ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

piyasawaspเขามักจะได้รับความคาดหวังอย่างสูงเสมอ   เช่นเดียวกับครั้งนี้  สำหรับบทบาทที่ท้าทายอย่างมาก ในฐานะผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่ของบริษัทการบินไทย

ปิยสวัสดิ์  อัมระนันทน์   มีคุณสมบัติสำคัญ ที่เชื่อกันว่าสามารถทำงานใหญ่ นอกจากในฐานะผู้มีภูมิหลังที่ดีแล้วยังถึงพร้อมความรู้ และความสามารถการบริหารในเชิงยุทธ์ศาสตร์    แม้ว่านอกจากประสบการณ์ 20 ปี ในฐานะข้าราชการ ผู้มีบทบาทในการการกำหนดยุทธ์ศาสตร์ เกี่ยวกับพลังงานของไทยแล้ว   หลังจากออกจากราชการมาแล้วเกือบๆ8 ปี  เขายังไม่ได้ทำงานใหญ่ ในมิติใหม่ๆ อย่างจริงจัง

โมเดลชนชั้นนำดั้งเดิม

เขายังคงเป็นคนรุ่นปัจจุบัน ผ่านการศึกษาอย่างดี  เพียบพร้อมด้วยรากเหง้าวงศ์ตระกูล  เรื่องราวชีวิตมีตำนานอย่างมีสีสัน  ถือเป็นโมเดลคลาสสิกของชนชั้นนำดั้งเดิมของไทย

เรื่องราวบรรพบุรุษของปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ดูเหมือนด้านมารดาจะมีความสำคัญมาก  ขณะเดียวกันทางด้านบิดาก็น่าสนใจไม่น้อย

ปรก อัมระนันทน์ บิดาของเขาเป็นนักการทูตและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศในช่วงรัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ตอนต้นๆ ปรกเป็นบุตรชายของพระยาวิทุรธรรพิเนตุ (โต๊ะ อัมระนันทน์) ซึ่งมีบทบาทในยุคสงครามโลกครั้งสอง พระยาวิทุรฯ จบการศึกษาเนติบัณฑิตไทย และวิชาการด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา   เข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษา จนถึงตำแหน่งอธิบดีกรมกฤษฎีกา  หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  ลาออกจากราชการ ลงสมัครเลือกตั้ง ได้เป็น ส.ส. อุทัยธานีหลายสมัย

เรื่องราวทางด้านมารดามีสีสันและเร้าใจ โดยเฉพาะเรื่องราวความสัมพันธ์กับรัชกาลที่ 7 และกรณีเสรีไทย โดยเฉพาะกรณี ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน หรือ “ท่านชิ้น” บุตรคนที่ 9 ของกรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฎ์ ในฐานะผู้ผ่านการศึกษาทางทหารที่Woolish Military Academy โรงเรียนเดียวกับรัชกาลที่ 7 และเป็นพี่ชายพระนางเจ้ารำไพพรรณี

มารดาของปิยสวัสดิ์ เป็นลูกสาวคนแรกของท่านชิ้น –ม.ร.ว.ปิ่มสาย สวัสดิวัตน  ใช้ชีวิตที่อังกฤษนานถึง 15 ปี ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงท่านชิ้นตามเสด็จรัชกาลที่ 7 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง   เธอจบการศึกษาปริญญาตรี เกียรตินิยม สาขาประวัติศาสตร์ ที่ Oxford University เริ่มทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย   ก่อนจะออกมาสอนและเขียนหนังสืออยู่ที่บ้าน เธอถูกฆาตกรรมเสียชีวิตเมื่อปี 2520

นักเรียนนอก

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เกิดเมื่อปี 2496 เรียนหนังสือในเมืองไทยแค่ ป.7 (โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ) ก็เดินทางไปเรียนต่อที่อังกฤษ โดยอาศัยกับน้าสาวซึ่งแต่งงานกับชาว อังกฤษ (ม.ร.ว.สายสวัสดี ทอมสัน) อย่างต่อเนื่องประมาณ 12 ปี ตั้งแต่ระดับมัธยม   การศึกษาระดับมัธยมที่สหราชอาณาจักร ถือเป็นโมเดลสำคัญของชนชั้นนำ สืบทอดและพัฒนามาตั้งแต่ยุคอาณานิคม  ว่าด้วยการสร้างคนในระบบราชการไทย

เขาเป็นนักเรียนอังกฤษ เป็นโมเดลเดียวกับ อภิสิทธ์ เวชชาชีวะ และกรณ์ จาติกวนิช  เพียงแต่เป็นรุนก่อนประมาณ10 ปี (อ่านในหนังสือ หาโรงเรียนให้ลูก”)

ปิยสวัสดิ์จบการศึกษา B.A. (First Class Honours) in Mathematics, Oxford University (ทีเดียวกับมารดา อภิสิทธิ์ และกรณ์) และ M.Sc, (Distinction) in Econometrics and Mathematical Economics, London School of Economics จนถึงระดับปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน

เขาเริ่มต้นทำงานในฐานะนักเรียนนอกอีกรุ่นหนึ่งของสังคมไทย  ผ่านประสบการณ์สำคัญ  โดยเฉพาะวิกฤติการณ์เศรษฐกิจในยุคหลังสงครามเวียดนาม   ในขณะกลุ่มใหญ่ จบการศึกษาจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะ MBA

ช่วงใกล้เคียงกันนั้น บัณฑูร ล่ำซำ  จบการศึกษาจากสหรัฐฯ (MBA Harvard) มาทำงานที่ธนาคารกสิกรไทย   ประสาน ไตรรัตน์วรกุล จบการศึกษาปริญญาเอกจาก Harvard เข้าทำงานที่ธนาคารชาติ หรือช่วงเดียวกับทายาทตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ จบการศึกษาด้านวิศวกรรมจากสหรัฐ   มาสร้างอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย

เมื่อเปรียบกับรุ่นสำคัญก่อนหน้ารุ่นปิยสวัสดิ์ ประมาณ10 ปี   ส่วนใหญ่เรียนMBA   พวกเขามีบทบาทสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ  อาทิ ชุมพล   ณ ลำเลียง (ปี2512) ศิวะพร ทรรทรานนท์ (2513)    ธารินทร์   นิมมานเหมินทร์ (2513) ปรีดิยาธร เทวกุล (2513) และ เอกกมล คีรีวัฒน์ (2514)

เหตุการณ์ที่เขาคงจำได้ดี ในปี 2523  รัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ประกาศขึ้นราคาน้ำมัน 3 บาท/ลิตร ส่งผลรัฐบาลล้มครืน    ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เริ่มต้นทำงานในช่วงวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงครั้งหนึ่งที่ต่อเนื่องยาว นาน (2524-2528) อันได้รับผลกระทบมาจากวิกฤติการณ์น้ำมัน วิกฤติการณ์ตลาดหุ้นในฮ่องกง ลามมาจนถึงวิกฤติการณ์การเงินของไทย

ข้าราชการพิเศษ

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์  มีประสบการณ์พิเศษที่แตกต่างจากจินตนาการที่ว่าด้วยการทำงานราชการทั่วไป

เขาเป็นข้าราชการไทยที่ประสบความสำเร็จ  ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงด้วยวัยยังน้อยมาก ที่สำคัญกว่านั้น เขาเป็นข้าราชการเพียงไม่กี่คนที่มีบทบาทในงานนโยบายของรัฐ (Strategic Policy) โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างพลังงานครั้งใหญ่ ภายในเวลาเพียง 7-8 ปี แม้อยู่ภายใต้แรงเสียดทานที่รุนแรง

เขาเริ่มทำงานครั้งแรกที่สภาพัฒน์ฯ ปี 2523 เป็นปีเดียวกับที่ ดร.เสนาะ อูนากูล กลับเข้ามาเป็นเลขาธิการอีกครั้งในกองวางแผนส่วนรวม  ที่พิสิฎฐ ภัคเกษม เป็นผู้อำนวยการในช่วงท้ายๆ  จากนั้นไม่กี่เดือน  พิสิฎฐ ภัคเกษม ก็ขึ้นตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ

ชีวิตการทำงานที่สภาพัฒน์ฯ นับว่าโลดโผนพอสมควร ในช่วงระบบเศรษฐกิจมีปัญหามีการจัดระบบโครงสร้างเศรษฐกิจ   เรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเขาต่อเนื่องมา  คือ การศึกษาการรับโอนกิจการโรงกลั่นน้ำมันซัมมิต  ในที่สุดกลายมาเป็นบริษัทบางจากปิโตรเลียมเมื่อปี 2528

จากสถานการณ์เลวร้าย จากวิกติการณ์น้ำมัน นักวางแผนรัฐบาลเริ่มมองภาพรวมของวิกฤติการณ์และผลกระทบของพลังงาน  อันเป็นที่มาของการจัดระบบองค์กร เพื่อดูแลและบริหารนโยบายพลังงานในเวลาต่อมา

หน่วยงานดูแลนโยบายพลังงานของไทยเกิดขึ้นและพัฒนาไปในช่วงปี 2529-2543 ถือเป็นการพัฒนาการทางความคิดอย่างเป็นระบบของปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์อย่างแยกไม่ออก

เวลาในช่วงแรก (2529-2535) ถือเป็นช่วงในการสร้างระบบ และกลไกต่างๆ ของหน่วยงานใหม่ของรัฐ  — สำนักคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ก่อตั้งขึ้นปลายปี 2529 โดยเขาเป็นเลขาธิการคนแรก  ผลงานสำคัญคือ นโยบายน้ำมันลอยตัว ซึ่งถือเป็นงานชิ้นแรกๆ ระดับนโยบาย ที่สร้างผลสะเทือนระดับกว้าง ถือเป็นผลงานอ้างอิงของปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ตลอดมา

 

ว่าด้วยสายสัมพันธ์

ปิยสวัส์ดิ์ถูกมองว่าได้รับการสนับสนุนอย่างดี ตั้งแต่เริ่มการทำงานที่สภาพัฒน์โดยเสนาะ อูนากูล  สามารถทำงานว่าการด้วยยุทธ์ศาสตร์ด้านพลังงานของประเทศอย่างต่อเนื่อง  ในช่วง8  ปีของรัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์   นักวิชาการเรียกช่วงนั่นว่า”ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ” หลายคนจึงใช้ตรรกะนี้ เชื่อมโยงกับตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงาน (9 ตุลาคม พ.ศ. 2549 – 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551) ในช่วงคมช.ไปอย่างช่วยไม่ได้

อีกช่วงหนึ่ง  เขาพยายามจะก้าวพ้นงานเดิมสู่งานท้าท้ายใหม่ในช่วงพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล    ขณะนั้น(ปี2543)สาวิตต์ โพธิวิหค อดีตเพื่อนร่วมงานที่สภาพัฒน์ฯ เป็นรัฐมนตรีสำนักนายกฯ ดูแลกรมประชาสมพันธ์ ได้ย้ายเขามาเป็นอธิบดี

ในเวลานั้นกรมประชาสัมพันธ์กำลังเผชิญกับสถานการณ์ใหม่  ไม่ว่าจะเป็นกฎ กติกาใหม่ไปจนถึงสถานการณ์ของความผันแปรของสื่อทั้งในระดับโลกและเมืองไทย   ปิยสวัสดิ์   ได้รับการคาดหมายว่าจะทำงานปรับโครงสร้างกรมทีดูอนุรักษ์นิยมนี้   แต่น่าเสียดายเขาไม่ได้ทำงานในเวลาที่นานเพียงพอ

ในช่วงรัฐบาลทักษิณ  ชินวัตร เป็นช่วงที่อึดอัดอย่างมาก  เขาใช้เวลาในกรมประชาสัมพันธ์ไปเพียง 6เดือน (1 ต.ค.2543-17 เม.ย.2544) ก็ถูกย้ายมาทำงานเดิม หลังจากนั้นถูกย้ายไปที่ สำนักงานนายก ก่อนที่ถูกย้ายอีกครั้งไปสภาพัฒน์ ในที่สุดเขาจึงตัดสินใจลาออก (2 ม.ค.2546)

แน่นอน ภาพความสัมพันธ์ข้างต้น ย่อมเชื่อมโยงมาถึงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย ที่เขาจะเริ่มต้นในเต้นเดือนพฤศจิกายนนี้

บริษัทการบินไทย กำลังเผชิญวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ จากวิกฤติการณ์ของโลก  ไม่เพียงวิกฤติการณ์น้ำมัน  เท่านั้น การบินไทยขาดทุนครั้งใหญ่ ว่าตามทฤษฎีการบริหารธุรกิจสมัยใหม่แล้ว การบินไทยต้องการ”ผ่าตัด” ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่     การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารในขณะนี้ถือเป็นจังหวะที่เหมาะ การบินไทยต้องการคนมีประสบการณ์ในการทำงานที่ท้าท้าย

อีกด้านหนึ่งแม้ว่าการบินไทยจะเป็นบริษัทมหาชน และจดทะเบียนในตลาดหุ้นแต่ผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นกระทรวงการคลัง ซึ่งมีกรณ์ จาติกวนิช   เป็นรัฐมนตรี   ความคาดหวังครั้งอีกครั้งจึงเกิดขึ้น   ดูเหมือนสอดคล้องกับความคาดหวังเมื่อ10 ปีที่แล้วที่กรมประชาสัมพันธ์

ความท้าทายใหม่

แต่การบินไทย แตกต่างจากกรมประชาสัมพันธ์อย่างมาก

แม้ถือหุ้นโดยรัฐบาล แต่ต้องยอมรับว่าบริษัทการบินไทยเป็นธุรกิจ อยู่ท่ามกลางการแข่งขันที่ดูเดือดในระดับโลก  เป็นกิจการที่ควรมีมาตรฐานระดับโลก แต่ขณะเดียวกันเป็นกิจการที่สะท้อนภาพความเป็นไปของศูนย์กลางอำนาจในสังคมไทย

คุณสมบัติทั่วไปในฐานะที่อยู่ศูนย์กลางผู้มีอิทธิพลดั้งเดิมของสังคม  ในฐานะผู้มีประสบการณ์ในการบริหารชิงยทุธศาสตร์ในระบบราชมาถึง20  ปี บวกกับประสบการณ์ในตำแหน่งประธานบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย 3ปี

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กับการบินไทย  ควรเป็นเรื่องที่ลงตัว และน่าติดตามอย่างยิ่ง

ตีพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25กันยายน -1  ตุลาคม2552

RELATED STORIES

50ปีการบินไทย

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ Technocrat-Strategist

Thai elite model

นักเรียน สหราชอาณาจักร

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: