กรณีปตท. จะดำเนินธุรกิจโรงแรม ดูเป็นเรื่องสลักสำคัญ
(1)
เกี่ยวกับปตท.
ปตท.เปิดแผนการธุรกิจโรงแรมโดยผู้บริหารหน่วยธุรกิจน้ำมัน ย่อมถือเป็นเรื่องจริงจัง
“ปตท. กำลังเจรจากับเครือโรงแรม 3-4 แห่ง เพื่อหาพันธมิตรร่วมพัฒนาธุรกิจโรงแรมราคาประหยัด (budget hotel) ในสถานีบริการน้ำมันของปตท. ซึ่งมีประมาณ 50 แห่งจากทั้งหมด 1,400 แห่ง เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นโรงแรมได้ภายใน 5 ปีข้างหน้า” นั่นคือ สาระสำคัญ ปรากฏตามสื่อต่างๆ
เมื่อพิจารณาข้อมูลพื้นฐานธุรกิจปตท.(จากรายงานประจำปี2558) พบว่า มีรายละเอียดบางอย่างควรขยายความ เพื่อให้เห็นภาพความเป็นไปของสถานีบริการน้ำมัน “ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 ปตท. มีสถานีบริการรวม 1,450 แห่งทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 6.1ของสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ นอกจากนี้ได้ขยายสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ในต่างประเทศจำนวน 26 แห่ง อาทิ PTT Life Station ณ เสียมเรียบ กัมพูชา และ PTT Life Station ณ หลวงพระบาง สปป.ลาว เป็นต้น…. ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 ปตท.มีการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายในธุรกิจค้าปลีกได้แก่ ร้านค้าสะดวกซื้อ 7-Eleven 1,245 แห่ง เพิ่มขึ้น100 แห่ง จากปี 2557 ร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน1,437 แห่ง เพิ่มขึ้น 240 แห่ง จากปี 2557 ธุรกิจยานยนต์121 แห่ง ลดลง 22 แห่ง จากปี 2557 และในเดือนธันวาคม 2558 ปตท. สามารถบรรลุข้อตกลงกับ Texas Chicken และเริ่มดำ เนินธุรกิจในประเทศไทย โดย ปตท.เป็น Master Franchise และได้เปิดตัวสาขาแรกที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต”
จากภาพใหญ่ ความสำคัญหน่วยธุรกิจน้ำมัน พิจารณารายได้ มีเพียง15-16%ของรายได้ทั้งหมด (ปตท.มีรายได้รวมประมาณสองล้านล้านบาท) แต่ความสามารถในการทำกำไร ดูจะมีมากกว่าธุรกิจหลักอื่นๆ โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมาด้วยแล้ว หน่วยธุรกิจสำคัญอื่นๆ โดยเฉพาะปตท.สผ.และธุรกิจถ่านหิน ต้องเผชิญปัญหาสินทรัพย์ด้อยค่าลงอย่างมหาศาล อันเนื่องมาจากการลดลงของราคาน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจย่อยลงไปอีกของหน่วยธุรกิจน้ำมัน ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ แม้แต่สารคณะกรรมการ(โดย ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ และเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ )ซึ่งปรากฏในรายงานประจำปี(อ้างถึงข้างต้น) ยังนำเสนอเรื่องดูไม่ใหญ่โต อย่าง “การเปิดตัวแบรนด์ Texas Chicken การร่วมธุรกิจกับ Daddy Dough และการขยายธุรกิจแฟรนไชส์ของคาเฟ่อเมซอน” เอาไว้ด้วย
ที่เป็นเช่นนั้น ควรมีเหตุผลอยู่พอสมควร
กิจการพลังงานของไทย ซึ่งได้ก้าวขึ้นสู่ทำเนียบธุรกิจระดับโลกอย่างแท้จริงไปแล้ว เป็นกิจการขนาดใหญ่ มีกลุ่มธุรกิจเกี่ยวข้องอย่างหลากหลายและกว้างขวาง มีสินทรัพย์และรายได้มากที่สุดอย่างที่ไม่มีบริษัทไทยเคยทำได้มาก่อน แต่ภาพนั้นสัมผัสได้อย่างจำกัด เฉพาะนักลงทุนในตลาดหุ้น และแวดวงธุรกิจ
ภาพที่เป็นจริงว่าด้วยความสัมพันธ์กับสังคมไทย สาธารณะชนหรือผู้บริโภควงกว้าง ซึ่งสัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรม เชื่อว่ามาจากการมองผ่านเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ
ปตท.เองดูเหมือนภูมิใจอย่างมาก เกี่ยวกับพัฒนาการสถานีบริการน้ำมัน ด้วยเชื่อว่าให้ภาพความเป็นผู้นำธุรกิจ ผู้นำแนวโน้มและกระแส โดยเฉพาะให้ภาพความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กับพฤติกรรมผู้บริโภคสมัยใหม่ ภาพลักษณ์สถานีบริการน้ำมันปตท. น่าตื่นเต้น และจับต้องได้อย่างแท้จริง
ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
คำว่า “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ปตท.กล่าวถึงไว้อย่างตรึงใจ มาจากเหตุการณ์เคยเกิดขึ้นเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว เมื่อปตท.เข้าร่วมประมูลซื้อเครือข่ายCarrefourในประเทศไทย แต่ต้องเผชิญแรงต้านอย่างหนัก ถึงขั้นลามไปถึงที่ประชุมคณะรัฐมนตรี “เนื่องจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญของ ปตท. หลายราย มีความเห็นว่า ปตท. ไม่ควรเข้าไปประมูลแข่งขันในครั้งนี้ ดังนั้น ปตท. จึงจะ ไม่เข้าร่วมในการประมูลดังกล่าวต่อไป” บทสรุปจากคำแถลงของปตท.ครั้งนั้น(21 กันยายน 2553) ยังจำได้ดี
เป็นที่รู้กันว่า คู่แข่งในการประมูลครั้งนั้น ประกอบด้วยเครือข่ายธุรกิจใหญ่ของไทย ทั้งซีพี ทีซีซี และเซ็นทรัล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซีพี ถือเป็นพันธมิตรธุรกิจสำคัญของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกน้ำมันปตท. เครือข่ายร้านสะดวกซื้อ7-Eleven (บริษัทซีพีออลล์) เป็นองค์ประกอบหลักในโมเดลสถานีบริการน้ำมันใหม่ของปตท.มาตั้งแต่ต้น
คำแถลงดังกล่าวยังได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาสถานีบริการน้ำมันไว้อย่างน่าสนใจด้วย เชื่อว่าเป็นความพยายามขยาย “จินตนาการ”ใหม่ๆให้กว้างขึ้นกว่าเดิม
“มีการศึกษาแนวโน้มการทำธุรกิจค้าปลีกน้ำมันในต่างประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย พบว่า การทำธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเพียงอย่างเดียว (Stand Alone) มีแนวโน้มลดลง และเริ่มปรับเปลี่ยนเป็นการจัดตั้งสถานีบริการน้ำมันควบคู่ไปกับธุรกิจ Hypermarket เพื่อเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน….ปตท.สามารถใช้เครือข่าย Hypermarket ในการสนับสนุนสินค้าของคนไทย และของชุมชน รวมทั้งส่งเสริมธุรกิจค้าปลีกรายย่อยของคนไทยให้เข้มแข็งและเติบโตไปพร้อมกันได้ด้วย” (บางส่วนของคำแถลง 21 กันยายน 2553)
ว่าด้วยแผนการธุรกิจโรงแรมในสถานีบริการน้ำมัน เชื่อว่า ปตท.ได้ศึกษาแนวโน้มธุรกิจมาอย่างรอบคอบ รวมทั้งบทเรียนมาจากกรณีกล่าวถึงข้างต้นด้วย ดังนั้นเป็นไปได้ว่า จึงเป็นที่มาโมเดลร่วมทุนกับพันธมิตรธุรกิจ โดยเฉพาะกับธุรกิจโรงแรมรายใหญ่ซึ่ง “มีปากมีเสียง” ในสังคมธุรกิจไทย
ธุรกิจโรงแรมไทยเอง ได้ปรับตัวอย่างไม่หยุดยั้งเช่นกัน ท่ามกลางการแข่งขันทางธุรกิจอย่างดุเดือด การเข้ายึดและเบียดเสียดกันในทำลที่ดีจนแทบไม่มีที่ยืนเหลืออยู่ แนวโน้มการขยายตัวสู่พื้นที่หัวเมืองใหญ่มีมากขึ้นๆเป็นลำดับ ซึ่งเป็นไปตามกฏว่าด้วย “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก”ด้วย ได้สร้างปรากฏการณ์ สร้างกระแสอย่างเป็นระลอกคลื่นอย่างต่อเนื่อง เริ่มขึ้นเมื่อ2 ทศวรรษที่แล้ว การสร้างเครือข่ายการค้าด้วยตนเองของธุรกิจยักษ์ใหญ่กรุงเทพฯ เข้าแทนที่ “ตัวแทน”ท้องถิ่น จนมาถึงขบวนการค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern trade) เข้าแทนที่การค้าปลีกดั้งเดิม (ร้านโชห่วย) และเชื่อว่าธุรกิจโรงแรมของผู้ประกอบท้องถิ่นกำลังเผชิญแรงบีบคั้นดังกล่าวแล้วเช่นกัน
ปตท.กับโมเดลสถานีบริการน้ำมัน กำลังเดินตามปรากฏการณ์ข้างต้น ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เช่นเดียวกับความเป็นไปของสถานีบริการน้ำมัน ปัจจุบันได้กลายเป็นพื้นที่ใหม่ โอกาสใหม่ สำหรับบรรดาเครือข่ายร้านค้าแบรนด์ระดับโลกและระดับประเทศ โดยกำลังเข้าแทนที่ร้านค้าย่อย ท้องถิ่น มากขึ้นๆ “สินค้าของคนไทย และของชุมชน รวมทั้งส่งเสริมธุรกิจค้าปลีกรายย่อยของคนไทย” ถ้อยแถลงปตท.เคยกล่าวเมื่อปี2553 (อ้างแล้ว) คงเป็นอดีตไปแล้วเช่นกัน
ส่วนวิสัยทัศน์ปัจจุบันที่ว่า “จะเป็นบริษัทพลังงานไทยข้ามชาติชั้นนำในปี 2563 พร้อมสร้างความสมดุลต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยมีพันธกิจในการจัดหาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติให้คนไทยมีใช้อย่างเพียงพอต่อความต้องการของประเทศในอนาคต พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางปิโตรเลียมให้ประชาชนอย่างทั่วถึง บริหารจัดการให้ราคาเหมาะสมเป็นธรรมเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศอย่างยั่งยืน พร้อมสร้างศรัทธาและความภูมิใจให้กับประชาชนคนไทยในการเป็นบริษัทพลังงานของชาติ และเติมเต็มกลไกทางธุรกิจที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย” (บางส่วนใน “สารคณะกรรมการ” อ้างแล้ว)
ผมเองไม่แน่ใจนักว่า ภาพลักษณ์ปตท. เมื่อมองผ่านสถานีบริการน้ำมัน จะสอดคล้อง และสัมพันธ์ กับคำกล่าวข้างต้นหรือไม่
(2)
ปตท. เป็นผู้นำ เป็นผู้สร้างโมเดลใหม่สถานีบริการน้ำมัน
“ภายใต้แนวคิดPTT Life Station สามารถตอบสนองวิถีชีวิตของผู้บริโภคยุคใหม่ได้อย่างครบครัน (One Stop Service) อีกทั้งยังมีการสร้างสรรค์ธุรกิจค้าปลีกใหม่ ๆ ที่ ปตท.เป็นผู้ดำเนินการเอง รวมถึงการแสวงหาพันธมิตรของธุรกิจ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการร่วมกัน”
คำอรรถาธิบายว่าด้วยสถานีบริการน้ำมันปตท.ข้างต้น (คัดมาจากรายงานประจำปี 2558) มีความหมายกว้างๆดูสอดคล้องกับสิ่งที่กล่าวไว้ตอนต้นๆ “ภาพที่เป็นจริงว่าด้วยความสัมพันธ์กับสังคมไทย สาธารณะชน หรือผู้บริโภควงกว้าง… ความเป็นผู้นำธุรกิจ ผู้นำแนวโน้มใหม่สู่ความทันสมัย โดยเฉพาะให้ภาพความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กับพฤติกรรมผู้บริโภคสมัยใหม่”
แท้จริงแล้ว มีความหมาย มีเรื่องราวมากมาย เริ่มต้นตั้งแต่ก่อตั้งปตท. เมื่อกว่า3 ทศวรรษเลยทีเดียว
ช่วงแรก—สร้างแบรนด์ปตท.หรือPTT (ออกแบบตราสัญลักษณ์ ขึ้นทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าหลัก) เมื่อปี2524 เป็นแบรนด์ ซึ่งผู้คนทั่วไปเข้าถึงได้ ผ่านบริการที่สถานีบริการน้ำมัน ซึ่งขยายเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง
ช่วงที่สอง—ใช้เวลากว่าทศวรรษ(ราวปี 2536) ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันปตท.ผ่านสถานีบริการ ได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาด ซึ่งมีความหมายสำคัญมากๆ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ผู้ค้าปลีกน้ำมันท้องถิ่นเอาชนะเครือข่ายธุรกิจระดับโลก (Shell, Esso และ Caltex) ซึ่งยึดครองตลาดมายาวนานตั้งแต่ยุคอาณานิคม แม้ว่ามีบางบริบท บางกติกา รัฐเอื้อประโยชน์ต่อปตท. (ในอีกฐานะ–บริษัทน้ำมันแห่งชาติ ) แต่ปตท.ก็ควรภาคภูมิใจ
ช่วงที่สาม—ช่วงพัฒนาโมเดลใหม่สถานีบริการน้ำมัน ว่าไปแล้วเส้นทางไม่ราบเรียบนัก ในช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองความเป็นผู้นำค้าปลีกน้ำมัน ได้ปรากฏ “แรงเสียดทาน”เล็กๆจากเครือข่ายธุรกิจน้ำมันระดับโลกรายใหม่
ในปี2536 ConocoPhillips (ชื่อขณะนั้น ต่อมาในปี2555 แยกตัวออกมาเป็นPhillips 66) กิจการพลังงานครบวงจรยักษ์ใหญ่ระดับโลก มีฐานที่ Houston สหรัฐอเมริกา มีธุรกิจค้าปลีกด้วย เข้ามาดำเนินธุรกิจสถานีบริการในเมืองไทย ด้วยการเปิดสถานีบริการน้ำมันJet โดยมีร้านสะดวกซื้อ (Convenience Store) ––Jiffy ถือเป็นโมเดลสถานีบริการน้ำมันใหม่ในเวลานั้น จนกลายเป็นผู้กำหนดทิศทางใหม่สถานีบริการน้ำมันในประเทศไทย
ปตท.เองเดินได้ตามกระแสนั้นด้วย แต่ครั้งแรกๆไม่ราบรื่น ในช่วงปี2540ร่วมทุนกับบริษัทเอเอ็มพีเอ็ม (ประเทศไทย) และทิพยประกันภัย(โดยปตท.ถือหุ้น 25%) ตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นเพื่อดูแลร้านค้าสะดวกซื้อในสถานีบริการน้ำมันของปตท. ภายใต้ชื่อAMPM แต่กิจการดำเนินไปไม่ดีนัก เชื่อว่าเกี่ยวข้องและมีผลกระทบจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจด้วย
ช่วงเวลาดังกล่าว ปตท.กำลังเผชิญการปรับตัว ปรับองค์กร เพื่อเข้าตลาดหุ้น(ปี 2544 ) ถือว่าเป็นจังหวะไม่ดีนัก เนื่องจากราคาน้ำมันโลกตกต่ำ แต่ทว่าเป็นเพียงช่วงไม่นานนัก โอกาสอันกว้างขวางและยิ่งใหญ่ก็มาถึง สามารถตั้งหลักอย่างมั่นคง โดดเด่นตั้งแต่ในปี2547
“ปตท.ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากสินทรัพย์ระดับ 3แสนล้านบาทในปี2545 เพิ่มเป็น 9 แสนล้านบาทในปี2547 จากกำไรประมาณ 24, 000 ล้านบาท ในปี2545 เพิ่มเป็นประมาณ 90,000 ล้านบาทในปี 2548-9 ขณะเดียวกันราคาหุ้นจากไม่ถึง 50 บาทในวันเข้าตลาดหุ้นในปลายปี 2545เพิ่มขึ้นทะลุ400 บาทในปี 2547” ผมเคยสรุปภาพนั้นไว้ สะท้อนปตท.ยุคใหม่มาถึง ในฐานะกิจการหลุดพ้นจากสภาพรัฐวิสาหกิจ กลายเป็นบริษัทไทยระดับโลก อาศัยจังหวะเวลาเพียงสั้นๆ อย่างทีไม่เคยมีบริษัทไทยแห่งใดทำได้
แนวคิดร้านสะดวกซื้อในสถานีบริการน้ำมันยังคงเดินหน้า ปตท.จับมือกับพันธมิตรใหม่ ในปี2545ร่วมมือกับ 7-Eleven เครือข่ายร้ายสะดวกซื้อในเครือซีพี ความสำเร็จทางธุรกิจทั้งปตท.กับ ซีพีออลล์ (เข้าของเครือข่าย7-Eleven) ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา เป็นโมเดลสำคัญว่าด้วยพันธมิตรทางธุรกิจ สร้างผลสะเทือนอย่างกว้างขวาง เชื่อว่าเป็นดีลที่ยากจะเกิดขึ้นอีกในสังคมธุรกิจไทย
จากนั้น(2546-2547)ปตท.บุกเบิกร้านกาแฟในสถานีบริการน้ำมัน เปิดตัว Café Amazon อย่างเงียบๆ พร้อมๆ ผุดแนวคิดรูปแบบสถานีบริการน้ำมันใหม่ ตอนนั้นเรียกว่า Pump in the park มีบริการทางการเงินแบบ drive-thru bankingด้วย แห่งแรกเปิดบริการบนถนนวิภาวดีรังสิต จะถือเป็นจุดตั้งต้นที่สัมผัสได้ในโมเดล PTT Life Station ปัจจุบันก็คงได้
ปตท.เดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง โมเดลสถานีบริการน้ำมันใหม่ กลายเป็น“สัญลักษณ์” เชื่อมโยงกับภาพพจน์ปตท.ยุคใหม่อย่างแท้จริง ภาพนั้นต่อเนื่องมาจากบางเหตุการณ์ควรกล่าวถึงด้วย
หนึ่ง-ปี2550 ก่อตั้งบริษัทใหม่– ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก (PTTRM) เข้าซื้อกิจการจาก ConocoPhillips และบริหารกิจการสถานีบริการน้ำมัน Jet และสะดวกซื้อ Jiffy ปัจจุบันมีสาขาประมาณ150 แห่ง ดำเนินกิจการไปอย่างไม่คึกคักนัก ประหนึ่งเป็นที่ที่ ปตท.ศึกษา เรียนรู้ สะสมประสบการณ์และเป็นทางเลือกเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีก แต่ที่สำคัญภาพลักษณ์ สถานีบริการน้ำมัน Jet ดั้งเดิมไม่เหลืออยู่ ไม่สามารถอ้างอิง และเทียบเคียง ความยิ่งใหญ่ของPTT Life Stationได้
สอง–ปี2553 เท่าที่จำได้ปตท.ได้ออกโฆษณาทางทีวีชุดใหม่เกี่ยวกับ PTT Life Station เป็นครั้งแรก ภาพร้านกาแฟ Café Amazon โดดเด่น ในเวลานั้นมีถึง500 แห่งแล้ว (อ้างจาก http://www.cafe-amazon.com/) สามารถกล่าวได้ว่าเป็นเครือข่ายร้านกาแฟที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ
ปัจจุบัน Café Amazon มีเครือข่ายร้านมากกว่า1000แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสถานีบริการน้ำมันปตท. (ขณะที่ Starbucks เครือข่ายร้านกาแฟระดับโลกแห่งสหรัฐฯ เปิดบริการในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2531 ปัจจุบันมีสาขาเพียงประมาณ 170 แห่ง) ความสำเร็จทางธุรกิจในฐานะผู้บุกเบิกร้านกาแฟในสถานีบริการน้ำมัน สร้างปรากฏการณ์ สร้างกระแสใหม่ๆอย่างน่าทึ่ง มีความสำคัญและสนับสนุนโมเดล PTT Life Station เป็นแรงกระตุ้นจินตนาการให้กว้างไกล ดังที่ปตท.อ้างอิงไว้ (กล่าวไว้ตอนต้นๆ) “ตอบสนองวิถีชีวิตของผู้บริโภคยุคใหม่ได้อย่างครบครัน …และสร้างสรรค์ธุรกิจค้าปลีกใหม่ ๆ”
ทั้งนี้มีกรณี โมเดล และเรื่องราวที่น่าสนใจตามมาอีก เช่น
–ปี 2555 ร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ สร้างThe Crystal PTT สถานีบริการน้ำมัน ในคอมมูนิตี้ มอลล์ แห่งใหม่บนถนนชัยพฤกษ์ เปิดบริการแล้วเมื่อปี2557 เป็นจังหวะก้าวเข้าสู่ปรากฏการณ์ใหม่อย่างไม่ลดละ ร่วมมือกับกลุ่มเค.อี.แลนด์ ภายใต้การบริหารของกวีพันธ์ เอี่ยมสกุลรัตน์ ผู้นำกระแสคอมมูนีตี้มอลล์ในกรุงเทพฯ ซึ่งอ้างอิงกับ California style ในฐานะผู้บุกเบิกวิถีชีวิตชุมชนเมืองสมัยใหม่ ที่ถนนเอกมัย-รามอินทราและถนนชัยพฤกษ์
–ปี 2557 เปิดตัวโครงการ PTT Innovation Park Landmark พื้นที่ 30 ไร่ ในพื้นที่ใกล้เคียงสถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามแนวคิด “สถานีบริการน้ำมันแวดล้อมด้วยธรรมชาติ” ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างเป็นการผนวกรวม สถานีบริการน้ำมัน กับคอมมูนิตี้มอลล์ และเชื่อมโยง Landmark ใหม่ (อ้างจาก A49ผู้ออกแบบ– http://www.a49.com/Project/Detail/235) ได้แก่ที่พักริมทาง (rest area) ศูนย์การเรียนรู้ (knowledge centre) และที่แสดงงานศิลปะ (PTT art gallery)
ล่าสุด(2559) เมื่อมีแผนการเชื่อมโยง สถานนีบริการน้ำมันกับธุรกิจโรงแรม ย่อมเป็นเรื่องพอเข้าใจได้
(3)
สถานีบริการน้ำมันปตท. กับธุรกิจโรงแรม มึความซับซ้อนมากกว่าที่คิด
มิติแรก ว่าด้วย พัฒนาการความต่อเนื่องและเชื่อมโยง
“แนวคิดPTT Life Station สามารถตอบสนองวิถีชีวิตของผู้บริโภคยุคใหม่ได้อย่างครบครัน (One Stop Service)” มีความเชื่อมโยงกับพัฒนาการสังคมบริโภค ภายใต้เงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลง และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตลอด2-3ทศวรรษที่ผ่านมา
เป็นไปตามแนวคิด“เมืองรุกชนบท”(ผมเคยเสนอมาเมื่อประมาณ10 ปีที่แล้ว) ไม่ว่า การเกิดขึ้นเครือข่ายโทรทัศน์นำเสนอโปรแกรมเดียวทั่วประเทศ เป็นแรงกระตุ้น นำกระแส สินค้าแบรนด์ระดับประเทศ และโลก รวมทั้งเครือข่ายร้านค้าปลีกสมัยใหม่ เข้ายึดหัวเมืองและชนบทมากขึ้น ตามมาด้วยเครือข่ายสื่อสารสมัยใหม่(โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ )พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ขณะเดียวกันถนนชนบทถูกสร้างและพัฒนาขึ้นเพื่อเชื่อมต่อกับถนนหลัก (ส่วนใหญ่สร้างมาตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม) กรมทางหลวงชนบทเอง เพิ่งก่อตั้งขึ้นมายังไม่ถึง 2ทศวรรษ ถนนกลายเป็น “เส้นเลือด”หลักที่จำเป็นอย่างเกินพอดีของระบบคมนาคมขนส่ง ในช่วงเวลาดังกล่าว สังคมไทยกลายเป็นหนึ่งในประเทศระดับภูมิภาค เป็นตลาดใหญ่ซึ่งเติบโตอย่างมากของอุตสาหกรรมรถยนต์ระดับโลก
PTT Life Station โมเดลใหม่ เป็นผู้นำ บุกเบิกธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน อย่างคึกคัก กระฉับกระเฉง ในช่วงนั้น โดยพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
ขั้นแรก—สถานีบริการน้ำมัน เป็นศูนย์กลาง แวดล้อมด้วยบริการต่อเนื่อง โดยคู่ค้าโดยเฉพาะศูนย์อาหาร(จากร้านค้ารายย่อยจากระดับท้องถิ่น สู่แบรนด์ใหญ่ ระดับประเทศ และโลก) และที่สำคัญคือร้านสะดวกซื้อ(โดยเฉพาะ7-Eleven)
ขั้นต่อมา -ปตท.เข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เชื่อว่าตั้งแต่เปิดธุรกิจร้านกาแฟ (Café Amazon) ต่อเนื่องด้วยการซื้อสถานีบริการน้ำมัน (Jet) จาก ConocoPhillips ซึ่งมีร้านค้าสะดวกชื้อ (Jiffy Convenience Store) พร้อมๆกับการร่วมลงทุนกับพันธมิตรธุรกิจใหม่ๆ เช่น กับเครือข่ายธุรกิจCommunity Mall เจ้าของโครงการภายใต้ชื่อ The Crystal
อีกขั้นหนึ่ง กรณีแผนการธุรกิจโรงแรม อาจตีความว่า ปตท. ขยายจินตนาการกว้างขึ้นอีก เข้าสู่ธุรกิจพัฒนาสังหาริมทรัพย์อย่างเต็มตัว ทั้งแบบค้าปลีก(Retail Developer) และ Mixed-use developer
ว่าไปแล้ว สังคมไทยกับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นปรากฏการณ์เกิดขึ้นอย่างฉาบฉวย บางช่วงบางเวลาเสมอ มีความเป็นไปได้ว่าเป็นธุรกิจมีโมเดลไม่ซับซ้อน หากถูกจังหวะเวลา ผลตอบแทนมากกว่า เร็วกว่าธุรกิจอื่นๆ คงจะจำได้ว่าในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟูก่อนวิกฤติการณ์ปี2540 กลุ่มธุรกิจรายใหญ่หลายราย ได้เข้าสู่ธุรกิจอื่นๆที่ไม่อยู่ในแผนการกู้เงิน โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์กันเป็นว่าเล่น ซึ่งถือเป็นปัจจัยเร่งปัจจัยหนึ่งของวิกฤติการณ์ หรือกรณี “เขาใหญ่”เมื่อเร็วๆนี้ เกิดปรากฏการณ์คึกคักเพียงช่วงสั้นๆ โครงการคอนโดมิเนียมตากอากาศเกิดขึ้นในอาณาบริเวณเขาใหญ่ ปากช่อง อย่างมากมายมากถึง30 โครงการ ทั้งมาจากผู้อยู่ในธุรกิจเอง และมาจากธุรกิจอื่นๆ แม้กระทั่งมาจากธุรกิจโรงงานน้ำตาล และโรงงานทอกระสอบ
ในภาพที่กว้างขึ้น ปรากฏการณ์ปตท.ข้างต้น ถือได้ว่าเป็นไปตามกระแส แนวโน้ม และธรรมชาติธุรกิจใหญ่ไทย (ผมเคยนำเสนอไว้ ปรากฎการณ์ Carrefourเมื่อปี2553) ว่าไปแล้ว จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ยุทธศาสตร์การเติบโตของปตท. ซึ่งประสบความสำเร็จเกินคาดในช่วงทศวรรษก่อนหน้านั้น ก็ดำเนินไปตามโมเมนตัมที่ว่า
“ แรงปะทะอันเปรี้ยงปร้างของ“รายใหญ่”ไม่อาจปรองดองกันได้ สำหรับสังคมธุรกิจไทยถือเป็นวิวัฒนาการใหม่อันซับซ้อน จากเดิมมีโครงสร้างง่ายๆ ว่าด้วยการแบ่งพื้นที่ แบ่งประเภทธุรกิจ เป็นระบบจัดสรรผลประโยชน์และโอกาสที่ลงตัว ในบรรดาผู้ทรงอิทธิพลซึ่งมีจำนวนไม่มากราย แต่วันนี้ พื้นที่และโอกาส ไม่อาจจัดสรรด้วยระบบเดิมอีกต่อไป ไม่เพียงแต่รายใหญ่เติบโตขึ้น ต้องการขยายอิทธิพลแนวกว้างมากขึ้น ยังปรากฏผู้เล่นรายใหม่เข้ามา ไม่ว่าเป็นรายย่อยที่มีความพลิกแพลงและเข้มแข้งขึ้น รวมทั้งผู้เล่นจากภายนอกซึ่งมีพลังมากเป็นพิเศษ”
มองอีกมุมหนึ่ง เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง กระแส และ แนวโน้ม อาจไม่เป็นเช่นนั้น หากมีการพัฒนาการขนส่งระบบอื่น โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชน และการขนส่งสินค้าโดยระบบราง ผู้คนย่อมมีทางเลือกมากขึ้น การเดินทาง การใช้ชีวิต และการดำเนินธุรกิจ พึ่งพิงและอ้างอิงเครือข่ายถนน อาจไม่เป็นไปอย่างที่เป็นมา ทำนองเดียวกันกับปรากฏการณ์ธุรกิจค้าปลีกในสหรัฐฯ ศูนย์การค้า -ห้างสรรพสินค้าดั้งเดิม กำลังทะยอยปิดสาขากันอย่างต่อเนื่อง เนื่องมาจากการเติบโตของการค้าปลีกออนไลน์
มิติว่าด้วย การทดลอง และความพยายามแสวงหาโมเดลใหม่
ธุรกิจโรงแรม ณ สถานีบริการน้ำมัน ต้องถือว่าเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ในประเทศไทย ควรแก่การพิจารณาแผนการ และความเป็นไปได้ ด้วยมุมมองที่ซับซ้อนกว่าที่ควรจะเป็น
ประเด็นแรก ธุรกิจโรงแรมไม่มีความเชื่อมโยง และต่อเนื่องโดยตรงกับสถานีบริการน้ำมัน หากเป็นความต่อเนื่องตกทอดกันมา เป็นทอดๆ จากโมเดลเริ่มต้น สถานีบริการน้ำมันกับจุดแวะพักช่วงสั้นๆ(ร้านอาหาร-ร้านกาแฟ –ร้านสะดวกซื้อ) ซึ่งถือเป็นความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันโดยตรง จากนั้นจุดแวะพักระหว่างทางช่วงสั้นๆซึ่งพัฒนามาไกล กลายเป็นศูนย์อาหาร(Foods court) หรือ Community Mall ค่อยๆกลายพันธุ์เป็นโมเดลธุรกิจเชื่อมโยงไปสู่จุดแวะพักต้องใช้เวลานานขึ้น (อย่างน้อย 1วัน) อย่างโรงแรมได้
ในบางมิติ โมเดลธุรกิจข้างต้น มีความเป็นไปได้ว่าปตท.ไม่ได้มอง ไม่ได้ยึดมั่น ว่าสถานีบริการน้ำมันเป็นศูนย์กลางในโมเดลธุรกิจอย่างเข้มข้นอีกต่อไป หรือในอีกแง่หนึ่ง อาจมองว่าสถานีบริการน้ำมันตามแนวคิด PTT Life Station มีข้อจำกัดทางธุรกิจมากขึ้นแล้ว
ประเด็นที่สอง ธุรกิจโรงแรมเป็นงานบริการอันละเอียดอ่อน ผู้ใช้บริการประหนึ่งได้ผ่านกระบวนการคัดเลือก จากผู้ใช้รถ ใช้ถนนทั่วไป มาอีกทอดหนึ่ง ซึ่งถือว่าเข้มงวดพอสมควร เนื่องด้วยมีความเกี่ยวข้องกับ เวลาแวะพัก ระยะทาง และทำเลที่ตั้ง
และ ประเด็นที่สาม ผมเชื่อว่า สถานีบริการน้ำมันมีบุคลิกเฉพาะ ว่าด้วย “ความเสี่ยง”มากกว่าปกติ กับ “มาตรการความปลอดภัย” ที่ควรเข้มข้น ทั้งในแง่กฏและระเบียบ รวมทั้งความรู้สึกนึกคิดของผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมือพิจารณารูปแบบสถานีบริการน้ำมันตามแนวคิด PTT Life Stationโดยทั่วไปในปัจจุบันด้วยแล้ว
PTT Life Station ตามรูปแบบทั่วไปที่พบเห็น จุดบริการน้ำมันอยู่ในตำแหน่งเป็นใจกลาง แวดล้อมด้วยร้านค้าปลีก (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านอาหาร) นับวันจะมีจำนวนร้านมากขึ้น แออัดมากขึ้น เท่าทีมีประสบการณ์ เคยแวะจุดพักระหว่างทางริมถนนไฮเวย์ในต่างประเทศ (อ้างอิงกับประเทศออสเตรเลีย) จุดบริการน้ำมันจะอยู่ห่าง แยกต่างหาก จากบริเวณค้าปลีกพอสมควร ผมยินดีกับปตท.ด้วยว่าในช่วงที่ผ่านมา สามารถทำให้ผู้เดินทาง ใช้รถ ใช้ถนน ใช้บริการ PTT Life Station ด้วยความปลอดภัย ด้วยความมั่นใจเป็นอย่างดีตลอดมา
ทว่ากับผู้ใช้บริการโรงแรมแล้ว อาจไม่เป็นไปเช่นนั้นเสียทีเดียว ผู้เดินทางต้องแวะพักโดยใช้เวลานานกว่า เชื่อว่าปตท.คงจะมีแผนการที่ดีในการออกแบบสถานีบริการน้ำมัน กับส่วนธุรกิจอื่นๆซึ่งเพิ่มเติมมาใหม่ โดยเฉพาะให้มีความแตกต่างจากรูปแบบในปัจจุบัน เรื่องรูปแบบที่ว่า เชื่อว่าไม่ใช่ประเด็นปลีกย่อย หากเป็นแผนการสำคัญ( Master plan) สะท้อนโมเดลธุรกิจใหม่ที่ดี ที่เป็นไปได้ด้วย
ผมเองค่อนข้างเชื่อด้วยว่า มีความเป็นไปได้ จะเป็นทางแยกPTT Life Station จากโมเดล “สถานีบริการน้ำมัน” ตาม “แนวตั้ง” หรือเป็น “ใจกลาง” ไปสู่แนวทางใหม่ โมเดลใหม่ตาม“แนวนอน” ความสัมพันธ์ต่อเนืองเป็นทอดๆ กว้างขึ้นและไกลขึ้น โอกาสธุรกิจกับการแสวงหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เปิดกว้างมากขึ้น ยืดหยุ่นมากขึ้น
(แก้ไขและปรับปรุง จากต้นฉบับใน “ประชาชาติธุรกิจ” ช่วงสิงหาคม-กันยายน 2559)