ข้อเขียนชิ้นนี้ เป็นความพยายามอีกครั้ง ศึกษาบทเรียนอย่างจริงจังจากเฉลียว อยู่วิทยา ควรเป็นบทเรียนที่ควรจับต้อง มากกว่าคำยกย่องแบบนามธรรม ในวาระสุดท้ายของชีวิตสุดท้ายของคนๆหนึ่ง
แม้ว่าผมค้อนข้างเชื่อในบทสนทนาทำนองว่า “เฉลียว อยู่วิทยา เป็นคนเรียบง่าย เป็นคนสู้ชีวิต และเป็นคนรักษาคำพูด” แต่ก็คิดว่าคงไม่พียงพออรรถาธิบายบทเรียนที่มีค่าของนักธุรกิจไทยระดับโลก ผู้ได้รับการยอมรับว่าประสบความสำเร็จและมีทรัพย์สินรวมกันทั่วโลกนับแสนล้านบาท
เป็นที่ทราบกันว่า ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา Forbes (นิตยสารธุรกิจของอเมริกาที่มีเวอร์ชั่นเอเชียด้วย) บรรจุชื่อเฉลียว อยู่วิทยา เข้าอยู่ในกลุ่มผู้ร่ำรวยระดับพันล้านเหรียญสหรัฐ (World’s Billionaires) จากแรกๆที่ผู้คนในสังคมไทยอาจตั้งข้อสงสัย จนในที่สุดยอมรับได้ ถือเป็นจุดตั้งต้นของความเชื่อโดยมีความสัมพันธ์กับความสำเร็จของสินค้าเครื่องดื่มชูกำลัง—Red Bull ในตลาดโลก
“Red Bull GmbH ตั้งขึ้นในออสเตรีย ในปี 2527 ถือหุ้นรวมกับระหว่างเขากับ Dietrich Mateschitz ในสัดส่วนที่เท่าๆกัน 49%โดยมีเฉลิม บุตรคนโตของเฉลียว ถือหุ้นส่วนที่เหลือ ทั้งนี้ Dietrich Mateschitz เป็นผู้บริหารกิจการ
Dietrich Mateschitz ใช้เวลาเรียนรู้ในการนำสินค้าจากตะวันออกสู่ตลาดยุโรปเริ่มจากประเทศของตนเองเป็นเวลาประมาณ 5ปี ก็สามารถยึดตลาดออสเตรียได้ จากนั่น คือการเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรกในปี2535 ความสำเร็จครั้งสำคัญคือการเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ โดยผ่านทางมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ในปี 2545ได้ตั้งสำนักงานใหญ่สำหรับภูมิภาคขึ้นที่ดูไบ ถือว่าในตอนนั้นสังคมธุรกิจระดับโลกยอมรับสินค้าใหม่แล้ว” ผมเคยเขียนเรื่องนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว เมื่อกว่าหนึ่งปีมาแล้ว( ARCHIVE–เฉลียว Red Bull)
เป็นที่แน่นอนว่า การประเมินความมั่งคั่งของเฉลียว อยู่วิทยา ล้วนมาจากพื้นฐานจากข้อมูลของ Red Bull GmbH (อ้างจาก Forbes ) ทั้งนี้ผมเองเคยตั้งข้อสังเกตว่าเนื่องจาก Red Bull GmbH เปิดเผยข้อมูลมากกว่ากิจการของเขาในประเทศไทย ตามวัตรปฏิบัติของกิจการนอกตลาดหุ้น นอกจาก“บริษัทฯ ผู้ผลิตเครื่องดื่มกระทิงแดง เครื่องดื่มซูเปอร์ลูกทุ่ง, เครื่องดื่มสปอนเซอร์, เครื่องดื่มกระทิงแดงโคลา กาแฟพร้อมดื่มกระทิงแดง ชาขาวเพียวริคุเมล็ดทานตะวันซันสแนค เครื่องดื่ม redbull extra และเครื่องดื่ม Ready เป็นต้น บริษัท มุ่งมั่นสู่ความเป็นองค์กร Employer of Choice ที่สร้างสรรค์ความสุขในการทำงาน เพื่อไปสู่ “เป้าหมายที่มีไว้พุ่งชน” เพื่อให้ได้ชื่อว่า บริษัทคนไทย ที่มียอดขายอันดับ 1 ของโลก…”ข้อมูลที่พอหาได้บ้าง จากโฆษณารับสมัครงาน รู้กันว่ากลุ่มโรงงานส่วนใหญ่อยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี
“Red Bull เป็นสินค้าอันดับหนึ่งของตลาดสินค้าเครื่องดื่มชูกำลังครอบคลุมตลาดถึง160 ประเทศ ในปี2011 Red Bull มียอดขาย 4.6 พันล้าน กระป๋อง และบริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.785 พันล้านยูโร เป็น 4.253พันล้านยูโรเพิ่มขึ้นจากปีก่อน11.4%”รายงานที่ชัดเจนล่าสุดของRed Bull GmbH(www.redbull.com) ซึ่งเชื่อแน่ได้ว่า เป็นกิจการที่สร้างรายได้มากกว่ากิจการของเฉลียวในเมืองไทยมากมายนัก แม้กระทั่งเปรียบเทียบกับกิจการเปิดเผยข้อมูลอย่างบริษัทไทยเบฟเวอเรจของทีซีซี ซึ่งถือเป็นเจ้าของธุรกิจเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีกิจการและสินค้ามากมายหลายแบรนด์ ยังมียอดขายน้อยกว่า Red Bull เพียงสินค้าแบรนด์เดียว
ขณะที่แบรนด์กระทิงแดงในเมืองไทยกล่าวถึงเฉลียว อยู่วิทยา ในฐานะผู้ก่อตั้งและการบุกเบิก สินค้าเครื่องดื่มชูกำลังด้วยการกล่าวอย่างคลุมโดยใช้คำว่า “กระทิงแดง หรือ Red Bull” (http://www.kratingdaeng.com) ทั้งนี้ดูเหมือนมีความพยายามนำแบรนด์กระทิงแดง (Kratingdaeng) สู่ตลาดต่างประเทศด้วย ขณะที่ http://www.redbull.com กล่าวอย่างไม่เคอะเขินว่า “In 1984, Mateschitz founded Red Bull. He fine-tuned the product, developed a unique marketing concept and started selling Red Bull Energy Drink on the Austrian market in 1987. This was not only the launch of a completely new product, in fact it was the birth of a totally new product category… (ในปี 1984 Mateschitz ก่อตั้ง Red Bull เขาปรับแต่งผลิตภัณฑ์ พัฒนาแนวคิดการตลาดและเริ่มขาย Red Bull ในตลาดออสเตรียในปี 1987 ไม่เพียง เป็นการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างสมบูรณ์ ในความเป็นจริงได้เกิดประเภทของผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วย—สำนวนแปลของผมเอง)
นี่คือความเคลื่อนไหวในภาพรวม ที่ดูแล้ว Red Bull ในตลาดโลกดำเนินไปอย่างคึกคัก มีข้อมูล และได้รับความสนใจเสมอ ส่วนในเมืองไทย ไม่เพียงไม่มีข้อมูลเปิดมากนัก ตามสไตล์ธุรกิจครอบครัว ยังรวมถึงไม่พยายามอรรถาธิบายเรื่องราวRed Bull ในตลาดโลกอย่างจริงจัง ด้วยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อมโยงระหว่าง Red Bull กับบทบาทสำคัญของเฉลียว อยู่วิทยา
แม้ว่าผมเองเคยเขียนเรื่องราว Red Bull กับเฉลียว อยู่วิทยาไว้ ในทำนองว่าอาจเป็นความบังเอิญ แต่ไม่ได้ถือว่าเป็นการประเมินบทบาทเฉลียว อยู่วิทยา ในกรณีนี้อย่างจริงจังเช่นครั้งนี้
บทเรียนสำคัญจากเฉลียว อยู่วิทยา ที่ผมยกมาจากนี้ สมควรรับฟังควบคู่กับถกเถียงกันต่อไป
มุมมองระดับโลก–เฉลียว อยู่วิทยา ไม่เพียงเป็นผู้ชีวิตสมถะ เรียบง่าย หากมีความมุ่งมั่นในการสร้างสินค้าให้มีคุณภาพระดับโลก สามารถอ้างอิงกับประสบการณ์ในฐานะพนักงานขายและตัวแทนสินค้าแบรนด์ระดับโลกในประเทศไทยมาแล้ว จึงถือว่าเขามีสายสัมพันธ์กับตลาดโลก กรณี Mateschitz นี่ถือเป็นภาพที่ต่อเนื่อง
พันธมิตรที่ดี—เฉลียว อยู่วิทยา มีพันธมิตรที่ดี เมื่อมองจากจุดเริ่มต้นจากผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ พันธมิตรที่ดีไม่เพียงพบบุคคลที่สามารถทำงานร่วมกันอย่างดีเท่านั้น หากสร้างระบบที่ดี นั่นคือการตั้งกิจการ Red Bull GmbH ที่ออสเตรีย โดยมีโครงสร้างผู้ถือหุ้นอย่างชัดเจน แม้ว่า Mateschitz จะมีบทบาทอย่างมากในการบริหารงาน แต่ในที่สุดอำนาจของการครอบครองหุ้นควรถือเป็นเรื่องใหญ่ ในขณะเดียวกันการสร้างโมเดลพันธมิตรที่ดี ประเมินคุณค่าหุ้นส่วนอย่างเหมาะสม เป็นแรงกระตุ้นให้หุ้นส่วนทำงานอย่างเต็มที่
มีบางเรื่องที่ได้รับฟังมาในทำนองเดียวกัน แต่บทสรุปอาจแตกต่างกัน เครื่องดื่ม Vitamilk ธุรกิจเก่าแก่ของตระกูลโสภณพนิช กำลังจะเป็นสินค้าเก่า ต้องกับกระแสโลกใหม่ ว่ากันว่ากำลังขยายตัวอย่างดีในตลาดอาฟริกา แต่อยู่ภายใต้โครงการผู้แทนจำหน่ายแบบดั้งเดิม จึงประเมินกันว่าโอกาสประสบความสำเร็จในตลาดโลกค่อนข้างจำกัด
บทเรียนที่มีค่า คือบทเรียนที่สามรถจับต้องได้ ไม่เพียงเพื่อสังคมธุรกิจไทย ว่าด้วยโอกาสและแรงบันดาลใจ ควรรวมถึงบรรดาทายาทของเฉลียว อยู่วิทยาเอง ผู้จะรับช่วงต่อจากนี้ไปด้วย
ปีล่าสุด Forbes ประเมินความมั่งคั่งของเฉลียว อยู่วิทยา อยู่ในระดับเดิมเท่ากับปีที่แล้ว– 5พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ Mateschitz เพิ่มเป็น 5.3พันล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นครั้งแรกทีทั้งสองคนมีอันดับและความมั่งคั่งที่แตกต่างกัน ข้อมูลของ Forbes เกี่ยวกับ Mateschitz มีมากพอสมควร ว่าด้วยการขยายธุรกิจใหม่ของตนเองในระดับโลก เช่น นิตยสารSeitenblicke Servus TV รีสอร์ตหรูในฟิจิ และHangar-7 ศูนย์การจัดแสดงที่น่าสนใจมีทั้งพิพิธภัณฑ์เครื่องบินเก่า และ ภัตตาคารอยู่ที่เมืองSalzburg ประเทศออสเตรีย
บทเรียนการขยายอาณาจักรธุรกิจส่วนตัวของ Mateschitz จากความสำเร็จของ Red Bull ไม่เป็นเพียงบทเรียนของสังคมธุรกิจไทย หากเป็นบทเรียนเฉพาะของทายาทเฉลียว อยู่วิทยาด้วย ซึ่งเชื่อว่าพวกเขาและเธอต้องเริ่มต้นร่วมกันอย่างเป็นปีกแผ่น และไม่หยุดมองความสำเร็จของ Red Bull ไว้เฉพาะที่บิดาสร้างไว้เท่านั้น
ประชาชาติธุรกิจ 2 เมษายน 2555