ธุรกิจเก่า ก็ปรับตัวได้

เบียร์สิงห์ กับตระกูลภิรมย์ภักดี ตำนานธุรกิจไทยยังคงอยู่อย่างมั่นคง  ทว่าหลายคนคงไม่รู้ว่าช่วงใกล้ๆขยับขยายเหลือเกิน

เรื่องราวเปิดฉากจากเบียร์ไทย  ด้วยตำนานบริษัทบุญรอดบริวเวอรี ธุรกิจครอบครัว ตระกูลเก่า-ภิรมย์ภักดี เจ้าของ  “เบียร์สิงห์” อยู่ในธุรกิจอย่างโฟกัสมาตั้งแต่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจากยุคสมบูรณายาสิทธิราช สู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี2475  แม้ว่าเผชิญกระแสลมเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ ๆ แต่สามารถผูกขาดมานานกว่า 60ปี

หากย้อนไปอ่านข่าวเก่าๆช่วงปี2525-2530 บางปีกรมสรรพากร รายงานรายชื่อผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดาสูงที่สุดในประเทศไทย  จะพบว่า คนในตะกูลภิรมย์ภักดี อยู่ในลิสต์หลายคน

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เกิดขึ้นในสมัยอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อรัฐบาลเปิดเสรีอุตสาหกรรมเบียร์ในปี2534  กับการปรากฏขึ้นคาแข่งสำคัญ-เบียร์ช้าง

เบียร์สิงห์ จากยุคผูกขาดตลอด60ปีแรก  ต้องมาเผชิญสถานการณ์สั่นไหวอย่างรุนแรงในช่วงคาบเกี่ยววิกฤติการณ์เศรษฐกิจไทยปี2538-2540  เบียร์สิงห์ต้องสูญเสียฐานะผู้นำตลาด ถือเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ยุคการแข่งขันและต่อสู้อันเข้มข้นกับเบียร์ช้าง  จากประสบการณ์การผูกขาดด้วยตนเอง สู่ประสบการณ์ใหม่ การเผชิญกับธุรกิจในโมเดลตกค้างจากการผูกขาดสุรา แผนการเชิงรุกของเบียร์ช้าง  ด้วยระบบการขายพ่วง

ทว่า“สิงห์”สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว เป็นบทพิสูจน์ ว่าธุรกิจที่มาจากการ “ผูกขาด” อย่างยาวนานสามารถปรับตัวได้ …2538 เริ่มการก่อสร้างโรงเบียร์ที่ขอนแก่น ซึ่งใช้เวลานาน 2 ปี และสามารถผลิตเบียร์ได้ถึง 2 แสนล้านลิตรต่อปี … 2541เบียร์ลีโอ เบียร์ใหม่ล่าสุดออกสู่ตลาดในเดือนมิถุนายน…. 2545จัดระเบียบเครือข่ายการกระจายสินค้าใหม่สร้างเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายและผู้รับเหมารายย่อยรวมกว่า 12, 000รายทั่วประเทศ   เชื่อว่าภาพลำดับเหตุการาณ์ข้างต้น คือความพยายามและความเคลื่อนไหวอย่างมีจังหวะก้าว เพื่อเข้าสู่การแข่งขันทางธุรกิจอีกระดับหนึ่ง ไม่ช้าไม่นานพิสูจน์ได้ว่าแผนการดังกล่าวได้ผล เบียร์ลีโอ สร้างตลาดใหม่ กลายเป็นผู้นำตลาดในฐานะแบรนด์ที่มียอดขายมากที่สุดในประเทศ บางช่วงบางเวลา บางตัวเลข ระบุว่ามีส่วนแบ่งตลาดเบียร์ไทยโดยรวมมากกว่าเบียร์สิงห์กับเบียร์ช้างรวมกัน” ผมเองเคยให้ภาพจุดเปลี่ยนนั้นไว้เมื่อไม่นานมานี้

มีการคาดการณ์กันว่าตลาดเบียร์ในประเทศไทยปัจจุบันมีมูลค่าราว ๆ 2  แสนล้านบาท เบียร์ไทยภายใต้โครงสร้างการต่อสู้ระหว่าง เครือข่าย “สิงห์”กับ”ช้าง” ครองส่วนแบ่งมากที่สุดถึง90%  “ช้าง”เองภายใต้บริษัทไทยเบฟฯ ซึ่งอยู่ในตลาดหุ้นสิงคโปร์ รายงานทางการเงินระบุว่ามีรายได้มากกว่า2แสนล้านบาท เกือบครึ่งหนึ่งมาจากเบียร์  หากเป็นเช่นนั้น เชื่อได้ว่ารายได้ของบุญรอดบริวเวอรี่ ส่วนใหญ่จากธุรกิจเบียร์  ต้องมากกว่า1แสนล้านบาทในแต่ละปี

ขณะที่ภาพชิ้นส่วนเล็ก ๆ ปรากฏ คนในตระกูลภิรมย์ภักดีบางคน ลงทุนสร้างอาณาจักรธุรกิจตนเองกันบ้างตามสมควร   แต่ภาพที่ชัดเจน  ภาพซี่งยังไม่มีใครวาดอย่างจริงจังมาก่อน อาจกล่าวอย่างกว้างๆ บุญรอดบริวเวอรี่ กับธุรกิจเบียร์(ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับคนในตระกูลบางคนซึ่งได้รับผลกระทบบ้างบางระดับ)ไม่อยู่ในวงจรแห่งวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจปี2540

วงจรซี่งเปิดฉากด้วย รัฐสั่งปิดกิจการสถาบันการเงินจำนวนมาก   เริ่มด้วยบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ถึง 58 แห่ง ถือเป็นภาวะล่มสลายที่รวดเร็วและรุนแรง   ภาวะล่มสลายส่งผลกระทบกว้างและลึกกว่าครั้งใด ๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับตระกูลธุรกิจเก่าทรงอิทธิพลกับธุรกิจการเงิน  ว่าไปแล้วตระกูลเหล่านั้นตั้งหลักได้ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเช่นเดียวกับ ตระกูลภิรมย์ภักดี

ในที่สุดก็มากระทบถึงแกนกลางสังคมธุรกิจไทย การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของระบบธนาคารพาณิชย์ ถือว่าส่งผลทบเชิงทำลายของรากฐานธุรกิจเดิมอย่างรุนแรง เริ่มต้นจากกับธนาคารขนาดกลางและเล็ก แต่ผลกระทบครอบคลุม และเกี่ยวข้องเครือข่ายธุรกิจดั้งเดิมจำนวนมาก    บริษัทไทยดั้งเดิมอย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ และเครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี  กิจการเกี่ยวข้องกับสถาบันสำคัญของประเทศตลอดมา ก็ต้องเผชิญปัญหาไม่น้อยเช่นกัน

หากนับไปแล้วธุรกิจไทย  ธุรกิจครอบครัวซึ่งก่อตั้งมานาน จะเข้าใกล้ศตวรรษแล้ว  ก็เห็นมีแต่ บุญรอดบริวเวอรี่กับตระกูลภิรมย์ภักดีเท่านั้น ยังคงเป็นเครือข่ายธุรกิจใหญ่ อยู่อย่างมั่นคง อยู่กับธุรกิจดั้งเดิมและขยายตัวอย่างช้าๆตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ที่น่าสนใจ ผ่านมาเกือบศตวรรษ เพิ่งจะขยับขยายอย่างจริงจัง เมื่อไม่นานมานี้

หากพิจารณาข้อมูลที่เปิดเผย(http://www.boonrawd.co.th) จังหวะก้าวสำคัญเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เป็นจังหวะอย่างกระชับกระชั้นทีเดียว

ปี2556  ช่วงคาบเกี่ยวสังคมไทยกำลังเผชิญความผันแปรทางการเมืองอย่างมากช่วงหนึ่ง  “เพื่อการขยายตลาดในต่างประเทศ สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จับมือกับทีมฟุตบอลระดับโลกเริ่มต้นด้วยทีมแมนเชสเตอร์ซิตี้ และต่อมา แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด  เชลซีฟุ๊ตบอลล์คลับ และเลสเตอร์ซิตี้ นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้จับมือกับรถแข่งสูตรหนึ่งและทีมรถแข่งระดับโลกอย่างเรดบูลและเฟอร์รารี่ด้วย”ข้อมูลของบุญรอดบริวเวอรี่ ได้เปิดแผนเชิงรุกในตลาดต่างประเทศอย่างจริงจัง

เพียงปีถัดมา(2557) ในช่วงเวลาฉลองครบรอบ8ทศวรรษ บุญรอดบริวเวอรี่ กับช่วงเวลาสังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ด้วยการรัฐประหารอีกครั้ง( 20 พฤษภาคม 2557) ได้มาซึ่งรัฐบาลทหาร  จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม อาจสะท้อนถึงความมั่นใจหรือจังหวะเวลาที่ควร  “ก่อตั้งบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) เป็นการขยายธุรกิจเข้าไปสู่ด้านอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ ได้เริ่มขยายธุรกิจไปทางด้านอาหารและเครื่องดื่มอื่น ๆ และธุรกิจพลังงานด้วยเช่นกัน” (อ้างแล้ว http://www.boonrawd.co.th)   หากตรวจสอบช่วงเวลาอย่างเจาะจง พบว่าบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อกิจการซึ่งจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือที่เรียกกันว่า Backdoor Listing  และทำการซื้อขายหุ้นตามปกติอีกครั้ง เมื่อ26 กันยายน2557

เนื่องจากบุดรอดบริวเวอรี่ไม่ได้อยู่ในตลาดหุ้น และดูเหมือนไม่พยายามจะนำเข้าตลาดหุ้นแต่ไหนแต่ไรมา  เรื่องราวและข้อมูลที่จำเป็น จึงไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะชนเท่าที่ควร

แม้ว่าบางส่วนมีการลงทุนในบริษัทซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นบ้าง ก็ไม่มีข้อมูลเชื่อมโยงถึงบุญรอดบริเวอรี่โดยตรง   เช่น เป็นผุ้ถือหุ้นรายสำคัญฝ่ายไทยในบริษัทฝาจีบ(ก่อตั้งปี2511 เข้าตลาดหุ้นปี2520) ร่วมทุนกับToyo Seikan Group แห่งญี่ปุ่น  เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายฝาสำหรับปิดผนึกภาชนะประเภทขวด

มีอีกกรณี( เข้าตลาดหุ้น 2561) บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน)ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม อาหาร และยา ถือหุ้นฝ่ายบริษัทบางกอกกล๊าส เชื่อกันว่าบุญรอดบริวเวอรี่ ถือหุ้นข้างมาก ด้วยผู้บริหารคนสำคัญเป็นรุ่นที่4ของตระกูลภิรมย์ภักดี

เท่าที่พิจารณา มีข้อมูลเกี่ยวข้องกับธุรกิจเบียร์บ้าง “คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์แก้วในประเทศไทยจะเติบโตขึ้นเป็น 84.5 พันล้านบาท และมีการใช้บรรจุภัณฑ์จำนวนทั้งสิ้น 11,826 ล้านหน่วย ในปี 2565 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ร้อยละ 3.2และร้อยละ 3.3 เมื่อคิดตามมูลค่าและจำนวนตามลำดับ โดยการเติบโตของตลาดบรรจุภัณฑ์แก้วยังคงเป็นการเติบโตจากการบริโภคเครื่องดื่มไม่ผสมและผสมแอลกอฮอล์เป็นหลัก)”จากรายงานประจำปี 2561บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน)

ทว่าปรากฏการณ์สิงห์ เอสเตท ทำให้มุมมองเกี่ยวกับกลุ่มบุญรอดบริเวอรี่ ปรับเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

ในช่วง5 ปีที่ผ่านมาสิงห์ เอสเตท เดินแผนเชิงรุกอย่างมาก ๆ  ถือเป็นหนึ่งในกิจการซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ดำเนินแผนการลงทุน ซื้อกิจการ เพื่อขยายสินทรัพย์อย่างรวดเร็ว อย่างมากที่สุดกรณีหนึ่ง พิจารณาเฉพาะสินทรัพย์เติบโตกว่า 5เท่าในช่วง 5  ปีที่ผ่านมา(2557-2561 ) จากระดับ 11,288  ล้านบาทเป็น 58,930 ล้านบาท (อ้างอิงจากข้อมูลนำเสนอ Analyst meeting 1Q2019 22nd May 2019) อันที่จริง  รายได้ก็เพิ่มขึ้นมากทีเดียว ทว่าเป็นการเพิ่มจากฐานในระดับที่ต่ำมาก(เพียง370ล้านบาทในปี2557 เป็น7,539ล้านบาทในปี2561)

สิงห์ เอสเตท เป็นมหากาพย์ใหม่ของบุญรอดบริเวอรี่อย่างแท้จริง  ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ถือว่าเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันอย่างเสรีอย่างเต็มที่ เป็นธุรกิจซึ่งอ่อนไหวกับสถานการณ์อย่างมากด้วย  นับเป็นเครือข่ายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่รายใหม่อย่างแท้จริง   มีทั้งธุรกิจอาคารสำนักงานพื้นที่กว่า125,000ตารางเมตร ที่พักอาศัยมากกว่า20โครงการ  มูลค่าการลงทุนเกือบๆ45,000ล้านบาท กับธุรกิจโรงแรมเกือบๆ40แห่ง มีจำนวนห้องมากกว่า45,000ห้อง

ยุทธศาสตร์ธุรกิจเชิงรุกข้างต้น มาจากแผนการลงทุนและการเข้าซื้อกิจการ  ทั้งจากกิจการดั้งเดิมของคนตระกูลภิรมย์ภักดี   ลงทุนใหม่ เข้าถือหุ้นข้างมากในกิจการอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่ตลาดหุ้น(ถือเป็น Backdoor Listing  อีกกรณีหนึ่ง) ร่วมทุนกับเครือข่ายธุรกิจระดับโลก อย่างHongkong Land(ในเครือข่ายJardine Matheson )

ที่น่าสนใจมาก ๆ ร่วมทุนกับนักธุรกิจไทยเชื้อสายอินเดีย(ในนามFICO)  ซื้อกิจการโรงในสก๊อตแลนด์ถึง29แห่ง(ปี2559)ด้วยเงินลงทุน(เฉพาะฝ่ายสิงห์ฯ) 156ล้านดอลลาร์สหรัฐ(หรือเกือบๆ5,000 ล้านบาท) ไปจนถึง ลงทุนในเครือข่ายโรงแรมระดับโลก(ปี2561) Outrigger (เครือข่ายโรงแรมกำเนิดบนเกาะฮาวาย ขยายตัวมาหมู่เกาะแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย) ด้วยเงินถึง 236 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(หรือกว่า7,000ล้านบาท )

ภาพของ “สิงห์” เปลี่ยนไปแล้วจริง ๆ

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: