เขตอุตสาหกรรมลุ่มเจ้าพระยา(2)

ผลสะเทือนอันลึกซึ้งของวิกฤติการณ์นำท่วมใหญ่ คือการค้นพบ  “ความเสี่ยงใหม่”ของที่ราบลุ่มเจ้าพระยา และกรุงเทพฯ เป็น“ความเสี่ยง”ระดับยุทธศาสตร์ มีพลังผลักดันก่อเกิดกระบวนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และโฉมหน้าของชุมชนเมืองในที่สุด

ภาพโครงสร้าง–ความเสี่ยงใหม่ เป็นผลพวงจากประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจข้ามผ่านด้วยต้นทุนที่สมเหตุสมผล จากชุมชนดาวบริวารและเมืองหลวงของระบบเศรษฐกิจเกษตรเมื่อกว่าสองศตวรรษที่แล้ว เข้าสู่ชุมชนใหม่ของระบบเศรษฐกิจใหม่ นำโดยภาคอุตสาหกรรมและบริการ

ปัจจัยที่หนึ่ง

การพัฒนาสังคมไทยตั้งแต่แผนพัฒนาฉบับแรกของไทย  โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจได้รับแรงกระตุ้นสำคัญจากแนวคิดและการลงทุนจากตะวันตกและญี่ปุ่น ในช่วงก่อน ระหว่างและหลังสงครามเวียดนาม ก่อให้เกิดผลพวงที่มีผลระยะยาว มาจากกระบวนการใช้ประโยชน์ ดัดแปลทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม จนมาถึงขีดจำกัดโดยไม่มีการคาดการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังมาก่อน

ผมเคยเสนอภาพไว้ตั้งแต่วิกฤตินำท่วมโหมโรงในปีก่อน(2553)   ก่อนจะมาถึงวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ (2554) โดยมองข้ามความจริง (หรือไม่มีข้อมูลอย่างแท้จริง) ว่ามีโรงงานอุตสาหกรรม ปักหลักอยู่ที่ราบลุ่มเจ้าพระยานับพันแห่ง ด้วยพยายามนำเสนอเรื่องราวอย่างประนีประนอมว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่าง ป่าไม้ เขื่อน ถนน และแม่น้ำ ลำคลอง แต่ความจริงที่เกิดในปีต่อมา จำต้องเปลี่ยนมุมมองค่อนข้างสุดขั้ว โดยพุ่งไปพิจารณาผละกระทบในปัจจุบัน กับแนวทางพัฒนาที่ควบคุมไม่ได้ เกี่ยวกับ“ถนน” กับแนวทางเก่าที่ยึดมั่นด้วยความคิดที่แข็งทือมาตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม เกี่ยวกับ “เขื่อน”

ถนน— สังคมไทยได้เปลี่ยนจากสังคมริมแม่น้ำไปสู่โมเดลการขยายระบบเศรษฐกิจไปตามถนน

การสร้างถนนหนทางจำนวนมาก เชื่อมโครงข่าย การเดินทาง และขนส่งโดยรถยนต์  เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในยุคใหม่ รวมทั้งเพื่อความมั่นคง  การทหารในยุคสงครามเวียดนาม และการต่อสู้ภัยคอมมิวนิสต์  เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ ความทันสมัย

ในเชิงภูมิศาสตร์ ยุทธ์ศาสตร์ทางเศรษฐกิจถนน การตัดถนนใหม่และปริมาณเส้นทางที่มีมากขึ้น มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการการขยายพื้นที่ของชุมชนเมือง   ย่อมทำให้พื้นที่ราบลุ่มเดิม สำหรับเกษตรกรรมและการรับน้ำลดลงอย่างมาก      นอกจากนี้โครงข่ายถนนคือ ระบบการตัดแบ่งพื้นที่ เป็นขนาดเล็กๆ จำนวนมากมายทั่วประเทศ เป็นการจำกัดการเคลื่อนย้ายของปริมาณน้ำฝนจำนวนมาก”

เขื่อน— การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศเริ่มต้นในระยะเดียวกับขบวนการสัมปทานป่าไม้ในประเทศไทยดำเนินไปอย่างเข้มข้น พื้นที่ป่าไม้ธรรมชาติลดลงอย่างรวดเร็ว และรุนแรง

เขื่อนสำคัญของไทย เริ่มต้นด้วยภารกิจหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อตอบสนองความต้องการการใช้ซึ่งขยายตัวตลอดเวลาตามความเติบโตทางเศรษฐกิจ    ที่สำคัญได้แก้ เขื่อนภูมิพล(เปิดดำเนินการ2507)  เขื่อนสิริกิติ์ (2515) เขื่อนศรีนครินทร์ (2524) และ เขื่อนวชิราลงกรณ์ (2527)   ถือว่าเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ ในบรรดาทั้งหมดเกือบ20 แห่ง ที่อยู่ในการดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ

ปรากฏการณ์ที่ปฏิเสธไม่ได้ คือปริมาณน้ำจำนวนมากไปรวมกันในที่เดียว เกินความจุของเขื่อน   เมื่อถูกปล่อยออกมาจำนวนมากในเวลาอันสั้น มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพื้นที่ใต้เขื่อนที่ไม่มีระบบรองรับน้ำทิ้งจากเขื่อนปริมาณมากๆอย่างที่เห็นและเป็นอยู่   แนวคิดการกักเก็บน้ำไว้ในบริเวณเขื่อน เชื่อว่าสามารถควบคุมและจัดการได้ดีกว่าการปล่อยไปตามธรรมชาติ เป็นทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับ   โดยอยู่ภายใต้สมมตฐานว่ามีนักบริหารจัดการที่มีความสามารถ”

ปัญหาการบริการจัดการน้ำของเขื่อน เป็นตัวเร่งวิกฤติการณ์นำท่วมครั้งล่าสุด  เป็นบทสรุปหนึ่งที่ไม่ใครกล้าปฎิเสธ   รวมไปถึงแนวคิดที่ว่าด้วยการสร้างเขื่อนใหม่ๆ โดยอ้างว่าสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ ก็มีบทสรุปที่สวนทางอย่างชัดเจน (อ้างอิงจากกรณีเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์)   โครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์  จึงถือเป็นผลผลิตมาจากความคิดเก่าที่ไช้ไม่ได้ชุดเดียวกัน

ผมไม่เชื่อว่าการลงทุนของภาครัฐหลายแสนล้านบาท เพื่อป้องกันน้ำท่วมเขตอุตสาหกรรมที่ราบลุ่มเจ่าพระยาจะแก้ปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ  ทั้งอาจจะสร้างผลกระทบทางลบอย่างไม่จำกัดวงมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นต้องทำระดับหนึ่ง

ปัจจัยที่สอง

การดำเนินการป้องกันน้ำท่วมอย่างขนานใหญ่ ทั้งโดยภาครัฐ เอกชน   กรุงเทพฯ เมืองใหญ่ ชุมชนและปัจเจก   แม้เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน ขณะเดียวกันเป็นการดำเนินอย่างไม่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน โดยไม่เกิดภาพรวมอย่างยั่งยืน  กลายเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างปัญหาอย่างไม่คาดคิดในหลายมิติ

หนึ่ง-เป็นการสร้างระบบสาธารณูปโภคใหม่  ประหนึ่งการขยายตัวของชุมชนเมืองภายใต้ยุทธศาสตร์เชื่อมโยงกับถนน ดังเช่นที่ผ่านมา   ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานของปัญหานำท่วมรุนแรงเช่นเดียวกัน

สอง-การป้องกันตนเองเพื่อสร้าง “เกาะแก้วพิสดาร” จะเป็นการลดพื้นทีการกระจายของน้ำ เท่ากับการสร้างปัญหานำท่วมในพื้นที่นอกระบบป้องกันตัวมากขึ้น จะมีความรุนแรงมากขึ้น ระยะเวลาน้ำท่วมนานมากขึ้น  ถือเปิ่นภาพการแบ่งแยกสังคมออกจากกันทั้งทางภูมิศาสตร์และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ความจริงสังคมที่ราบลุ่มเขจ้าพระยา มีความสัมพันธ์ที่เป็นองคาพยพ อย่างที่กล่าวมาแล้วในตอนที่แล้วว่า โรงงานอยู่ไม่ได้ หากมีเพียงเครื่องจักรกับตัวโรงงาน โดยไม่มีคนงานทำงานด้วย  หรือ ระบบลอจิสติตส์ ไม่ใช่มีเพียงเป็นระบบใหญ่ หากมีห่วงโซ่ระบบย่อมจากชุมชนประกอบขึ้นด้วย  เป็นต้น

ปัจจัยที่สาม

เรื่องนี้ขอยกขึ้นมาพิจารณาเป็นพิเศษจากข้อที่สอง ความขัดแย้งของชุมชนจะมีมากขึ้น เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิด เพิ่มปัญหาทวีคูณในสภาพสังคมปัจจุบัน  ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น  จะเป็นปัญหาของการป้องกันนำท่วมของระบบใหญ่ด้วย

เท่าที่ผมติดตามจากปรากฏการณ์น้ำท่วมปีที่แล้ว  ปัจจัยเร่งอย่างหนึ่งมาจาก ผู้มีอำนาจไม่สามารถควบคุมกลไกของระบบป้องกันได้  ความขัดแย้งของชุมชน จะขยายวงมากขึ้น สร้างปัญหาไปถึงขั้น น่าวิตก   แม้ว่ารัฐจะมีระบบป้องกันน้ำท่วมทั่วที่ราบเจ้าพระยา ด้วยระบบประตูน้ำเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกันจำนวนมาก  แม้ว่าระบบประตูน้ำถูกใช้มานานและล้าสมัยไปมาก  เชื่อว่าจะมีการปรับปรุงลงทุนใหม่อย่างขนานใหญ่ แม้กระทั้งหน่วยงานของรัฐบาลญี่ปุ่น ในฐานะตัวแทนผลประโยชน์โรงงานในทีราบลุ่มเจ้าพระยามากกว่า400 แห่ง ก็มาช่วยสร่างประตูนำแห้งใหม่ด้วย

แต่สุดท้าย ผู้ควบคุมระบบประตูน้ำในยามวิกฤติ อาจไม่ใช่กลุ่มคนที่ควรจะทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น

ปัจจัยที่สี่

แท้ที่จริงพื้นที่ส่วนใหญ่ของที่ราบลุ่มเจ้าพระยา เป็นพื้นฐานการทำนา และเกษตรกรรมอื่น  ถือเป็นพื้นที่ทีดีสุดของประเทศ   ปัญหาน้ำท่วม สร้างความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตรมาแล้วอย่างต่อเนื่อง  คาดว่าจะเกิดบ่อยครั้งขึ้น  ระบบการเกษตรพื้นฐานของสังคมไทยยังคงสำคัญอยู่   แม้วาสังคมเมืองจะขยายตัวมากเพียงใด  เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ  ทั้งมีแนวโน้มระดับโลก  สินค้าเกษตรและอาหารจะมีราคาสูงขึ้นๆเป็นลำดับ  ขณะเดียวกันโครงสร่างเศรษฐกิจเกษตรของไทย ได้มีการปรับตัวอย่างน่าสนใจมากขึ้น โดยมีเกี่ยวข้องอย่างหลากหลายมากขึ้น ทั้งเกษตรกรดั้งเดิม  ผู้ประกอบการรายกลาง ไปจนถึงทุนขนาดใหญ่

แนวโน้มที่หนึ่ง

ตามที่อ้างไว้ในตอนที่แล้ว การลงทุนใหม่ๆของธุรกิจเดิมในเขตอุสาหกรรมทีทราบลุ่มเจ้าพระยา  โรงงานเก่าที่ควรจะได้เวลาปรับปรุง  และโรงงานขนาดเล็กที่เสียหายมากหรือมีความคล่องตัวในการเคลื่อนย้าย  จุดดกระแสปรากฏการณ์การย้ายออกจากเขตนิคมโรงงานทีราบลุ่มเจ้าพระยา ไปยังนิคมอุตสาหกรรมอื่น  โดยเฉพาะภาคตะวันออก เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วอย่างเป็นกระแสพอสมควร ทั้งเป็นข่าวและไม่เป็นข่าว ในมุมที่พยายามมองกว้างๆ เป็นผลมาจากการประเมินสถานการณ์ระยะยาวในเชิงธุรกิจ  มากกว่าจะประเมินความสามารถของทางการในการปกป้อง “เกาะแก้วพิสดาร”เพียงเฉพาะหน้า

ดังนั้นแนวโน้มการลงทุนใหม่ในที่ทราบลุ่มเจ้าพระยา คงชะลออย่างชัดเจน  ในระยะปานกลางและระยะยาว การเคลื่อนย้ายโรงงานออกจากพื้นที่จะเริ่มมองเด่นชัด และมีผลกระทบต้อภาคเศรษฐกิจทีทราบลุ่มเจ้าพระยาโดยรวม  รวมมาถึงกรุงเทพฯด้วย โดยเฉพาะที่ว่าด้วยการจ้างงาน

แนวโน้มที่สอง

การลงทุนโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งขยายตัวอย่างมากในชานเมือง ลามไปสู่พื้นที่ทีราบลุ่มเจ้าพระยาบริเวณใกล้นิคมอุตสาหกรรมในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ถือว่าเป็นช่วงที่ขึ้นถึงขีดสุดแล้ว

การปรับตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เท่าที่ติดตามา  ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในการเสนอขายโครงการ 2   ประเภท โครงการอาคารสูงในเมือง กับโครงการหมู่บ้านจัดสรรในหัวเมืองต่างจังหวัด

ความเป็นไปของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ไม่เพียงเผชิญความเสี่ยงจากปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ใกล้เคียงกรุงเทพฯ เท่านั้น ยังมองเห็นโอกาสมาจากการเติบโตของหัวเมืองต่างๆ จากปรากฏการณ์ของการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจของไทยที่เป็นครั้งแรกๆ  ชุมชนหัวเมืองและชนบทได้รับแรงกระตุ้นครั้งใหญ่  ทั้งมาจากแรงขับเคลื่อนของสังคมธุรกิจ  กับความพยายามเชื่อมเครือข่ายและระบบลอจิสติกส์ทั่วทั้งภูมิภาคด้วย(ข้อเขียนของผมหลายชิ้นได้อรรถาธิบายปรากฏการณ์ทำนองนี้มามากแล้ว)

แนวโน้มที่สาม

จะโดยตั้งใจ หรือไม่ก็ตาม  จะประเมินสถานการณ์ไว้อย่างไรหรือไม่ก็ตาม  การปกป้องเขตอุตสาหกรรมของทางการ โดยมีความร่วมมือพอประมาณ จากตัวแทนภาคธุรกิจญี่ปุ่น ถือเป็นเพียงกระบวนการ ลดผลกระทบ และช่วยในการปรับตัวของธุรกิจ  ซึ่งในที่สุด จะมีการปรับแผนการผลิตใหม่ ด้วยการค้นคิด การปรับโครงสร้างการผลิตใหม่ รวมทั้งการย้ายออกไปทั้งหมด หรือคงบางส่วนที่จำเป็น  สร้างความเชื่อมโยงกับฐานการผลิตใหม่ กลุ่มแรงงานเดิม หรือระบบลอจิสติกส์เดิม

แต่น่าเสียดายแผนการปกป้องโรงงานในเขตอุตสาหกรรม  ไม่ได้รวมแผนการปกป้องและฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมของที่ราบลุ่มเจ้าพระยาไว้ด้วย   

ระบบเศรษฐกิจเกษตรของที่ราบลุ่มเจ้าพระยา  ในระยะต่อไปจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น  จะมีกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไปสู่เกษตรกรรมสมัยใหม่มากขึ้น

แต่ถือเป็นช่วงผ่านที่ไม่ราบรื่น

มติชนสุดสัปดาห์   24 สิงหาคม 2555

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: