ดีลใหญ่ กรณีขายกิจการในเครือข่ายค้าปลีกBig Cไทยและเวียดนาม เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ธุรกิจใหญ่ไทย ทีซีซี กับ เซ็นทรัล ในทำนอง“สองคน ยลตามช่อง”
(1)
ความจริงแล้วแบรนด์ Big C กลุ่มเซ็นทรัลเป็นผู้สร้างขึ้น ตามแผนการเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกโมเดล Hypermarket เมื่อ2ทศวรรษที่แล้ว(ปี 2537) ผู้บริหารเซ็นทรัลคนหนึ่งเคยบอกว่า Cเป็นอักษรย่อมีความหมายได้ทั้ง Central และChirathivat(จิราธิวัฒน์) นับเป็นเรื่องบังเอิญที่ลงตัว ในช่วงเซ็นทรัลเผชิญวิกฤติ Casino Group แห่งฝรั่งเศส(Cเป็นอักษรย่อของCasino ได้ด้วย)ได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่ เข้ามาบริหาร(ปี2542) ชื่อจึงไม่เปลี่ยน อย่างไรก็ตาม“Big C เป็นแบรนด์ใหม่ มีลักษณะท้องถิ่น เกิดขึ้นที่เมืองไทยโดยกลุ่มเซ็นทรัล แม้จะขายเครือข่ายไปเวียดนามก็ยังไม่ใช่แบรนด์หลักของCasino Group” ผมเคยว่าไว้ คงเทียบไม่ได้กับ Monoprix, Casino Supermarchés และ Géant Casino ซึ่งเป็นแบรนด์หลักระดับโลกของ Casino Group
เมื่อ Casino Group ปรับแผนครั้งใหญ่ ประกาศตัดสินใจขายกิจการBig Cในไทย (14มกราคม 2559) ชื่อเซ็นทรัลจึงปรากฏขึ้นเป็นตัวเก็งทันที กลุ่มเซ็นทรัล เครือข่ายธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย แต่ยังไม่มีธุรกิจค้าปลีกในโมเดล Hypermarket โดยตรง เชื่อกันว่ากำลังศึกษาบทเรียน และเตรียมความพร้อม
ในฐานะเป็นผู้ถือหุ้น Big Cอันดับสองรองจาก Casino Group แต่ดูเหมือนกลุ่มเซ็นทรัลและตระกูลจิราธิวัฒน์ตั้งใจไม่เข้าเกี่ยวข้องการบริหารโดยตรง ไม่มีตัวแทนหรือคนในตระกูลจิราธิวัฒน์เป็นกรรมการ การถือหุ้นอยู่ในลักษณะกระจาย จนไม่มีชื่อใดๆเกี่ยวข้องกลุ่มเซ็นทรัล ในรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับต้นๆ ปรากฏในข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจาก Big C อยู่ในตลาดหุ้นไทย กลุ่มเซ็นทรัลหรือตระกูลจิราธิวัฒน์ คงซื้อขายหุ้นบ้างในจังหวะต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ดี เชื่อกันว่ายังคงถือหุ้นอยู่รวมๆกันประมาณ 25%
ถือเป็นเรื่องพลิกล็อกอยู่บ้าง เมื่อกลุ่มเซ็นทรัลไม่สามารถบรรลุดีลสำคัญ เบอร์ลียุคเกอร์กิจการในกลุ่มทีซีซี คว้าดีลใหญ่นั้นไปอย่างครึกโครม (การลงนามจะซื้อจะขาย 7 กุมภาพันธ์ ตามเวลาฝรั่งเศส –อ้างจากข่าว Disposal of Casino’s stake in Big C Thailand for € 3.1 billion— http://www.groupe-casino.fr/en) ว่าไปแล้ว เป็นเรื่องบังเอิญที่ลงตัวอีกครั้งก็ได้ เมื่อเบอร์ลียุคเกอร์ กิจการของเจริญ สิริวัฒนภักดี (ชื่อของเขา เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Charoen) ซึ่งพออ้างว่า C เป็นอักษรชื่อผู้นำก็ย่อมได้
ในช่วงเวลานั้น ข่าวคราวความเคลื่อนไหวดีล Big Cเวียดนาม มีการคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกัน มุ่งไปที่กลุ่มทีซีซี ซึ่งกำลังดำเนินแผนเชิงรุกอย่างดุเดือดสู่ธุรกิจค้าปลีก นอกจากมีดีล Big Cในเมืองไทยแล้ว ก่อนหน้านั้นเพียงเดือนเดียว (7มกราคม2559) ดีลซื้อเครือข่ายค้าปลีก METRO Cash & Carry แห่งเยอรมนีในเวียดนาม เพิ่งสำเร็จลุล่วง
ดีล BigC ระหว่าง Casino Group กับเบอร์ลียุคเกอร์ ถือเป็นดีลสายฟ้าแลบ กำหนดให้จบภายใน53วัน (7กุมภาพันธ์ -31 มีนาคม2559) ในที่สุด (21 มีนาคม2559 ตามเวลาในปารีส ฝรั่งเศส หรือ22 มีนาคม ในเมืองไทย) เป็นไปตามนั้น BigCเข้าสู่ยุคใหม่ เปลี่ยนเป็นกิจการของคนไทย
ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ขอนำเสนอข้อมูลจากต้นแหล่ง เชื่อว่าให้ภาพการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เป็นบทเรียนธุรกิจที่น่าสนใจ(โปรดอ่านจากลำดับเหตุการณ์)
การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตามแผนการที่กำหนดไว้ เบอร์ลียุกเกอร์ เข้าครอบหุ้นข้างมากในBigC (บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์) ประมาณ 58% รวมกับซื้อกิจการย่อยเกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์ กลุ่มทีซีซีจ่ายเงินเฉพาะในวันนั้น รวมทั้งสิ้นถึง123, 000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กระบวนการยังไม่จบแค่นั้น
การเปลี่ยนแปลงที่BigC เกิดทันทีทันใดเช่นกัน เริ่มด้วยการเปลี่ยนตัวคณะกรรมการบริษัทรวดเดียว 7 คน ส่วนใหญ่เข้ามาแทนชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นตัวแทนของCasino Group แต่ยังคงเหลือผู้บริหารคนสำคัญๆไว้ กรรมการเข้ามาใหม่จากฝ่ายกลุ่มทีซีซี ตามสูตรสำเร็จ ย่อมมี เจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นประธานคณะกรรมการบริษัท (แน่นอนต้องตามมาด้วยคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี เป็นรองประธาน) นอกนั้น คือผู้บริหารคนสำคัญของเบอร์ลี่ยุคเกอร์
ไม่กี่วันจากนั้น(28 มีนาคม2559) เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ทำหน้าที่อย่างดีในฐานะบริษัทในตลาดหุ้นด้วยกัน จัดทำคำเสนอหลักทรัพย์ (Tender offer)ซื้อหุ้น Big C ส่วนที่เหลือทั้งหมดอีกประมาณ 41% โดยกำหนดวันให้ผู้ถือหุ้นเสนอขาย ระหว่าง29 มีนาคม – 11พฤษภาคม 2559 คาดกว่าจะใช้เงินอีก88,000ล้านบาท (กู้เงินจากธนาคาร7 แห่ง ได้แก่ กสิกรไทย 27,000 ล้านบาท กรุงไทย24, 000 ล้านบาท ไทยพาณิชย์ 15,000 ล้านบาท กรุงเทพ 19,000ล้านบาท ทหารไทยกับ เกียรตินาคิน แห่งละ 5000 ล้านบท และทิสโก้ 2000ล้านบาท) รวมทั้งสิ้น ดีลนี้เป็นดีลธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ในเมืองไทย เลยก็ว่าได้ มีมูลค่าถึงกว่า 200,000ล้านบาท
ในช่วงเวลาTender offer หุ้นBigC ในไทยดำเนินไปในช่วงท้ายๆ ดีล BigC เวียดนามได้เกิดขึ้น (อ้างจาก Disposal of Big C Vietnam for a valuation of 1 billion euros–เมื่อ29 เมษายน2559 — http://www.groupe-casino.fr/en/press/all-press-releases/) ไม่เป็นไปตามที่คาดนัก เมื่อกลุ่มเซ็นทรัลกับพันธมิตรธุรกิจ บรรลุข้อตกลงเบื้องต้น
ขณะเดียวกัน ช่วงเปลี่ยนผ่านการบริหารBigCในไทยเข้าสู่ขั้นใหม่ ใช้เวลาเพียงเดือนเศษ (22 มีนาคม-3พฤษภาคม2559) ถึงเวลาเปลี่ยนชุดคณะกรรมการผู้บริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประธานกรรมการบริหาร จากตัวแทนCasino Group (โรเบิร์ต เจมส์ ซิสเซล) มาเป็น อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารเบอร์ลี่ยุคเกอร์อยู่ด้วย อย่างไรก็ตามในจำนวนสมาชิกคณะกรรมการบริหารชุดใหม่11คน ยังคงเหลือตัวแทนของCasino Group อยู่อีก4คน
ผลพวงBigCในไทยและเวียดนาม เกี่ยวข้องกับ กลุ่มทีซีซี กับกลุ่มเซ็นทรัล คงมีมิติซับซ้อนกว่า เรื่องราวแบรนด์BigCว่าในที่สุดแล้วจะลงเอยอย่างไร
———–
เหตุการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อ
21มีนาคม2559 (เวลาในฝรั่งเศส)
Casino Group แถลงข่าวว่า การซื้อขาย Big C ในประเทศไทยสำเร็จลุล่วง (หากสนใจรายละเอียดโปรดอ่าน Completion of the disposal of Big C Thailand–21 mars 2016 (http://www.groupe-casino.fr/en/communique/completion-of-the-disposal-of-big-c-thailand/)
22 มีนาคม 2559
—บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) แจ้งการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อ้างว่าได้รับแจ้งจากกลุ่มคาสิโนว่า “Géant International B.V. ได้ดำเนินการขายหุ้นทังทางตรงและทางอ้อมในบริษัทฯ …คิดเป็นร้อยละ 58.555 ของจำนวนหุ้น ให้แก่ บริษัท บีเจซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด และ บริษัท สัมพันธ์เสมอจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นที่เรียบร้อยแล้วซึ่งมีผลทำให้ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์จำกัด (มหาชน) กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ โดยทางอ้อม จากการถือหุ้นในบริษัทฯ โดยผ่านบริษัทย่อยทั้งสองบริษัทดังกล่าว”
—บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่อง การได้มาซึ่งหุ้นสามัญทั้งทางตรงและทางอ้อมในบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จากัด (มหาชน) และการได้มาซึ่งบริษัทย่อยเพื่อการเข้าลงทุนในหุ้นของบิ๊กซี
“ในวันที่ 21 มีนาคม 2559 (ภายหลังจากที่ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2559 ของบริษัทมีมติอนุมัติให้เข้าทารายการได้) ได้มีการชาระราคาและส่งมอบหุ้นตามสัญญาจะทาการขายหุ้นที่ทาขึ้นกับ Geant International BV ฉบับลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 โดยเสร็จสมบูรณ์แล้วในวันดังกล่าว”
(2)
ดีลใหญ่กรณีขายกิจการในเครือข่ายค้าปลีกBigCไทยและเวียดนาม เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ธุรกิจใหญ่ไทย และวิวัฒนาการสังคมธุรกิจไทย
ว่าด้วยดีล
สรุปแล้วดีลกลุ่มทีซีซี-BigC มีมูลค่าทะลุ 2 แสนล้านบาทอย่างที่คาดไว้
— 21มีนาคม2559 ลงนามสัญญาซื้อเครือข่าย BigC จากCasino Group แห่งฝรั่งเศส ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วนประมาณ 58% โดยจ่ายเงินเมื่อ22 มีนาคม 2559 ประมาณ123, 000 ล้านบาท
—28 มีนาคม2559 เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จัดทำคำเสนอหลักทรัพย์ (Tender offer) ซื้อหุ้น Big C ส่วนที่เหลือทั้งหมดประมาณ 41% กำหนดวันให้ผู้ถือหุ้นเสนอขาย 29 มีนาคม – 11พฤษภาคม 2559 ทั้งนี้เตรียมเงินไว้ 88,000ล้านบาท จนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2559 เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ นำส่งรายงานผลการซื้อหลักทรัพย์ ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สรุปว่าซื้อได้ถึง 39% ในที่สุดกลุ่มทีซีซี ถือหุ้นบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จากัด (มหาชน)ในสัดส่วนทั้งหมดถึง 98%
ดีลทีซีซี- BigC ถือเป็นกรณีซื้อขายกิจการในธุรกิจค้าปลีกที่มีมูลค่าสูงสุดที่สุดในระดับภูมิภาค
เมื่อเปรียบเทียบกับดีลที่เกิดขึ้นในช่วง5 ปีก่อนหน้า ทั้งกรณี–ปลายปี2553 Casino Group แห่งฝรั่งเศสซื้อเครือข่าย Carrefourในประเทศไทย (สาขา 42 แห่ง) ด้วยมูลค่า 868 ล้านยูโร (เทียบอัตราแลกเปลี่ยน1ยูโรเท่ากับประมาณ41บาทในขณะนั้น คิดเป็นเงินมากกว่า35, 000ล้านบาท) และในปี2556 กรณีซีพีออลล์ซื้อเครือข่าย Makroในประเทศไทย (สาขา 64 แห่ง และร้านจำหน่ายอาหารแช่แข็งขนาดเล็ก “สยามโฟรเซ่น” อีก 5 แห่ง) ด้วยมูลค่าประมาณ 188,880 ล้านบาท
เฉพาะในปีนี้ยังเดินทางไปไม่ถึงครึ่งปี ดีลค้าปลีกเกิดจึ้นถึง 3ครั้งแล้ว ดีลทีซีซี- BigC เป็นกรณีครึกโครมในฐานะดีลที่ใหญ่กว่ามาก เมื่อเปรียบเทียบกับอีก 2 กรณี
ต้นปี(7มกราคม 2559) ทีซีซีเปิดฉากเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกอย่างเต้มตัวครั้งแรก โดยเข้าซื้อ METRO Vietnam (มีสาขาค้าส่งแบบบริการตนเองที่เรียกว่า Cash & Carry ด้วยเครือข่าย 19สาขา) ด้วยมูลค่า 655 ล้านยูโร (เทียบอัตราแลกเปลี่ยน 1ยูโรเท่ากับ39บาทในปัจจุบัน คิดเป็นเงินมากกว่า25, 500ล้านบาท)
ดีลล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อช่วงหลังวันสงกรานต์ของไทย(เมื่อ29 เมษายน2559) Casino Group ประกาศขายเครือข่าย Big C Vietnam ให้กับกลุ่มเซ็นทรัลและพันธมิตรในราคา 920 ล้านยูโร (หรือประมาณ 36,800 ล้านบาท) อีก 3-4 วันต่อมา( 3พฤษภาคม2559 ) กลุ่มเซ็นทรัลแถลงข่าวผ่าน website ตนเอง(http://www.centralgroup.com ) “กลุ่มเซ็นทรัล ร่วมกับ กลุ่มเหงียนคิม ประกาศซื้อกิจการบิ๊กซี เวียดนาม อย่างเป็นทางการแล้ว…. มีทั้งสิ้น 43 สาขา ในประเทศเวียดนาม ซึ่งแบ่งเป็นดังต่อไปนี้ คือ ไฮเปอร์มาร์เก็ต 33 สาขา , คอนวีเนี่ยนสโตร์ 10 สาขา และเป็นศูนย์การค้า 30 แห่ง โดยมียอดขายใน ปี 2558 ราว 586 ล้านยูโร”
ว่าด้วยแนวทาง
ในภาพกว้างๆ คงเป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่องสังคมธุรกิจไทย ว่าด้วยธุรกิจใหญ่ขยายพรมแดนธุรกิจเข้าหากัน แข่งขันกัน “แรงปะทะอันเปรี้ยงปร้าง ไม่อาจปรองดองกันได้ เป็นปรากฏการณ์ทั่วไปในสังคมธุริจไทย ถือว่าเป็นวิวัฒนาการใหม่อันซับซ้อนขึ้น จากเดิมโครงสร้างง่ายๆ ว่าด้วยการแบ่งพื้นที่ แบ่งประเภทธุรกิจ เป็นระบบจัดสรรผลประโยชน์ และโอกาสที่ลงตัว ของบรรดาผู้ทรงอิทธิพลซึ่งมีจำนวนไม่มากราย แต่วันนี้ พื้นที่และโอกาส ไม่อาจจัดสรรด้วยระบบเดิม เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว ต้องซ้อนทับและขัดแย้งกัน จึงตามมาด้วยแรงปะทะสั่นสะเทือนไปทั่ว” ผมเองเคยอรรถาธิบายเมื่อปี2553 เกี่ยวข้องธุรกิจค้าปลีกโดยตรงซึ่งควรขยายภาพเพิ่มเติม
การแข่งขันทางธุรกิจปลีกนับวันจะเข้มข้น ยิ่งขยายเครือข่าย ยิ่งแข่งขันกันมากขึ้น เป็นโมเมนตัมรุนแรง มาถึงจุดหนึ่งธุรกิจค้าปลีก ต้องเผชิญหน้าและแข่งขันกับธุรกิจอื่นๆ มีแรงปะทะ และหลอมรวมเข้าหากัน เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของวิถีชีวิตปัจเขกสมัยใหม่ ข้ามพรมแดนจากสินค้าคอนซูเมอร์ สู่สินค้าอื่น จินตนาการเกี่ยวกับรูปแบบธุรกิจค้าปลีกปรับเปลี่ยนไป ต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งรายใหม่ๆ ภาพที่ชัดเจนมาระยะหนึ่ง กลุ่มธุรกิจใหญ่กำลังเดินหน้าเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกกันอย่างเป็นขบวน
ว่าไปแล้ว“แรงปะทะอันเปรี้ยงปร้าง” เกิดขึ้นจากกรณีเกี่ยวข้องกับBigCด้วย เรื่องราวเกิดขึ้นในช่วงปลายปี2553 เมื่อธุรกิจยักษ์ใหญ่ ทั้งซีพี เซ็นทรัล ทีซีซี และปตท.เข้าร่วมวงเสนอซื้อกิจการ Carrefour ซึ่งมีแผนขายกิจการในไทย แรงปะทะรุนแรงมาโฟกัสที่ปตท. พลังต่อต้านการเข้าร่วมประมูลของปตท.สั่นสะเทือนไปทั่ว จนลามมาถึงที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในที่สุดปตท.ต้องประกาศถอนตัว สุดท้าย Big C โดย Casino Group คว้าดีล Carrefour อย่างพลิกความคาดหมายไปบ้าง
ปรากฏการณ์นั้นสะท้อนอีกมิติหนึ่ง ธุรกิจใหญ่ไทยด้วยมุมมองเชิงบวก จึงพยายามเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่
โมเดลค้าปลีกขนาดใหญ่ และยืดหยุ่นอย่าง Big C, Makro และTesco Lotus เรียกกันว่า Hypermarket นั้น มีพลังและส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเผชิญวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ เครือข่ายธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ดังกล่าวตกอยู่ในกำมือของกลุ่มธุรกิจต่างชาติอย่างสิ้นเชิง มาตลอดกว่าทศวรรษ (2542-2556) ซึ่งเป็นช่วงเวลาการขยายเครือข่ายเชิงรุก
ในบางช่วงใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา จะมีความพยายามกำหนดนโยบายควบคุมธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เพื่อจำกัดบทบาท การคุกคาม ทำลายค้าปลีกแบบเก่า โดยเฉพาะร้านโชว์ห่วย หรือ ตลาดสด แต่ดูเหมือนเป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่ววูบ บางคนเชื่อว่าเป็นภาพสะท้อนอิทธิพลเครือข่ายธุรกิจระดับโลก
“ประเทศไทยเป็นหนึ่ง ในผู้นำธุรกิจค้าปลีกในตลาดอาเซี่ยนด้วยการนำเสนอรูปแบบร้านค้าปลีกที่ทันสมัย โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่ยังมีโอกาสเติบโตอยู่มากเนื่องจากการค้าปลีกรูปแบบเดิมยังคงครองส่วนแบ่งตลาดอยู่เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น”(รายงานประจำปี 2557บริษัทบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์) ซึ่งขณะนั้นถือหุ้นใหญ่และบริหารอย่างเบ็ดเสร็จโดย Casino Group มองสังคมไทยในอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งให้ภาพอิทธิพลระบบค้าปลีกสมัยใหม่เช่นกัน
จากดีลซีพี-Makro (2556) มาจนถึง ทีซีซี- BigC ถือเป็นความต่อเนื่องสำคัญ ช่วงเวลาใหม่ธุรกิจค้าปลีกไทย โดยเฉพาะโมเดลหลัก-Hypermarket จากอยู่กำมือธุรกิจต่างชาติอย่างสิ้นเชิง ค่อยๆพลิกโฉมถ่ายโอน มาอยู่ในอำนาจธุรกิจใหญ่ไทยอย่างมีนัยสำคัญ
ปรากฏการณ์จากผลพวง BigC และกรณีเกี่ยวข้องในปี 2559 ให้ภาพความเคลือนไหวธุรกิจค้าปลีกไทยกำลังมุ่งสร้างเครือข่ายในระดับภูมิภาค
ความจริงแนวทางและไอเดียปรากฏมาตั้งแต่ปี 2556 กลุ่มซีพีสร้างฐานธุรกิจค้าปลีกครั้งใหญ่ เชื่อกันว่ามีความมุ่งหมายเป็นเจ้าของเครือข่ายค้าปลีกระดับภูมิภาค “ซีพี ออลล์” เตรียมพร้อมรับ AEC ซื้อกิจการ “แม็คโคร” หวังใช้เป็นช่องทางนำสินค้าSMEs และสินค้าเกษตรไทยลุยตลาดอาเซียน” ถ้อยแถลงในเวลานั้น(http://www.cpall.co.th 23 เมษายน 2556) ผ่านไปจนถึงวันนี้ประมาณ3 ปี ยังอยู่ในขั้นเตรียมความพร้อม“ขณะเดียวกันก็เตรียมพร้อมจะขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน..” สารจากประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทสยามแมคโคร( http://www.siammakro.co.th/investor.php) กล่าวถึงแผนงานในปี 2559ไว้
ขณะทีซีซีกับ เซ็นทรัลรุดหน้าไปอีกก้าวหนึ่ง ทั้งนี้เชื่อว่าดำเนินไปตามแผนการ ขั้นตอน และยุทธศาสตร์ธุรกิจที่แตกต่างกัน…
ภาพทำนองเดียวกันกับข้างต้น ผมเคยนำเสนอเชื่อมโยงไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและธุรกิจ
“จากนั้น เครือข่ายธุรกิจจากเมืองหลวง ขยายกิจการไปยังหัวเมืองและชนบทด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องอาศัย “สายสัมพันธ์ท้องถิ่น”… โดยเฉพาะเครือข่ายค้าปลีกที่กำลังขยายตัวทั่วประเทศ เป็นตัวเร่งที่สำคัญมาก ระบบการค้าดั้งเดิมในท้องถิ่น ต้องเผชิญแรงกดดันในการปรับตัวอย่างรุนแรง ..เพียง2 ทศวรรษ เครือข่ายค้าปลีกขนาดใหญ่ทีมีความสัมพันธ์กับธุรกิจระดับโลก ขยายตัวถึงระดับอำเภอ และตำบลสำคัญๆของประเทศแล้ว” ตัดตอนมาจากบางตอนในหนังสือ “ยุทธศาสตร์เอาตัวอรดของกูรูธุรกิจ” (วิรัตน์ แสงทองคำ สำนักพิมพ์มติชน 2554)
เพียง2ทศวรรษเท่านั้น เครือข่ายค้าปลีกระดับโลก ยึดครองตลาดอย่างมั่นคง สามารถเข้าถึงพื้นฐานสังคมไทยอย่างแท้จริง ที่สำคัญกลายเป็นดัชนีหนึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงรากฐานเศรษฐกิจ
ยังมีต่อ….
(3)
ดีลใหญ่ Big C ทั้งไทยและเวียดนาม เกี่ยวข้อง เชื่อมโยง กับยุทธศาสตร์ธุรกิจใหญ่ไทย สองราย มีที่มาแตกต่างกัน กำลังเดินทางมาบรรจบและเผชิญหน้ากัน
ธุรกิจครอบครัว
“ธุรกิจครอบครัว” มีความสำคัญ ในฐานะแรงผลักดันสำคัญในระบบเศรษฐกิจสังคมอาเชียน เป็นภาพต่อเนืองมาหลายทศวรรษ ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง จนถึงสงครามเวียดนาม สามารถผ่านพ้นวิกฤติการณ์ “ต้มยำกุ้ง” และกำลังจะเดินเข้าสู่ช่วงการหลอมรวมระบบเศรษฐกิจอาเชียนเข้าด้วยกันมากขึ้น
ขณะเดียวกัน“ธุรกิจครอบครัว” ให้ภาพสะท้อนโมเดลความมั่งคั่งทางธุรกิจในสังคมอาเชียนที่ยังคงดำเนินไป(อ้างอิงจากForbes นิตยสารธุรกิจแห่งสหรัฐฯ—www.forbes.com)
กลุ่มเซ็นทรัล ธุรกิจครอบครัวของตระกูลจิราธัฒน์ เติบโตมาอย่างเป็นจังหวะก้าว ตามกระแสสังคมอ้างอิงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้คนในสังคมเมือง ซึ่งขยายฐานต่อเนื่องจากเมืองสู่ หัวเมืองใหญ่ ฯลฯ ตั้งแต่รุ่นบุกเบิก จากร้านโชว์ห่วย จนมาเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นโมเดลใหม่ ทดแทนห้างฝรั่งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก้าวรุ่นที่สอง พร้อมๆกับไลฟ์สไตล์ตะวันตก ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อวิถีชีวิตสังคมเมืองใหญ่ ในยุคสงครามเวียดนาม ในยุคนี้ กลุ่มเซ็นทรัลก้าวขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจและผู้นำเสนอสินค้าคอนซูเมอร์ตอบสนองกระแสวิถีชีวิตสมัยใหม่ รุ่นที่สองของตระกูลจิราธิวัฒน์ ยังมีบทบาทสำคัญเป็นพิเศษ ทั้งขยายเครือข่ายกว้างขึ้น ต่อกรกับเครือข่ายธุรกิจระดับโลกอย่างไม่ลดละ และนำพากิจการผ่านวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่มาได้ จนก้าวเข้าสู่รุ่นที่สาม ในปัจจุบัน
กลุ่มทีซีซี โดยเจริญ สิริวัฒนภักดี แม้ตนเองมีประสบการณ์ธุรกิจ มาตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม แต่การก่อตั้งกลุ่มทีซีซีอย่างจริงจัง อย่างเป็นรูปเป็นร่าง เรี่มต้นหลังสงครามเวียดนาม เมื่อสังคมธุรกิจไทย เผชิญวิกฤติการณ์ย่อยๆครั้งหนึ่ง เรื่องราวของเขาน่าสนใจเป็นพิเศษ ในฐานะผู้ได้รับประโยชน์อย่างมาก จากระบบสัมปทานแบบเก่าที่หลงเหลืออยู่“เจริญ สิริวัฒนภักดี สร้างฐานธุรกิจมาด้วยความยากลำบาก จนกลายเป็น “คนสุดท้าย” ในระบบเศรษฐกิจเก่า ที่มีความสัมพันธ์กับระบบอุปถัมภ์ และสัมปทาน” ผมให้ความสำคัญเขียนถึงเจริญ สิริวัฒนภักดี ไว้หลายครั้งหลายครา และนี่คือบทสรุปตอนหนึ่งที่ควรบันทึกไว้
กลุ่มทีซีซี ยังอยู่ในยุคก่อตั้ง ซึ่งกำลังมีความพยามอย่างเต็มกำลัง ในแผนการส่งผ่านธุรกิจสู่รุ่นที่สอง พร้อมๆกับการปรับตัว พลิกโฉมหน้าธุรกิจ ให้พ้นร้องรอยจากยุคสัมปทาน สู่ธุรกิจยุคใหม่ ความพยายามของกลุ่มทีซีซี ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ตื่นเต้น เร้าใจที่สุดเป็นตำนานหน้าหนึ่ง ในยุคใหม่สังคมธุรกิจไทย
โมเดลธุรกิจ
กลุ่มเซ็นทรัล ดำเนินธุรกิจอย่างโฟกัส อาจถือว่าเป็นกลุ่มธุรกิจกลุ่มเดียวในสังคมไทยก็ว่าได้ ดำเนินและพัฒนาธุรกิจจากรากฐานเดิมซึ่งเริ่มต้นมาแล้วกว่าครึ่งศตวรรษ ทั้งนี้พิจารณาจากโครงสร้างธุรกิจกลุ่มเซ็นทรัลปัจจุบัน
กลุ่มเซ็นทรัลปัจจุบัน จัดโครงสร้างแบ่งธุรกิจออกเป็นกลุ่มใหญ่หลายกลุ่ม(อ้างจาก http://www.centralgroup.com/ ) โดยมีกลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า(Department Store Group) ซึ่งถือเป็นธุรกิจดั้งเดิม ยังคงเป็นฐานที่ใหญ่ที่สุด แม้มีกลุ่มธุรกิจอื่นอีกหลายกลุ่ม โดยเนื้อแท้ มีความเกี่ยวข้องและสนับสนุนกันโดยตรง ไม่ว่ากลุ่มธุรกิจโรงแรม( Centrara Hotel &Resort ) กลุ่มธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ( Food Retail Group) กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร(Restaurant Group) กลุ่มร้านค้าวัสุดก่อสร้าง( Hardliners Group) และกลุ่มธุรกิจร้านค้าออนไลน์(Central online group) โดยมีกลุ่มธุรกิจที่เรียกว่าธุรกิจศูนย์การค้า(retail developer )หรือ Central Pattana Groupเป็น “หัวหอก”ในการผนึกพลัง
ทั้งนี้ได้มีกลุ่มธุรกิจใหม่ที่เรียกว่า Central Group Vietnam แม้ยังไม่มีรายละเอียดอย่างเป็นทางการ แต่เป็นที่เข้าใจกันได้ว่า กลุ่มเซ็นทรัลให้ความสำคัญกับเครือข่ายธุรกิจในเวียดนามเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากซื้อเครือข่าย Big C Vietnam ในแง่โมเดลธุรกิจถือเป็นโมเดลธุริกจค้าปลีกใหม่ล่าสุดของกลุ่มเซ็นทรัล ในการเข้าสู่โมเดลHypermarket อย่างจริงจังเป็นครั้งแรก( แม้ว่าป็นผู้ก่อตั้ง Big C ครั้งแรกในประทศไทย แต่ดำเนินกิจการมในช่วงสั้นๆก่อนขายให้ Casino Groupแห่งฝรั่งเศส) เป็นการขยายฐานธุรกิจค้าปลีกให้กว้างขึ้น และเป็นครั้งแรกเช่นกัน ก้าวสู่โมเดลค้าปลีกใหม่ โดยมิได้เริ่มต้ที่เมืองไทย
โดยภาพรวม ถือเป็นจังหวะก้าวอันรัดกุม กว่าช่วงแรกๆ กรณีบุกไปจีนแผ่นดินใหญ่
กลุ่มทีซีซี ข้อมูลทางการ(www.tcc.co.th )ให้ภาพใหญ่พัฒนาการธุรกิจในเครือข่าย “จากการขายสินค้าให้โรงงานสุรา พัฒนามาสู่การเป็นเจ้าของโรงงานสุรา จนได้รับสัมปทานโรงงานสุราทั้งหมดเมื่อเข้าสู่ยุคการค้าสุราเสรี ได้ประมูลโรงกลั่นสุราในนามกลุ่มแสงโสม และได้ขยายกิจการไปสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่อง เช่น เบียร์ แอลกอฮอลล์ น้ำตาล บรรจุภัณฑ์ และอื่นๆ ตลอดจนได้เข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น การลงทุนในกลุ่มโรงแรมอิมพีเรียล กลุ่มนอร์ธปาร์ค กลุ่มพันธ์ทิพย์ กลุ่มเกษตร รวมทั้งได้เข้าลงทุนในกิจการของกลุ่มธุรกิจที่สำคัญ เช่น กลุ่มเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ และกลุ่มอาคเนย์ประกันภัย ประกันชีวิต เป็นต้น”ทั้งนี้ในปัจจุบัน( อ้างแล้วข้างต้น) กลุ่มทีซีซีแบ่งโครงสร้างธุรกิจเป็น5 สาย ประกอบด้วย ธุรกิจเครื่องดื่ม ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจอุตสาหกรรมการค้า ธุรกิจประกันและการเงิน และสายธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร
แสดงให้ว่ากลุ่มทีซีซี มีความเคลื่อนไหวทางธุรกิจเป็นไปอย่างรวดเร็ว อย่างที่ดำเนินมามาตลอดสองทศวรรษ มาจากเส้นทางสายลัด ด้วยการเข้าซื้อกิจการ แรงขับเคลื่อนข้างต้น เร็วกว่าการจัดการในเรื่องโครงสร้างธุรกิจอย่างลงตัว เชื่อว่าธุรกิจเกี่ยวข้องกับค้าปลีก ก็เป็นเช่นนั้น
คงจำกันได้ว่ากรณีกลุ่มทีซีซีเข้าชื้อเครือข่ายค้าปลีกระดับโลกที่เวียดนาม– METRO GROUPแห่งเยอรมนี เพิ่งจบไปเมื่อต้นปี2559 ความจริงดีลดังกล่าวตกลงเบื้องต้นตั้งแต่สิงหาคมปี2557 แต่ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ปี 2558 กลุ่มทีซีซีได้ขอเปลี่ยนผู้ซื้อ จากเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (Berli Jucker Public Company Limited หรือBJC) เป็น TCC Land International (เข้าใจว่าเป็นบริษัทจดทะเบียนในสิงคโปร์) ทำให้การลงนามสัญญาเป็นทางการล่าช้าออกไปมากทีเดียว
ปรากฎการณ์ดังกล่าว สะท้อนภาพที่กล่าวถึงข้างต้นอย่างมิพักสงสัย
ล่าสุด(2มิถุนายน 2559) เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ เข้าใจว่าสังกัดในสายธุรกิจอุตสาหกรรมการค้าได้นำเสนอข้อมูลและแผนการธุรกิจใหม่ ต่อนักลงทุน (1Q16 Opportunity Day – Berli Jucker Public Company Limited — 2 June 2016) โดยเฉพาะกรณีซื้อกิจการBigC (BigC Acquisition) ได้กล่าวถึงแผนการปรับเปลี่ยนธุรกิจ (BJC’s Transformation) สู่โมเดลที่เรียกว่าRetail Focused Platform
นั้นเป็นภาพต่อเนื่องที่สำคัญของกลุ่มทีซีซี ในก้าวเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกอย่างเต็มตัวเป็นครั้งแรก ข้อมูลนำเสนอข้างต้นระบุด้วยว่า Berli Juckerหือ BJC เมื่อผนึกกับกลุ่มทีซีซีแล้ว เป็นผู้นำค้าปลีก(2015 Retail Sales)อันดับสามของเอเชียตะวันเฉียงใต้(เป็นรองCP All และTesco Lotus ) เป็นผู้นำ Hypermarket อันดับสองของไทย(เป็นรอง Tesco Lotus) เมื่อเปรียบเทียบจำนวนสาขา( 2015 Number of Stores ) และเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกโมเดล Supermarket เป็นอันดับ3 (เป็นรอง CP All และTesco มีส่วนแบ่งการตลาด(2015 Market Share ) 22% มากกว่ากลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งมาเป็นอับดับสี่ ด้วยส่วนแบ่งการตลาดแค่5%
อย่างไรก็ดีในช่วงที่ผ่านมา ราคาหุ้นBJC ดูเหมือนไม่ได้ตอบสนองเชิงบวกต่อแผนยุทธศาสตร์ใหญ่ใหม่