กลุ่มธนชาต(1)

หลังจากผนึกพลังกับธนาคารต่างชาติ  และสามารถเข้าครอบงำธนาคารนครหลวงไทยสำเร็จ  จุดเพ่งมองมายังเครือข่ายธนาคารใหญ่ใหม่—ธนาคารธนชาต จึงเข้มข้นมากขึ้น ทั้งเชื่อมโยงไปถึงโฉมหน้าใหม่ของกลุ่มธุรกิจใหญ่ แม้ภาพภายนอก ยังไม่ชัดเจน แต่ที่สำคัญ มีความสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออก กับนักธุรกิจผู้มีบุคลิกเก็บตัวมาตลอด 4 ทศวรรษ

 

บันเทิง ตันติวิท คือบุคคลสำคัญที่มีเรื่องราวสัมพันธ์กับบริบทหลายช่วงหลายตอนของสังคมธุรกิจไทย  แต่ผู้คนรู้เรื่องราวของเขาค่อนข้างน้อย

จากยุคเหมืองแร่

 

ตระกูลตันติวิท ว่ากันว่าเป็น1ใน10ตระกูลธุรกิจเก่าแก่ของภูเก็ต เติบโตมาตั้งแต่ยุคเหมืองแร่ ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการแผ่อิทธิพลทางเศรษฐกิจในยุคอาณานิคม ตั้งแต้ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เข้าครอบงำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ โดยผนวกภาคใต้ของไทย (มีภูเก็ตเป็นศูนย์กลาง) เข้ากับแหลมมาลายู (มีปีนังเป็นศูนย์กลาง)

“ในบรรดาเศรษฐีภูเก็ตประมาณ 10 ตระกูลที่คุม “ชีพจร” เมืองภูเก็ตทั้งเกาะนั้น ได้เดินทางออกเป็น 2 สาย หนึ่ง-เกิดที่ภูเก็ต รวยที่ภูเก็ต และดำเนินธุรกิจปักหลักปักฐานที่ภูเก็ต หรือจังหวัดใกล้เคียงตลอดไป สอง-ทำตัวเป็น “พวกอพยพ” ไม่จบสิ้น ขยายอาณาจักรออกไปทั่วประเทศ ค่างประเทศ จนได้ชื่อว่าเป็นนักลงทุนระดับอินเตอร์ฯ ไปแล้ว สายแรกได้แก่ หงษ์หยก เอกวานิช ณ ระนอง ถาวรว่องวงศ์ ตันติวิท ซิ่นฮ่องซุ่ย (อุปติศฤงค์) สายที่สอง–บุญสูง งานทวี ยงสกุล วานิช”บางตอนของงานเขียนเก่าของผมเมื่อปี 2529 (จากการเดินทางไปอยู่ภูเก็ตหลายวันเพื่อศึกษาและเขียนถึงกรณีอื้อฉาว—ไทยแลนด์แทนทาลัม  เมื่อกว่า 2ทศวรรษที่แล้ว)พยายามอรรถาธิบายการปรับตัวของกลุ่มธุรกิจดั้งเดิม กับบทบาทใหม่ของเมืองท่องเที่ยวระดับโลก

“ตันติวิท ตระกูลเก่าอีกตระกูลหนึ่ง ปัจจุบันผ่านมาแล้ว 3 GENERATION บันลือ ตันติวิท ดูจะเป็นนักธุรกิจที่โดดเด่นที่สุดในภูเก็ตคนหนึ่ง เขาเริ่มจากเหมืองแร่ จนถึงปัจจุบันกำลังหันเหไปสู่ธุรกิจท่องเที่ยว โดยร่วมทุนกับญาติที่ปีนัง (เศรษฐีภูเก็ตมีญาติที่ปีนังเกือบทุกคน) สร้างรีสอร์ตที่หาดป่าตอง นอกจากที่ภูเก็ตแล้วตันติวิทยังมีกิจการเหมืองแร่ที่ระนองอีก   บันลือยังมีน้องชายชื่อบันเทิง ตันติวิท ซึ่งเก่งเรื่องการเงินมาก ปัจจุบันเป็นผู้บริหารไฟแนนซ์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ”ข้อเขียนชิ้นเดียวกันในตอนนั้นว่าไว้

อิทธิพลสหรัฐฯและสังคมการเงิน

อาจจะเป็นเพราะธุรกิจเหมืองแร่อยู่ในช่วงตะวันตกดิน และเขาเป็นบุตรชายคนสุดท้องของธุรกิจครอบครัว   จ้ะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม บันเทิง ตันติวิท ได้สร้างเส้นทางที่แตกต่างจากฐานธุรกิจของครอบครัว  แต่อย่างไรก็ตามวิญญาณของนักเสี่ยงโชคซึ่งซ่อนตัวอยู่ในความเป็นผู้ประกอบการ( Entrepreneurship) ของเขายังเต็มเปี่ยมเช่นเดียวกับบรรพบุรุษ

บันเทิง ตันติวิท(2487)  ถือเป็นคนรุ่นเดียวกัน ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์(2488)  ชุมพล ณ ลำเลียง (ประวัติทางการเกิดปั 2490) เอกกมล คีรีวัฒน์ (2487) หรือศิวะพร ทรรทรานนท์ (2490) อาจถือได้ว่าพวกเขามาจากกระแสอิทธิพลสหรัฐฯในช่วงสงครามเวียดนาม ในฐานะผู้ผ่านการศึกษาอย่างดีจากที่นั่น และเป็นมืออาชีพรุ่นแรกๆสามารถเข้าสู่ศูนย์กลางของสังคมธุรกิจไทยยุคใหม่—ธุรกิจการเงินธนาคารด้วยกัน

ทั้งนี้ต้องถือว่าเขามาจากตระกูลธุรกิจเก่าแก่ที่ภูเก็ต แม้ว่าตระกูลของเขาจะไม่มีธุรกิจในกรุงเทพฯอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่ก็มีความสัมพันธ์กับเมืองหลวงอย่างดี  ตัวเขา(รวมทั้งพี่ชาย) ล้วนผ่านการศึกษาจากโรงเรียนวชิราวุธ ซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนของชนชั้นสูง ในช่วงนั้นกำลังผลิตบุคคลสำคัญมากมาย รวมทั้งภาคธุรกิจด้วย   ยิ่งเมื่อเขาผ่านการศึกษาจากสหรัฐฯอย่างดี   ด้วยปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ไฟฟ้า และปริญญาโททางการเงิน– M.S. IN FINANCE (SLOAN SCHOOL OF MANAGEMENT) ที่ MIT (MASSACHUSETTS INSTITUTE OF TECHNOLOGY) ต้องถือว่าเป็นคนมีprofile ที่ดีที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น

บันเทิง ตันติวิท เริ่มด้วยทำงานในเครือข่ายสถาบันการเงินสหรัฐฯ–ทิสโก้( กิจการร่วมทุนระหว่างBanker Trust กับธนาคารกสิกรไทย) ร่วมกับชุมพล ณ ลำลียง และศิวะพร ทรรทรานนท์ ในช่วงเวลาธุรกิจการเงินสหรัฐฯกำลังพาเหรดเข้ามาในภูมิภาคนี้ รวมในเมืองไทย ด้วย (เช่น Banker Trust 2512 Chase Manhattan 2514) ขณะที่ธารินทร์ เริ่มทำงานกับสถาบันการเงินเครือข่าย Citibank ในฟิลิปปินส์ และในช่วงนั้น เอกกมล คีรีวัฒน์ เพิ่งเข้าทำงานที่ธนาคารชาติ

แต่บันเทิง  ตันติวิท ทำงานในฐานะมืออาชีพประมาณ 10ปี ก็ก้าวเข้าสู่โอกาสใหม่ในฐานะผู้ประกอบการ ซึ่งแตกต่างจากผู้คนรุ่นเดียวกันกับเขา ถือว่าพวกเขาเป็นมืออาชีพนักบริหารรุนใหม่ ผู้ทรงอิทธิพลในสังคมแล้วในเวลานั้น แต่บันเทิง กลับเลือกที่จะเริ่มต้นใหม่

จุดเริ่มต้น–ธนชาติ

 

อาจกล่าวได้ว่า หากพาดถึง “ธนชาติ” คนที่รู้เรื่องดี ย่อมเชื่อมโยงกับ บทบาท แรงบันดาลใจ และความสามารถของบันเทิง ตันติวิท อย่างแยกไม่ออก   เช่นเดียวกับ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของโมเดลธุรกิจที่สำคัญมาก ดูเหมือนเขายึดมั่นและถือเป็นแนวทางธุรกิจในหลายกรณีจากนั้นมา

ในช่วงปี  2522 เป็นช่วงวิกฤติการณ์สถาบันการเงิน อันเนื่องมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจระดับโลกที่มากระทบระดับหนึ่ง โดยเฉพาะกับสถาบันการเงินชั้นรองทีเกิดใหม่ จากทางการเปิดโอกาสให้ “ผู้มาใหม่”เข้ามามีส่วนร่วมบ้าง เมื่อเผชิญวิกฤติการณ์ กิจการส่วนใหญ่เหล่านั้น (โดยเฉพาะไม่ได้อยู่ในเครือข่ายธนาคาร) ก็ต้องมีอันเป็นไป

ในวิกฤติการณ์ครั้งนั้น ขณะที่คนอื่นถือว่าเขากำลังการเดิมพันครั้งใหญ่  แต่บันเทิง ตันติวิท กลับมองเป็นโอกาส ซึ่งน่ามาจากปัจจัยสำคัญ 2ประการ

หนึ่ง-กิจการเป้าหมายในการเข้าครอบงำและเพื่อดำเนินกิจการเงินทุนและหลักทรัพย์  —บริษัทลี้กวงมิ้งที่ เคยเป็นโรงงานทอผ้า แต่หวังมาเอาดี ธุรกิจการเงิน กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก   เขาอาจประเมินว่าความล้มเหลวสำคัญ มาจากความสามารถในการบริหารงาน และเชื่อมั่นความรู้และประสบการณ์ของตนเอง จะสามารถแก้ปัญหาและกอบกู้ขึ้นมาใหม่ได้ไม่ยาก    สอง-มีผู้สนับสนุนที่แข็งแรงพอสมควรจากธนาคารไทยพาณิชย์ ที่สำคัญ เขามองเห็นโอกาสมากกว่ามืออาชีพหรือลูกจ้าง

ประสบการณ์ความสำเร็จในการบริหารธนชาติโดยใช้เวลาจากนั้นไม่นาน  ถือเป็นจุดตั้งต้นของโอกาสใหม่ในอีกหลายกรณี  จากสถานการณ์ผันแปรในช่วงต่างๆของเศรษฐกิจไทย

 

มาบุญครองกับแปลนเอสเตท

 

จากปี 2527 มีการลดค่าเงินบาทครั้งใหญ่ ถือเป็นทั้งมาตรการและสะท้อนปรากฏการณ์ของปัญหาทางเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง    โดยเฉพาะจุดเริ่มมาจากการมองโลกในแง่ดีมากเกินไป   ถือเป็นครั้งใหญ่ช่วงย่อยช่วงหนึ่งก่อนถึงปี2540    ถือเป็นกระบวนการคัดเลือกที่เข้มงวดของธุรกิจไทย   มีกรณีสำคัญเกิดขึ้นหลายกรณี เชื่อมโยงกับ บันเทิง ตันติวิท และธนชาติ   ทั้งกิจการในเครือข่ายธุรกิจใหญ่ที่น่าเกรงขาม ไปจนถึงกิจการของคนรุ่นใหม่ที่ควรส่งเสริม แต่เอาตัวไม่รอด

“เรื่องราวของศิริชัย บูลกูล เกี่ยวข้องกับบิดา (มา บูลกุล หรือ ม่า เลียบคุน) ผู้มีบทบาทในการค้าข้าวไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง การค้าข้าวกับฮ่องกง การสร้างคลังสินค้าและไซโลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หลักทรัพย์ที่มีราคาพุ่งแรงในตลาดหุ้นไทยก่อนเผชิญวิกฤติราชาเงินทุน   โครงการศูนย์การค้าแห่งแรกทีใหญ่ทีสุดของกรุงเทพฯ จนถึงการฟ้องร้องและการล่มสลายทางธุรกิจที่อื้อฉาวกรณีหนึ่ง เมื่อสองทศวรรษที่แล้ว

ศิริชัยก่อตั้งบริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโลในปี 2517 สร้างไซโลและ ท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในเมืองไทย ในยุคธุรกิจส่งออกข้าว ข้าวโพด และอื่นๆ เป็นธุรกิจทีททรงอิทธิพลของไทย   ด้วยเงินลงทุนกว่า 300 ล้านบาท สร้างเสร็จเมื่อปลายปี 2519 และเริ่มเปิดดำเนินการในกลางปี 2520 จากนั้นกลางปี 2521 กิจการนี้ได้เข้าจดทะเบียนระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์

 

หุ้นบางบุญครองได้รับความสนใจและราคาสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ มาพร้อมกับโครงการใหม่ศูนย์การค้ามาบุญครอง ศูนย์การค้าขนาดใหญ่แห่งแรกในกรุงเทพฯ บนที่ดินของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย  แต่ด้วยไม่เป็นตามแผนการ  ต้องชะลอไปช่วงหนึ่ง กว่าจะเริ่มก่อสร้าง สังคมธุรกิจไทยต้องเผชิญกับการปรับตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจ  โครงการลงทุนจำนวนมากด้วยเงินกู้ทั้งในและต่างประเทศประมาณ3000 ล้านบาท เป็นเหตุให้มาบุญครองต้องดิ้นรนอยู่เกือบสิบปี ในที่สุด เจ้าหนี้เข้ายึดกิจการส่วนใหญ่ไปราวปี2530-2

 

ศูนย์การค้ามาบุญครองปัจจุบันตกอยู่ในการบริหารโดยกลุ่มธนชาติ(บริษัท เอ็ม บี เค ดีเวลล็อปเมนท์ ) ขณะที่กิจการโรงสีและข้าวบรรจุถุง เป็นกิจการร่วมทุนระหว่ามกลุ่มธนชาติกับโรงแรมดุสิตธานี –ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารีในปี2533”(จากเรื่องเกษตรกรรมไทย(2) ความผันแปร ซึ่งผมยอมรับว่า จากเรื่องนี้ เป็นจุดเริ่มต้น ในการค้นคว้าภาพใหญ่ของกลุ่มธนชาติที่กำลังเขียนอยู่ขณะนี้)

ส่วนกลุ่มแปลน  มาจากการรวมตัวของสถาปนิก จุฬาฯรุ่นใหม่ ไอเดียดี กลุ่มหนึ่ง ซึ่งบังเอิญเป็นคนใต้เช่นเดียวกับบันเทิง ตันติวิท พวกเขาทำงาด้านสถาปัตยกรรมออกมาดีมาก  แต่สำหรับการบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังเป็นที่สงสัย เมื่อวิกฤติการณ์มาถึง  พวกเขาจึงต้องขอแรงบันเทิงไปช่วย    ในที่สุด  แปลนเอสเตท ซึ่งสร้างเคยสร้างรายได้มากกว่างานออกแบบ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ เอ็ม บี เค 

 

บริษัท เอ็ม บี เค ดีเวลล็อปเมนท์ เป็นกิจการในตลาดหุ้น และสามารถเติบโตต่อเนือง    แนวทางหนึ่งที่ชัดเจน มาจากการความพยายามและความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการอื่นๆ (รายละเอียดจะกล่าวในตอนต่อไป)

วิกติการณ์ครั้งใหญ่กับโอกาสครั้งใหญ่

 

บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ เป็นกิจการเพียงไม่กี่ราย ทีสามารถเอาตัวรอดจากวิกฤตการณ์ปี2540มาได้ ทั้งๆที่กิจการประเภทเดียว ทั้งมีหรือไม่มีธนาคารสนับสนุนต้องมีอันเป็นไป รวมทั้งธนาคารเองหลายแห่งด้วย   ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มธนชาติยังถือเป็นกลุ่มการเงินชั้นรองกลุ่มแรกๆที่มีโอกาสครั้งใหญ่ ก้าวเข้าสู่การเป็นธนาคารจากการเปิดช่องครั้งใหม่หลังจากปิดตายมากว่าครึ่งศตวรรษ—นั่นคือการเกิดขึ้นของธนาคารธนชาต

เรื่องยาวและเข้มข้น   ย่อมไม่สามารถเล่าให้จบได้เพียงตอนเดียว   โปรดติดตามตอนต่อไป

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

One thought on “กลุ่มธนชาต(1)”

  1. รู้สึกภูมิใจมากที่ได้ร่วมงานกับ “ธนชาต” ถึงแม้จะเป็นแค่ฟันเฟืองตัวเล็ก ๆ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: