ในฐานะเป็นแฟนรายการ Academic Fantasia (AF) มาแต่ต้น ย่อมมองเห็นการพัฒนาอันน่าทึ่ง ไม่เพียงโมเดลของรายการ หากรวมไปถึงความตั้งใจ และความคาดหวังที่สูงขึ้นของผู้อยู่หลังฉาก
AF เป็นปรากฏการณ์ใหม่สำหรับ Reality showทางทีวีของเมืองไทย โดยเฉพาะผลมาจากความพยายามให้ผู้ชมได้เช้ามามีส่วนร่วมในรายการมากที่สุดเท่าที่เป็นมา
แม้ว่า AFมิใช่ความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย หากได้รับลิขสิทธิ์มาจากรายการLa Academiaประเทศเม็กซิโก แต่สามารถเข้าถึงผู้ชมชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ดี รายการนี้เปิดฉากขึ้นเมื่อปี 2546 เพียงปีเดียวก็ข้ามสู่อีกซีกโลกมาโด่งดังที่มาเลเซียและอินโดนิเชีย ก่อนจะมาถึงไทยในปี 2548 ในวันนี้ต้องยอมรับอย่างดุษฎีว่า คนไทยได้พัฒนาโมเดลรายการไปไกลจากเดิมมาก เป็นกรณีศึกษาReality show ของโลกก็ว่าได้
AFได้สร้างพฤติกรรมใหม่ว่าด้วย“การมีส่วนร่วม”ของผู้ชม ในมิติสร้างสรรค์โมดูลสำคัญ2อย่าง หนึ่ง-การชมด้วยช่องทางหลากหลาย (ทีวีแบบบอกรับ ฟรีทีวี ทวีผ่านอินเทอร์เน็ต ผ่านโทรศัพท์มือถือ ไปจนถึงการเข้าร่วมชมรายการจริง )ตามเวลาอันเหมาะสม (ทั้ง 24 ชั่วโมง รายการบางช่วงบางเวลา หรือการเลือกดูย้อนหลังตามสะดวก ) และเนื้อหาตามต้องการ(ทั้งหมด บางส่วน บางคลิป บางมุม หรือ เฉพาะข่าวสาร รายการสรุปต่างๆ ) สอง –การโหวต ด้วยวิธีที่หลากหลาย แม้ว่าฟรีทีวีพยายามแทรกการโหวต เป็นบริการเสริม เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโปรแกรมต่างๆอยู่แล้ว แต่กรณีAFพัฒนาไปกว่านั้นมากนัก
ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงความพยายามให้ผู้ชมเข้าถึงและเข้าร่วมในรูปแบบอื่นๆอีกมากมาย ทั้ง เป็นการจัดEventที่เป็นจริง รายการอื่นๆทางทีวี โทรศัพท์มือถือ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ หรือ การสร้างชุมชนในอินเทอร์เน็ต ฯลฯ
โดยเฉพาะรายการในปีที่ 6ดูจะมีความตั้งใจในการพัฒนาเป็นพิเศษ ไม่ว่าการถ่ายทอดสดด้วยภาพสามมิติ และการเข้าถึงของผู้ชมไลฟสไตล์ทันสมัย ผ่าน iPhoneโทรศัพท์มือถือ แบรนด์ดังระดับโลก
ผมเองก็เชื่อเช่นเดียวกันบางคนที่ว่า โมเดลการสร้างสรรค์รายการหรือเนื้อหา ไม่ว่าข่าวสาร ความรู้ ความบันเทิง ผนึกผสานเข้ากับเทคโนโลยีและระบบสื่อสาร ทั้งระดับปัจเจกและสังคม กำลังพัฒนาไปตามแนวทางนี้ เพื่อตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่–ผู้มีประสบการณ์การใช้ชีวิต และการปริโภค มาตั้งแต่ยังไม่ได้อยู่ในวัยทำงาน และหาเงินเองได้ จนกลายเป็นนักบริโภคนิยมที่มีไลฟ์สไตล์ของเอง มีความต้องการอย่างซับซ้อน และมีรสนิยมมากกว่าคนรุ่นก่อน
ปรากฏการณ์ใหม่ Academic fantasia เป็นเรื่องน่าตื้นเต้นมากยิ่งขึ้น ในฐานะเป็นภาพสะท้อนที่ดูเป็นจริงเป็นจังอย่างมาก ในยุทธ์ศาสตร์ทางธุรกิจ อย่างสร้างสรรค์และท้าทาย สำหรับสังคมธุรกิจไทยด้วย
ความจริงAFชื่อเต็มๆว่า True Academic Fantasia เหมือนธรรมเนียมการตั้งชื่อรายการทั่วไป โดยพ่วงผู้สนับสนุนรายใหญ่เข้าไปด้วย แต่กรณีนี้มิเพียงเป็นผู้สนับสนุนเท่านั้น หากเป็นเจ้าของและผู้ดำเนินการด้วยเครือข่ายของตนเองที่ครอบคลุมอย่างมาก AFจัดรายการ24ชั่วโมงและรายการอื่นๆประกอบผ่านช้องทางหลักTrue vision(ทีวีแบบบอกรับ)สถานที่ถ่ายทำอยู่ในโครงการอสังหาริมทรัพย์ในเครือ โดยTrue move(กิจการโทรศัพท์มือถือ)สนับสนุนกิจกรรมการโหวต ฯลฯ ทั้งนี้รวมไปถึงการโฆษณาสินค้าล้วนใหญ่ก็อยู่ในเครือของ True ด้วย
“Trueเป็นผู้ให้บริการสื่อสารครบวงจรหนึ่งเดียวของประเทศ และปัจจุบันTrueเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่แข็งแกร่งที่สุดของไทย วิสัยทัศน์ของกลุ่มTrue คือการเป็นผู้นำคอนเวอร์เจนซ์ ไลฟ์สไตล์ (Convergence Lifestyles)” คำอธิบายตนเองอย่างเป็นการเป็นงาน (www.truecorp.co.th)
คำว่า Convergence เป็นคำใหม่และสำคัญขึ้นมาทันที เท่าทีดูเอกสารทั้งหมดของ True ก็ไม่มีคำแปลภาษาไทย
“ยุทธ์ศาสตร์ผู้นำ Convergence Lifestyle ของ True ทำให้True มีเอกลักษณ์ความโดดเด่นในตลาดสื่อสารโทรคมนาคมไทย ด้วยการผสานบริการสื่อสารครบวงจรในกลุ่มเข้ากับคอนเทนท์ (content) ที่เน้นความหลากหลาย เพื่อตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้า การที่กลุ่มTrue สามารถนำเสนอผสมผสานผลิตภัณฑ์และบริการภายในกลุ่ม ทำให้ไม่จำเป็นต้องแข่งขันด้านราคาเพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาฐานลูกค้า ลดการยกเลิกการใช้บริการ และเพิ่มส่วนแบ่งตลาด”
คำอรรถาธิบายเพิ่มเติม ว่าด้วย Convergence Lifestylesคงช่วยให้เข้าใจขึ้นบ้าง โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายทางธุรกิจ สองกลุ่ม คือกลุ่มลูกค้า และนักลงทุน
สำหรับลูกค้า True มีwww.truecorp.co.th/convergence/ให้รายละเอียดบริการไว้ พอจะอธิบายในฐานะผู้เฝ้ามองธุรกิจไทยฃ อย่างสรุปว่า เมื่อผู้บริโภคใช้บริการในเครือข่ายเดียวกันมากรายการขึ้น ก็ทำให้ชีวิตดีขึ้น เนื่องจากมีบริการต่างๆที่เกี่ยวข้องกันครบวงจร อีกแง่หนึ่งเมื่อผู้บริโภคซื้อบริการหลากหลายมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการใช้บริการก็จะถูกลง สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจบริการกับผู้บริโภครายย่อย ภายใต้ระบบเทคโนโลยี่ สนับสนุนร่วมระบบเดียวกัน ตามตรรกะที่ว่า เมื่อผู้บริโภคซื้อหลายบริการ ต้นทุนธุรกิจในการดำเนินการย่อมถูกลง ดังนั้นค่าใช้บริการก็ควรถูกลงด้วย หรือกล่าวอีกนัยก็คือ Key Account Managementเป็นแนวทางสำหรับธุรกิจปัจจุบัน โดยความสำคัญลูกค้าแตกต่างกัน กลุ่มที่จ่ายให้มากกว่าได้รับการบริการที่ดีกว่า
ความเป็นไปของ AFถือเป็นภาพสะท้อนConvergence Lifestyle ที่ชัดเจนที่สุด เป็นความพยายามอย่างสำคัญ ในกระตุ้นผู้บริโภคซื้อบริการให้มากชนิดที่สุดในเครือข่าย โดยใช้ประสบการณ์ที่น่าสนใจ น่าประทับใจช่วงหนึ่งเป็นแรงกระตุ้น สำหรับธุรกิจที่มุ่งสู่ความสำเร็จ ถือเป็นเรื่องจำเป็น แม้บางครั้งเป็นแรงกระตุ้นที่ดูมากเกินไป อาจเสียความสมดุลไปบ้าง หากมองในเชิงสังคม ดังที่ผมเคยติงไว้เมื่อ6ปีที่แล้ว
“กับสินค้าโทรศัพท์ไร้สาย บางทีการต่อสู้ในสนามธุรกิจที่ดุเดือด ชิงไหวชิงพริบกันมาก อาจจะทำให้มองเห็นภาพเชิงโครงสร้างสังคมไม่ชัด บ่อยครั้งเกมต่อสู้ที่เป็นกระแสฉาบฉวย มักจะไหลลื่นไปจนเกินความพอดี ผมคิดว่าภาพยนตร์ของ Kelvin Costner เรื่อง The Postman ให้ความคิดเชิงอุดมคติของการสื่อสารในสังคมได้อย่างดี และผมก็เชื่อว่าพลังของความคิดทำนองนี้ คือแรงบันดาลใจสำคัญทางธุรกิจสื่อสารในโลกยุคนี้ด้วย ความเป็นจริง ก็คือสินค้าชนิดนี้กำลังสร้างพฤติกรรมทางสังคมที่ว่าด้วยการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น แม้ว่าจะดูเป็นแนวทางการตลาดสมัยใหม่ที่อ้างกันว่าเป็นสินค้าที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ก็ตาม บริการใหม่ๆ ที่ถูกจุดกระแสสังคมมากเป็นพิเศษ คือการใช้ระบบสื่อสาร ที่ว่าไปแล้วเป็นเครือข่ายทางสังคมในกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมน้อยลง
หลักการสำคัญข้อหนึ่ง คือระบบสื่อสาร สามารถช่วยลดช่องว่างทางสังคม ลดความเสียเปรียบระหว่างเมืองกับชนบท ผมเคยเขียนเรื่องนี้นานมาแล้วว่า ต้นทุนโอกาสของชนบทมีสูงกว่าคนเมืองหลวง ในเรื่องสำคัญ คือต้นทุนของการสื่อสาร โอกาสที่ว่ามีในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ไปจนถึงธุรกิจ บนพื้นฐานที่กรุงเทพฯ คือศูนย์กลางของสังคมไทย โดยชนบทเป็นเพียงบริวารเท่านั้น ความเติบโตของระบบสื่อสารไทย ในมิติของการใช้ประโยชน์อย่างมีคุณค่า คือความเชื่อมโยงเชิงอุดมคติ กับธุรกิจเข้าด้วยกัน” (Ideology & Business พฤศจิกายน 2546)
เป็นเรื่องค่อนข้างดีสำหรับธุรกิจในยุคโลกาภิวัตน์ แรงเสียดทานในระดับสังคมท้องถิ่นไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับอดีต ขณะเดียวกัน True ก็พยายามแสดงบทบาทที่ควรกระทำมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการ “ปลูกปัญญา” หรือ AF ประกาศว่าจะบริจาคเงินที่ได้จาการโหวตส่วนหนึ่งเพื่อการกุศล
ในมุมนักลงทุน พยายามสื่อสารว่าTrue “มีเอกลักษณ์ความโดดเด่นในตลาดสื่อสารโทรคมนาคมไทย” ก็ถือว่ายอมรับได้ โดยได้รับการตอบสนองอย่างดีทีเดียว เพราะTrue สามารถระดมเงินผ่านตลาดหุ้นมาแล้ว นับหมื่นล้านบาท เพื่อลงทุนขยายกิจการอย่างครึกโครมในช่วงตลาดหุ้นค่อนข้างซบเซา ในช่วง 2-3ปีมานี้
การสร้างอาณาจักรธุรกิจที่มีสินทรัพย์ประมาณ 1แสนล้านบาท และมีรายได้ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท โดยใช้เวลา 20 ปี ย่อมมิใช่เรื่อง่าย โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ยุ่งยากพอสมควร หนึ่ง- คู่แข่งเข้มเข็ง เกิดขึ้นมาก่อนประมาณ10ปี สอง-สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่ปกติ โดยเฉพาะในช่วงกลุ่มTrueเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2550 สาม-เป็นธุรกิจใหม่ที่มีพลวัตรอย่างมาก
ความเป็นมาและความเป็นไปของ True แท้จริงแล้วแยกไม่ออกกับกลุ่มธุรกิจที่มีรากฐานมาเกือบ 90 ปี ไม่ว่าจะในแง่ บทเรียน อิทธิพล ความสามารถในการบริหาร หรือแม้กระทั่งยุทธ์ศาสตร์ Convergence lifestyle
คราวหน้าผมจำเป็นต้องกล่าวถึงซีพี
——————————————————————————————————————-
Convergence
Convergence – N (นาม) converge-V (กริยา) 1) บรรจบกัน 2) ค่อยๆ กลายมาเป็นเหมือนกัน 3) ไปยังจุดหมาย (พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย ในอินเทอร์เน้ทโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ http://lexitron.nectec.or.th)
ความจริงศัพท์คำนี้ กิจการสื่อสารระดับโลกใช้กันกว้างขวาง แม้อดีตผู้ร่วมทุนของกลุ่มTrueเอง
Verizon USA กิจการสื่อสารทมีบริการทั้งไร้สายและผ่าน fiber optic(เส้นใยนำแสง)รายใหญ่ เคยร่วมทุนในระระเริ่มต้นโครงการโทรศัพท์ 2ล้านเลขหมาย ใช่คำว่า converged communications กล่าวถึง บริการของโทรศัพท์พื้นฐาน เสนอผลิตภัณฑ์ลักษณะ bundle (แปลตามพจนานุกรมของไทย มัดหรือห่อ) ค่อนข้างไม่ซับซ้อน หลายสูตร ระหว่างโทรศัพท์ ทีวีดิจิตอล และอินเทอร์เน็ต
ขณะที่ Orange UK เคยร่วมมือกับในโครงการสื่อสารไร้สายกับ True ใช้Convergence เป็นหนึ่งในยุทธ์ศาสตร์รวมที่ประกอบด้วย innovation(นวัตกรรม), convergenceและ effective cost management(บริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ) บริการและผลิตภัณฑ์ มีส่วนคล้ายกับTrue มาก เช่น ใช้ iPhone เสนอบริการทีมีเชื่อมโยงหลากหลาย เป็นโมเดลสื่อสารไร้สาร เสนอบริการทั้ง เพลง เกม ข้อมูล กีฬา และเข้าถึงอินเทอร์เนต ส่วนบริการสื่อสารที่บ้าน ประกอบด้วย โทรศัพท์ เครือข่ายความเร็วสูงไร้สาย ทีวีดิจิตอล video on demand และเกม เป็นต้น
ดูแล้ว True ริเริ่มใช้ Convergence บวกกับ Lifestyle เป็นแนวทางลักษณะประยุกต์ และสร้างสรรค์ หลากหลายมากกว่า โดยเฉพาะกรณี AF ถึงเป็นเรื่องยากที่แปลเป็นภาษาไทย
——————————————————————————————————————-
เหตุการณ์สำคัญ
2533 เปิดประมูลสัมปทานระบบสื่อสารครั้งใหญ่
2534 ซีพีร่วมทุนกับ Bell Atlantic (ต่อมาเป็น verizon) USA ตั้งบริษัทเทเลคอมเอเชีย (TA) ลงนามสัญญากับองค์การโทรศัพท์ฯ ดำเนินการกิจการโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมาย ซึ่งก่อนหน้านั้นเจรจากันนานข้ามสองรัฐบาล
2540 ซีพี เข้าสู่ธุรกิจทีวีแบบบอกรับอย่างจริงจัง ด้วยการควบกิจการ UTV (เครือซีพี) กับ IBC (เครือชินวัตร) กลายเป็น UBC
2544 TA ร่วมทุนกับ Orange S.A. UK ในนาม TA Orange เริ่มต้นกิจการสื่อสารไร้สาย แบรนด์ Orange
2547 ผู้ร่วมทุนต่างชาติถอนตัว หลังการปรับโครงสร้างหนี้ TA เปลี่ยนชื่อเป็น True ด้วยกระบวนการสร้างแบรนด์ใหม่ พร้อมกับการเริ่มต้นกลุ่มธุรกิจสื่อสารครบวงจร
2549 Orange ถอนตัวออกจาการร่วมทุน จึงเปลี่ยนชื่อเป็น True move
True เข้าซื้อหุ้น UBC ทั้งหมด
2550 UBC เปลี่ยนชื่อเป็น True vision
ตีพิมพ์ครั้งแรก มติชนสุดสัปดาห์ 22-29 สิงหาคม 2552