เอสซีจี กับ เอสบีเอส

 พฤษภาคม 2560 –ทุนลดาวัลย์ กับสยามไบโอไซเอนซ์

หมายเหตุ  ปลายปี2561 หลังจากมีพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๕๖๑ โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เปลี่ยนเป็นสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์  ทั้งดร.เสนาะ อูนากูล ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา และ ยศ เอื้อชูเกียรติ ได้พ้นบทบาทในตำแหน่งต่างๆ ที่กล่าวถึงในข้อเขียน

(1)

ผมสนใจเรื่องราว ข่าวนี้เช่นกัน

“วันที่ 5 พฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้เดินทางไปที่บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ตำบลบ้านใหม่ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี …โรงงานผลิตไบโอฟาร์มาอย่างครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย”( http://www.matichon.co.th/ 5 พฤษภาคม 2560)

ขณะเดียวกัน ข่าวทางการทำเนียบรัฐบาล(http://www.thaigov.go.th/news/ ) ได้รายงานด้วย โดยได้กล่าวบุคคลสำคัญคนหนึ่ง —ดร.เสนาะ อุนากูล ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท สยาม ไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งได้กล่าวรายงาน มีอีกบางตอนที่น่าสนใจ “บริษัท สยาม ไบโอไซเอนซ์ จำกัด จะนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ออกสู่ประชาชน หรือออกจากหิ้งมาสู่ห้าง …เพื่อให้อุตสาหกรรมไบโอฟาร์มาสามารถช่วยชับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างเสริมความมั่นคงด้านสุขภาพได้เป็นอย่างดีหลาย ๆ ประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ รัสเซีย บราซิล ได้ออกมาตรการส่งเสริม โดยเน้นการให้สิทธิพิเศษในการจัดซื้อแก่ผู้ผลิตในประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการลงทุน ทั้งจากแหล่งทุนในประเทศและต่างประเทศ รวมไปถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ประเทศดังกล่าวอีกด้วย”

เรื่องราว ดร.เสนาะ อูนากูล กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ มีเค้าโครงและแนวคิดสำคัญปรากฏไว้ในหนังสือชีวประวัติของเขา

“ขณะที่ผมลงมือเขียนหนังสือเล่มนี้เมื่อปี พ.ศ.2552 ผมตั้งใจว่าเมื่อเขียนหนังสือเสร็จ จะใช้เวลาในการพักผ่อนและปฏิบัติธรรมมากขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่าผมยังต้องทำงานชิ้นใหญ่อีกชิ้นหนึ่งตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา นั่นคือการพัฒนาอุตสาหกรรมยาชีววัตถุในประเทศ ซึ่งเป็นยาประเภทโปรตีน ที่มีอยู่ในประเทศไทยมีเฉพาะยาที่ทำจากสารเคมี ซึ่งไม่สามารถรักษาโรคจำนวนมากได้ เรื่องนี้มีความจำเป็นมาก เนื่องจากในปัจจุบัน สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ ซึ่งภาระทางด้านการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจะเป็นโจทย์ที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายมหาศาลที่จะต้องสูญเสียไปกับการนำเข้ายาชีววัตถุที่ประเทศไทยไม่สามารถผลิตได้เอง

ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตยาชีววัตถุ แม้กระทั่งยาชีววัตถุคล้ายคลึง (biosimilars) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคแพ้ภูมิตัวเอง (autoimmune disease) และยังไม่ต้องพูดถึงยาชีววัตถุต้นแบบ เนื่องจากการวิจัยและพัฒนายาประเภทนี้ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ต้องใช้เวลายาวนานนับสิบปี การขาดความสามารถในการผลิตยาชีววัตถุทำให้ผู้ป่วยไทยต้องประสบปัญหายาราคาแพง และมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงยา อย่างไรก็ตาม 4-5 ปีต่อจากนี้ จะมียาหลายชนิดที่หมดสิทธิบัตร ผมจึงคิดว่านี่เป็นช่วงจังหวะที่ดีที่ประเทศไทยจะพัฒนาอุตสาหกรรมยาชีววัตถุคล้ายคลึงในประเทศ ทั้งเพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของประเทศ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น และเพื่อส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ได้จากการวิจัยเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม อันเป็นการเชื่อมโยงการวิจัยสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ ที่สำคัญ จะทำให้ประชาชนเข้าถึงยาที่มีคุณภาพสูงในราคาที่เหมาะสมได้มากขึ้น”

บางตอนจากหนังสือ “พลังเทคโนแครต ผ่านชีวิตและงานของ เสนาะ อูนากูล” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน (ปรับปรุงใหม่จากหนังสือ “อัตชีวประวัติและงานของ เสนาะ อูนากูล” พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2552 โดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย)

ดร. เสนาะ อูนากูล เป็นข้าราชการผู้โดดเด่น และมีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะทำงานอย่างต่อเนื่องในฐานะผู้บุกเบิกหน่วยงานเกี่ยวกับการวางแผนทางด้านเศรษฐกิจ-สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จนขึ้นตำรงตำแหน่งเลขาธิการ(ครั้งแรก 2516-2518 ครั้งที่สอง 2523-2532) รวมทั้งมีบทบาทด้านโยบายการเงิน (ผู้ว่าแบงก์ชาติ2518-2522) ถือว่าเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในยุคปรับโครงสร้าง นโยบายทางเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับอิทธิพลสหรัฐอเมริกาในยุคสงครามเวียดนาม

หลังจากอยู่เงียบๆพอนานสมควร เขาเข้ามีบทบาททางการเมืองช่วงสั้นๆ หลังการัฐประหารปี2534 ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน

จากนั้นไปมีบทบาทางธุรกิจในฐานะประธานและประธานกรรมการบริหารธนาคารเอเชีย( 2535-2538) ในช่วง ตระกูลเอื้อชูเกียรติ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และ ยศ เอื้อชูเกียรติ ยังเป็นผู้บริหารสำคัญ

ที่สำคัญ ดร. เสนาะ อูนากูล เข้าเป็นกรรมการบรษัทปูนซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี(2535-2558) และกรรมการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพรtมหากษัตริย์(2536-ปัจจุบัน)

นอกจากนี้สื่อบางแห่งได้รายงานความเคลื่อนไหวของบริษัท สยาม ไบโอไซเอนซ์โดยตรง โดยเฉพาะอ้างถึง อภิพร ภาษวัธน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เปิดเผยแผนยการการดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตยาไบโอฟาร์มาแห่งที่ 2 มูลค่า 3 พันล้านบาท โดยเป็นการร่วมทุนกับคิวบาภายใต้ชื่อบริษัท ABINIS โดยบริษัท สยาม ไบโอไซเอนซ์ ถือหุ้นใหญ่ 70% ที่เหลือคิวบาถือหุ้น 30% คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562(จะขอเพิ่มเติมในตอนต่อไป)

ข่าวเกี่ยวกับเรื่องสำคัญข้างต้น ตบท้ายด้วยข้อมูลพื้นฐานอย่างคร่าวๆโดยระบุว่าบริษัท สยาม ไบโอไซเอนซ์ ก่อตั้งโดยบริษัททุนลดาวัลย์ จำกัด(กิจการในเครือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)

เกี่ยวกับทุนลดาวัลย์ ผมเองเคยเสนอมาบ้าง มานานพอสมควร (ปี2552 )

“ทุนลดาวัลย์ ผู้คนเริ่มสนใจมากขึ้น ในฐานะกิจการลงทุนใหม่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ปรากฏรายชื่อในฐานะผู้ถือหุ้นรายเล็กในกิจการตลาดหุ้นหลายแห่ง นอกจากนี้ยังมีการลงทุนอย่างเงียบๆอีกบางกิจการ เท่าที่ทราบเป็นสร้างยุทธ์ศาสตร์ใหม่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ จากเคยเป็นกิจการที่มีผู้มาเสนอขอร่วมทุน หรือในฐานะดูแลกิจการสำคัญโดยเฉพาะธนาคารไทยพาณิชย์ และเอสซีจี ที่เกิดขึ้นตามกรรมต่างวาวระ มิใช่ยุทธ์ศาสตร์ร่วม จากองค์กรเก่าที่ส่วนใหญ่ทำหน้าที่บริหารจัดที่ดินแบบดั้งเดิม มาเป็นองค์กรที่แสวงโอกาสใหม่เพื่ออนาคต” โดยระบุว่า สำนักงานทรัพย์สินฯ จัดตั้งบริษัททุนลดาวัลย์ ขึ้นมาประมาณปี 2544

เท่าที่ปรากฏข้อมูล(นำมาจากประวัติคณะกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี) ปรากฏว่าคณะกรรมการเอสซีจีส่วนหนึ่ง เป็นคณะกรรมการบริษัททุนลดาวัลย์ด้วย

ที่น่าสนใจ ยศ เอื้อชูเกียรติ หลังจากขายกิจการธนาคารเอเชียไปแล้ว เขาเข้ามามาเป็นที่ปรึกษาการลงทุนและการเงิน สำนักงานทรัพย์สินฯ ตั้งแต่ 2540 ในปีต่อมา(2541) เข้าเป็นกรรมการเอสซีจี และตั้งแต่ 2544 ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บริษัททุนลดาวัลย์ จำกัด

จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ ในฐานะประธานกรรมการเอสซีจี ก็ดำรงตำแหน่งกรรมการทุนลดาวัลย์ ตั้งแต่ปี2549 ซึ่งเข้าใจเป็นช่วงเดียวกันกับการเข้ามาของกรรมการอีกคน —พนัส สิมะเสถียร( อดีตรัฐมนตรีคลัง และกรรมการสำนักงานทรัพย์สินฯตั้งแต่ปี2543)

ส่วน ชุมพล ณ ลำเลียง อดีตผู้จัดการใหญ่เอสซีจี ปัจจุบันเป็นทั้งกรรมการเอสซีจีและธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นกรรมการทุนลดาวัลย์ในปี2554

เมื่อพิจารณาเรื่องราวสยามไบโอไซเอนซ์ กับบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรง เรื่องราวยิ่งน่าสนใจมากขึ้น

นอกจากดร.เสนาะ อูนากูล เป็นประธานกรรมการ แล้ว ได้ปรากฏรายนามกรรมการอื่นๆที่น่าสนใจอีก กลุ่มแรกมาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ นายแพทย์ อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลคนปัจจุบัน และ อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา แห่งศิริราชพยาบาล ในฐานะประธานวิชาการของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยและดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์

อีกกลุ่มหนึ่ง เป็นทั้งอดีตผู้บริหารเอสซีจี คือ อภิพร ภาษวัธน์ อดีตผู้จัดการใหญ่กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ และ อวิรุทธ์ วงศ์พุทธพิทักษ์ อดีตผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่เอสซีจี รวมทั้ง ผู้บริหารเอสซีจีในปัจจุบัน อย่าง ชลณัฐ ญาณารณพ รองผู้จัดการใหญ่ และผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ กลุ่มที่สองดังกล่าว มีบทบาททั้งในภาพใหญ่และเกี่ยวกับธุรกิจโดยตรง

 (2)

ทุนลดาวัลย์ กับสยามไปโอไซเอนซ์ กิจการวิจัยพัฒนาและผลิตยาไบโอฟาร์มา ถือเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ บุกเบิกธุรกิจใหม่อย่างแท้จริง

ความพยายามเข้าสู่ธุรกิจใหม่ มาจากมุมมองด้วยสายตายาวไกล ด้วยความเชื่อมั่นแนวโน้ม ความยั่งยืนมีมิติทางสังคมมากเป็นพิเศษ ธุรกิจซึ่งต้องลงแรงใช้เวลาพอสมควร และลงทุนค่อนข้างมาก อย่างต่อเนื่อง

ว่าไปแล้วคงไม่มีธุรกิจใดในสังคมไทย เหมาะไปกว่าทุนลดาวัลย์ในฐานะกิจการในเครือสำนักงานทรัพย์สินฯ

จากข้อมูลพื้นฐาน “บริษัท สยาม ไบโอไซเอนซ์ ก่อตั้งโดยบริษัททุนลดาวัลย์ จำกัด (กิจการในเครือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)” สะท้อนบทบาททุนลดาวัลย์มีอยู่อย่างกว้างขวางและหลากหลาย รวมทั้งเกี่ยวข้องกับการลงทุนในมิติที่แตกต่างสำคัญอื่นๆ ซึ่งเชื่อว่าเป็นยุทธศาสตร์เชื่อมโยงกัน

ข้อมูลสำคัญที่เปิดเผยและเป็นที่รู้กันในแวดวงตลาดทุน บริษัทปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี (ในตลาดหุ้นใช้ชื่อย่อที่แตกต่างออกไป-SCC) กับธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เป็นกิจการหลักสำคัญซึ่งสำนักงานทรัพย์สินฯ ถือหุ้นใหญ่ที่สุด ประมาณ 30% และ 21% ตามลำดับนั้น ยังปรากฏด้วยว่ามีบริษัททุนลดาวัลย์ ในฐานะผู้ถือหุ้น 10 อันดับแรกของบริษัททั้งสองอยู่ด้วย

หากติดตามความเคลื่อนไหวในช่วงหลายปีมานี้ พบว่าสัดส่วนถือหุ้นมีความเคลื่อนไหว มีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง

ความจริงแล้ว ผมเคยนำเสนอเรื่องราวและผู้คนซึ่งเกี่ยวข้องกับทุนลดาวัลย์ อย่างกระจัดกระจาย หากนำ “ชิ้นส่วน” เหล่านั้นมาปะติดปะต่อ เชื่อว่าจะให้ภาพกว้างๆ เชื่อมโยงกันบ้าง

 ยศ เอื้อชูเกียรติ

บุคคลสำคัญควรกล่าวถึงตั้งแต่ต้น ในฐานะประธานกรรมการบริหารบริษัททุนลดาวัลย์ ซึ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2544 หลังจากก่อตั้งทุนลดาวัลย์ไม่นาน

“ยศ เอื้อชูเกียรติ ตั้งใจวางมือจากธุรกิจเพื่อทำงานให้กับสำนักงานทรัพย์สินฯ เริ่มต้นเป็นที่ปรึกษาตั้งแต่ปี 2537 ต่อมาอีก 3 ปี เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ และคณะกรรมการบริหารบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จนปี 2541 เป็นกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จากนั้น (ปี 2544) จึงเข้ามาบริหารอย่างเต็มตัว เข้าดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารบริษัททุนลดาวัลย์ และประธานกรรมการบริษัทวังสินทรัพย์ ซึ่งเป็นกิจการลงทุนใหม่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ในความพยายามดำเนินการอย่างคล่องตัวในเชิงธุรกิจมากขึ้น” ผมเคยเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ ยศ เอื้อชูเกียรติ (ต้นปี 2555) ให้ภาพเชื่อมโยงและต่อเนื่อง

ยศ เอื้อชูเกียรติ ถือเป็นนักบริหารผู้มีประสบการณ์เชี่ยวกรำ มีพื้นฐานประสบการณ์ธุรกิจครอบครัวสำคัญในสังคมธุรกิจไทย กับเศรษฐกิจไทยช่วงเปลี่ยนผ่าน จากยุคต้นๆ สงครามเวียดนาม สู่ยุคเฟื่องฟู เชื่อมกับโลกาภิวัตน์ จนมาสิ้นสุดวงจรหนึ่ง เมื่อวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจมาเยือนเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว จากวางรากฐานอุตสาหกรรมสำคัญๆ ใหม่ๆ สู่ธุรกิจธนาคารซึ่งเป็นใจกลางสังคมธุรกิจไทยพักใหญ่

“ในฐานะผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมพีวีซี และสร้างสายสัมพันธ์เชิงคุณค่ากับธุรกิจญี่ปุ่น (ปัจจุบันคือ Mitsui Chemicals) ในช่วงสำคัญช่วงหนึ่งทั้งการถือหุ้นและเทคโนโลยี ในมิติที่กว้างถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของสังคมและวัฒนธรรมพลาสติกไทยซึ่งเริ่มต้นอย่างจริงมาตั้งแต่เมื่อ 3-4 ทศวรรษ ก่อนจะการส่งเสริมอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์อย่างขนานใหญ่” (อ้างแล้ว) เรื่องราวข้างต้นสัมพันธ์กับเครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจีอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะเมื่อเอสซีจีได้ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้ว

ประสบการณ์สำคัญมากๆ ของ ยศ เอื้อชูเกียรติ คือผู้บริหารธนาคารไทย (ธนาคารเอเชีย ปัจจุบัน คือนาคารยูโอบี) ตลอดช่วง 2 ทศวรรษ ท่ามกลางสถานการณ์ผันแปรของระบบเศรษฐกิจไทย และความขัดแย้งภายใน เขาได้แสดงความสามารถในการพัฒนาธนาคารให้ก้าวหน้าไป และนำพาธนาคารถือเป็นรายแรกๆ ก้าวพ้นวิกฤตล่มสลายธนาคารครอบครัวไทย

หลายคนซึ่งให้ความสำคัญ “สายสัมพันธ์” เชื่อว่า การมาของ ยศ เอื้อชูเกียรติ มีความเป็นไปได้ มีความสัมพันธ์ไม่มากก็น้อยกับ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ ด้วยทั้งสองเป็นคนรุ่นเดียวกัน เคยใช้ชีวิตช่วงการศึกษาเล่าเรียนด้วยกันพักใหญ่ที่อังกฤษ

เรื่องราวยศ เอื้อชูเกียรติ กับทุนลดาวัลย์ มีความเกี่ยวข้องกันมากกว่านั้น

ที่จริงเขาเพิ่งละทิ้งธุรกิจครอบครัว เพื่อมุ่งมั่นภารกิจใหม่ราวปี 2554 มานี้เอง ด้วยการลาออกจากประธานกรรมการบริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ หรือ TPC กิจการสำคัญในธุรกิจครอบครัวของตระกูลเอื้อชูเกียรติ ซึ่งมีมายาวนาน 4 ทศวรรษ

ทั้งนี้ เป็นไปตามกระบวนการเอสซีจีเข้าครอบงำ TPC (ถือหุ้นใหญ่อย่างเบ็ดเสร็จ) ภาพใหญ่ดำเนินตามแผนการหลอมรวมและสร้างปึกแผ่นธุรกิจเคมีภัณฑ์ ซึ่งได้กลายเป็นกลุ่มธุรกิจหลักที่ใหญ่ที่สุดของเอสซีจีไปแล้ว ยังให้ภาพอีกภาพหนึ่ง เชื่อมโยงกับบทบาททุนลดาวัลย์ด้วย

“เอสซีจีเคมีคอล (กิจการในเครือเอสซีจี) ซื้อหุ้น TPC โดยใช้เงินประมาณ 8,000 ล้านบาท ปรากฏว่าเงินจำนวนมากที่สุดประมาณ 5,000 ล้านบาท จ่ายให้กับบริษัททุนลดาวัลย์เจ้าของหุ้นประมาณ 19% ส่วนยศและตระกูลเอื้อชูเกียรติคนอื่นๆ ได้เงินรวมกันไม่น้อยเช่นกัน ประมาณ 3,000 ล้านบาท” (ข้อเขียนเรื่อง “ยศ เอื้อชูเกียรติ” อ้างแล้ว) เรื่องราว TPC กับเอสซีจี มีความสัมพันธ์กันมาตั้งแต่ปี 2536 ในช่วงต้นๆ เข้าสู่ธุรกิจเคมีภัณฑ์ โดยเอสซีจีเข้าถือหุ้นข้างน้อย ต่อมาปี 2547 เอสซีจีได้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นทะลุ 60% จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

นี่คือภาพตัวอย่าง แสดงบทบาททางธุรกิจที่เป็นจริง ในฐานะทุนลดาวัลย์ เป็นกิจการเพื่อการลงทุน เกี่ยวข้องดีลต่างๆ เรื่องราวปรากฏมักผ่านกลไกตลาดหุ้น

หากติดตามความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทยอย่างไกล้ชิด จะพบว่าทุนลดาวัลย์เข้าไปซื้อหุ้น-ขายหุ้น เช่น กองทุนด้านสื่อสาร หรือมีบทบาทในฐานะสนับสนุน Start up เช่น กรณีเข้าไปถือหุ้นสายการบินนกแอร์ในช่วงก่อนเข้าตลาดหุ้น เป็นต้น

กรณีบริษัทคริสเตียนี และนีลเส็น

เรื่องราวอีกกรณีหนึ่งซึ่งน่าสนใจเช่นกัน ทุนลดาวัลย์ได้ก้าวเข้ามาจัดการแก้ปัญหากิจการ ซึ่งตกทอดจากความสัมพันธ์ธุรกิจอันยาวนาน

บริษัทคริสเตียนี และนีลเส็น มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ตั้งแต่วิศวกรและนายทหารแห่งกองทัพเรือเดนมาร์ก ร่วมกันก่อตั้งเมื่อปี 2447 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ในช่วงต้นๆ กิจการในประเทศไทยเป็นเพียงเครือข่ายธุรกิจซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่ Copenhagen ประเทศเดนมาร์ก

ในเวลาต่อมา สำนักงานทรัพย์สินฯ เข้ามาถือหุ้นเพียงเล็กน้อย (ไม่เกิน 10%) ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าเมื่อใด ต่อมาเมื่อบริษัทคริสเตียนี และนีลเส็น เข้าตลาดหุ้นไทย (ปี 2534) นั้น ปรากฏชัดเจนว่า สำนักงานทรัพย์สินฯ และกิจการในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แล้ว

“จากสรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปี 2538 ถือว่าเป็นช่วงบริษัทคริสเตียนี และนีลเส็น หรือ CNT โดดเด่นมากๆ ขยายกิจการอย่างครึกโครม ด้วยกลับเข้าไปเข้าซื้อกิจการต่างๆ ของ Christiani & Nielsen ในระดับโลก ทั้งเครือข่ายในเดนมาร์ก เยอรมนี และอังกฤษ รวมกันประมาณ 20 บริษัท …ราคาหุ้น CNT ในช่วงต้นปี 2536 พุ่งขึ้นกว่า 300 บาท (ราคาพาร์ 10 บาท) และสินทรัพย์ของบริษัทคริสเตียนี และนีลเส็น ได้ก้าวกระโดดจากประมาณ 1,000 ล้านบาทในปี 2534 เป็นมากกว่า 4,000 ล้านบาทในปีถัดมา” ผมเคยให้ภาพช่วงเวลาที่ตื่นเต้นเอาไว้ใน (จากเรื่อง “ทุนลดาวัลย์กับคริสเตียนี” มกราคม 2555) ก่อนหักมุมมาอยู่ในช่วงการปรับโครงสร้างกิจการครั้งสำคัญ อันเนื่องมาจาก CNT เผชิญวิกฤตมาตั้งแต่ปี 2541 ถือเป็นผลพวงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจไทยด้วยก็ได้

แผนการปรับโครงสร้างหนี้ โครงสร้างกิจการ CNT ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2546 ได้สิ้นสุดลงอย่างเบ็ดเสร็จราวปี 2554 เมื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ตัดสินใจขายกิจการ CNT ออกไป ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านดังกล่าวบริษัททุนลดาวัลย์เข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ และผู้เข้ามาแก้ปัญหาให้จบลงด้วยดี

“โครงสร้างถือหุ้นในบริษัทคริสเตียนี และนีลเส็น เริ่มมีความเคลื่อนไหว มีการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าสนใจ จากปลายปี 2549 ธนาคารไทยพาณิชย์ถือหุ้น 41.46% ทุนลดาวัลย์ถือหุ้น 29.89% พอมาปลายปี 2551 ทุนลดาวัลย์ถือหุ้นเพิ่มขึ้นมาเป็น 84.5% และก่อนจะขายหุ้นทั้งหมดให้กับผู้ซื้อรายใหม่ ทุนลดาวัลย์ถือหุ้น 51.98” (อ้างอีกตอนจากข้อเขียนเรื่อง “ทุนลดาวัลย์กับคริสเตียนี”)

กรณีทุนลดาวัลย์กับ คริสเตียนีฯ สะท้อนบทบาทสำคัญของทุนลดาวัลย์อีกบทบาทหนึ่งในฐานะผู้เข้ากอบกู้ แก้ปัญหากิจการเกี่ยวข้องอันเป็นผลพวงตกค้างมาตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 โดยเฉพาะกรณีเกี่ยวข้องกับธนาคารพานิชย์และสำนักงานทรัพย์สินฯ

กรณีโรงแรมดุสิตธานี เป็นงานแรกๆ ของทุนลดาวัลย์ (ปี 2545) บริษัทดุสิตธานีได้รายงานผ่านตลาดหุ้น ว่าบริษัททุนลดาวัลย์ได้ขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมด (ประมาณ 10%) ในบริษัทดุสิตธานี ให้กลุ่ม Pioneer Global Group (กลุ่มธุรกิจใหญ่ฐานในฮ่องกง มีเครือข่ายอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม และสถาบันการเงิน)

หากย้อนภาพไปในอดีต พบว่าทุนลดาวัลย์เข้าถือหุ้นโรงแรมดุสิตธานี เท่ากับสัดส่วนซึ่งสำนักงานทรัพย์สินฯ เคยถือหุ้นดุสิตธานี มาตั้งแต่ยุคก่อตั้งโรงแรมดุสิตธานี สีลม เมื่อ 40 ปีที่แล้ว

ด้วยที่เป็นเช่นนี้ ทุนลดาวัลย์จึงมีเงินทุนมากพอจะสนับสนุนยุทธศาสตร์ใหญ่ การลงทุนใหม่ๆ อย่างกรณีสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งก่อตั้งและดำเนินกิจการมา 7 ปีแล้ว ยังไม่คืนทุน ยังไม่มีกำไร ใช้เงินลงทุนไปแล้วหลายพันล้านบาท

(3)

ยุทธศาสตร์ใหม่ ธุรกิจใหม่เริ่มต้นอีกครั้ง เชื่อว่า อ้างอิงทั้งความสำคัญและบทเรียนความสำเร็จ กรณีบุกเบิกธุรกิจใหม่ครั้งที่แล้วเมื่อกว่า 3 ทศวรรษ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวข้องกันกับผู้คน แทบจะกล่าวได้ว่าเป็นทีมเดียวกันเลยทีเดียว แม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางความท้าทายใหม่ๆ ในสถานการณ์แตกต่างออกไป หลายมิติ ทั้งในแง่บริบท แนวทางและโมเดลธุรกิจ

นั่นคือ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ครบวงจร ก่อตั้งขึ้นตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมแชมเปี้ยนครั้งล่าสุด ภายใต้แรงขับเคลื่อนอย่างมีพลัง อย่างเต็มที่โดยรัฐ ในเวลานั้นได้สร้างความเชื่อมั่นในสังคมธุรกิจไทย ว่าด้วยโมเดลความมั่งคั่งใหม่ด้วย

หลังจากได้พบและพัฒนาเเหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เมื่อปี 2523 ได้ตั้งโรงงานเเยกก๊าซเพื่อผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลวและเป็นโอกาสให้ไทยเริ่มอุตสาหกรรมปลายทาง (Downstream) ต่อมาในปี 2529 ได้ตั้งบริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด (NPC) ซึ่งเป็นโรงงานโอเลฟินส์เเห่งแรกของประเทศไทย ทั้งนี้ เครือซิเมนต์ไทยได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นตั้งต้น และนับเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ธุรกิจด้านปิโตรเคมี ซึ่งกลายมาเป็นธุรกิจหลักแขนงหนึ่งของเครือซิเมนต์ไทยในปัจจุบัน”

หนังสือ The Siam Cement 1998 (จัดทำเพื่อเสนอแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งสำคัญต่อนักลงทุนต่างประเทศ) ได้สรุปความเป็นมากลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ไว้

 จุดเริ่มต้นที่แท้จริง ควรเท้าความไปไกลกว่านั้น ตั้งแต่การสำรวจปิโตรเลียมในทะเลครั้งแรกในประเทศไทย ในยุคสงครามเวียดนามตั้งแต่ปี 2511 โดยสัมปทานให้กับบริษัทอเมริกัน (Chevron ชื่อในขณะนี้ หรือ Unocal ในตอนนั้น) โดยใช้เวลา 5 ปีจึงได้ค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย

ช่วงต้นๆ ดูขลุกขลักอยู่บ้าง พอผ่านมาอีกช่วงหนึ่ง แผนการตามยุทธศาสตร์ข้างต้นได้เริ่มต้นอย่างจริงจัง ดำเนินอย่างต่อเนื่อง เป็นช่วงเวลาสังคมธุรกิจไทยคึกคักช่วงหนึ่ง แผนการเดินหน้าอย่างมีจังหวะก้าวในยุครัฐบาล เปรม ติณสูลานนท์ ช่วงยาวนานช่วงหนึ่งของการเมืองไทย (3 มีนาคม 2523 – 4 สิงหาคม 2531)

โดยเฉพาะมี ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ดูแลยุทธศาสตร์ใหญ่ดังกล่าว ดำเนินแผนการอย่างมีจังหวะก้าวอย่างต่อเนื่อง จนบรรลุเป้าหมายสำคัญๆ อยู่ในฐานะและบทบาท ถูกวางตัวไว้อย่างเป็นระบบและขั้นตอน จากรัฐมนตรีช่วยว่าการอุตสาหกรรม (11 มีนาคม 2524 – 19 กันยายน 2528) รัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม (19 กันยายน 2528 – 11 สิงหาคม 2529) และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ (11 สิงหาคม 2529 – 27 กรกฎาคม 2530) หลังจากพ้นภารกิจยุทธศาสตร์สำคัญแล้ว ดร.จิรายุเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (2530-ปัจจุบัน) กิจการลงทุนของสถาบันสำคัญซึ่งถือหุ้นใหญ่ในกิจการสำคัญๆ เฉพาะกรณีเกี่ยวข้องกับธุรกิจใหม่ สยามไบโอไซเอนซ์ กับไบโอฟาร์มา

ดร.จิรายุมีบทบาทโดยตรง ทั้งบริษัททุนลดาวัลย์ (กรรมการ 2549-ปัจจุบัน) และบริษัทปูนซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี (ประธานกรรมการช่วงปรับโครงสร้างธุรกิจ 2541-2542 และ 2550-ปัจจุบัน)

พิมพ์เขียวภายใต้ชื่อ โครงการปิโตรเคมีแห่งชาติ (Petrochemical Complex) ภายใต้ยุทธศาสตร์ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชน ตามโมเดล รัฐลงทุนในขั้นตอนแรก อุตสาหกรรมขั้นต้น (Upstream) และให้เอกชนลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (Dawnstream) ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญได้ก่อตั้งบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาตินั้น มีโครงสร้างที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

บรรดาผู้ร่วมทุนฝ่ายเอกชนล้วนเป็นธุรกิจทรงอิทธิพล 3 รายแรกคลุกคลีเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในฐานะผู้บุกเบิก… บริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ (ทีพีซี) ของตระกูลเอื้อชูเกียรติ ผู้ผลิตพีวีซีรายแรกของไทย กลุ่มศรีกรุงวัฒนา ในฐานะผู้นำเข้าเม็ดพลาสติกโดยมีธนาคารกรุงเทพสนับสนุน และกลุ่มทีพีไอ ผู้บุกเบิกในอุตสาหกรรมผลิตเม็ดพลาสติก มีเพียงรายเดียวเท่านั้นที่เกิดใหม่ ในระยะเดียวกับบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ คือกิจการในเครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี ที่น่าสนใจมากกว่านั้นอีก เอสซีจีในฐานะผู้ไม่มีประสบการณ์หรือเกี่ยวข้องกับปิโตรเคมี ได้ถือหุ้นในบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติด้วยสัดส่วนมากกว่าเอกชนรายอื่นๆ

จนมีบทสรุปบางประการที่น่าสนใจไว้ด้วย “ตรรกะอย่างหยาบๆ อาจเป็นว่า หากเอสซีจีไม่เข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี (หรือธุรกิจเคมีภัณฑ์อย่างที่เรียกในปัจจุบัน) การดำรงอยู่ของกิจการอุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศไทย คงอยู่สภาวะสั่นคลอนอย่างไม่น่าเชื่อ”

นับเป็นเรื่องราวและกรณีแตกต่างกับการบุกเบิกธุรกิจไบโอฟาร์มาค่อนข้างมาก เป็นมุมมองโอกาสทางธุรกิจถือว่าท้าทายและกว้างขวางกว่าเดิม

ที่สำคัญการก้าวเข้าสู่ธุรกิจใหม่ครั้งใหม่ เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีเอสซีจีเริ่มต้นธุรกิจเคมีภัณฑ์ ว่าด้วยความสัมพันธ์กับรัฐแล้ว ถือว่าเป็นโมเดลที่แตกต่างกัน แม้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ เมื่อนายกรัฐมนตรีมาเยี่ยมชมโรงงานสยามไบโอไซเอนซ์ จะได้มีการกล่าวถึงความช่วยเหลือ สนับสนุนของรัฐในบางแง่มุม บางระดับกันอยู่บ้าง

ธุรกิจเคมีภัณฑ์สร้างโมเมนตัมสำคัญให้กับเอสซีจี เพียงไม่ถึง 2 ทศวรรษ หลังจากเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่เมื่อปี 2542 กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์มีบทบาทโดดเด่น สามารถสร้างรายได้และกำไรได้มากกว่าธุรกิจซีเมนต์ ธุรกิจศตวรรษของเอสซีจี ปัจจุบันธุรกิจเคมีภัณฑ์เติบโตอย่างต่อเนื่อง คงสัดส่วนรายได้เกือบๆ ครึ่งหนึ่งของรายได้เอสซีจีโดยรวม

ช่วงเวลาก้าวกระโดดกว่า 2 ทศวรษ กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ อยู่ภายใต้การบริหารทีมงานทีมหนึ่งที่น่าสนใจ ในช่วงเวลานั้น ชุมพล ณ ลำลียง เป็นผู้จัดการใหญ่เอสซีจี (2536-2548) ซึ่งให้ความสำคัญธุรกิจเคมีภัณฑ์เป็นพิเศษ ภายใต้ยุทธศาสตร์หนึ่งที่ควรกล่าวถึง

นั่นคือการสร้างพันธมิตธุรกิจอย่างเหนียวแน่นกับกลุ่มทีพีซี ภายใต้การบริหารของ ยศ เอื้อชูเกียรติซึ่งในที่สุดปี 2554 ได้หลอมรวมกัน

จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม กรณีสยามไบโอไซเอนซ์เกี่ยวข้องกับเอสซีจีโดยตรง  ทีมงานคนสำคัญมากๆ เชื่อมโยงกรณีกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์กับสยามไบโอไซเอนซ์ คือ อภิพร ภาษวัธน์

 เราสร้าง Culture ใหม่ คุณเดินมาตึกปิโตรเคมีจะไม่เหมือนสำนักงานใหญ่ คนละ Culture ที่นี่ทำงานลุยกันเพราะเราเป็น Young Culture เด็กที่นี่อายุเฉลี่ย 25-26 ปี” อภิพร ภาษวัธน์ เคยกล่าวกับผมเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ขณะนั้นเป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่เอสซีจี (2536-2548) กำกับดูแลธุรกิจเคมีภัณฑ์

หลังจากจบการศึกษา (ปริญญาตรี เคมีวิศวกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท วิศวกรรมเคมี และปริญญาโท บริหารธุรกิจ สาขาการผลิต University of Wisconsin ประเทศสหรัฐอเมริกา) เขาอยู่กับธุรกิจเคมีมาตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจตั้งแต่ปี 2526 ไม่ได้ย้ายไปไหนเลยจนกระทั่งเกษียณ (ปี 2548)

อาจจะเรียกว่าเป็นผู้บริหารคนแรกของเอสซีจีที่ฝังตัวกับธุรกิจเดียวอย่างมั่นคง จนกลายเป็นภาพสะท้อนและบุคลิกธุรกิจเคมีภัณฑ์ไปแล้ว

มีเสียงเล่าลือกันด้วยว่า หากเขามีอายุน้อยกว่านี้ คงได้เป็นผู้จัดการใหญ่เอสซีจีต่อจาก ชุมพล ณ ลำเลียง ไปแล้ว

อภิพร ภาษวัธน์ เริ่มมีบทบาทในการบุกเบิกธุรกิจใหม่อีกครั้ง ตั้งแต่ปี 2551 โดยเข้าไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาบริษัททุนลดาวัลย์ ในช่วงเวลาเริ่มต้นก่อตั้งบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ โดยเขาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารมาตั้งแต่ต้น (ปี 2552) และในปีถัดมาได้ก่อตั้งบริษัท เอเพ็กซ์เซล่า ซึ่งถือเป็นกิจการด้านการตลาด ดูแลรับผิดชอบผลิตภัณฑ์ของสยามไบโอไซเอนซ์ อภิพร ภาษวัธน์ ได้เป็นประธานกรรมการบริหารและกรรมการด้วย

ทีมงานเก่าผู้มีประสบการณ์อย่างโชกโชน กับการบุกเบิกธุรกิจใหม่ในครั้งนี้ ดูไปแล้ว คงไม่เป็นเรื่องง่ายเสียทีเดียว

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: