พัฒนาการการศึกษาด้านธุรกิจในประเทศไทย ในช่วง 80ปีมานี้ เป็นภาพสะท้อนโดยตรงของสังคมธุรกิจไทย โดยเฉพาะความเป็นไปที่จุฬาฯและธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นเรืองที่น่าสนใจอย่างยิ่งที่จุดเริ่มต้นสำคัญเกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ถือเป็นจุดเริ่มต้นพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างระบบการศึกษาวิชาการบัญชี กับบริบทแรงขับเคลื่อน ผลกระทบต่อเนื่อง และความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ครั้งแรกตั้งแต่เริ่มเขียนบทความทีมติชนสุดสัปดาห์ “ในช่วงเวลานั้นสังคมไทยเผชิญเหตุการณ์สำคัญมาก 3 ช่วง ล้วนส่งผลต่อการพัฒนาสังคมไทยอย่างลึกซึ้ง หนึ่ง-เปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 สอง- สงครามเวี่ยดนาม (2507-2518)สาม- วิกฤตการณ์การเงิน ปี 2540”
ช่วงที่หนึ่ง
วิชาการการบัญชีเกิดขึ้นที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปีเดียวกัน( 2481) ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกคอรงโดยคณะราษฎรไม่นาน โดยขณะนั้นจอมพลแปลก พิบูลสงครามเป็นอธิการบดีจุฬาฯ ขณะที่ดร.ปรีดี พนมยงศ์ เป็นผู้ประสาสน์การธรรมศาสตร์ โดยประวัติวิชาการบัญชีในโรงเรียนระดับวิชาชีพระบุไว้สั้นๆว่ามีความเกี่ยวข้องการประกาศใช้ประมวลกฎหมายรัษฎากรในปีต่อมา
คณะราษฎรถือว่าการประกาศใช้กฎหมายฉบับดังกล่าว เป็นผลงานสำคัญในกระบวนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความพยายามหลุดพ้นจากอิทธิพลของระบบอาณานิคม จากผลกระทบของสนธิสัญญาเบาริ่งที่มีมากกว่ามิติทางการเมืองและการทหาร ที่สำคัญคือการจำกัดอัตราภาษีศุลกากรสำหรับสินค้านำเข้าที่ 3% เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทย(The 3-percent limit on import duties may also have hindered the growth of domestic industries. —James C. Ingram, “Economic Change in Thailand since1850” StanfordUniversityPress 1955)
การปรับโครงสร้างการบริหารให้ทันสมัย ทัดเทียมกับอาณานิคม เป็นยุทธ์ศาสตร์สำคัญ เช่นเดียวกับวิชาบัญชี บุคคลสำคัญที่เข้ามามีบทบาทครั้งแรก คือบุคคลที่ผ่านการศึกษาการบัญชีจากระบบอาณานิคมอังกฤษ—พระยาไชยยศสมบัติ (เสริม กฤษณามระ) ที่จุฬาฯ และหลวงดำริอิศรานุวรรต (ม.ล.ดำริ อิศรางกูร ณ อยุธยา) ที่ธรรมศาสตร์ซึ่งทั้งสองมีประกาศนียบัตรACA (Associate of The Institute of Chartered Accountant in England and Welsh) ในฐานะคนไทยสองคนแรก
พระยาไชยยศสมบัติ (เสริม กฤษณามระ) เป็นผู้หนึ่งในคณะบริหารยุคเริ่มแรก แบงก์สยามกัมมาจล ธนาคารไทยแห่งแรก(คือธนาคารไทยพาณิชย์ ปัจจุบัน) ในฐานะมีความรู้บัญชี เขาเป็นคนแรกที่ได้ ACAจากสถาบันชั้นสูงทางบัญชีของสหราชอาณาจักร
เขาเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังในช่วงระยะสั้น ๆ ก่อนจะมีบทบาทสำคัญจัดตั้งวิชาการบัญชีที่จุฬาฯ พร้อมๆตั้งสำนักงานบัญชีไชยยศ เป็นสำนักงานบัญชีแห่งแรก ๆ รองรับการขยายตัวทางธุรกิจ โดยเฉพาะกิจการธนาคาร ถนนทุกสายของบุคคล ผู้ทรงอำนาจทางธุรกิจในสมัยนั้นกำลังมุ่งไปสู่
ในช่วงพระยาไชยยศมีบทบาทอย่างสูง น้องชายคนหนึ่งมีบทบาทเคียงคู่กันในการพัฒนาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจุฬาฯ–อาภรณ์ กฤษณามระ ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการก่อตั้งแผนกวิชาการบัญชี ในปี 2482 ด้วย จากนั้นปี 2487จึงเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการจัดการแบงก์ไทยพาณิชย์ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งยาวนานถึง28ปี (2487-2515) รวมทั้งดำรงตำแหน่งคณบดีคนที่สอง (ต่อจากพี่ชาย–พระยาไชยยศสมบัติ) ในช่วงเวลายาวนานพอสมควร (ปี 2507-2514) ด้วยเช่นกัน
ไม่เพียงเท่านั้นทายาทคนหนึ่งของพระยาไชยยศสมบัติ–เติมศักดิ์ กฤษณามระ เป็นบุคคลที่เดินตามรอยเท้าผู้พ่ออย่างใกล้ชิดเป็นนักบัญชีที่มี ACAคนที่ 6 ของประเทศและทุ่มเทกับงานวิชาการควบคู่กับการดำเนินธุรกิจตรวจสอบบัญชีของตนเอง ดำรงตำแหน่งคณบดีคนที่สาม (ปี 2514-2518) ถือเป็นบุคคลสำคัญที่นำพาวิชาการธุรกิจไทยเข้าในช่วงที่สองที่จะกล่าวถึงต่อไป
ส่วนธรรมศาสตร์มีเรื่องราวACAคนที่สี่อยู่บ้าง
“ประยูร เริ่มต้นเรียนที่ London School of Economics รุ่นก่อน บุญมา วงศ์สวรรค์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และพิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์ เรียนได้เกือบครบ 1 ปีเจ้าของทุน (กระทรวงการคลัง) เกรงว่าจะเป็นฝ่ายซ้าย จึงมีคำสั่งให้
ย้ายไปเรียนบัญชีแทน เขาเล่าว่าเขาถูก Scotland yard ติดตามดูพฤติกรรมอยู่เป็นปี เขาจบการศึกษาACA (Associate of The Institute of Chartered Accountant in England and Welsh) คนที่ 4 ของประเทศไทย ต่อจากพระยาไชยยศสมบัติ หลวงดำริอิศรานุวัตร และศิริ ฮุนตระกูล”กล่าวถึงประยูร วิญญรัตน์ บิดาของพันศักดิ์ วิญญรัตน์ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีมืออาชีพของไทย ในส่วนที่กล่าวถึงบัญชีธรรมศาสตร์และบทบาทเชื่อมโยง (จากเรื่อง พันศักดิ์ วิญญรัตน์ Professional Thinker )
“หลังจากจบการศึกษาจากอังกฤษในช่วงปลายทศวรรษ 2470 เขาก็เข้าทำงานที่กระทรวงการคลัง และช่วยวางรากฐานการตั้งสำนักงานธนาคารกลางครั้งแรกขึ้นในกระทรวงการคลังเมื่อปี 2481 และในช่วงสงครามเขาก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการผู้ดูแลทรัพย์สินศัตรู รวมทั้งทรัพย์สินของธนาคารอังกฤษในประเทศไทยทั้งหมดด้วย”พันศักดิ์ วิญญรัตน์ เคยเขียนถึงพ่อของเขาเอาไว้ในบทความ การต่อสู้ของชิน โสภณพนิช กับธนาคารอาณานิคม (นิตยสารผู้จัดทำการ กรกฎาคม 2530)
ระหว่างรับราชการประยูร วิญญรัตน์ ได้สอนวิชาการบัญชีที่ธรรมศาสตร์ด้วย ต่อมาได้รับการชักชวนจากบุญชู โรจนเสถียร (บุญชู เคยทำงานที่ธนาคารชาติ และลูกศิษย์บัญชีที่ธรรมศาสตร์ของเขา) เข้ามาช่วยบริหารธนาคารกรุงเทพ ในฐานะผู้ริเริ่มการเปิดสาขาธนาคารครั้งแรกในประเทศไทย ในยุคเริ่มต้นการเข้ามากอบกู้กิจการของชิน โสภณพนิช(ราวปี2495) และถือเป็นการวางรากฐานธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์
ช่วงที่สอง
อิทธิพลสหรัฐฯในประเทศไทย อยู่ในระดับสูงสุดช่วงสงครามเวียดนาม(2507-2518) มิได้จำกัดแค่เรื่องการเมือง การทหาร หากอยู่ในรูปของการช่วยเหลือให้คำปรึกษาและการเงิน ในการปรับโครงสร้างสังคม และนโยบายเศรษฐกิจ และพัฒนาสาธารณูปโภค โดยส่งเสริมให้ธุรกิจเอกชนไทยเติบโต
คำอรรถาธิบายในมิติที่กว้างขึ้นกว่าในอดีต ที่ว่าด้วยอิทธิพลสหรัฐในประเทศไทย ซึ่งต่อเนื่องจากคำอธิบายที่ว่าด้วย การลงทุน การเข้ามาของสินค้าLife Style อเมริกัน จนถึงความรู้ คนไทยนิยมไปเรียนสหรัฐมากขึ้น ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และเพิ่มขึ้นมากในช่วงนั้น ที่สำคัญมาก คือ ความรู้ด้านบริหารธุรกิจสมัยใหม่ แบบอเมริกัน ซึ่งเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้น ในโลกในตอนนั้น นั่นคือ MBA
การมาของผู้จบการศึกษาMBA ครั้งสำคัญ โดยเข้าไปอยู่ในใจกลาง สังคมธุรกิจไทย– สังคมการเงิน ซึ่งวางรากฐานเป็นสังคมวงใน มีความมั่นคงและยิ่งใหญ่ ในยุคที่ธนาคารไทยมั่นคง ทั้งมาจากธุรกิจครอบครัวตระกูลสำคัญของสังคมไทย และนโยบายรัฐที่คุ้มครองธุรกิจธนาคารด้วย โดยเฉพาะกลุ่มนี้สามารถยุคของความผันแปรทางการเงินของโลกที่เข้ามากระทบเมืองไทยโดยตรงมากขึ้นช่วงหนึ่งมาได้ด้วย
บุคคลสำคัญในแวดวงการศึกษาอีกสองคนที่ควรกล่าวถึง—สังเวียน อินทรวิชัย และเติมศักดิ์ กฤษณามระ
สังเวียน อินทรวิชัย แม้มีพื้นฐานการศึกษาจากสหราชอาณาจักร แต่สามารถเข้ากับยุคอเมริกันได้อย่างดี เขาจบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยบริสตอล จากนั้นเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต หรือที่เรียกว่า FCA จากสถาบันผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ที่อังกฤษ เขามีบทบาทมากในตลาดหุ้นไทยอย่างมาก ในฐานะประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ มายาวนาน ขณะเดียวเป็นอาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีธรรมศาสตร์ มีบทบาท สำคัญเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งโครงการปริญญาโท บริหารธุรกิจ (MBA) ตลอดจนสร้างสรรค์ผลิตหลักสูตรใกล้เคียงที่น่าสนใจ –Mini MBA และโครงการปริญญาโทบริหารธุรกิจภาคค่ำ (Ex-MBA)
นอกจากนี้เขามีโอกาสเข้าแก้ปัญหาธุรกิจสำคัญๆ เช่น กรณีแบงก์ชาติเข้าควบคุมเอเชียทรัสต์และเปลี่ยนเป็นธนาคารสยาม จึงถือว่าเป็นบุคคลสำคัญที่สามารถก้าวข้ามจากวิชาการบัญชี สู่ภาพกว้างของวิชการบริหารธุรกิจ ที่สำคัญ มีบทบาทเชื่อมต่อวิชาการเข้ากับความเป็นทางธุรกิจได้อย่างน่าสนใจ
ส่วนเติมศักดิ์ กฤษณามระ สร้างผลงงานสำคัญในการนำสถาบันการศึกษาระดับโลกมาเปิดสอนในประเทศ ในช่วงสังคมเศรษฐกิจเติบโตอย่างมาก อย่างทีเรียกกันในเวลาต่อว่ายุคฟองสบู่ แต่อย่างไรก็ตามถือเป็นหน่อสำคัญของการก้าวข้ามไปอีกขึ้นของระบบการศึกษาธุรกิจในประเทศไทย
ทั้งสองกรณีเคียงคู่ไปกับความพยายามของธุรกิจไทยหลายแห่ง ที่ส่งเสริมการศึกษาMBAอย่างขนานใหญ่ โดยเฉพาะ ธนาคารกสิกรไทย และเครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี
ช่วงที่สาม
ช่วงของเปิดกว้างขึ้นของวิชาการธุรกิจสู่สาขาอื่นๆในวงกว้าง จากแรงสั่นสะเทือนของวิกฤติการณทางเศรษฐกิจที่อิทธิพลระดับโลกเข้ามากระแทกอย่างรุนแรง โมเมนตัมยังดำเนินต่อไป
—————————————————————————————————
สำดับเหตุการณ์สำคัญ
ช่วงที่ 1
2481 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคำสั่งลงวันที่ 22 ตุลาคม แต่งตั้งคณะกรรมการผู้วางหลักสูตรการศึกษาวิชาการบัญชีการพาณิชย์และเศรษฐศาสตร์
2481 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อตั้ง “แผนกวิชาบัญชี” เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน
2482 วิชาการบัญชีและพาณิชย์ จุฬาฯเริ่มเปิดสอนครั้งแรกในวันที่ 29 พฤษภาคม
2483 พระยาไชยยศสมบัติ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าแผนกวิชาการบัญชีและพาณิชย์
2492 ธรรมศาสตร์สถาปนาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน โดย ศาสตราจารย์ ดร.เดือน บุนนาค เป็นคณบดีคนแรก
ช่วงที่ 2
2525 ธรรมศาสตร์เปิดหลักสูตรMini MBA
2528 ธรรมศาสตร์เปิดหลักสูตร MBA สำหรับผู้บริหาร
2529 จุฬาฯเปิดหลักสูตร MBA สำหรับนักบริหารเปิดสอนนอกเวลาราชการเช่นเดียวกับธรรมศาสตร์
ช่วงที่ 3
2530 สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดสอนMBA (ภาษาอังกฤษ) โดยความร่วมมือกับ The Kellogg School of Management ของมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น และWhartonSchoolของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย
2531 ธรรมศาสตร์เปิดหลักสูตร MIM (ภาษาอังกฤษ) ทางการตลาด
2535 ธรรมศาสตร์เปิดโครงการปริญญาตรีบริการธุรกิจ (ภาษาอังกฤษ)
2539 จุฬาฯได้เปิดหลักสูตรปริญญาตรีบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) ซึ่งนับว่าเป็นหลักสูตรนานาชาติหลักสูตรแรกที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรีในจุฬาฯ
2543 จุฬาฯได้เปิดหลักสูตรปริญญาตรี บริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการบัญชี (ภาษาอังกฤษ)
2547 จุฬาฯเปิดหลักสูตรMBA สาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ)
2548 ธรรมศาสตร์ เปิดสอน IMBA (ภาษาอังกฤษ) นอกเวลาราชการ
2554 จุฬาฯเปิดหลักสูตรปริญญาโทวิศวกรรมการเงิน (ภาษาอังกฤษ) นอกเวลาราชการ