หมายเหตุ
บทความชุดนี้ มาจากความพยายามอรรถาธิบายแนวโน้ม ปรากฏการณ์ที่มีอิทธิพลต่อสังคม โดยผสมผสานเรื่องราวที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกันในหลายสาขาและมิติ ว่าด้วยกระแสตรงกันข้าม กับปรากฏการณ์ที่ต่อสู้ เอาแป็นเอาตาย การเผชิญหน้า อย่างแข็งกร้าว ที่ปกคลุมปริมณฑลของสังคมไทย เพื่อเป็นแนวความคิดอ้างอิงระดับใดระดับหนึ่ง ในการก้าวเข้าสู่ปี 2553
บุรุษผู้นี้ ค้นคิดกิจกรรมที่ตื่นตา ตื่นใจ แก่สังคมธุรกิจได้เสมอ เข้าใจว่าน่าจะยกเว้นเรื่องนี้ ดูเผินๆอาจจะไม่ได้รับความสนใจนักข้อมูลชิ้นเล็ก แค่ประกอบข่าว“เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2552 มูลนิธิกสิกรไทยได้เดินทางไปมอบ ′ห้องสมุด′ ให้กับโรงเรียนบ้านน้ำพาง อ.แม่จริม จ.น่าน โดยมีบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย ล่าสุดได้ซื้อโรงแรมน่านฟ้า ซึ่งเป็นโรงแรมเก่าแก่ที่เป็นไม้ทั้งหลังอยู่ใจกลางเมืองน่าน กำลังจะปรับปรุงตกแต่งใหม่ในราว ๆ ต้นปีหน้า แต่จะคงสภาพ ′ไม้′ เอาไว้ทั้งหลัง และคาดว่าจะเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นโรงแรมภูผาน่านฟ้า พร้อมกับเล่าว่า ปีนี้มาเมืองน่านหลายครั้ง ชอบเพราะเป็นเมืองที่สงบ”บางส่วนจากข่าว(ประชาชาติธุรกิจออนไลน์/3 ธันวาคม พ.ศ. 2552) เมื่อตัดข้อความที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์เศรษฐกิจของเขาออกไป ยิ่งดูเป็นเรื่องค่อนข้างธรรมดา
โรงแรมน่านฟ้าแห่งนี้ เปิดบริการมาตั้งแต่ปี 2477 ว่ากันว่าตรงกับปีที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว (ร.7) ทรงสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 หรือสมัยที่พันเอก พระยาพหลฯเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่สองของประเทศ (อ้างจาก www.photoontour.com)
ที่สำคัญกว่านั้นคือการสะท้อนภาพการค้าไม้ทางภาคเหนือในยุคอาณานิคม ที่ยังเหลือร่องรอยประวัติศาสตร์ให้เห็น เป็นเรื่องที่ตั้งใจหรือไมก็ตาม ต้นตระกูลล่ำซำ มาลงหลักปักฐานในเมืองไทยเริ่มต้นด้วยกิจการค้าไม้ ในยุคเดียวกันนั้น
“อึ้งเมี่ยวเหงียน เดินทางสู่สยามในต้นรัชกาลที่ 5 ..คุณชวดโดยสารเรือเดินทะเลจากเมืองจีนมายังบางกอก คุณชวดก็น่าจะตั้งต้นจากเมืองซัวเถา ซึ่งรุ่งเรืองและเป็นแหล่งอพยพของชาวจีนแคะ และแต้จิ๋วมากที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าวผ่านฮ่องกงแล้ว จึงมาเทียบตรงที่กรุงเทพฯ ระยะแรกท่านได้เข้าทำงานในร้านขายเหล้าของชาวจีนแคะผู้หนึ่ง ซึ่งมีกิจการค้าไม้สักอยู่ด้วย ..ยามว่างงานประจำก็เข้าไปช่วยดูแลในร้านขายไม้ ท่านจึงฝึกจนเชี่ยวชาญเรื่องไม้อย่างดี และหวังว่าจะได้ยึดอาชีพค้าไม้นี้ตั้งตัว ในที่สุดคุณชวดก็สามารถมีธุรกิจของตนเอง เปิดร้ายขายไม้สักติดกับลำน้ำเจ้าพระยาที่ตำบลจักรวรรดิ อำเภอสัมพันธวงศ์ ชื่อ “ก้วงโกหลง” (2444) และทำสัมปทานป่าไม้อยู่แถวจังหวัดนครสวรรค์ กับแพร่”หนังสือ “ดั่งสายลมที่พัดผ่าน” (สำนักพิมพ์ในเครือมติชน)ของคุณหญิงชัชนี จาติกวณิช สมาชิกคนสำคัญในรุ่นที่ 4 ของตระกูลล่ำซำ(น้องสาวบัญชา ล่ำซำ ถือศักดิ์เป็นอาว์บัณฑูร) กล่าวถึงต้นตระกูลล่ำซำเอาไว้
ในช่วงเวลานั้น (2480-2475) สัมปทานไม้สัก กิจการโรงเลื่อยและการส่งออกไม้สักถูกครอบงำโดยกิจการจากยุโรปทั้งสิ้น อาทิ The Bombay Burmah, Borneo, East Asiatic, Louis T.Leonowens, Anglo-Siam ขณะพ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเลเป็นพียงรายเล็กๆ อยู่ภายใต้การครอบงำของฝรั่งโดยตรงและโดยอ้อม อิทธิพลของฝรั่งต่อเนื่องยาวนานแม้ว่า จะเผชิญวิกฤติการณ์เศรษฐกิจก็ยังคงอยู่จนถึงการเปลี่ยนการปกครองของไทยปี 2475” (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมใน ล่ำซำกับฝรั่งใน 1 ศตวรรษ )
บัณฑูร ล่ำซำ เป็นรุ่นที่5 ของตระกูลเก่าแก่ของคนไทยเชื้อสายจีนที่เขามาเมืองไทย ก่อนสงครามโลกครั้งที่1 ขณะเดียวกันทางสายมารดาเป็นราชนิกุล สืบเชื้อสายมาจากกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ต้นสกุลเทวกุล ซึ่งสะท้อนความภูมิใจ และมีอิทธิพลทางความนึกคิดของเขาอย่างมาก
กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เป็นพระเชษฐาของพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ในรัชกาลที่ 5 ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศนาน 38 ปี ทั้งรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 แต่เดิมพำนักอยู่ วังสะพานถ่าน ต่อมารัชกาลที่ 6 ได้สร้างวังใหม่ให้บนถนนสามเสน บนที่ดินพระราชทานโดยรัชกาลที่ 5 วังเทวะเวศม์ ออกแบบก่อสร้างโดย EG Gollo วิศวกรชาวอิตาเลียน ผู้ทำหน้าที่ดูแลก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม วังเทวะเวศม์สร้างเสร็จในปี 2461 ในบริเวณเดียวกันนั้นก็มีการก่อสร้างวังขนาดเล็ก สำหรับลูกๆ ในเวลาต่อมา ซึ่งรวมทั้งวังของ ม.จ.ปรีดิเทพพงษ์ บิดาของ ม.ร.ว.สำอางวรรณ เทวกุล มารดาของบัณฑูร ล่ำซำ ด้วย
ต่อมาวังเทวะเวศม์บางส่วนถูกขายออกไป อาคารหลัก ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ซื้อมาเพื่อบูรณะเป็นอาคารประวัติ ศาสตร์ บัณฑูร ล่ำซำ เคยเล่าให้ผมฟังว่า วังเดิมของ ม.จ.ปรีดิเทพพงษ์ ถูกรื้อ เขาได้ซื้อต่อและนำชิ้นส่วนของวังมาย่อและสร้างใหม่โดยงานสถาปัตยกรรมเดิม บนที่ดินที่บ้านสามญาณ โดยให้ชื่อ “เรือนเทวะเวศม์” เมื่อปี2544
