ศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว ถือเป็นจุดเริ่มต้นโมเดลธุรกิจใหม่กลุ่มเซ็นทรัล กลายมาเป็นโครงสร้างธุรกิจหลักตลอดช่วง 3 ทศวรรษ โดยสร้างกระแสในวงกว้าง
ผมเคยนำเสนอเรื่องราวของเซ็นทรัลลาดพร้าวมาบ้าง ยังคงยึดมั่นแนวความคิดเดิมอยู่
“การเกิดขึ้นของศูนย์การค้าลาดพร้าว เป็นพัฒนาการยุคที่สาม ยุดแรก เริ่มต้นจากห้างเจ็งอันตง เกิดขึ้นในปี 2499 เป็นโมเดลพื้นฐานห้างสรรพสินค้า เกิดขึ้นในย่านวังบูรพา เป็นภาพต่อเนื่องจากห้างเล็ก ๆ แถวสี่พระยา และตรอกโรงภาษีเก่าหน้าโรงเรียนอัสสัมชัญ ปลายของยุค คือการเชื่อมโยงไปที่ถนนสีลม –ห้างเซ็นทรัลสีลม (ปี 2511) ยุคนี้ได้เรียนรู้ความสัมพันธ์ในการพัฒนาเมืองกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ เคลื่อนย้ายจากวังบูรพามาที่สีลม ย่านที่ธุรกิจสมัยใหม่ในยุคนั้น
ยุคที่สอง เปิดฉากอย่างไม่ราบรื่น ปี 2516-7 เมืองไทยเผชิญวิกฤติการณ์การเมือง รวมทั้งมีการเคลื่อนไหว ปลุกกระแสชาตินิยม ต่อต้านสินค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าญี่ปุ่น ในปีเซ็นทรัลเปิดห้างชิดลม ไม่กล้าแม้แต่จะติดป้ายห้างเป็นภาษาอังกฤษ เป็นเงื่อนไขผลักดันให้เซ็นทรัลเข้าสู่ธุรกิจการผลิตสินค้าเสื้อผ้า(ในระยะเดียวกัน สหพัฒน์ฯเริ่มต้นผลิตเสื้อผ้าแบรนด์ต่างประเทศ ) อันเป็นจุดบรรจบครั้งแรกของแนวคิดธุรกิจห้างและค้าปลีกภาพกว้างขึ้น
จินตนาการธุรกิจขยายเป็นภาพที่สมบูรณ์ พัฒนามาจากศูนย์การค้าลาดพร้าว ถือว่าก้าวเข้าสู่ยุคที่สาม
โครงการพัฒนาศูนย์การค้าที่ใหญ่ ดำเนินในพื้นเช่าของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นครั้งแรกที่ห้างเซ็นทรัลออกจากย่านธุรกิจสู่ชุมชนชานเมือง” เรียบเรียงมาจากเรื่อง เซ็นทรัลลาดพร้าว (มีนาคม 2553)
ข้อเขียนดังกล่าว ได้สรุปบทเรียนสำคัญ ขออ้างอิงและเพิ่มเติม บางภาพ บางบริบท ให้เป็นบทสรุปที่สมบูรณ์ขึ้น
“โครงสร้างธุรกิจ
ภาพของธุรกิจขยายขึ้น จากห้างสรรพสินค้าสู่ศูนย์การค้า มีธุรกิจย่อยๆในภาพใหญ่อย่างน้อย 3ธุรกิจอยู่ด้วยกัน เกื้อกูลกัน หนึ่ง—ห้างสรรพค้าเซ็นทรัล สอง– การบริหารจัดการศูนย์การค้า ทั้งเปิดพื้นที่ค้าขายและสำนักงานเช่าให้กับคูค้ารายอื่น สาม –ธุรกิจโรงแรม” (อ้างแล้ว)
ศูนย์การค้า(Shopping mall, shopping center, shopping arcade หรือจะเรียก mall ก็ได้) เป็นโมเดลค้าปลีกที่มีมานานตั้งแต้ยุคโรมัน ได้พัฒนารูปแบบสอดคล้องกับชีวิตสมัยใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐฯในช่วงยุค 60’ (ซิกตี้) พัฒนาเป็นศูนย์การค้าอยู่ในอาคาร (fully enclosed shopping mall) อยู่ในยานชานเมือง ขณะที่สหราชอาณาจักร ได้เปิดศูนย์การค้าแบบเดียวกันครั้งแรกที่ Birmingham ในปี 2517
ทั้งนี้เชื่อว่าปรากฏการณ์ข้างต้น เซ็นทรัลมองเห็นและเข้าใจ เช่นเดียวกับปรากฏการณ์และแรงขับดันในเมืองไทย เริ่มต้นจากศูนย์การค้าสยาม( ปี2505) ที่อ้างว่าเป็นศูนย์การค้าแห่งแรกของไทย มาจนถึงกรณีครึกโครม — ศูนย์การค้ามาบุญครองของศิริชัย บูลกุล ความเคลื่อนไหวนั้น ดูเหมือนกลบความเป็นไปค่อนข้างเงียบของเซ็นทรัลลาดพร้าว
ที่ดินของจุฬาฯ จำนวน 23 ไร่ บริเวณหัวมุมสี่แยกปทุมวัน เป็นย่านทำเลการค้าที่ดีเยี่ยม ทางจุฬาฯ ได้เปิดให้เอกชนเสนอตัวเข้าร่วมพัฒนา ปรากฏว่ามีกลุ่มธุรกิจใหญ่ 3 รายเข้าร่วมชิง ประกอบด้วย พีเอสเอ ของพร สิทธิอำนวย บริษัทโรงแรมราชดำริ และบริษัทมาบุญครองฯ อบพืชและไซโล
ปลายปี 2521 จุฬาฯ ได้ตัดสินเลือกบริษัทมาบุญครองฯ ตามโครงการศูนย์การค้า 6 ชั้น มีที่จอดรถ 2,000 คัน มีหอประชุมขนาด 3,500 คน มีโรงแรมทันสมัยขนาด 700 ห้อง ก่อสร้างเสร็จภายในเวลา 5 ปี ว่ากันว่าจะให้เสร็จทันฉลองครบรอบ 200 ปีกรุงรัตนโกสินทร์
แม้เป็นโครงการครึกโครม เนื่องจากเชื่อมโยงกับความโลดโผนของตลาดหุ้น กับการปรับตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปี 2522-2524 โครงการมาบุญครองต้องใช้เงินลงทุนมากขึ้น โดยกู้เงินทั้งในและต่างประเทศถึง 3000 ล้านบาท กว่าจะเปิดตัวได้ ล่าช้าไปถึงปี 2528
ขณะที่เซ็นทรัลลาดพร้าว เริ่มต้นที่หลัง แต่สามารถเปิดตัวขึ้นก่อนในปี 2525
“อีกจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์ธุรกิจค้าปลีกไทย ด้วยกำเนิดของ เซ็นทรัล ลาดพร้าว ศูนย์การค้าครบวงจรแห่งแรกของไทย ทั้งห้างสรรพสินค้า ร้านค้า โรงแรม โรงภาพยนตร์ ศูนย์การประชุม อาคารจอดรถได้กว่า 3,000คันและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ยังไม่เคยมีบริษัทใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก้าวเข้ามาทำตรงมาก่อน ใช้เงินลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท“ข้อมูลของเซ็นทรัลเองระบุไว้
จากนั้นกระแสศูนย์การค้าในกรุงเทพ ชานเมือง ได้กลายเป็นความเร้าใจต่อเนื่อง โดยเฉพาะ เมื่อกลุ่มเดอะมอลล์ ซึ่งต่อมาถือว่าเป็นคู่แข่งสำคัญของเซ็นทรัล ได้เริ่มต้นโครงการใหญ่ บนถนนรามคำแหง ในปี2526
“การบริหารการลงทุน
ในยุคแรกๆ ตั้งแต่ สีลม ชิดลม และโดยเฉพาะที่ลาดพร้าว กู้เงินจากธนาคารทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการลาดพร้าวประสบการณ์ในการใช้เงินกู้ ไม่ใคร่จะราบรื่นนัก เผอิญอยู่ในช่วงต้นวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ การกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ไทยเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงเป็นโครงการแรกกู้เงินจากธนาคารต่างชาติบางส่วน แต่เนื่องด้วยการลดค่าเงินบาทถึงสองครั้งในช่วงนั้น หนี้สินเงินตราต่างประเทศจึงเพิ่มขึ้น
ในปี 2523ขณะดำเนินโครงการลาดพร้าว บริษัทสำคัญขึ้น2 แห่งก่อตั้งขึ้น ต่อมากลายเป็นกิจการใหญ่ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง สะท้อนโครงสร้างการบริหารการเงินใหม่” (อ้างแล้ว)
—บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา “มิถุนายน 2523 ก่อตั้งบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด โดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มต้นที่ 300 ล้านบาทโดยเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างกลุ่มเซ็นทรัล, กลุ่มเตชะไพบูลย์, กลุ่มสหยูเนี่ยน, และกลุ่มบุคคลอื่นๆโดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีก” ข้อมูลของเซ็นทรัล แสดงยุทธศาสตร์ใหม่ เป็นแผนการร่วมทุน และการบริหารพื้นที่เช่ากับคู่ค่ารายย่อย เป็นครั้งแรกที่เซ็นทรัลไม่ได้ใช้เงินกู้ทั้งหมด จากนั้นไม่นาน บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา ก้าวไปอีกขั้น เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น(ปี2538) ต่อมามีบทบาทสำคัญเป็น”หัวหอก”ของกลุ่มเซ็นทรัลในการขยายเครือข่ายการค้าปลีก
—โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา ธุรกิจโรงแรมของกลุ่มเซ็นทรัล ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก จำเป็นต้องมีแผนการทางการเงินของตนเอง บริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จึงเข้าตลาดหุ้นในปี 2533
มองเผินๆธุรกิจโรงแรมไม่เกื้อกูลกับค้าปลีกโดยตรง จะด้วยบังเอิญหรือไม่ก็ตาม มีธุรกิจหนึ่งภายใต้การบริหารของบริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซา มีความสัมพันธ์โดยตรงกับศูนย์การค้าเซ็นทรัล
“บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (Central Restaurants Group: CRG) หนึ่งในผู้นำธุรกิจอาหารบริการด่วน (Quick Service Restaurants: QSR) ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2521” (http://www.crg.co.th) ปัจจุบันเป็นธุรกิจสำคัญ ของโรงแรมเซ็นทรัลพลาซา
ธุรกิจอาหารกลุ่มเซ็นทรัล คือนำเครือข่ายระดับโลก เข้าสู่ตลาดไทย จากฟาสต์ฟูด์โลกตะวันตก โดยเฉพาะ Mister Donut(2521) และ KFC (2527) จนถึงเครือข่ายร้านอาหารจากญี่ปุ่น อาทิ Pepper Lunch (2550) Chabuton Ramen(2553) และ Ootoya(2554) รวมกันมากกว่า10 แบรนด์ ปัจจุบันมีเครือข่ายร้านถึง 600 แห่ง ที่สำคัญกลุ่มธุรกิจอาหารมีสัดส่วนรายได้มากกว่าธุรกิจโรงแรมโดยตรงเสียอีก
โมเดลธุรกิจศูนย์การค้า ทีการพัฒนาอย่างตอ่เนื่อง มีพลังมากขึ้นๆ