เรื่องเกี่ยวเนื่องก่อนหน้า
มกราคม 2564-สยามไบโอไซเอนซ์
จากนี้ซื่อนี้ จะเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น
เชื่อมโยงกับข่าวที่น่าตื่นเต้น และน่าสนใจมาก ๆ เปิดฉากขึ้นเพื่อต้อนรับปีใหม่2564 “ กระทรวงสาธารณสุข เผยไทยเริ่มผลิตวัคซีนโควิด 19 ในประเทศแล้ว โดยเป็นวัคซีนที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และบริษัทแอสตราเซนเนก้า กำลังการผลิตได้ปีละ 200 ล้านโด๊ส จะทยอยส่งมอบล็อตแรกในเดือนพฤษภาคม 2564 ….” (อ้างจาก สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 3 มกราคม 2564)
สาระตอนหนึ่งในถ้อยแถลงทางราชการ ได้กล่าวถึงธุรกิจเอกชนรายหนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างมาก และกำลังทำงานอย่างเข็งขัน “บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี จากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2563..”
ความจริง เรื่องราวอันครึกโครมเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นเมื่อมีดีลใหญ่ เป็นความตื่นเต้นครั้งใหญ่ ตั้งแต่ สยามไบโอไซเอนซ์ ก่อตั้งขึ้น ก็ว่าได้ “กระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี และแอสตร้าเซนเนก้า ผนึกกำลังผลิตวัคซีนโควิด-19 สำหรับไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งเป้าพร้อมใช้กลางปีหน้า” ( 12ตุลาคม 2563 อ้างจาก https://scgnewschannel.com/) มีสาระโดยสรุป กระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ เครือซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี และแอสตร้าเซนเนก้า(AstraZeneca ) บริษัทผู้ผลิตชีวภัณฑ์ระดับโลก แห่ง อังกฤษ-สวีเดน ร่วมลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) ในการผลิตและจัดสรรวัคซีนวิจัยป้องกันโควิด-19 AZD1222 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด( Oxford University)
เรื่องราวและภาพนั้น มีความหมายพอควร
ศูนย์กลางของภาพ ปรากฏบุคคล 3คน- อนุทิน ชาญวีรกูล(ซ้ายมือ) รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) พล.อ.อ. สถิตย์พงษ์ สุขวิมล (กลาง)ระบุตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด(ตามภาพข่าว) ผู้เข้ามาแทนดร.เสนาะ อูนากูล ที่จริงแล้วพล.อ.อ. สถิตพงษ์ สุขวิมล มีอีกหลายตำแหน่งที่ต่อเนื่อง เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ ประธานกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์(ตั้งแต่ปี2560) และประธานกรรมการ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัดหรือเอสซีจี(ตั้งแต่ปี2561)
ที่น่าสังเกตคนขวามือ เป็น รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ทั้งนี้ในถ้อยแถลงตัวเขาเองมีบางตอนสะท้อนที่ไปที่มาไว้ให้เห็นความเชื่อมโยง “มีความยินดีที่ได้เป็นผู้ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด ซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมงานด้านงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกับเอสซีจีมายาวนาน”
ขณะที่ตัวแทนแอสตร้าเซนเนก้า(AstraZeneca) กล่าวถึงเป้าหมายที่มีความหมายกว้าง ด้วยความร่วมมือหลายฝ่ายโดยมีเอสซีจีอยู่ในภาพนั้นด้วย “การเปิดกว้างให้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียม และทันเวลา เป็นปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 วันนี้จึงเป็นก้าวสำคัญสู่เป้าหมายดังกล่าว ความเป็นผู้นำและการสนับสนุนของรัฐบาลไทย ความร่วมมือของเอสซีจี และความเชี่ยวชาญด้านการผลิตระดับโลกของสยามไบโอไซเอนซ์ สร้างความเชื่อมั่นว่าจะสามารถผลิตวัคซีน AZD1222 รองรับทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
AstraZeneca บริษัทยาและชีวเภสัชภัณฑ์ของอังกฤษ-สวีเดน มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเคมบริดจ์ (Cambridge) ประเทศอังกฤษ ก่อตั้งขึ้นในปี2542 ด้วยการควบรวมกิจการระหว่าง Astra แห่งสวีเดนและZenecaแห่งหราชอาณาจักร
AstraZeneca นอกจากจะจดทะเบียนในตลาดหุ้นลอนดอน (London Stock Exchange) แล้ว ยังจดทะเบียนในตลาดหุ้นอื่น ๆอีกหลายแห่ง คือ Nasdaq OMX Stockholm แห่งสวีเดน Nasdaq New Yorkแห่งสหรัฐอเมริกา Bombay Stock Exchange และ National Stock Exchange แห่งอินเดีย ในเดือนกรกฎาคม2563 AstraZeneca ได้ประกาศความร่วมมือผลิตวัคซีน จากค้นความวิจัยโดย Oxford University
กรณีกับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ตามข้อตกลงนั้น AstraZeneca จะถ่ายทอดเทคโนโลยีและร่วมมือในการติดตั้งกระบวนการผลิต ให้รองรับการผลิตวัคซีนจำนวนมาก โดยไม่มุ่งหวังผลกำไร ตามแผนจะสามารถผลิตเพื่อใช้ได้ก่อนกลางปี2564 เชื่อว่าเป็นแหลังผลิตวัคซีนใหญ่ คนไทยจะได้ใช้
ดูไปแล้ว ก็น่าเชื่อจะเป็นเช่นนั้น “ปัจจุบันอยู่ในขั้นการทดสอบการผลิตเพื่อให้ได้วัคซีนที่มีคุณภาพดี มีมาตรฐานเทียบเท่ากับมาตรฐานกลาง ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับโรงงานผลิตทั่วโลก ภายใต้บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า มีกำลังผลิตประมาณ 200 ล้านโด๊สต่อปีหรือเดือนละ 15 ถึง 20 ล้านโด๊ส’’ ผู้บริหารสยามไบโอไซเอนซ์ แถลงไว้ในงานที่กล่าวถึงตอนต้น
สยามไบโอไซเอนซ์ ไม่เพียงมีบทบาทางสังคม ท่ามกลางวิกฤติการณ์COVID-19 หากจะเป็น “พลังขับเคลื่อนใหม่”ในเครือข่ายธุรกิจเก่าแก่?