แรงกระเพื่อม “โอสถสภา”

ญี่ปุ่น-ตลาดหุ้นและเมียนมา

การปรับตัว และแสวงหาโอกาสในยุคใหม่ๆ อย่างท้าทาย เป็นไปอย่างกระชั้น

โอสถสภา โชว์ผลงานการดำเนินงานปี 63 สวนกระแสโควิด-19 สถานะการเงินแข็งแกร่ง มาร์เก็ตแชร์โต กำไรเพิ่ม ….”จากหัวข้อข่าวถ้อยแถลง( (1 มีนาคม 2564)ผลประกอบการบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน)  ในปีก่อนหน้า สาระให้ความสำคัญอย่างเจาะจงสินค้าบางแบรนด์

โดยเฉพาะ เอ็ม-150  ซึ่งได้กล่าวพัฒนาการไว้ว่าด้วยผลงานช่วงคาบเกี่ยวระหว่างรุ่นที่2กับรุ่นที่3 ธุรกิจครอบครัวภายในตระกูลโอสถานุเคราะห์ มีจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญจากสายสัมพันธ์ญี่ปุ่นถ้อยแถลงข่าวต้นย้ำว่า “เอ็ม-150 ช่วยเสริมให้กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบำรุงกำลังมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 54.5%”

อีกแบรนด์หนึ่งที่กล่าวถึงไว้ด้วย “การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ ‘ซีวิท’ ช่วยผลักดันการขยายตัวของตลาดเครื่องดื่มฟังก์ชันนอลดริงก์ที่ 9% และซีวิทยังครองอันดับ 1 ด้วยส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 31% ..”

ว่าไปแล้วซีวิท(C-vitt)ถือเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่กำลังเติบโตซึ่งโฆษณาไว้ “เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ..วิตามินซีในรูปแบบน้ำ ช่วยทำให้ร่างกายดูดซึมวิตามินซีได้เร็วขึ้น มีวิตามินซีสูงถึง 200% (จากปริมาณแนะนำต่อวัน) เทียบเท่าปริมาณวิตามินซีที่ได้รับจากการบริโภค เลมอน 6 ผล” เพิ่งเข้าสู่ตลาดไทยเพียงทศวรรษเดียว   ภายใต้ “ บริษัท เฮ้าส์ โอสถสภา ฟู้ดส์ จำกัดเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท เฮ้าส์ ฟู้ดส์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศญี่ปุ่น) กับ บริษัท โอสถสภา จำกัด ก่อตั้งเมื่อ เดือนกรกฎาคม 2554”ข้อมูลทางการโอสถสภาว่าไว้

HOUSE FOODS GROUP INC. เครือข่ายธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มแห่งญี่ปุ่น ก่อตั้งมากว่า100ปี จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว เมื่อปี2514 จากนั้นค่อยๆขยายเครือข่ายสู่ต่างประเทศ เปิดฉากเข้าสู่ตลาดเสหรัฐอเมริกา ตามกระแสและโอกาส(ปี2523) เวลานั้นสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจท่ามกลางวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งใหญ่ เงินดอลลาร์ตกต่ำอย่างมาก คลื่นการลงทุนธุรกิจญี่ปุ่นพาเหรดเข้ามาอย่างครึกโครม เข้าซื้อกิจการธุรกิจอเมริกัน และยึดตลาดสหรัฐ ตั้งแต่กิจการรถยนต์ไปจนถึงการถือครองธุรกิจบันเทิง

อีกช่วงหนึ่ง HOUSE FOODS GROUP INC. เข้าสู่ตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ในช่วงปี2540  ขณะเกิดวิกฤตการณ์ “ต้มยำกุ้ง” เศรษฐกิจและธุรกิจจีนขยับตัวครั้งใหญ่ ในที่สุดมาร่วมมือกับโอสถสภา ตามกระแสญี่ปุ่นรอบใหม่ ต่อเนื่องจากขบวนร้านอาหารญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมไทยอย่างคึกคัก ในทศวรรษที่เพิ่งผ่านมา มีบางกรณีมีความเกี่ยวข้องกันด้วย

หนึ่งในกระแสนั้น มีCoCoICHIBANYA ร้านอาหารประเภทแกงกระหรี่สไตล์ญี่ปุ่นรวมอยู่ด้วย ว่ากันว่าเป็นร้านแกงกระหรี่ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งและมีสาขาเกือบ1,200 แห่งในญี่ปุ่น และอีกกว่า 30 สาขาในประเทศภูมิภาคเอเชีย ส่วนในเมืองไทยสาขาแรกเปิดขึ้นเมื่อปี 2551 ปัจจุบันมีกว่า20 สาขาแล้ว

ในเวลาต่อมา(ปี2558)เครือข่ายร้าน CoCoICHIBANYA  กลายเป็นกิจการหนี่งใน HOUSE FOODS GROUP INC.

ความสัมพันธ์โอสถสภากับธุรกิจญี่ปุ่นยังคงดำเนินไป โฟกัสธุรกิจเครื่องดื่มต่อไป

อีกกรณีควรอ้างถึง  Calpisน้ำไม่อัดลม(uncarbonated soft drink) ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี2540โดยร่วมทุนกับบริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ(ประเทศไทย) จนถึงปี2555 จำต้องหยุดการผลิตลง  เมื่อAsahi Group Holding เครือข่ายธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายยักษ์ใหญ่แห่งญี่ปุ่นได้ซื้อแบรนด์ Calpis”และ Calpis Co. , Ltd(japan)

และแล้วในปี2556 Calpis กลับสู่ตลาดไทยอีกครั้ง  ภายใต้กิจการร่วมทุน- บริษัท คาลพิส โอสถสภา จำกัด

เป็นเรื่องตื่นเต้นสำหรับธุรกิจครอบครัวกว่าศตวรรษ  ได้ตัดสินใจนำกิจการหลักเข้าตลาดหุ้น ว่าไปแล้วช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ตระกูลโอสถานุเคราะห์ ซีกสุรัตน์ -เพชร-รัตน์มีบทบาทอีกครั้ง

เพชร โอสถานุเคราะห์ ประธานคณะกรรมการบริหาร(ขณะนั้น) นำทีมผู้บริหารร่วมพิธีเปิดการซื้อขายวันแรก(17 ตุลาคม 2561) ณ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ใช้ชื่อย่อ OSP  เพิ่งผ่านกระบวนการเสนอขายหุ้นครั้งแรก (IPO) มูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้านบาท มีมูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalization) ประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท ถือเป็นหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2561 ช่วงแรก ๆราคาไม่ค่อยจะดีนัก ลดลงต่ำกว่าราคาจอง (25 บาทต่อหุ้น) จากนั้นอีกประมาณครึ่งปี จึงขยับปรับตัวสูงขึ้น

ปรากฏการณ์ข้างต้น อาจเป็นเชื้อก่อกระแสให้ขบวน “ขาใหญ่”ไม่ว่า สิงห์ ช้างและเซ็นทรัล เดินแผนการเข้าตลาดหุ้นกันอย่างคึกคักในช่วงปี2561-2562 หรือไม่ ยากจะคาดเดา

แผนการโอสถสภาซึ่งสร้างแรงจูงใจต่อนักลงทุนในเวลานั้น คือการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะเมียนมาร์

ตามไทม์ไลน์ในปีเดียวกันกับเข้าตลาดหุ้น(ปี2561)ระบุไว้ว่า  “ จัดตั้ง Osotspa Myanmar Company Limited เพื่อดำเนินการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มในเมียนมาร์” และ “พิธีวางศิลาฤกษ์โรงงานผลิตเครื่องดื่มแห่งแรกในต่างประเทศของบริษัทในเขตเศรษฐกิจพิเศษทิลาวา เมียนมาร์”

เรื่องราวโอสถสภากับการลงทุนในเมียนมาร์นั้นดูตื่นเต้น ด้วยเกี่ยวข้องกับนักธุรกิจคนหนึ่งสามารถสร้างอาณาจักรธุรกิจเป็นหนึ่งในเครือธุรกิจทรงอิทธิพลในเมียนมาร์(อ้างจากบทความ Business Conglomerates in the Context of Myanmar’s Economic Reform โดยAung Min; Toshihiro Kudo (2014) )โดยใช้เวลาแค่2ทศวรรษ เป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจประเทศหนึ่งกำลังแง้มประตูสู่โลกภายนอก

Sai Sam Htun  เชื้อสายฉาน จบปริญญาแพทย์ศาสตร์ และ MBA จากสหรัฐอเมริกา ใช้ชีวิตในแคดานาและสหรัฐอเมริกา ราว ๆทศวรรษ ก่อนจะกลับเมียนมาร์ในปี2534 ประสบกาณ์สำคัญทำงานให้ Myanmar Foodstuffs Industries (MFI) จะเรียกกว่ารัฐวิสาหกิจยาสูบสำคัญของรัฐก็ว่าได้     จากนั้นในปี2539 ผันตัวสร้างธุรกิจตนเอง  ก่อตั้ง Loi Hein Company Ltd. ดูเป็นจังหวะสอดคล้องกับโอสถสภา เดินแผนยขยายธุรกิจสู่เมียนมาร์ใน 2 ปีต่อมา(2541) ด้วยความร่วมมือดันเปิดตลาดเครื่องดื่มชูกำลังแบรนด์ ฉลาม(Shark) ในเมียนมาร์ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว

โมเดลธุรกิจ Loi Hein Company ดูไปคล้ายๆ โอสถสภา สร้างฐานธุรกิจเครื่องดื่มอย่างครอบคลุม ทั้งสร้างสินค้าแบรนด์ของตนเอง และร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจรายอื่น ๆ เหมือนจะตั้งใจกับเครือข่ายธุรกิจไทยรายใหญ่เสียด้วย ไม่ว่าร่วมมือกับ บริษัทกรีนสปอร์ต(ประเทศไทย)ในปี2551 และบริษัทสยามไวเนอรี่ เจ้าของผลิตภัณฑ์ SPY Wine Cooler(ปี2552) ทั้งนี้ Sai Sam Htun  มีสโมสรฟุตบอลทีมสำคัญในเมียนมา ชื่อ Yadanabon อีกด้วย

แผนการโอสถสภาในเมียนมาร์ล่าช้าไปบ้าง จากที่เคยบอกไว้ “จะเปิดโรงงานผลิตเครื่องดื่มที่ประเทศเมียนมาร์ให้ได้ภายในปลายปี 2562 “ ในที่สุด “อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของโอสถสภา ได้แก่ การเปิดโรงงานผลิตเครื่องดื่มแห่งใหม่ในเมียนมาร์อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกรกฎาคม  2563”  ในช่วงเวลนั้นมีการกระชับแผนการลงทุน ตามไทม์ไลน์ที่อ้าง  “ ปี2562 เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน OSOTSPA LOI HEIN COMPANY LIMITED ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทจาก 51% เป็น 85%”  โมเดลการลงทุนในเมียนมาร์ยกระดับขึ้นไปอีก(ในปี2562เช่นกัน) “จัดตั้ง MYANMAR GOLDEN EAGLE COMPANY LIMITED เพื่อการดำเนินธุรกิจผลิตขวดแก้วในเมียนมา”

โมเดลซึ่งเชื่อว่า จะเป็นแม่แบบในแผนการขยายธุรกิจสู่ประเทศอื่น ๆในภูมิภาคเดียวกันด้วย

“สถานการณ์ในเมียนมาร์อาจมีผลกระทบต่อการขนส่งและการดำเนินงานในระยะสั้น ซึ่งบริษัทฯ มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด” ถ้อยแถลงที่มีขึ้นต้นเดือนมีนาคม(อ้างถึงแล้วในตอนต้น)  สะท้อนมุมมองต่อสถานการณ์ที่แตกต่างไปจากเดิมบ้าง  

จนถึงอีกช่วงโอสถสภา มีถ้อยแถลงอย่างน่าสนใจ เมื่อ “โอสถสภา โชว์แกร่ง สวนกระแสโควิด-19 ดันยอดขายและกำไรพุ่งทำนิวไฮ”หัวข้อข่าวนำเสนอต่อสาธารณะชน (14พฤษภาคม2564) รายงานผลประกอบการใตรมาสแรก โดยเน้นว่า “เผยยอดขายไตรมาส 1 แตะ 6,776 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,004 ล้านบาท”

สิ่งน่าสนใจกว่า อีกตอนหนึ่ง “สำหรับตลาดในประเทศเมียนมาร์นั้น หลังจากเปิดโรงงานผลิตเครื่องดื่มในเมียนมาร์ในปีที่ผ่านมา รวมถึงการมีพันธมิตรทางธุรกิจและทีมบริหารในเมียนมาร์ที่มีความเข้าใจตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้มีความยืดหยุ่น สามารถปรับการดำเนินงานและกลยุทธ์ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ สามารถตอบสนองความต้องการของตลาด จึงสามารถรักษายอดขายและการเติบโต แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่ปกติทั้งการระบาดของโควิด-19 และด้านการเมือง” เชื่อว่าเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายไปบ้าง

 ผ่านมาอีกระยะหนึ่ง โอสถสภาได้รายงานผลประกอบการเฉพาะไตรมาสที่2 (เมื่อ13 สิงหาคม 2564)ระบุว่า “ มียอดขาย 6,913 ล้านบาท และกำไรสุทธิ  820 ล้านบาท” ทั้งนี้ยังเน้นย้ำกว้าง ไม่ได้เจาะจงเหมือนครั้งก่อน“โดยกลุ่มประเทศ CLMV เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจหลัก ผลักดันอัตราการเติบโตในต่างประเทศโดยรวมที่ 76%”

ว่าไปแล้วสำหรับโอสถสภา กำลังเผชิญวิกฤติการณ์ซ้อนในเวลาเดียวกัน  ทั้งCOVID-19 และความรุนแรงในเมียนมาร์ 

เข้าใจว่าเรื่องหลังมีความสำคัญกว่า

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: