เรื่องของภูษณ และธนา

 ผมไม่ตั้งใจเขียนถึงธนา เธียรอัจฉริยะโดยตรง  หากเรื่องราวของเขา จุดประเด็นเชื่อมโยงไปถึงบุรุษอีกผู้หนึ่ง ในความพยายามศึกษาแนวคิดและวิถีของคนสองคน เผอิญเข้ามาเกี่ยวข้องในกิจการเดียวกัน คนละช่วง  ที่สำคัญมีบริบทที่น่าสนใจอย่างมากด้วย

 

ในแวดวงธุรกิจโทรศัพท์ไร้สาย ธุรกิจที่เติบโตและทรงอิทธิพลในช่วงสองทศวรรษมานี้ ย่อมรู้จัก ภูษณ  ปรีย์มาโนช  ในทศวรรษแรก และ ธนา  เธียรอัจฉริยะ ในยุคต่อมา  ในฐานะผู้บริหารคนสำคัญของกลุ่มธุรกิจนามกลุ่มแทค  (Total Access Communication- TAC -) หรือ DTAC   ปัจจุบัน ในฐานะผู้ประกอบการโทรศัพท์ไร้สาย อันดับสองของไทย ก่อตั้งโดยตระกูลเบญจรงคกุล ผู้ถือหุ้นสำคัญและมีบทบาทบริหารอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพา บุญชัย เบญจรงคกุล

อาจเป็นอันดับสอง   โดยมีอันดับหนึ่งและสาม มีบุคลิกสีสันและเรื่องราวตื่นเต้นเสมอ ผมมักมองข้ามที่เขียนถึงทั้งๆที่จริงแล้ว ดีแทคมีเรื่องราวที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

ภูษณ ปรีย์มาโนช 

บุญชัย เบญจรงคกุล   ทายาทคนโตของตระกูลที่เติบโตจากการขายอุปกรณ์สื่อสารของยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ Motorola inc. ในช่วงปลายสงครามเวียดนาม เข้ามารับช่วงกิจการในระยะหัวเลี้ยวต่อ ก่อนจะเข้าสู่ระบบสัมปทานสื่อสารครั้งใหญ่ของประทศไทย   นั่นคือการย่างก้าวเข้าสู่ยุคของสื่อสารไร้สาย ในปี2533 ซึ่งตามหลังทักษิณ ชินวัตร ไม่กี่เดือน

“ยูคอม (United Communication) ขายสินค้าเทคโนโลยี่การสื่อสาร   โดยเฉพาะยี่ห้อ Motorola ของสหรัฐให้กับหน่วยราชการ ว่าไปแล้ว สินค้าพวกนี้ เอกชนไม่ใช้กันหรอกในช่วงนั้น เพราะไม่จำเป็นและแพง และหน่วยราชการที่ซื้อ ก็มักจะเป็นหน่วยงานว่าด้วยการสื่อสารของรัฐ ดูก็ธรรมดาๆมากในยุคนั้น

ยูคอมโชคดีมากในเรื่องหนึ่ง ก็คือ Motorola เติบโตเป็นระยะๆ สินค้ามีความแข็งแกร่งในตลาดโลกมาก   พวกเขาจึงได้เรียนพัฒนาการทางธุรกิจ   ว่าด้วยเทคโนโลยี่ไปพร้อมๆกับการสะสมความชำนาญในการขาย ซึ่งก็คือการผูกมิตรอย่างแน่นเฟ้นกับคนมีอำนาจในระบบราชการ”

“ข้อต่อสำคัญก็คือ ทายาทยูคอม ซึ่งผ่านการศึกษาจากต่างประเทศมารับช่วงกิจการ ในช่วงไล่เลี่ยกันที่ภูษณ เข้าทำงาน ซึ่งเป็นคนรุ่นใกล้เคียงกัน ระบบครอบครัวแบบเดิม จึงไม่ครอบภูษณไว้เช่นกิจการอื่นๆ

เมื่อยุคสัมปทานแบบใหม่เกิดขึ้นในสังคมไทย  พร้อมๆกับพัฒนาเทคโนโลยี่การสื่อสารระดับโลก  ซึ่งทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้บุกเบิกสำคัญ   ภูษณ ในฐานะลูกจ้างก็มองเห็นโอกาสเช่นเดียวกัน  จึงผลักดันให้กิจการยูคอมเติบโต  อย่างก้าวกระโดด  เคียงคู่กับชินวัตร โดยที่ทั้งสองกลุ่ม  ยึดหน่วยงานการสื่อสารของหน่วยงานของรัฐไว้เป็นฐาน   ชินวัตรกับองค์การโทรศัพท์ ยูคอม กับการสื่อสารฯ” (จากเรื่อง ภูษณ ปรีย์มาโนช  หนังสือ”อำนาจธุรกิจใหม่” 2541)

นั่นคืองานเขียนเก่าของผมชิ้นหนึ่ง พาดถึงกลุ่มธุรกิจยูคอมและดีแทค ผ่านตัวบุคคลสำคัญคนหนึ่ง –ภูษณ ปรีย์มาโนช

ข้อเขียนนั้นตั้งใจกล่าวถึงภูษณ เป็นการเฉพาะ ในฐานะ”ลูกจ้าง”ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในยุคนนั้น ผมยกเขาเทียบกับทักษิณ ชินวัตร ในฐานะผู้เข้าใจแนวโน้มและแสวงหาโอกาสในการเข้าสู่ธุรกิจสื่อสารไร้สายยุคแรก ในขณะทีทักษิณ เป็นเจ้าของกิจการ แต่ภูษณ เป็นผู้บริหารมืออาชีพ

อย่างไรก็ตามภูษณ ก็ได้รางวัลความริเริ่มและบุกเบิกนั้นอย่างดี   ด้วยตำแหน่งบริหารสูงสุดของแทค ซึ่งยูคอมถือหุ้นใหญ่

“ภูษณ เคยเรียนที่ปีนัง ในช่วงสงครามกลางเมืองระหว่างจีนและมลายู จากนั้นก็กลับเมืองไทย เรียนที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จากนั้นก็สอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้

เรียนจบระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ก่อนไปเรียนปริญญาโท ที่อังกฤษ  บางคนบอกว่าไม่มีชื่อเขาในทำเนียบวิศวฯ(ภูษณ ไม่ค่อยพูดเรื่องการศึกษาในช่วงนี้ของเขา จนล่าสุดผมอ่านประวัติของเขาในบทความทางวิชาการของ Imperial College London ระบุว่าเขาจบปริญญาด้านวิทยาศาสตร์—B.Sc มิใช่วิศวกรรมศาสตร์ —ข้อมูลเก่าของผมคลาดเคลื่อนไปบ้างเล็กน้อย) เคยเข้าป่าต่อสู้กับรัฐบาล ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในปี2519

ทำงานครั้งแรกที่ฝ่ายคอมพิวเตอร์ ธนาคารกรุงไทย บริษัทล็อกซเล่ย์ และGENERAL ELECTRIC ในเมืองไทย จากนั้นจึงมาทำงานที่กลุ่มยูคอม” (อ้างจากบทความของผมข้างต้น)

ในช่วงก่อนวิกฤติการณ์ทางการเงินของไทย ธุรกิจสื่อสารในประเทศเติบโตอย่างมากมาย  สร้างความมั่นคั่งกับผู้คนดังทีทราบๆกันอยู่ ภูษณ ได้ชื่อว่าเป็นมืออาชีพที่รวยที่สุดในช่วงนั้นก็ว่าได้  ผมเคยมีโอกาสเยี่ยมคฤหาสน์ของเขาแห่งหนึ่งได้มองเห็นสัญลักษณ์ความร่ำรวยของเศรษฐีใหม่  ดูช่างยิ่งใหญ่ และอลังการมาก เมื่อเปรียบเทียบกับคฤหาสน์ของเศรษฐีเก่า ผมก็มีโอกาสเคยไปชมเช่นกัน

เมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ปี2540 ธุรกิจสื่อสารซึ่งจุดพลุความรุ่งโรจน์ และต้องปรับฐานครั้งใหญ่ กลุ่มแทคมีปัญหาทางการเงินหนักหน่วง บุญชัย เบญจรงคกูลจึงตัดสินใจหุ้นส่วนใหญ่ให้Telenor ธุรกิจสื่อสารยักษ์ใหญ่ต่างชาติแห่งนอร์เวย์ ท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงระหว่างขากับภูษณ ในที่สุดภูษณก็ต้องค่อยๆพ้นเส้นทางนั้นมา

ประวัติของเขา ในฐานะประธานสถาบันนโยบายสังคมและเศรษฐกิจ(นำมาจาก www.isepthailand.com ) ที่ก่อตั้งขึ้นช่วงปลายของยุคแทค กล่าวถึงอดีตช่วงนี้ไว้ในฉบับภาษาไทยอย่างสั้นๆ ว่าเป็นผู้ก่อตั้ง กรรมการผู้จัดการ และประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ของแทค ขณะที่ฉบับภาษาอังกฤษ อรรถาธิบายประสบการณ์ตอนนั้นอย่างยืดยาว    โดยเฉพาะประสบการณ์การบริหารกิจการมูลค่ามากกว่า หนึ่งพันล้านปอนด์ ที่อยู่ในตลาดหุ้นสิงคโปร์ และมีบทบาทโดยตรงในการพัฒนาเทคโนโลยี่ต่างๆที่ก้าวหน้า เกี่ยวธุรกิจสื่อสารไร้สาย ฯลฯ

ธนา เธียรอัจฉริยะ

ว่าไปแล้วเขามีประสบการณ์สำคัญจากช่วง ความเติบโตสุดขีดของตลาดหุ้นในช่วงปี 2534-2539 ในฐานะผู้ทำงานในกิจการหลักทรัพย์ และมองเห็นโอกาสในการทำงานที่รุ่งโรจน์ในธุรกิจสื่อสาร จึงตัดสินใจ เดินทางจากธุรกิจค่อนข้างนามธรรม ไปสู่รูปธรรมมากขึ้น มาสู่แทค ในช่วงกำลังจะเข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์

เป็นคนหนุ่มอีกคนที่เติบโตเร็วพอสมควรในฐานะมืออาชีพ มีความรู้และทักษะของอาชีพในยุคสังคมการเงินใหม่ ซึ่งแตกต่างจากภูษณอย่างมากในฐานะบทบาท  มีประสบการณ์ในในการสร้างคุณค่าของสายสัมพันธ์ กับระบบราชการ-การเมืองไทย

ซึ่งที่จริงก็เป็นองค์ประกอบที่ต่อเนื่องและเสริมกันของแทค ในฐานะกิจการที่กำลังผ่านรอยต่อสำคัญ ประหนึ่งทวิภพนั้นมาอย่างกลมกลืน

ธนา ผ่านประสบการณ์อันเข้มข้นในช่วงวิกฤติการณ์ ในช่วงเปลี่ยนผ่านทั้งตัวกิจการเอง  ขณะเดียวกันตนเองก็ผ่านประสบการณ์งานหลายด้านด้วย  เมื่อ Telenor เข้ามาบริหาร เขาจึงเป็นบุคคลสำคัญในช่วงผ่าน ช่วงบริหารการเปลี่ยนแปลง รวมไปจนถึงยุคใหม่ยุคหนึ่งได้อย่างดี

ยุคใหม่ยุคหนึ่งที่อ้างถึง เป็นยุคของการแข่งขันกันอย่างเต็มที่ ในการสร้างบริการ สร้างแบรนด์ หรือสินค้าเข้าสู่ตลาดอย่างดุเดือดและคึกคัก   ในขณะที่ ดีแทค เป็นกิจการที่ถือหุ้นโดยต่างชาติ และมีผู้บริหารสูงสุดเป็นขาวต่างชาติบทบาทในฐานะเพียงเป็นผู้เชื่อมต่อการบริหารการเปลี่ยนแปลงองค์กรในช่วงผ่านที่สำคัญที่ผ่านมา ได้ต่อเนื่องเป็นผู้เชื่อมต่อ ระหว่างสินค้าและบริการของดีแทค สู่ตลาดผู้บริโภคระดับกว้างด้วย

โดยเฉพาะในยุคของ Singve Brekke (เริ่มปี2548) นักบริหารธุรกิจหัวใหม่ ทั้งๆที่อายุมาก เคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมนอร์เวย์ และผ่านการเรียน MPA (Master of Public Administration ที่   JFK School of Government   Harvard University   ธนาได้ทำงานร่วม สร้างสีสีนของเจ้าของเครือข่ายและบริการสื่อสารไร้สายรายที่สองที่อยู่ตรงกลาง ให้มีความโลดแล่นในตลาดอย่างคึกคัก และสามารถเติบโตหรืออย่างน้อยรักษาอัตราการเติบโต ท่ามกลางคู่แข่งที่ความพร้อมสรรพกำลังเหนือกว่ามากมาย

เป็นช่วงเดียวกัน ธนากับบทบาทในตำแหน่ง Chief Commercial Officer ในช่วงของคนหนุ่มคนหนึ่งที่แป้นที่รู้จักวงกว้างแล้ว คงถือว่าเป็นความสำเร็จระดับสูงที่ควรจะเป็นได้ สำหรับผู้บริหารกิจการสื่อสารไร้สายของชาวต่างชาติ

การศึกษาวิถีชีวิตผู้คนในช่วงท้ายของการพลิกผันเป็นเรื่องน่าตื้นเต้นเสมอ และเชื่อว่ามีบทเรียนที่ดีซ่อนอยู่ อาจจะมีค่ากว่าตอนต้นๆด้วยซ้ำ

ภูษณ ผู้ไม่ค่อยเปิดเผยเรื่องราวการศึกษาของตนเอง ในช่วงปลายกับแท้ค เข้าสู่การเมืองอยู่หน้าฉากช่วงสั้นๆ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเขาอยู่หลังฉากมานานพอสมควร  ก็เริ่มต้นอย่างจริงจังในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ทั้งการตั้งสถาบันนโยบายสังคมและเศรษฐกิจ  อันเป้นทรวมของผู้ทรงความรู้ เขาก็ซุ่มศึกษาในระบบอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ผลสำเร็จน่าทึ่งมาก

เขาจบMBA ที่ศศินทร์   Ph.D.  Imperial College London และ D.B.A.  Somerset University, U.K.  เข้าใจตอนนี้เพิ่ง จบปริญญาเอกใบที่สาม ด้าน Quantitative finance ด้วย โดยเป็น Visiting Professor ของ Imperial College London มาตั้งแต่ปี 2543(อ้างจากท้ายบทความทางวิชการของ   Imperial Collegehttp://spiral.imperial.ac.uk/bitstream/10044/1/6077/1/05556425.pdf)

แม้ว่าเขาดูหายไปจากสังคมธุรกิจไทยในหลายปีมานี้  มีคำตอบอย่างสอดคล้องถือเป็นช่วงศึกษาหาความความรู้ แต่ความจริง เขาก็ยังอยู่ในแวดวงสายสัมพันธ์ของสังคมการเมืองไทยอยู่     ล่าสุดปรากฏชื่อเป็นที่ปรึกษาไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี  โยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปลายที่แล้ว เข้าเป็นกรรมการของ ปตท. กิจการที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ (รวมทั้งเป็นกรรมการ กิจการในเครือที่สำคัญ– ปตท.สผ. ด้วย)

ถือเป็นจุดเริ่มในช่วงท้ายๆที่เร้าใจทีเดียว

ในขณะอีกคนหนึ่ง หากเปรียบเทียบกับภูษณ ถือว่าเป็นบุคคลสามัญอย่างมาก ธนา ซึ่งเมื่อเมื่อปีที่แล้วถูกย้ายมาทำงานที่ไม่เคยมีประสบการณมาก่อน เกี่ยวกัลป์บนโยบายของรัฐ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของธุรกิจสื่อสารไร้สายของไทย โดยเฉพาะเรื่อง สัญญาสัมปทานใหม่  และการเดินหน้าสู่ 3G   ซึ่งมีความผันแปรอย่างยิ่งนั้น แม้จะดูสำคัญกับอนาคตของดีแทคอย่างมาก แต่ธนาไม่ค่อยมีความสุขนัก เข้าใจว่าเป็นงานที่ไม่สันทัด

ในที่สุด เขาลาออกจากตำแหน่งนั้น ไปสู่งานใหม่ดูเหมือนจะต่อเนื่องจากประสบการณ์ของเขาที่อยู่ตลาดผู้บริโภค  หากเป็นกิจการพื้นฐานมากขึ้น  นั่นคืออุตสาหกรรมสิ่งทอ เป้นทีทางที่ดูเปิ่นจริง และต่อเนื่องจากประสบการณ์ที่ค่อนข้างนามธรรม มาสู่รูปธรรมมากขึ้น จากหลักทรัพย์ สื่อสาร  สู่สิ่งทอ แต่เป็นสิ่งทอที่มีมูลค่าเพิ่มจากจินตนาการ  การออกแบบและการสร้างแบรนด์ได้ด้วย

หากมองไปยังดีแทค  กำลังอยู่ท่ามกลางแรงเสียดทานครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมสื่อสารของไทย  อาจจะประเมินได้ว่า การลาออกของธนา ดูเหมือนหมดยุคของภูษณเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา ในประเด็นที่ว่า  ดีแทคกำลังนับถอยหลังการเปลี่ยนแปลงไปสู่อีกยุคหนึ่งก็ว่าได้

ยุคที่ว่านี้นี้ หากจะให้ดี  ดีแทคควรมีคนอย่างภูษณ ปรีย์มาโนช

———————————————————————-

 เหตุการณ์สำคัญ

ยุคที่หนึ่ง

2534

ลงนามสัญญากับ กสท เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยมีส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาร่วมการงานประเภท “สร้าง – โอน – ดำเนินการ (Build-Transfer-Operate)”

2537

ทำสัญญาเชื่อมโยงโครงข่ายกับบริษัททีโอที จำกัด มหาชน (เดิมคือ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย)

2538

จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด   เสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 13 ของทุนชำระแล้ว และนำหุ้นของบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศสิงคโปร์

ออกหุ้นใหม่จำนวน 42.8 ล้านหุ้นให้แก่ทีโอที และทีโอทีตกลงให้ส่วนลดค่าเชื่อมโยงโครงข่าย

2539

กสท.ตกลงขยายระยะเวลาการดำเนินการภายใต้สัญญาร่วมการงาน ส่งผลให้สัญญาร่วมการงานสิ้นสุดในปี 2561

ยุคที่สอง

2543

ขายหุ้นส่วนใหญ่ให้แก่Telenor, Norway

2544

เริ่มใช้ชื่อทางการค้า“ดีแทค–DTAC” และนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวิธีการดำเนินธุรกิจการตลาด

2546

เปิดบริการและแบรนด์ย่อย “Happy” บริการในระบบเติมเงิน ที่มีความยืดหยุ่นมาก

2550

นำหุ้นเพิ่มทุนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งดีแทคเป็นบริษัทแรกในประเทศไทยที่มีหุ้นซื้อขายอยู่ทั้ง 2 ตลาด (dual listing) คือตลาดหุ้นไทยและสิงคโปร์

(เรียบเรียงมาจากข้อมูลใน www.dtac.co.th )

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: