ยศ เอื้อชูเกียรติ

คนๆหนึ่งซึ่งผ่านประสบการณโชกโชนด้านธุรกิจ จากหลายยุคสมัยที่แตกต่างกัน กำลังจะเดินทางมาถึงเป้าหมายสุดท้าย   เขาหวังว่าจะ เป็นที่ที่มั่นคง และเกียรติยศมากกว่าเส้นทางอันขรุขระในช่วงเกือบครึ่งศตวรรษก่อนหน้าในฐานะนักธุรกิจเต็มตัว

การลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์หรือทีพีซี  หมายความว่าตำแหน่งประธานกรรมการของยศ เอื้อชูเกียรติ ซึ่งดำรงตำแหน่งมากกว่า20 ปีสิ้นสุดลง   ความหมายมากกว่านั้น เขาได้ละทิ้งธุรกิจสำคัญของตระกูลที่เหลืออยู่ก็ว่าได้ ในฐานะผู้บุกเบิก ตั้งแต่วัยหนุ่ม และเป็นที่ที่เขาเกี่ยวข้องมายาวนานกว่า 40 ปี   รวมทั้งอาจหมายถึง การสิ้นสุดฐานะตระกูลธุรกิจชั้นนำไทย ซึ่งเริ่มต้นเมื่อบิดาเดินทางมาถึงเมืองไทย ตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย

ยศ เอื้อชูเกียรติ ในฐานะหัวขบวนของรุ่นที่สาม  กำลังละทิ้งภาระหน้าที่สำคัญในฐานะผู้นำตระกูลธุรกิจ จากนี้เขาคือมืออาชีพคนล่าสุด  ถือว่ามีคุณสมบัติเหมาะสม เช่นคนอื่นๆ สำหรับสถาบันการลงทุนรากฐานของสังคมไทย

ว่าไปแล้วกรณีเครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี เข้าครอบงำทีพีซี ไม่ใช่เรื่องแปลก  เอสซีจีมีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจบริหารอยู่แล้ว  ในภาพรวมเป็นความพยายามหลอมรวมธุรกิจเคมีภัณฑ์ของเอสซีจี ซึ่งกลายเป็นธุรกิจใหญ่ที่สุดและเติบโตมากที่สุดสำหรับยุคใหม่  แต่ภาพย่อยการซื้อหุ้นทีพีซีของเอสซีจีเคมีคอล(กิจการในเครือเอสซีจี)โดยใช้เงินประมาณ8,000 ล้านบาท ปรากฏว่าเงินจำนวนมากที่สุดประมาณ 5,000 ล้านบาท จ่ายให้กับทุนลดาวัลย์ (มิติและความคิดของเรื่องนี้ควรกลับไปอ่านบทความของผมก่อนหน้านั้น–ทุนลดาวัลย์กับคริสเตียนี(1) และทุนลดาวัลย์กับคริสเตียนี(จบ)) เจ้าของหุ้นประมาณ 19% ส่วนยศและตระกูลเอื้อชูเกียรติคนอื่นๆได้เงินรวมกันไม่น้อยเช่นกัน ประมาณ3, 000 ล้านบาท

ทีพีซีมีความสัมพันธ์กับเอสซีจีมาตั้งแต่ปี2536 ต่อมาเมือปี 2547ได้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นทะลุ 60% ผมเองไม่แน่ใจว่าทุนลดาวัลย์ เข้ามาถือหุ้นตอนนั้น หรือเอสซีจีแบ่งขายให้ในเวลาต่อมา ทั้งนี้ก่อนหน้านั้น (ปี 2539) เอสซีจีได้ส่งคนตนเองเข้าเป็นกรรมการผู้จัดการแล้ว

อย่างไรก็ตาม  ผมสนใจเรื่องนั้น น้อยกว่าบทบาทและความคิดของยศ เอื้อชูเกียรติ

เอื้อชูเกียรติ เป็นตระกูลธุรกิจไทย วางรากฐานตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง—จรูญ เอื้อชูเกียรติ ผ่านประสบการณ์ธุรกิจมากมาย จนสามารถเข้ามาอยู่ในแถวหน้า ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นช่วงความพยายามส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย   จึง มีโอกาสร่วมลงทุนอุตสาหกรรมใหม่โดยเฉพาะผลิตพลาสติกพีวีซี และโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรก ถือว่าเป็นช่วงที่ยศ เอื้อชูเกียรติโตพอจะเห็นภาพความสำเร็จของบิดา ในขณะทีตนเองมีโอกาสที่ดี ถูกส่งไปเรียนที่อังกฤษ โดยเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับแนวทางธุรกิจของบิดาที่วางไว้ด้วย ในฐานะผู้เรียน Engineering ที่ University College London

ขณะเดียวเขาโตพอมองเห็นว่าความสำเร็จของบิดา  มีมิติว่าด้วยสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจอย่างแยกไม่ออก ในตอนนั้นเช่นกัน เขาเองคงไม่คาดคิดว่า ประสบการณ์และสายสัมพันธ์วัยเรียนที่อังกฤษ จะมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของเขาในต่อมาอีก 3-4  ทศวรรษ

เมื่อจบการศึกษา( ปี2507) ยศ ได้รับวางตำแหน่งไว้สูงทีเดียวทันที ในฐานะผู้บริหารกิจการอุตสาหกรรม บริษัทไทยชิพบอร์ด (2508) บริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ (2511)

ในช่วงเวลานั้นบิดาของเข้ากำลังยกระดับตนเองอีกขึ้น เข้าสู่ธุรกิจธนาคาร ซึ่งเป็นที่พิเศษสำหรับสังคมธุรกิจไทย  เดินตามผู้นำธุรกิจผู้ทรงอิทธิพลยุคนั้น ไมว่าตระกูลโสภณพนิช เตชะไพบูลย์ และลำซำ ด้วยเข้าถือหุ้นใหญ่ในธนาคารเอเชีย( 2508) โดยไม่คาดว่าที่ทีเป็นเป้าหมายอันมั่นคงเป็นพิเศษนั้น จะเป็นที่มาของความขัดแย้งซึ่งยศ เองต้องเข้าไปรับภาระอันหนักอึ้งยาวนานกว่า 20 ปี

ในฐานะผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมพีวีซี และสร้างสายสัมพันธ์เชิงคุณค่ากับธุรกิจญี่ปุ่น(ปัจจุบันคือ Mitsui Chemicals) ในช่วงสำคัญช่วงหนึ่งทั้งการถือหุ้นและเทคโนโลยี ถือเป็นบทเรียนความสำเร็จการบริหารธุรกิจของเขา ในมิติที่กว้างกว่านั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของสังคมและวัฒนธรรมพลาสติของไทยที่เริ่มต้นอย่างจริงมาตั้งแต่เมื่อ3-4ทศวรรษ ก่อนที่การส่งเสริมอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์อย่างขนานใหญ่จะเกิดในประเทศเสียอีก

ท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงระหว่างผู้ถือหุ้นในธนาคารเอเชีย  ยศ ในฐานะผู้บริหาร(กรรมการรองผู้จัดการใหญ่   2517-2524 กรรมการผู้จัดการใหญ่ 2524-2535 รองประธานกรรมการ2535-2540) ได้แสดงความสามารถในการพัฒนาธนาคารให้ก้าวหน้าไปด้วย จนกลายเป็นธนาคารแรกๆที่สามารถขายกิจการออกไปได้ในราคาที่ดีพอสมควร เมื่อวิกฤติล่มสลายของธนาคารครอบครัวไทยมาถึง

ปัญหาวิกฤติการณ์ธนาคารไทยขยายวงต่อไปอีก จนถึงกรณีนอร์ธปาร์ค–โครงการเดียวริมถนนวิภาวดีรังสิต  มีพื้นที่ถึง740 ไร่กินอาณาบริเวณกว้างมาก จรดถนนสามสายหลักๆ คือ ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนประชาชื่น และถนนงามวงศ์วาน ตามแผนโครงการสมบูรณ์แบบ ประกอบไปด้วย   ออฟฟิศโซน สนามกอล์ฟขนาด 18 หลุม สปอร์ตคอมเพล็กซ์ ในระดับสปอร์ตสคลับและโปโลคลับ โรงแรมและบิซิเนสเซนเตอร์   และบ้านจัดสรรชั้นดี  ปัจจุบัน–สโมสรราชพฤก์ษ์   สนามกอล์ฟ และสปอร์ตคลับ บนเนื้อที่335 ไร่ถือเป็นแกนกลางของโครงการนอร์ธปารค ด้วยความพยายามความยกระดับคลับนี้ขึ้น ทัดเทียมกับราชกรีฑาสโมสร (The Royal Bangkok Sports Club) ซึ่งถือเป็นคลับของชนชั้นสูงในกรุงเทพฯมาตั้งแต่เมื่อศตวรรษที่แล้ว

เจ้าของเดิมของพื้นที่แปลงสำคัญคือกลุ่มชินเขต  เนื่องจากมีหนี้สินจำนวนมากกับธนาคารเอเชีย ในที่สุดก็เปลี่ยนมือเป็นของกลุ่มนอร์ธปารค  ผู้ถือหุ้นใหญ่คือตระกูลเอื้อชูเกียรติและแลนด์แอนด์เฮาส์ ซึ่งรายหลังต่อมาขายหุ้น40%ให้เอื้อชูเกียรติ   ก่อนขายกิจการทั้งหมดให้ เจริญ สิริวัฒนภักดี

เป็นที่แน่ชัดจากปากของเขาเอง  ยศ เอื้อชูเกียรติ ตั้งใจวางมือจากธุรกิจเพื่อทำงานให้กับสำนักงานทรัพย์สินฯ โดย เริ่มต้นเป็นที่ปรึกษาตั้งแต่ปี2537   ต่อมาอีก 3ปี เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการ และคณะกรรมการบริหารบริษัทปูนซิเมนต์ไทย   และปี2541 เป็นกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จากนั้น (ปี 2544) จึงเข้ามาเต็มตัว เข้าดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารบริษัททุนลดาวัลย์ และประธานกรรมการ บริษัทวังสินทรัพย์ ซึ่งเป็นกิจการลงทุนใหม่ของสำนักงานทรัพย์สินฯในความพยายามดำเนินการอย่างคล่องตัวในเชิงธุรกิจมากขึ้น

การมาของยศ เอื้อชูเกียรติ เป็นที่เข้าใจกันว่ามีบริบทเชื่อมโยงจากความสัมพันธ์ในฐานะนักเรียนอังกฤษ กับ ดร.จิรายุ อิศรางกูร  ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯคนปัจจุบัน  ทั้งสองเป็นคนรุ่นเดียวกัน(เกิดปีเดียวกัน-2485) เรียนที่เดียวกัน ทั้งLondon School of Economics and Political Science (LSE) ที่ดร.จิรายุเรียนปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ และUniversity College Londonถือว่าอยู่ในเครือข่ายUniversityofLondon

อย่างไรก็ตาม ยศ เอื้อชูเกียรติ  ยังเป็นประธานกรรมการทีพีซี มีห้องทำงานโอ่อ่า  ต้องยอมรับว่าที่แห่งนี้ เป็นทีมั่นสุดท้ายของเขาและตระกูลของเขา การลาออกจากกรรมการทีพีซีของยศ เอื้อชูเกียรติและคนในตระกูลของเขาหลังจากขายหุ้นทั้งหมดจึงมีความหมายเป็นขั้นตอนสำคัญของความตั้งใจ

หวังว่าที่มั่นใหม่ กับบทบาทใหม่ที่น่าสนใจ  คงเป็นที่สำคัญและที่สุดท้ายของมืออาชีพอาวุโสคนล่าสุด

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: