ลมหายใจค้าปลีก(12) ทีซีซี แลนด์ รีเทล

เรื่องราวเจริญ สิริวัฒนภักดี  กับธุรกิจค้าปลีก  เริ่มต้นอย่างง่ายๆ ไปสู่มิติธุรกิจซับซ้อน บางชิ้นส่วนเชื่อมโยงกับ  สายสัมพันธ์ หรือ  ความเชื่อ-แรงบันดาลใจ 

(1)

 “ทีซีซี แลนด์ รีเทลเป็นผู้บุกเบิกศูนย์การค้าไอทีต้นแบบแห่งแรกของไทย ที่พันธุ์ทิพย์ พลาซ่าประตูน้ำและประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง นอกจากนั้น ทีซีซี แลนด์ รีเทล ยังเป็นผู้พัฒนาและบริหารศูนย์การค้าท่องเที่ยวไลฟสไตล์ครบวงจรที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ อาทิ เอเชียทีค เดอะริเวอร์ ฟร้อนท์ ศูนย์การค้าไลฟสไตล์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก” (http://www.tccholding.com/) คำแนะนำ“ธุรกิจศูนย์การค้า” ของกลุ่มไทยเจริญ นั้นน่าสนใจทีเดียว  อยู่ในเครือกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้การบริหารของบริษัททีซีซีแลนด์  โดยกล่าวอย่างเจาะจงถึง พันธุ์ทิพย์ พลาซ่าประตูน้ำ และ เอเชียทีค เดอะริเวอร์ ฟร้อนท์

“ธุรกิจศูนย์การค้า” ตามคำนิยามของกลุ่มไทยเจริญ  อาจถือว่าเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ล่าสุด  ในอาณาจักรใหญ่ภายในการนำโดยเจริญ  สิริวัฒนภักดี นักธุรกิจคนสำคัญ ผู้พยายาม”ขี่” วิวัฒนาการสังคมธุรกิจไทย  เชื่อว่าจะมีความสำคัญมากขึ้นๆตามลำดับ

“คุณเจริญเกิดและเติบโตในย่านธุรกิจทรงวาด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของไชน่าทาวน์ ในครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเลจากเมืองซัวเถา อำเภอเท่งไฮ้ คุณเจริญได้เริ่มทำการค้าตั้งแต่เยาว์วัย ต่อมาได้สมรสกับคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี จากนั้นได้ร่วมกันพัฒนากิจการจากเล็กสู่ใหญ่” (อ้างจาก http://www.tccholding.com/index.php?controller=history) เนื้อหาข้างต้นสะท้อนความตั้งใจกลุ่มไทยเจริญหรือทีซีซี ต่อสาธารณะชน ซึ่งเพิ่งมีขึ้นมาประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา   ทั้งๆที่ก่อนหน้าเป็นธุรกิจครอบครัวไทยทีปิดตัวอย่างมาก

เชื่อว่าปรากฏการณ์ดังกล่าว สัมพันธ์กับ “ความเชื่อมั่น”ที่มีมากขึ้น ในฐานะกลุ่มธุรกิจใหญ่ ไม่พียงสามารถผ่านพ้นวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2540 มาได้   หากใช้โอกาสในช่วงคาบเกี่ยว ขยายเครือข่ายออกไปอย่างกว้างขวาง และเป็นผลต่อเนื่องจากการนำบริษัทในเครือข่าย (บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ) เข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์(ปี 2549)

ประวัติอย่างเป็นทางการ  กลุ่มไทยเจริญให้ความสำคัญผู้ก่อตั้งมากเป็นพิเศษ

 “เจริญ สิริวัฒนภักดี สร้างฐานธุรกิจมาด้วยความยากลำบาก จนกลายเป็น “คนสุดท้าย” ในระบบเศรษฐกิจเก่า ที่มีความสัมพันธ์กับระบบอุปถัมภ์ และสัมปทาน ซึ่งกลายพันธุ์ไปมากแล้วในปัจจุบัน ความสำเร็จของเขาดูมั่นคงและมีรากฐานมากคนหนึ่ง” ผมเป็นคนหนึ่งให้ความสำคัญเขียนถึงเจริญ สิริวัฒนภักดี ไว้หลายครั้งหลายคราเช่นกัน ข้างต้นเป็นบทสรุปตอนหนึ่ง ที่ควรบันทึกไว้เทียบเคียง

ข้อมูลชุดเดียวกัน  กลุ่มไทยเจริญให้ภาพใหญ่ธุรกิจในเครือข่าย “จากการขายสินค้าให้โรงงานสุรา พัฒนามาสู่การเป็นเจ้าของโรงงานสุรา จนได้รับสัมปทานโรงงานสุราทั้งหมดเมื่อเข้าสู่ยุคการค้าสุราเสรี ได้ประมูลโรงกลั่นสุราในนามกลุ่มแสงโสม และได้ขยายกิจการไปสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่อง เช่น เบียร์ แอลกอฮอลล์ น้ำตาล บรรจุภัณฑ์ และอื่นๆ ตลอดจนได้เข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น การลงทุนในกลุ่มโรงแรมอิมพีเรียล กลุ่มนอร์ธปาร์ค กลุ่มพันธ์ทิพย์ และการร่วมทุนกับแคปปิตอล แลนด์ ประเทศสิงคโปร์ รวมทั้งได้เข้าลงทุนในกิจการของกลุ่มธุรกิจที่สำคัญ เช่น กลุ่มเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ และกลุ่มอาคเนย์ประกันภัย ประกันชีวิต เป็นต้น”

สิ่งที่กลุ่มไทยเจริญไม่ได้เขียนในประวัติ   ซึ่งควรเป็นสาระสำคัญมากๆ คือการเริ่มต้นธุรกิจสำคัญทั้งหลาย โอกาส(ไทยเจริญ)มักมาจาก วิกฤติการณ์( คู่แข่งหรือธุรกิจอื่น)   “ธุรกิจศูนย์การค้า”เดินทางมาตามเส้นทางสายลัดเช่นนั้นเช่นกัน

พันธุ์ทิพย์พลาซา ประตูน้ำ

ในราวปี2532 เจริญ สิริวัฒนภักดี ซื้อพันธุ์ทิพย์พลาซา เป็นการลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่พอสมควร บ้างก็ว่าในช่วงนั้นพัฒนาการศูนย์การค้าสินค้าไอทียังไม่เด่นชัด เขาเองไม่ค่อยมั่นใจนัก   แต่ปัญหาธุรกิจของพันธุ์ทิพย์พลาซา เป็นโอกาสและจังหวะดีในการเจรจาต่อรองซื้อกิจการ

“แต่ด้วยการเปิดตัวห้างสรรพสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรบินสัน เซ็นทรัลชิดลมรวมถึงการเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบของมาบุญครอง ซึ่งมีสิ่งดึงดูดลูกค้าได้มากกว่าทำให้ลูกค้าพันธุ์ทิพย์ พล่าซ่า เริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ ร้านค้าที่มีอยู่ก็ค่อยๆยุบหายไป จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด” ข้อมูลพันธุ์ทิพย์พลาซาเอง (www.pantipplaza.com) กล่าวไว้ถึงการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด หลังจากเปิดตัวขึ้นไม่นาน (ปี2527)

การปรับตัวเกิดขึ้นพร้อมๆกับแนวโน้มสินค้าไอที(Information technology) ขยายตัวขึ้น  แต่หนี้สินเดิมห้างพันธุ์ทิพย์เพิ่มพูนขึ้นมาก เสียจนทำลายโอกาสที่ดูเหมือนจะมาถึง  ในที่สุดผู้บริหารยุคนั้นนำโดย ดุลยเดช บุนนาค ได้ตัดสินใจขายกิจการ ว่ากันว่าเจริญ สิริวัฒนภักดี เข้ามาครอบครองกิจการ ด้วยการซื้อหนี้ก้อนใหญ่ จากธนาคารไทยทนุ และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ

จากนั้นศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ กลายเป็นต้นแบบของศูนย์การค้าสินค้าไอทีของเมืองไทย  และขยายเครือข่ายออกไปในเวลาต่อมา  โดยเฉพาะสาขาหนึ่งที่มีความสำคัญ–พันธุ์ทิพย์พลาซา งามวงศ์วาน

เรื่องราวพันธุ์ทิพย์พลาซา งามวงศ์วาน มีที่มาทำนองเดียวกันกับพันธุ์ทิพย์พลาซา ประตูน้ำ   มาจากความผันแปรธุรกิจค้าปลีกไทยในช่วงหัวเลี้ยวต่อวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ   มาจากการซื้อกิจการห้างบางลำพู งามวงศ์วานในราวปี 2545

ห้างบางลำพู ตำนานห้างสรรพสินค้าแบบเก่าแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ก่อตั้งเมื่อปี 2521   โอกาสทางธุรกิจเปิดกว้างมากขึ้นบ้างในช่วงปี 2528-2532 ขยายสาขาที่บางโพ และงามวงศ์วาน   แต่เมือเผชิญวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ   รวมทั้งต้องเผชิญการแข่งขันทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกับคู่แข่งหน้าใหม่ระดับโลกในโมเดล hypermarket ในที่สุดต้องยอมแพ้ ขายกิจการทั้งหมด

สำหรับกลุ่มไทยเจริญแล้ว  ห้างสรรพสินค้าไอที ตามโมเดลห้างพันธุ์ทิพย์ เป็นประสบการณ์ และความชำนาญเฉพาะของตนเอง

เอเชียทีค

“ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งตรงกับยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ประเทศ ในแถบทวีปเอเชียถูกรุกรานโดยชาติมหาอำนาจจากยุโรป และด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล พระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะพัฒนาประเทศให้เจริญรุดหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ จึงทรงตัดสินพระทัยเจริญสัมพันธไมตรีกับราชอาณาจักรเดนมาร์ก พร้อมกับการก่อกำเนิดท่าเรือของบริษัท อีสท์ เอเชียติก ซึ่งมีนายฮันส์ นิลล์ แอนเดอร์เซน ชาวเดนมาร์กเป็นเจ้าของ เพื่อการค้าไม้สักไปต่างประเทศ จึงสร้างท่าเรือขนถ่ายสินค้าขึ้น ณ ท่าเรือแห่งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของประตูการค้าสากลระหว่างสยามประเทศและยุโรป เป็นกุญแจดอกสำคัญที่ทำให้สยามดำรงความเป็นเอกราชมาจนปัจจุบัน  ในวันนี้ ณ ผืนแผ่นดินเดิม อันเป็นที่ตั้งของท่าเรือ อีสท์ เอเชียติก ได้ถูกเนรมิตให้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง ภายใต้ชื่อ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์”(http://www.asiatiquethailand.com/)

เรื่องราวข้างต้น มีที่มา มีความสัมพันธ์ กับช่วงเวลา เมื่อครั้งเจริญ สิริวัฒนภักดี  เข้าสู่ธุรกิจสุราอย่างจริงจังช่วงปี 2530   เป็นเวลาเดียวกันกับ อีสท์ เอเชียติก ผู้นำการค้ายุคอาณานิคมกำลังเสื่อมถอย ท่ามกลางสังคมไทยยุคใหม่ เจริญได้ซื้อที่ดินและสิ่งก่อสร้างเก่าแก่นั้นไว้   กลายเป็นตำนานนักธุรกิจหน้าใหม่โนเนม กับธุรกิจที่ไม่น่าชื่นชม  แต่มีโอกาสสัมผัส ร่องรอยและกลิ่นไอ ธุรกิจทรงอิทธิพลในประวัติศาสตร์ ที่มีสายสัมพันธ์ลึกซึ้ง

เมื่อเวลาผ่านไปกว่า 2 ทศวรรษ จึงกลายเป็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจ–ศูนย์การค้าไลฟสไตล์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

(2)

เรื่องราวไทยเจริญ และเจริญ สิริวัฒนภักดี  กับธุรกิจค้าปลีก  เริ่มต้นอย่างง่ายๆตามแบบฉบับ มักมาจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์  แต่บางกรณีกลายเป็นเรื่องยากในการปรับตัว

“ธุรกิจศูนย์การค้า” ของกลุ่มไทยเจริญ ในนาม ทีซีซี แลนด์ รีเทล มักอ้างอิง——ผู้บุกเบิกศูนย์การค้าไอทีต้นแบบแห่งแรกของไทย– พันธุ์ทิพย์ พลาซ่าประตูน้ำ   และศูนย์การค้าท่องเที่ยวไลฟสไตล์ครบวงจร–เอเชียทีคเดอะริเวอร์ ฟร้อนท์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา  เป็นเรื่องที่น่าสนใจ   พยายามเสนอภาพกลุ่มธุรกิจค้าปลีกใหม่ที่มีบุคลิกเฉพาะ  และแตกต่าง

เรื่องราวกลุ่มธุรกิจค้าปลีกหรือที่ทีซีซี เรียกว่า “ธุรกิจศูนย์การค้า” นั้น มีบุคลิกเฉพาะตัว แตกต่างกับกลุ่มธุรกิจค้าปลีกชั้นนำอื่นๆ อยู่แล้ว  ไม่ว่ากลุ่มเซ็นทรัล หรือเดอะมอลล์  ฯลฯ   ตั้งแต่จุดเริ่มต้นเลยทีเดียว

ทั้งกรณี   พันธุ์ทิพย์ พลาซ่าประตูน้ำ  และ  เอเชียทีคเดอะริเวอร์ ฟร้อนท์ ทีอ้างอิงถึงข้างต้น  มีจุดเริ่มต้นคล้ายๆกัน สะท้อนบุคลิกเฉพาะ  ควรขยายความให้กว้างขึ้นอีก

ความจริงแล้ว“ธุรกิจศูนย์การค้า” ของ ทีซีซี แลนด์ รีเทล  เพิ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่าง จากการปรับโครงสร้างทีซีซีแลนด์เมื่อปี 2555   หลังจากกลุ่มไทยเจริญได้ซื้อหุ้น 40%ในทีซีซีแลนด์ คืนจาก Capital Land แห่งสิงคโปร์

จากนั้นภาพชัดเจนขึ้น  การก่อกำเนิดกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ที่มีเครือข่ายมากพอสมควรทีเดียว  เชื่อกันว่าจะกลายเป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ที่น่าเกรงขามในไม่ช้า   ปัจจุบันในกรุงเทพฯ มีเครือข่ายถึง 10 แห่ง และที่เชียงใหม่อีก 5 แห่ง ทั้งนี้มีความพยายามแบ่งกลุ่มธุรกิจย่อย สร้างเป็นแบรนด์เฉพาะตัว ที่สำคัญเกิดขึ้นแล้ว อย่างน้อย 2 แบรนด์ ที่ควรกล่าวถึง (ยังมีอีกบางกรณี บางแบรนด์ของทีซีซีแลนด์รีเทล จะกล่าวถึงในตอนต่อไป) คือ – พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า   และ โอพี (O.P. Place และO.P. Garden)

ทั้งสองแบรนด์มีที่มา  ทั้งเหมือนกันและแตกต่างกัน

ที่เหมือนกัน ล้วนเป็นที่ดินและสิ่งก่อสร้างที่มีอยู่แล้วดั้งเดิม  กลุ่มไทยเจริญ โดยผู้นำ—เจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้ได้ชื่อว่า “ซื้อ(อสังหาริมทรัพย์)ทุกอย่างที่ขวางหน้า” ได้มาครอบครองในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน

ที่แตกต่างกัน “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า”  ส่วนหนึ่งเป็นกิจการศูนย์การค้าดั้งเดิม  บางกรณีดำเนินการต่อเนื่อง บางกรณีปรับปรุงเปลี่ยนแปลงธุรกิจบ้าง อย่าง กรณีพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ  และพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า  งามวงศ์วาน  ที่กล่าวถึงอย่างละเอียดในตอนที่แล้ว  อีกบางส่วนเป็นกรณีปรับปรุงค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่ก่อสร้างค่อนข้างใหม่ อายุยังไม่มากนัก เช่นกรณี พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ ถือเป็นอาคารเก่าแก่ที่สุดในกลุ่ม ก่อสร้างเสร็จปี 2527 กำลังมีแผนการปรับปรุงครั้งใหญ่ บางโครงการมีการปรับปรุงมาแล้ว เช่น พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า เชียงใหม่ ปรับปรุงแล้วเสร็จปี2547และ พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า บางกะปิ ปรับปรุงแล้วเสร็จเมื่อปี 2552

ส่วนแบรนด์ โอพี นั้นเป็นแบรนด์ห้างสรรพสินค้าประเภท Specialty center ที่น่าสนใจ ควรกล่าวถึง ถือเป็นภาพส่วนหนึ่งที่ผมเองเคยเสนอไว้ “ความพยายามเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์สังคมไทยยุคอาณานิคมกับการลงทุนทางธุรกิจในยุคปัจจุบัน แม้ดูไม่กลมกลืนเท่าที่ควร แต่ได้ให้ภาพหนึ่งที่น่าทึ่ง มีสีสัน เป็นจินตนาการต่อเนื่อง จากภาพพ่อค้าเชื้อสายจีน เริ่มต้นจากสองมือเปล่า กับธุรกิจอิทธิพลจากสัมปทานการค้าสุราในยุคไม่นานัก กลับย้อนเวลาไปเชื่อมต่อกับร่องรอยและกลิ่นไอประวัติศาสตร์สำคัญของสังคมไทย”

เชื่อมโยงกับ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ โดยตรง  “โครงการไลฟ์สไตล์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย แลนด์มาร์คใหม่ล่าสุดของกรุงเทพมหานคร” (http://www.thaiasiatique.com) ก่อสร้างเสร็จใน ปี 2555 ด้วยการก่อสร้างอาคารใหม่เป็นส่วนใหญ่ จากโกดังและ ท่าเรือเก่า อีสท์ เอเชียติกที่มีอายุกว่า100 ปี (อรรถาธิบายไว้ในตอนที่แล้ว)

ที่สำคัญ ภาพข้างต้นมีความสัมพันธ์กับเจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้ก่อตั้งกลุ่มไทยเจริญ  ในฐานะผู้ครอบครองสินทรัพย์ในยุคเก่าไว้มากที่สุดในเวลานี้ ก็ว่าได้  รวมทั้ง

–ซื้อที่ดินแปลงใหญ่ ย่านเวิ้งนาครเขษม มาเมื่อปี 2555 ที่ที่เคยเป็นวังมาก่อน ในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 5

— เป็นถือหุ้นใหญ่ที่สุดในบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์  กิจการที่มีตำนานว่า120 ปีในสังคมไทย  “เกิดขั้นในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง เป็นห้างฝรั่งที่นำสินค้าสมัยใหม่มาขายให้ราชสำนัก และซื้อสินค้าขั้นปฐมจากเมืองไทยส่งออกไปยังยุโรป” (อ้างจาก เรื่อง “วอลเตอร์ ไมเยอร์”ที่ผมเขียนไว้ ในหนังสือ “อำนาจธุรกิจใหม่” ปี 2541)

–เข้าซื้อกิจการบริษัทเสริมสุข กิจการในตำนานอีกแห่งหนึ่ง เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างพันธมิตรตระกูลธุรกิจไทยผู้ทรงอิทธิพล(ตระกูลบูลสุข-ล่ำซำ-หวั่งหลี)กับธุรกิจอิทธิพงระดับโลกจากสหรัฐ—PEPSI ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เจริญได้มาซึ่งตำนาน   ที่ดิน เครื่องจักรและทีมงาน แต่ตัดความสัมพันธ์กับ PEPSI แห่งสหรัฐฯ

ทั้ง โอพี เพลสและโอพี การ์เด้น  มีตำนานอยู่ในยุคเดียวกันกับเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์     ว่าไปแล้วตั้งอยู่ในอาณาบริเวณไม่ห่างกันนัก ตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา   ขณะที่โอพี เพลสและโอพี การ์เด้น  ถือว่าตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันเลย  ใกล้เคียงกับอาคารประวัติศาสตร์ที่ในยุคเดียวกันและเชื่อมโยงกัน —โรงแรมแมนดารินโอเรียนเต็ล  รวมทั้งอยู่ใกล้กับไปรษณีย์กลาง  บางรัก  ซึ่งมีอาคารเก่าแก่ในยุคต่อมา  ก่อสร้างขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง  ถือเป็นอาคารที่สูงที่สุดในเวลานั้น

ทั้งสองเป็นอาคารเก่า สร้างขึ้นยุคอาณานิคม ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชการที่ 5) โอพี เพลสเคยเป็นห้างขายสินค้ายุโรปให้ชนชั้นสูง ภายใต้ชื่อ ฟัลค์ แอนด์ ไบเด็ก หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ห้างสิงโต อาคาร

เป็นสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานระหว่างศิลปะนีโอคลาสสิคแบบตะวันตกกับศิลปะไทย  ได้รับการดูแลรักษาอย่างดี จนได้รับการยกย่องให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม ฯใน ปี 2525

ส่วนโอพี การ์เด้น โครงสร้างเป็นหมู่อาคารเล็กๆ 5 หลัง ซึ่งมีพื้นที่ว่างตรงกลางทำเป็นสวนหย่อม ด้วยสถาปัยตกรรมยุคเดียวกัน ตามประวัติกลุ่มอาคารได้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้สอยบ้าง ในปี 2479 กลายเป็นคลีนิค “สหการแพทย์” ของนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล นักอนุรักษ์ชื่อดังของไทย ว่ากันว่าเป็นโมเดลโพลีคลีนิคแห่งแรกของประเทศ

กลุ่มไทยเจริญ ทิ้งอาคารประวัติศาสตร์ทั้งสองไว้หลายปี กว่าจะค้นคิดสร้างโมเดลุรกิจใหม่  ศูนย์การค้าใหม่ภายใต้แบรนด์ “โอพี” ภายมใต้การบริหารของกลุ่มบริษัท ทีซีซี แลนด์ เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2552 วางตำแหน่งในตลาดบน ทั้งนี้ โอพี เพลสและโอพี การ์เด้น จัดว่าเป็นศูนย์ค้าปลีกประเภทเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทโบราณวัตถุ สินค้าตกแต่งบ้าน ฯลฯ โดยเน้นกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

เชื่อว่าทีซีซี แลนด์ รีเทล  คงจะยังไม่เข้าที่เข้าทาง ต้องใช้เวลาปรับตัวและจัดการกับสิ่งท้าทายไปอีกสักระยะหนึ่ง  ทั้งทีมบริหาร กับโมเดลธุรกิจที่เป็นไปได้  แม้ดูภาพรวมมีบุคคลิก  มีจุดเด่นแล้วก็ตาม

 ทั้งนี้มีข้อจำกัดหลายประการ  ตั้งแต่จุดเริ่มต้นเลยทีเดียว   มาจากการซื้อที่ดิน หรือที่ดินรวมสิ่งปลูกสร้าง  ภายใต้เจตจำนงค์กว้างๆ โดยไม่คาดคิดว่าจะเชื่อมโยงกับธุรกิจค้าปลีก  ย่อมมีข้อจำกัด ว่าด้วย ทำเล  ขนาดที่ดิน และสิ่งก่อสร้างในรูปแบบเดิม  อย่างไรก็ตามไทยเจริญในฐานะผู้ครอบครองอสังหาริมรัพย์จำนวนมาก  ย่อมจะมีทางเลือกมากขึ้นบ้าง

 อย่างไรก็ตาม ในสายตาของวงการธุรกิจค้าปลีกแล้ว   กลุ่มธุรกิจค้าปลีกซึ่งอาจถือว่าเป็นธุรกิจใหม่ล่าสุดของไทยเจริญ  ถือเป็นคู่แข่งรายใหญ่รายใหม่ที่น่าเกรงขาม

(3)

ไทยเจริญ กับธุรกิจค้าปลีก   ยังอยู่ในขั้นการเรียนรู้ และปรับตัว เข้ากับธุรกิจที่มีซับซ้อนและแข่งขันสูง

ความจริงแล้วธุรกิจค้าปลีกกลุ่มไทยเจริญ  เพิ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างเมื่อปี2555   หลังจากปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ เมื่อกลุ่มไทยเจริญได้ซื้อหุ้น 40%ในทีซีซีแลนด์ คืนจากCapital Land แห่งสิงคโปร์  จากนั้นทีซีซีแลนด์ได้ดำเนินแผนการเชิงรุกอย่างซับซ้อนมากขึ้น

ภาพยิ่งชัดเจน ซ้อนทับอยู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  คือกลุ่มธุรกิจค้าปลีกใหม่ ที่มีเครือข่ายมากพอสมควรทีเดียว  เชื่อกันว่าจะกลายเป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่  ทั้งนี้มีความพยายามแบ่งกลุ่มธุรกิจย่อย สร้างเป็นแบรนด์เฉพาะตัว ที่สำคัญได้เกิดขึ้นแล้ว

ดูเหมือนว่า การปรับโครงสร้างธุรกิจเกี่ยวกับค้าปลีก ยังคงดำเนินไป  ทั้งโครงสร้างการบริหารและโมเดลธุรกิจ   ไม่ว่าจะเป็นโมเดลธุรกิจดั้งเดิมทีดำเนินมานานนับสิบปี  หรือโมเดลใหม่ที่เปิดตัวไปเพียงไม่กี่ปี    ทั้งนี้เชื่อว่ามาจากข้อจำกัดตามแนวคิดที่นำเสนอคร่าวๆไว้ในตอนที่แล้ว “ มาจากการซื้อที่ดิน หรือที่ดินรวมสิ่งปลูกสร้าง  ภายใต้เจตจำนงค์กว้างๆ โดยไม่คาดคิดว่าจะเชื่อมโยงกับธุรกิจค้าปลีก  ย่อมมีข้อจำกัด ว่าด้วย ทำเล  ขนาดที่ดิน และสิ่งก่อสร้างในรูปแบบเดิม”

กลุ่มไทยเจริญกำลังเผชิญสิ่งท้าทาย กับโมเดลธุรกิจค้าปลีกที่ดูเหมือนจะยังไม่ลงตัว  ท่ามกลางสถานการณ์ธุรกิจค้าปลีกไทย พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

หนึ่ง-กรณีธุรกิจดั้งเดิม–พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า  ดูเหมือนว่ากลุ่มไทยเจริญ เชื่อมั่นในโมเดลธุรกิจ ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง ขยายเครือข่ายในช่วง3 ทศวรรษที่ผ่านมา

 “เมื่อช่วงปี 2534-2535 เป็นช่วงที่เครื่องคอมพิวเตอร์ประกอบเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก พันธุ์ทิพย์พลาซ่า ประตูน้ำได้ก้าวเข้ามาเป็นศูนย์กลางการค้าขายคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อันดับหนึ่งของเมืองไทยและเมื่อสินค้าขายดีประกอบกับเพิ่มจำนวนของร้านค้า ราคาเช่าพื้นที่ก็เพิ่มขึ้น”  (http://www.pantipplaza.com/) นั่นคือจุดเริ่มต้นโมเดลธุรกิจที่ถือว่ามีบุคคลิกเฉพาะ และเป็นความชำนาญเฉพาะตัวของกลุ่มไทยเจริญ   แต่เมื่อมาถึงเวลาหนึ่ง ความเชื่อมั่นเริ่มสั่นคลอน

พันธุ์ทิพย์พลาซ่า จำต้องปรับตัว ให้สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ใหม่  โดยทีมงานใหม่กลุ่มไทยเจริญ  ว่าด้วย สถานการณ์และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป   ตามคำแถลงของผู้บริหารใหม่ ระบุว่า กำลังดำเนินแผนการใหญ่ปรับโฉม พันธุ์ทิพย์พลาซ่า จากโมเดล ศูนย์การค้าไอที ให้มีความหมายที่กว้างขึ้น เป็นศูนย์เทคโนโลยี  ซึ่งก็ยังไม่มีภาพให้เห็นชัดเจนตามโมเดลใหม่   ตามแผนการคาดว่าการปรับโฉมใหม่จะแล้วเสร็จในปีหน้า

โมเดลห้างสรรพสินค้าไอที กำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่  อันเนื่องมาจากธุรกิจสื่อสารและไอที กลายเป็นธุรกิจใหญ่ ทรงอิทธิพล และเป็นเครือข่ายธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในสังคมไทยสามารถเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง  ดังนั้นโมเดลธุรกิจ จึงมีลักษณะคล้ายๆกับเครือข่ายค้าปลีกขนาดเล็ก  เปิดศูนย์ธุรกิจและบริการ ขนานใหญ่ ยึดพื้นที่ค้าปลีกที่สำคัญ กระจายอย่างกว้างขวางในขอบเขตทั่วประเทศ  ปรากฏการณ์ดังกล่าวย่อมสั่นสะเทือนศูนย์การค้าไอทีดั้งเดิมที่มีเครือข่ายจำกัด

การปรับตัว ศูนย์การค้าเซียร์รังสิต ล่าสุด เป็นภาพสะท้อนหนึ่งนั้นด้วย

ศูนย์การค้า เซียร์ รังสิต มาตั้งแต่ปี 2537 และพัฒนาสู่ความเป็นศูนย์ไอที และอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2543 กำลังเดินแผนปรับตัวครั้งใหญ่เช่นกัน  ด้วยขยายพื้นที่นับแสนตารางเมตร  เรียกว่า “ The Hub”  ให้เป็นศูนย์ค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดในย่านรังสิต

โครงการที่ดู “คาบลูกคาบดอก” อีกโครงการหนึ่งของไทยเจริญ ที่เกิดขึ้นจากโอกาสที่แตกต่างออกไป แต่ก็มาสู่บทสรุปไกล้เคียงกัน

ในปี2552 ทีซีซีแลนด์ ชนะประมูลเข้าพัฒนาพื้นเดิมที่เรียกว่า เซ็นเตอร์พ้อยท์ ในสยามสแควร์ จากจุฬาลกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้น  ปรับโฉม เปลี่ยนชื่อเป็น ” Digital Gateway ” เข้าใจว่า พยายามสร้างโมเดลใหม่อย่างผสมผสาน  อ้างอิงกับทั้งโมเดลธุรกิจเก่า ศูนย์การค้าไอที  และแบรนด์ใหม่ซึ่งกำลังจะเปิดตัวไม่นานจากนั้น   “Gateway Ekamai”  เป็นโมเดลธุรกิจใหม่ที่อ้างว่า “ดิจิเทนเมนต์(Digitainment ) แห่งเรียนรู้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่ที่มาพร้อมกับความสนุกสนาน”(คำอธิบายนี้ ยังปรากฏใน http://www.tccland.com/ )

แต่แล้วในอีกไม่กี่ปีถัดมา ต้องปรับโมเดลธุรกิจอีกครั้ง   Digital Gateway เปลี่ยนชื่อเป็น Center Point @ Siam square โดยเพิ่งเปิดตัวเมื่อไม่มานมานี้  เปลี่ยนคอนเซ็ปต์จาก IT Mall  ซึ่งมีแนวโน้มมีข้อจำกัดมากขึ้น ไปสู่โมเดลที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในกรุงเทพฯในช่วงไม่ถึงทศวรรษมานี้ —  Life style Mall

สอง-โมเดลใหม่ยังไม่ลงตัว

ศูนย์การค้า Gateway Ekamai เปิดตัวไปเมื่อปี 2555

“ศูนย์การค้าเกตเวย์ เอกมัย ตอบสนองวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ด้วยเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากศูนย์การค้าชุมชน ที่ผุดอยู่ทั่วไป แตกต่างด้วยบรรยากาศที่นำเอากลิ่นไอของสุนทรียรสแบบญี่ปุ่น  นำเสนอให้แก่ลูกค้า ประสานไปกับสถานที่ตั้งที่อยู่ใจกลางของย่านเอกมัย ชุมทางของแหล่งธุรกิจและที่อยู่อาศัย  ด้วยขนาดพื้นที่ทั้งหมด 93,000 กว่าตารางเมตร ชูคอนเซปต์ที่รวมวัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์ของชาวญี่ปุ่นไว้ทั้งหมด  โดยมีจุดขายหลักกับโซน Japan Town  พบกับร้านอาหารจากประเทศญี่ปุ่นที่มาเปิดในไทยเป็นสาขาแรก”นี่คือแนวคิดดั้งเดิม( http://www.gatewayekamai.com/) ศูนย์การค้าแห่งใหญ่ แบรนด์ใหม่ล่าสุดของกลุ่มไทยเจริญ

ถือเป็นโครงการแรก มาพร้อมกับการก่อตั้งกลุ่มธุรกิจค้าปลีกอย่างเป็นการเป็นงาน  สะทอ้นความเชื่อมั่นในธุรกิจค้าปลีก  ประเดิมด้วยโครงการที่เชื่อว่า มาจากแนวคิดที่หลักแหลม และชัดเจน  มาจากบทวิเคราะห์ที่ไตร่ตรอง เกี่ยวกับสถานการณ์และแนวโน้มใหม่ๆในช่วงเวลานั้น

“กระแสคลื่นธุรกิจญี่ปุ่นลูกใหม่  กำลังถาโถมเข้าสู่วิถีชีวิตของปัจเจกในเมืองหลวงและหัวเมืองอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน” ผมเคยนำแสนอปรากฏการณ์สำคัญไว้(จากเรื่อง  JAPAN CONNECTION   ตีพิมพ์ใน ประชาชาติธุรกิจ ช่วงปลายปี 2556 ต่อต้นปี 2557) โดยอ้างอิงเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น  ก่อเป็นกระแสครึกโครมในเวลาต่อมา

กลุ่มเซ็นทรัลเป็นผู้บุกเบิกนำร้านอาหารญี่ปุ่นส่งตรงจากญี่ปุ่นเข้ามาตลาดเมืองไทย ตั้งแต่ปี2548   เป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่องจากเครือข่ายร้านอาหารญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นจากภายในเองมาก่อนหน้า ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่อง   กระแสร้านอาหารญี่ปุ่นจากญี่ปุ่นเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงปี 2550-2554 เฉพาะกลุ่มเซ็นทรัลเอง นำเข้ามาอีกหลายแบรนด์

ในเวลาเดียวกันนั้น(2554)เครือข่ายร้านเสื้อผ้า Uniqlo แบรนด์ญี่ปุ่นที่เติบโตอย่างรวดเร็วในระดับโลก ถือว่าเทียบเคียงกับแบรนด์อย่าง Mark & Spencer อังกฤษ H&M สวีเดนและ Zara ของสเปน ก็มาเปิดที่เมืองไทย   รวมทั้งเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกแบบ Convenience store จากญี่ปุ่น พร้อมใจกันมาพาเหรดเข้ามาเมืองไทย โดยเฉพาะ Family Mart ประกาศร่วมมือ กับกลุ่มเซ็นทรัลในปลายปี2555  Lawson เข้ามาเมืองไทยครั้งแรกในปี 2556 โดยร่วมมือกับสหกรุ๊ป

ปรากฏการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้นในปี2556  กรณีธนาคารญี่ปุ่น— Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ (BTMU)  เข้าครอบงำธนาคารไทย—ธนาคารกรุงศรีอยุธยา  เป็นครั้งแรก ธนาคารญี่ปุ่นเข้ามาในเมืองไทยอย่างเต็มรูป  หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ธนาคารกรุงศรีอยุธยาคือธนาคารที่ให้ความสำคัญมีเครือข่ายลูกค้ารายย่อยมากที่สุด

Gateway Ekamai เกิดขึ้นในฐานะ  Japan Town  ในตอนนั้น เป็นยุทธศาสตร์ธุรกิจที่โอกาสเปิดกว้างจริงๆ

แต่แล้วผ่านมาเพียง2 ปี  Gateway Ekamai  ต้องปรับตัวพอสมควร โดยมีคำธิบายใหม่ ที่กว้างกว่าเดิม Gateway Ekamai  ภาพลักษณ์และรูปแบบใหม่ ภายใต้แนวคิด “Community Shopping Center และเพิ่มเติมด้วย  Urban Lifestyle.รวบรวมร้านค้าที่หลากหลายเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ชีวิตคนเมือง ให้เป็นศูนย์รวมความสุขครบรสสำหรับทุกคนในครอบครัว”

นี่คงเป็นบทเรียนสำคัญ สำหรับเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกใหม่ จำเป็นต้องข้ามผ่าน

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: