กลุ่มธนชาตมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจมากกว่าเครือข่ายบริการการเงินครบวงจร มาจากภาพเชื่อมโยงกับกิจการสำคัญบางแห่งในตลาดหุ้นไทย เป็นเชื่อมโยงกับธุรกิจที่ผู้คนรู้จักอย่างดีแบบแยกส่วน แม้ภาพรวมดูเหมือนตั้งใจไม่แสดงให้ชัดเจน แต่ก็ถือว่าเป็นเครือข่ายธุรกิจใหญ่ได้
พิจารณาความสัมพันธ์จากโครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คณะกรรมการและผู้บริหาร ปรากฏว่าทั้งสามบริษัทมีความเกี่ยวข้องในฐานะกลุ่มธุรกิจทีความสัมพันธ์ที่ถือเป้นกลุ่มธุรกิจเดียวกันได้
“บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) TCAP Holding company โดยเป็นบริษัทแม่ของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนชาตที่ประกอบธุรกิจทางการเงินครบวงจร ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม 1) กลุ่มธุรกิจการเงิน ประกอบด้วย ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจประกัน ธุรกิจลีสซิ่ง และ 2) ธุรกิจสนับสนุน ประกอบด้วย ธุรกิจโบรกเกอร์ ธุรกิจบริการ ธุรกิจกฎหมายและประเมินราคา ธุรกิจการพัฒนาฝึกอบรม
บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) MBK ลักษณะธุรกิจบริหารศูนย์การค้า โรงแรมและการท่องเที่ยว สนามกอล์ฟ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจการเงินด้านลีสซิ่งและเช่าซื้อ และธุรกิจผลิตและจำหน่ายข้าว โดยบริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน) (PRG)
บริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน) PRGลักษณะธุรกิจผลิตและจำหน่ายข้าวสารภายในประเทศและส่งออก ภายใต้เครื่องหมายการค้า ข้าวมาบุญครอง รวมทั้งผลิตภัณฑ์พลอยได้จากการสีข้าว แป้งข้าวเจ้าและแป้งข้าวเหนียว”ข้อมูลจากข้อสนเทศ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ตามโครงสร้างผู้ถือหุ้น มีความตั้งใจให้กลุ่มธนชาตและกลุ่มเอ็มบีเค แยกออกจากกัน โดยกลุ่มธนชาตเข้ามาถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมในเอ็มบีเคไม่มาก(บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) 10% และกิจการในเครือ–ธนชาตประกันชีวิต และหลักทรัพย์ ธนชาต รวมกันอีก8%) ขณะที่เอ็มบีเคไม่ปรากฏหลักฐานกลับเข้ามาถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญในทุนธนชาต
หากพิเคราะห์รายชื่อคณะกรรมการและผู้บริหาร กลับมาปรากฏมีบุคคลที่มีชื่อในทั้งสองบริษัทซ้อนกัน แม้เป็นเพียงสองคน แต่ถือเป็นบุคคลสำคัญ นั่นคือ บันเทิง ตันติวิท และศุภเดช พูนพิพัฒน์ ในฐานะประธานกรรมการ และรองประธานกรรมการ กรณีนี้ตีความได้อย่างหนึ่งว่า โครงสร้างผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยในเงินทุนธนชาต มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับกลุ่มเอ็มบีเค
ว่าไปแล้วเป็นมรดกจากพัฒนาการทางธุรกิจของกลุ่มธนชาติเดิม ที่มีบันเทิง ตันติวิท เป็นผู้มีบทบาทสำคัญ อย่างที่กล่าวไว้ในตอนที่แล้วนั่นเอง
เรื่องราวของธนาคารธนชาตได้อรรถาธิบายมาพอสมควรแล้ว แม้ว่ากลุ่มเอ็มบีเค ซึ่งยอดขายรวมกันกับบริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี ยังไม่ถึงหนึ่งหมื่นล่านบาท แต่ก็คือว่าเป็นธุรกิจที่มีเครือข่ายใหญ่ สะท้อนเรื่องราวที่น่าสนใจ สะท้อนความสัมพันธ์และความเป็นไปของสังคมธุรกิจไทย จำเป็นต้องมองผ่านปรากฏการณ์ผิวน้ำลงลึกให้มากขึ้น
ดูจากโครงสร้างธุรกิจที่ทางเอ็มบีเคตั้งใจนำเสนอ(ผ่าน http://mbk-th.listedcompany.com ) นอกเหนือจากที่กล่าวมาบ้างแล้ว ที่สำคัญประกอบด้วย ธุรกิจศูนย์การค้า–จากศูนย์การค้ามาบุญครองแล้ว มีศูนย์การค้ำสำคัญในกรุงเทพฯ อีกบางแห่ง– พาราไดซ์ พาร์ค เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจท่องเที่ยว –โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส( อาจถือเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์การค้ามาบุญครองด้วยก็ได้) เชอราตัน กระบี่ บีช รี สอร์ท ทินิดี ระนองและภูเก็ต ลยานะ รีสอร์ท แอนด์ สปา(กระบี่) ธุรกิจกอล์ฟ—มีสนามกอล์ฟในเครือข่ายหลายแห่งโดยเชื่อว่าน้อยคนจะรู้– สนามกอล์ฟ ริเวอร์เดล กอล์ฟ(ปทุมธานี) คอร์ส ล็อค ปาล์ม กอล์ฟ คอร์ส(กระบี่) และ เรด เมาเทิน กอล์ฟ คอร์ส(ภูเก็ต)
เอ็มบีเค มาจาก มาบุญครอง
การเริ่มต้นของกลุ่มนี้มาจากกรณี “มาบุญครอง” ถือเป็นยุทธ์ศาสตร์ก้าวกระโดดทางธุรกิจครั้งใหญ่ของบันเทิง ตันติวิท และธนชาติ ด้วยความจำเป็นเมื่อ2ทศวรรษที่แล้ว ด้วยการตั้งบริษัทขึ้นมารับซื้อหุ้นของกลุ่มมาบุญครองที่มีการขายทอดตลาด เป็นจุดจบของกรณีปัญหาหนี้สินก้อนใหญ่ในระบบธนาคารพาณิชย์ โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่
การซื้อหุ้นจากธนาคารเจ้าหนี้ ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่มีส่วนลด ไม่เพียงจากธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับธนชาติเท่านั้น หากรวมไปถึงธนาคารต่างชาติที่เป็นเจ้าหนี้ด้วย หนึ่งในนั้นก็คือ Scotia bank แห่งแคนาดา ซึ่งต่อมากลายเป็นพันธมิตรสำคัญของธนาคารธนชาตในเวลานี้
ปัจจุบันยังถือว่ากิจการหลักในนาม เอ็มบีเค เป็นชื่อที่สะท้อนที่มาที่เต็มไปด้วยเรื่องราว ที่มีสีสันแต่ซับซ้อน
“MBK Center-ศูนย์การค้าครบวงจร ดำเนินธุรกิจให้เช่าพื้นที่สำหรับธุรกิจค้าปลีกบนพื้นที่ 140,000 ตร.ม. ปัจจุบันทางกลุ่มเอ็มบีเคอ้างว่า มีลูกค้าทั้งชาวไทย และต่างชาติ เข้ามาใช้บริการกว่า 100,000 คนต่อวัน และบริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี ผู้ดำเนินการผลิต และจำหน่ายข้าวสารทั้งภายในประเทศและส่งออกเจ้าของแบรนด์เนมสินค้าข้าวรายแรกๆของเมืองไทย ข้าวมาบุญครอง”เรียบเรียงจากข้อมูลพื้นฐานของเอ็มบีเค ซึ่งไม่สะท้อนลักษณะธุรกิจที่มีบุคลิกเฉพาะและโฟกัส หากมีลักษณะเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์ ว่ากันว่าเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสำคัญของระบบไทยธนาคารก่อนหน้านี้
พันธมิตรทีดี
อีกกรณีหนึ่งที่ควรกล่าวถึงเป็นพิเศษ คือการเข้าซื้อกิจการศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์
เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว (กันยายน 2551) ผลจากการแข่งขันธุรกิจศูนย์การค้าอย่างรุนแรงในด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ บวกกับความผันแปร จากแรงสั่นสะเทือนต่อเนื่องมาจากวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ก่อนหน้านั้น ศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์เกิดขึ้นมาแล้วประมาณ20 ปี จากการลงทุนของเครือข่ายตระกูลธุรกิจเก่าแก่ของไทย–กลุ่มพรีเมียร์ อีกสายหนึ่งของตระกูลโอสถานุเคราะห์ เมื่อผ่านวิกฤติการณ์ ธุรกิจการเงินของกลุ่มพรีเมียร์ต้องมีอันเป็นได้ด้วย
การเข้าซื้อกิจการศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์ของเอ็มบีเค มีความหมายสำคัญถึงความสัมพันธ์กับพันธมิตรที่ดีด้วยเป็นการลงทุนร่วมกับบริษัท สยามพิวรรธน์ ในสัดส่วน 50/50 ด้วยเงินประมาณหนึ่งพันล้านบาท ปัจจุบันศูนย์การค่าเสรีเซ็นเตอร์เปลี่ยนชื่อเป็นพาราไดส์ปาร์ค โดย“ทุ่มงบกว่า 2 พันล้านบาท เนรมิตโฉมใหม่ทั้งอาคารภายนอกและภายใน ภายใต้คอนเซ็ปต์ The Oasis of Srinakarin” ขณะเดียวกัน เอ็มบีเคก็เข้าไปมีหุ้นบริษัทสยามพิวรรร์ด้วย แม้ว่าจะเป็นจำนวนประมาณ 30% ก็ไม่ใช่เรื่องเล็กๆเลย
บริษัท สยามพิวรรธน์ เดิมชื่อบริษัทบางกอกอินเตอร์คอนติเนนตัลโฮเต็ลส (Bangkok InterContinental Hotels Company Limited หรือ BIHC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี2502 เพื่อดำเนินการบริหารและพัฒนาที่ดินจำนวน50 ไร่บริเวณวังสระปทุม อันเป็นที่ดินส่วนพระองค์ฯ โดยสัญญาการเช่าครั้งแรก มีอายุการเช่าเป็นเวลา 30 ปี และได้ครบกำหนดไปแล้วเมื่อปี2538 และขยายอายุสัญญาต่อไปอีก 10 ปี จากนั้นมีการปรับปรุงสัญญาใหม่ ถือเป็นช่วงสำคัญของการเปิดโครงการขนาดใหญ่อย่างไม่เคยทำมาก่อน
โครงสร้างผู้ถือหุ้นก่อนหน้านั้น ส่วนใหญ่ เป็นสถาบัน อันได้แก่ กระทรวงการคลัง, สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารกสิกรไทย, บริษัท อินเตอร์ คอนติเนนตัล โฮเต็ลส คอร์ปอเรชั่น, และบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่
สิ่งก่อสร้างแรกบนที่ดินผืนนี้คือ โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล โรงแรมระดับ 5 ดาว ขนาด 400 ห้อง ซึ่งบริหารโดยบริษัท อินเตอร์ คอนติเนนตัล โฮเต็ลส คอร์ปอเรชั่น ตั้งแต่ปี2509โรงแรมแห่งนี้มีความเป็นมาที่น่าสนใจ จาก Pan American Airline สายการบินระดับโลกของอเมริกา ซึ่งเป็นเจ้าของอินเตอร์ คอนติเนนตัล โฮเต็ลส มีความสนใจสร้างโรงแรมระดับ 5 ดาวให้มีเครือข่ายรอบโลก
การพัฒนาที่ดินแปลงที่ดีที่สุดแปลงหนึ่งใจกลางกรุงเทพฯดำเนินมาตลอด จากโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล, สยามเซ็นเตอร์, สยามดิสคัฟเวอร์เซ็นเตอร์, สยามทาวเวอร์ สองโครงการหลังเกิดขึ้นในช่วง 20 ปีหลัง ก่อนจะเกิดโครงการขนาดใหญ่
“ศูนย์การค้าสยามพาราก่อนเปิดให้บริการครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2548 ทั้งนี้ “สยามพารากอน” เกิดจากการ ร่วมทุนของสองบริษัทผู้พัฒนาและบริหารโครงการธุรกิจศูนย์การค้า และห้างสรรพสินค้า ได้แก่ “บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด” และ “บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด” และมาตรฐานสูงสมศักดิ์ศรีของที่ดินอันเป็นส่วนหนึ่งของ “วังสระปทุม” มุ่งหมายให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวิถีชีวิตของคนไทย ช่วยยกระดับกรุงเทพมหานครให้เป็น “World-class Shopping Destination” อันมีส่วนช่วยสร้างเสริมเศรษฐกิจของชาติ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน” (อ้างจากhttp://www.siamparagon.co.th/v9/aboutus.php )
เชื่อกันว่าระหว่างการดำเดินโครงการใหญ่—สยามพารากอน นอกจากจะเปลี่ยนชื่อบริษัทจากเดิมเป็นสยามพิวรรธน์แล้ว โครงสรhางผู้ถือหุ้นก็มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยเฉพาะไม่ปรากฏชื่อกระทรวงการคลัง บริษัท อินเตอร์ คอนติเนนตัล โฮเต็ลส คอร์ปอเรชั่น และสำนักงานทรัพย์สินฯ แต่มีเอกชนรายใหม่ๆเข้ามาแทน ที่น่าสนใจ คือตระกูลศรีวิกรม์ ผู้บริหารศูนย์การค้าเกษรพลาซ่า อยู่บริเวณแยกราชประสงค์ และบริษัทเอ็ม บี เค แห่งศูนย์การค้ามาบุญครองซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน เท่าที่ทราบปัจจุบัน ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ อดีตรัฐมนตรีคลัง ปัจจุบันเป็นกรรมการเอสซีจีและรองประธานมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทสยามพิวรรธน์ โดยมีดร.พนัส สิมะเสถียร อดีตรัฐมนตรีคลังและกรรมการเอสซีจีอีกคนเป็นรองประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการบริหาร
สำหรับเอ็มบีเค ถือว่าสำคัญไม่น้อย ในความสามารถเข้าไปถือหุ้นประมาณ 30%ในบริษัท สยามพิวรรธน์ ถือเป็นผู้ถือหุ้นรายใหม่ ในโครงสร้างเก่าที่ดูเคร่งขรึม ในนามนิติบุคคลรายใหญ่ที่สุด ภายใต้โครงการผู้ถือหุ้นในนามบุคคลธรรมดา ที่กระจัดกระจายพอสมควร
คงไม่มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นได้ โดยปราศจากรากฐานเก่า