ผ่านทาง…Starbucks

เวลาผ่านทาง  มีบางที่ บาง “เวลากาแฟ” เข้าตาอยู่เสมอ

คงเป็นเช่นที่เป็นมา ครั้งล่าสุดบนเส้นทางประจำก็เป็นเช่นนั้น ในช่วงเช้าๆ มุ่งสู่อีสาน จากวงแหวนตะวันออกปลายทางลงประตูน้ำพระอินทร์ เชื่อมต่อกับถนนหมายเลขหนึ่ง-พหลโยธิน  กม.ที่ 56 – 57  โครงสร้างอิฐแดง ปรากฏโดดเด่นเตะตา  นั่นคือร้านกาแฟStarbucks  จากนั้นไม่กี่กิโลเมตร ณ วังน้อย ถนนพหลโยธินกม.ที่ 66   Starbucks อีกแห่งปรากฏอยู่อีกด้าน ฝั่งขาเข้าเมืองหลวง 

ขาไป เช้าเกินไป มักจะผ่านเลย  ขณะขากลับ เข้ากับจังหวะและเวลาการเดินทาง  ถือโอกาสแวะพัก มิใช่แค่ “ขับผ่าน” 

Starbucks Drive Thru ทั้งสองแห่ง ยึดเส้นทางสัญจรสำคัญ ให้บริการผู้ผ่านทาง แบบไม่ต้องลงจากรถ ทว่าที่เห็นเป็นอยู่ ดูเหมือนมิใช่แค่นั้น มิใช่ร้านกาแฟ แค่จุดแวะพัก หากเป็นที่ ๆนำเสนอประสบการณ์ “เวลากาแฟ” อย่างไม่รีบร้อน

ฝั่งขาไป กับสถาปัตยกรรมอิฐแดงโดดเด่น ว่ากันว่าสะท้อนเอกลักษณ์อยุธยาเมืองโบราณ ดูจะไกลไปบ้าง   ส่วนฝั่งขากลับก้าวผ่านกาลเวลามาถึงยุคใกล้เข้า ร่องรอยเชื่อมโยงปัจจุบัน กับสถาปัตยกรรมยุคอาณานิคม อิทธิพลซึ่งสะท้อนสะเทือนถึงพระราชวังบางปะหินในรัชสมัยรัชการลที่5  มีรายละเอียด ตกแต่งภายในอย่างตั้งใจให้ดูดี มีสไตล์แห่งยุคสมัยสัมพันธ์กัน(โปรดชมภาพชุด Starbucksวังน้อย)    “เวลากาแฟ” ที่นี่ มิใช่แค่ที่ผ่านทาง  หากเป็นจุดแวะพักอันใคร่ครวญ ขยายจินตนาการ ว่าด้วย ศิลปะ วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ จะเชื่อมโยงถึงโลกาภิวัฒน์ด้วย ก็ย่อมได้

Starbucks ที่ไหนก็ไม่ธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากจุดตั้งต้น Starbucksพลิกโฉมหน้าในสหรัฐอเมริกา มาแค่3ทศวรรษ ทว่ามีเรื่องราวน่าทึ่งมากมาย ดัชนีอ้างอิงหลากหลาย ตั้งแต่ง่ายๆว่าด้วยตัวเลข จากตลาดหุ้นนิวยอร์ค จนถึงมุมมองลึกซึ้งจากหนังสือขายดี

ในช่วงราวทศวรรษมานี้ มีกระแสหนังสือนับสิบๆเล่มออกมา พากันเล่าขานถึง Starbucks ว่าด้วยตำนานมหัศจรรย์แห่งยุคสมัยของสังคมอเมริกัน ก่อนจะมีGoogle(2541)  Facebook(2547) และiPhone(2550)   

ดังเช่น หนังสือเล่มหนึ่ง(Starbucked: A Double Tall Tale of Caffeine, Commerce, and Culture) กล่าวถึงพลังและอิทธิพล Starbucks ต่อสังคมอเมริกันไว้อย่างเห็นภาพ America transformed into a nation of coffee gourmets in only a few years”

กระแสแรงปะทุมาถึงบ้านเรา หลังจาก Starbucksร้านแรกเปิดขึ้นที่เมืองไทย(2541) หนังสือแปลเกี่ยวกับ Starbucks ทะยอยสู่บรรณพิภพหลายต่อหลายเล่มเช่นกัน  อย่างเล่มนี้( Leading the Starbucks Way สุดยอดสตาร์บัคส์  ผู้เขียนJoseph A. Michelli ผู้แปล ศรชัย จาติกวณิช และประสิทธิ์ชัย วีระยุทธวิไล) สรุปความบางตอนไว้อย่างน่าทึ่ง

 “สตาร์บัคส์ คือหนึ่งในแบรนด์ดังระดับโลกซึ่งเป็นที่รู้จักและได้รับความชื่นชมมากที่สุด องค์กรแห่งนี้ได้เปลี่ยนการส่งมอบกาแฟที่แสนจะสามัญ ให้กลายมาเป็นปรากฎการณ์พิเศษด้านวัฒนธรรม ซึ่งใคร ๆ ก็อยากจะมีส่วนร่วมในประสบการณ์อันสุดแสนจะประทับใจ ที่ส่งผ่านสินค้าและการบริการที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักและความใสใจ”

ภาพใหญ่กว่านั้น Starbucks ยืนเด่นบนทางผ่านคลื่นแห่งยุคสมัย ใน“วัฒนธรรมกาแฟ”   หนังสือที่ผมชอบอ้าง(Real Fresh Coffee  โดย Jeremy Torz และ Steven Macatonia ) บอกว่า Starbucks เกิดขึ้นในช่วงเวลากาแฟคลื่นลูกที่หนึ่งกำลังถดถอย กาแฟสำเร็จรูป ผลผลิตจากโรงงานบรรษัทระดับโลกเพื่อลูกค้าวงกว้าง มียอดขายตกต่ำ ด้วยมีเครื่องดื่มทางเลือกเข้ามาแทรก  Starbucks สามารถนำพาผู้คนกับกาแฟเข้าถึงวิถีชีวิตใหม่ ณ ร้านกาแฟ ขยายวงเป็นพลังครึกโครม สู่กาแฟคลื่นลูกที่สอง ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับคุณภาพเมล็ดกาแฟ และวิธีทำ(Brewing  skills)

พลังอันเหลือเชื่อจากกาแฟคลื่นที่สอง  เป็นโมเมนตัม ส่งผ่านอย่างรวดเร็ว สู่กาแฟคลื่นลูกที่สาม ยังคงอบอวลในปัจจุบัน ผ่านร้านกาแฟอันหลากหลายเมืองทันสมัยทั่วโลกอย่างไม่เคยมาก่อน ไม่เพียงให้ความสำคัญคุณภาพเล็ดกาแฟ และวิธีทำ  หากห่วงโซ่คุณค่าได้ต่อเนื่องไปยังค้นธาร ถึงเกษตรกรสวนกาแฟ ดังหลายเรื่องราว(เกี่ยวกับกาแฟคลื่นลูกที่สาม) ผมได้นำเสนอมาบ้างในตอนก่อนๆ

ในบ้านเรา กระแสและอุบัติการณ์ร้านกาแฟพุ่งแรงเช่นกันในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา  ทั้งเครือข่ายธรกิจใหญ่มากันถ้วนหน้า กับร้านรายย่อยอิสระแทบนับไม่ถ้วน  เครือข่ายซึ่งกำเนิดและมีอันเป็นไปอยู่ตลอดเวลา  เชื่อว่าเป็นปรากฎการณ์ แรงกระเพื่อมต่อเนื่องมาจากStarbucks ขณะห่วงโซ่ธุรกิจกาแฟคึกคึกขยายวง คงมาจากพลังบวก Starbucks สร้างแบรนด์กาแฟไทย “ม่วนใจ๋” –Muan Jai® (2550)ด้วย

บนส้นทางพวก Start upธุรกิจร้านกาแฟ   Starbucks ย่อมเป็นจุดอ้างอิงและทางผ่านสำคัญ ทั้งระดับโมเดลสู่บุคลิก สไตล์ ลงไปจนถึงคู่มือบริหาร-บริการ ซึ่งจับต้องได้

สำหรับปัจเจก สำหรับ“คอกาแฟ” คนหนึ่ง  ก่อนจะมีเรื่องราวมากมาย ผ่านคอลัมน์”เวลากาแฟ” ที่นี่ Starbucks เป็นทางผ่านเช่นกัน  ผมเคยเป็นขาประจำหลายปี   “เวลากาแฟ”ผ่านไป สะสมดาวไป จนได้บัตรทองอะไรเทือกนั้น  รู้จัก Barista หนุ่มสาวหลายคน  แม้ผ่านมานานแล้ว บางคนยังอุตส่าห์ทักทายเมื่อเจอกันโดยบังเอิญ แม้บางคนย้ายทำงานที่อื่น บางคนผู้ถูกทักจำไม่ได้ จำต้องทบทวน “ผมอยู่สตาร์บัคส์ครับ”

ทางผ่าน ยกระดับ ดูกว้างและยาวไกล  คงจะเป็นเส้นทางใหม่อันตื่นเต้น สำหรับคนขายเหล้า  เบียร์ และเครื่องดื่มทั่วไป เพื่อก้าวไปสัมผัสประสบการณ์ใหม่ กับ “คอกาแฟ” กลุ่มคนผู้มีบุคลิกเฉพาะ  มีวิถีชีวิต และรสนิยมที่แตกต่าง…

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: