โฉมหน้าผู้บุกรุก(4) นักลงทุน

ตลาดหุ้นไทยได้ผลิตอาชีพใหม่ขึ้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว—นักลงทุน (Investor) ผมเชื่อว่าดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ คือตัวแทนและภาพสะท้อนบทบาทในมิติที่กว้างขวาง โดยเฉพาะในการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด แต่สุดท้ายได้สะท้อนแนวคิดความเข้าใจสังคมไทย และเป้าหมายสำคัญที่สุดของตนเองในฐานะนักลงทุนที่ควรเป็น

ผู้คนอาจเข้าใจอย่างง่ายๆว่า”นักลงทุน”ในตลาดหุ้นคือ คนที่ใช้เงิน(ของตนเองที่สะสมไว้ หรือกู้ยืมมาจากสถาบันการเงิน)ลงทุนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนใหญ่พยายามซื้อมาในราคาที่ต่ำกว่าตอนที่ขายออกไป แสวงหาเกำไรให้มาถึงอย่างรวดเร็ว   ขณะที่ส่วนน้อยซื้อหุ้นโดยหวังผลตอบแทนในระยะยาว  จากเงินปันผล  หรือมีส่วนผสมกันตามแนวทางของตนเอง  ปัจจุบันตัวเลขนักลงทุนในความหมายง่ายๆของตลาดหลักทรัพย์แห่งประทศไทยเพิ่มขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก  ผู้คนกลุ่มนี้ มีฐานกว้างมากขึ้น แสดงถึงพื้นที่ที่เปิดกว้างแห่งโอกาสของผู้คนยุคใหม่   แต่คนส่วนใหญ่ยังอยู่ในกระบวนการเสี่ยงโชคอย่างง่ายๆ ด้วยการซื้อการขายโดยอาศัยข่อมูลอย่างจำกัด ท่ามกลางความผันแปรในหลายปัจจัยที่ควบคุมยาก

ในบางกรณีบทบาทของนักลงทุนกว้างขวางกว่านั้นมาก ในเชิงความคิดและเชื่อมโยงกับระบบ   เช่นกรณี “เสี่ยสอง” ที่เกิดขึ้นเมื่อทศวรรษที่แล้ว

สอง  วัชรศรีโรจน์ เริ่มต้นเป็นเพียงนักลงทุนในตลาดหุ้นธรรมดาคนหนึ่ง   เข้ามาในสถานที่เชื่อว่าเปิดโอกาสให้ผู้คนอย่างกว้างขวาง อาจจะเป็นด้วยโชคหรืออย่างไรก็ตามที เขาสามารถสะสมความมั่งคั่ง ขยายวงเงินการซื้อขายได้จำนวนมาก ความคิดจึงมองกว้างและกระเจิดกระเจิงออกไป ด้วยแรงขับเคลื่อนที่ซ่อนอยู่ภายใน  ในความพยายามเป็นเจ้าของธนาคาร ในเวลานั้นผู้คนในสังคมธุรกิจไทยมองว่าเป็น “ที่มั่น” เป็น “วงใน”ของสังคมธุรกิจไทยที่ใครๆพยายามเข้าถึง เสี่ยสองพยายามเข้าซื้อหุ้นอย่างหนัก เพื่อให้มีสัดส่วนถือครองข้างมาก เพื่อเข้าเป็นเจ้าของธนาคารแห่งหนึ่ง

ในความพยายามนั้นต้องเผชิญแรงต้านอย่างหนักหน่วงจากเจ้าของเดิมซึ่งมีตำนานของผู้มีอำนาจและราชนิกุลในโครงสร้างสังคมอันมั่นคงเดิม ในที่สุดเขาไม่สามารถเอาชนะได้  พร้อมกับต้องเผชิญการคดีความในข้อหา “ปั้นหุ้น”

ในที่สุดธนาคารแห่งนี้(กรุงเทพฯพาณิชย์การ) ต้องมีอันเป็นไปด้วยฝีมือของกลุ่มเดิม จากนั้นไม่นานเสี่ยสองจึงหลุดพ้นจากข้อกล่าวหา

บทเรียนของเสี่ยสอง  ตอนนั้นผมเองเคยสรุปว่า เป็นความพยายามท้าทายอำนาจของเสี่ยสองต่อเสี่ยหนึ่งในสังคมธุรกิจไทยที่ไม่อาจเอาชนะได้  แต่อีกด้านหนึ่งในคือบทบาทและแรงบันดาลของนักลงทุนในตลาดหุ้น  เชื่อมโยงกับบางมิติที่ผมจะเสนอในตอนนี้

ส่วนดร.ก้องเกียรติ   โอภาสวงการ มีเส้นทางเดินที่น่าสนใจและแยบยลกว่ากรณีเสี่ยสองมากทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแต่จังหวะก้าวของชีวิตและการงาน สอดคล้องกับกระแสสังคมธุรกิจไทยอย่างไม่น่าเชื่อ

เขามาจากครอบครัวระดับกลางของสังคม แต่มีความสามารถในการการศึกษาเล่าเรียนอย่างดี ในฐานะเรียนจบปริญญาตรีทางด้านวิศวกรรมศาสตร์(เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)ในยุควิศวกรรมศาสตร์บวกเอ็มบีเอ กำลังเป็นกระแสสังคมมาพร้อมกับบทบาทในการจัดการสมัยใหม่กับการขยายตัวของสังคมธุรกิจไทย  โดยเฉพาะในแวดวงธนาคารและการเงิน

จุดเปลี่ยนสำคัญครั้งแรกของก้องเกียรติ มาจากการได้ทุนการศึกษาวิชาการด้านบริหารธุรกิจในต่างประเทศ( Ph.D., M.S., M.B.A. (Distinction) The Wharton School –University of Pennsylvania) ของธนาคารกสิกรไทย ธนาคารซึ่งมีความพยายามอย่างมากในการสร้างคนเพื่อรองรับการขบยายตัวของระบบธนาคารที่กำลังเริ่มขึ้นอย่างมากในเวลานั้น   ถือว่าเขามีโอกาสเข้าสู่แวดวงธนาคารอย่างดี (2527-2532) มีโอกาสทำงานกับกลุ่มลูกค้าที่มีฐานะทางการเงินดี ในฐานะที่ดูแลงานด้านสินเชื่อ และกิจการบัตรเครดิตซึ่งเพิ่งเริ่มต้นอย่างจริงจังในระบบธนาคารไทย ฐานลูกค้ายังอยู่ในวงแคบสำคัญผู้มีเครดิตในเมืองหลวงเท่านั้น

จุดเปลี่ยนที่ว่าไปแล่เป็นความต่อเนื่องพอสมควร  แต่ก็ถือว่าเข้าสู่ช่วงเวลาที่สำคัญ  ก้องเกียติเข้าทำงานในฐานะผู้บริหาร Barings Research ในประเทศไทย   ถือเป็นหน่วยงานเครือข่าย สถานบันการเงินของสหราชอาณาจักร ที่มีความชาญวาณิชธนกิจ (investment banking โดยดั้งเดิมใช้คำว่า merchant banking) วาณิชธนกิจหมายถึง สถาบันทางการเงินซึ่งทำหน้าที่ระดมเงินทุน ซื้อขายหลักทรัพย์ บริหารการควบรวมและซื้อกิจการ รวมถึงให้คำปรึกษาในธุรกรรมข้างต้น และธุรกรรมทางการเงินประเภทอื่น เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ทำรายงานวิจัย ออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เป็นต้น

Barings Bank (2305-2538) สถานบันการเงินเก่าแก่ที่สุดของสหราชอาณาจักร แต่มีอันต้องเป็นไปเพราะฝีมือพนักงานเพียงคนๆเดียวที่ทำงานในสิงคโปร์ ส่งผลให้ธนาคารขาดทุนไปมากกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันกิจหารเก่าของ Barings ถูกซื้อไปรวมกับ ING ธนาคารแห่งเนเธอร์แลนด์

ว่าไปแล้ว  เข้ามาร่วมธุรกรรมเกี่ยวกับกับตลาดหุ้นไทย เช่นเดียวกับการพาเหรดของธุรกิจต่างประเทศที่เกี่ยวข้องในช่วงตลาดหุ้นไทยเติบโตอย่างมาก  บทเรียน 4 ปีช่วงนี้ของก้องเกียรติ (2532-2536) นอกจากจะถือเป็นงานสนับสนุนกิจการวาณิชธนกิจระดับโลกเข้ามาดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับตลาดทุนในประเทศไทย    ที่สำคัญเป็นงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ ซึ่งถือเป็นงานที่สานสัมพันธ์กับสถาบันทั้งในและต่างประเทศ   บริษัทและบุคคลสำคัญในแวดวงตลาดหุ้นไทย ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการก้าวไปอีกขั้นหนึ่งในฐานะนักลงทุนที่มองข้ามผ่านจากตนเอง สู่ความเป็นกิจการอย่างเป็นรูปแบบ โดยผ่านกระบวนการที่เรียกว่าวาณิชธนกิจ

ก้องเกียรติ  เข้าสู่โหมดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุด     เมื่อตัดสินใจตั้งกิจการหลักทรัพย์ หรือวาณิชธนกิจของตนเอง   ด้วยการแนวคิดและกลยุทธ์ของวาณิชธนากร  ด้วยแผนการที่น่าสนใจและน่าทึ่ง  ในการแสวงหาผู้ร่วมทุน และใบอนุญาต สะท้อนความเข้าใจในเครือข่ายและสังคมธุรกิจไทย

ขั้นที่หนึ่ง-แสวงหาผู้ร่วมทุน  —ผู้ร่วมก่อตั้งสำคัญ คือ อนันต์ อัศวโภคิน แห่งแลนด์แอนด์เฮ้าส์  ในฐานะนักบริหารธุรกิจรุ่นใหม่ผู้มองธุรกิจในภาพกว้างกว่าอสังหาริมทรัพย์มากมาย กำลังอยู่ในช่วงของการก้าวไปข้างหน้าอย่างเอาจริงเอาจัง  และชาตรี โสภณพนิช   ในฐานะส่วนตัว ผู้บริหารผู้ถือหุ้นผู้ทรงอิทธิพลในธนาคารกรุงเทพฯ ธนาคารใหญ่ที่สุดในสังคมธุรกิจไทย ในฐานะที่ดำรงอยู่อย่างมั่นคงในรากฐานสังคมวงในของไทย  ไม่เพียงเท่านั้น ชาตรี โสภณพนิช คือบุคคลที่มีแวดวงอยู่ในเครือข่ายอย่างกว้างขวาง

ขั้นที่สอง–กำเนิดของกิจการที่ชื่อแอสเซทพลัส  มาพร้อมกับดีลเข้าไปฟื้นฟูกิจการหลักทรัพย์เดิมที่มีในอนุญาตครบถ้วน  เมื่อสามารถสร้างผลตอบแทนผู้ถือหุ้นเดิมเป็นที่พอใจ   จากนั้นจึงเจรจาซื้อบริษัทหลักทรัพย์ชาวไทย แล้วเปลี่ยนมาเป็น แอสเซท พลัส ด้วยวงเงิน ประมาณ 500 ล้านบาท หลายคนบอกว่า เงินจำนวนดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากการกระบวนการสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นเดิมของชาวไทย ขณะเดียวกันแอสเซท พลัสและก้องเกียรติก็ได้ผลตอบแทนอย่างดีด้วย ในภาวะตลาดหุ้นไทยบูมมากที่สุดในปี 2536

จากแผนการสู่การบริหารไปสู่ ผลสำเร็จอย่างรวดเร็วของแอสเซท พลัส มาจากดีลใหญ่ในสังคมไทย เป็นบทพิสูจน์แนวคิด และยุทธ์ศาสตร์ของก้องเกียติอย่างดี แน่นอนว่าในฐานะปัจเจก นอกกจากเขาจะเป็นผู้บริหารธุรกิจที่ชาญฉลาด สุดท้ายต้องนับว่าเป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาดด้วยเช่นกัน ทั้งแนวทางและผลตอบแทนที่มากกว่าการซื้อขายในตลาดหุ้นอย่างธรรมดาที่ผู้คนทำๆกัน

อีกช่วงหนึ่งของวงจรนักลงทุนที่ควรพิจารณาคือในช่วงตลาดทุนมีการเปลี่ยนแปลงระดับพื้นฐานหลายกประการ  หนึ่ง-ตลาดทุนไทยภายหลังวิกฤตจิการณ์ปี2540     ดัชนีบอกถึงความตกต่ำและถดถอยครั้งใหญ่ สอง-คู่แข่งทางธุรกิจหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลงไป มีผู้เล่นที่เป็นเครือข่ายต่างประเทศเข้ามาอย่างมากมาย (เรื่องนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ต่างหาก อีกตอนหนึ่งของภาคที่ว่าด้วยดัชนีที่ตลาดหุ้นไทย) ความพยายามอยู่รอดของแอสแซทพลัสในฐานะกิจการหลักทรัพย์ และก้องเกียรติ โอภาสวงการในฐานะนักบริหารและนักลงทุน จะต้องปรับตัวอย่างมากเช่นเดียวกัน

การปรับตัว กับโอกาสเป็นเรื่องเดียวกันสำหรับวาณิชธนกิจและนักลงทุน แต่เดิมเครือข่ายของรายใหญ่ของชาตรี โสภณพนิช แห่งธนาคารกรุงเทพ ถือว่าอยู่แนวทางเดียวกับแอสเซท พลัส  ว่าไปแล้ว ในอีกด่านหนึ่งของ

ชาตรี โสภณพนิช ร่วมทุนกับก้องเกียรติ  บุตรชายคนรองของเขา—ชาลี โสภณพนิช ก็เอาการเอางานในกิจการหลักทรัพย์เช่นเดียวกัน แต่ในช่วงวิกฤติการณ์ไม่สามารถรักษากิจการไว้ได้

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2517 ภายใต้ชื่อ บริษัทเอเซียค้าหุ้นจำกัด  ต่อมาในปี 2522   ชาตรี โสภณพนิชเข้ามีบทบาทสำคัญได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทหลักทรัพย์เอเซีย  ในปี2531-2ได้สิทธิผู้แทนค้าหลักทรัพย์ และเป็นหลักทรัพย์ในตลาดหุ้น    แต่ในปี 2540 เผชิญวิกฤติการณ์อย่างหนัก ต้องยอมให้  ABN AMRO BANK N.V เข้ามาถือหุ้นใหญ่และบริหารอยู่พักหนึ่ง   แต่ในปี2547  ABN AMRO มีแผนการถอนตัวออกจากเมืองไทยทั้งธนาคารและกิจการเกี่ยวข้องอื่นๆ    ชาตรี-ชาลี โสภณพนิชและ ธนาคารกรุงเทพ   ถือเป็นโอกาสจึงเข้ามาถือหุ้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ธนาคารกรุงเทพได้ผ่านพ้นวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ไปแล้ว

การเริ่มต้นแผนการใหญ่ในสถานการณ์ใหม่ในปี 2547 จึงเป็นทีมาของรวมกิจการ โดยกิจการของธนาคารกรุงเทพและโสภณพนิชได้เข้าซื้อหุ้นใหญ่บริษัทหลักทรัพย์ แอสเซท พลัส จำกัด   รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนหุ้นกัน และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด

สำหรับก้องเกียรติ โอภาสวงการแล้ว การรวมกิจการครั้งนี้ เขาได้เปลี่ยนฐานะจากผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็นผู้บริหารที่มีอำนาจเต็มที่ กลายเป็นผู้ถือหุ้นมิใช่รายใหญ่ แม้ว่ายังคงตำแหน่งบริหารอยู่ก็ตาม  ทว่ากิจการใหม่คือกิจการทีใหญ่ขึ้น มีเครือข่ายธุรกิจกว้างขวางครอบคลุมมากขึ้นทั้งเน้นด้านวาณิชธนากิจเดิม ที่สำคัญรวมทั้งกิจการผู้แทนค้าหลักทรัพย์รายใหญ่ในตลาดหุ้นไทยด้วย

ถือเป็นการตัดสินใจในมุมมองของนักลงทุนโดยแท้

 

ทั้งนี้ยังได้ขายใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งซ้ำซ้อนกันระหว่างแอสเซทพลัส และเอเชียพลัสออกไปด้วยในปีเดียวกัน โดยขายให้ธนาคารกสิกรไทยในราคาประมาณ 500 ล้านบาท ท่ามกลางกระแสของธนาคารในความพยายามมีเครือข่ายธุรกิจครบวงจรมากขึ้น นับว่าเป้นราคาที่ดี และดีลที่ดีในฐานะวาณิชธนกิจ และถือว่าได้รับผลตอบแทนที่ดีและมีโอกาสจะไดรับผลตอบแทนที่ดีกว่าเดิมด้วย

 

ไม่มีใครสงสัยว่า ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการในฐานะปัจเจก   มีฐานะร่ำรวย มีสินทรัพย์มากทีเดียว สำหรับคนๆหนึ่งในช่วง 3ทศวรรษที่ผ่านมา หรือช่วงชีวิตทำงานที่กระฉับกระเฉงที่สุดคนหนึ่ง โดยเขาไม่มีความจำเป็นต้องมีเครือข่ายธุรกิจยิ่งใหญ่ โดดเด่น จนเป็นที่อิจฉาของใครต่อใคร หรือมีลักษณะครอบงำ ท้าทายผู้ยึดครองเดิม

ภายใต้แนวคิดแห่งยุคสมัย ว่าด้วยการปรับตัว เพื่อโอกาสและความอยู่รอด  ด้วยเข้าใจบริบท รากเหง้าและอำนาจของสังคมไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างลึกซึ้ง   ก้องเกียรติ โอภาสวงการเป็นเพียงหนึ่งในหลายคนที่ซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบๆ

มติชนสุดสัปดาห์  12  สิงหาคม 2554

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: