จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม กระบวนการเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มไทยเจริญอย่างครึกโครม เป้นความพยายามก้าวข้ามพรมแดนธุรกิจ จากความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับกลไกรัฐ ไปสู่การสร้างสายสัมพันธ์ใหม่กว้างขวางขึ้นในสังคมธุรกิจไทย
ทีซีซีแลนด์ เป็นกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่มีการบริหารจัดการ สินทรัพย์และสินค้าลักษณะหลากหลาย กลายเป็นกลุ่มธุรกิจบุคลิกเฉพาะ สินทรัพย์ที่จับต้องได้สำคัญๆไม่พียงเป็นที่รู้จักในฐานะเป็นชิ้นส่วนแห่งความทันสมัยของเมืองหลวง—กรุงเทพฯนั้น ยังมีตำนานที่ระทึกใจว่าด้วยผันแปรของแวดวงธุรกิจไทยรวมอยู่ด้วย
“-เข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น การลงทุนในกลุ่มโรงแรมอิมพีเรียล กลุ่มนอร์ธปาร์ค กลุ่มพันธ์ทิพย์ และการร่วมทุนกับแคปปิตอล แลนด์ ประเทศสิงคโปร์” คำอธิบายสั้นๆที่มีไว้ในwebsite กลุ่มทีซีซี (www.tcc.co.th ) ในส่วนเกี่ยวกับธุรกิจนี้ นอกจากจะสะท้อนถึงยุทธ์ศาสตร์ที่ชัดเจน ในการสร้างอาณาจักรธุรกิจใหม่ด้วยวิธีการซื้อกิจการอื่นๆที่มีอยู่แล้วเป็นสำคัญ ยังสามารถเข้าใจอีกด้วยว่า สินทรัพย์ที่ยกขึ้นมากล่าวถึง คือชิ้นส่วนสำคัญๆที่ควรอ้างอิง
เครือข่ายธุรกิจในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่วาดขึ้น กลายเป็นภาพใหม่ ยิ่งใหญ่ และสำคัญ แต่ก็เป็นภาพที่ตัดขาดจากอดีต ทั้งในแง่สายสัมพันธ์ทางธุรกิจ และมิติทางสังคมอื่นๆ ผมขออนุญาตเชื่อมไว้เพื่ออรรถาธิบายภาพให้ครบถ้วนและมีสีสัน
จุดเริ่มต้น
“ปี 2530 คือปีที่เจริญ สิริวัฒนภักดี เริ่มซื้อทรัพย์สินไว้อย่างมากมาย นอกจากจะถือหุ้นใหญ่และบริหารธนาคารมหานครแล้ว มีที่ดินจำนวนมาก อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่พรมแดนทางธุรกิจที่ไม่มีประสบการณ์
เขาเริ่มด้วยที่ดินแปลงเล็ก จากสาทร สู่ชานเมือง จากซอยเสนานิคม บางเขนถึง ถนนช้างคลานที่เชียงใหม่
“เขาคิดได้ว่า เมื่อหงส์ทองมีปัญหาหนักๆนั้น แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เมื่อเทียบกับกลุ่มแม่โขง” คนใกล้ชิดบางคนกล่าวว่านี่คือจุดอ่อนของกลุ่มเจริญ ดั้งนั้นจึงเป็นไปได้ เมื่อมีโอกาส เขาจึงระดมซื้อทรัพย์สินเหล่านั้นไว้ หรืออีกนัยหนึ่ง เขาได้รับอิทธิพลจากเถลิง เหล่าจินดา ที่มีทรัพย์สินในรูปที่ดินหรือตลาดในต่างจังหวัดหลายแห่ง ตั้งแต่ อำเภอวังน้อย อยุธยา จนถึงอ่างทอง บ้านเกิด
ที่ดินเป็นสินทรัพย์มีค่าแบบดั้งเดิม อยู่ในเป้าหมายของผู้ประกอบการไทยตลอดมานั้น ย่อมมีเหตุผลที่ดีของเจริญด้วย
หนึ่ง-เป็นสินทรัพย์ที่ได้รับการยอมรับจากระบบธนาคารไทยมากที่สุด แต่ไหนแต่ไรมา เป็นหลักประกันในการนำเงินจากระบบธนาคารมาลงทุนต่อเนื่องได้
สอง-ที่ดิน โดยความเชื่อของนักลงทุนดั้งเดิมของไทย เชื่อว่าราคาจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้พัฒนาการของธุรกิจไทยก่อนหน้านั้น ยังไม่มีประสบการณ์ราคาที่ดินตกต่ำมาก่อน จนกระทั้งเหตุการณ์ในช่วงวิกฤติปี2540
ที่สำคัญกว่านั้น ก็คือที่ดินกับอำนาจในธนาคารมหานครของเขา จะสร้างกระบวนการที่สมเหตุสมผลในการได้มากซึ่งเงินสดในจำนวนที่ต้องการ ในเวลาที่จำเป็น
จากนั้นมาเจริญ สิริสวัฒนภักดี จึงกลายเป็นคนที่มีเงินสดในมือมากที่สุด จากธุรกิจการค่าสุราผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว ขณะเดียวกันเขาก็สามารถมีเงินก้อนใหญ่เสมอ จากหลักทรัพย์ที่ธนาคารเชื่อมั่น ด้วยการผ่านกลไกธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารมหานคณ”
นี่อาจจะพออนุมานที่มาของเงินของเขาที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่ววงการธุรกิจ กลุ่มเจริญก็พัฒนาจากการลุยซื้อทรัพย์สินทั่วประเทศ จากจุดเริ่มต้นในบริเวณรอบๆโรงงานสุราของเขา จนถึงมิใช่ที่ดินอย่างเดียว” (เรียบเรียง และ ปรับปรุง มาจากเรื่อง “ธนาคารมหานคร”ในหนังสือ The Fall of Thai Banking ปี 2548 ของผมเอง)
กลุ่มพันธุ์ทิพย์
ในราวปี2532 เจริญ ซื้อพันธุ์ทิพย์พลาซา ถือเป็นการลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่พอสมควร บ้างก็ว่าในช่วงนั้นพัฒนาการความเป็นศูนย์การค้าสินค้าไอทียังไม่เด่นชัด เขาเองกไม่ค่อยจะมั่นใจนัก แต่ความไม่มั่นคงของศูนย์การค้าแห่งนี้ดูจะสำคัญมากกว่า ถือเป็นจังหวะดีในการเข้าซื้อ
“แต่ด้วยการเปิดตัวห้างสรรพสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรบินสัน(2522) เซ็นทรัลชิดลม(2516)รวมถึงการเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบของมาบุญครอง(2529 ) ซึ่งมีสิ่งดึงดูดลูกค้าได้มากกว่าทำให้ลูกค้าพันธุ์ทิพย์ พล่าซ่า เริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ ร้านค้าที่มีอยู่ก็ค่อยๆยุบหายไป จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด” ข้อมูลของพันธุ์ทิพย์พลาซา(www.pantipplaza.com )กล่าวไว้(ส่วนในวงเล็บ ผมเติมเองระบุถึงปีสร้างเสร็จ) ถึงการปรับตัวเพื่อความอยู่ก่อนหน้านั้นจากศูนย์การค้าในแนวความคิดทั่วไปสู่ศูนย์การค้ามีลักษณะเฉพาะ พร้อมกับการเปลี่ยนโครงสร่างผู้ถือหุ้นและการบริหารด้วย
การปรับตัวเกิดขึ้นพร้อมร่องรอยของการค้าสินค้าไอที( Information technology) เริ่มขยายตัวขึ้น แต่ขณะเดียวหนี้สินเดิมของห้างพันธุ์ทิพย์ก็เพิ่มพูนขึ้นมาก ในที่สุดผู้บริหารยุคนั้นที่นำโดย ดุลยเดช บุนนาค ซึ่งกำลังเริ่มต้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ของตนเองในนามนิวเรียลเอสเตท กรุ๊ป สร้างที่พักตากอากาศที่หัวหิน ซึ่งทำท่าจะไปได้ดีกว่า ด้วยสถานการณ์ค่อนข้างราบรื่น ในกระบวนเปลี่ยนบ้านพักตากอากาศของผู้ดีเดิม เป็นคอนโดมิเนียมของสามัญชนที่กำลังเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจ
เจริญ สิริวัฒนภักดี เข้ามาซื่อกิจการในจังหวะนั้นพอดี ว่ากันว่าเป็นการซื้อหนี้ก่อนใหญ่ที่อยู่กับธนาคารไทยทนุและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จากนั้นศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์จึงกลายเป็นต้นแบบของศูนย์การค้าเฉพาะสินค้าไอทีในเมืองไทย และก็ขยายเครือข่ายออกไปในต่างจังหวัดในเวลาต่อมา
บทสรุปหนึ่งที่น่าสนใจ เมื่อโอกาสเปิดขึ้น มือสมัครเล่นที่มองในแง่ดีมักจะเข้ามาอยู่ในเกมของผู้เชี่ยวชาญเสมอ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีบุคลิกเช่นนั้น ในช่วงสองทศวรรษมานี้ จึงมีผู้มาใหม่เข้ามาและรายเก่าล่มหายตายจากเสมอ โดยเฉพาะศูนย์การค้าปลีก แต่มีผู้เล่นสำคัญๆยังคงอยู่ ปัจจุบันหน้าใหม่จะเข้าสู่ตลาดยากขึ้นๆ
กลุ่มโรงแรมอิมพีเรียล
อากร ฮุนตระกูล เป็นคนไทยอีกคนหนึ่งที่สามารถสร้างเครือโรงแรมขึ้นมาแข่งขันกับเชนต่างประเทศ
อากรจบการศึกษาจากประเทศอังกฤษ เริ่มทำงานครั้งแรกในธนาคารเชสแมนฮัตตัน ในปี 2514 ก่อนจะเริ่มต้นธุรกิจโรงแรมอย่างจริงจัง ปี 2516 จนเป็นเครืออิมพีเรียล ซึ่งมีโรงแรมถึง 7 แห่ง คือ โรงแรมนิวอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค โรงแรมอิมพาล่า โรงแรมอิมพีเรียลธารา โรงแรมอิมพีเรียลสมุย โรงแรมธาราแม่ฮ่องสอน โรงแรมเรือและบ้านสมุย และโรงแรมลำปางธานี รวมทั้งยังมีกิจการร้านอาหารทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกหลายแห่งด้วย
ท่ามกลางการแข่งขันและโอกาสที่เปิดขึ้น เครือโรงแรมอิมพิเรียลจำต้องขยายเครือข่าย โดยเฉพาะการสร้างโรงแรมขนาดใหญ่–อิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค ที่ปากซอย สุขุมวิท 24 ที่บังเอิญเกิดขึ้นท่ามกลางแรงกดดันอย่างมาก ได้รับผลกระทบจากสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 2533 การรัฐประหารโดยรสช. เมื่อปี2534 ต่อเนื่องไปถึง เหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535
ในปี 2537 ด้วยหนี้สินจำนวนมาก เขาจึงตัดสินใจขายโรงแรมส่วนใหญ่ให้เจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งมีกิจการโรงแรมแล้วมาบางแห่งในภาคเหนือ ถือเป็นซื้อขายกิจการครั้งใหญ่ เป็นจำนวนเงินหลายพันล้านบาท
เมื่อเผชิญวิกฤติการณ์ การล่าถอยของบางคนเกิดขึ้น พร้อมๆกับบทเริ่มต้นของอีกบางคน
กลุ่มนอร์ธปาร์ค
ความยิ่งใหญ่ของนอร์ธปาร์ค ในฐานะเป็นโครงการเดียวริมถนนวิภาวดีรังสิต มีพื้นที่โครงการถึง 740 ไร่ กินอาณาบริเวณกว้างมาก จรดถนนสามสายหลักๆ คือ ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนประชาชื่น (ทางเข้าเดียวกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์) และถนนงามวงศ์วาน (ทางเข้าหมู่บ้านชินเขต) ตามแผนโครงการสมบูรณ์แบบ ประกอบไปด้วย ออฟฟิศโซน สนามกอล์ฟขนาด 18 หลุม สปอร์ตคอมเพล็กซ์ ในระดับสปอร์ตสคลับและโปโลคลับ โรงแรมและบิซิเนสเซนเตอร์ และบ้านจัดสรรชั้นดี
แต่เดิมมีปัญหาทางเข้า-ออกที่สำคัญของโครงการ ทางถนนวิภาวดีรังสิต กลุ่มนอร์ธปาร์คต้องจ่ายเงินประมาณ 10ล้านบาท ให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อให้ใช้ที่ดินสร้างเป็นถนนลอดใต้ทางรถไฟและวางท่อระบายน้ำ อายุสัญญาที่ทำไว้กับการรถไฟฯ 30 ปี (2533-2563)
ปัจจุบันชื่อ สโมสรราชพฤก์ษ์ ซึ่งก็คือสนามกอล์ฟ และสปอร์ตคลับ บนเนื้อที่ 335 ไร่ ถือเป็นแกนกลางของโครงการนอร์ธปารค ด้วยความพยายามความยกระดับคลับนี้ขึ้น ทัดเทียมกับราชกรีฑาสโมสร (The Royal Bangkok Sports Club) ซึ่งถือเป็นคลับของชนชั้นสูงในกรุงเทพฯมาตั้งแต่เมื่อศตวรรษที่แล้ว
เจ้าของเดิมของพื้นที่แปลงสำคัญคือกลุ่มชินเขต เนื่องจากมีหนี้สินจำนวนมากกับธนาคารเอเชียของตระกูลเอื้อชูเกียรติ ในที่สุดก็เปลี่ยนมือเป้นของกลุ่มนอร์ธปารค ผู้ถือหุ้นใหญ่ก็คือตระกูลเอื้อชูเกียรตินั่นเอง บุคคลสำคัญคนหนึ่ง– ยศ เอื้อชูเกียรติ ผู้มีความคิดที่น่าสนใจ ในความพยายามพัฒนาธนาคารให้พ้นจากความขัดแย้งระหว่างครอบครัวของสองตระกูล ก็มีความคิดจะปล่อยวางทางธุรกิจครอบครัว เพื่อทำงานกับสถาบันที่เขาศรัทธาอย่างมาก ในที่สุดได้ขายกิจการธนาคารไป และพยายามลดบทบาทธุรกิจครอบครัว( เช่นขายหุ้นใหญ่ในบริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ ธุรกิจสำคัญของตระกูลให้เอสซีจี) แต่กรณีนอร์ธปาร์ก ซึ่งมีหนี้สินจำนวนมากด้วย จะแตกต่างออกไปบ้าง ตรงที่จะมีความจำเป็นมากกว่าความตั้งใจ
ในฐานะเพื่อนักเรียนอังกฤษกับ จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ปัจจุบันยศ เอื้อชุเกียรติ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสำนักงานทรัพย์สินฯ มีบทบาทดูแลกิจการเกี่ยวกับการลงทุนและที่ดิน พร้อมทั้งเป็นกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทยด้วย
จากกรณีนี้ เจริญ สิริวัฒนภักดี ได้ก้าวผ่านโอกาสที่ผ่านมาเสมอ ไปสู่ความสัมพันธ์กับสังคมวงในมากขึ้น
TCC CapitaLand
การก่อตั้งบริษัทนี้ ซึ่งถือเป็นการร่วมทุนครั้งใหญ่ของกลุ่มไทยเจริญแล้ว ยังถือเป็นไฮไลท์ของกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้วย
“CapitaLand เป็นกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย สำนักงานใหญ่และเป้บริษัทจดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ ดำเนินกิจการหลักด้านอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร โดยโฟกัสในเมืองที่กำลังเติบโตในเอเชียแปซิฟิก และยุโรป
ธุรกิจสำคัญ ประกอบด้วย ที่พักอาศัย สำนักงาน ศูนย์การค้า เซอร์วิส อพาร์ทเมนต์ โรงแรม และอื่นๆที่ผสมผสานกัน รวมทั้งความชำนาญในการบริหาร และบริการทางการเงินที่เกี่ยวเนื่อง อยู่ใน 110 เมือง มากกว่า 20 ประเทศ ประกอบบริษัทย่อยที่สำคัญ ได้แก่ Australand, CapitaMalls Asia, CapitaMall Trust, CapitaCommercial Trust, Ascott Residence Trust and CapitaRetail China Trust”(เนื้อหาพอสรุปความอย่างคร่าวๆจากข้อมูลของ TCC CapitaLand เฉพาะสวนที่เกี่ยวกับCapitaLand ในhttp://www.tcccapitalland.co.th)
แต่สิ่งไม่กล่าวถึงซึ่งสำคัญกว่า คือบริษัทนี้แป็นกิจการหนึ่งของ Temasek Holding กองทุนลงทุนมีมูลค่า กว่า120 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถือหุ้นโดยรัฐบาลสิงคโปร์ โดยมี HO CHING ภรรยาของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เป็น EXECUTIVE DIRECTOR & CEO
ในวันลงนามสัญญาร่วมทุนในกรุงเทพฯ เมื่อปี2546 เธอมาร่วมงานด้วย (ขณะนั้นยังเป็นภรรยารัฐมนตรีคลัง) โดยมีแขกสำคัญในสังคมธุรกิจไทยมาร่วมงานอย่างคับคั่ง ที่น่าสนใจ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ ชฎา วัฒนศิริธรรม ผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ (ขณะนั้น) และชุมพล ณ ลำเลียง ผู้จัดการใหญ่ เครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี (ขณะนั้น) คงมิใช่เรื่องบังเอิญ หากผู้คนพยายามเชื่อมโยงถึงกิจการหลักของสำนักงานทรัพย์สินฯ
ในช่วงเวลานั้น Temasek Holding ได้ลงทุนในกิจการสำคัญของไทย พร้อมกันนั้นดูเหมือนได้การวางรากฐานความสัมพันธ์ที่มั่นคงของสังคมไทย ตั้งแต่การลงทุนครั้งใหญ่ซื้อกิจการสื่อสารของอดีตนายกรัฐมนตรีไทย รวมทั้งลงทุนในกิจการอื่นๆในเครือสำนักงานทรัพย์สินฯ (UGL Premas กิจการในเครือCapitaLand ร่วมทุนกับธนาคารไทยพาณิชย์ ดำเนินธุรกิจบริหารอาคารสำนักงาน) ทั้งนี้ ยังมีบุคคลสำคัญในฐานะผู้บริหารมืออาชีพของสำนักงานทรัพย์สินฯ มาร่วมงานด้วย โดยเฉพาะ ชุมพล ณ ลำเลียง ในฐานะประธาน Singtel (มาตั้งแต่ปี 2546) ซึ่งถือหุ้นใหญ่ในกลุ่มชินคอร์ป(ปัจจุบัน อดีตผู้บริหารเอสซีจีอย่างน้อย 2คน เป็นกรรมการ)
เพียงไม่ถึง 10 ปี TCC CapitaLand ดำเนินโครงการอาคารสูงในกรุงเทพฯไปแล้วประมาณ 10 โครงการ ว่ากันว่าประสบความสำเร็จด้วยดี
ท่ามกลางการลงทุนและขยายกิจการไปอย่างคึกคักนั้น กลุ่มไทยเจริญ โดยเฉพาะเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้สร้างเครือข่ายสายสัมพันธ์กับบุคคลใหม่ๆจำนวนมาก ด้วยความเชื่อในประสบการณ์และความสำเร็จในอดีต ด้วยยุทธ์ศาสตร์นี้
“คำว่า “ทุน” ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองที่นิยมใช้กันมาตั้งแต่ 25 ปีที่แล้ว คงจะไม่สามารถทำให้เรื่องนี้น่าสนใจ และสมเหตุสมผลได้เท่าที่ควร แนวคิดว่าด้วย “ทุน” ที่มีพัฒนาการอย่างมาก ควรให้ความสำคัญกลไกซับซ้อน การจัดการ และองค์ความรู้ และโดยเฉพาะการพัฒนาทางเทคโนโลยี ที่สำคัญทุนมีพลวัตสัมพันธ์กับระบบสังคมเศรษฐกิจ ตั้งแต่ระดับชุมชน ภูมิภาค และระดับโลก
จากการศึกษาพัฒนาการ CPB อย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี บทเรียนสำคัญบทหนึ่ง คือการสะสมและพัฒนาของทุนที่ไม่มี “องค์ความรู้” ตัวเลขของสินทรัพย์ กำไร หรือ “ความยิ่งใหญ่” และ “อิทธิพล” ของกลุ่มทุน ก็ดำเนินไปอย่างไม่ยั่งยืนเท่าที่ควร”( จาก ทุนแห่งความรู้ นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2549): ข้อเขียนชิ้นนี้คัดย่อมาจากข้อสังเกตของผม มีต่องานวิจัยเกี่ยวกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (CPB) ของจุฬาฯ ในวงแคบๆ เมื่อปลายปีที่2548
สิ่งสำคัญจากนี้ เจริญจะต้องก้าวข้ามความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในอดีต ไปสู่กระบวนการบริหาร
“ทุนแห่งความรู้” จากบทเรียนของสำนักงานทรัพย์สินฯ ว่าด้วยการจัดการความสัมพันธ์ ระหว่าง “ความเป็นเจ้าของ” “ทายาททางธุรกิจ” “ที่ปรึกษา” และ “นักบริหารมืออาชีพ”
และบทเรียนของ Temasek Holding ที่ว่าด้วยการลงทุนและการสร้างสายสัมพันธ์ โดยเฉพาะกรณีซื้อกิจการสื่อสาร (กลุ่มชินคอร์ป) สะท้อนภาพภาพสายสัมพันธ์อันซับซ้อน ย่อมเป็นบทเรียนของ เจริญ สิริวัฒนภักดี ด้วยเช่นกัน