หมายเหตุ :การเดินทางที่ระลึกถึงนี้ มีขึ้นเกือบจะครบ2ปีแล้ว หวังว่าในไม่ช้าจะได้ไปเยือนอีกครั้ง และ สีสันร่วมสมัย ”เชียงใหม่” ยังตงเป็นไป
เริ่มต้นไม่ได้จริงจังนัก กับแผนการเดินทางเที่ยวนี้ แค่ใคร่จะลองทำเรื่องง่ายๆ ให้ดูซับซ้อนขึ้นบ้าง
จริง ๆแล้ว มีโอกาสสัมผัสเชียงใหม่อย่างจริงจังครั้งล่าสุด นานกว่าทศวรรษ ไม่นับแวะพัก ผ่านทางแบบฉาบฉวย หรือทำธุระอย่างเจาะจง ประเภท(บิน)เช้าไป-ค่ำกลับ หลายต่อหลายครั้ง
ครั้งหนึ่ง ขับรถจากเชียงรายไปปาย เฉียดตัวเมืองเชียงใหม่ตอนค่ำๆ ถามเส้นทางเด็กปั้มให้แน่ใจ แต่ไม่ค่อยจะได้เรื่อง จึงแวะถามคน(เชื่อว่า)ท้องถิ่น ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซด์สวมหมวกกันน็อค ผ่านทางอย่างไม่รีบร้อน พอเปิดหมวก ทำเอาชะงัก แต่ก็ไม่ผิดหวัง ฝรั่งคนนั้นพูดไทยฉะฉาน สามารถบอกเส้นทางได้อย่างดี
เชียงใหม่ กับเรื่องราวคนแปลกหน้า มีหลากหลาย กว่าที่คิด
อย่างเรื่องที่เพิ่งทราบ เชียงใหม่เพิ่งจัดงานNomad Summit ไปเมื่อต้นปี (มกราคม2562)นับเป็นครั้งที่4ของงานประจำปี ที่สำคัญเชียงใหม่เป็นที่ ๆจัดNomad Summitครั้งแรกเมื่อ3ปีที่แล้วอีกด้วย งานชุมนุมผู้คนอาชีพใหม่ นิยามว่าDigital Nomad พวกอาชีพอิสระทำงานที่ไหนก็ได้ในโลกยุคดิจิทัล ทำงานไปพลาง เที่ยวไปพลาง ตระเวนไปอยู่เมืองต่าง ๆทั่วโลก ช่วงเวลาหนึ่งๆ เป็นที่ยอมรับกันว่า เชียงใหม่ เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของ Digital Nomad ไปแล้ว
ดังนั้นดูจะมีเหตุอันควร กับการมีแผนการอยู่บ้าง เมื่อมาเยือนเมืองนานาชาติ
ก่อนจะเปิดฉาก ควรย้อนรอยเชื่อมต่อกับภาพเชียงใหม่เมื่อทศวรรษที่แล้ว ซึ่งดูเลือนๆไปจากความทรงจำ คิดว่าซีรีย์ทางทีวีชุดหนึ่งคงช่วยได้บ้าง ซีรีย์ชุดแรกของ Anthony Bourdain เมื่อปี 2546 เชฟชื่อดัง นักเขียน และนักเดินทาง ผู้เพิ่งวายชมน์ กับซีรีย์เก่าชุด– A Cook’s Tour มีตอนหนึ่งที่ชื่อLet’s Get Lost
เขาเดินทางมาสัมผัสเชียงใหม่ ด้วยนิยาม เมืองหลวงเก่าทางเหนือของไทย คงไว้ซึ่งวิถีชีวิตและแบบแผนดั้งเดิม ที่สำคัญ เป็น “แดนมหัศจรรย์ของนักชิม” สารคดียาวราวครึ่งชั่วโมงเติมแต่งสีสัน เรื่องราวอันมีบุคลิก โดยเฉพาะ อาหารริมทางเชียงใหม่ อย่างตื่นเต้น ประทับใจ
วันแรกของเราในเชียงใหม่ ฝ่าจราจรค่อนข้างคับคั่ง ในภาระกิจ “ตามรอย” มุ่งสู่ร้านอาหารตึกแถวริมถนน2 แห่งซึ่ง Digital Nomad ตั้งใจนำเสนอไว้ ร้านยังคงซ่อนตัวอยู่ที่เดิม ณ จุดศูนย์เมืองเก่า แห่งแรก(ภาพ1)อยู่มา 6 ทศวรรษแล้ว คงไว้แบบเดิมแทบไม่เปลี่ยนแปลง แม้แต่คนเชียงใหม่บางคน คิดว่ามีอันเป็นไปท่ามกลางเมืองขยายตัว ร้านอาหารแบบใหม่ๆผุดขึ้น เราตั้งใจสั่งข้าวซอย อาหารคลากสิกภาคเหนือ ขณะเฝ้ามองผู้ผ่านทาง แวะเวียน ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ โต๊ะข้างๆหนุ่มสาวจีน นักท่องเที่ยวแบบอิสระหรือFIT(Free Individual Traveler) กินข้าวเหนียวกับส้มตำ อีกร้าน(ภาพ2)ปรับตัวพอสมควร เติมแต่งร้านให้ดูทันสมัยขึ้นบ้าง เปิดบริการ24ชั่วโมงด้วยเมนูที่หลากหลายมากขึ้น เพิ่มเติมจากโจ๊กซึ่งเป็นอาหารเช้ายอดนิยมแต่ไหนแต่ไรมา
เป็นจังหวะชีวิตที่น่าสนใจ กับตำนาน“แดนมหัศจรรย์ของนักชิม” บุคลิกสำคัญอันมีพลวัตรแห่งเชียงใหม่ ยังคงรักษาแก่นสารเอาไว้ได้
อีกมิติ เชียงใหม่กับบุคลิกแบบแผน ผ่านอัตลักษณ์จับต้องได้ บางที่อาจสัมผัสและจินตนาการได้แบบรวบยอด ดังปุจฉาวิสัชนาเรื่องหนึ่ง“โรงแรมแห่งนี้ มีความสัมพันธ์กับสังคมไทยอย่างไร” ผมเคยยิงคำถาม Kurt Wachtveitl ผู้จัดการชาวเยอรมันโรงแรมโอเรียนเต็ล ผู้อยู่ในตำแหน่งถึง4ทศวรรษ (2510-2552) เขาตอบทันควัน“นี่คือสิ่งที่สำคัญมาก ทุกเช้าที่แขกตื่นนอนขึ้นมา เขาต้องรู้ว่าอยู่ที่ไหน เช่นเดียวกับสต๊าฟของเรา… โรงแรมที่ดีต้องแทรกให้เห็นวัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ …”
โรงแรมซึ่งตั้งใจมาพัก(ภาพ3–6) ดูจะเป็นเช่นนั้น ตั้งใจนำเสนอความร่วมสมัยเชื่อมโยงกับเอกลักษณ์เชียงใหม่ สัมผัสภาพกว้างๆด้วยจินตนาการตนเอง แน่ละ.. ไม่ใช่ข้อความในโปว์ชัวร์….
จากที่ตั้ง แดนต่อแดนอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ อยู่ท่ามกลางธรรมชาติป่าเขา ปรุงแต่งอย่างกลมกลืน สระว่ายน้ำบนดาดฟ้า ฉากหลังมองเห็นพระธาตุศรีเมืองปงเหนือยอดเทือกเขา ที่ ๆต้อนรับกับโคมระย้า คล้ายๆประทีปโคมลอยงานยี่เป็ง ภูมิทัศน์เปิดกว้างเป็นไร่ชา ตัดแต่งเป็นทิวแถวดังภาพกราฟฟิก กำแพงเมืองเก่าจำลองแทรกตัวอยู่ในสวนและคูน้ำ ไม้ใหญ่ปกคลุมครึ้งรวมทั้งต้นกาสะลองคำหรือปีบทอง ขณะภายในห้องพักมีองค์ประกอบ งานผ้า งานฝีมือ
เชียงใหม่ เมืองเก่าคงเอกลักษณ์ ขณะสีสันร่วมสมัยมีมากขึ้นๆ ความร่วมสมัยอย่างมีพลวัตร จากทศวรรษที่แล้วที่มาเยือน ความสนใจอยู่ที่งานฝีมือซึ่งผสมผสานแบบดั้งเดิมกับร่วมสมัย ส่วนใหญ่ยังเก็บไว้ ไม่ว่าของตกแต่งบ้านจากร้านคนท้องถิ่น อย่าง นันทขว้าง(เก่าเกินจะโชว์ภาพ) และกองดี แกลเลอรี่(ภาพ7) ไปถึงงานผสมสานกับคนต่างถิ่นอย่างลงตัว อย่าง เตาเม็งราย(ภาพ7) เครื่องปั้นดินเผาแบบเซลาดอน (CELADON) ก่อตั้งด้วยความร่วมมือระหว่างคนต่างถิ่น(นิวซีแลนด์และอังกฤษ) กับคนเชียงใหม่ ไปจนถึง เจอราร์ด คอลเลคชั่น(ภาพ8) งานเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ บุกเบิกโดยชาวฝรั่งเศสเชื้อสายลาว ร้านรวงนั้น คงอยู่ ซ่อนตัวอย่างมีเอกลักษณ์ ท่ามกลางสีสันแห่งความร่วมสมัยอย่างหลากหลายมากขึ้น น่าเสียดายไม่ได้แวะเวียน สัมผัสพลวัตรอย่างที่ควร
เชียงใหม่ เมืองเก่าคงเอกลักษณ์ ขณะสีสันร่วมสมัยมีมากขึ้นๆ หากเชื่อกันว่าสามารถรักษาความสมดุลไว้อย่างดี เป็นมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจ (อ้างจาก คลิปเรื่อง Perfect balance – Chiang Mai โดย Monocle Films เมื่อปี2558) การปะทะประชันระหว่าง “ตะวันตก”กับ “ตะวันออก” มีมากขึ้น สีสันแห่งความร่วมสมัย ไม่ได้มีแค่“ bars, bands and boxers, wonderful food and beautiful girls on scooters(บาร์ ดนตรี กีฬามวย อาหารรสเลิศ และสาวสวยขี่สกูดเตอร์)” อย่างที่ Monocle ว่า คงมิใช่ภาพใหม่ๆที่เราประจักษ์ ศูนย์การค้าใหม่ๆแบบตะวันตกปรากฏขึ้นอย่างโดดเด่น ย่านนิมมานเหมินทร์ โดยนักลงทุนต่างถิ่นซึ่งประสบความสำเร็จทางธุรกิจโรงภาพยนต์หรือเครืองดื่มชาเขียว
สิ่งใหม่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ เรียกว่าวัฒนธรรมคาเฟ่(café culture) ซึ่งเกิดขึ้นและดำรงอยู่(exist) และกำลังขยายตัวอย่างไม่หยุดหย่อน ว่ากันว่าในเชียงใหม่มีร้านกาแฟนับพัน ๆแห่ง บางคนว่าสามารถแวะเวียนไม่ซ้ำได้เกือบๆ10 ปีเลยทีเดียว
ในฐานะชาวสวนกาแฟมือใหม่ และคอลัมนิสต์ “เวลากาแฟ” ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย จะเข้าถึงวัฒนธรรมกาแฟในสังคมไทย หากไม่มาถึงเชียงใหม่
นี่คือบทสรุปหนึ่ง ของการเดินทางเยี่ยมเยือนเชียงใหม่ครั้งล่าสุด ขณะที่เรื่องราวว่าด้วยประสบการณ์ “เวลากาแฟ” ที่นั่น เพิ่งจะเริ่มต้น