ลมหายใจค้าปลีก(8) ศูนย์กลางกรุงเทพฯใหม่

 ท่ามกลางกระแส  “ดาวกระจาย” ทั้งโอกาส ภูมิศาสตร์และ รูปแบบของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่  ปรากฏการณ์หลอมรวมและยกระดับศูนย์การค้าใจกลางเมืองหลวงได้เกิดขึ้นด้วย ปรากฏโฉมหน้าคู่แข่งสำคัญ 2 รายของเซ็นทรัล 

 

ช่วงเวลานั้น กรุงเทพฯพัฒนาโครงข่ายคมนาคมครั้งใหญ่ ตอบสนองการเติบโตทางเศรษฐกิจและการเติบโตของเมืองหลวง  ด้วยโครงการใหม่ที่สำคัญ 2 ระบบ

หนึ่ง-ต่อขยายโครงข่ายทางด่วนยกระดับซึ่งดำเนินมาก่อนหน้านั้น(2524-2530) ให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯมากขึ้น ตามแผน ระบบทางด่วนขั้นที่ 2 หรือที่เรียกว่า ทางพิเศษศรีรัช  สามารถเปิดใช้บริการได้ในช่วงปี 2536-2539    การเดินทางโดยรถยนต์ของผู้คน จากชุมชนชานเมืองที่เติบโตขึ้นมาก เข้าสู่ใจกลางกรุงเทพฯจึงสะดวกขึ้น

สอง– การเกิดขึ้นของระบบขนส่งมวลชนระบบรางครั้งแรกในกรุงเทพฯ—บีทีเอส  ดำเนินการโดยบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือชื่อเดิม-ธนายง  กิจการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่รายหนึ่ง ดำเนินธุรกิจเชิงรุกในช่วงตลาดหุ้นบูมตั้งแต่ ปี 2531 และในปี 2533ได้ก้าวข้ามสู่ธุรกิจใหม่ สร้างและบริหารระบบรถไฟฟ้าลอยฟ้า โดยลงนามในสัญญาสัมปทานเพื่อดำเนินการระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส กับ กรุงเทพมหานคร (9 เมษายน)

การพัฒนาโครงข่ายเส้นทางคมนาคมครั้งใหญ่   ถือเป็นแรงผลักดันสำคัญ สร้างภูมิศาสตร์เศรษฐกิจกรุงเทพฯใหม่    ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและธุรกิจได้เคลื่อนย้ายอย่างรวดเร็ว จากย่านสำนักงานธุรกิจถนนสีลม มายังศูนย์กลางจับจ่ายใช้สอยอาณาบริเวณหัวถนนพระราม1 ตัดกับสี่แยกปทุมวัน

 

สยามเซ็นเตอร์-สยามดิสคัพเวอรี่

สยามเซ็นเตอร์  ศูนย์การค้าริมถนนพระราม 1 เปิดบริการครั้งแรกเมื่อปี 2516 ได้ปรับปรุงอีกครั้งเป็นครั้งที่สองเมื่อปี 2540  ตามแผนการผนวก กับ สยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ ซึ่งเปิดตัวขึ้นเมื่อเมษายน 2540 ในพื้นที่ต่อเนื่องกันติดบริเวณสี่แยกปทุมวัน  ในภาพรวม อาณาบริเวณดังกล่าว ได้กลายเป็นย่านศูนย์การค้าหลายระดับ ตอบสนองวิถีชีวิตอันหลายหลาย   จากพื้นฐานเดิม สยามสแควร์ สู่ศูนย์การค้ามาบุญครอง  พัฒนาอีกขึ้นขั้นสอดคล้องกับไลฟสไตล์ของคนเมืองสมัยใหม่ที่สยามเซ็นเตอร์-สยามดิสคัพเวอรี่

แม้ว่าอยู่ในช่วงวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ แต่ศูนย์การค้าตลาดบนยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ค่อนข้างดี    เป็นไปตามแนวโน้มธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจแรกๆที่ฟื้นตัวจากวิกฤติ  โดยเฉพาะหลังจากบีทีเอสเปิดบริการในปี 2542   พลังและแรงดึงดูดมหาศาลเกิดขึ้นที่สยามเซ็นเตอร์-สยามดิสคัพเวอรี่ โมเมนตัมต่อเนื่องมายังโครงการใหญ่โครงการใหม่ในอาณาบริเวณเดียวกันในไม่กี่ปีต่อมา

 

เดอะมอลล์

เดอะมอลล์ แต่แรกมีคนเทียบเคียงว่าเป็นคู่แข่งรายสำคัญของเซ็นทรัล  แม้ภาพนั้นดูเลือนไปบ้างในช่วง“ดาวกระจาย”  แต่ เดอะมอลล์มีบางสิ่งบางอย่างเป็นบุคลิกเฉพาะของผู้ท้าทาย

จุดเริ่มต้นของเดอะมอลล์  เกิดขึ้นท่ามกลางโอกาส พาเหรดร่วมขบวนในฐานะรายใหม่  ไม่มีประสบการณ์ธุรกิจค้าปลีกโดยตรง ช่วงเดียวกันกับรายอื่นๆ(พาต้า– 2518    ตั้งฮั้วเส็ง-2519 เมอร์รี่คิงส์-2520 บางลำพู– 2521   โบบินสันและแก้วฟ้า-2522) ตามหลังกลุ่มเซ็นทรัลอย่างน้อย 2ทศวรรษ แต่เดอะมอลล์สามารถดำรงอยู่ได้อย่างเข้มแข็งมาแล้วกว่า 3 ทศวรรษ ขณะที่ผู้ร่วมขบวนหาเหรดในยุคก่อตั้ง ล้มหายตายจากไปหลายราย เดอะมอลล์ย่อมมียุทธศาสตร์ธุรกิจที่น่าสนใจ

เดอะมอลล์ ในช่วงปี 2536-2537 เป็นทศวรรษแห่งความสำเร็จ ในฐานะผู้นำห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่  ยึดชานเมืองรอบๆกรุงเทพฯ เป็นความพยายามสร้างโมเดลธุรกิจอย่างเจาะจง โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของโมเดลรามคำแหง (เดอะมอลล์ สาขาที่ 2-3-4 รามคำแหง) ในช่วงปี 2526-2530 ในเวลานั้นกรุงเทพฯ กำลังขยายชุมชนออกสู่ชานเมืองอย่างขนานใหญ่ ท่ามกลางอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ด้วยตัวเลข2 หลัก ติดต่อกันหลายปี โครงการบ้านจัดสรรเกิดขึ้นจำนวนมาก   พร้อมๆกับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคครั้งใหญ่ดังที่กล่าวมาแล้ว

โมเดลรามคำแหง เป็นยุทธศาสตร์ผนึกกำลังศูนย์การค้าขนาดใหญ่หลายแห่งในพื้นที่เชื่อมต่อเนื่อง ให้กลายเป็น “แม่เหล็ก”อันทรงพลัง  ความสำเร็จในโมเดลรามคำแหง ได้กลายเป็นยุทธศาสตร์เฉพาะตัวของกลุ่มเดอะมอลล์ในเวลาต่อมา

เอ็มโพเรียม—เป็นยุทธศาสตร์เฉพาะตัวของเดอะมอลล์ เป็นอีกโครงการหนึ่งที่พัฒนาและยกระดับขึ้นจากโมเดลรามคำแหง

–เอ็มโพเรียม โครงการศูนย์การค้าขนาดใหญ่ เปิดตัวขึ้นในปี 2540 เป็นกิจการร่วมทุนระว่างเดอะมอลล์กับกลุ่มธุรกิจรายสำคัญรายหนึ่งของไทย–กลุ่มซิตี้ เรียลตี้ 

ซิตี้ เรียลตี้    กลุ่มธุรกิจหลักของชาลี โสภณพนิช  บุตรชายคนหนึ่งของชาตรี โสภณพนิช แห่งธนาคารกรุงเทพฯ   มีเครือข่ายธุรกิจ ทั้งหลักทรัพย์ และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เติบโตอย่างเงียบๆใช้เวลาเพียง2 ทศวรรษ สร้างเครือข่ายธุรกิจได้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีทั้ง โรงแรม อาคารสำนักงานและคอนโดมิเนียม   เช่น Chatrium Hotels & Residences สาธรซิตี้ ทาวเวอร์ –ชาเทรียม คอนโดมิเนียม โรแยลคลีฟ การ์เด้นคอนโดมิเนียม (พัทยา)   ฯลฯ รวมทั้ง เอ็มโพเรี่ยม ทาวอร์ซึ่งผนวกรวมกับศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม

โมเดลการร่วมทุนในโครงการเอ็มโพเรียม ระหว่างเดอะมอลล์กับ ซีตี้เรียลตี้  กลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญอย่างหนึ่งของเดอะมอลล์  โครงการที่ใหญ่กว่า และสำคัญกว่าเกิดขึ้นไม่นานจากนั้น  นั่นคือการร่วมทุนกับกลุ่มสยามพิวรรษ์ (เจ้าของ สยามเซ็นเตอร์-สยามดิสคัพเวอรี่ )ในโครงการสยามพารากอน เป็นอีกตำนานหนึ่งของความสำเร็จ

เป็นความสำเร็จใน2ระดับ ทั้งสร้างความสัมพันธ์อันแนบแน่นผู้ร่วมทุนรายสำคัญอีกรายหนึ่งของเมืองไทย และเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างศูนย์กลางแหล่งจับจ่ายใช้สอย (Shopping paradise) ของกรุงเทพฯ ซึ่งกลายเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของการท่องเที่ยวระดับภูมิภาค (รายละเอียดโครงการสยามพารากอน และเรื่องราวเกี่ยวกับ กลุ่มสยามพิวรรษ์ สามารถหาอ่านจากบทความชุดสำคัญ 2 ตอน —สยามพิวรรธน์ (1) และ (2))

-เอ็มโพเรียม ศูนย์การค้าใจกลางเมืองหลวง  เป็นไปตามแผนยึดตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ตลาดระดับบน ในทำเลและฐานะใกล้เคียงกับ สยามเซ็นเตอร์-สยามดิสคัพเวอรี่และเซ็นทรัลชิดลม  เอ็มโพเรียม เป็นศูนย์รวมสินค้าแบรนด์เนมระดับโลกแหล่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ     เท่ากับเป็นการสร้างแบรนด์ใหม่ให้กลุ่มเดอะมอลล์  ยกระดับตนเองจากศูนย์การค้าชานเมือง สู่ศูนย์การค้าสำหรับตลาดบน

เอ็มโพเรียมพัฒนาและยกระดับ  “โมเดลรามคำแหง” ครั้งใหญ่ ใน2 มิติ หนึ่ง– เชื่อมพลังทางอ้อม ทั้งพันธมิตรธุรกิจ-สยามพิวรรษ์ (สยามเซ็นเตอร์-สยามดิสคัพเวอรี่-สยาทมพารากอน) และคู่แข่ง-กลุ่มเซ็นทรัล (เซ็นทรัลชิดลม-เซ็นทรัลเวิรล์ด) สอง-ผนึกพลังเดอะมอลล์โดยตรง ใช้เอ็มโพเรียม เป็นศูนย์กลาง สร้างศูนย์การค้าระดับบนภายในเครือข่ายตนเองให้มีพลังงมากขึ้น ตามแผนเชื่อมต่อศูนย์การค้าใหญ่ในอาณาบริเวณเดียวกัน 3 แห่ง –เอ็มโพเรียม  เอ็มสเฟียร์ และ เอ็มควอเทียร์

ตามยุทธศาสตร์หลักเดอะมอลล์  การผนึกพลังทั้งสองมิติ  จากความพยายามสร้างพันธมิตรธุรกิจกับกลุ่มสยามพิวรรษ์ เจ้าของศูนย์กลางการจับจ่ายใช้สอยหัวถนนพระราม 1 เข้ากับยุทธศาสตร์ใหญ่เดอะมอลลในฐานะผู้นำธุรกิจค้าปลีกรายหนึ่งในเมืองหลวง  อีกมิติหนึ่ง เชื่อมถนนพระราม 1 ต่อกับถนนสุขุมวิท ตามเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอส ให้เป็นเส้นทางหลักการจับจ่ายใช้สอยของกรุงเทพฯ ในฐานะเมืองท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งในระดับภูมิภาค

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: