
ใน 2 ทศวรรษมานี้ เขาถือเป็นนักคิดที่ทรงอิทธิพลมากคนหนึ่ง ต่อการเดินแผนยุทธ์ศาสตร์ประเทศ โดยเฉพาะใน 2 ช่วงสำคัญ ช่วงเศรษฐกิจเติบโตครั้งใหญ่ (ยุคชาติชาย 2531-2534) และยุคการแสวงหาแนวทางใหม่หลังช่วงล่มสลายของโมเดลเศรษฐกิจเดิมในยุคปัจจุบัน (ยุคทักษิณ 2544-3549)
พันศักดิ์ วิญญรัตน์ คนที่มีภูมิหลังแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับบุคคลที่เคยอยู่ในกระบวนการผลิตนโยบายยุทธ์ศาสตร์ของประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมา ในฐานะคนนอกมีบางจังหวะที่กระโจนเข้าสู่วงในในช่วงสั้นๆ แต่เขาจำเป็นต้องระเห็จออกจากประเทศไทย ถึง 2 ครั้ง 2 คราในช่วง 15 ปี ด้วยแรงกดดันทางการเมือง ที่สำคัญความคิดอย่างเป็นระบบของเขาต่อยุทธ์ศาสตร์ประเทศไทย มิใช่ก่อตัวขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ หากได้เกิดขึ้นและพิสูจน์ความถูกผิดมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ทศวรรษ
แม้ประสบการณ์ของเขาจะดูหลากหลาย แค่สาระสำคัญที่ต่อเนื่องก็คือ เขาอยู่กับการคิดเกี่ยวกับยุทธ์ศาสตร์ของประเทศไทยในระดับโลกเสมอมา
เขาเกิดจากครอบครัวที่เติบโตขึ้นใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พ่อของเขา-ประยูร วิญญรัตน์ มาจากครอบครัวยากจนย่านคนจีนแถวสี่พระยา แต่เนื่องจากเรียนหนังสือเก่งมาก จบม.8 สอบได้ที่ 2 ของประเทศ เลยได้ทุนหลวงไปเรียนต่อประเทศอังกฤษ ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในปี 2473 ใช้เวลาเรียนถึง 8 ปี กลับเมืองไทยอีกครั้งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่อยู่ในอำนาจเผด็จการทหาร
ประยูร เริ่มต้นเรียนที่ London School of Economics รุ่นก่อน บุญมา วงศ์สวรรค์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และพิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์ เรียนได้เกือบครบ 1 ปีเจ้าของทุน (กระทรวงการคลัง) เกรงว่าจะเป็นฝ่ายซ้าย จึงมีคำสั่งให้ย้ายไปเรียนบัญชีแทน เขาเล่าว่าเขาถูก Scotland yard ติดตามดูพฤติกรรมอยู่เป็นปี เขาจบการศึกษาACA (Associate of The Institute of Chartered Accountant in England and Welsh) คนที่ 4 ของประเทศไทย ต่อจากพระยาไชยยศสมบัติ หลวงดำริอิศรานุวัตร และศิริ ฮุนตระกูล (จากหนังสือ “เมื่อ 60-70 ปีมาแล้ว…นายประยูร วิญญรัตน์ เล่าให้ฟังเมื่ออายุ 72 ปี “พ.ศ. 2526)
การเข้ารับราชการกระทรวงการคลังในฐานะนักเรียนนอก นับเป็นการไต่เต้าทางสังคมอย่างสำคัญในยุคนั้น ยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เปิดโอกาสให้ชนชั้นนำใหม่ๆ เกิดขึ้น “ประยูรเคยใฝ่ฝันที่จะเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย แต่ความฝันของเขาไม่เป็นจริง แม้ว่าเขาจะได้ทุนหลวงเดินทางไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ อย่างไรก็ตามทางเลือกที่สองที่กระทรวงการคลังยังบรรลุผล หลังจากจบการศึกษาจากอังกฤษในช่วงปลายทศวรรษ 2470 เขาก็เข้าทำงานที่กระทรวงการคลัง และช่วยวางรากฐานการตั้งสำนักงานธนาคารกลางครั้งแรกขึ้นในกระทรวงการคลังเมื่อปี 2481 และในช่วงสงครามเขาก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการผู้ดูแลทรัพย์สินศัตรู รวมทั้งทรัพย์สินของธนาคารอังกฤษในประเทศไทยทั้งหมดด้วย”พันศักดิ์ วิญญรัตน์ เคยเขียนถึงพ่อของเขาเอาไว้ในบทความ “การต่อสู้ของชิน โสภณพนิช กับธนาคารอาณานิคม “(นิตยสารผู้จัดทำการ กรกฎาคม 2530)
เขารับราชการไม่นาน ก็ได้รับการชักชวนจากบุญชู โรจนเสถียร (บุญชูเป็นลูกศิษย์ของประยูร วิญญรัตน์ ในฐานะอาจารย์บัญชีที่ธรรมศาสตร์) ที่กำลังเข้ามาช่วยบริหารธนาคารกรุงเทพ ในฐานะผู้ริเริ่มการเปิดสาขาธนาคารครั้งแรกในประเทศไทย ในยุคเริ่มต้นการเข้ามากอบกู้กิจการของชิน โสภณพนิช และถือเป็นการวางรากฐานธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ในเวลาต่อมา ประยูร ดำรงตำแหน่งกรรมการธนาคารกรุงเทพอย่างยาวนาน ก่อนลาออกไป พร้อมๆ กับการเข้ามาเป็นกรรมการของชาติศิริ โสภณพนิช ลูกชายคนโตของชาตรี โสภณพนิช (ปี 2536) ในกระบวนการสืบต่อทายาท รุ่นที่ 3 ของโสภณพนิชในธนาคารกรุงเทพ ไม่นานจากนั้นชาติศิริก็ขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ
พันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นบุตรชายคนที่ 2 เกิดในช่วงหลังสงครามไม่นาน ช่วงที่ว่ากันว่า พ่อของเขามีปัญหาในการทำงานในฐานะข้าราชการ และเป็นช่วงต่อกำลังจะเข้าทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ เขาเป็นนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย และจบปริญญาตรีด้านกฎหมายระหว่างประเทศจากอังกฤษ จากนั้นก็มาทำงานอยู่ฝ่ายวิชาการ ธนาคารกรุงไทย ที่พ่อฝากให้ ทำงานเพียงช่วงสั้นๆ เนื่องด้วยเขาไม่ชอบ การเริ่มทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ถือเป็นงานที่ชอบที่ทำงานต่อเนื่องตลอดมา แม้ว่าจะขาดหายเป็นช่วงๆ อันเป็นภาพสะท้อนของวิกฤติสังคมไทยในยุคต่างๆ เขาเริ่มอาชีพนักข่าวกับหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษรายวัน Bangkok World (ก่อนจะรวมกับ Bangkok Post) และสำนักข่าวต่างประเทศ
ในบางช่วงก็มีชีวิตในต่างประเทศ โดยสหรัฐฯ เขาอยู่เกือบสิบปี มีภรรยาคนแรกเป็นอเมริกัน ซึ่งเป็นคนในตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่งในสังคมอเมริกัน การเริ่มต้นทำหนังสือพิมพ์ จตุรัสรายสัปดาห์ นับว่ามีความสำคัญที่เขาแสดงความคิดและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
“เมื่อให้ทบทวนความคิดพื้นฐานก่อนจะพัฒนา มามากในปัจจุบัน เมื่อเร็วๆ นี้ เอเชียอาคเนย์ไม่มี พี่เอื้อย สมัยทำจตุรัสใหม่ๆ พยายามเสนอความคิดและข้อเขียนที่ปลดปล่อยเอเชียอาคเนย์จาก พี่เอื้อย ซึ่งการมีพี่เอื้อยมันมีต้นทุน (Cost) สูงมาก เวลาที่ผ่านมามันก็พิสูจน์ว่าอยู่ได้ แม้มีปัญหาระหว่างไทยกับลาว ลาวก็จะไม่สงสัยว่าไทยมีพี่เอื้อย” เนื้อหาทำนองนี้ปรากฏในบทสัมภาษณ์ของเขาเองต่อทีมงานจตุรัส เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2526 ก่อนที่จะปิดตัวเองอย่างถาวรในอีก 8 เดือนถัดมา
พันศักดิ์ได้กล่าวบทสรุปความคิดของเขาไว้ว่า ”ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีทหารจีไอ ไม่มีฐานทัพสหรัฐฯ มีแต่ฐานทัพไทยที่ให้เครื่องบินสหรัฐฯ ใช้บางครั้ง ประเทศไทยไม่มีเงินช่วยเหลือฟรีทางทหารจากสหรัฐฯ ต้องซื้อทั้งนั้น …2 ปีที่แล้ว (หมายถึงปี 2524)เศรษฐกิจโลกซบเซา แต่ของเรา Economic Growth ขึ้น 5.8% ศักยภาพเมืองไทยมันมหาศาล ระยะสองปีมานีมีออฟฟิศธนาคารต่างประเทศ ทั้งนี้ไม่อนุุญาติให้เปิดสาขาในประเทศไทย เปิดได้เพียงสำนักงานผู้แทนเท่านั้น มากัันเกือบ 30 แบงก์จะชนกันตายแถวถนนสีลม…เพราะฉะนันสิ่งที่จตุรัสหนึ่งและสองพูดถูก ถูกแจ็กพอตที่สุด การค้นหาศักยภาพตัวเองนั้นต้องมีเอกราชไม่ต้อง ท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพหรอก ไหนว่า จตุรัสเป็นหนังสือซ้าย ผมว่าไม่ใช่”(จตุรัส 3 ตุลาคม 2526)
หนังสือจตุรัส เป็นหนังสือพิมพ์ที่ได้รับความนิยมจากปัญญาชนยุคนั้น ส่วนใหญ่เพิ่งจบการศึกษาจากสหรัฐฯ ในยุุคที่สังคมอเมริกันมีความขัดแย้งทางความคิดมากที่สุด ดร.วีรพงษ์ รามางกูร นักเศรษฐศาสตร์มหภาคที่่มีชื่่อเสียงไทยบอกว่า เขาก็เป็นคนรุ่นนั้นที่จบการศึกษามาในราวปี 2514-2515 เป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ ที่จุฬาฯ ในยุคที่่นิสิตเป็นฝ่ายซ้าย ก็ทำให้อาจารย์เป็นฝ่ายซ้ายไปด้วย หนังสือพิมพ์จตุรัสในสายตาของวีรพงษ์ เป็นหนังสือฝ่ายซ้าย ต่อต้านฐานทัพสหรัฐฯ ในประเทศไทย
จตุรัสหนึ่งและสองที่พันศักดิ์ วิญญรัตน์ พูดหมายถึงประวัติหนังสือจตุรัสที่เปิดและปิดหลายครั้งหลายครา ในนิตยสารฉบับเดียวกันนั้น (3 ตุลาคม 2526) ซึ่งถือเป็นฉบับครบรอบ 3 ปีของยุคที่ 3 กล่าวถึงประวัติยุคต่างของจตุรัสเอาไว้ด้วย ยุคที่หนึ่งเริ่มปี 2513 ทำได้ 4 ฉบับก็ถูกสั่งปิด ในยุคเผด็จการ บางกระแสข่าวระบุว่าไปเสนอข่าว อูนุ มาเดินในกรุงเทพฯ ทำให้ทางการไทยไม่พอใจ ผ่านไปหลายปีเมื่อกระแสประชาธิปไตยเริ่มต้น หลัง 14 ตุลาคม 2516 ยุคที่สองเริ่มขึ้นในปี 2518 เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็ถูกสั่งปิดอีกครั้ง คราวนี้ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ในฐานะบรรณาธิการถูกจับติดคุกด้วย ในที่สุดทางการต้องยอมปล่อยตัว เพราะได้รับการร้องขอจากสหรัฐฯ โดยตรง
เขาเคยฟื้นความหลังเล่าให้ผู้เขียนฟังเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว เพื่อนคนหนึ่งของเขาเป็นผู้สอนศาสนา และสมถะ แต่ต่อต้านสงครามเวียดนาม บังเอิญเป็นเพื่อนกับ Dean Rusk รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ก่อนหน้านั้น (1961-1969) ได้เขียนจดหมายถึง Dean Rusk เพื่อให้ช่วยเจรจารัฐบาลไทยปล่อยตัวเขาจากคุก นั่นก็คือการอพยพครัั้งแรกในการหนีภัยการเมือง ไปอยู่สหรัฐอเมริกาประมาณ 2 ปี จตุรัสยุคที่ 3 เริ่มต้นเมื่อเดือนกันยายน 2524 ซึ่งให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจมากขึ้น ตามสถานการณ์สังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คราวนี้ได้ทำอย่างต่อเนื่องยาวนานจนหมดเงินสนับสนุน จึงตัดสินใจเลิกกิจการเมื่อสิ้นเดือนมิถุนายน 2527
พันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ไทยที่ได้รับอิทธิพลจากหนังสือพิมพ์ในอังกฤษอย่างมาก และได้รับถ่ายทอดประสบการณ์และความคิดหนังสืออังกฤษที่ จตุรัส เขาเคยเล่าว่านักหนังสือพิมพ์อังกฤษที่เขาชอบนั้นมีความเป็นช่างศิลป์ (Craftsmanship) อย่างหนึ่ง เป็นปัญญาชน นักคิดและนักเขียน Marcom Muggeridge อดีตนักเขียนของThe Guardian เป็นคนหนึ่งที่พันศักดิ์ชื่นชอบ พันศักดิ์เป็นคนที่มองประเด็นอย่างเฉียบคม สามารถเข้าใจเรื่องราวที่ปรากฏด้วยมุมมองที่แปลก และน่าเชื่อถือเสมอ เรื่องราวที่สะท้อนความคิดในเรื่องการเมืองระหว่างประเทศปรากฏในข้อเขียน ”เส้นขนานจตุรัส”ที่ได้รับการยอมรับในวงการชั้นสูง ที่ว่าด้วยการเคลื่อนไหวของสายลับมหาอำนาจในประเทศไทย ในเวลาเดียวกัน คอลัมน์ “เสียงเพลง”ต่อมาเป็น “เครื่องเสียง” ก็ได้รับการตอบสนองอย่างดี ในฐานะที่ศึกษาและรู้ลึกในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทุกวันนี้เขาก็ยังเป็นคนที่ชอบเครื่องเสียงคุณภาพชั้นเลิศของโลก ที่เขาแสวงหามาได้อย่างน่าทึ่ง ที่ไม่มีใครมี พร้อมๆ กับการแสวงหาแผ่นเสียงหรือ CD แปลกๆ ฟังได้เสมอ
จากความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องเครื่องเสียง เพลง จนถึงคอมพิวเตอร์ ในช่วงระหว่างปี 2528-2531 ด้านหนึ่งเขามีอาชีพเป็น Computer Consultant อีกบทบาทก็คือนักอภิปรายที่เฉียบคมในเรื่องงกฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งทางการสหรัฐฯ กำลังบีบคั้นประเทศด้อยพัฒนาอย่างเค็มที่ ในช่วงนั้น ”เรื่องลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ เราดูกระบวนการ intellectual transfer ว่าสินทรัพย์ทางปัญญาของโลกมีกระบวนการของมัน เราในฐานะประเทศด้อยพัฒนา จึงต้องเรียกร้องว่าด้วย สิทธิ์และduty ที่เหมาะสม เพราะขณะนี้มันมีการผลิตที่จะเลือกโซน A B C มันก้าวล่วงเลยไปถึงว่ามนุษย์เผ่าไหนมีสิทธิ์ก่อนกันที่จะได้รับสินทรัพย์ทางปัญญา นี่คือปัญหา” เขากล่าวถึงแนวคิดไว้เมื่อไม่นานมานี้ แวดวงวิชาการในเรื่องยุทธ์ศาสตร์ระดับโลกในครั้งนั้น ได้ก่อตัวเป็น ทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกของรัฐบาลชาติชาย ในเวลาต่อมา อันประกอบด้วยไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย บวรศักดิ์ อุวรรณโน เป็นต้น โดยมีพันศักดิ์เป็นประธานบทบาทบ้านพิษณุโลกมีมากมาย ภายใต้กรอบการเมืองเก่า อำนาจกองทัพในช่วงท้ายยังคงอยู่ ความไม่เข้าใจในความคิดใหม่ในเชิงยุทธ์ศาสตร์ได้สร้าง แรงปะทะกับความคิดและผลประโยชน์ดั้งเดิมอย่างมาก
อินโดจีน –แปรสนามรบเป็นสนามการค้า
แนวความคิดที่สำคัญของพันศักดิ์ขณะนั้นคือ การเสนอยุทธ์ศาสตร์ของประเทศไทยที่เกี่ยวกับภูมิภาคอินโดจีนโดยเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระดับภูมิภาคอินโดจีนเป็นอย่างราบรื่น นับเป็นส่วนเสริมให้เศรษฐกิจไทยมีตัวเลขอัตราเติบโตในลักษณะ Double digit และมีการหลั่งไหลของเงินทุนจากต่างประเทศเข้าสู่ไทยมาก ซึ่งถือว่าเป็นครัังแรกที่เขาได้นำแนวความคิดที่เคยเสนอมาแล้วประมาณ 15 ปีมาเป็นนโยบายของรัฐอย่างได้ผล เขาเคยเผยถึงเบื้องหลังแนวคิดนี้ในที่ประชุมผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ในการปาฐกถาครั้งหนึ่งที่ชะอำ (ปี 2533) ในทำนองว่าเมื่อคาดว่าอะไรจะเกิด แล้วเราเป็นคนพูดก่อนอย่างเป็นระบบ นั่นก็คือนโยบายที่ดี
ฐานความคิดเหล่านี้ได้พัฒนากว้างขึ้นและลึกขึ้นในมิติที่น่าสนใจ ในเมื่อเขาได้เข้าเป็นประธานที่ปรึกษานโยบายเศรษฐกิจพรรคไทยรักไทย และทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี การรื้อ East Asia Economic Model ด้านกว้างนั่นคือการเสนอความคิดที่ Morgan Stanley Dean Witter นายหน้าค้าหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในโลด เรียกว่า การรื้อ East Asia Economic Model ซึ่งพันศักดิ์บอกว่างานเขียนชิ้นนั้นตีความคิดของเขาและแนวทางของรัฐบาลได้ดีพอสมควร เขาเองอรรถาธิบายแนวคิดรวบยอดไว้ในภาษาของเขาเป็นการเพิ่มเติม (ทั้งนี้เพื่อให้มีอรรถรสและคงบุคลิกของเขาไว้ จึงตัดแต่งข้อความเพียงเล็กน้อย) เพื่อให้ภาพที่ชัดเจนมากขึ้นกล้วย
“เราเคยเชื่อว่าประเทศจะเจริญได้ต้องมีอุตสาหกรรม IT เราลืมไปว่าการจะทำอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ จะต้องมี capital base มหาศาล คือ surplus global money ที่ยินดีที่จะ flow มาสู่ IT อุตสาหกรรม ซึ่งไม่เกิน 8 เดือนต้อง inject global capital เข้าไปใหม่ ทีนี้ผลที่เห็นปัจจุบันมี 2 อย่าง หนึ่ง-เรามี currencies crisis 1997 และมี crisis of capital flow สอง-ต่อมาเราเผชิญกระบวนการสร้างอุตสาหกรรม supplier of IT ให้กับโลก ทั้งสอง Track เราไปไม่ได้ สมัยก่อนเรามีฐานะเป็นผู้ผลิตอุตสาหกรรมที่เน้น cheap, depend upon somebody else inflation, somebody else consumption และหวังว่า จีน บังกลาเทศ อินเดีย เวียดนามไม่เจริญ นี่ยังดีนะที่พม่าตีกันเอง เพราะมี 153 เผ่า เราบอกกับตัวเองว่า เราไปสองทางนี้ไม่ได้ เราต้องยอมรับว่า ทุก 2-3 ปี เศรษฐกิจจะ negative เราก็ต้อง reserve ไว้เยอะแล้วมาแจกประชาชน และหวังว่าเมื่อเศรษฐกิจฟื้นขึ้น เราจะได้เกาะเกี่ยวกันต่อไปใน IT ซึ่งมันเหมาะกับ city state แต่ไม่เหมาะกับที่ห่างไกลกรุงเทพฯ 60 กม.ขายยาม้ายาบ้า มันเป็นไปไม่ได้สำหรับสังคมที่ primitive มาก อย่างไรก็ตาม Speech ของนายกฯ ทั้งที่ ESCAP และที่ฮ่องกง speech ที่ ESCAP เป็นการเขย่า cocktail ให้ดูตื่นเต้น แต่ที่ฮ่องกง speech บอกว่า Asia ทำทุกอย่างได้เองหมด normally enrich materialistic level หรือ semi-materialistic level ทำได้หมดเลย ดังนั้นการ co-operation ของ Asia ทั้งหมดทำได้ จะเป็นการทำ Acquisition หรือ Merger หรือการค้าเสรี ไม่สำคัญ ต้องซื้อของซึ่งกันและกันให้มากขึ้น เพราะฉะนั้นเอเชียจะต้องมี task oriented technology ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพของเอเชียดีขึ้น”
หลังรัฐบาลชาติชายล้มลงด้วยการรัฐประหารของกลุ่มทหาร เขาต้องระเห็จไปอยู่อังกฤษพักหนึ่ง ก่อนจะกลับมาทำหนังสือพิมพ์ ASIATIMES ที่มีสตาฟฟ์เป็นชาวต่างชาติหลายสิบชาติที่มีสำนักงานใหญ่ทีกรุงเทพฯ นับเป็นการเสริมประสบการณ์ในความเข้าใจเอเชียของเขามากขึ้น
SME Model
ในแกนกลาง SME Model ที่เขาเคยเสนอในการสัมมนาแห่งหนึ่งเมื่อปี2540 เป็นทางออกวิกฤติสังคมไทย ได้รับการตอบสนอง อย่างกว้างขวาง มีการพูดกันมาก ในที่สุดก็ถูกบรรจุเป็นโยบายพรรคการเมือง นโยบายสำคัญของรัฐบาล และมีมาตรการรูปธรรมสนับสนุนในโมเดลนี้เกิดขึ้นมากมาย SME Model คือการเปิดโอกาสใหม่ให้กับรากหญ้้าของสังคม
“กระบวนการทางความคิดเรื่องเศรษฐกิจของผมจึงต่อเนื่องจากกระบวนความคิด เรื่อง In just society มันพัฒนามาเรื่อย คนอื่นอาจจะคิดว่า การยื้อแย่งอำนาจรัฐก็เพื่อแบ่งสินทรัพย์ของรัฐ แต่สำหรับผม คือการสร้างโอกาสให้ไพร่ มีโอกาสในชีวิตที่ค่อนข้างจะเท่าเทียมกัน เวลาเราพูดอย่างนี้ถูกมองว่าซ้าย ขณะที่ เลสลี่ เตอโรด์จากฮาร์วาร์ดพูดว่า no pyramid be built from the top พวกนั้นบอกว่าพูดถูก มันขลัง ขณะที่ผมพูดมา 30 กว่าปี ไม่ขลัง (หัวเราะ)
SME ในกระบวนการ Globalization ในสถานะปัจจุบันของสินทรัพย์ที่เรามีอยู่ทั้งปัญญาและธรรมชาติ มีทางเดินที่เราต้องเดินทางนี้ กระบวนการต้องทำให้สินทรัพย์ทางปัญญาของโลกรวมทั้ง skill มาก่อประโยชน์ ให้สิ่งที่มีอยู่ ทั้ง dimension ของปัญญาและสินทรัพย์ สิ่งนั้นคืออะไร? คือ Skill ของยุโรป และของอเมริกาบางส่วน และของจีน ของญี่ปุ่น เราก็ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับ skill เหล่านั้น ซึ่งไม่ใช่บริษัทใหญ่ๆ แต่กลุ่มครอบครัวบางแห่ง เพราะในอดีต 30-40 ปีที่ผ่านมา เรานำโรงงานมาไทยโดย BOI แต่ลืมนึกไปว่า สิ่งที่จะต้องเข้ามาคือปัญญา เพราะปัญญามี ก็จะตามมาด้วย venture capital และโรงงานก็เกิดขึ้น ไม่ใช่โรงงานก่อน ซึ่งเป็นของคนอื่น ไม่มีกระบวนการคุม margin ของการตลาดเลย การที่เราจะเปิดให้สิทธิประโยชน์ของสังคม ก็ควรจะเป็นสังคมที่มีปัญญา ซึ่งจะทำภาษีรายได้แก่สังคมไทย ซึ่งสหรัฐฯ ทำมานานแล้ว ขณะนี้สิงคโปร์ระดมคนมีปัญญาเข้ามา เพื่อจ่ายภาษีให้และสร้างความมั่งคั่งให้มัน นี่คือ trend ใหม่ของโลก นี่คือ Globalization จริงๆ เราต้องทำในกรอบแห่งความสามารถของตัวเอง ที่ไม่ใช่ลอยๆ”
บางคนสรุปความคิดที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องอย่างเป็นระบบของพันศักดิ์ วิญญรัตน์ มาจากตกผลึกที่สำคัญจากความต่อเนื่องจาก เหตุการณ์สำคัญของสังคมไทยที่ปะทุมาตั้งแต่เดือนตุลาคม2514 และ2519 แต่เป็นตกผลึกที่พัฒนาไปในGlobalization
พันศักดิ์ วิญญรัตน์ สนุกกับความคิดของเขา ใครก็ตามตอบสนองความคิดของเขา เขาก็พร้อมทำงานให้อย่างเต็มที่ เละที่สำคัญที่สุดที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงในความคิดของเขา เขาไม่มีความทะเยอทะยานทางการเมือง เพราะเข้าใจตนเองดีกว่าเขาเหมาะที่จะเป็นนักคิดที่อยู่ข้างหลังมากกว่าการทำงานบริหาร ซึ่งว่าไปแล้วเขาไม่ถนัด ซึ่งหลายคนวิจารณ์ว่าปัญหาของเขาอย่างหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจหนังสือไม่ประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจ เพราะเขาไม่สนใจธุรกิจและการจัดการ โดยเฉพาะตำแหน่งการบริหารทางการเมืองด้วยแล้วไม่ต้องกับบุคลิกของเขา แต่อย่างไรก็ตามการเมืองมักจะมายุ่งเกี่ยวกับเขาเสมอๆ
ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2544 และเป็นคำนำ หนังสือ”ใบปลิว” พันศํกดิ์ วิญญรัตน์ 2544