ไม่น่าเชื่อว่า สื่อดั้งเดิมต้องเผชิญความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่องยาวนาน ยังอยู่ในช่วงเวลาแห่งความผันแปร มาจนถึงปัจจุบันเกือบๆ สองทศวรรษแล้ว
ความผันแปร
(1)
สื่อดั้งเดิม หรือที่เรียกว่า Industrial media มีความหมายครอบคลุมถึง สื่อสิ่งพิมพ์ ทีวี และภาพยนตร์ โดยมีองค์กรหรือธุรกิจบริหารจัดการ สื่อดั้งเดิมอันทรงอิทธิพล มักอยู่ในมือกลุ่มธุรกิจใหญ่ ไม่ว่าในระดับโลกหรือท้องถิ่น
ว่าไปแล้วช่วงรุ่งโรจน์สื่อดั้งเดิมในสังคมไทย เริ่มต้นด้วยแรงกระตุ้น ความสนใจข่าวสารเศรษฐกิจ-ธุรกิจ เริ่มต้นมาจากสงครามอ่าวเปอร์เชีย(2533-2534) โดยเฉพาะจากบทบาทรายงานข่าวสด (Live) ผ่านดาวเทียวของCNN (เครือข่ายธุรกิจสื่อสหรัฐฯ) มายังเมืองไทย ขณะเดียวกันเป็นแรงกระตุ้นให้ทีวีไทยปรับตัวครั้งใหญ่
เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ช่วงขยายตัวต่อเนื่อง สงครามอ่าวเปอร์เซียส่งผลกระทบเพียงช่วงสั้นๆ ตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ช่วงเติบโต ข่าวสารด้านธุรกิจจึงสถาปนาได้สำเร็จ ในช่วงใกล้เคียงกัน ถือเป็นครั้งแรก กิจการสื่อสิ่งพิมพ์เข้าตลาดหุ้น ( เนชั่น ปี2531 มติชน และผู้จัดการ ปี2532 (ทั้งนี้ไม่นับรวมบางกอกโพสต์ ซึ่งเข้าตลาดหุ้นก่อนใคร ตั้งแต่ปี 2527) สามารถระดมเงินจากสาธารณะชนได้ครั้งใหญ่ ขยายสินค้าใหม่ๆอย่างต่อเนือง นับเป็นช่วงรุ่งโรจน์สื่อสิ่งพิมพ์ไทย เป็นช่วงมั่งคั่งเจ้าของสื่อ ซึ่งดูเหมือนไม่มีมีทางหวนกลับ
เป็นช่วงเดียวกับการพัฒนาทีวีอย่างจริงจัง สร้างเครือข่ายทั่วประเทศอย่างเป็นระบบ เห็นได้ชัดในราวปี 2531-2533 สอดคล้องและสนับสนุนเครือข่ายธุรกิจกรุงเทพฯ กำลังแผ่ขยายอิทธิพลออกสู่ต่างจังหวัดอ ย่างขนานใหญ่ สินค้าคอนซูเมอร์ซึ่งมีฐานในกรุงเทพฯได้ใช้ทีวี กระตุ้นการบริโภค ขยายตลาดสินค้าไปทั่วประเทศ ทีวีกลายเป็นเครือข่ายสื่ออันทรงพลัง โดยเฉพาะบทบาท จุดกระแสสังคมบริโภคให้ท้องถิ่นเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ สินค้าแบรนด์ระดับโลก ขยายอิทธิพลและฐานการตลาดกว้างขวางอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จากหัวเมือง สู่ชนบท หรือแม้กระทั่งสู่ฐานรากชุมชน
เวลานั้น ผู้รับสัมปทานทีวีช่อง3 ปรับตัวขยายกิจการกิจการครั้งใหญ่ ก่อตั้งบิษัทใหม่–บริษัท บีอีซี เวิลด์ ในปี2533 และเข้าตลาดหุ้นในปี2539 เป็น “โมเดล” ความรุ่งเรือง ความมั่งคั่งสื่อดั้งเดิม
เป็นช่วงเวลาต่อเนื่องกับระบบสื่อสารใหม่ ดาวเทียมสื่อสารดวงแรกของไทย(ไทยคม-ปี2534) เชื่อมสื่อสารระหว่างเครือข่าย(โดยเฉพาะธุรกิจ)ทั่วประเทศ จากนั้นตามาด้วยเครือข่ายโทรศัพท์พื้นฐานชนบท 1 ล้านเลขหมาย(ปี 2536) ว่าไปแล้วระบบสื่อสารไร้สายเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นเล็กน้อย AIS (ได้รับสัมปทานจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยให้เป็นผู้ดำเนินโครงการบริการระบบเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 900) เปิดบริการในปี2533 และDTAC (ทำสัญญากับ กสท เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปลายปี2533) เริ่มให้บริการต้นปี2534 แต่ในช่วงแรกๆบริการเครือข่ายและผู้ใช้บริการยังมีจำนวนจำกัด
ปรากฏการณ์อินเตอร์เน็ตระดับโลกเกิดขึ้นมาแล้วระยะหนึ่ง สร้างกระแสความสนใจสื่อดั้งเดิมของไทยได้บ้าง มีความพยายามพัฒนาระบบข่าวสาร ข้อมูล ข้ามผ่านจากสิ่งพิมพ์สู่ออนไลน์ (ในฐานะผู้บริหารสื่อในยุคนั้น ผมมีส่วนอย่างสำคัญในการทดลอง ก่อตั้ง พัฒนาการบริการข่าวและข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตในช่วงปี2539 อาจจะเรียกว่าเป็นรายแรกของไทยก็ว่าได้) ขณะเดียวกันเป็นไปตามกระแส Yahoo (ก่อตั้งปี2539) ในระดับโลก sanook.com ก่อตั้งเมื่อปี2541 บุกเบิกให้บริการสารบัญเว็บไทย
เมื่อวิกฤติการณ์เศรษฐกิจไทยมาถึงในปี2540 สื่อดั้งเดิมจึงเดินเข้ายุคแห่งความผันแปรอย่างแท้จริง
ขั้นที่หนึ่ง เมื่อเศรษฐกิจไทยมีปัญหาครั้งใหญ่ ย่อมกระทบไปทั่ว รวมทั้งสื่อด้วย โดยเฉพาะงบโฆษณาสินค้าลดลงตั้งแต่นั้นมา เฉพาะในสื่อสิงพิมพ์ยังไม่มีขาขึ้นอีกเลย เป็นที่รู้กันว่ารายได้หลักของสื่อมาจากการโฆษณาสินค้า
ขั้นต่อมา แรงกดดันจากอินเตอร์เน็ต เพิ่มขึ้น สื่อดั้งเดิมส่วนใหญ่มีความกังวลต่ออินเตอร์เน็ตพอสมควร เป็นความขัดแย้งดูสับสน งุนงง โดยทั่วไปมีการจัดทำWebsiteพอเป็นพิธี ขณะเดียวก็ติดตามความเคลื่อนไหวต่อไป ด้วยมุมมองค่อนข้างแคบ และเฉพาะส่วน
ความผันแปรทั้งสองประการ ปกคลุมสื่อดั้งเดิม เป็นเวลานานพอสมควร ประกอบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมมีความเปราะบาง แม้ว่าปัจจุบันมีบางภาพกระจ่าง แต่แรงกดดันกลับเพิ่มขึ้นด้วย จากปัจจัยใหม่ ปรากฏการณ์ใหม่ ซึ่งไม่คาดคิดไว้
นั่นคือ การเกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็วของสื่อใหม่ ในโลกอินเตอร์เน็ต รวมทั้งปรากฏการณ์อันน่าทึ่งของ Social media
มีบางคนเชื่อว่า หากอินเตอร์เน็ตพัฒนาไป สื่อดั้งเดิมซึ่งมีทักษะใกล้เคียงกับการจัดการข้อมูลข่าวสารทางอินเตอร์เน็ต จะสามารถปรับตัวได้ แต่ความจริงแล้ว ผู้เล่นรายใหม่ซึ่งสั่นคลอนสื่อดั้งเดิม ส่วนใหญ่กลับไม่มีภูมิหลัง ไม่มีประสบการณ์จากสื่อดั้งเดิมเลย
ทั้ง Google และ Web log หรือ Blog เกิดขึ้นในปี 2541 Wikipedia(2544) Face book(2547) You tube(2548) หรือ Tweeter(2549) เปิดพื้นที่ใหม่ๆนำเสนอและสื่อสารด้วยข้อมูล ข่าวสารและเนื้อหาต่างๆ มาจากแนวคิดและกระบวนการทำงานแตกต่างจากสื่อดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง Social media เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Consumer-Generated Media (CGM) มาจากการทำงานของปัจเจก กลุ่มคน องค์กร หรือธุรกิจ ไม่จำกัดขนาด สร้างเนื้อหาขึ้นมาเอง เพื่อสื่อสารกันเองหรือกับกลุ่มย่อย จนถึงสื่อสารกับสาธารณะชน โดยเฉพาะมีแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ ผู้ใช้บริการมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างเนื้อหา(Content) จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เส้นทางที่เดินไปของSocial media ก่อให้เกิดทั้งกระบวนการหลอมรวมและทำลายสื่อดั้งเดิม
ภาพนั้น สะท้อนวิวัฒนาการอินเตอร์เน็ต ดำเนินไปอย่างรวดเร็วและซับซ้อน
“สังคมอินเตอร์เน็ต กำลังขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง อันเนื่องมาจากแรงขับที่สำคัญจากธุรกิจที่ทุ่มเททรัพยากรต่างๆอย่างมากมายลงไป เพื่อสร้างเครือข่าย กำลังเป็นสังคมที่มีบุคลิกใหม่” ทรรศนะมองโลกในแง่ดีแบบกว้างๆ เชื่อมั่นอินเตอร์เน็ตดูจะมากเกินไปบ้าง (จากข้อเขียนของผม เมื่อ2 ทศวรรษปีที่แล้ว — ว่าด้วยอินเตอร์เน็ต 21 มกราคม 2539)
“ผู้คนในสังคมสามารถติดต่อกันอย่างรวดเร็วและทั่วถึงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เป็นการติดต่อสื่อสารข้ามความเป็นชาติ ความเป็นประเทศ ไม่มีพรมแดนทางภูมิศาสตร์ มุมมองหนึ่งเป็นการสร้างสังคมใหม่ สามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ วัฒนธรรม โนว์ฮาว อย่างมีประสิทธิภาพ ในแง่พัฒนาการของมนุษยชาติถือเป็นความก้าวหน้าอย่างสำคัญ
แน่ละ ในแง่เศรษฐกิจธุรกิจ ผู้สินค้าสินค้าและบริการต่างๆได้สามารถค้นพบตลาดใหม่ที่กว้างขวาง การติดต่อซื้อขายสินค้าและบริการ การเติบโตของอินเตอร์เน็ต มักเกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจทางธุรกิจ อันเนื่องมาจากเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ทำให้ผู้ขายสินค้าและบริการกับลูกค้ามีกิจกรรมต่อกัน ด้วยความถี่ที่สูงขึ้นกว่าปัจจุบันหลายเท่า สินค้าและบริการในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต กำลังอยู่ในห้วงการสร้างสรรค์อย่างไร้ขอบเขต คาดกันว่าจำนวนชนิดหรือประเภทจะถูกค้นคิดอยู่ตลอดเวลา และเพิ่มขึ้นอย่างนับไม่ถ้วน เป็นเสรีภาพอย่างหนึ่งในกลไกการค้าเสรีระดับโลก” ในภาพกว้างๆ อาจจะยังเป็นเช่นนั้น
แต่สิ่งที่เป็นไปนช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะกับสื่อดั้งเดิม ดูเป็นเรื่องไม่อาจเข้าใจ เข้าถึง และสามารถปรับตัวได้ อย่างที่ควรจะเป็น
(2)
สื่อดั้งเดิม นอกจากเผชิญความไม่แน่นอนแล้ว ยังสะท้อนความสับสน ความคิดและแนวทางด้วย
ข้อเขียนนี้มีสมมติฐานว่า โครงสร้างทางความคิดมาจากประสบการณ์ ผนึกกับแบบแผนวิชาชีพ สะท้อนผ่านปัจเจก เป็นสาระ สัมพันธ์กับพัฒนาการสื่อดั้งเดิม ซึ่งได้สถาปนาเป็นธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบในช่วง 3ทศวรรษที่แล้ว
ทั้งนี้อ้างอิงกับปรากฎการณ์สำคัญ ทีวีไทยขยายเครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อตอบสนองการโฆษณาธุรกิจในขอบเขตกว้างขึ้นเป็นครั้งแรก พร้อมๆกับสื่อสิงพิมพ์พาเหรดเข้าระดมทุนครั้งใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์
ในช่วงเวลานั้น ปรากฏภาพความขัดแย้ง เป็นแรงปะทะ เป็นสร้างแรงเสียดทาน จนแทบไม่เหลือเวลาให้สื่อดั้งเดิม มองไปข้างหน้า
ด้านหนึ่ง ผลพวงมาจากมรดกทางความคิดช่วง6 ทศวรรษก่อนหน้า ตั้งแต่ยุคก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทย ท่ามกลางสังคมและการเมืองครอบงำด้วยเผด็จการ หรือขัดจังหวะด้วยเผด็จการเป็นช่วงๆ ประหนึ่งภูเขาไฟระเบิดขึ้นบ่อยครั้งโดยไม่คาดหมาย ผู้คนถูกครอบงำด้วยความหวาดกลัว ความคิดใหม่ๆจึงไม่ค่อยเกิดขึ้น
เวลานั้น เหตุการณ์ทางสังคมดำเนินไปอย่างง่ายๆ การรายงานข่าว และสถานการณ์ โดยเฉพาะสื่อสิงพิมพ์ ขึ้นอยู่กับว่า สามารถรายงานอย่างตรงไปตรงมาได้หรือไม่ เสรีภาพหนังสือพิมพ์กลายเป็นเรื่องใหญ่
คำว่า”เสรีภาพของหนังสือพิมพ์” ได้ก่อเป็นผลึกความเชื่อวิชาชีพที่น่าสนใจ การต่อสู้เพื่อเสรีภาพ การเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น เป็นมรดกทางความคิด ตกทอดกันต่อๆมา
กลายเป็นว่า อุดมคติหนังสือพิมพ์ คือการรายงานข่าวด้วยมุมมองตนเอง เจตนารมณ์ตนเอง ด้วยความคิดแข็งตัวว่าด้วยเสรีภาพ จึงสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออก ระหว่างสื่อกับรัฐและกลุ่มการเมือง ขณะท่องคาถาเสรีภาพ บางกลุ่มบางคนก็ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กลุ่มอำนาจ กลุ่มการเมือง หรือยืนอยู่กับกลุ่มใดๆกลุ่มหนึ่ง
อีกด้านหนึ่ง มาจากมิติผู้บริโภคข่าวสาร ในช่วงสังคมการเมือง มีบรรยากาศประชาธอิปไตย มีเสรีภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามเวียดนาม ต่อเนื่องช่วงภาวะเศรษฐกิจไทยขยายตัว จากสังคมเมืองซึ่งเหตุการณ์ดำเนินไปอย่างง่ายๆ ค่อยๆซับซ้อนมากขึ้น การเจริญเติบโตภาคธุรกิจซึ่งมีกลไกเฉพาะ มีความสัมพันธ์อย่างซับซ้อน ระหว่างการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ภายใต้สังคมไทยกำลังเคลื่อนตัวเข้าอยู่ในสังคมโลกมากขึ้นๆ
สังคมไทยเวลานั้น ต้องการสื่อซึ่งสามารถรายงานการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างเป็นสาระมากขึ้นกว่าเดิม
ข้อมูลข่าวสารที่ผู้คนแสวงหา เป็นข้อมูลที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพ ดำเนินธุรกิจ ไปสู่เป้าหมายระดับปัจเจก ผู้คนส่วนใหญ่ในเวลานั้นไม่ได้ใช้สื่อ โดยเฉพาะสิ่งพิมพ์ เป็นสิ่งอ้างอิงอุดมคติทางการเมืองอย่างเข้มข้นเช่นแต่ก่อน
ความขัดแย้งปกคลุมสังคมไทยในเกือบตลอดช่วง 2ทศวรรษที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความสันสนหลายมิติ
ข่าวการเมืองกับข่าวเศรษฐกิจ สื่อดั้งเดิมของไทย พยายามแยกข่าวสาร2ประเภทออกจากกันค่อนข้างเด็ดขาด ตั้งแต่ช่วงต้นๆ มาระยะหลังๆ พยายามผสมผสาน แต่ยังไม่กลมกลืน อิทธิพลแนวคิดทางการเมืองซึ่งถือเป็นโครงสร้าง ความคิดไม่ซับซ้อน พยายามอรรถาธิบาย ปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ บางครั้งข่าวเศรษฐกิจถูกแทรกด้วยข้อสรุปง่ายๆและค่อนข้างตายตัว
ขณะเดียวปรากฏการณ์ข่าวธุรกิจเฉพาะด้าน จากโครงสร้างความคิดอย่างง่าย มองสังคมธุรกิจด้วยมุมมองพื้นๆ พยายามหาข้อสรุปค่อนข้างตายตัว ว่าด้วยความสำเร็จ ความล้มเหลวและผลประโยชน์ บ่อยครั้งจึงไม่สามารถอรรถาธิบายภาพรวม หรือแนวโน้มอย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะมิติว่าด้วยพลังของการจัดการ การเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิต การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ฯลฯ ตลอดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ซึ่งสัมพันธ์กับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคม
รวมทั้ง ไม่สามารถเข้าถึงปรากฎการณ์เชื่อมต่อสังคมไทยกับโลกภายนอก ดังนั้นสื่อต่างประเทศ จึงเข้ามีอิทธิพล ดูเหมือนสื่อดั้งเดิมไทย จะยินยอมอยู่ใต้ร่มเงา
ในภาพใหญ่ ความเชื่อและความหมกหมุ่นดังกล่าว กลายเป็นเกราะกำบังอันแข็งแกร่งในการปรับตัว ขณะที่ธุรกิจสื่อแสวงหารายได้อย่างมากมายได้อย่างไม่เคยมีมาก่อน ทั้งสามารถระดมเงินจากตลาดหลักทรัพย์ และงบโฆษณาสินค้าเพิ่มขึ้นมากในช่วงเศรษฐกิจขยายตัว ว่าไปแล้วควรถือเป็นโอกาสครั้งใหญ่ในการพัฒนาสื่อในมิติกว้างขึ้น เทียบเคียงกับพัฒนาสื่อทั้งในระดับภูมิภาค หรือระดับโลก ด้วยมุมมองกว้างกว่าสังคมไทย ออกจากวังวนสังคมการเมืองได้บ้างบางระดับ ในบางจังหวะเวลา
น่าเสียดาย สื่ออยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางสังคม แต่กลับไม่สะท้อนวิสัยทัศน์ที่ควรเป็น ว่าด้วยวางแผน และ การปรับตัว ตอบสนองการเปลี่ยนแปลง ความผันแปรของสถานการณ์ ซึ่งเกิดขึ้นทั้งเฉพาะหน้าและ ต่อเนื่องจากนั้น
“องค์กรซึ่งมีกระบวนการ(PROCESS) สามารถผลิตความรู้ใหม่ๆจากการทำงาน กลายเป็นเครือข่ายความรู้ทั้งองค์กร เคลื่อนไหว และพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง มีระบบการจัดการข้อมูล ในเครือข่ายของตนเอง ให้มีแลกเปลี่ยน ข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์อยู่ตลอดเวลา ไม่เพียงทำให้สื่อคงมีบทบาทในสังคมต่อไป หากจะพัฒนาไปสู่อนาคตใหม่อย่างต่อเนื่อง ในยุคที่ระบบเครือข่ายของโลกเชื่อมกัน ส่งผ่านข้อมูลข่าวสารถึงผู้บริโภคตามที่ผู้บริโภคต้องการ” ผมเองเคยนำเสนอความคิด อย่างกว้างๆไว้ (ในวาระครอบรอบทศวรรษหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจ ในปี2540) สะท้อนความพยายามที่มีอยู่อย่างไม่มีพลัง ในเวลานั้น
น่าเสียดาย ช่วงเวลาแห่งโอกาส ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ด้วยวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในปี2540 ซึ่งนับว่ารุนแรงมาก แต่ทว่ามีพลังและผลกระทบน้อยกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา นั่นคือกระบวนการหลอมรวมสื่อ ทั้งในสังคมไทย และระดับโลก(ซึ่งกระทบมาถึงสังคมไทยด้วย) ในยุคอินเตอร์เน็ด และDigital technology
—————————————————————–
เหตุการณ์สำคัญ
2528
สมเกียรติ อ่อนวิมล ในนามบริษัท แปซิฟิก อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น บุกเบิกรายการข่าวทางทีวี ช่อง 9 อ.ส.ม.ท.
2531-2534
—สื่อสิ่งพิมพ์ไทย พาเหรด เข้าตลาดจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ( เนชั่น ปี2531 มติชน และผู้จัดการ ปี2532 วัฏจักร และ ตงฮั้ว ปี2534)
—ทีวีไทยทุกช่อง พัฒนาเครือข่ายทั่วประเทศ ในความพยายามเสนอรายการเดียวกันกับ ผู้ชมในกรุงเทพและปริมณฑลฯ
2535
เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ กระตุ้นแนวคิดใหม่
— ผู้คนในเมืองหลวง มองเห็นและ เข้าใจ อำนาจอันพลังเกี่ยวกับ ระบบสือสาร และข้อมูลข่าวสาร โดยปัจเจกชน ผ่านโทรศัพท์มือถือ
–ก่อเกิดแนวคิดทีวีเสรี
2538
ประมูลหาผู้รับสัมปทานทีวีช่องใหม่ในระบบยูเอซเอฟ มีสื่อสิ่งพิมพ์เข้าร่วมหลายราย ทั้ง เนชั่น มติชน เดลินิวส์ ฯ แต่ปรากฏว่า กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ชนะประมูล โดยใช้เชื่อ ไอทีวี ทั้งนี้มีการเปลียนแปลงหลายครั้ง ในความร่วมมือกับสือสิงพิมพ์ ต่างกรรม ต่างวาระ
2540
วิกฤติการณ์เศรษฐกิจกระทบสื่อ ไอทีวีขาดทุนอย่างหนัก
2542
วัฏจักร ถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์
2543
–ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ดึงกลุ่ม ชินคอร์ปเข้ามาถือหุ้นใหญ่ไอทีวี
—เนชั่นทีวี เริ่มส่งสัญญาณทางช่อง 8 ของระบบทีวีบอกรับ–ยูบีซี
2551
—สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดตั้งโดยรัฐบาล เข้าแทนที่ไอทีวี
— ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้บริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป(เจ้าของสื่อ”ผู้จัดการ” ) ล้มละลาย
2557
ทีวีดิจิตอล เกิดขึ้นมากถึง 48 ช่อง
2559
(กุมภาพันธ์) เพิกถอนใบอนุญาติทีวีดิจิตอลรายหนึ่ง เป็นรายแรก
——————————————————————-
ระยะผ่าน
(1)
แม้สื่อดั้งเดิมไทย ได้ก่อร่างสร้างฐานอย่างจริงจังมาเพียง 3 ทศวรรษ ถือว่ายังเยาว์วัย แต่ดูหมือนเป็นองค์กรที่มีความสามารถในการปรับตัวอย่างจำกัด
สื่อดั้งเดิม โดยเฉพาะสิ่งพิมพ์ กับทีวี มีโครงสร้างภายในคล้ายๆกัน อยู่ในกรอบค่อนข้างไม่ยืดหยุ่นเท่าที่ควร
—สื่อสิ่งพิมพ์ เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมแขนงหนึ่ง ด้วยระบบและเทคโนโลยีการพิมพ์ เชื่อกันว่าในช่วง 2-3 ทศวรรษมานี้ ไม่ค่อยได้ปรับปรุง จึงกลายเป็นว่าอยู่กับเทคโนโลยีค่อนข้างเก่าและล้าสมัย กระบวนการผลิตอยู่ภายใต้กรอบค่อนข้างใช้เวลาและตายตัว เพื่อส่งต่อไปยังระบบการจัดจำหน่ายที่ล้าสมัย มีลักษณะกระจัดกระจาย เพื่อเข้าสู่ตลาดกว้างๆ ไม่สามารถเข้าถึงผู้อ่านอย่างเจาะจง เป็นระบบอ้างอิงกับผู้นำตลาดฐานกว้าง โดยระบบดังกล่าว สินค้าจึงเหลือจากการจำหน่ายจำนวนพอสมควร ทั้งไม่มีระบบติดตามและรายงานข้อมูลการขาย เพื่อใช้ในการปรับแผนการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ
–ทีวี โดยเฉพาะข่าว เป็นเพียงโปรแกรมมีสัดส่วนในระบบแชร์เวลาไม่มากเลย ขั้นตอนในการผลิต กับเวลาออกอากาศที่กำหนดไว้ เป็นความสัมพันธ์ค่อนข้างตายตัว ดูจะมีความสำคัญมากกว่าความเป็นไปของสถานการณ์ แม้ว่าระยะหลังๆจะพยายามให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทั้งนี้สื่อทีวีมีบุคลิกแตกต่างจากสื่อสิ่งพิมพ์ในมติ ว่าด้วยสื่อภายในระบบสัมปทานของรัฐ การนำเสนอข่าว ย่อมอยู่ภายใต้ระบบที่เรียกว่า Self-censorship อย่างเข้มงวด
ที่สำคัญ ทีมงานที่เรียกว่า กองบรรณาธิการ มีโครงสร้างการบริหารอย่างหลวมๆ ขึ้นกับตัวบุคคล ความชำนาญและคุณค่าที่แท้จริงจึงอยู่กับตัวบุคคล โดยไม่มีระบบงานเชื่อมต่อความสามารถ ความชำนาญของปัจเจก สู่ระบบและทรัพย์สินขององค์กรโดยรวม
ทั้งนี้เป็นไปได้ว่า สื่อดั้งเดิมไทยยังเยาว์วัย พัฒนาการยังไม่ไปไกลพอจะสร้างระบบอย่างที่ควรเป็น ว่าไปแล้วเป็นพัฒนาการสอดคล้องกับสังคมธุรกิจไทย โดยธุรกิจครอบครัว เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญ มาตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม บางคนบอกว่าความเป็นไปในโมเดลธุรกิจครอบครัวอย่างฝั่งแน่นนี่เอง มีส่วนสำคัญก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งรุนแรงกว่าที่ควรจะเป็น ผมยังไม่ปักใจเชื่อนัก หวังว่าจะมีการศึกษาวิจัยกันอย่างจริงจังต่อไป
ที่น่าสนใจ ภายใต้การโครงสร้างการทำงานอย่างหลวมๆ กลับมีความเชื่ออันมั่นคง เชื่อว่ากลายเป็นแรงขับเคลื่อนไปค่อนข้างมีแบบแผน สะท้อนถึงงานปลายทาง(สื่อดั้งเดิมให้ความสำคัญเฉพาะงานปลายทาง) อาจจะถือเป็นความมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง การนำเสนอข่าวสารของสื่อดั้งเดิมทั้งหลาย จึงมีรูปแบบและสาระคล้ายคลึงกันอย่างมาก กลายเป็นแบบฉบับที่น่าทึ่ง ทั้งนี้มาจากความเชื่อและแนวทางอ้างอิง โมเดลสื่อดั้งเดิมผู้มาก่อนซึ่งเป็นผู้นำในเวลานั้น จึงเป็นไปได้ว่ากลายเป็น “กลไกเฉพาะ” ที่มองไม่เห็น คอยกำกับสภาวะการแข่งขัน รายใหม่ๆ จึงเกิดขึ้นได้ยากกว่าที่ควรจะเป็น
ความจริง มีแรงกดดันพอสมควร ให้สื่อดั้งเดิมปรับตัวมาแล้ว ตั้งแต่ช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น ก่อนวิกฤติการณ์ปี2540 โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์
–ว่าด้วย หนังสือพิมพ์รายวันระดับประเทศหรือNational newspaper เป็นแรงกดดันข้างเคียงมาจากสื่อทีวี ในช่วงเวลานั้นได้ขยายเครือข่ายทั่วประเทศ สื่อสิ่งพิมพ์ แสดงความพยายามใช้ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม เพื่อการจัดพิมพ์ให้หนังสือพิมพ์รายวัน มีเนื้อหาเดียวกันกับฉบับกรุงเทพ และสามารถจัดจำหน่ายในเวลาเดียวกัน แต่ทำได้เฉพาะหัวเมืองใหญ่ๆในบางระดับเท่านั้น เป็นความพยายามที่ค่อนข้างยากลำยาก และมีอุปสรรคมากมาย จนไม่ถือเป็นความสำเร็จ
—ข่าวระหว่างวัน ความเป็นไปสังคมธุรกิจไทยโดยเฉพาะการเติบโตตลาดหุ้น การรายงานข่าวระหว่างวัน ระหว่างเวลาการซื้อขายหุ้น มีความจำเป็นมากขึ้น สื่อสื่อพิมพ์ จึงมีความพยายามสร้างหน่วยงานที่เรียกว่า สำนักข่าว เพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว โดยแฉพาะความร่วมมือกับสถานทีวิทยุ เป็นช่วงเวลาเดียวกัน สื่อสิ่งพิมพ์ มีมุมมองกว้างขึ้น ไปสู่โมเดลข้ามสื่อ จากสิ่งพิมพ์สู่วิทยุและทีวี
สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ ความพยายามดังกล่าว โครงการดังกล่าว ส่วนใหญ่ไม่ได้มากระบวนการทำงานภายใต้โครงสร้างกองบรรณาธิการเดิม หากเป็นทีมงานใหม่ ลงทุนใหม่ ซึ่งดูไปแล้วเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าในเชิงธุรกิจ
ระบบกองบรรณาธิการ( Editorial system) เวลานั้นเป็นคำใหม่ ถูกกล่าวถึงในวงแคบๆ ทั้งนี้เกิดขึ้นเกี่ยวเนืองกับเทคโนโลยี่ใหม่ สื่อสิ่งพิมพ์ไทยเข้าสู่ขั้นตอนใหม่กับบ้างแล้ว —ระบบก่อนพิมพ์ที่เป็นติจิตอล (Digital pre-press process)
“วัตุประสงค์เบื้องต้น การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารจากระบบงาน อย่างทันท่วงที เปิดกว้าง และทั่วถึง ภายในกองบรรณาธิการ …กระบวนการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารดังกล่าว นอกจากจะเป็นการติดตามสถานการณ์อย่างทันท่วงทีแล้ว ยังสนับสนุนการระดมความคิด ค้นคิด พัฒนาข้อมูลข่าวสาร เพื่อนำเสนอตามช่องทางต่างๆอย่างเหมาะสม” แนวคิดดังกล่าวนำเสนอเมื่อปี 2537 เรียบเรียงจากหนังสือ “Information architect” โดย วิรัตน์แสงทองคำ (จัดพิมพ์ปี 2551เพื่อแจกเฉพาะกลุ่ม ไม่ได้วางจำหน่าย)
แนวความคิดดังกล่าวมา พร้อมกับการมองภาพธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์แตกต่างจากอดีต มองข้ามจากธุรกิจสิ่งพิมพ์( Print media) ไปสู่ภาพใหญ่ขึ้น เรียกว่า อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสาร(Information industry) โดยนำเสนอแนวทางค่อนข้างชัดเจน เป็นแผนการสร้างคุณค่าข่าวสารทั้งในมิติเวลา—จากข่าวเวลาจริง(Real time )จนถึงระบบข้อมูลย้อนหลัง(Archive ) และมิติประเภทสื่อ จากสิ่งพิมพ์(print) สู่สื่อหลากหลาย(multi media)
แนวคิด แนวทางเมื่อ2 ทศวรรษที่แล้วข้างต้น เชื่อว่าสอดคล้องกับแนวทางในปัจจุบัน ตามแผนการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ด้วยการรื้อโครงสร้างเดิม ภายใต้สถาการณ์ปัจจุบัน มองว่ามีความจำเป็นมากขึ้นๆ โดยเฉพาะสื่อดั้งเดิม รายที่ยังไม่ได้ปรับตัว ควรเดินหน้าเข้าสู่สถานการณ์ใหม่อย่างเต็มตัว
ภายในสถานการณ์ใหม่ ยุคอินเตอร์เน็ต และเทคโนโลยี่ดิจิตอล ซึ่งตกผลึกมากแล้ว ว่ากันว่าเป็น“ชิ้นส่วน”ของภาพใหญ่ระดับโลก สู่ขั้นตอนที่เรียกว่า “การปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่4” หรือ Fourth industrial revolution (หัวข้อสำคัญ ในงานชุมนุมของบรรดานักนักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจ ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ -การประชุมประจำปีว่าด้วยเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum 2016 ระหว่างวันที่ 20-23 มกราคม 2559)
ระบบที่ว่านั้น บางกรณี เรียกว่า Web First Publishing (หากสนใจโปรดอ่าน The Transition To Digital / Advance Media Institute ,Journalism Graduate School of Journalism ,University of California, Berkeley –https://multimedia.journalism.berkeley.edu) บ้างก็เรียกกว้างขึ้นว่า Digital-first publishing เข้าใจว่ากันเรียกกันโดยทั่วไป (แต่กรณีนี้อ้างมาจาก http://www.pwc.com/)
โมเดลการปรับตัวของสื่อดั้งเดิมในโลกตะวันตก เกิดขึ้นมาแล้วประมาณ5 ปีมานี้เอง ให้ความสำคัญกับการนำเสนอข่าวสารผ่านโลกอินเตอร์เน็ต ไม่ใช่แค่เปิดwebsite ขึ้นอย่างฉาบฉวยเช่นสื่อดั้งเดิมของไทยทำ หากปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานใหม่ แบบกลับหัวกลับหาง(reverse publishing ) ในการรายงานข่าว(reporting) ผลิตข้อความ(text) นำเสนอเรื่องมัลติมีเดีย(multimedia stories) สำหรับwebsite ก่อนจะนำเสนอสำหรับสื่อสิ่งพิมพ์(print edition )ต่อไป ขณะที่บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลก มองลึกถึงกลไกภายในสำคัญอีกชั้นหนึ่ง เรียกว่า Content management systems (CMS)
เชื่อว่าเป็นแนวทางสากล ใช้กับสำหรับสื่อดั้งเดิมของไทยได้
(2)
สื่อดั้งเดิมโดยเฉพาะจากฐานธุรกิจสิ่งพิมพ์ กับทีวี กำลังอยู่ในช่วงความพยายามในการปรับตัว ปรับกระบวนการทำงาน ใน2มิติ ทั้งระบบภายใน และระบบซึ่งสัมพันธ์กับผู้ติดตาม
เริ่มต้นจากโมเดลใหม่ที่เรียกว่า Digital-first publishing ภายใต้ Digital technologyก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง
ความจริงแล้ว Digital-first publishing มีความต่อเนื่องมาจากแนวทางก่อนหน้าสัก2 ทศวรรษ หรือก่อนยุคอินเตอร์เน็ต แนวความคิดดังกล่าว มองภาพธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์แตกต่างจากอดีต มองข้ามจากธุรกิจสิ่งพิมพ์( Print media) ไปสู่ภาพใหญ่ขึ้น เรียกว่า อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสาร(Information industry) โดยนำเสนอแนวทางค่อนข้างชัดเจน เป็นแผนการสร้างคุณค่าข่าวสาร นำเสนอทั้งในมิติเวลา—จากข่าวเวลาจริง(Real time)หรือการถ่ายทอดสด(Live) จนถึงระบบข้อมูลย้อนหลัง(Archive ) และผ่านสื่อต่างๆ จากสิ่งพิมพ์(print) สู่วิทยุ (broadcast ) หรือจอทีวี หรือคอมพิวเตอร์ด้วยสื่อผสมอย่างหลากหลาย(multi media) ทั้ง ข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว
ภายใต้กระบวนการทำงานใหม่ ทั้งแนวทาง ขอบเขตและกรอบแบบดั้งเดิมอันเป็นมรดกตกทอด(Legacy) กำลังทะลายลง
–นิยามและและความหมาย ได้หลอมรวมกัน ทั้ง “ข่าวสาร” กับ “ข้อมูล” ด้วยมุมมองเชือมโยง เหตุการณ์ สถานการณ์ กระแส และแนวโน้ม ในมิติต่างๆของสังคม ทั้งมีเชื่อมโยงกับโลกภายนอกมากกว่าอดีต
–หลอมรทั้งลักษณะและแบ่งงาน ไม่มีการแบ่งแยก ข่าว เหตุการณ์ ตามกระแส อย่างกะทัดรัด ในหนังสือพิมพ์รายวัน วิเคราะห์มากขึ้นในสื่อรายสัปดาห์ นำเสนอเรื่องราวอย่างเป็นระบบ เรื่องยาว เป็นการเฉพาะ(Exclusive) ในนิตยสารสารรายเดือน อะไรทำนองนั้น
กล่าวอย่างกว้างๆ คือต้องหลอมรวมกระบวนการทำงานสื่อสิ่งพิมพ์ดั้งเดิม เคยแบ่งประเภทตามเนื้อหาต่างๆออกจากกัน ให้เข้ามาอยู่ด้วยกัน ทั้งข่าวการเมือง เศรษฐกิจ ธุรกิจ (รวมทั้งหุ้น) สังคม ไลฟ์สไตล์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ในอีกด้านควรอ้างอิงโมเดลทีวีดาวเทียมยุคปัจจุบัน ซึ่งมีรูปแบบและเนื้อหาหลากหลาย แตกต่างกันมากขึ้นกว่าเดิม ไม่มีเพียงCNN หรือ BBC หากมีCBBC, Bloomberg รวมทั้ง National geography, Discovery, History ฯลฯ แม้กระทั่ง Life Inspired หรือLI ซึ่งเป็นของธุรกิจมาเลเซีย เชื่อว่าสัมพันธ์กับมุมมองเกี่ยวกับวิถีชีวิตในสังคมระดับภูมิภาค
เบื้องต้นDigital-first publishing คือการหลอมรวมทั้งโมเดลดั้งเดิมจากธุรกิจสิ่งพิมพ์และทีวีข้างต้นเข้าด้วยกัน ภายใต้ความชำนาญของระบบบรรณาธิการ ด้วยมุมมองเชื่อมโยงสังคมเข้า กับยุทธศาสตร์และรูปแบบธุรกิจเป็นตัวของตัวเอง (Unique) กระบวนทำงานดำเนินไปอย่างยืดหยุ่น บูรณาการและทันกาล มิใช่แบ่งงาน แบ่งระดับความยากง่าย แบ่งพื้นที่กันทำอย่างแข็งตัวเช่นในอดีต
มีบางข้อสังเกตุควรกล่าวถึง—สังคมไทยมีความเป็นไปเป็นพลวัตร เชื่อมโยงกับ“การเมือง”มากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ต้องนำเสนอข่าวการเมืองอย่างท่วมท้น จนมองข้ามมิติเกี่ยวข้องอื่นๆ มุมมองว่าด้วยเสรีภาพทางความคิด เชื่อว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำงานของสื่อไม่ว่ายุคใด หากแต่อ้าง “การจำกัดเสรีภาพ”ในยุครัฐบาลทหาร เป็นข้ออ้างเป็นข้อจำกัดในการปรับตัว การทำงานทีมีผลงานคุณภาพ ย่อมสะท้อนความล้าหลังด้วยเช่นกัน
อีกด้านหนึ่ง สังคมไทยมีพลวัตร เชื่อมโยงกับโลกภายนอกมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน ในภาพกว้างสื่อเชื่อมโยงกันในระดับโลกอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน แต่บางกรณีสื่อดั้งเดิมไทย ยังมีความเชื่อและพึ่งพาโครงสร้างดั้งเดิม เมื่อมองผ่านกรณีหนึ่ง เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้
กลุ่มทีซีซี(ไทยเจริญฯ)ของเจริญ สิริวัฒนภักดี เข้าซื้อกิจการBig C(ในประเทศไทย) จาก GROUPE CASINO แห่งฝรั่งเศส เมือสื่อไทยไม่สามารถเข้าถึงความเคลื่อนไหวผ่านทางกลุ่มทีซีซีได้โดยตรง มักอ้างอิงและแปลข่าวจากสื่อระดับโลกอีกทอดหนึ่ง แท้จริงกรณนี้ สื่อระดับโลก(กรณีนี้อ้างถึงWall Street journal) ได้อาศัยข้อมูลข่าวสารพื้นฐานสามารถเข้าถึงได้ทั่วไป รวมทั้งสื่อไทยด้วย นั่นคือwebsiteของ GROUPE CASINO (http://www.groupe-casino.fr/en)
การเข้าถึงข้อมูลข่าวมีความเป็นไปมีมากขึ้น มีความเท่าเทียมกันมากขึ้นในระดับโลก (มิฉะนั้นในปัจจุบัน คงไม่มีปัจเจกตั้งตนเป็นสื่อ เป็นคู่แข่งสื่อดั้งเดิมกันอย่างมากมาย) ทั้งนี้สื่อดั้งเดิมต้องปรับความคิด ปรับกระบวนการทำงานกันพอสมควร
ความจริงแล้ว สื่อมีความสัมพันธ์ กับสังคม กับปัจเจกในฐานะผู้อ่าน ผู้ติดตาม ผู้บริโภค อย่างลึกซึ้งมานานแล้ว สื่อมีอิทธิพลต่อความคิด ความเห็น ความรู้สึกนึกคิด จนถึงพฤติกรรมการบริโภค มากกว่าสินค้าใดๆ แต่ในยุคเก่า ความสัมพันธ์อยู่ในรูปแบบค่อนข้างจำกัด ไม่มีปฎิสัมพันธ์อย่างกว้างขวางเช่นปัจจุบัน
สื่อสังคม หรือ Social media ได้เปิดพื้นที่ใหม่ๆนำเสนอและสื่อสารด้วยข้อมูล ข่าวสารและเนื้อหาต่างๆ มาจากแนวคิดและกระบวนการทำงานแตกต่างจากสื่อดั้งเดิม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Consumer-Generated Media (CGM) ในด้านหนึ่งถือเป็นคู่แข่ง แต่อีกด้านหนึ่งสามารถผนึกรวมเข้ากับกระบวนการปรับตัวสื่อดั้งเดิม (ตามโมเดล Digital-first publishing) ได้อย่างเหลือเชื่อ โดยเฉพาะการสร้างความสัมพันธ์กับสังคมกับผู้ติดตามได้อย่างกว้างขวาง และซับซ้อน
ในกรณีนี้จะไม่กล่าวถึง Social media marketing ในความหมายทางธุรกิจทั่วไป หากมุ่งไปยัง “กรณีตัวอย่าง” เกี่ยวกับ Content เป็นสำคัญ
—ติดตามความเคลื่อนไหว กฏพื้นฐานที่สุดข้อหนึ่งใน Digital-first publishing ทีมข่าวต้องอยู่ในโลก Social media เพื่อติดตามข่าวสาร กระแสความสนใจ เป็นกระบวนการแสวงหาความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร นำมาซึ่ง “ไอเดีย”เบื้องต้น ในการการนำเสนอข่าวสารที่มีคุณค่า มีความกมายมากขึ้น
—สร้างความสัมพันธ์กับผู้ติดตาม ทั้งนี้ผ่านทั้งกลไกมาตรฐานSocial media ในปัจจุบัน รวมทั้งใช้ เป็นแนวทางในการพัฒนา เพื่อการสร้างPlatform ของตนเองอย่างเจาะจงมากขึ้น กระบวนการดังกล่าว นอกจากเป็นข้อมูลในการปรับปรุงการทำงาน ยังสร้างเนื้อหา(Content)ใหม่ได้ด้วย กรณีอ้างอิงคือ Google map
เช่นเดียวกับกรณี ความเห็น(Comment) Social media ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้ผู้อ่าน ผู้ติดตาม สามารถมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกันจำเป็นต้องมีวิธีการบริหารจัดหาเพื่อให้ได้มาซึ่งเนื้อหาที่เป็นระบบกว่าที่เป็นอยู่ จนกลายเป็นเนื้อหาที่มีคุณค่ามากขึ้น โดยเฉพาะการข้ามเข้าสู่ระบบแชร์ ข่าวสาร เหตุการณ์ ทั้งข้อความ ภาพและคลิปวีดีโอ เนื้อหาจากผู้อ่านผู้ติดตามหรือ Consumer-Generated Media (CGM) ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญ
—สร้างเครือข่าย ผมเองจำได้ว่า ปี2538 เมื่อเปิด websiteข่าวครั้งแรกในประเทศ emailฉบับแรกๆมาจากคนไทยในต่างประเทศเพื่อขอเข้ามาเป็นผู้สื่อข่าว เชื่อว่าโมเดลนี้ยังใช้ได้ สามารถปรับรูปแบบต่างๆอย่างหลากหลาย
ผมสนใจApp ในโลกDigital technology ซึ่งมีท่วมท้น ประหนึ่งการเข้าร้านเลือกซื้อจักรยาน ไม่สนใจเพียงความทันสมัย หากให้ความสำคัญ เลือกจักรยานเพื่อนำทางไปสู่เป้าหมายของตนเอง
(มาจากต้นแบับเพิ่งตีพิมพ์ใน”ประชาชาติธุรกิจ” เมษายน2559 )