เบียร์ช้างกับ Starbucks

แผนการเข้าสู่ธุรกิจกาแฟครบวงจรของธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย เป็นไปอย่างน่าทึ่ง

1

กรณีกิจการในเครือบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)หรือไทยเบฟ (แม้มีผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลากหลาย แต่ผู้คนมักเรียกว่าเบียร์ช้าง)เข้าเกี่ยวข้องดำเนินกิจการเครือข่ายร้านกาแฟระดับโลก Starbucks  สร้างความตื่นเต้นในสังคมธุรกิจทั้งไทยและภูมิภาค สะเทือนสะท้อนมุมมองเรื่องราวอย่างหลากหลาย ซับซ้อน

คงจำกันได้ว่าเมื่อสัก5ปีที่แล้ว Starbucks ในสหรัฐอเมริกา เริ่มจำหน่ายเบียร์(และไวน์) ในช่วงดึกๆ ในหลายร้าน  คงเป็นเรื่องตื่นเต้น หากเป็นไปในเมืองไทย แต่นั้นยังคงเป็นเพียงเรื่องคาดเดา เป็นบทสนทนาอย่างออกรส ยังมิใช่สารรสำคัญจะกล่าวถึง

ว่าด้วยดีล

ข้อมูลกรณีซึ่งอ้างอิงได้ มีการเปิดเผยมาจากต้นแหล่ง หลายแหล่งที่เกี่ยวข้อง

เริ่มต้นจาก Starbucks Coffee Company ในฐานะบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐฯ (NASDAQ:SBUX))ถ้อยแถลงมาจาก SEATTLE (23 พฤกษาคม 2562) ว่า เครือข่ายร้านกาแฟในเมืองไทยอยู่ในช่วงงเปลี่ยนมือ( Starbucks Retail Business in Thailand Transitions to Coffee Concepts Thailand) ไปยัง Coffee Concepts Thailand  ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Maxim’s Caterers Limited แห่งฮ่องกง กับหุ้นส่วนไทยF&N Retail Connection Co., Ltd. ซึ่งใช้คำว่า fully licensed โดยเน้นว่ามีสิทธิในการดำเนินการและพัฒนาเครือข่ายร้านกาแฟ Starbucks ให้เติบโตในตลาดไทยด้วยอัตราเร่ง “ให้โฟกัสการเร่งพัฒนาสร้างเครือข่ายร้านใหม่ๆ” ยังไม่พอ มีอีกตอนในถ้อยแถลงอ้างถึงคำกล่าวของผู้บริหาร Starbucksเป็นการตอกย้ำอีกครั้ง

อีกด้านหนึ่งในวันเดียวกันมีถ้อยแถลงมาจากสิงคโปร์  โดยFraser and Neave, Limited หรือF&N (รายงานต่อตลาดหุ้นสิงคโปร์ หรือSingapore Exchange Securities Trading Limited) ระบุว่า ได้เข้าสู่ธุรกิจเครือข่ายร้านกาแฟพรีเมี่ยมซึ่งเติบโตเร็ว (F&N Enters Fast-Growing Premium Retail Coffee Segment) ทั้งนี้ให้นิยามลักษณะดีลไว้ว่า เข้าถือหุ้นทั้งหมดใน Starbucks Coffee (Thailand) Co., Ltd

โดยเน้นว่า  การซื้อกิจการข้างต้นสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ F&N เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงได้และเป็นเสริมกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม

ข้างต้นคือสาระสำคัญซึ่งสื่อทั้งหลายให้ความสนใจสรุปความ  ทั้งนี้สื่อระดับโลกให้ความสนใจเช่นกัน  บางรายประเมินมูลค่าการดำเนินธุรกิจ Starbucks ในไทยมีกว่า500ล้านเหรียญสหรัฐ จากจำนวน 372 สาขา เป็นการคาดกันมูลค่าดีลซึ่งไม่เป็นที่เปิดเผย  คงมีมูลค่ามากกว่า15,000ล้านบาท

เกี่ยวกับไทยเบฟ

สื่อทั้งหลายมักอ้างว่า ดีลดังกล่าวเกี่ยวข้องกับไทยเบฟ แห่งกลุ่มทีซีซี ซึ่งมีเจริญ-วรรณา สิริวัฒนภักดี เป็นผู้นำ  ด้วยเชื่อมโยงกับFraser and Neave หรือF&N  

ความเชื่อมโยงนั้น เปิดฉากขึ้นเมื่อกรกฎาคม2555  เมื่อไทยเบฟ(รวมทั้ง nominees ) ได้เข้าซื้อหุ้นประมาณ 24% ของ Fraser and Neave แห่งสิงคโปร์  เป็นดีลที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งว่าด้วยธุรกิจไทยซื้อกิจการในต่างประเทศ ด้วยมูลค่าเกือบหนึ่งแสนล้านบาท

Fraser and Neave หรือ F&N ธุรกิจเก่าแก่ของสิงคโปร์ บริษัทใหญ่ในตลาดหุ้นสิงคโปร์ มีบางสิ่งบางอย่างคล้ายกับกลุ่มทีซีซี คือมีธุรกิจเบียร์และอสังหาริมทรัพย์ มีอีกบางสิ่งบางอย่างที่ไทยเบฟอยากจะเป็น นั่นคือธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในระดับภูมิภาค

ขณะข้อมูลไทยเบฟ(http://www.thaibev.com )ได้รายงานไว้อย่างสอดคล้องกัน “เข้าซื้อหุ้นในเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ, ลิมิเต็ด (F&N) ผู้ผลิตและจัดจําหน่ายเครื่องดื่ม อสังหาริมทรัพย์และสิ่งพิมพ์ชั้นนําของสิงคโปร์ ส่งผลให้ F&N เข้าเป็นบริษัทร่วมของไทยเบฟ(สิงหาคม2555)” และ “การเข้าซื้อหุ้นใน F&N เสร็จสิ้น โดยไทยเบฟถือหุ้นประมาณร้อยละ 28.6 นับเป็นการขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศเพื่อก้าวขึ้นเป็นบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มระดับภูมิภาค(กุมภาพันธ์2556)”

ข้อมูลพื้นฐานว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างไทยเบฟกับ F&N นั้น    F&N มักรายงานว่า  F&N เป็นบริษัทร่วม(associated company)ของไทยเบฟ(ไทยเบฟถือหุ้นมากกว่า20% แต่ไม่มากกว่า50% จึงไม่ต้องนำข้อมูลการเงิน F&N มารวมไว้) ทั้งนี้ไทยเบฟกับF&N มีกรรมการร่วมกัน คือ เจริญและวรรณา สิริวัฒนภักดี  โดยผู้ถือหุ้นในไทยเบฟ ร่วมกันถือหุ้นข้างมากใน F&N

ส่วนกรณีดีล Starbucks นั้นมีการจัดการจัดตั้งบริษัทที่เกี่ยวข้องอย่างซับซ้อนพอสมควร  ขอนำเสนอย่างคร่าวๆพอให้เห็นภาพ

ในวันเดียวกันนั้น(23 พฤกษาคม 2562) ไทยเบฟได้รายงานต่อตลาดหุ้นสิงคโปร์เกี่ยวกับดีลข้างต้น  ดูเหมือนสื่อทั้งหลายมองข้ามไป แม้เป็นเทคนิคของวิศวกรการเงินและบัญชี แต่ก็น่าสนใจตรงสัดส่วนการในถือหุ้นของการร่วมทุน

ทั้งนี้ต้องย้อนไปพิจารณารายงานก่อนหน้านั้น(19มีนาคม2562)เสียก่อน  เกี่ยวกับการจัดตั้ง F&N Retail Connection Co., Ltd จดทะเบียนในประเทศไทย มีโครงสร้างการถือหุ้นซับซ้อนย้อนไปมา ระหว่างไทยเบฟกับ F&N โดยพยายามมิให้ไทยเบฟถือหุ้นโดยตรง และให้ F&N ถือหุ้นในเพดานเพียง 49% โดยจัดตั้ง F&N International Holding (จดทะเบียนในประเทศไทยเช่นเดียวกัน มีไทยเบฟถือหุ้น51%และฝ่ายF&N 49%) เข้าถือหุ้นใน F&N Retail Connection Co., Ltd 51% และฝ่าย F&N โดยตรงอีก 49% ภาพที่ปรากฏอย่างที่เข้าใจโดยสรุปอย่างง่ายๆ ก็คือ F&N มีสัดส่วนในการถือหุ้นที่เป็นจริงในบริษัทที่มีบทบาทสำคัญในดีล Starbucks มากกว่า ไทยเบฟ

รายงานไทยเบฟฉบับสำคัญ(23 พฤกษาคม 2562) นั้นกล่าวถึงการจัดตั้งบริษัทสำคัญ Coffee Concepts (Thailand) Co., Ltd เพื่อเข้าบริหารเครือข่ายร้านกาแฟ Starbucksในประเทศไทย โครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัทดังกล่าว สะท้อนความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างธุรกิจใหญ่ไทยและฮ่องกง

Coffee Concepts (Thailand) Co., Ltd ถือหุ้นในสัดส่วน51%โดย Max Asia Food & Beverage (Thailand) Co., Ltd.  ซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย( ถือหุ้นในสัดส่วน70/30ระหว่าง F&N Retail Connection Co., Ltd      และ MX Caterers (Asia)Pte. Ltd แห่งสิงคโปร์) อีก49% ถือโดยฝ่าย MX Caterers บทสรุปอย่างง่ายๆคือโครงสร้างผู้ถือหุ้น อำนาจในการบริหาร Starbucks ในประเทศไทย ระหว่างฝ่ายไทยกับฮ่องกงมีสัดส่วนไกล้เคียงกัน หากพิจารณาทางคณิตศาสตร์อย่างเจาะจงมากขึ้น จะพบว่า ฝ่ายฮ่องกงดูจะมีน้ำหนักมากกว่า

Maxim’s Group

หากย้อนกลับไป พิจารณาถ้อยแถลงของ Starbucks อีกครั้ง ให้ความสำคัญกล่าวอย่างเฉพาะเจาะจง ถึง Maxim’s  เป็นพิเศษ  “ในฐานะพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ มาอย่างยาวนาน และเป็นผู้ดำเนินงานและพัฒนาเครือข่ายกาแฟ Starbucks ฐานะบริษัทได้รับสิทธิใช้เครื่องหมายการค้า Starbucks มาตั้งแต่ปี 2543 โดยในปัจจุบัน Maxim’s  บริหารเครือข่ายร้านกาแฟ Starbucks ในฮ่องกง มาเก๊า สิงคโปร์ เวียดนาม และกัมพูชา มีมากว่า400สาขา และพนักงานมากว่า6,000คน”

Maxim’s Group แห่งฮ่องกง ก่อตั้งเมื่อปี2499 ผู้นำเครือข่ายธุรกิจร้านอาหาร และเครื่องดื่มอย่างหลากหลาย ทั้ง เครือข่ายภัตตาคารอาหารจีน เอเชียน ยุโรป รวมไปถึงธุรกิจอาหารจานด่วน (quick service restaurants) และร้านเบเกอรี่ มากกว่า 1,300แห่ง ใน ฮ่องกง มาเก๊า รวมทั้งจีนแผ่นดินใหญ่   เวียดนาม กัมพูชา สิงคโปร์และไทย

ที่กล่าวถึงเมืองไทยนั้น มีบางกรณีสะท้อนความสัมพันธ์กับไทยเบฟ ก็คือการร่วมทุนก่อตั้งเครือ MX Cakes & Bakery   เมื่อ2ปีที่แล้ว และเมื่อไม่นานมานี้(เมษายน 2562) มีการร่วมทุนกัน เปิดร้านอาหารญี่ปุ่น-ซูชิสายพาน Genki Sushi  ซึ่ง Maxim’s Group  ถือสิทธิ์ในการขยายเครือข่าย Genki Sushi  ต้นตำรับจากญี่ปุ่น ทั้งในฮ่องกง จีนตอนใต้ และต่อมาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ว่าด้วยยุทธศาสตร์

กรณีดีลStarbucks มีอีกหลายมิติเชื่อมโยงกันอย่างเหลือเชื่อ

จากปี 2551 กลุ่มทีซีซีบุกเบิกธุรกิจกาแฟในประเทศลาว ก่อตั้ง Paksong Highland Company Limited โดยได้รับสัมปทานจากรัฐบาลลาวในพื้นที่ปลูกกว่า 15,000ไร่ บริเวณที่ราบสูงบอละเวน (Bolaven Plateau) แขวงจำปาสัก   สู่การซื้อเครือข่ายร้านกาแฟท้องถิ่น กาแฟวาวีแห่งเชียงใหม่ เมื่อปีที่แล้ว  จนมาถึงการบริหารเครือข่ายStarbucks ในประเทศไทย จนกลายเป็นธุรกิจใหญ่ไทยอีกราย บุกเข้าสู่ธุรกิจกาแฟครบวงจรอย่างจริงจัง  เทียบเคียงกับ ปตท. และซีพี

จากดีลซึ่งขัดแย้ง ตัดความสัมพันธ์เครือข่ายธุรกิจระดับโลก กรณีPepsi Co ในดีลเสริมสุข  สู่ความร่วมมืออย่างอ่อนน้อมในฐานะผู้ถือแฟรนไชส์หนึ่งของKFC ในประเทศไทย จนล่าสุด เข้าร่วมบริหารเครือข่ายร้านกาแฟระดับโลก ภายใต้โครงสร้างร่วมทุนกับหุ้นส่วนอีกราย

รวมทั้งว่าด้วยสายสัมพันธ์กับบทเรียนธุรกิจ แนวทางอรรถาธิบายในเชิงสังคมว่าด้วย “ทุน”ไทย ยุคใหม่ ในความพยายามก้าวออกสู่โลกภายนอกอย่างมีแบบแผนมากกว่าอดีต    จากการสร้างเครือข่ายธุรกิจระดับภูมิภาค เข้าซื้อกิจการใหญ่อันเก่าแก่ยุคก่อนสร้างชาติสิงค์โปร์  ต่อมาร่วมทุนกับรัฐบาลเวียดนามในธุรกิจเบียร์ดูเหมือนย้อนรอยบทเรียนในเมืองไทย  จนกระทั่งสร้างสายสัมพันธ์ใหม่ จากMaxim’s Group เชื่อว่าจะพยายามไปยังเครือข่ายธุรกิจใหญ่แห่งฮ่องกง ซึ่งมีตำนานย้อนไปใกลถึงยุคอาณานิคม อย่างนวนิยายเรื่อง Tai-Pan ของ James Clavell

2

แผนการเข้าสู่ธุรกิจกาแฟครบวงจรของธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย อาจมีความหมายมากกว่าที่คิด

ดูเผิน ๆกรณี Fraser and Neave, Limited หรือF&N(ถือหุ้นใหญ่โดยกลุ่มทีซีซี) ในฐานะบริษัทร่วม(associated company )ของไทยเบฟเวอเรจ หรือไทยเบฟฯ(มักเรียกกันว่า เบียร์ช้าง)เข้าดำเนินกิจการเครือข่ายร้านกาแฟ Starbucks ในประเทศไทย  เป็นโมเดลธุรกิจคล้ายกับดีลKFC เมื่อ2ปี(สิงหาคม2560 ) “ไทยเบฟฯ ได้บรรลุข้อตกลงซื้อขายสินทรัพย์กับ Yum Restaurants International (Thailand) เพื่อเข้าซื้อกิจการKFCกว่า 240แห่งในประเทศไทย ประมาณการว่าจะใช้เงิน 11,300 ล้านบาท เพื่อขยายกิจการธุรกิจอาหาร”

เครือข่ายร้านKFC ในประเทศไทย เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี2527 ด้วยความสัมพันธ์กับกลุ่มเซ็นทรัล สาขาแรกเปิดที่ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว  ปัจจุบันเซ็นทรัลเรสตอรองส์กรุ๊ป หรือCRG  บริหารเครือข่ายร้าน KFC ประมาณ230แห่ง

เครือข่ายสาขา KFCอีกส่วนหนึ่ง ดำเนินการเองโดยเจ้าของแบรนด์จนมาถึงช่วงเวลาหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงแนวทางธุรกิจครั้งสำคัญจึงเกิดขึ้น ตามแผนขายสาขาให้กับคู่สัญญาถือสิทธิ์รายใหม่ ล็อตแรกให้กับ Restaurants Development (RD) ราวปีปี2549  RDเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างนักลงทุนไทยและอาเซียน  ปัจจุบัน RD  บริหารคเรือข่ายร้านKFC มากกว่า150 แห่ง

ส่วนดีล KFC มาจากแผนการขายสาขาล็อตสุดท้ายจำนวน 240สาขา  เปิดฉากขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคมปี2560  เพื่อปรับการบริหารร้านKFG เป็นระบบแฟรนไชส์(Franchise)100% เช่นเดียวกัน

ตั้งแต่ต้นปี2561  เครือข่าย KFC ราว ๆ600สาขา กับคู่ค้า3 รายในประเทศไทยพร้อมเดินหน้าตามโมเดลใหม่อย่างเต็มกำลัง ประหนึ่งเป็นการแข่งขันทางธุรกิจโดยนัย โดยเฉพาะเครือข่ายธุรกิจใหญ่2รายอย่างกลุ่มทีซีซีกับกลุ่มเซ็นทรัล  พร้อมกับโจทก์ทางธุรกิจที่ตั้งไว้ ในแผนการความพยายามให้ธุรกิจเติบโตต่อไป  “ ตามเป้าหมายจะมีกว่า 800 สาขา ภายในปี 2563” ซึ่งถือว่าเป็นแผนการเชิงรุก

ส่วนกรณีดีล Starbucks  มีโครงสร้างธุรกิจแตกต่างไปบ้าง  เครือข่ายสาขาในประเทศไทย 372 แห่ง บริษัทผู้มีสิทธิ์ในแฟรนไชส์ มีเพียงรายเดียว จุดแตกต่างอย่างน่าสนใจ คือ Coffee Concepts Thailand  ผู้ดำเนินการรายใหม่ เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเครือข่ายธุรกิจใหญ่ระดับภูมิภาค ระหว่างไทยกับฮ่องกง   ดังสรุปไว้ว่า “โครงสร้างผู้ถือหุ้น อำนาจในการบริหาร Starbucks ในประเทศไทย ระหว่างฝ่ายไทยกับฮ่องกงมีสัดส่วนไกล้เคียงกัน หากพิจารณาทางคณิตศาสตร์อย่างเจาะจงมากขึ้น จะพบว่า ฝ่ายฮ่องกงดูจะมีน้ำหนักมากกว่า

ฝ่ายฮ่องกงย่อมมีน้ำหนักมากขึ้นในฐานะมีความสัมพันธ์กับStarbucks มานานเกือบ2ทศวรรษ ในฐานะผู้ถือสิทธิ์บริหารเครือข่ายร้าน Starbucks ในหลายประเทศ ทั้งHong Kong  Macau Singapore Vietnam  และ Cambodia

ทั้งนี้ Maxim’s Group แห่งฮ่องกง นอกจากมีความสัมพันธ์กับ Starbucks แล้ว ถือว่าเป็น ผู้นำเครือข่ายธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มอย่างหลากหลาย ทั้งภัตตาคารอาหารจีน เอเชียน ยุโรป รวมไปถึงธุรกิจอาหารจานด่วน (quick service restaurants) และร้านเบเกอรี่ มากกว่า1,300แห่ง ใน Hong Kong  Macau รวมทั้งจีนแผ่นดินใหญ่  Vietnam Cambodia  Singapore และไทย  ว่าไปแล้วโมเดลธุรกิจดูคล้ายคลึงวกับไทยเบฟฯและF&N

มองในภาพใหญ่ ทั่วๆไป ถือว่าเป็นคู่แข่งทางธุรกิจในระดับภูมิภาค  หากมองอย่างเป็นจริง ยุทธศาสตร์การแข่งขันและร่วมมือทางธุรกิจมักคู่ขนานกันไป  ดีลระหว่างเครือข่ายธุรกิจใหญ่มักเป็นความร่วมมือกันอย่างเจาะจงมากขึ้น เป็นกรณีๆไป ใช้ความชำนาญที่แตกต่างเสริมกัน แสวงหาโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน ภายใต้ความสัมพันธ์เฉพาะ ในพื้นที่เฉพาะ แต่ละฝ่ายที่เกื้อกูลกัน  อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในบ้านเรา ดังกรณีเซ็นทรัล-ดุสิต ในโครงการพัฒนาใหม่หัวงถนนสีลม  ทั้ง ๆที่กลุ่มเซ็นทรัลมีธุรกิจโรงแรมเช่นเดียวกันกับดุสิต

อันที่จริง Maxim’s Group แห่งฮ่องกง มีความสัมพันธ์โดยตรงกับไทยเบฟ อย่างเจาะจงที่เมืองไทยมาก่อน มาบ้าง  ดังกรณี ร่วมทุนก่อตั้งเครือข่ายร้าน MX Cakes & Bakery   และ เปิดร้านอาหารญี่ปุ่น Genki Sushi

ภาพความสัมพันธ์ที่ใหญ่ขึ้น Maxim’s Group เป็นกิจการหนึ่งอยู่ในเครือข่าย Dairy Farm  ผู้นำธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ในภูมิภาค  ก่อตั้งที่ฮ่องกง โดยหมอผ่าตัดข่าวสก๊อตมากว่าศตวรรษแล้ว   มีส่วนเกี่ยวข้องกับเครือข่ายธุรกิจ จากร้านอาหาร สู่ Supermarkets / Hypermarkets Convenience stores และอื่น ๆ มีครือข่ายรวมกันมากกว่า 9,700แห่ง ในหลายประเทศ  รวมทั้งถือสิทธิ 7-Eleven ใน Hong Kong, Macau, Singapore  และจีนตอนใต้  ถือสิทธิ์ IKEA ใน Hong Kong, Indonesia, Macau และ Taiwan

ภาพนั้นย่อมสัมพันธ์ และเทียบเคียงกันกลุ่มทีซีซี ในฐานะ holding company เครือข่ายธุรกิจใหญ่ หลากหลาย รวมทั้งเป็นผู้นำเครือข่ายค้าปลีกระดับภูมิภาครายใหม่ด้วย เพิ่งบุกเบิกสู่ค้าปลีกอย่างจริงจังมาเมื่อไม่กี่ปีมานี้  เปิดฉากขึ้นเมื่อต้นปี2559  ด้วยดีลมูลค่าราว200,000ล้านบาทซื้อเครือข่าย Big C ในประเทศไทย มากกว่า120สาขา ในช่วงเดียวกันกับดีลมูลค่าเกือบๆ3หมื่นล้านบาท ซื้อ METRO Cash & Carry (มีสาขาค้าส่งแบบบริการตนเองที่เรียกว่า Cash & Carry ทั้งสิ้น 19สาขา) ในประเทศเวียดนาม

สิ่งที่เป็นไปได้ กลุ่มทีซีซีมองภาพใหญ่กว่านั้น  อาจจะก้าวขึ้นไปเทียบเคียงกับ holding company ที่ใหญ่ครอบ Dairy Farm ซึ่งต่อมาอีกทอดถึง Maxim’s Group  นั่นคือ Jardine Matheson Group

อันทีจริงกลุ่มทีซีซี มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงบางระดับไปถึง Jardine Matheson Groupแล้ว นอกจากเฉพาะกับ Maxim’s Groupแล้ว โดยมีฐานะหุ้นส่วนร่วมกันในกิจการสำคัญในเวียดนาม

Vinamilk ธุรกิจเกี่ยวกับนมซึ่งใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ตามแผนปรับโครงสร้างธุรกิจให้เอกชนเข้ามาถือหุ้นในช่วงปี2560 ปัจจุบันรัฐบาลเวียดนาม (State Capital Investment Corporation (SCIC) ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 36% รองลงมาคือ Fraser and Neave, Limited หรือF&Nในเครือข่ายทีซีซีในสัดส่วน21% และJardine Cycle & Carriage แห่งสิงคโปร์ ซึ่งถือเป็นกิจการในเครือข่าย Jardine Matheson ถือหุ้นในสัดส่วน10%

กลุ่มทีซีซี โดยเจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้มีประสบการณ์ธุรกิจมาตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม กว่าจะก่อตั้งกลุ่มทีซีซีอย่างจริงจัง อย่างเป็นรูปเป็นร่าง ก็หลังสงครามเวียดนามแล้ว  เรื่องราวของเขาน่าสนใจเป็นพิเศษ ในฐานะผู้สร้างอาณาจักรธุรกิจ จากระบบสัมปทานแบบเก่าที่หลงเหลืออยู่ “เจริญ สิริวัฒนภักดี สร้างฐานธุรกิจมาด้วยความยากลำบาก เป็น “คนสุดท้าย” ในระบบเศรษฐกิจเก่า ที่มีความสัมพันธ์กับระบบอุปถัมภ์ และสัมปทาน” ผมเขียนถึงเจริญ สิริวัฒนภักดี ในทำนองนี้หลายครั้งหลายครา

กลุ่มทีซีซี ยังอยู่ในยุคก่อตั้ง กำลังมีความพยามอย่างเต็มกำลัง ในแผนการส่งผ่านธุรกิจสู่รุ่นที่สอง พร้อม ๆกับการปรับตัว พลิกโฉมหน้าธุรกิจ ให้พ้นร่องรอยจากยุคสัมปทานเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สู่ธุรกิจยุคใหม่ หลากหลายมากขึ้น  ความพยายามของกลุ่มทีซีซี ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ตื่นเต้น เร้าใจ  เป็นตำนานหน้าหนึ่งยุคใหม่สังคมธุรกิจไทย  หลังจากปรับโครงสร้างธุรกิจ ได้นำเข้าบริษัทหลักแห่งหนึ่ง-ไทยเบฟเวอเรจ หรือไทยเบฟฯ  เข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์(SGX )เมื่อปี 2549 จากนั้น(ปี2555 )ก้าวสู่บทบาทระดับภูมิภาคอย่างคึกคักมากขึ้นด้วยซื้อกิจการสำคัญในสิงคโปร์-Fraser and Neave หรือ F&N

อย่างไรก็ตาม เมื่อปรียบเทียบบางมิติกับ Jardine Matheson ยังดูห่างไกล ในฐานะ Jardine Matheson  อยู่อย่างมั่นคงมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม เกือบจะ2ศตวรรษแล้ว เริ่มต้นตั้งแต่การสิ้นสุดยุคผูกดขาดการค้ากับจีนโดย East India Company   การก่อร่างสร้างตัว สร้างอาณาจักรธุรกิจของชาวยุโรป ในแผ่นดินจีนหรือเกาะฮ่องกง กลายเป็นตำนานนักธุรกิจที่เรียกกันว่าTai-Pan  เชื่อมโยงกับ นวนิยามยอดนิยมแห่งยุค Tai-Pan by James Clavell(1966)

บทเรียนและสายสัมพันธ์ทางธุรกิจในควาหมายกว้างขึ้นกว่าอดีต จากยุคสัมปทานรัฐไทย  จากสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจรัฐ ในเชิงภูมิศาสตร์ที่กว้างขึ้น ไปสู่นามธรรมมากขึ้น  ว่าด้วยความรู้ บทเรียนและโมเดลธุรกิจ  

อ้างอิงอย่างกว้างๆกับโมเดลและยุทธศาสตร์ธุรกิจ  Jardine Matheson คงอยู่รอดและเติบโตได้ ท่ามกลางโอกาสที่พลิกผัน กับสถานการาณ์ที่ผันแปรอย่างมากมาย ภายใต้การปรับตัวอย่างยืดหยุ่น เป็นประสบการณ์เข้มข้นอันอุดมมากกว่ากลุ่มทีซีซีนัก  ขณะที่ดูไปแล้วโครงสร้างธุรกิจมีส่วนคล้ายคลึงกลุ่มทีซีซีเครือข่ายธุรกิจเยาว์วัย   นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีธุรกิจสำคัญอื่น ๆอีก โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจโรงแรม

บทเรียนที่น่าสนใจกว่านั้น สำคัญกว่านั้น  อาจว่าด้วยการดำรงอยู่ของธุรกิจครอบครัว  ไม่ว่า Jardine Matheson มีเครือข่ายธุรกิจมากมาย กิจการหลักๆส่วนใหญ่จดทะเบียนในตลาดหุ้นทั้งฮ่องกงและลอนดอน แต่การบริหารยังอยู่ในกำมือของตระกูล Tai-Pan  อย่าง Keswick family ผู้มีบทบาทในการบริหาร Jardine Matheson อย่างยาวนาน  ตั้งแต่ยุคก่อตั้งสู่รุ่นที่5แล้วในปัจจุบัน

กลุ่มทีซีซี ภายใต้การนำ เจริญ-วรรณา สิริวัฒนภักดี ในช่วงทศวรรษแห่งการขยายอาณาจักรอย่างครึกโครม  ยังมีกระบวนการสำคัญซ่อนอยู่  เพื่อการสานต่อ ส่งต่อธุรกิจทายาทรุ่นที่2 ในฐานะธุรกิจครอบครัวอันทรงทรงพลังและเข้มข้น  ดูจะมุ่งมั่นมากกว่าธุรกิจครอบครัวใดในสังคมไทย

บทเรียนแห่งสายสัมพันธ์ กับ Jardine Matheson อาจมีคำตอบให้ ก็เป็นไปได้

3

ช่วง2ทศวรรษกลุ่มทีซีซีที่ผ่านมา เต็มไปด้วยเรื่องราวอันซับซ้อน ว่าด้วย “สายสัมพันธ์ทางธุรกิจ”

จากที่ว่าไว้ “ว่าด้วยสายสัมพันธ์กับบทเรียนธุรกิจ แนวทางอรรถาธิบายในเชิงสังคมว่าด้วย “ทุน”ไทยยุคใหม่ ในความพยายามก้าวออกสู่โลกภายนอกอย่างมีแบบแผนมากกว่าอดีต    จากการสร้างเครือข่ายธุรกิจระดับภูมิภาค เข้าซื้อกิจการใหญ่อันเก่าแก่ยุคก่อนสร้างชาติสิงค์โปร์  ต่อมาร่วมทุนกับรัฐบาลเวียดนามในธุรกิจเบียร์ดูเหมือนย้อนรอยบทเรียนในเมืองไทย  จนกระทั่งสร้างสายสัมพันธ์ใหม่ จาก Maxim’s Group เชื่อว่าจะพยายามไปยังเครือข่ายธุรกิจใหญ่แห่งฮ่องกง ซึ่งมีตำนานย้อนไปใกลถึงยุคอาณานิคม อย่างนวนิยายเรื่อง Tai-Pan ของJames Clavell”

มีมิติสำคัญๆควรอรรถาธิบายให้กว้างขึ้น ว่าด้วยพัฒนาการที่น่าสนใจ อาจเป็นอีกบทเรียนซึ่งตกผลึก สำหรับสังคมธุรกิจไทย

กลุ่มทีซีซี ภายใต้การนำของเจริญ สิริวัฒนภักดี  ถือเป็นกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย ก่อร่างสร้างธุรกิจมาเมื่อราว ๆ4ทศวรรษที่ผ่านมานี่เอง  เมือเปรียบเทียบกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่รายอื่น ๆของไทย ไม่ว่า  กลุ่มธนาคารใหญ่ เครือซีพี แม้กระทั่งกลุ่มเซ็นทรัล  ถือว่ากลุ่มทีซีซี ยังเยาว์วัย

หากย้อนกลับไป ยุคเจริญ สิริวัฒนภักดีเข้าควบคุมวงจรสัมปทานผูกขาดค้าสุรา  ในฐานะธุรกิจโมเดลเก่า ซึ่งซ่อนตัวอย่างเงียบๆ ท่ามกลางเครือข่ายธุรกิจใหญ่ โดยเฉพาะเครือข่ายธุรกิจครอบครัว ซึ่งมีธนาคารเป็นแกนจะเห็นบางภาพซ้อนอันย้อนแย้ง

เป็นระยะคาบเกี่ยวกับการสิ้นสุดสงครามเวียดนาม(ปี 2518)  กับ“ทฤษฎีโดมิโน” ความวิตกกังวลปกคลุม  ไปทั่ว จากปรากฏการณ์ขยายตัวของคอมมิวนิสต์ จากเวียดนาม สู่ลาว(ปี2518) และ เขมร(เขมรแดงปกครองปี 2518-2522)  ยิ่งไปกว่านั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกัน ขบวนคอมมิวนิสต์ไทยเติบโตขึ้น โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์6 ตุลาคม

สังคมธุรกิจไทย เผชิญการปรับตัว การปรับโครงสร้างครั้งสำคัญ   ถือว่าเป็นครั้งแรก ๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เลย ก็ว่าได้  เครือข่ายธุรกิจระดับโลกจากโลกตะวันตก  ทั้งจากยุคอาณานิคมและเพิ่งเข้ามาในช่วงต้นๆสงครามเวียดนานาม บางรายถอนตัวออกไป

ปี 2522 เกิดวิกฤติการณ์ตลาดหุ้นฮ่องกง ส่งผลกระทบไปทั่วภูมิภาค ตลาดหุ้นไทยซึ่งยังอยู่ในระยะเยาว์วัย ทำลายโอกาส “หน้าใหม่”อย่างราบคาบ ด้วยการล้มลงของสถาบันการเงินชั้นรองที่รัฐเปิดโอกาสให้มีขึ้นในช่วงก่อนหน้านั้นไม่นาน ขณะที่สถาบันการเงินมีธนาคารหนุนหลัง เผชิญบททดสอบ แต่ก็ผ่านไปได้

ระบบธนาคารครอบครัว ในฐานะแกนกลางของระบบเศรษฐกิจไทย ได้สถาปนาโมเดลแห่งความมั่งคั่งมีการขยายตัว จากธุรกิจธนาคาร สู่ธุรกิจข้างเคียงและธุรกิจอื่น ๆจากโอกาสที่มีมากกว่าใคร ๆ  ขณะกลุ่มธุรกิจที่เติบใหญ่ มาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง อีกบางกลุ่ม ซึ่งอ้างอิงความสัมพันธ์กับโลกตะวันตกและญี่ปุ่น สามารถเอาตัวมาได้เช่นกัน

กลุ่มทีซีซี ผ่านมรสุมทางธุรกิจมาไม่น้อยเช่นกัน แต่ด้วยพลังระบบสัมปทานผูกขาด อ้างอิงกับฐานใหญ่ผู้บริโภค ไม่เพียงสามารถเอาตัวรอดได้   หากในช่วง2-3ทศวรรษที่ผ่านมายนั้น ทีซีซี-กลุ่มธุรกิจไทยแสดงพลังซี่งมีเหลือเฟื่อ ให้ภาพโดดเด่น ท่ามกลางการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจไทยครั้งใหญ่หลังวิกฤติการณ์ปี 2540

กลุ่มทีซีซีผู้กวาดซื้อถือครองทรัพย์สินอย่างมากมาย อย่างหลากหลาย และถือเป็นทรัพย์สินเชิงสัญลักษณ์ ทรัพย์สินซึ่งสะท้อนช่วงเวลาต่าง ๆสังคมธุรกิจไทย

อาจให้ภาพต่อเนื่องที่มีสีสันยิ่ง  จากพ่อค้าเชื้อสายจีน เริ่มต้นจากสองมือเปล่า สร้างโอกาสจากธุรกิจอิทธิพลจากสัมปทานผูกขาดค้าสุราในยุคสุดท้าย สามารถสะสมความมั่งคั่ง มีฐานะอย่างมั่นคง  สร้างสายสัมพันธ์กับสังคมวงใน ประหนึ่งย้อนเวลากลับไปเชื่อมกับรากเหง้า ผ่านช่วงประวัติศาสตร์สำคัญสังคมไทย ทั้งสร้างโอกาสธุรกิจในโมเดลใหม่ๆ   มีคุณค่าในความหมายกว้างขึ้น ไม่เพียงสร้างความมั่งคั่ง  หากมีฐานะทางสังคม จาก “หน้าใหม่” สู่ Old establishment

เมื่อมองผ่านกรณีสำคัญที่น่าสนใจ อาจมองเห็นพัฒนาการอย่างน่าสนใจ

ขั้นต้น—อสังหาริมทรัพย์ยุคอาณานิคม

ไม่ต้องสงสัยว่า  กับธุรกิจสัมปทานผูกขาดค้าสุราซึ่งมีเงินสดหมุนเวียนอย่างมาก การได้มาซึ่งที่ดินจำนวนมากข้างเคียงโรงงานสุราทั่วประเทศ เป็นเบื้องต้นที่เป็นไป  จากนั้นค่อยๆเคลื่อนสู่พื้นที่เฉพาะเจาะจงในเมืองหลวง  สู่อสังหาริมทรัพย์แห่งตำนานสังคมธุรกิจไทย  ท่ามกลางกระบวนการนั้นได้ก่อเกิดสายสัมพันธ์ใหม่กับผู้คนในสังคม

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ อสังหาริมทรัพย์ยุคอาณานิคม อาจเชื่อมโยงเชิงจิตสำนักและจินตนาการ ถึงยุคบุกเบิกธุรกิจไทย เทียบเคียงกับธุรกิจดั้งเดิมอันมั่นคง อย่างเครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี  และธนาคารไทยพาณิชย์ และก็ถือว่าไปไกลกว่า ตำนานเครือซีพีและกลุ่มเซ็นทรัล

หนึ่งในนั้น  –เอเชียทีคเดอะริเวอร์ฟร้อนท์

“เปิดตำนานของท่าเรือระหว่างประเทศที่แรกของสยาม ย้อนกลับไปในช่วงปี 1884(ปีพ.ศ.2447) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประเทศในเอเชียอยู่ภายใต้การคุกคามของการรุกรานจากมหาอำนาจยุโรป ด้วยการมองการณ์ไกลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีความคิดริเริ่มที่จะยกระดับสยามให้ไปถึงประเทศชั้นนำของโลกและตัดสินใจที่จะสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเดนมาร์ก รวมถึงในขั้นตอนนี้คือการก่อสร้างของท่าเรือที่เป็นของ บริษัท อีสต์เอเซียติก ซึ่งทำธุรกิจที่ทุ่มเทให้กับการส่งออกไม้สัก โดยมี Mr. Hans Nille Anderson, สัญชาติเดนมาร์ก เป็นเจ้าของบริษัท

ท่าเรือนี้ คือสัญญาณการเริ่มต้นของการทำการค้าระหว่างประเทศ ระหว่างราชอาณาจักรไทยและประเทศในยุโรป และเป็นกุญแจสำคัญในการที่สยามยังคงรักษาอธิปไตยและความเป็นอิสระจวบจนทุกวันนี้

ปัจจุบัน พื้นที่เดียวกันนี้ที่ท่าเรืออีสต์เอเซียติกครอบครองกำลังคืนไปสู่ความรุ่งโรจน์เดิมภายใต้ชื่อ “เอเชียทีคเดอะริเวอร์ฟร้อนท์” ด้วยครั้งแรกและเป็นที่ที่วิถีชีวิตริมฝั่งแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ตั้งอยู่บนแม่น้ำเจ้าพระยา” บทอรรถาธิบายของกลุ่มทีซีซี (http://www.asiatiquethailand.com) อย่างตั้งใจเชื่อมโยงกับอดีตอย่างเห็นภาพ (ยกข้อความสำคัญโดยไม่ตัดทอน)

ขั้นต่อมา—บริษัทอาณานิคม

จากทรัพย์สินที่จับต้องได้ สู่นามธรรม ขณะที่มีความหมาย มีคุณค่าทางธุรกิจมากขึ้นด้วย นั่นคือเข้าครอบงำเป็นเจ้าของธุรกิจซี่งมีตำนาน อย่างกรณีเสริมสุข

บริษัทเสริมสุข เกิดขึ้นจากความร่วมมือพันธมิตรตระกูลธุรกิจผู้ทรงอิทธิพลสังคมไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และสายสัมพันธ์กับธุรกิจอิทธิลพระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา—PEPSI   แต่ที่น่าสนใจกว่านั้น ไปไกลกว่านั้น คือกรณีบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์

“บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)การถือกำเนิดของหุ้นส่วนในประเทศไทย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2425

จากอดีตแห่งความภาคภูมิกว่า 135 ปีในประเทศไทย บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (“บีเจซี”) ในวันนี้ เป็นหนึ่งในบรรดาบริษัทชั้นนำของไทย ในการประกอบธุรกิจพาณิชยกรรมนำเข้า-ส่งออก การผลิตและการให้บริการ

จุดเริ่มต้นของบีเจซี มาจากหุ้นส่วนทางธุรกิจที่แข็งแกร่งระหว่างตระกูลเบอร์ลี่และตระกูลยุคเกอร์ ที่ได้ร่วมกันก่อตั้ง บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ อันเป็นหนึ่งในบริษัททางการค้ายุคแรก ๆ ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่งในราชอาณาจักรสยาม ในระยะแรกของการดำเนินธุรกิจนั้น บีเจซีได้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับโรงสีข้าว เหมืองแร่ ไม้สัก การเดินเรือ การนำเข้า และกิจกรรมทางธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งเป็นการวางรากฐานก่อนที่ประเทศไทยจะเริ่มพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม จากการที่บริษัทได้เลือกสรรและดูแลหุ้นส่วนของบริษัททั้งไทยและต่างประเทศเป็นอย่างดี ส่งผลให้บริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนกลายมาเป็น ผู้ประกอบการชั้นนำในธุรกิจนำเข้าและส่งออกรายหนึ่งของประเทศไทย และได้ขยายธุรกิจไปสู่ด้านการผลิตบรรจุภัณฑ์ และการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง”  เรื่องราวซึ่งบรรจงถ่ายทอดโดยเจ้าของใหม่(https://www.bjc.co.th ) ทั้งตั้งใจนำเสนอเรื่องราวชุดใหญ่ ผ่านสิ่งทีเรียกว่า พิพิธภัณฑ์ออนไลน์ด้วย

อีกขั้น -สายสัมพันธ์และเครือข่ายธุรกิจภูมิภาค

แผนการเข้าซื้อกิจการระดับโลก  ระดับภูมิภาค เป็นเรื่องครึกโครม คงไม่มีกรณีใดเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญ เท่ากับบุกเบิกธุรกิจภูมิภาค เข้าซื้อกิจการ Fraser and Neave หรือF&N  แห่งสิงคโปร์(ปี 2556) แม้ว่า F&N  จะเป็นบริษัทก่อตั้งในยุคอาณานิคม  มีตำนานสำคัญมากมาย มากกว่าเบอร์ลียุคเกอร์เสียอีก ทั้งมีขนาดและเครือข่ายธุรกิจใหญ่และกว้างขวางกว่ามาก  แต่ดูเหมือนว่ากลุ่มทีซีซีได้มองข้ามสัญลักษณ์ความเป็น “เจ้าของ” และ “ความยิ่งใหญ่” ไปสู่สิ่งที่สำคัญกว่า เป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งก็ว่าได้

ก่อนจะได้มาซึ่ง F&N  นั้นได้ผ่านกระบวนการทางธุรกิจ  ถือเป็นประสบการณ์ใหม่อีกขั้นหนึ่งของกลุ่มทีซีซี  ต่อเนื่องมาจากจุดตั้งต้นสำคัญ การนำบริษัทไทยเบฟเวอเรจ เข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์(ปี2549)

การดำรงอยู่และก้าวต่อไปในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นระดับภูมิภาค กับยุทธศาสตร์ธุรกิจใหญ่ซึ่งแตกต่างจากเดิมนั้น เป็นสาระสำคัญ  ประหนึ่งผู้คนโดดลงทะเลอันกว้างขว้างใหญ่  พละพลังและความสามารถเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด   ว่าไปแล้วเกี่ยวข้องกับการสร้าง “สายสัมพันธ์”ทางธุรกิจใหม่ ในมิติที่กว้างขึ้น

ภาพนั้นย่อมเชื่อมต่ออย่างต่อเนื่อง กับสายสัมพันธ์ที่เพิ่งสร้าง ให้ความสำคัญว่าด้วยความรู้ ประสบการณ์  และโอกาสใหม่ทางธุรกิจใหม่ๆ  ไม่ว่ากรณี ดีลKFC (2560 ) หรือ Starbucks ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้น  และเชื่อว่ากำลังเชื่อมโยงไปถึง TaiPan อย่าง Jardine Matheson

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: