SCHOOLS INFORMATON–updated

ภาคผนวก หนังสือ  “หาโรงเรียนให้ลูก”   จุดเริ่มต้นของการแสวงหาข้อมูล อาจจะเริ่มจากแหล่งข้างล่างนี้

UK.

www.isc.co.uk  Independent Schools Council (ISC) หน่วยงานที่ดูแลโรงเรียนอิสระหรือโรงเรียนเอกชนในสหราชอาณาจักร ประมาณ1, 300แห่งมีการจัดระบบระบบข้อทูลที่ดีมากโดยเรียกว่า Independent School Information Services โดยมีwebsiteเฉพาะอธิบายความโดยรวม โดยเฉพาะข้อมูลโรงเรียนต่างๆทั่วสหราชอาณาจักร มีทั้งโรงเรียนไปกลับและโรงเรียนประจำ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายหลักของนักเรียนต่างชาติ ผมเสนอแนะให้เริ่มทำความเข้าใจระบบการศึกษาระดับมัธยม ของสหราชอาณาจักร ตรงนี้ อย่างละเอียดถี่ถ้วน และศึกษาProfile โรงเรียนบางแห่งให้เข้าใจในเบื้องต้น

อ่านเพิ่มเติม “SCHOOLS INFORMATON–updated”

Soft Power (2) มหาวิทยาลัยไทย

ใน 5ปีมานี้ดูเหมือนมหาวิทยาลัยไทยมีการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง บางสิ่งบางอย่างมีสีสันอย่างมากช่วงหนึ่งของระบบการศึกษาไทย     ในขณะที่เปิดหลักสูตรใหม่สอนเป็นภาษาอังกฤษกันมากมายนั้น สำหรับหลักสูตรพื้นฐานก็พยายามค้นค้นคิด ทดลอง และปรับเปลี่ยน ระบบคัดเลือกเข้าเรียนระดับมหาวิยาลัยอย่างมากมายเช่นเดียวกัน อ่านเพิ่มเติม “Soft Power (2) มหาวิทยาลัยไทย”

พาลูกไปเที่ยว ไปดูโรงเรียน

เหนือสิ่งอื่นใด
เราได้เข้าใจบุตรทั้งสองมากขึ้น
เข้าใจธรรมชาติ
และแรงบันดาลใจแห่งการเรียนรู้

คนที่คิดจะขับรถยนต์ท่องเที่ยวนิวซีแลนด์ ไม่จำเป็นต้องทำอะไรยุ่งเหยิงอย่างผม
เพียงมีตั๋วเครื่องบิน(แน่ละ คุณต้องมีวีซ่าด้วย) เมื่อไปถึงสนามบิน ไม่ว่าAuckland หรือ Christchurch แล้วค่อยหารถเช่า มีให้เลือกหลากหลาย เขามีแผนที่แถมให้ด้วย จากนั้นตะบึงเลย ผมพิสูจน์มาแล้ว ขับรถประเทศนี้ ไม่หลงง่ายๆ

ปรากฏการณ์ทำเรื่องง่ายๆให้ยุ่งเข้าไว้ หรือกล่าวให้ดูดี อาจเป็นว่า ให้ความสำคัญกับข้อมูล เพื่อการวางแผนเป็นระบบ หากว่าอีกบางเวอร์ชั่นมีเหตุผลน่ารับฟัง  เพื่อปกป้องตัวเองและ ขจัดความกลัวบางสิ่งบางอย่าง จำเป็นต้องอาศัยข้อมูล เตรียมการอย่างกระตือรือล้น รวมทั้งหาความรู้ใหม่ๆ

นี่เป็นครั้งแรก ไม่ใช้บริการจัดการท่องเที่ยว ไม่ว่าบริษัททัวร์ตามโปรแกรมทั่วไป หรือจัดเฉพาะกลุ่ม รวมถึงบริการโดยเลขานุการส่วนตัว จัดการจองตั๋ว จองที่พัก และจัดโปรแกรมการเดินทางเพื่อการทำงาน บริการอย่างหลังซึ่งคนกันเองจัดให้ มักมีรายการแถมอยู่บ่อยครั้ง

ครั้งหนึ่งไปดูกิจการหนังสือพิมพ์เกาหลีใต้ ศึกษาระบบการพิมพ์ผ่านดาวเทียม ความจริงเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปโซล ใช้เวลาเดินทางไม่กี่ชั่วโมง แต่อดีตเลขาฯคนเก่งจัดโปรแกรมแถมให้ ผมต้องนั่งมองแผ่นดินไต้หวันจากช่องหน้าต่างเล็กๆ ของเครื่องบิน ซึ่งจอดนิ่งถึง 2 ชั่วโมง ยังดีขึ้นบ้าง แอร์โฮสเตสสายการบินตะวันตกบริการค่อนข้างดี มีเครื่องดื่ม มีไวน์มาให้ฆ่าเวลา

หรืออีกครั้งหนึ่ง เลขาฯคนเดิม บอกว่าได้จองโรงแรมโรแมนติกริมฝั่งแม่น้ำเทมส์ ตรงข้าม Canary Wharf อันเป็นที่ตั้งสำนักงานThe Mirror Group  คณะของเราตั้งใจไปดูระบบการจัดการระบบภาพข่าวของหนังสือพิมพ์อังกฤษ แต่ดูเหมือนเอกสารการจองจะยังอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ยังนับว่าโชคดี เมื่อไปถึงโรงแรม มีห้องว่าง  เราเลยได้พัก มีบางโอกาสที่นี่น ยังจดจำได้  ทดลองชิมไวน์แอฟริกาใต้ เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับโลกกำลังเฉลิมฉลองประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของแอฟริกาใต้* 

การเดินทางเที่ยวนิวซีแลนด์ ถือเป็นครั้งแรกพาบุตรชายจอมซนไปเที่ยวต่างประเทศ คนโต9 ขวบ คนเล็กเพิ่งจะ7ขวบ ทั้งๆที่เพื่อนฝูงบางคนเตือน ว่าพาลูกชายยังเล็กๆไปเที่ยวต่างประเทศหลายวัน จะเหนื่อยหน่อย  ด้วยมีแผนการใหญ่ในนั้นจึงดั้นด้น มีนัดหมายไปเยี่ยมชมโรงเรียนมัธยมศึกษา5แห่ง เป็นขั้นตอนสำคัญในการวางแผนหาโรงเรียนให้ลูก หลังเรียนจบประถมศึกษาในเมืองไทย 

 

ผู้อ่านหนังสือ “หาโรงเรียนให้ลูก” ของผม คงได้เห็นภาพและความคิดอ่านของคน ๆหนึ่ง จำต้องลงทุนลงแรง  อย่าให้บอกเลยครับว่ามีโรงเรียนอะไรบ้าง เอาเป็นว่าเราชอบเกาะใต้ ที่สำคัญเป็นโรงเรียนชายและเป็นโรงเรียนประจำ ด้วยเหตุผลกลใดอ่านจากหนังสือเล่มนั้น คงมีคำตอบให้บ้าง

เริ่มต้นแผนการ ด้วยอุดหนุนหนังสือสารคดีท่องเที่ยนิวซีแลนด์วภาคภาษาไทยเกือบทุกเล่ม โดยเฉพาะการขับรถเที่ยว ไม่ว่างานเขียนเก่าเคยพิมพ์ในนิตยสารแพรว “ขับรถเที่ยวไปในนิวซีแลนด์” ของสันต์ ยอดใจศิลป์ “เที่ยวไปกินไป” ของพลเอกโอภาส โพธิแพทย์ ไปจนถึง “ยกครอบครัวเที่ยวเมืองกีวี” ของไมตรี ลิมปิชาติ ฯลฯ ผมได้ความคิดอย่างหนึ่ง มุมมองผู้เขียน คล้ายๆกัน มักนำเสนอภาพความสวยงามทางธรรมชาติของนิวซีแลนด์

