คงไม่ช้าเกินไป ตั้งใจโปรโมทงานหนึ่งซึ่งแม้ได้ผ่านไปแล้ว แต่สามารถติดตามย้อนหลังได้



นั่นคือ งานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี2564 ที่ใช้ชื่อว่า “BOT Symposium 2021: สร้างภูมิคุ้มกัน ผลักดันเศรษฐกิจไทย” มีขึ้น มีการถ่ายทอดสดทาง Facebook Live เมื่อ 30 กันยายน 2564 ถือเป็นการประชุมทางวิชาการครั้งสำคัญในรูปแบบใหม่ ท่ามกลาง “การพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด”อย่างที่ว่าไว้
ที่สำคัญมีการจัดระบบ ระเบียบ เนื้อหาไว้อย่างดี เป็นแบบแผน (ผ่าน websiteของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ — https://www.pier.or.th/conferences/2021/symposium/ ) สามารถย้อนไปอ่าน (ทั้งบทปาฐกถา เอกสารงานวิจัย และpresentation) ฟังและชม( ปาฐกถาและการอภิปราย ทาง you tube) รูปแบบหลากหลาย ตามแต่ละคนสนใจ
ส่วนสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่อ้างถึง เป็นหน่วยงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี2558 ไม่เกิดขึ้นในช่วงศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 คน (หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล 31 พฤษภาคม2544 – 6 ตุลาคม 2549 และ ดร.วิรไท สันติประภพ- 1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2563 ) เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
“องค์กรที่มุ่งสร้างงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับการเผยแพร่งานวิจัยที่มีคุณภาพ และเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมโยงนักวิจัยกับทรัพยากรต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยมีการบริหารงานกึ่งอิสระภายใต้การกำกับดูแลโดยคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงใน ธปท. และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก” ถ้อยแถลงที่ไปที่มาว่าไว้อย่างนั้น และถือเป็นหน่วยงานหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการจัดงานครั้งนี้
ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือปาฐกถาทางการครั้งแรกของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งมาครบ1ปีพอดี —ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน(ตั้งแต่1 ตุลาคม 2563) ผู้มีโปรไฟล์ที่แตกต่างพอสมควร จากผู้ว่าการฯในอดีต
เขามีภูมิหลังการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์(ปริญญาตรี- Swarthmore College และโท- เอก Yale University) เช่นเดียวกับผู้ว่าการฯ ราวครึ่งหนึ่งของทำเนียบทั้งหมดที่มีมาแล้ว24คน และผ่านการศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา น่าจะเป็นคนที่11 เป็นช่วงค่อนข้างต่อเนื่องมาตั้งแต่ ดร.เสนาะ อูนากูล (ผู้ว่าการ 2518 – 2522) ถือกันว่าอยู่ยุคอิทธิพลสหรัฐฯ ช่วงปลายสงครามเวียดนาม
ที่แตกต่างจากคนอื่น ๆ ก็ด้วยประสบการณ์ทำงานกับองค์กรระดับโลกมามากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะประจำอยู่ที่ธนาคารโลกกรุงวอชิตันดีซี สหรัฐอเมริกา (ราว ๆ10ปี) และทำงานกับบริษัทที่ปรึกษา (เกือบๆ10 ปี) ขณะประสบการณ์ทำงานในประเทศ นับว่ามีความหลากหลาย ทั้งรัฐและ เอกชน ในแต่ละที่ในช่วงสั้น ๆ ที่นานกว่าที่อื่น อยู่กับเครือธนาคารไทยพาณิชย์ (ราว ๆ4ปี) ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และกระทรวงการคลัง แต่ละที่อยู่เพียงประมาณ 2ปี
ที่น่าสนใจ เชื่อกันว่า เขามีความสัมพันธ์กับผู้คนทางการเมืองค่อนข้างหลากหลาย เมื่อพิจารณาโปรไฟล์ทางการ( https://www.bot.or.th/Thai/AboutBOT/RolesAndHistory/Governor/Pages/default.aspx ) เทียบเคียงกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองช่วงคาบเกี่ยว
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เคยเป็นผู้อำนวยการร่วม สถาบันวิจัยนโยบายการคลัง กระทรวงการคลัง(2541 – 2543)ในช่วง ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(2548 – 2550)ในช่วงคาบเกี่ยว ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และดร.ทนง พิทยะ เป็นรัฐมนตรีคลัง และอีกช่วงหนึ่งในฐานะประธานกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา(2555 – 2560) หน่วยงานที่ว่าเป็นSocial Enterprise นั้น ว่ากันว่า ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มีบทบาทอยู่เบื้องหลัง
เขาเข้ามีบทบาทเกี่ยวข้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (2557 – 2563)ในช่วงนั้น ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และมี สมหมาย ภาษีเป็นรัฐมนตรีคลัง ต่อด้วยอีกช่วงมาเป็นกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (2560 – มีนาคม 2563) คาบเกี่ยวกับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจและ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เป็นรัฐมนตรีคลัง
เท่าที่ติดตาม เชื่อว่า ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญในจังหวะเวลาที่เหมาะสม ยิ่งเมื่อพิจารณาผ่านปาฐกถาของเขา
ปาฐกถาเปิดงาน BOT Symposium 2021: สร้างภูมิคุ้มกัน ผลักดันเศรษฐกิจไทย ให้ภาพรวมสาระแตกต่างจากจากที่ผ่านๆมา “ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในบริบทโลกใหม่ที่ไม่เหมือนเดิมทั้งพัฒนาการทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด การเข้าสู่สังคมสูงวัย การปรับเปลี่ยนของภูมิรัฐศาสตร์โลก และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” เขาเปิดฉากปาฐกถาอย่างน่าสนใจ อย่างครอบคลุม
“หากประเทศไทยจะก้าวต่อไปในอนาคตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และมีเสถียรภาพภายใต้ความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน ซึ่งผมขอใช้ทับศัพท์ว่า มีresiliencyเราจำเป็นต้องมี“ภูมิคุ้มกัน” แล้วต่อด้วยประโยคเชื่อมโยงเพื่อเข้าสู่สาระสำคัญ
สาระสำคัญที่ส่งเสียงดัง ไปยังผู้เกี่ยวข้อง และผู้มีอำนาจ ขณะควรรับฟังกันในวงกว้าง น่าจะอยู่ตรงนี้ “ในบริบทโลกใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนสูงนั้น เศรษฐกิจไทยจะ resilient ได้ต้องมีลักษณะที่สําคัญอย่างน้อย 3 ประการ คือ (1) ความสามารถในการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ หรือ ability to avoid shocks (2) ความสามารถในการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น หรือ ability to withstand shocks และ (3) ความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบดังกล่าว หรือ ability to recover from shocks หากพิจารณาความสามารถของเศรษฐกิจไทยใน 3 ด้านนี้จะเห็นได้ว่า ในปัจจุบัน เรามีขีดจํากัดในทุกด้านซึ่งทําให้เศรษฐกิจไทยไม่ resilient ต่อความท้าทายต่าง ๆ”
ปาฐกถาผู้ว่าการ(ยังถือว่า)คนใหม่ แตกต่างจากที่ผ่านๆมา ตรงที่เจาะจงหลายประเด็นลงลึกมากขึ้น อย่างเรื่องที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง ว่าด้วยสิ่งแวดล้อม ที่ว่าๆกันมาบ้างแล้ว “สําหรับประเทศไทยนั้น ความเสี่ยงจาก climate change มีความสำคัญอย่างมาก ดัชนีความเสี่ยง Global Climate Risk Index 2021 ของ German Watch ได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่9 จากกว่า 180 ประเทศทั่วโลก สภาพอากาศสุดขั้ว อุณหภูมิที่สูงขึ้น และความผันผวนของปริมาณนํ้าฝนจาก climate change ได้ซํ้าเติมความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเกษตร ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความสําคัญสูงในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย มีการจ้างงานจํานวนมาก เป็นต้นนํ้าของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สําคัญ และยังเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร (food security) ของประเทศอีกด้วย”
ที่สำคัญอย่างมาก มีประเด็นใหม่ ๆ เข้ากับสถานการณ์สังคมไทยเวลานี้ จะถือว่าเป็นครั้งแรก ผู้กำกับระบบการเงินของประเทศ กล่าวถึงก็เป็นได้ “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความแตกต่างทางความคิดในสังคมไทยนําไปสู่ความขัดแย้งที่ฝังลึก มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ความสมานฉันท์ในสังคมไทยลดต่ำลง ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ข้อมูลจาก World Values Survey ตั้งแต่ปี2008 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันที่พบว่า ดัชนีวัดความไว้เนื้อเชื่อใจกันของคนในสังคมไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจนั้น ได้บั่นทอนกลไกในการสร้าง resiliency ของระบบเศรษฐกิจไทย”
และมีอีกบางตอนเป็นข้อเสนอแนะเกี่ยวข้อง “…ลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเหลื่อมลํ้าเชิงโอกาสในด้านต่าง ๆ ทั้งการเข้าถึงความจําเป็นขั้นพื้นฐาน การศึกษา การประกอบอาชีพ การแข่งขันทางธุรกิจ และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งภาครัฐมีบทบาทสําคัญทั้งในการกํากับดูแล ไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบ รวมถึงไม่สร้างและบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรมในสังคม”
ที่ว่าอย่างคร่าวๆ แค่โหมโรง สู่เนื้อหาซึ่งมีอีกหลายเรื่อง ควรแก่การสนใจ
ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือปาฐกถาทางการครั้งแรกของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งมาครบ1ปีพอดี —ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน(ตั้งแต่1 ตุลาคม 2563) ผู้มีโปรไฟล์ที่แตกต่างพอสมควร จากผู้ว่าการฯในอดีต