ด้วยพยายามมองชุมพล ณ ลำเลียง ในภาพเชื่อมโยงกับ “ตัวตน”และ “สายสัมพันธ์”ของเขาเป็นการเฉพาะ หลังจากพิจารณาสถานการณ์และภาพใหญ่มามากแล้ว จากนี้ควรโฟกัสไปยังความสัมพันธ์วงกว้าง มิใช่เฉพาะเอสซีจี ทั้งระดับกิจการ และ ผู้คน
กรรมการ บริษัท โดล (ไทยแลนด์) จำกัด ตั้งแต่ปี 2538
เป็นภาพย่อยของความสัมพันธ์ของชุมพล ณ ลำเลียง กับบางระดับกับกลุ่มธุรกิจและบุคคลในตระกูลล่ำซำ ถือว่าเป็นความต่อเนื่อง จากครั้งแรกร่วมงานในฐานะผู้บริหารรุ่นบุกเบิกบริษัทเงินทุนทิสโก้ สถาบันการเงินร่วมทุนระหว่างBanker trust แห่งสหรัฐฯ และธนาคารกสิกรไทยโดยเฉพาะมีความสัมพันธ์เป็นพิเศษกับบรรยงก์ ล่ำซำ
ความจริงแล้วเอสซีจีกับธนาคารกสิกรไทยมีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นในช่วงเอสซีจีปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ตั้งแต่ปี2515 เป็นช่วงเดียวกับ ชุมพล ณ ลำเลียงเพิ่งเข้าทำงานที่เอสซีจี ไม่ว่าการเข้ามาเป็นกรรมการเอสซีจีของบัญชา ล่ำซำ ในฐานะกรรมการการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกสิกรไทยมีบทบาทสนับสนุนเอสซีจี ในโครงการร่วมทุน หรือมีส่วนเกี่ยวข้องบางกิจการ อาทิ สยามคราฟต์และเยื่อกระดาษสยาม ในช่วงนั้นธนาคารกสิกรไทย ดูเหมือนมีบทบาทมากกว่าธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างเสียด้วยซ้ำ บัญชา ล่ำซำ เป็นกรรมการเอสซีจียาวนาน แล้วต่อด้วยบรรยงก์ ล่ำซำ ขณะเดียวกันในช่วง2ทศวรรษที่แล้ว ชุมพล ณ ลำเลียง ได้เป็นกรรมการธนาคารกสิกรไทยระยะหนึ่งด้วย
จากความสัมพันธ์กับบรรยงก์ ลำซำ ชุมพล ณ ลำเลียง จึงได้เรียนรู้ธุรกิจที่กว้างขึ้น จากธุรกิจการเงิน อุตสาหกรรมการผลิต มาสู่อุตสาหกรรมการเกษตร
“เรามักจะหลอกตัวเอง จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม โดยเฉพาะการอ้างอิงความคิดชาตินิยม เช่นว่าเกษตรกรรมไทย เป็นมรดกของชาติไม่ควรให้ต่างชาติเข้ามาใช้ประโยชน์ (ผมคิดคำว่า “ใช้ประโยชน์” มีความหมายมากกว่าการถือครองที่ดินด้วย) ความจริงแล้วหลังจาก The Greater Chaophraya Project เกิดขึ้นจากคำแนะนำของฝรั่ง จากนั้นฝรั่งเข้ามีบทบาทเกษตรกรรมของไทยอย่างต่อเนือง
ผมเคยเขียนเรื่องนี้มานานแล้ว ว่าในเนื้อหา(Content) ของเกษตรกรรมไทย หากเมื่อพิจารณาต้นทุนการผลิตแล้ว สังคมไทยต้องจ่ายเงินตราต่างประเทศนำเข้าสินค้าหรือเทคโนโลยีจากต่างประเทศจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ฮอร์โมน จนกลายเป็นวิถีการเกษตรกรรมไทยไปแล้ว
สำหรับโมเดลของซีพี เป็นตัวอย่างสำคัญของการนำความรู้ฝรั่งมาใช้ในการเกษตร ให้เป็นธุรกิจระดับภูมิภาคขึ้น เป็นตัวอย่าง ว่าด้วยเกษตรกรรมไทยที่มีพลัง จนกลายความฝันของผู้กำหนดนโยบายและนักธุรกิจไทยในการสร้างอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการส่งออก ความพยายามมีมานานเช่นเดียวกัน ความเชื่อมั่นว่า ไทยเป็นสังคมเกษตร มีความรู้การเกษตรที่พร้อมจะก้าวสู่อุตสาหกรรมเกษตรสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเนื่อง ความเชื่อมั่น อุตสาหกรรมเกษตร นี่ล่ะ คือทางออกและจุดแข็งทางเศรษฐกิจของไทยเมื่อเปรียบกับสังคมธุรกิจโลกมีมานานแล้ว รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามามีส่วนในความฝันนี้มานานด้วยเช่นเดียวกัน” จากเรื่อง “ เกษตรกรรมสองกระแส ” ผมเขียนเมื่อไม่นานมานี้
โดลฟู้ดส์ (Dole Food Company) บริษัทอเมริกัน ก่อตั้งมาเมือ160 ปี ในปัจจุบันดำเนินธุรกิจด้านอุตสาหกรรมอาหารที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มียอดขายประมาณ 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ครอบคลุมทั้งด้านการจัดหาวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การจัดจำหน่าย และ การตลาดของสินค้าประเภทอาหาร โดยเฉพาะ ผลไม้สด ผักสด น้ำผลไม้ รวมไปถึงผลไม้และผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ ที่มีเครือข่ายครอบคลุมกว่า 90 ประเทศทั่วโลก
ในประเทศไทยได้ร่วมทุนกับตระกูลล่ำซ่ำ มาตั้งแต่ปี 2515 ผู้มีบทบาทสำคัญ คือ บรรยงก์ ล่ำซำ ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทยปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งประธานของบริษัทนี้มานาน Dole เริ่มต้นก่อตั้งโรงงานเพื่อผลิตสับปะรดกระป๋องส่งออก บนพื้นที่ 300 ไร่ในราชบุรี และในปี 2517 ได้ขยายพื้นที่ในการเพาะปลูกอีก 8,000ไร่ ในประจวบคีรีขันธ์ พร้อมทั้งได้ย้ายโรงงานมาด้วย ต่อมาปี 2535 ขยายฐานการผลิตไปยังท่าแซะ ชุมพรด้วย
ปี 2538 ในเวลาเดียวกับที่ชุมพล ณ ลำเลียง เป็นกรรมการโดล (ไทยแลนด์) เขาเพิ่งก้าวขึ้นเป็นผู้จัดการใหญ่เอสซีจีได้ไม่นาน และกำลังเข้าสู่ระยะของการปรับตัวอย่างรุนแรงด้วยการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ รวมทั้งการลดบทบาทในกิจการร่วมทุนกับ Kubotaแห่งญี่ปุ่นในการผลิตเครื่องจักรการเกษตรด้วย แต่จากนั้นไม่นาน เมื่อผ่านพ้นช่วงมรสุม เอสซีจียุคปัจจุบันกลับมียุทธ์ศาสตร์ใหม่ให้ความสำคัญในการลงทุนเครื่องจักรการเกษตรอีกครั้ง โดยผ่านบริษัทเอสซีจีการลงทุน
ธนาคารไทยพาณิชย์
1 กุมภาพันธ์ 2541 จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นประธานกรรมการ แทน ประจิตร ยศ สุนทร ซึ่งไปดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารเพียงตำแหน่งเดียว
30 มีนาคม 2541 ชุมพล ณ ลำเลียง เป็น กรรมการ
1เมษายน 2541 ชุมพล ณ ลำเลียง เป็น กรรมการบริหาร
14 สิงหาคม 2541 มาตรการแก้ปัญหาหาสถาบันการเงิน ประกาศใช้โดย ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ รัฐมนตรีคลัง และธนาคารไทยพาณิชย์เข้าร่วมโครงการเป็นผลให้กระทรวงการคลังกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
2 กุมภาพันธ์ 2542 ชุมพล ณ ลำเลียง เป็นประธานกรรมการบริหาร แทนประจิตร ยศสุนทร
1พฤษภาคม 2542 โอฬาร ไชยประวัติ ลาออกจากรรมการผู้จัดการใหญ่ โดยชฎา วัฒนศิริธรรมเข่าดำรงตำแหน่งแทน
10 ธันวาคม 2542 ชุมพล ณ ลำเลียง ลาออกจากกรรมการปละปรานกรรมการบริหาร โดย วิชิต สุรพงษ์ชัยเข้าดำรงตำแหน่งแทน
ปี2550 ชุมพล ณ ลำเลียง กลับมาเป็นกรรมการอีกครั้งและต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ผู้คนวงในแวดวงเอสซีจีและธนาคารไทยพาณิชย์ มักรู้ดีว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ผ่านพ้นวิกฤติการณ์ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2540 มาได้นั้นมาจากบทบาทสำคัญของ
จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา (ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ) ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ (รัฐมนตรีคลังครั้งที่สอง 2540- 2544) และชุมพล ณ ลำลียง
ชุมพล เคยยอมรับกับผม ว่าเขามองเห็นโอกาสสำคัญในการแก้ปัญหาธนาคารไทยพาณิชย์จากมาตรการ14 สิงหาคม พิจาณาจากลำดับเหตุการณ์ที่ยกขึ้นมาตอนต้นเพื่อศึกษาการปรับโครงสร้างการบริหารครั้งใหญ่ ถือเป็นการเปลี่ยนยุคผู้บริหารรุ่นเดิมทั้งหมดในช่วงสั้นๆ ช่วงที่ชุมพล เข้ามีบทบาทสำคัญในธนาคารพอดี
ในช่วงนั้นถือเป็นช่วงสั้น เสียจนไมมีใครสนใจว่ากรรมการกิจการลูกหนี้จะเข้ามาเป็นกรรมการในกิจการธนาคารเจ้าหนี้ เมื่อชุมพล ณ ลำเลียงพ้นตำแหน่งผู้จัดการใหญ่เอสซีจีแล้ว เขามาเป็นกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์อย่างเต็มที่ หากติดตามมอย่างใกล้ชิด อาจพบการเปลี่ยนแปลงธนาคารแห่งนี้ มีความเชื่อมโยงกับบทบาทชุมพลอยู่พอสมควรโดยเฉพาะการมาของรองผู้จัดการใหญ่2 คนที่ดูแลด้านกฎหมาย และงานด้านทรัพยากรบุคคล บุคคลทั้งสองมีความใกล้ชิดกับชุมพล ในฐานะที่เคยทำงานที่เอสซีจีมานับสิบปี
ที่ปรึกษาบริษัททุนลดาวัลย์ และกรรมการบริษัทสยามสินธร
ผมไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า ชุมพล ณ ลำเลียงเข้ามาเกี่ยวข้องกับบริษัททั้งสองเมือใด สำหรับบริษัททุนลดาวัลย์อาจจะเกี่ยวข้องตั้งแต้ต้น ส่วนสยามสินธรนั้น คงเป็นช่วงหลังจากสำนักงานทรัพย์สินฯเข้าถือหุ้นทั้งหมด หลังจากมีเรื่องราวที่ตื่นเต้นและเผชิญปัญหามากมาย
ทุนลดาวัลย์ ผู้คนเริ่มสนใจมากขึ้น ในฐานะกิจการลงทุนใหม่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ปรากฏรายชื่อในฐานะผู้ถือหุ้นรายเล็กในกิจการตลาดหุ้นหลายแห่ง นอกจากนี้ยังมีการลงทุนอย่างเงียบๆอีกบางกิจการ เท่าที่ทราบเป็นสร้างยุทธ์ศาสตร์ใหม่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ จากเคยเป็นกิจการที่มีผู้มาเสนอร่วมทุน หรือในฐานะดูแลกิจการสำคัญโดยเฉพาะธนาคารไทยพาณิชย์ และเอสซีจี ที่เกิดขึ้นตามกรรมต่างวาวระ มิใช่ยุทธ์ศาสตร์ร่วม จากองค์กรเก่าที่ส่วนใหญ่ทำหน้าที่บริหารจัดที่ดินแบบดั้งเดิม มาเป็นองค์กรที่แสวงโอกาสใหม่เพื่ออนาคต
เท่าที่ผมมีข้อมูลหรือตั้งใจเสนอ มี2กรณี
หนึ่ง—โครงการนำทรัพย์สินฯที่ที่ซ่อนอยู่ในกิจการหลักอื่นมาใช้ประโยชน์ จากข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยชิ้นหนึ่ง เมื่อกลางปีที่แล้ว เอสซีจีได้แจ้งว่าได้ขายหุ้นกิจการในเครือแห่งหนึ่งให้ทุนลดาวัลย์ มีผลให้ทุนลดาวัลย์เข้าถือหุ้น 25% ในบริษัทอีกแห่งหนึ่งซึ่งมีสินทรัพย์สำคัญเป็นที่ดินที่ยังไม่ได้พัฒนาประมาณหนึ่งหมื่นไร่ในนครนายก และสระบุรี โดยเอสซีจีพยายามชี้แจงว่าได้ผ่านขั้นตอนการประมูลขายหุ่นทอดตลาดที่ไม่มีผู้เสนอรายอื่น
สอง-โครงการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ในนามSiam Biosciences ซึ่งเชื่อมั่นว่าเป็นแนวทางใหม่ของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการผลิตยา หรือเวชภัณฑ์อื่น โดยมองว่าเป็นธุรกิจใหม่ในอนาคตเครือสำนักงานทรัพย์สินฯ โดยอภิพร ภาษวัธน์ อดีตผู้จัดการธุรกิจเคมีภัณฑ์เข้ามาดูแลกิจการนี้
จากนี้ไปทุนลดาวัลย์จะมีบทบาทมากขึ้น แต่คงจะหาข้อมูลไม่ง่ายนัก เนื่องจากมิใช่บริษัทมหาชนหรือจดทะเบียนในตลาดหุ้น อันจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลพอสมควร
ส่วนสยามสินธรนั้น เชื่อว่ากำลังเริ่มต้นพลิกบทบาทกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ในความพยายามในการสร้างกลุ่มธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ เป็นกลุ่มธุรกิจอีกกลุ่มหนึ่งของสำนักงานทรัพย์สินฯ อาจจะมีความพยายามสร้างกิจการให้เข้าระดมทุนตลาดหุ้นตามแผนเดิมที่หวังไว้เมื่อ สองทศวรรษที่แล้ว(อ่านเรือง “สยามสินธร ” แยกไว้ต่างหาก) ทั้งนี้คงเชื่อมั่นว่าคำแนะนำของชุมพล ณ ลำเลียง จะมีประโยชน์มากในฐานะบุคคลที่มีประสบการณ์รอบด้าน
จากกิจการสู่บุคคล
ในประสบการณ์ในการบริหารยาวนานที่เอสซีจี เขามีความสัมพันธ์กับกิจกระดับโลกหลายแห่ง สะท้อนในฐานะกรรมการกิจการขนาดใหญ่ในญี่ปุ่น(Yamato Steel) ฝรั่งเศส (Michelin) หรือแม้กระทั่งสิงคโปร์ที่ดูเหมือนไม่เคยเกี่ยวข้องโดยตรง (ผมเขียนเรื่องTemasek และSingTelมามากแล้ว) ที่สำคัญจากนั้น ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับทีมงานที่มีความสามารถจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาและเธอ พ้นจากตำแหน่งบริหารเอสซีจีแล้ว สามารถทำงานประสานกับชุมพล ณ ลำเลียงในงานใหม่ สายสัมพันธ์ใหม่ขยายวงมากขึ้น ในหลายกรณีหลายคนเป็นกรรมการทั้งในฐานะผู้มีบทบาทในยุทธ์ศาสตร์ใหม่สำนักงานทรัพย์สินฯ และที่อื่นๆ อาทิ กิจการลงทุนของ Temasek เครือข่ายกิจการของรัฐ ไม่ว่าการบินไทยหรือ อสมท. หรืออย่างที่กล่าวแล้วในธนาคารไทยพาณิชย์
ชุมพล ณ ลำเลียง ไม่มีเพียงมีประสบการณ์มาก หากมีสายสัมพันธ์ในความหมายที่กว้างขึ้นด้วย เชื่อว่าจะมีบทบาทมากขึ้น แม้ว่าอาจจะรู้เรื่องราวของเขาโดยตรงน้อยลง แต่คาดว่าเรื่องราวในเครือข่ายคงมีมากขึ้น