รู้ดีว่าเป็นงานประเภท “เรื่องแต่ง” (Fiction) เป็นมุมมองกับภาพที่เห็น แม้เป็นสถานที่เดียวกัน แต่ภายใต้เงื่อนไขและเวลาที่ต่างกัน มุมมองแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน อาจคล้ายๆนิยายซึ่งมักทำเป็นละครทีวี ใช้ฉากสังคมไทย เป็นพื้นแก่งความเป็นไปอย่างกว้างๆ ไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับเรื่องแต่งที่ดำเนินไป ข้อเขียนของผม อาจจะนับรวมเป็นเรื่องแต่ง (Fiction) ด้วยก็ได้

แน่นอน ผมต้องอ่านหนังสือซึ่งนักท่องเที่ยวทั่วโลกถือกันว่าเป็นคัมภีร์ ไม่ว่าLonely Planet ซึ่งก่อตั้งโดยสามีภรรยาเชื้อสายอังกฤษ ผู้เริ่มต้นเดินทางด้วยวิธีประหยัด จากเกาะอังกฤษถึงออสเตรเลีย เมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว, DK Eyewitness Travel Guide และ The Rough Guide ซึ่งอยู่ในเครือข่ายสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของโลก หรือInside Guide ของเยอรมนี (ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ) หนังสือเหล่านี้ เป็นผลผลิตมาจากความคิดคล้ายๆกัน พยายามจัดระบบข้อมูลเพื่อการท่องเที่ยวซึ่งอ้างอิงได้ โดยเฉพาะมีข้อมูลสำหรับผู้เดินทางท่องเที่ยวเอง นับว่าเป็นหนังสือขายดีในโลกประเภทหนึ่ง ที่น่าแปลก ปัจจุบันคนไทยเที่ยวเมืองไทยเอง ยังอ่านหนังสือพวกนี้เลย อย่างไรก็ตาม แม้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับข้อมูล แต่บางมิติมาจาก มุมมอง ความคิด และความเชื่อของผู้เขียน  อาจไม่ตรงกับผู้อ่านเสียทีเดียว

ขอยอมรับว่า หนังสือท่องเที่ยวฝรั่ง มีส่วนช่วยให้กำหนดโปรแกรมการท่องเที่ยวครั้งนี้ได้ จากแผนที่ ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว และที่พัก ฯลฯ โปรแกรมท่องเที่ยว 15 วัน ซึ่งมีทั้งเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวสลับกับการเยี่ยมชมโรงเรียน ตามโปรแกรมตั้งใจว่าจะเดินหน้าเป็นวงรอบๆ เกาะใต้ เริ่มต้นจาก Christchurch แล้ววนมาจบที่ Christchurch พยายามไม่ให้เดินทางย้อนกลับในเส้นทางที่ผ่านไปแล้ว แต่เนื่องจากมีนัดหมายโรงเรียนตามเมืองต่างๆ ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะทำเช่นนั้น เราจำเป็นต้องเดินทางย้อนบ้าง มีเพียงช่วงเดียว ระหว่าง Fox Glacier ธารน้ำแข็งหลายล้านปี จุดหมายปลายทางยอดนิยมของการท่องเที่ยว ถึงเมืองฝั่งตะวันตกที่ใหญ่ที่สุด– Greymouth สถานที่ทั้งสองห่างกันไม่ถึง 200 กิโลเมตร จากเส้นทางของการเดินทางทั้งสิ้น 2,844 กิโลเมตร ดูเหมือนเลขแปดอารบิก

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในหนังสือฝรั่ง ยังไม่เพียงพออยู่ดี โดยเฉพาะข้อมูลอย่างละเอียด อาณาบริเวณที่ตั้งโรงเรียน ในที่สุดสามารถหาข้อมูลแผนที่ดังกล่าวจนได้ จากอินเทอร์เน็ต ซึ่งใช้เวลานานทีเดียว**  แม้บางคนจะบอกว่าให้มาที่ “i” (Visitor Information) สัญลักษณ์อักษร “i” เด่นเห็นชัดในทุกเมือง ไม่ว่า เมืองเล็ก เมืองใหญ่ แม้แต่หมู่บ้าน 300 คน ยังมี “i” เป็นแบบไม่มีเจ้าหน้าที่ มีเพียงข้อมูลและสิ่งอำนวยความสะดวกทั่วไป เช่น ห้องน้ำ และ ที่พักนั่งเล่น โดยเรียกว่า i Kiosk  ทุกครั้งเราไปถึงเมืองต่างๆ สิ่งแรกมักทำ แวะที่ “i” ไม่ว่าจะเพียงหาห้องน้ำ หรือหาร้าน Fish’n Chip อาหารฟาสต์ฟู้ดขึ้นชื่อของชาวกีวีซึ่งบุตรชายทั้งสองชอบ 

เรื่องที่พัก ดูเป็นเรื่องใหญ่ โดยตั้งใจไว้แต่แรกเลยว่าจะไม่พักโรงแรม ซึ่งใช้บริการสำหรับการเดินทางทั้งในและต่างประเทศทุกครั้งที่ผ่านมา  ไม่ว่าโรงแรมซอมซ่อในหลวงพระบาง จนถึงโรงแรมหรูหราบนถนน Fifth Avenue  ให้เหตุผลกับตนเองว่า เป็นกระบวนการจัดสรรประสบการณ์หลากหลายสำหรับบุตรด้วย

ที่พักในนิวซีแลนด์มีหลากหลายให้เลือก ตั้งแต่ YHA B & B Motel Farmstay Motor Lodge จนถึงโรงแรม ตามแผนเดิมกะว่าจะพยายามหาที่พักอย่างหลากหลาย หลังจากหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตอยู่พักใหญ่ ค่อนข้างเสียเวลามาก*** ผมจึงสั่งซื้อหนังสือ 2 เล่ม Jesons Motel & Motor Lodges 2002 กับ Bed & Breakfast Book 2002 ความจริงบางเล่มเป็นหนังสือแจกฟรีตาม Motel ต่างๆ คนที่ซีเรียสในเรื่องข้อมูล บางทีต้องลงทุนเกินความจำเป็นบ้าง

ข้อมูลที่พัก เน้นเมือง 5 แห่ง ซึ่งโรงเรียนตั้งอยู่ ทั้งนี้ต้องอยู่ใกล้โรงเรียน ผมรู้สึกพอใจกับแผนการ เรามักจะมาถึงที่พักในตอนบ่าย โรงเรียนกำลังเลิก ได้เห็นภาพมากกว่าการเยี่ยมชมโรงเรียนอย่างเป็นทางการ นักเรียนกำลังกลับบ้าน การรับส่งนักเรียน ตลอดจนกิจกรรมหลังเลิกเรียน

วันหนึ่งใน Oumaru เมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก เป็นที่ชมนกเพนกวินด้วย Motelอยู่ติดสนามโรงเรียนเลย  เป็นสนามสองแห่งสองฟากถนน ใหญ่ไม่น้อยกว่า 4 สนามฟุตบอล มองเห็นนักเรียน 2-3 กลุ่มกำลังเล่นกีฬา ทั้งฟุตบอลและรักบี้ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการเล่นกีฬา มักมีผู้ฝึกสอนอยู่ด้วย แม้จะเป็นการเล่นกีฬาเพื่อออกกำลังกาย   เข้าใจว่า กีฬามีความหมายมากกว่าการออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรง หากควรเป็นไปตามมาตรฐาน  ฝึกวินัยและเคารพกติกาด้วย

 

บทสรุปเกี่ยวกับที่พัก เราแค่ตัดสินใจจองที่พักในวันแรก ริมLake Tekapoเท่านั้น ด้วยมาถึงแผ่นดินนิวซีแลนด์ที่สนามบิน Christchurch โดยไม่แวะพักตัวเมือง  ขับรถตะบึงไปตรงกลางเกาะใต้ทันที เผอิญเป็นวันเสาร์ ได้ข้อมูลว่าLake Tekapo ที่ท่องเที่ยวยอดนิยม ที่พักมักเต็ม ซึ่งก็เป็นจริง ขนาดจองล่วงหน้าเป็นเดือน ที่พักเต็มเกือบทั้งหมดมีว่างอยู่แห่งเดียว คือบ้านพักเยาวชน (YHA) ผมซึ่งเลยวัยเยาวชนแล้ว จำต้องสมัครเป็นสมาชิก YHA ทางอินเทอร์เน็ตเสียเงิน 30 เหรียญนิวซีแลนด์ เพื่อจองที่พักล่วงหน้าสำหรับวันแรกของการเดินทางท่องเที่ยวนิวซีแลนด์ รวมค่าใช้จ่ายประมาณ 60 เหรียญนิวซีแลนด์ ถือเป็นที่พักราคาถูกที่สุดของการเดินทาง

ว่าไปแล้ว ที่พักYHA กะทัดรัด เป็นอาคารชั้นเดียว ก่อสร้างโดยเทคโนโลยี Prefabrication สามารถยกขึ้นรถโยกย้ายได้ ตั้งอยู่ริมทะเลสาบในทำเลที่ดีที่สุดก็ว่าได้ แม้ว่าจะเป็นที่พักไม่หรูหรา เราพักห้องเล็กๆ ซึ่งมีหน้าต่างมองเห็นทะเลสาบ มีฉากหลังเป็นเทือกเขา Southern Alps โดยยอดเขาหนึ่งมีชื่อเสียงระดับโลกที่เรียกว่า Mt.Cook อยู่ตรงกลางเฟรม ฟากหนึ่งของห้องมีเตียงสองชั้นสำหรับบุตรทั้งสอง ในคืนที่อากาศหนาวมากๆ เราหา Heater แทบไม่พบ มันเป็นกล่องเล็กๆ อยู่มุมห้อง เราต้องตื่น มาแทบทุก 2 ชั่วโมงเพื่อเปิดเครื่อง ด้วย Heater ชนิดกระเป๋า เป็นระบบเปิดด้วยมือ แต่ระบบปิดอัตโนมัติ ตามแนวคิดประหยัดพลังงาน

เราผ่านคืนแรกที่แสนเหนื่อยอ่อนไปได้อย่างตื่นเต้น ภรรยาเข้าครัวทำอาหารเช้า อย่างง่ายๆ เป็นบะหมี่สำเร็จรูป และขนมปังกับนม เนย  ภายในห้องอาหารรวม ท่ามกลางเพื่อนใหม่ๆหลายคน มีทั้งเด็กสาววัยรุ่นญี่ปุ่น จนถึงสองสามีภรรยาชาวออสซี่อาวุโส เป็นเช้าที่ดี พวกเราดีใจ สามารถมองเห็นหิมะบนยอด Mt.Cook หลังจากเมฆหนาปกคลุมมาหลายวัน

ส่วนที่พักที่เหลือ เราตัดสินใจเลือก Motel มีความเป็นอิสระ กว้างขวาง ทำครัวเองได้ ภรรยามีความสุขในการทำอาหาร เธอบอกว่าการเข้าSupermarket เป็นการศึกษาวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่ที่ลึกซึ้ง ผมเชื่อเช่นนั้น ส่วนผมได้มีโอกาสเรียนรู้ไวน์นิวซีแลนด์อกีแงุ่มุอม ในฐานะโลกใหม่ที่ผลิตไวน์คุณภาพ
 

เทคนิคการเลือกMotel เริ่มต้นจากหนังสือสั่งซื้อโดยเลือกไว้สัก 4-5 แห่ง เมื่อไปถึง เข้าไปดูของจริง หากพอใจก็ตกลงทันที Motel ในนิวซีแลนด์มีระบบมาตรฐานรับรอง ไม่ว่าเป็น เครือข่าย (Chain) ที่มีชื่อเสียง หรือได้ Qualmark กี่ดาว รวมจนถึงดูว่ามีเคเบิลทีวี (Sky TV) หรือไม่ ในรายการหลังมีเรื่องสำคัญขึันมาก บุตรชายทั้งสองชอบดูการ์ตูนSky TV พวกเขาบอกว่าเป็นเรื่องใหม่กว่าUBCเมืองไทย ขณะที่ Sky TV ในแต่ละ Motel ไม่เหมือนกัน ดังนั้นเมื่อเข้าชมห้องพักก่อนตัดสินใจ บุตรชายทั้งสองจะรี่เข้าไปเปิดทีวีก่อนอื่น

 

แม้ว่าการเดินทางโดยเครื่องบิน ดูจะไม่รื่นรมย์เท่ารถไฟ อย่างที่นักเขียนสารคดีระดับโลก– Pual Theroux ว่าไว้ ผมรู้สึกว่าที่นั่งชั้นประหยัดมันแคบลง แม้ว่านั่งข้างบุตรตัวเล็ก อาจจะเป็นไปได้ว่าอายุมากขึ้น รู้สึกว่าการเข้าห้องน้ำเป็นเรื่องทรมานกับการรอคิวนาน แต่ก็ได้บอกตนเองว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตเมื่อเดินทางด้วยคองคอร์ด จากสนามบินฮีทโธรว์จากลอนดอน ไปยังนิวยอร์ก ที่นั่งทุกที่นั่งเป็นชั้นหนึ่ง ซึ่งดูแคบเหมือนๆกับชั้นประหยัดนี่ล่ะ สำหรับบุตรแล้ว พวกเขารู้สึกตรงกันข้าม การเดินทางเครื่องบินครั้งแรกในฃีวิต สนุกสนาน ตื่นเต้น 

โดยทั่้วไปการเดินทางให้ความรู้มากมาย มีเรื่องราวหลากหลาย ที่มีความหมาย  ทว่าครั้งนี้  มีความเฉพาะเจาะจงพอสมควร ว่าด้วยมิตรภาพต่างเผ่าพันธุ์ ซึ่งเชื่อว่ามีคุณค่ามากขึ้นในยุคโลกเชื่อมเข้าหากันมากกว่าที่เคย   เราไม่อาจหาได้ หากกักตัวเองอยู่ในพื้นเพและพรมแดนของตนเอง

ได้พบผู้คนมากมายพร้อมที่จะสื่อสารสนทนากับเรา ไม่ใช่เพียงทำตามหน้าที่อย่างครูใหญ่ หรือเจ้าหน้าที่โรงเรียน พวกเขาและเธอต้อนรับอย่างเต็มใจ แม้วันนั้นเป็นวันหยุด บังเอิญในช่วงนั้นครูนิวซีแลนด์กำลังประท้วง เรียกร้องผลตอบแทนให้มากขึ้น ด้วยการปิดโรงเรียนหยุดสอน เป็นช่วงๆ  เรามีโอกาสเข้าไปในห้องเรียนขณะมีการเรียนการสอน คุยกับครูผู้สอนและนักเรียนอย่างไม่ขัดเขิน ไม่ขัดจังหวะ ตลอดจนเข้าไปในหอพักทั้งชายและหญิง เข้าถึง เข้าใจชีวิตนักเรียนประจำ

 
เราได้รู้จักผู้จัดการ YHA ชาวดัชต์อยู่นิวซีแลนด์มากว่า 20 ปี เคยอยู่เมืองที่มีโรงเรียนหนึ่งในลิสต์ของเรา เขาได้ให้ข้อมูลบางแง่มุมไม่อาจหาได้จากการเยี่ยมชมโรงเรียน เจ้าของ Motel ที่ Nelson กุลีกุจอหาเบอร์โทรศัพท์ รวมทั้งอาสาติดต่อครูใหญ่ เมื่อรู้ว่าเรามีความประสงค์จะเยี่ยมโรงเรียน เจ้าของ Motel ที่ Blenhiem อาสาดูแลบุตรของเราให้ชั่วคราว ให้เป็นไปตามกฎหมายในนิวซีแลนด์ที่ห้ามปล่อยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีอยู่ตามลำพัง เนื่องด้วยพ่อแม่จะไป Vineyard Tour ซึ่งบุตรทั้งสองไม่ยอมไปด้วย ฯลฯ
 

เหนือสิ่งอื่นใด เราได้เข้าใจบุตรทั้งสองมากขึ้น เข้าใจธรรมชาติ และแรงบันดาลใจแห่งการเรียนรู้ ผมและภรรยาไม่ค่อยมีโอกาสชอปปิ้ง ด้วยพวกเขาต้องการเห็นโลกกว้างมากกว่านั้น เผชิญผจญภัยในชีวิต ไม่ว่าการเดินเท้า 2 ชั่วโมง ไปชมธารน้ำแข็งโบราณ เพื่อสัมผัสของจริงอย่างไกล้ชิด เป็นเรื่องสนุก ท้าทายสำหรับพวกเขา ขณะที่ผมต้องฝืนทนบ้าง หลายรายการเราต้องการเพียงชมห่างๆ แต่ลูกๆต้องการเข้าถึงอย่างใกล้ชิด ในบางช่วงบางเวลา ไม่รู้จะไปไหน ทั้งสองขอเข้าสวนสาธารณะที่มีต้นไม้ปีนได้ ก็พอ

เราต้องทำใจปล่อยบุตรชายคนโต 9 ขวบ ขับ Luge รถชนิดหนึ่งซึ่งอาศัยการบังคับด้วยมือ เรียนรู้ด้วยตนเองจากคำอธิบายสั้นๆของฝรั่ง(ไม่แน่ใจว่าเขาจะเข้าใจหรือไม่) จากยอดเขา Bob’s Peak ใน Queenstown เวียนไหลลงสู่เบื้องล่างตามลำพัง ซึ่งเส้นทางส่วนใหญ่เราเองก็มองไม่เห็น เมื่อลงถึงเบื้องล่างแล้ว เขากลับตามวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งขึ้นมากับ chair lift ไปที่ยอดเขาอีกครั้ง ด้วยความเข้า่ใจผิด ความจริงแล้วต้องเป็นคนซื้อตั๋วชนิดหลายรอบ  ที่เราตกใจมากกว่านั้น เขาไม่รู้และไม่ปฏิบัติตามกฏความปลอดภัย นั่งchair liftห้อยขาอย่างหวาดเสียว ในที่สุดผู้ดูแลต้องหยุด chair lift อย่างกะทันหัน ทั้งขบวน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อย ผู้คนที่นั่นตกอกตกใจกันพอประมาณ หลายคนเอะอะ บางตะโกนให้บุตรของเราดึงเหล็กกั้นตัวให้ถูกต้อง 
 
 

อีกครั้งในค่ำวันหนึ่งในMotel ที่ Franz Josef พริกไทยในห้องครัวถูกใช้จนเหมดกลี้ยง บุตรอาสาไปขอมาเพิ่ม แม้ว่าเขาเป็นนักเรียนประถมปีที่ 4 ของระบบโรงเรียนซึ่งภาษาอังกฤษใช้งานไม่ได้ แต่เขากล้าทำบางเรื่อง

นั่นไม่ใช่เรื่องที่ยิ่งใหญ่ สำหรับผู้อ่านหรือใครเลย  ทว่าสำหรับเขา อาจเป็นโอกาสที่สำคัญมากๆครั้งหนึ่ง ท่ามกลางกระบวนการเรียนรู้ เข้าใจโลกและตนเอง

สำหรับคนรุ่นเราอาจมีมุมองแตกต่าง ชินชากับบางระบบ ซึ่งให้ความรู้สักมั่นคงไม่สุ่มเสี่ยง ภาพนั้นอาจเป็นว่า พ่อแม่ ผู้ปกครองและโรงเรียน ต่างเห็นพ้องต้องกัน ให้เด็กจำนวนมากอยู่ไว้ในห้องสี่เหลี่ยม ทั้งในเวลาเรียนปกติและเวลาเรียนไม่ปกติ ประหนึ่งว่าการจมปลักอยู่ในห้องนั้นนานเท่าใด จะทำให้การเรียนรู้ มีมากขึ้นเท่านั้น

การท่องเที่ยวครั้งนี้ เราได้คิดขึ้นมาบ้างว่า  ลูกๆคงไม่เหมือนรุ่นเรา ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้เจนโลก ในช่วงชีวิตเยาว์วัยเช่นพวกเขา มีความกระหาย ใคร่เรียนรู้อย่างจริงใจ อย่างท้าทาย  แต่ที่เห็นๆ เป็นไป น่าเสียดาย โอกาสนั้นแคบกว่าที่คิดที่ควร เพราะถูกครอบงำและปิดกั้นจากคนอีกรุ่่นหนึ่ง

เราจึงจะพยายาม ไม่ทำอย่างนั้น

หมายเหตุ ปรับปรุงจากข้อเขียน เคยตีพิมพ์เมื่อ15ปีที่แล้ว(นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2545)เพิ่มเติมด้วยภาพจากอัลบั้ม(ตั้งใจแปลงจากระดาษเป็นดิจิติอล)

เชิงอรรถ * เนลสัน แมนเดลา ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เมื่อ
27 เมษายน 2537 **Google Maps เปิดบริการ ปี2548 ***Travel website เพิ่งอยู่ในระยะเริ่มต้น

พาลูกไปเล่นสกี

พวกเขามีชีวิตเพื่อการเรียนรู้อย่างท้าทาย
ในโลกทีมีความหลากของเผ่าพันธุ์
เช่นเดียวกับเด็กไทยยุคจากนี้ไปโดยทั่วไป
คงไม่อยู่เฉพาะในสถานการณ์บนSki fieldที่นานๆจะมีโอกาสสักครั้งเท่านั้น
เมื่อเราต้องเดินทางไปในช่วงกลางฤดูหนาว ผมพูดทีเล่นทีจริงกับลูกๆว่าคงไม่มีอะไรทำดีไปกว่าการเล่นสกี พวกเขายึดถือเป็นเรื่องจริงจังขึ้นทันที ในที่สุดโปรแกรมเล่นสกีจึงกลายเป็นHighlightของการเดินทางครั้งใหม่

ตั้งแต่เตรียมการอย่างเจาะจง ใช้เวลาที่สกีภูเขามากที่สุดของการเดินทางท่องเที่ยว แม้ว่าการเดินทางได้จบลงไปแล้ว ลูกๆก็ยังพูดถึงอยู่เสมอ ที่สำคัญกลายเป็นthemeของสารคดีท่องเที่ยวนิวซีแลนด์ตอนใหม่ แตกต่างจากตอนแรก ไม่ว่าประสบการณ์และบทเรียนชีวิต

เราเคยไปนิวซีแลนด์ครั้งแรกเมื่อ3ปีก่อน นอกจากเป็นการท่องเที่ยวต่างประเทศของครอบครัวครั้งแรกแล้ว ยังถือโอกาสไปการไปดูโรงเรียนให้ลูกด้วย(อ่าน“พาลูกไปเที่ยว ไปดูโรงเรียน”) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา บุตรชายคนโตอายุ12ขวบได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาที่นั่น ในระยะใกล้เคียงกันบุตรชายคนเล็กอายุ9ขวบ จำต้องย้ายโรงเรียนจากระบบการศึกษาไทยไปอยู่โรงเรียนนานาชาติระบบอังกฤษในประเทศไทย ด้วยเหตุผลง่ายๆ ให้พวกเขามีโอกาสปิดเทอมตรงกันบ้าง ชีวิตครอบครัวดำเนินไปอย่างที่ควรจะเป็นตามสมควร

การเดินทางครั้งนี้ตรงกับช่วงปิดเทอมใหญ่โรงเรียนนานาชาติในบ้านเรา คร่อมกับการปิดเทอมกลางปีกว่า2สัปดาห์ของโรงเรียนนิวซีแลนด์ แผนการจึงกำหนดขึ้นอย่างตายตัว แม้ภรรยาจะรู้สึกลำบากใจบ้าง เผอิญช่วงนั้น บริษัทที่เธอทำงานกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ข่าวtake overกิจการพลังงานระดับโลกกำลัง เกิดขึ้น* เธอบอกว่าบางครั้งอ่านข่าวหนังสือพิมพ์บนเครื่องบิน มีสีสันกว่าเรื่องเล่าผ่านโทรศัพท์ทางไกลข้ามประเทศเสียอีก

นอกจากถือโอกาสไปเยี่ยมบุตรคนโต สมาชิกครอบครัวมีโอกาสอยู่พร้อมหน้าและท่องเที่ยวด้วยกันเกือบ20วันแล้ว ขากลับส่งลูกเข้าโรงเรียนตอนเปิดเทอม เราตั้งใจใช้เวลาอีกสัก2-3วัน ดูชีวิตความเป็นอยู่นักเรียนประจำ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการติดตามผลการศึกษาให้รอบด้านขึ้น เราได้มีโอกาสร่วมประชุมผู้ปกครอง พบปะสนทนากับครูใหญ่ ครูประจำวิชา Housemaster(ครูผู้ดูแลหอพัก) แม้กระทั่ง Matron(แม่บ้านประจำหอพัก) ฯลฯ ถือเป็นการปิดท้ายการเดินทางที่เป็นการเป็นงานทีเดียว

การเดินทางครั้งใหม่แตกต่างจากครั้งที่แล้ว เรามีเวลามากกว่า เลยตั้งใจเที่ยวทั่วทั้งเกาะเหนือและเกาะใต้ ได้นัดหมายให้บุตรคนโตนั่งเครื่องบินขนาด20ที่นั่งจากเมืองขนาดกลางของเกาะใต้ มาพบกันที่ Auckland International Airport จากนั้นจึงเริ่มต้นขึ้นการเดินทางด้วยด้วยการขับรถยนต์ด้วยระยะทางไกลมากกว่า 4,000กิโลเมตร

การเดินทางครั้งก่อน ผมกำหนดแผนการค่อนข้างละเอียด จากการศึกษาหาข้อมูลอย่างมากมาย เสมือนเป็นการเดินทางของคนๆหนึ่ง ซึ่งนำภรรยาและบุตรพ่วงไปด้วย ความคิดตกผลึกมากขึ้น การเดินทางท่องเที่ยวของครอบครัว ควรเป็นกระบวนการแชร์ความคิด ความเข้าใจ เป้าหมายและความต้องการของสมาชิกในครอบครัว

โปรแกรมการเดินทางครั้งใหม่จึงยืดหยุ่นตามสถานการณ์ ผมบอกกับลูกๆว่า แผนการส่วนตัวมีอยู่อย่างเดียว เมื่อมีโอกาสแวะเมืองที่มีโรงเรียนมัธยมและหรือมหาวิทยาลัย ผมขอแวะเยี่ยมชมบ้าง ความจริงแล้วนอกจากจะหาข้อมูลเพิ่มเติมในฐานะผู้เขียนหนังสือ“หาโรงเรียนให้ลูก”ในใจผมอยากให้บุตรทั้งสองมีจินตนาการเชื่อมโยง จากโรงเรียนถึงมหาวิทยาลัยบ้าง แต่ก็ไม่ได้บอกพวกเขาตรงๆ

ผมตัดสินใจยกเลิกแผนการส่วนตัวอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นWine Tour ไม่บังคับให้ลูกๆต้องเข้าพิพิธภัณฑ์อันเป็นสูตรสำเร็จฯลฯ แม้กระทั่งจะนั่งร้านกาแฟRobert Harris ว่ากันว่าเป็นภาพสะท้อนไลaสไตล์ใหม่ของกีวี เชนร้านกาแฟนิวซีแลนด์บุคลิกใหม่เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ในขณะที่การดื่มชาแบบอังกฤษดั่งเดิมคงซ่อนตัวอย่างเงียบๆในบ้าน ผมอยากสัมผัสบรรยากาศอย่างไกล้ชิด การต่อสู้ระหว่างร้านกาแฟท้องถิ่นกับเชนใหญ่ระดับโลกอย่างStarbucksซึ่งแข่งขันกันเปิดสาขาในจำนวนพอๆกันประมาณ40แห่ง แต่ก็เลือกเฝ้ามองอยู่ห่างๆ

จะว่าไม่ได้ศึกษาข้อมูลการการเดินทางท่องเที่ยวคราวนี้เลย ก็ไม่เชิง มีอยู่เรื่องหนึ่ง มันเป็นความจำเป็น สกีเป็นเรื่องใหม่ เราไม่มีความรู้มาก่อน อย่างไรก็ตามได้พบว่า แง่มุมที่เป็นจริง ซับซ้อน มีสีสันมากกว่าการศึกษาก่อนการเดินทางพอสมควร

ในที่สุดเราเลือกCardrona Alpine Resort อยู่ระหว่าง Queenstown กับWanakaที่เกาะใต้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางแหล่งสกีที่ดีที่สุดของนิวซีแลนด์ ลูกๆบอกว่าพวกเขาต้องการไปถึงจุดหมายให้เร็วที่สุด การเดินทางสู่เป้าหมายอีก1500กิโลเมตรแผนการ เริ่มต้นในทันที โดยช่วงแรกใช้เวลาเพียง4วันพร้อมๆกับการ“ขี่ม้าชมสวน”บนเกาะเหนือ จากนั้นตะบึงอีก2วันบนเกาะใต้ ผ่านเมืองสำคัญๆตามรายทาง จาก Aucklandผ่านHamiltonค้างคืนที่Rotorua ผ่านTuapoค้างคืนที่ TurangiและWellington จากนั้นต้องข้ามฟากด้วยเรือเฟอร์รีไปเกาะใต้ เริ่มเดินทางต่อทันที จากPictonค้างคืนKaikouraโดยขาไปตัดสินใจไม่แวะChristchurch แล้วขับรถช่วงไกลที่สุดจนค่ำที่Dunedinใช้เวลาอีกค่อนวันก็ถึงจุดหมาย
 

ที่จริงการท่องเที่ยวเกาะเหนือในกลางฤดูหนาวไม่ค่อยสะดวกและสนุกนัก เราเจอฝนเกือบตลอดทาง ไม่ว่าจะเป็น AucklandหรือRotorua เผชิญลมแรงที่ริมทะเลสาบTaupoและที่ Windy Wellington ซึ่งเป็นNicknameของWellington เมืองหลวงนิวซีแลนด์

อย่างไรก็ตาม มีเหตุการณ์ตื่นเต้นอยู่บ้างเหมือนกัน ในช่วงขับรถผ่านDesert road วิวข้างทางด้านขวามือเป็นเทือกขาวที่มีหิมะปกคลุม ภาพแหล่งสกีสำคัญของเกาะเหนือสร้างบรรยากาศเร้าใจพอสมควร และแล้วเร้าใจขึ้นอีก เมื่ออุณหภูมิลดต่ำมาก มีป้ายจราจรเตือนให้ระวังหิมะและน้ำค้างแข็งเป็นระยะๆ แล้วสัญลักษณ์แปลกๆปรากฏหน้าปัทม์รถยนต์ สังเกตว่าเมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า4องศามีสัญญาณไฟสีเหลืองรูปหิมะขึ้น(ต่อมาอ่านคู่มือรถยนต์แปลว่าหิมะอาจตก)ทำเอาตกใจกันพอประมาณ ยิ่งเมื่อลงต่ำกว่า0องศาจะกลายเป็นสัญญาณสีแดง(หิมะอาจตกมากที่สุด แต่ความจริงไม่ได้ตก)อีกด้วย ที่สำคัญเราต้องรีบจัดการกับระบบอุณหภูมิในรถให้สัมพันธ์กับอากาศภายนอก มิฉะนั้นจะขับรถด้วยความลำบากเพราะหมอกเกาะกระจกหน้าอย่างรวดเร็วจนมองไม่เห็นทาง

การศึกษาคู่มือรถยนต์ก่อนการขับรถในฤดูหนาวในต่างประเทศจึงจำเป็นอย่างมาก ประสบการณ์การขับรถของคนไทยที่ถือชำนาญที่สุดในโลกชาติหนึ่งใช้กับประสบการณ์ใหม่ไม่ได้ทั้งหมด ผมเคยอ่านสารคดีขับรถเที่ยวนิวซีแลนด์มาหลายเรื่อง(ส่วนใหญ่มิได้ขับในช่วงฤดูหนาว)มักเล่าต่อๆกันว่า หากมีน้ำค้างแข็งเกาะกระจกรถยนต์ในตอนเช้า ผู้เขียนมักเสนอแนะให้ใช้น้ำอุ่นราดจะละลายได้ ความจริงรถยนต์ชั้นดีทั่วไปในประเทศนี้ มีระบบละลายน้ำค้างแข็งหรือหิมะที่เกาะกระจกรถอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องลงแรงขนาดนั้น

เราเพิ่งรู้ว่าช่วงที่เราเดินทางนี้มิใช่low seasonโดยเฉพาะในเมืองที่มีแหล่งสกี เรียกได้ว่าเป็นhigh seasonด้วยซ้ำ ช่วงเวลาปิดเทอมกลางปีของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในนิวซีแลนด์ ถือป็นเทศกาลเล่นสกีอันตื่นเต้นและคึกคัก แหล่งสกีเกือบ20แห่งทั่วประเทศเปิดอย่างพร้อมเพรียงกัน เรามีบทเรียนมาแล้วครั้งหนึ่งที่เกาะเหนือ ความคิดที่ว่าพักเมืองเล็กค่าที่พักมักจะราคาถูกกว่าเมืองใหญ่นั้นไม่ถูกต้องเสมอไป เราไม่รู้ว่าTurangiเมืองขนาดเล็ก ดูสงบแต่เป็นเมืองน่าอยู่นั้น อยู่ใกล้ ski fieldของเกาะเหนือมากที่สุด นอกจากราคาไม่ถูกแล้ว กว่าจะหาที่พักได้ต้องใช้เวลาจากบ่ายถึงค่ำ เหตุการณ์ทำนองเดียวกันซ้ำรอยอีกครั้งจนได้ ที่Queenstown

ผมไม่เคยคิดมาก่อนว่า ลูกจำเป็นต้องเล่นสกี(สำหรับตนเองไม่มีความคิดจะเล่นแม้แต่น้อย) คิดว่าสกีมิใช่กีฬาสำคัญคนไทย ประเทศของตนแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีฤดูหนาว ต้องเสียเวลา เสียเงินเรียนแล้วโอกาสได้เล่นมีน้อยมาก มันจะคุ้มหรือ ดูมันเรียนยากพอควรนะลูก แค่ไปดูๆแล้วถ่ายรูปน่าจะพอ ลูกไม่ได้โต้แย้งกโดยตรง เด็กๆให้เหตุผลด้วยการกระทำอย่างมุ่งมั่นและตั้งตารออย่างใจจดใจจ่อ พวกเขาไม่มีคำพูดยืดยาวเช่นผู้ใหญ่ แต่ทำให้เรารู้อีกครั้งว่า มีแรงบันดาลใจการเรียนรู้สิ่งใหม่อย่างกล้าหาญ พร้อมเผชิญความท้าทาย ทั้งๆที่ไม่เคยมีประสบการณ์ แม้มีโอกาสเพียงช่วงเวลาสั้นๆ

ผมคิดได้ว่า ผู้ใหญ่มักมีกรอบ อาจด้วยความอคติ ความกลัวและอ้างอิงประสบการณ์ตนเอง ในขณะที่เด็กๆมีความฝัน มีแรงบันดาลใจที่เป็นประกาย เป็นการเรียนรู้เพื่อเข้าใจตนเอง ปรับตัวเองเข้ากับประสบการณ์ใหม่ๆ ยิ่งผมได้อ่านบทความของครูใหญ่โรงเรียนซึ่งบุตรคนโตเรียนด้วยแล้วยิ่งกินใจ

เขาอ้างหนังสือเล่มซึ่งผมยังไม่ได้อ่าน “Fathering from the Fast Lane” เขียนโดย Bruce Robinson มีเนื้อหาตอนหนึ่งที่คมคาย“Children need to be accepted and supported as individuals regardless of their academic success, physical ability , sporting prowess, personality , moods, morals or beliefs. This acceptance is often difficult for high-achieving fathers.” ผมยอมรับในทันทีว่า ผมคงไม่ใช่และไม่ขอเป็น พ่อประเภท“ประสบความสำเร็จอย่างสูง”

Cardrona Alpine Resortเป็น ski fieldยอดนิยมและมีขนาดใหญ่ ได้ชื่อว่ามีบรรยากาศสวยงามเหมาะสำหรับครอบครัว มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับเด็กๆโดยเฉพาะมากกว่าที่อื่นๆ ผมใช้เวลาศึกษาพอสมควรกว่าจะตัดสินใจเลือกที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางที่ไม่ยากจนเกินไป มีโปรแกรมการสอนสำหรับfirst timerที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตามก่อนการเดินทางประมาณ1เดือนเศษ ก็ต้องลุ้นว่าจะเปิดบริการทันเวลาที่เราไปถึงหรือไม่ ปีนี้อากาศนิวซีแลนด์ร้อนกว่าปกติ หิมะตกช้ากว่าฤดูหนาวปีก่อนๆski fieldหลายแห่งต้องเลื่อนเวลาเปิดออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า ปกติแล้วมักเปิดกันประมาณกลางเดือนมิถุนายน แต่เอาเข้าจริงส่วนใหญ่เปิดกันประมาณกลางเดือนกรกฎาคม เราโชคดี เมื่อไปถึง Cardronaเปิดบริการแล้ว

นอกจากนี้ต้องอาศัยโชคอีกด้วย เนื่องจากเรามีเวลาค่อนข้างจำกัด โอกาสพลาดการเล่นสกีย่อมมีมาก ถ้าในวันนั้นอากาศไม่ดี การปิดเปิดสกีภูเขา ตัดสินใจกันวันต่อวัน ดังนั้นก่อนออกเดินทางในตอนเช้าควรต้องเช็คสภาพSki fieldให้ดีเสียก่อนจะได้ไม่เสียเที่ยว นักท่องเที่ยวประเภท“ขี่ม้าชมสวน”เช่นพวกเรา ต้องทำใจกับกฎข้อนี้ นับว่าเราโชคดี แม้ว่ามีปัญหาบ้าง แต่การเรียนการเล่นของลูกๆก็เป็นไปตามแผน

บรรยากาศที่Queenstownในฤดูหนาวคึกคักกว่าตอนปลายฤดูใบไม้ร่วงมากทีเดียว เมืองเล็กๆมีฉากหลังเป็นเทือกเขาที่เต็มไปด้วยหิมะ ผู้คนมีสีสันด้วยเสื้อผ้ากันหนาว ร้านรวงเปิดกันต้อนรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่เช้าจรดค่ำ โดยเฉพาะสินค้าเกี่ยวกับเล่นสกี เรียงรายตลอดแนวถนนใจกลางเมือง คนหนุ่มสาวเดินไปมาขวักไขว่ หลายคนเพิ่งลงมาจากski fieldอยู่ในชุดนักเล่นสกี เปรอะหิมะ บางคนหอบหิ้วเครื่องเล่นสกี หรือsnowboardมาด้วย ภรรยาของผมตาไวเสมอในเรื่องเกี่ยวกับเงินๆทองๆ เธอบอกว่าค่าเช่าอุปกรณ์สกีที่นี่ถูกกว่าบนski fieldเป็นเท่าตัว ดูเหมือนเป็นการเรียนรู้สิ่งใหม่เรื่องหนึ่งของพ่อแม่ที่ดีกว่าลูกๆ เราตัดสินใจเช่าอุปกรณ์ จากที่ร้านเหล่านี้ซึ่งไม่มีความยุ่งยากเลย

เป็นครั้งแรกผมขับรถบนถนนที่มีความยากลำบากที่สุดก็ว่าได้ แม้คิดว่าได้เลือกski fieldที่เดินทางไม่ยากนัก แต่ก็นับว่าหนักหนากว่าที่จินตนาการไว้พอควร การเดินทางเริ่มต้นจาก Queenstownไปสัก20กิโลเมตร ก็เริ่มไต่เทือกเขา นอกจากเป็นถนนสองเลนเล็ก รถสวนกันค่อนข้างยากแล้ว ถนนเส้นนั้นหักศอกไต่เชิงเขาติดต่อกันหลายลูก หากอยู่เลนนอก ผมมักไม่มองลงไปยังหุบเขาเบื้องล่างที่ลึกอย่างน่ากลัว แต่ก็ยังไม่น่าหวาดเสียวเท่าช่วงเข้าเขตski field ถนนช่วงนั้นยาวกว่า10กิโลเมตรเป็นดินลูกรังแคบๆ หากคุณได้ดูสารคดีRoyal tourทางDiscovery channelสารคดีท่องเที่ยวนิวซีแลนด์ นำเที่ยวโดยนายกรัฐมนตรีHelen Clark มีตอนหนึ่งขับรถบนถนนลูกรังที่แคบและชัน ผมว่าไม่แตกต่างจากเส้นทางสู่ Cardrona ski fieldเท่าใดนัก

ผมขับรถพาลูกๆออกจากเมืองในเช้าตรู่ วันที่อากาศหนาวอุณหภูมิ-2ในเมืองและ-6บนภูเขา วันนี้ท้องฟ้าสีน้ำเงินดูสดใสสวยงาม เลยชะล่าใจไม่เช็คสภาพอากาศบนภูเขา เมื่อไปถึงทางเข้าถนนลูกรังซึ่งถือเป็นปากทางเข้าCardrona ski field เจ้าหน้าที่เรียกรถทุกคันแล้วถามว่า “คุณมีโซ่ติดรถมาด้วยหรือเปล่า วันนี้อาจมีหิมะตก” เมื่อผมพยักหน้า เธอจึงโบกมือให้ผ่านไปได้ด้วยดี ขณะที่อีกหลายคันต้องจอด เสียเวลาเช่าโซ่จากตรงนั้น

โซ่(Snow chains)มีไว้สวมล้อรถในขณะที่ขับบนถนนซึ่งมีหิมะตกหรือถนนปกคลุมด้วยหิมะ ผมได้ความรู้ใหม่ว่า กรณีใช้โซ่นั้นต้องมีหิมะหนาพอสมควร คนซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับ“ปอด”อย่างผมย่อมเตรียมพร้อมไว้อยู่แล้ว มีเกร็ดอยู่เรื่องหนึ่งควรรู้ หากคุณเช่าที่อื่น(โดยเฉพาะทางเข้า ski field)ค่าเช่าจะแพงกว่าบริการเสริมของรถเช่าถึง2-3เท่าทีเดียว

จากนั้นผมค่อยๆขับตามรถคันอื่นๆเป็นกระบวนต่อกันยาวนับกิโลเมตรทยอยกันขึ้นเขา ถนนค่อนข้างแฉะและลื่นมากๆในบางช่วง โชคดีที่นานๆจะมีรถสวนสักคัน เราจึงสามารถใช้ทางได้กว้างกว่าปกติ ยิ่งขึ้นสู่ภูเขาสูงมากขึ้นเท่าใดอากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ก้อนเมฆลอยอยู่ต่ำมากในที่สุดเราก็ขับไปในบริเวณที่ปกคลุมด้วยเมฆหนา เมื่อใกล้ถึงที่หมายเหมือนหมอกลงจัดที่มองเห็นไม่เกิน 50เมตร ที่สำคัญลมค่อนข้างแรงอีกด้วย ประสบการณ์ครั้งแรกดูจะไม่ราบรื่นนัก

แต่ลูกๆสามารถเข้าคอรสเรียนSnowboardได้ เนื่องจากบริเวณที่เรียนอยู่ใกล้กับตัวรีสอร์ทและมีครูดูแลตลอดเวลา ขณะที่นักสกีเริ่มทยอยกลับกัน ลานสกีย่อยและLiftหลายแห่งที่ไกลออกไปถูกสั่งปิดกะทันหัน ผู้คนอัดแน่นกันในร้านอาหารของรีสอร์ต ซึ่งมีอยู่3แห่ง อากาศหนาวเย็นกว่าปกติ จากนั้นไม่นานหิมะก็เริ่มตก อย่างไรก็ตามคอร์สการเรียนก็ยังดำเนินต่อไปจนจบ

การขับรถขากลับต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หิมะตกมากพอสมควร ทำให้ถนนลื่นมากกว่าตอนขามา แต่ก็ยังมากไม่พอจะต้องใช้โซ่ ยิ่งขับตามรถที่ไปก่อนนับสิบคันด้วยแล้ว ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวัง เพราะถนนถูกบดให้เละมากขึ้น ผมถูกแนะนำให้ใช้เกียร์ต่ำด้วยความเร็วไม่เกิน40กิโลเมตรต่อชั่วโมง

มันช่างตรงกันข้ามกับวันต่อมาอย่างสิ้นเชิง ท้องฟ้ามืดครึ้มปกคลุมเมือง Queenstown เราใจคอไม่ค่อยดี เกรงว่าอากาศจะเลวกว่าเมื่อวาน แต่เมื่อเช็คก็ได้รับคำตอบว่าski fieldเปิดตามปกติ เราไม่ใคร่จะวางใจนัก เพราะรู้ดีว่าอากาศเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ครั้นเมื่อขับรถมาเข้าถึงปากทางเข้าแหล่งสกี เจ้าหน้าที่ส่งยิ้มกว้าง โบกมือให้เราขับรถเข้าไปโดยไม่สนใจไถ่ถามเหมือนวันวาน เมือขับรถไปบนยอดเขา เมฆที่มองเห็นแต่แรกลอยอยู่ต่ำกว่าเรามาก

ท้องฟ้าเหนือski fieldสดใสสวยงาม หิมะปกคลุมส่องแสงสีขาวกระจ่าง มองนานๆจะแสบตา จึงเข้าใจเหตุผลนักเล่นสกีทุกคนต้องสวมแว่นกันแดดสีชา วันนี้อากาศดีมากไม่หนาวจนเกินไปและเป็นวันที่สนุกมากๆสำหรับลูกๆ พวกขาเริ่มเล่นsnowboardเป็นแล้ว ตั้งแต่บ่ายวานนี้ พวกเขาบอกว่าจะขออยู่เล่นจนกว่า ski fieldปิดเลยทีเดียว ผมกับภรรยานั่งรอลูกโดยยึดห้องอาหารรีสอร์ต บางแห่งสามารถมองเห็นการเล่นของพวกเขาอย่างชัดเจน เรามิใช่พ่อแม่คู่เดียวที่ทำเช่นนั้น ชาวกีวีหลายคู่นั่งอ่านหนังสือและเฝ้าดูลูก หลายคนลงไปถ่ายรูปและให้กำลังใจลูกเป็นระยะๆ บ้างก็มากันเป็นกลุ่มใหญ่ เด็กๆ เรียนคอร์สเบื้องต้น พ่อแม่และปู่ย่ามาด้วย พบว่าคนอายุ50กว่าปียังมีไฟเล่นสกีกันไม่น้อย นี่คือประเทศได้ชื่อผู้คนให้ความสำคัญกับกีฬากลางแจ้งมากที่สุดประเทศหนึ่ง

ผมกับภรรยาเรียนรู้ว่า เมื่อเรามีลูกยังเป็นเด็ก เราคงต้องทำตัวกระฉับกระเฉง ต้องปรับตัวเข้ากับพวกเขา ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆบ้างในบางครั้ง การปรับตัวมีเป้าหมายที่เด่นชัดตามประสาพ่อแม่ทั่วไป ซึ่งแตกต่างจากเด็กๆที่เป็นตัวของเขาเอง มีเป้าหมายเฉพาะของพวกเขาเอง ผมต้องขับรถไกลที่สุดในชีวิต ต้องใช้ความกล้า ดั้นด้นไปในที่ยากลำบากที่ตนเองไม่เคยทำมาก่อน ขณะที่เรายอมให้ลูกท้าทายกับสิ่งใหม่ๆ ขณะเดียวกันเรา(โดยเฉพาะภรรยา)มักจะสอนลูกให้เข้าใจถึงการใช้ชีวิตอย่างสมเหตุสมผล จากตัวอย่างจริง ลูกๆก็ควรเรียนรู้จากเราด้วยเช่นกัน

ภรรยามักจะเรียนรู้และมีบทเรียนเรื่องเงินๆทองๆที่ดีเสมอในฐานะนักการเงิน วันแรกเมื่อค้นพบว่าอาหารและเครื่องดื่มที่รีสอร์ทแพงมาก เธอบอกผมว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย ขณะเดียวกันสังเกตเห็นว่าชาวกีวีจำนวนไม่น้อย เตรียมอาหารมากันเอง เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่า ชาวกีวีนิยมทานบะหมี่สำเร็จรูปเช่นเดียวกับคนเอเชีย ผู้คนซึ่งฝังหัวว่าตนเองเป็นยุโรปคงเรียนรู้เช่นกันว่า ในวันที่พวกเขาสนุกกับกิจกรรมกลางแจ้งนั้น อาหารแบบเอเชียบางอย่างเหมาะกับพวกเขา ห้องอาหารSki fieldเองก็มีน้ำร้อนไว้บริการฟรีด้วย ไม่ต้องสงสัยเลยในวันต่อมาเราได้เตรียมอาหารของเรามาเอง ไม่ว่าจะเป็นบะหมี่หรือน้ำอัดลม

เราซื้อMulti-day first-time package(snowboard)ให้บุตรทั้งสองสำหรับ2วัน รวมทั้งค่าใช้สถานที่(lift)ครูสอน 2วัน ประมาณ5 ชั่วโมงและค่าอุปกรณ์ (ไม่รวมชุดเสื้อผ้า หมวกกันน็อก แว่นกันแดด ซึ่งเราเช่ามาจากในเมือง)ไว้ด้วยกัน

ลูกๆต้องการเรียนSnowboardซึ่งดูโลดโผน ท้าทาย และเล่นยากกว่าสกีพอสมควร“มันเป็นกีฬาที่ใช้ร่างกายทุกส่วน”ลูกๆบอกเช่นนั้น เมื่อถูกถามว่าการเล่นski กับsnowboardแตกต่างกันอย่างไร พวกเขาเข้าไปอยู่ในกลุ่มที่ไม่เคยเล่นมาก่อน มีทั้งผู้ใหญ่จนถึงเด็ก แต่ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุระหว่าง8-15ปีกลุ่มละประมาณ 5-6คน

ลูกของเราเป็นเพียงเด็กต่างชาติ 2คนที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ ครูสอนสกีคงไม่ได้เรียนการสอนภาษาอังกฤษสำหรับเด็กที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่2เป็นแน่ และย่อมไม่สามารถจะมาดูแลเด็กไทย2คนเป็นกรณีพิเศษได้ เราถือโอกาสนี้ทดสอบความสามารถภาษาอังกฤษของลูกด้วยผมคิดว่า ทั้งสองสอบผ่าน

ภายใต้เงื่อนไขและสถานการณ์ที่เท่าเทียมกัน พิสูจน์ให้เห็นว่าเด็กไทยมิได้มีปัญหาความสามารถ โดยเฉพาะการเรียนรู้เมื่อเทียบมาตรฐานระดับโลก ทั้งๆที่พวกเขาเป็นคนต่างชาติ ทั้งอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยเมื่อเทียบคนอื่นทั้งหมดอีกด้วย เพียงไม่ถึงครึ่งวันพวกเขาก็สามารถเล่นได้เองบางระดับ ผมไม่อยากจะบอกว่าลูกๆเรียนรู้ได้เร็วกว่าโดยเฉลี่ยด้วยซำ้

ผมคิดว่า พวกเขามีชีวิตเพื่อการเรียนรู้อย่างท้าทายในโลกทีมีความหลากของเผ่าพันธุ์ เช่นเดียวกับเด็กไทยยุคจากนี้ไปโดยทั่วไป คงไม่อยู่เฉพาะในสถานการณ์บนSki fieldที่นานๆจะมีโอกาสสักครั้งเท่านั้น

แม้จะยอมรับว่า โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่าที่คิดไว้ แต่คนรุ่นเรามักมองโลกยุคใหม่ด้วยความวิตกและหวาดกลัวเสมอ บางคนอรรถาธิบายว่าอาจจะมาจากประสบการณ์ทั้งชีวิตของคนรุ่นเรา ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้เงาของ Anglo-Saxons ผมไม่อยากเชื่อเช่นนั้น แต่ก็ไม่สามารถหาคำอธิบายที่ดีกว่าได้

ลูกๆย่อมไม่เหมือนคนรุ่นเรา พวกเขาสามารถเรียนรู้ ต่อสู้และปรับตัว กับโอกาสที่เปิดกว้าง แม้ความท้าทายจะเพิ่มมากขึ้นๆ แต่พวกเขาก็พร้อมเผชิญหน้า ด้วยความรู้ ความสามารถ และที่สำคัญด้วยความกล้า ขอแต่เพียงคนรุ่นเราพยายามเข้าใจพวกเขาให้มากขึ้น สนับสนุนพวกเขาอย่างเต็มกำลัง

นี่คือความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นๆ อันเนื่องมาจากเดินทางท่องเที่ยวครั้งนี้

——–

หมายเหตุ ตีพิมพ์. นิตยสารผู้จัดการ  ตุลาคม 2548

เชิงอรรถ* Chevron Corporation ประกาศ(10สิงหาคม 2548) ควบรวมกิจการกับ Unocal Corporationได้สำเร็จ