เครือข่ายธุรกิจค้าปลีกยักษ์ใหญ่ กำลังเข้าสู่โหมดสปีดอย่างเต็มกำลัง เมื่อ “เซ็นทรัลต้องโต” ย่อมต้องมีซีพีเอ็น
(1)
ผมเคยสรุปความ จากข้อมูลพื้นฐานสำคัญของกลุ่มเซ็นทรัล(อ้างไว้ ในเอกสาร-Central Group Corporate Book 2018 ในหัวข้อ Central Group : Chronicle of Magnificent หาอ่านได้จากCentral group website)
“สะท้อนภาพเป้าหมายและแผนการเชิงรุกทางธุรกิจอย่างจริงจัง โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงการมาของผู้นำคนใหม่ คนรุ่นที่ 3 ของธุรกิจครอบครัวตระกูลจิราธิวัฒน์ เมื่อทศ จิราธิวัฒน์ ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มเซ็นทรัล ตั้งแต่ปลายปี 2556 ข้อมูลข้างต้น ดูเหมือนตั้งใจนำเสนอ แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนผ่านผู้นำสอดคล้องกับการเข้าสู่ยุคการเติบโตอย่างต่อเนื่อง พิจารณาจากตัวเลขโดยเฉพาะมองผ่านยอดขาย ซึ่งขยายตัวอย่างน่าทึ่ง จากระดับ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ช่วงปี 2554-2555) ใช้เวลาประมาณ 5 ปี หรือเข้าสู่ยุค ทศ จิราธิวัฒน์ เพียง 3 ปี สามารถเพิ่มขึ้นเท่าตัว ทะลุ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ปี 2559)”
ภาพนั้นย่อมสัมพันธ์ กับบทบาทเชิงรุกของซีพีเอ็นอย่างมิพักสงสัย
ซีพีเอ็น (CPN : บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)) ก่อตั้งขึ้นพร้อม ๆ กับโครงการเซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว “อีกจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์ธุรกิจค้าปลีกไทย ด้วยกำเนิดของเซ็นทรัล ลาดพร้าว ศูนย์การค้าครบวงจรแห่งแรกของไทย ทั้งห้างสรรพสินค้า ร้านค้า โรงแรม โรงภาพยนตร์ ศูนย์การประชุม…ที่ยังไม่เคยมีบริษัทใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้เงินลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท” ข้อมูลของเซ็นทรัลเองเคยกล่าวถึงไว้
ซีพีเอ็นก่อตั้งขึ้นในปี 2523 ก่อนเซ็นทรัลลาดพร้าวเปิดตัวเล็กน้อย (ปี 2525) ว่าไปแล้ว “ศูนย์การค้าครบวงจร” ที่ว่า คือโมเดล Mix-used ในปัจจุบัน ต่อมาในปี2538ซีพีเอ็นได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น บทบาทสำคัญปรากฎอย่างชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับในฐานะ “หัวหอก” กลุ่มเซ็นทรัลในแผนการขยายเครือข่ายธุรกิจค้าปลีก
ซีพีเอ็น ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีลักษณะธุรกิจมีโฟกัสที่แตกต่าง ให้ความสำคัญ ธุรกิจศูนย์การค้า มากเป็นพิเศษ “ธุรกิจศูนย์การค้าเป็นธุรกิจหลักซึ่งเป็นที่มาของรายได้มากกว่า 80% ของรายได้รวม” และเป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปว่า คู่ค้าหลัก คือธุรกิจในเครือข่ายกลุ่มเซ็นทรัล มีหลากหลายกว่าที่คิด ไม่เพียงค้าปลีก หากรวมถึงเครือข่ายธุรกิจร้านอาหารด้วย
ข้อมูลล่าสุด( CPN Investor Presentation August 2018) ซีพีเอ็น ดำเนินธุรกิจหลักสำคัญที่สุด เป็นเจ้าของและบริหารศูนย์การค้าภายใต้แบรนด์หลัก -Central Plaza และอื่น ๆ อย่าง Central World และCentral Festival มีทั้งหมด 32 แห่งในกรุงเทพฯ14 แห่ง และในพื้นที่จังหวัดสำคัญๆและแหล่งท่องเที่ยวอีก 18แห่ง นอกจากนั้นเป็นโครงการแบบผสม( Mixed-use Properties) ประกอบด้วย สำนักงาน7 แห่ง ที่พักอาศัย6 แห่ง โรงแรม2 แห่งและ ที่พักให้เช่าอีก 1 แห่ง
ไม่กี่ปีมานี้ ซีพีเอ็นมีบทบาทโลดโผนและตื่นเต้น มากขึ้น จากแผนพัฒนาอย่างที่ควรเป็นไป มีเป้าหมายแน่ชัดในการปรับปรุงพลิกโฉมสินทรัพย์ดั้งเดิม พร้อม ๆกับการบุกเบิกสร้างเครือข่ายใหม่ๆ ไปสู่แผนการที่มียุทธศาสตร์ที่แตกต่าง เพื่อก้าวไปในอัตราเร่งยิ่งขึ้น
ร่วมทุน
โมเดลการร่วมทุนสำคัญที่น่าสนใจ ได้แก่ กรณี ซีพีเอ็นบรรลุข้อตกลงร่วมทุนราว ๆ ปี 2556 กับ I–Bhd แห่งมาเลเซีย ในแผนการสร้างเมืองใหม่ โครงการmix-usedขนาดใหญ่ ที่สำคัญคือศูนย์การค้าแห่งแรกของซีพีเอ็นในต่างประเทศ และเป็นก้าวแรกในการนำพาธุรกิจสู่อาเซียน (ASEAN) ภายใต้ชื่อ Central Plaza I–City มูลค่าโครงการเกือบๆหนึ่งหมื่นล้านบาท
จากนั้นปี 2558 ซีพีเอ็นได้บรรลุข้อตกลงร่วมมือกับ IKEA เครือข่ายร้านเฟอร์นิเจอร์ชื่อดังระดับโลก เพื่อเปิดสาขาที่ 2 ในเมืองไทย ณ Central Plaza Westgate แทนที่แผนการเดิมในโครงการ Mega Bangyai ซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณใกล้เคียงกัน เป็นดีลที่มีความสำคัญเช่นกัน เป็นยุทธศาสตร์เปลี่ยนคู่แข่งทางธุรกิจให้เป็นพันธมิตร ซึ่งเป็นพันธมิตรที่มีความหมายเสียด้วย
IKEA เครือข่ายธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ระดับโลกแห่งสวีเดน มีสาขาทั่วโลก มีบางเรื่องราวเกี่ยวข้องกับ IKANO ซึ่งเป็นHolding companyครอบครัว Ingvar Kamprad ผู้ก่อตั้ง IKEA ทั้งนี้ IKANO มีธุรกิจหนึ่งที่เรียกว่าRetail Asia ถือสิทธิ์ในการสร้างเครือข่าย IKEA ในภูมิภาคอาเซียน เปิดฉากขึ้นที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โครงการศูนย์การค้าแห่งแรกในภูมิภาคนี้ของ IKANO เปิดตัวขึ้นในปี 2549 ก่อนจะมาที่ปักหลักเมืองไทยครั้งแรกที่Mega Bangna เมื่อปี 2555
ในปี 2560 มีดีลสำคัญอีก ซีพีเอ็นบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มดุสิตธานี ลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการmix-used มูลค่าโครงการกว่า สามหมื่นล้านบาท บนเนื้อที่ประมาณ 24 ไร่ เป็นแผนการปรับโฉมโรงแรมดุสิตธานีเดิมให้เข้ากับกรุงเทพฯสมัยใหม่ โดยมีเครือข่ายธุรกิจห้างสรรพสินค้ากลุ่มเซ็นทรัลเข้ามาเปิดพื้นที่ด้วย
เป็นดีลที่น่าสนใจเช่นกัน เป็นความร่วมมืออย่างเฉพาะเจาะจง ทั้ง ๆที่เครือเซ็นทรัลกับดุสิตธานี เป็นคู่แข่งกันในธุรกิจโรงแรม ดีลใหม่เอื้อต่อกลุ่มเซ็นทรัลพอสมควร ในความพยายามสร้างและผนึกเครือข่ายค้าปลีกใจสมัยใหม่กลางกรุงเทพให้มีพลังมากขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันที่มีคู่แข่งน่าเกรงขามหลายราย
โมเดลหลากหลาย
อันที่จริงความร่วมมือกับ IKEA เป็นส่วนหนึ่งแผนการสร้างโมเดลใหม่ๆเป็นตามกระแสซึ่งเซ็นทรัลมาที่หลัง– Super regional mall จากนั้น (เมษายน 2561) ซีพีเอ็นมีความพยายามก้าวสู่โมเดลใหม่อีกครั้ง เปิดแผนโครงการใหม่ –เซ็นทรัล วิลเลจ (Central Village-Bangkok Outlet Experience) “เป็น ลักชัวรี เอาต์เล็ต (Luxury Outlet) มาตรฐานระดับโลกที่สมบูรณ์แบบที่สุดครั้งแรกในไทย ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นจุดหมายปลายทางแห่งการจับจ่ายใช้สอยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เป็นจังหวะเดียวกันกับคู่แข่งรายใหญ่บางราย เข้าสู่เกมเผชิญหน้า
ซื้อกิจการ
แล้วก็มาถึงดีลครึกโครมที่สุดในประวัติศาสตร์ซีพีเอ็นก็ว่าได้ กรณีเข้าถือหุ้นใหญ่ในกิจการอสังหาริมทรัพย์ไทยรายสำคัญ ซึ่งเป็นกิจการในตลาดหุ้นเหมือนกัน
แผนการล่าสุดของซีพีเอ็น “หัวหอก”เครือข่ายธุรกิจเซ็นทรัล ย่อมมีสาระและความหมาย
(2)
ดีลล่าสุดถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก ๆ
–12 กันยายน2561 เซ็นทรัลพัฒนา จํากัด (มหาชน) หรือCPN ผ่านบริษัทย่อย เข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จํากัด (มหาชน) หรือGLAND จากผู้ถือหุ้นรายใหญ่จํานวนทั้งสิ้น 3,278,132,406 หุ้น ในราคา 3.10 บาท ต่อหุ้น หรือในสัดส่วนร้อยละ 50.43 ของจํานวนหุ้นทั้งหมด มูลค่ารวมทั้งสิ้น10,162,210,458.60 บาท
–25 กันยายน 2561 -31 ตุลาคม 2561 เป็นช่วงเวลาCPN เสนอซื้อหลักทรัพย์GLANDที่เหลือ(Mandatory Tender Offer) โดยคาดว่าจะใช้เงินทั้งหมด 9,987,261,490.50 บาท โดย แหล่งเงินทุนที่ใช้จะมาจากการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน–ธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) ในวงเงิน 12,000,000,000 บาท
สาระสำคัญข้างต้นสรุปความาจาก “คําเสนอซื้อหลักทรัพย์ของบริษัท แกรนด์คาแนล แลนด์จํากัด (มหาชน)” หรือ แบบ 247-4 โดยบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จํากัด (มหาชน) เป็น ผู้จัดเตรียมคําเสนอซื้อและตัวแทนในการรับซื้อหลักทรัพย์
บทสรุปเบื้องต้น ดีลCPN-GLAND จึงมีมูลค่าราว ๆสองหมื่นล้านบาท ถือว่าเป็นแผนการลงทุนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์CPN เลยก็ว่าได้ โดยเปรียบเทียบแค่เงินลงทุนเริ่มต้น มากกว่าโครงการใหญ่ก่อนหน้านั้น ไม่ว่า Central Plaza I-City ในมาเลเซีย หรือ ดีลร่วมทุนดุสิต-เซ็นทรัล ทั้งนี้ยังไม่รวมกับแผนการลงทุนใหม่ๆอีกมาก เพื่อพัฒนาต่อเนื่อง
ผู้ซื้อ-ผู้ขาย
ข้อมูลซึ่งควรยกขึ้นอ้างอิงไว้อีกครั้งหนึ่ง จากเอกสารข้างต้น จะให้ภาพที่เชื่อมโยงกัน
“บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จํากัด (มหาชน) (CPN) ประกอบธุรกิจพัฒนาโครงการศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์ ประเภทอื่นที่เกี่ยวเนื่องในรูปแบบโครงการ อสังหาริมทรัพย์แบบผสม (Mixed-use Development) ประกอบด้วย อาคาร สํานักงานโรงแรม และที่พักอาศัย เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับโครงการ โดย ณ สิ้นปี 2560 CPN มีอสังหาริมทรัพย์ภายใต้การบริหาร ประกอบด้วยศูนย์การค้า 32 แห่ง อยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 14 แห่ง และในต่างจังหวัด 18 แห่ง อาคารสํานักงาน 7 แห่ง ในกรุงเทพฯ โรงแรม 2 แห่ง คือ โรงแรมเซ็นทาราและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ อุดรธานี และโรงแรมฮิลตัน พัทยา และ โครงการที่พักอาศัย 2 โครงการในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และ 6 โครงการในต่างจังหวัด นอกจากนี้ CPN ยังมีการลงทุน ในทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ CPN รีเทล โกรท (CPNREIT) และกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPN คอมเมอร์เชียล โกรท (CPNCG)”
ส่วนผู้ขาย มีความเป็นมาค่อนข้างซับซ้อน สะท้อนปัญหาและโอกาสธุรกิจอันพลิกผันตามสถานการณ์
“บริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จํากัด (มหาชน) (GLAND) เดิมชื่อบริษัท มีเดีย ออฟ มีเดียส์ จํากัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2528 เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2539 ซึ่งขณะนั้นประกอบธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์และจําหน่ายเวลาโฆษณาในรายการโทรทัศน์ กิจการได้มีการเปลี่ยนแปลงการดําเนินธุรกิจครั้งสําคัญในปี 2552 โดยทํารายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ในธุรกิจพัฒนา อสังหาริมทรัพย์ ด้วยกระบวนการโอนกิจการทั้งหมด (Entire Business Transfer : EBT) จากบริษัท แกรนด์ คาแนล จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มเจริญกฤษ และการซื้อสินทรัพย์จากกลุ่มรัตนรักษ์ ถือเป็นการจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ทางอ้อม (Backdoor Listing) และส่งผลให้กิจการมีการเปลี่ยนแปลงการดําเนินธุรกิจครั้งสําคัญโดยการเปลี่ยนจากธุรกิจโทรทัศน์ ไปสู่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มเจริญกฤษได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และเป็นผู้บริหารหลักของกิจการ”
จากการติดตามความเป็นไป รวมทั้งศึกษาเอกสารหนา 39 หน้า ที่อ้างถึงดังกล่าว พอจะมองเห็นภาพยุทธศาสตร์ใหญ่ของกลุ่มเซ็นทรัล และCPN
ภาพนั้นโฟกัสมายัง โครงการ เดอะ แกรนด์ พระราม 9 (The Grand Rama 9) “โครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่บนพื้นที่ประมาณ 73 ไร่ ตั้งอยู่บนถนนพระราม 9 ตัดถนน รัชดาภิเษก (มีทางเชื่อมสู่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีพระราม 9 ทางออกที่ 3) ที่สามารถเชื่อมต่อ ถนนสําคัญหลายสายซึ่งเป็นทําเลที่มีศักยภาพในการตอบรับทุกการเดินทาง โดยกิจการมีเป้าหมายที่ จะพัฒนาโครงการดังกล่าวให้มีลักษณะเป็นย่านศูนย์กลางธุรกิจ (Central Business District) ใจกลาง กรุงเทพมหานคร โครงการเดอะ แกรนด์ พระราม 9 ประกอบด้วยอาคารสํานักงาน พื้นที่ค้าปลีก หอประชุม โรงแรม และอาคารชุดพักอาศัย”(อีกตอน ตามเอกสารที่อ้างแล้ว)
ทั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ทางธุรกิจครั้งสำคัญ ระหว่าง CPNกับGLAND ก่อนจะมาถึงดีลครั้งใหญ่ ด้วยใช้เวลาเดินทาง ราวหนึ่งทศวรรษ
จุดเชื่อมโยงกับ โครงการเซ็นทรัลพลาซา แกรนด์ พระราม 9 ศูนย์การค้าและอาคารสํานักงาน ซึ่งเปิดดําเนินการเมื่อธันวาคม 2554 ขณะนั้นเป็นโครงการใหม่ของCPN ลงทุนเองทั้งหมด หากคิดมูลค่าในปัจจุบันมากกว่า 5 ,000ล้านบาท ภายใต้สัญญาเช่าที่ดิน GLAND ตามสัญญาฉบับนั้นจะสิ้นสุดในปี 2583 ทว่าจากนี้ไปที่ดินเช่า จะกลายเป็นทรัพย์สินของตนเอง ในเวลานั้นถือเป็นโครงการใหญ่ มีความสำคัญ และเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจร่วมกันอย่างแท้จริง
สำหรับกลุ่มเซ็นทรัล ถือเป็นไปตามแผนการขยายเครือข่าย บุกเบิกในทำเลใหม่ที่สำคัญ อีกด้านเซ็นทรัลพลาซา โครงการใหม่ ริมถนนรัชดาภิเษก เลยแยกถนนพระราม9 ไปไม่ใกล อยู่ด้านหน้าพื้นที่โครงการเดอะ แกรนด์ พระราม 9 ย่อมมีผลดีตามแผนการกระตุ้นให้โครงการดังกล่าว เดินหน้าสู่แผนการที่ใหญ่ขึ้นๆ ต่อ “จิ๊กซอร์”ในอาณาบริเวณเดียวกันอย่างเป็นจังหวะก้าว ตั้งแต่ คอนโดมิเนียมเบ็ล(เปิดดําเนินการปี 2555) ตามมาด้วย อาคารสำนักงานเดอะไนน์ทาว เวอรส กับ ยูนิลีเวอร์เฮาส์ (ปี 2557) และอาคารสำนักงานจีทาวเวอร์ (ปี2559)
จนมาถึงโครงการยักษ์ The Super Tower ซึ่ง โยธิน บุญดีเจริญ ประธานกรรมการบริษัท(ขณะนั้น) แกรนด์ คาแนล แลนด์ จากัด (มหาชน) หรือ GLAND แถลง(เมื่อปี2557 )อย่างครึกโครมว่า จะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการอสังหาริมทรัพย์เมืองไทย ด้วย “การเนรมิตร โครงการมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท เป็นปรากฎการณ์ใหม่ตึกระฟ้าเมืองไทยที่สูงที่สุดในอาเซียน และติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก”
โครงการที่มีความทะเยอทะยานอย่างมาก ตามแผนการสร้างอาคารสูง 615 เมตร มี125 ชั้น เป็นทั้งศูนย์ประชุม อาคารสำนักงาน พื้นที่ค้าปลีก และโรงแรม เมื่อสร้างเสร็จ อ้างว่า จะเป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทยและในอาเซียน ถือเป็นอาคารแรกในประเทศไทยที่มีความสูงมากกว่า 100 ชั้น
ตามเอกสารของบล.บัวหลวง ระบุว่า “โครงการ Super Tower และศูนย์ประชุม อาคารสํานักงาน และ หอประชุม อยู่ระหว่างการพัฒนา โดยคาดว่าจะเปิดดําเนินการบางส่วน ในไตร มาส 1 ปี 2564” เป็นเรื่องน่าติดตามว่า หลังจากเปลี่ยนมือเป็นของ CPN แล้วแผนการใหญ่ดังกล่าวจะเป็นไปอย่างไร
แม้ว่าGLAND จะมีโครการอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆอีก โดยเฉพาะในย่านกรุงเทพตอนเหนือ กับมีที่ดินเปล่าอีกส่วนหนึ่ง แต่เชื่อว่าความสำคัญ ในเชิงยุทธศาสตร์ธุรกิจ คงอยู่ที่ เดอะ แกรนด์ พระราม 9
โครงการผสมผสาน(Mixed–use) ต้องเดินหน้าต่อเนื่องไป เป็นพัฒนาการก้าวไปอีกขั้นของCPN หลังจากผ่านประสบการณ์แรกในยุคก่อตั้ง เมื่อกว่า 3 ทศวรรษที่แล้ว และจะกลายเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่มเซ็นทรัลในกรุงเทพฯ
———————————————-
ข้อมูลจำเพาะ
CPN: บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)
ก่อตั้งบริษัท 17มิถุนายน 2523 จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ 1มีนาคม2538
ลักษณะธุรกิจ พัฒนาและให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าขนาดใหญ่ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น อาคารสำนักงาน โรงแรม อาคารที่พักอาศัย และศูนย์อาหาร รวมทั้งลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีกและเป็นผู้บริหารอสังหาริมทรัพย์ให้กองทุน
ผู้ถือหุ้นรายย่อย (7 มีนาคม2561) 53.55%การถือครองหุ้นต่างด้าว(25กันยายน2561) 13.91% ข้อจำกัดหุ้นต่างด้าว 30%
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (7 มีนาคม 2561)–บริษัท เซ็นทรัลโฮลดิ้งจำกัด 26.21% และบุคคลในตระกูลจิราธิวัฒน์ ประมาณ 27%
ข้อมูลการเงินสำคัญ
(ล้านบาท)
CPN: บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)
ปี 2557 2558 2559 2560
สินทรัพย์ 89,035 103,045 104,527 120,574
รายได้ 24,767 26,621 30,114 35,456
กำไรสุทธิ 7,307 7,880 9,244 13,568
GLAND : บริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน)
สินทรัพย์ 17,796 24,432 26,398 29,056
รายได้ 4,734 5,160 3,604 2,855
กำไรสุทธิ 849 1,732 1,112 1,070
ทีมา ข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย