เครือข่ายค้าปลีกจากเมืองหลวง มีความพยายามบุกหัวเมืองมานานพอสมควร กระแสแรงขึ้น ตั้งแต่เมื่อราวสองทศวรรษที่แล้ว
(1)
ทั้งนี้มาจากอิทธิพลยุคสงครามเวียดนาม “มิได้มีเฉพาะในเรื่องการเมืองและการทหาร หรือในรูปของการช่วยเหลือให้คำปรึกษาและการเงิน ในการปรับโครงสร้างสังคม และนโยบายเศรษฐกิจ เท่านั้น ยังรวมถึงอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ และวิถีชีวิตผู้คนด้วย” ดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นๆ ความหมายสำคัญ มีสองระดับ เป็นกลไกมีพลังขับเคลื่อนอย่างไม่หยุดยั้ง
หนึ่ง-การพัฒนาระบบพื้นฐาน เชื่อมเมืองหลวง หัวเมืองและชนบทอย่างจริงจัง สอง- อิทธิพลวิถีชีวิตสมัยใหม่ แผ่ขยายออกจากเมืองหลวง สู่เมืองใหญ่ สถานการณ์สำคัญๆ ผมเคยนำเสนอมาบ้างอย่างกระจัดกระจาย ควรอ้างอิงอย่างเฉพาะเจาะจง เชื่อมโยงกับ “ลมหายใจค้าปลีก”อีกครั้ง
พลวัตรเกษตรกรรม
ระบบเศรษฐกิจเกษตรกรรมดั้งเดิม ปะทะกับปรากฏการณ์ใหม่
ระบบเศรษฐกิจเกษตรดั้งเดิม ยุคหลังสังคมโลกครั้งที่สอง ข้าวเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ มีความพยายามพัฒนาโดยเฉพาะการขยายพื้นที่เพาะปลูก และระบบชลประทาน Contract farming เกิดขึ้นเป็นจุดเริ่มต้นการเรียนรู้การจัดการ เทคโนโลยี่สมัยใหม่ ขยายจินตนาการเกษตรกรรมให้กว้างขวาง ในช่วงเวลาเดียวกันกับ Contract farming โดยซีพี (2512) ธนาคารไทยได้มีส่วนส่งเสริมอุสาหกรรมการเกษตรอย่างเป็นเรื่องเป็นราว อาทิ กรณีร่วมทุนของตระกูลลำซำกับDOLE แห่งสหรัฐฯ ในปี2509
ว่าไปแล้วเกษตรกรรมไทยมีความสัมพันธ์กับโลกภายนอกมานานแล้ว ในฐานะผู้ใช้สินค้าผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ระดับโลก เปิดตลาดสู่ชนบทไทย Monsanto ธุรกิจยักษ์ใหญ่ผู้อื้อฉาวแห่งสหรัฐฯ เปิดสำนักงานในประเทศไทยเมื่อปี 2511 จากนั้นตามมาด้วย —แปซิฟิกเมล็ดพันธุ์ ในป 2518 ขณะที่โรงงานปุ๋ยเคมีเกิดขึ้นในปี2516ด้วยการร่วมทุนกับธุรกิจญี่ปุ่น ต่อมาโรงงานเคมีเกษตรในเครือข่ายอังกฤษมาตั้งที่บางปู (ปี 2524) การพัฒนาก้าวไปอีกขั้น เมื่อสินค้าเกษตรได้ยกระดับเป็นสินค้าคอนซูเมอร์ที่มีตราสินค้า “ข้าวมาบุญครอง” เป็นแบรนด์ข้าวไทยแบรนด์แรก เกิดขึ้นในปี2527 ในเวลาใกล้เคียงกันกับ แหล่งผลิตปาล์มขนาดใหญ่ในภาคใต้เริ่มผลิตน้ำมันพืชแบรนด์ต่างๆ
ฐานการผลิตใหม่
ตั้งแต่ปี 2525 นิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก โดยเฉพาะชายฝั่งทะเลในจังหวัดชลบุรีและระยองเกิดขึ้นและขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากแรงกระตุ้นการค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เป็นอาณาบริเวณที่มีนิคมอุตสาหกรรมกระจุกตัวมากที่สุดในเวลาต่อมา อุตสาหกรรมการขนาดใหญ่ขยายตัวสู่หัวเมืองและชนบทต่อเนื่องจากนั้น รัฐบาลสร้างแรงกระตุ้นด้วยการขยายเขตการส่งเสริมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมไปในขอบเขตทั่วประเทศ สร้างกระแสนิคมอุตสาหกรรมเอกชนรองรับเครือข่ายธุรกิจของตนเอง อาทิ กลุ่มสหพัฒน์ มีนิคมอุตสาหกรรม3 แห่งกระจายตามภูมิภาคต่างๆ ที่ศรีราชา ชลบุรี (ปี2520) กบินทร์บุรี ปราจีนบุรี (ปี2532) และที่ลำพูน (ปี2532) และ เกษตรรุ่งเรือง ลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่ริมถนนหมายเลข 304 ฉะเชิงเทรา เมื่อปี 2537
ชนบทเริ่มกระบวนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ผู้คนจากภาคเกษตรกรรม เคลื่อนย้ายไปสู่โรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น จากในช่วงปี 2516 แรงงานจากชนบาท เคลื่อนย้ายเข้าสู่เมืองหลวง ไปสู่ทางเลือกที่มีมากขึ้น เคลื่อนย้ายสู่หัวเมือง หรือแม้กระทั่งในชนบท ที่พัฒนาใหม่
เครือข่ายธุรกิจกรุงเทพฯ
เครือข่ายธุรกิจกรุงเทพฯ ขยายอิทธิพลครอบคลุมระดับประเทศ แต่เดิมนั้น ธุรกิจต่างจังหวัด ส่วนใหญ่มีฐานะเป็นเครือข่ายทางการค้าของธุรกิจจากส่วนกลาง โดยเฉพาะ ธุรกิจนายหน้า หรือตัวแทนจำหน่ายสินค้าพื้นฐานตามยุคสมัย นั่นคือประวัติการเกิดขึ้นของกลุ่มธุรกิจใหญ่ในหัวเมือง เริ่มจาก เอเยนต์ปูนซีเมนต์ และ เอเยนต์สุรา ในยุคต้นๆสงครามเวียดนาม จากนั้นขยายไปสู่สินค้าคอนซูเมอร์และรถยนต์ในระยะต่อมา
ธุรกิจหัวเมืองส่วนใหญ่ ดำรงอยู่ในฐานะเครือข่ายอิสระและเติบโตได้ ด้วยข้อจำกัดของระบบคมนาคม และสื่อสารระหว่างเมือง กับหัวเมืองและชนบท แต่สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เมื่อมีแรงกระตุ้นใหม่ๆ
คลื่นลูกแรก มาจากเครือข่ายโทรทัศน์ทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2516 ทีวีช่อง 7 สี บุกเบิกสร้างสถานีเครือข่ายในต่างจังหวัด และในปี 2522 เริ่มใช้ดาวเทียมถ่ายทอด เชื่อมเครือข่ายทั่วประเทศ ช่อง 7 สีก้าวไปไกลกว่าทีวีช่องอื่นๆ ป็นปัจจัยสำคัญในฐานะผู้นำทีวี ที่มีผู้ชมมากที่สุด เป็นฐานที่มาซึ่งรายได้จากโฆษณาสินค้าที่มากอย่างต่อเนื่อง
ในที่สุดแล้ว ทีวีไทยทุกช่องพัฒนาเครือข่ายทั่วประเทศอย่างเป็นระบบ เห็นได้ชัดในราวปี 2531-2533 อันเป็นช่วงเบิกร่องและนำไปสู่เศรษฐกิจไทยที่พองโตอย่างมาก โดยเฉพาะเครือข่ายธุรกิจกรุงเทพ ซึ่งเป็นธุรกิจระดับชาติแผ่ขยายเครือข่ายและอิทธิพลออกสู่ต่างจังหวัดอย่างขนานใหญ่ เช่นเดียวกับสินค้าคอนซูเมอร์ จากฐานในกรุงเทพฯได้ใช้ทีวี กระตุ้นการบริโภคพร้อมกันทั่วประเทศ ในเวลาเดียวกันได้บ่อนทำลายสินค้าลักษณะท้องถิ่นที่เป็นคู่แข่ง ซึ่งเคยอาศัยอิทธิพลเครือข่ายวิทยุ เป็นสื่อระดับท้องถิ่นที่มีอิทธิพลในช่วงก่อนหน้านั้น
ทีวีกลายเป็นเครือข่ายทรงพลัง จุดกระแสให้สินค้าเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ระดับโลก ขยายอิทธิพลและฐานการตลาดกว้างขวางมากขึ้น จากหัวเมือง สู้ชนบท หรือแม้กระทั่งสู่ฐานรากชุมชนไทยเลยทีเดียว
เครือข่ายสื่อสารใหม่
ดาวเทียมสื่อสารดวงแรกของไทย(ไทยคม)เกิดขึ้นในปี2534 ตอบสนองโดยเฉพาะกับธุรกิจใหญ่ เพื่อการสื่อสารระหว่างเครือข่ายทั่วประเทศ จากนั้นเครือข่ายโทรศัพท์พื้นฐานชนบท 1 ล้านเลขหมาย(ปี 2536) สามารถตอบสนองปัจเจกในวงกว้างอย่างสอดประสานกัน ความจริงแล้ว ระบบสื่อสารไร้สายเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นเล็กน้อย(2533—AIS และ 2534–DTAC) แต่ในช่วงแรกๆบริการยังมีเครือข่ายจำกัด
จากนั้นไม่นานจึงเดินแผนการขยายเครือข่ายครั้งใหญ่สู่หัวเมือง สังคมหัวเมือง และชนบท ได้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เป็นการเปิดพื้นที่แห่งโอกาสครั้งสำคัญ ครั้งใหม่ สำหรับเครือข่ายธุรกิจค้าปลีก
ในช่วงดังกล่าว กลุ่มเซ็นทรัล(โปรดพิจารณาลำดับเหตุการณ์ –เซ็นทรัล มุ่งสู่หัวเมืองช่วงแรก 2535-2540) ในฐานะภาพสะท้อนธุรกิจค้าปลีกไทย ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออีกช่วงหนึ่ง
————————–
ลำดับเหตุการณ์
เซ็นทรัล มุ่งสู่หัวเมือง—ช่วงแรก 2535-2539
2535 เชียงใหม่ –เซ็นทรัล-กาดสวนแก้ว
2537 หาดใหญ่ เซ็นทรัล
2538 กลุ่มเซ็นทรัลร่วมธุรกิจกับ ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ พร้อมทั้งร่วมกันจัดตั้ง บริษัท ซีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อร่วมทุนกับห้างสรรพสินค้าในต่างจังหวัดภายใต้ชื่อ “โรบินสัน”
ภูเก็ต เปิดห่างโรบินสัน
นครศรีธรรมราช เปิดห้างโรบินสัน
2539 ชียงใหม่ เซ็นทรัลพลาซา เเอร์พอร์ต ซื้อโครงการจากเจ้าของเดิม ปรับปรุง และเพิ่มขยายพื้นที่ให้เป็นศูนย์ การค้าครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ
อุบลราชธานี เปิดห้างโรบินสัน
ราชบุรี เปิดห้างโรบินสัน
————————–
(2)
เครือข่ายค้าปลีกจากเมืองหลวง มีความพยายามบุกหัวเมือง ตั้งแต่เมื่อราวสองทศวรรษที่แล้ว เซ็นทรัล เป็นผู้นำที่เอาจริงเอาจัง อย่างแท้จริง
เซ็นทรัล แสดงบทบาทผู้นำ บุกเบิกเสร้างเครือข่ายค้าปลีกสมัยใหม่ เข้าสู่หัวเมืองสำคัญที่สุด จากเมืองเชียงใหม่( 2535) สู่ หาดใหญ่ (2537)
เชียงใหม่เป็นเมืองเก่าแก่ การพัฒนาเกิดขึ้นอย่างจริงจัง ตั้งแต่ยุคอาณานิคมกับเจ้านายเมืองเหนือ จากสัมปทานป่าไม้ และการค้า ไปสู่เมืองที่เป็นศูนย์กลางภาคเหนือที่มีความหลากหลายทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม เมืองมีบุคลิกดีเด่น เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลก ขณะที่หาดใหญ่ เติบโตจากจุดเชื่อมต่อสำคัญของเส้นทางรถไฟเชื่อมไปยังมาเลเซียในยุคอาณานิคม ในช่วงเวลาการค้าแร่ดีบุกเติบโตทั่วภาคใต้ กลายเป็นศูนย์กลางภาคใต้ในยุคที่การท่องเที่ยวเติบโตมาทดแทนเหมืองแร่ เป็นจุดเชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลสวยงามหลายแห่ง
เซ็นทรัล เริ่มต้นโมเดลห้างสรรพสินค้าที่เชียงใหม่เป็นครั้งแรก ปักหลักที่กาดสวนแก้ว—เรียกตัวเองว่า “อุทยานการค้ากาดสวนแก้ว” ตั้งอยู่บนถนนห้วยแก้ว ใจกลางเมืองเชียงใหม่ เปิดตัวขึ้นในปี 2535 ในเวลานั้นว่ากันว่าเป็นศูนย์การค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ถือเป็นปรากฏการณ์ระลอกคลื่นไปจากเมืองหลวง หลังจากการเกิดขึ้นอย่างครึกโครม ของศูนย์การค้า( Shopping mall )ไม่นาน จาก เซ็นทรัล ลาดพร้าว (2525) เดอะมอลล์ รามคำแหง(2526) เสรีเซ็นเตอร์ ซีคอนสแควร์ และอัมรินทร์พลาซ่า (2527) จนถึง ศูนย์การค้ามาบุญครอง( 2528)
ว่าไปแล้ว ห้างเซ็นทรัลเชียงใหม่ เป็นกรณีบุกเบิกธุรกิจค้าปลีกในภูมิภาค ที่เผชิญแรงต้านอย่างมาก
เชียงใหม่มีผู้ประกอบการค้าท้องถิ่นที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะห้างตันตราภัณฑ์ ผู้นำค้าปลีกท้องถิ่นที่มีพัฒนาการมาแล้วถึง 3 รุ่นในช่วงเวลากว่าครึ่งศตวรรษ จาก”ตันง่วนชุน” สู่รุ่นที่ 2 ซึ่งเป็นนักธุรกิจตระกูลตันตรานนท์ผู้มีชื่อเสียงและทรงอิทธิพลในเชียงใหม่ มาจนถึงรุ่นใหม่
กระแสข่าวเซ็นทรัลมีแผนรุกเปิดสาขาเชียงใหม่ เริ่มตั้งแต่ราวปี 2533-2534 ห้างตันตราภัณฑ์และกลุ่มธุรกิจเชียงใหม่ออกแรงคัดค้าน ทั้งแสดงตนในฐานะกลุ่มเรียกร้อง กดดัน จนกระทั่งห้างตันตราภัณฑ์ลงทุนครั้งใหญ่ เปิดศูนย์การค้าเข้าสู่เกมการแข่งขันทางธุรกิจโดยตรง—ตันตราภัณฑ์แอร์พอร์ตพลาซ่า
แม้ว่าเกมการต่อสู้อันดุเดือดได้จบลง ด้วยชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จของเซ็นทรัลในอีก 4-5 ปีถัดมา แต่สะท้อนบทเรียนบางมิติที่ควรกล่าวถึง
–แรงต้านมาจากโมเดลห้างสรรพสินค้า ซึ่งถือเป็นธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ที่น่าเกรงขาม
–แรงต้นมาจากคู่ค้าเดิม ห้างตันตราภัณฑ์ ถือเป็นคู่ค้าของเซ็นทรัลอยู่ด้วย ในฐานะนำสินค้าเซ็นทรัลมาจำหน่ายในภาคเหนือ ว่ากันว่าก่อนหน้านั้นในยุคสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ เซ็นทรัลเคยรับปากว่าจะไม่มาเปิดสาขาที่เชียงใหม่
–เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้าเล็กน้อย 7 –Eleven ร้านสะดวกซื้อ (Convenience store) โมเดลค้าปลีกที่เล็กกว่า สามารถมาเปิดที่เชียงใหม่ได้อย่างง่ายดาย เป็นไปตามแผนการของซีพี (เจ้าของ 7 –Eleven ในประเทศไทย) แสวงผลประโยชน์ร่วมกับนักธุรกิจท้องถิ่น โดยเฉพาะร่วมมือกับกลุ่มตันตราภัณฑ์นั่นเอง โดยให้กลุ่มตันตราภัณฑ์ เป็นเจ้าของ franchise ทั้งภาคเหนือ
จากนั้นมา เซ็นทรัลจำเป็นต้องปรับแผนการรุกสู่หัวเมือง ปรากฏแผนการใหม่ ๆที่พลิกแพลงมากขึ้น
–หนึ่ง บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา ก่อตั้งขึ้นในปี2523 ร่วมทุนระหว่างกลุ่มเซ็นทรัล กับกลุ่มธุรกิจสำคัญในเวลานั้นโดยเฉพาะ กลุ่มเตชะไพบูลย์ กลุ่มสหยูเนี่ยน ครั้งแรกเข้าดำเนินการโครงการศูนย์การค้าลาดพร้าว เซ็นทรัลพัฒนาได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นในปี2538 ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญของยุทธศาสตร์ใหม่ ก้าวออกจากข้อกัดเดิม จากเงินทุนที่ส่วนใหญ่มาจากเงินกู้(debt financing) ไปสู่การระดมทุนจากตลาดทุน จากนั้นเซ็นทรัลพัฒนาจึงแสดงบทบาทในฐานะ “หัวหอก” สร้างเครือข่ายค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัล
ในปีเดียวกันนั้น เซ็นทรัลพัฒนาได้เปิดตัวโครงการ เซ็นทรัลเฟสติวัล พัทยา รุกคืบสู่พื้นที่นอกกรุงเทพอย่างเป็นกระบวน ต่อเนื่องจาก เชียงใหม่ และหาดใหญ่ ในปีต่อมา(2539) เซ็นทรัลพัฒนาได้เข้าซื้อกิจการตันตราภัณฑ์แอร์พอร์ตพลาซ่า นับเป็นแผนการขยายเครือข่ายแบบก้าวกระโดด
สำหรับเซ็นทรัลแล้ว เชียงใหม่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ การลงทุนลงแรงดังกล่าว ถือว่าคุ้มค่า
ในปี2556 ได้เปิดเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ (Central Festival Chiangmai) ศูนย์การค้าขนาดใหญ่โครงการที่ 2 ต่อจากเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต “ศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภาคเหนือ โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมการออกแบบสไตล์ฟิวเจอร์ริสติกล้านนาล้ำสมัย โดยใช้งบลงทุนทั้งโครงการกว่า 6,000 ล้านบาท บริเวณสี่แยกศาลเด็ก ด้านทิศเหนือ ติดกับถนนซูเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง และถนนเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด” (http://www.cpn.co.th/) เซ็นทรัลเฟสติวัล เป็นแบรนด์ศูนย์การค้าในเมืองท่องเที่ยว พัฒนาโดย เซ็นทรัลพัฒนา ปัจจุบันมีอยู่ 4 แห่ง ทั้งเชียงใหม่ พัทยา สมุย และ หาดใหญ่
–สอง ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน(ปี 2538) “กลุ่มบริษัทเซ็นทรัลรีเทลคอร์ปอเรชั่นได้เข้าร่วมธุรกิจกับบริษัทฯ ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ พร้อมทั้งร่วมกันจัดตั้ง บริษัท ซีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อร่วมทุนกับห้างสรรพสินค้าในต่างจังหวัดภายใต้ชื่อ “โรบินสัน” ” (http://www.robinson.co.th/)
ในช่วงนั้น กลุ่มเซ็นทรัล ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ โดยตั้งบริษัทเซ็นทรัลรีเทลคอร์ปอเรชั่น(CRC) เป็น Holding company ดูแลการบริหารและการลงทุนต่างๆในธุรกิจค้าปลีก สะท้อนแรงบันดาลใจการขยายเครือข่ายครั้งใหญ่ ขณะเดียวกันมีแผนการใหม่ในการรุกสู่ภูมิภาค ด้วยการร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าท้องถิ่น
แผนการดังกล่าวลงตัวมากขึ้น เมื่อร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ซึ่งความจริงก่อตั้งมาตั้งแต่ปี2523 ตามกระแสห้างสรรพสินค้า ถือเป็นคู่แข่งรายหนึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่สำคัญโรบินสันเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ปี 2535) แผนการในช่วงต้นๆ ร่วมมือกับกลุ่มอุดรเจริญศรี เปิดสขาที่อุดรธานี บุกเบิกภาคอีสาน ร่วมมือกับ กลุ่มโอเชียน เปิดสาขาที่ภูเก็ต และนครศรีธรรมราช และหาดใหญ่ซิตี้เปิดสาขาหาดใหญ่
แม้ว่าแผนการรุกสู่ภูมิภาคได้สะดุดลงช่วงหนึ่งในช่วงวิกฤติการณ์ ปี 2540 แต่ในที่สุด คลื่นลูกใหม่ลูกใหญ่ถาโถมอีกครั้ง รุนแรงต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้