ไทยเบฟ(2)

บทเรียนในเมืองไทย อาจใช้ไม่ได้ที่สิงคโปร์

บริษัทไทยเบฟเวอเรจ หรือ“ไทยเบฟ” ได้แสดงบทอย่างห้าวหาญในสิงคโปร์ ด้วยความพยายามเข้าซื้อหุ้นในกิจการที่ใหญ่กว่าตนเองเป็นครั้งแรก

Fraser and Neave หรือ F&N ธุรกิจเกาแก่ กิจการรายใหญ่ในตลาดหุ้นสิงคโปร์ เป็นเป้าหมายเพื่อเข้าครอบงำอย่างทีไทยเบฟ หรือกลุ่มทีซีซี หรือแม้กระทั่งเจริญ สิริวัฒนภักดีไม่เคยทำมาก่อน สถานการณ์อันซับซ้อนและผันแปรไปอย่างรวดเร็วได้ชักนำไปสู่การช่วงชิงธุรกิจเบียร์ในระดับภูมิภาค และเผชิญความยุ่งยากและซับซ้อนยิ่งขึ้น

ถือเป็นสถานการณ์ ภายใต้ความท้าทายใหม่อย่างแท้จริง  เป็นสถานการณ์อาจนำมาซึ่งความไม่แน่นอน แม้กระทั่งในการเข้าครอบงำ F&N ซึ่งถือเป้าหมายแต่แรกที่ประสบความสำเร็จอย่างไม่ยากเย็น

F&N มีธุรกิจสำคัญหนึ่งในหลายอย่าง คือ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นธุรกิจเป้าหมายของไทยเบฟ จากยุทธศาสตร์ใหม่ที่ประกาศไว้หลายปีแล้ว นอกจากนี้มีธุรกิจเบียร์เป็นกิจการหลักสำคัญของ F&N อีกอย่างหนึ่ง แยกออกเป็นกิจการต่างหาก ไทยเบฟมองไว้อย่างมีขั้นมีตอนเช่นกัน ที่สำคัญ F&N ในฐานะกิจการในตลาดหุ้นสิงคโปร์เช่นเดียวกับไทยเบฟ แต่มียอดขายสูงกว่าไทยเบฟพอสมควร

ในปี2549 Temasek Holdings กิจการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ ซึ่งถือหุ้นใน F&N ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสอง ได้ขายหุ้นทั้งหมดจำนวน14.9% ให้กับ Kirin แห่งญี่ปุ่น

Kirin Brewery Company ผู้ผลิตเบียร์เก่แก่ที่สุดในญี่ปุ่น และมีเครือข่ายการผลิตและจำหน่ายผ่านกิจการในเครือและกิจการร่วมมือกับพันธมิตรในต่างประเทศมากที่สุดในบรรดาเบียร์ญี่ปุ่น ครอบคลุมตลาดทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่ ใต้หวัน ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ยุโรป และสหรัฐอเมริกา นอกจาก Kirin เป็นแบรนด์สำคัญแล้ว ยังมีแบรนด์สำคัญอื่นอีก โดยเฉพาะ San Miguel แห่งฟิลิปปินส์ (เข้าถือหุ้น48%) และ Schincariol แห่งบราซิลด้วย

ดังนั้นเมื่อไทยเบฟ สามารเข้าถือหุ้นประมาณ 24%ใน F&N ในฐานะผู้ถือหุ้นอับดับหนึ่งได้ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ในขณะที่ผู้ถือหุ้นอันดับสอง เป็นเจ้าของธุรกิจเบียร์ระดับโลก ดูยิ่งใหญ่กว่าเบียร์ช้างด้วยซ้ำ ย่อมถือว่ามีฐานะเป็นคู่แข่งทางธุรกิจด้วย เรื่องราวจากนี้สำหรับไทยเบฟ คงไม่ง่ายดายอย่างที่ใครๆคิด

ในส่วนธุรกิจเบียร์ของ F&N ยิ่งมีความซับซ้อน

Asia Pacific Breweries หรือ APB  ก่อตั้งขึ้นจากการร่วมทุนระหว่างF&NกับHeineken  แห่งเนเธอร์แลนด์ตั้งแต่ ปี 2474  เพื่อผลิตเบียร์ Tiger   แบรนด์สำคัญของท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จ  และขยายตลาดเบียร์ระดับโลก Heinekenในภูมิภาคใหม่  รอมาอีกกว่าครึ่งศตวรรษ จึงเริ่มขยายกิจการออกสู่ภูมิภาคมากขึ้น ทั้งลักษณะภูมิศาสตร์และขยายไลน์สินค้ามีแบรนด์เบียร์ท้องถิ่นต่างๆเพิ่มขึ้น   จนกลายเป็นผู้นำตลาดเบียร์ในภูมิภาคนี่อย่างแท้จริง ที่สำคัญเริ่มด้วยการซื้อกิจการเบียร์ของนิวซีแลนด์(2547) แบรนด์ TUI   และเข้าครอบครองเครือข่าย Heineken  ในอินโดนิเชีย  รวมทั้งมีความพยายามอย่างไม่ครึกโครมในเมืองไทยด้วย

“บริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด (TAPB) ก่อตั้งในประเทศไทยเมื่อปี 2536 และเริ่มดำเนินงานในปี 2538 ปัจจุบัน TAPB มีพนักงานมากกว่า 300 คน ประจำที่สำนักงานที่กรุงเทพฯ และโรงเบียร์ที่จังหวัดนนทบุรี

ในปี 2538 TAPB ได้เริ่มผลิตและทำการตลาดไฮเนเก้นในประเทศไทย โดยไฮเนเก้นเป็นเบียร์   พรีเมี่ยมที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในประเทศไทยและทั่วโลก TAPB เป็นผู้ผลิตเบียร์ไฮเนเก้นที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย

ในปี 2547 TAPB เริ่มผลิตไทเกอร์ เบียร์เอเชียที่ประสบความสำเร็จในการส่งออกสูงที่สุด” (http://www.tapb.co.th ) ในเมืองไทยเอง APB ได้เข้ามาร่วมทุนกับตระกูลไชยวรรณ แห่งกลุ่มไทยประกันชีวิต (ถือหุ้น53%) กับบริษัทไทยน้ำทิพย์ (9%) เข้ามาแทรกตลาด ท่ามกลางสถานการณ์ใหญ่ ในช่วงเบียร์ช้างกับเบียร์สิงห์ กำลังต่อกรกันอย่างหนัก

โครงสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและยาวนานระหว่าง F&N กับ Heineken มีความซับซ้อนอย่างมาก จากรายงานข่าวของสื่อต่างชาติระบุว่า โครงสร้างผู้ถือหุ้นในAPB มี F&N ถือหุ้นจำนวน7.3%ขณะที่ Heineken ถือหุ้น9.5%. โดยมี  Holding company กิจการร่วมทุน 50/50 ระหว่าง F&N กับ Heineken ถือหุ้นมากที่สุดใน APB จำนวน64.8%

ดีลการซื้อกิจการครั้งใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นสิงคโปร์จึงเริ่มต้น  เมื่อไทยเบฟเข้ามาครอบครองหุ้นเป็นอันดับหนึ่งใน F&N   แต่น่าเสียดายมีสัดส่วนยังไม่มากพอในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างเด็ดขาด ภายใต้โครงสร้างการถือหุ้นใน F&N ที่มีซับซ้อนอย่างมาก     ข้อมูลดีลครั้งสำคัญของไทยเบฟได้ไปถึงมือผู้เกี่ยวข้อง และได้จุดกระแสเกมการต่อสูแย่งชิงกิจการเบียร์อันดุเดือดขึ้น

Heineken ในฐานะผู้ยึดครองตลาดในภูมิภาคนี้มานาน และมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น รู้และเข้าใจเส้นสน กลในตลาดหุ้นสิงคโปร์อย่างดี เกมขยายอิทธิพลแบบลูกโซ่ของไทยเบฟ จาก F&N ไปถึง APB จึงประสบปัญหาอย่างไม่คาดคิด

ในช่วงจังหวะการครอบครองหุ้น F&Nของไทยเบฟ ยังไม่มีผลครบถ้วนตามขั้นตอน การปิดดีลอย่างถูกจังหวะเวลาของ Heineken ในการซื้อหุ้นAPB ในจำนวนมากในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่างเบ็ดเสร็จ จึงเป็นไปได้ว่าจะประสบความสำเร็จด้วยดี

ข้อสังเกตของผมในตอนที่แล้ว ที่ว่า “เป็นปรากฏการณ์ที่อยู่นอกเหนืออิทธิพลของเจริญ สิริวัฒนภักดี   ในฐานะบุคคลสำคัญที่มีความคุ้นเคย และเข้าใจเส้นสนกลในสังคมไทยอย่างลึกซึ้ง   กลไก และความสลับซับซ้อนของธุรกิจภูมิภาค เป็นพรมแดนใหม่อย่างแท้จริง”จึงดูสมเกตุผลขึ้น และถือเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ของไทยเบฟและเจริญ สิริวัฒนภักดี

บทเรียนที่ว่าด้วย  ความพร้อมด้านสายสัมพันธ์และบุคลากร ในดำเนินธุรกิจในภูมิศาสตร์ใหม่ ระดับภูมิภาค ทั้งในการบริหารจัดการธุรกิจโดยตรงซึ่งว่าไปแล้วแม้ว่าไทยเบฟ จดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร๋ แต่การดำเนินธุรกิจ ก็ยังดำเนินไปแบบฉบับของไทย   ที่สำคัญคือ ผู้เชี่ยวชาญในตลาดการเงินระดับภูมิภาค  เกมที่ทีซีซี หรือเจริญ ใช้มากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมันอาจเป็นคนละเรื่องกับธุรกิจระดับภูมิภาค

บทเรียนจากความสำเร็จบริษัทเสริมสุข ดูเหมือนมีผู้เล่นระดับโลกอย่างPepsi Co. อยู่ด้วยนั้น ย่อมไม่เป็นเรื่องเดียวกัน เกมครั้งนั้นไทยเบฟมีพันธมิตรอยู่ภายในเสริมสุข เช่นเดียวกันกับ Heineken มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นใน F&N   ขณะที่โครงสร้างผู้ถือหุ้นในเสริมสุขไม่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน และไม่มีตัวแปรหรือผู้ถือหุ้นรายอื่น เป็นปัจจัยแทรกซ้อน ที่สำคัญดีลเสริมสุข เกิดขึ้นสังคมไทย ขณะที่ดีล APB เกิดขึ้นในสิงคโปร์ ซึ่งสื่อตะวันตกระบุว่าเป็นทีที Heineken มีอิทธิพลมากกว่าไทยเบฟ

ความสำเร็จในเกมทางการเงินในกรณีเสริมสุข  อ้างกันว่าเป็นผลงานของบุตรเขยคนหนึ่งของเจริญ  สิริวัฒนภักดี  จนทำให้เขาเป็นบุคคลสำคัญในดีลสิงคโปร์ด้วย   อาจไม่ถือเป็นเรื่องต่อเนื่อง  ต่อยอด และสามารถนำไปใช้ได้อย่างง่ายๆ และไม่อาจสรุปได้อย่างนั้น

อย่างไรก็ตาม ไทยเบฟ ในฐานะผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่งใน F&N แม้จะยังมีเรื่องต้องทำอีกมากมาย   ก็ยังถือเป็นเรื่องสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่ควรโฟกัสและดำเนินไปอย่างมีจังหวะก้าว จากผู้ถือหุ้นใหญ่ในกิจการที่ดีในตลาดหุ้นสิงคโปร์ ในเวลาเดียวกันถือว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ตลาดระดับภูมิภาคอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรกๆ โดยเฉพาะการเรียนรู้ธุรกิจเคื่องดื่มที่มิใช่แอลกอฮอล์อย่างจริงจังด้วย

จากนั้น ขั้นต่อๆไป  การรอจังหวะ และโอกาสเข้าไปมีบทบาทในการบริหารF&N จะมีความเป็นไปได้มากขึ้น สัมพันธ์กับเตรียมพร้อมบุคลากรให้พร้อมมากขึ้นด้วย    แม้กระทั่งทั้งโอกาสเข้าซื้อหุ้นให้บรรลุเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างเด็ดขาดในที่สุด

จุดเริ่มต้นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ถือว่ายังเป็นโอกาสทีเปิดกว้าง ที่น่าติดตามต่อไป

ประชาชาติธุรกิจ  2 กันยายน 2555

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: