ห้างเซ็นทรัล วังบูรพา ที่เปิดขึ้นครั้งแรกในปี 2500 “เป็นห้างสรรพสินค้าที่สมบูรณ์แบบแห่งแรกของไทย” อาจเป็นจงใจให้มีความหมายทางประวัติศาสตร์ ขณะที่บางคนมีความเห็นที่แตกต่างออกไป โดยเชื่อว่า ห้างไนติงเกล-โอลิมปิก ซึ่งเปิดขึ้นก่อนห้างเซ็นทรัล วังบูรพา มากกว่า 2 ทศวรรษ เป็นห้างสรรพสินค้าเช่นกัน ซึ่งยังคงพยายามดำเนินกิจการอย่างเงียบๆ ณ ย่านการค้าเก่าของกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ไม่ไกล จากที่เคยเป็นที่ตั้งห้างเซ็นทรัลวังบูรพา
ในเชิงแนวความคิด ผมคิดว่า เซ็นทรัล คือผู้จุดกระแส “ห้างสรรพสินค้า” และเป็นผู้นำในกระบวนวิวัฒนาการที่ต่อเนื่อง ตลอดช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา
ห้างเซ็นทรัล วังบูรพา คือร้านค้าที่ติดป้ายราคาสินค้าครั้งแรกในประเทศ และได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคเกินความคาดหมาย จากนั้นไม่นานจึงขยายสาขาไปสู่ ย่านการค้าที่เก้าแก่กว่า—เยาวราช และย่านการค้าใหม่ —ราชประสงค์
นั่นคือ ยุทธศาสตร์ธุรกิจเชิงรุกครั้งแรกๆของกลุ่มเซ็นทรัล ได้กลายเป็นแนวทางที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เป็นบทเรียนทางธุรกิจคลาสสิกไปแล้วก็ว่าได้
หนึ่ง- การต่อสู้กับรูปแบบการค้าดั้งเดิม
“หลังจากความสำเร็จของสาขาวังบูรพา …จึงขยายกิจการของห้างเซ็นทรัลขึ้นอีกสาขาหนึ่งสู่เยาวราช … แต่ใช่ว่า…จะรู้จักแต่ความสำเร็จ สาขาเยาวราชมีเหตุต้องปิดตัวลงในเวลาอันรวดเร็ว เพราะชาวจีนย่านนี้ประหยัด เกินกว่าจะซื้อ สินค้าจากห้างใหญ่ เพราะคิดว่าแพงกว่าซื้อจากร้านค้าปลีก”ประวัติของกลุ่มเซ็นทรัลบางตอนกล่าวไว้
สอง-การต่อสู่กับห้างต่างประเทศ
กรณีห้างเซ็นทรัล ราชประสงค์ เป็นเรื่องราวและบทเรียนการต่อสู้กับคู่แข่งที่มีความได้เปรียบทุกด้าน ในที่สุดต้องจบลงด้วยความพ่ายแพ้
ห้างไทยไดมารู เป็นเครือข่ายห้างสรรพสินค้า —Daimaru แห่งประเทศญี่ปุ่น เปิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับเซ็นทรัลราชประสงค์ ในราวปี 2507 ตั้งอยู่ภายในศูนย์การค้าราชประสงค์ ศูนย์การค้าที่พัฒนาขึ้นมาใหม่
การมาของห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่น สะท้อนสถานการณ์ใหม่ๆ ที่ควรกล่าวถึง
—การพัฒนาย่านธุรกิจใหม่ของกรุงเทพฯ เริ่มจากการเกิดขึ้นโรงแรมเอราวัณ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ราวปี 2500 เชื่อมเข้าสูย่านถนนพระราม 1 –ด้วยการเปิดตัว โรงแรมสยามคอนติเนนตัล (เชนโรงแรมระดับโลก– InterContinental Hotel) ในเครือข่ายสายการบิน Pan Am แห่งสหรัฐฯ กับการพัฒนาศูนย์การค้าสยาม (ปี 2505)
–ในภาพกว้าง เป็นปรากฏการณ์ ตอบสนองต่อเนื่อง จากกระแสการลงทุนจากโลกตะวันตก อันเนื่องมาจากอิทธิพลยุคสงครามเวียดนาม จนมาถึงกระแสการลงทุนครั้งใหญ่ครั้งแรกจากญี่ปุ่น โดยเฉพาะ กิจการรถยนต์ ไม่ว่า Nissan (ในปี 2505) Toyota (2506) และ Honda (2507) และกิจการผลิตเครื่องไฟฟ้า ทั้ง National (2503) Hitachi (2511) และToshiba (2512)
“ที่เยาวราช อยู่ได้ 2ปีก็ต้องถอยทัพ เนื่องจากไม่สามารถต่อกรกับการค้าแบบห้องแถวของชาวจีนดั้งเดิมได้ ส่วนที่ราชประสงค์ทำเลไม่ดี จึงไม่สามารถสู้กับห้างไทยไดมารูของญี่ปุ่นที่มาปักหลักครองตลาดอยู่ได้” วันชัย จิราธิวัฒน์ ผู้นำกลุ่มเซ็นทรัลผู้ล่วงลับ เคยสรุปให้ผมฟัง ถึงประสบการณ์ครั้งนั้นในมุมองที่กว้างขึ้น เมื่อเกือบ20 ปีแล้ว (ต่อมาได้เรียบเรียงใหม่ มาอยู่ในหนังสือ “70 ปีจิราธิวฒน์ Central ยิ่งสู้ยิ่งโต” อ้างแล้ว)
ห้างสรรพสินค้า (Department store) คำนิยามพื้นๆ — เป็นร้านค้าขายปลีกขนาดใหญ่ซึ่งมีสินค้าหลากหลายประเภทแยกตามแผนก เป็นรูปแบบที่พัฒนาขึ้นครั้งแรก ในยุโรป เชื่อว่าอิทธิพลมาจาก ห้างสรรพสินค้าในกรุงลอนดอน อังกฤษ โดยเฉพาะ Harrods และ Selfridges ส่งผ่านมายังสังคมกรุงเทพฯมากเป็นพิเศษ เท่าทีทราบ หลังจากเปิดห้างเซ็นทรัล วังบูรพาไม่นาน เตียง จิราธิวัฒน์ ได้ส่งบุตรชาย 2 คน ( สุทธิชัย และสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ )ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ เมื่อจบการศึกษากลับมา ทั้งสองได้มีโอกาสร่วมงาน สร้างเซ็นทรัลสาขา สีลม ในปี 2511 ถ้าจำไม่ผิดที่สีลมมีป้ายชื่อห้างเป็น ภาษาอังกฤษ—Central Department store เป็นครั้งแรก
จะโดยตั้งหรือไม่ก็ตาม เชื่อว่าอิทธิพล Selfridges มีความเชื่อมโยงกับห้างเซ็นทรัล สีลมพอสมควร
สารดีเรื่อง Secrets of Selfridges( เพิ่งนำเสนอทาง True visionเมื่อไม่นานมานี้) ได้เล่าเรื่องราวของห้างสรรพสินค้าใหม่ในกรุงลอนดอนเมื่อ100 กว่าปีที่แล้ว สร้างโดยชาวอเมริกัน ผู้มีประสบการณ์ไม่ดีนัก กับห้างหรูในลอนดอน Selfridges ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ สร้างแรงกระตุ้นต่อผู้บริโภคอย่างรุนแรง ผู้คน1ใน4ของกรุงลอนดอนเข้าร่วมงานเปิดตัวครั้งแรก Selfridges เป็นห้างสรรพสินค้าตอบสนองลูกค้า ทุกระดับ ท้าทายกับวัฒนธรรมชนชั้นดั้งเดิมของอังกฤษ ที่สำคัญมีแนวความคิดทางธุรกิจและการตลาดที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่ว่าการจัดแสดงสินค้า การลดราคาประจำปี ให้ความสำคัญในการจัดแต่งหน้าร้าน ฯลฯ ล้วนเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกห้างสรรพสินค้า
ส่วนห้างเซ็นทรัล สีลมเปิดในปี 2511 ในทำเลใหม่ที่ไม่ถือว่าดีเท่าศูนย์การค้าราชประสงค์ ซึ่งในขณะนั้นที่ห้างไทยไดมารู กำลังได้รับความนิยม
“นับเป็นแห่งแรกของห้างเซ็นทรัลที่เปิดบริการแผนกซุปเปอร์มาร์เก็ต การริเริ่มซุปเปอร์มาร์เก็ตในเซ็นทรัล สีลม คือครั้งแรกของแวดวงสรรพสินค้าไทย ที่นำ “สินค้าอุปโภคบริโภค” มาไว้ในตึกเดียวกับ “ห้าง” การจัดแบ่งโซนสินค้าต่างๆ อย่างชัดเจน และการนำระบบแคชเชียร์มาใช้ เพื่อความสะดวกสบายของลูกค้าในการจับจ่ายใช้สอย”กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวถึงความพยายามพัฒนาสาขา สีลมให้แตกต่าง และโดดเด่น (http://www.central.co.th/ )
ห้างเซ็นทรัล สีลม บนเนื้อที่ 2 ไร่ มีพ้นที่ขายกว่าหนึ่งหมื่นตารางเมตร ในตึกสูง 9ชั้น มีอาคารคลังสินค้าขนาดใหญ่อย่าหลังห่าง และตกแต่งภายในอย่างหรูหรา “แต่ปรากฏว่า คนเกรงกันว่า ราคาสินค้าจะแพง เพราะเป็นห้างสรรพสินค้าติดแอร์ใหญ่ที่สุดในเวลานั้น ฉะนั้น ผลคือความเงียบเหงา มาพร้อมกับการขาดทุนถึง 2 ปีเต็ม” (หนังสือ “70 ปีจิราธิวฒน์ Central ยิ่งสู้ยิ่งโต”)
จากนั้นจึงตามมาด้วย แผนการตลาดที่เคยใช้ได้ผลในต่างประเทศ โดยเฉพาะการจัดการแสดงสินค้าต่างประเทศ จากยุโรป ทั้ง อิตาลี ฝรั่งเศส และอังกฤษ ถือเป็นการส่งเสริมการขายครั้งแรกที่ได้ผลดีต่อเซ็นทรัล สีลม ในฐานะ “มีความทันสมัย ทำให้มีคนนิยมไปจับจ่ายซื้อของมากที่สุดในสมัยนั้น” (http://www.central.co.th/ )
บทเรียนสำคัญอีกบทหนึ่งทีผมให้ความสำคัญเป็นพิเศษ จากกรณีห้างเซ็นทรัล สีลม โดยเชื่อว่าไม่เพียงเป็นบทเรียนของกลุ่มเซ็นทรัล หากเป็นของธุรกิจค้าปลีกโดยรวมด้วย นั่นคือ การเลือกทำเลที่ตั้งด้วยมุมมองในอนาคต
ในทศวรรษต่อมา ถนนสีลมกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ มีแรงดึงดูดอย่างมากในช่วงทศวรรษ2520-2530 จนเรียกกันว่า “วอลล์สตรีตของกรุงเทพฯ” เริ่มต้นจาก การปรากฏขึ้นของโรงแรมดุสิตธานี(2513) อาคารสำนักงานธุรกิจแห้งใหม่ อาทิ อาคารเกษมกิจ สูง 10ชั้น (2512 ) และอาคารบุญมิตร สูง 12 ชั้น (2517) ไปจนถึงการเกิดขึ้นของสำนักงานใหญ่ธนาคารสำคัญๆ จากธนาคารไทยทนุ(2516 ) จนถึงธนาคารกรุงเทพ(2525)