บ้านสามญาณก่อสร้างบนเนื้อที่ 10 ไร่ ซึ่งเขาเพียรพยายามหาอยู่นานเพื่อจะได้ที่ใกล้วัดญาณสังวราราม ซึ่งเป็นวัดของสมเด็จพระสังฆราช ถือเป็นบ้านพักผ่อน สร้างขึ้นเกือบ20 ปีแล้ว ทั้งนี้ย่อมเชื่อมโยงกับการที่ บัณฑูร ล่ำซำ เป็นพุทธมามกะ ผู้ดูแลทรัพย์สินของศาสนาที่มีจำนวนมากมาย ในฐานะผู้จัดการมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย และไวยาวัจกร วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดญาณสังวรามด้วย
ในฐานะตระกูลล่ำซำ มีความสัมพันธ์กับ”ฝรั่ง”อย่างต่อเนื่อง ในกระบวนการสะสมความมั่งคั่งทางธุรกิจ บัณฑูร ล่ำซำ ก็ถูกคาดหมายไว้อย่างสูงในการสืบทอด เขาจึงถูกส่งไปเรียนหนังสือในต่างประเทศตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่การเรียนโรงเรียนประจำที่ดีที่สุดของสหรัฐฯ Phillips Exeter Academy หลังจากนั้นศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก อย่าง Princeton และ Harvard
ในบทบาทบริหารธนาคารกสิกรไทยอย่างเต็มที่เป็นเวลาเกือบ 18 ปีแล้ว ก็นับว่าเป็นงานที่หนักตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งก็สามารถนำพาธนาคารผ่านอุปสรรคสำคัญมาได้ โดยเฉพาะในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ได้ความหมายพื้นฐานการศึกษาในระบบที่ดีเท่านั้น หากเขาได้เรียนรู้ และผ่านประสบการณ์ ก่อนขึ้นสู่บทบาทนำอย่างแท้จริงเป็นเวลานานเกือบ15 ปี ถือเป็นช่วงของการปรับตัวของธนาคารไทยดั้งเดิมที่ไดคุ้มครองอย่างดี มาสู่การเผชิญมรสุมระบบการเงินและเศรษฐกิจระดับโลกตามลำพังมากขึ้น
ในมิติตัวตนของบัณฑูร ลำซำ นับว่าเป็นที่น่าสนใจในวงสังคมธุรกิจมากคนหนึ่ง ในฐานะมิติอีกด้านที่มิใช่นายธนาคารทั่วไป หากมีคนสนใจ เข้าใจบางสิ่งบางที่ ที่ตกผลึกอย่างน่าสนใจ ในฐานะคนๆหนึ่ง หรือมีบทบาทอื่นๆที่ไม่ใช่นายธนาคารอย่างที่กล่าวบางส่วนข้างต้น
ครั้งนี้กรณีมูลนิธิกสิกรไทยซื้อโรงแรมเล็กๆ ที่ทำด้วยไม้สัก กลางเมืองสงบ เช่นจังหวัดน่าน ผมคิดว่ามีดวามหมายที่แตกต่างและน่าสนใจมากทีเดียว
ประการแรก ควรเข้าใจก่อนว่า แม้เจ้าของโรงแรมน่านฟ้าจะเป็นในนามส่วนตัวหรือ มูลนิธิกสิกรไทย ความเชื่อมโยงย่อมมาถึงธนาคารและกลุ่มธุรกิจในเครือธนาคารกสิกรไทยหรือที่เรียกใหม่ว่า KBank อย่างมิพักสงสัย
ประการถัดมา ความเป็นเจ้าของธุรกิจธนาคารในอาคารโรงแรมเก่าแก่ มีที่คุณค่าทางประวัติศาสตร์เช่นนี้ ในสายตาสาธารณชน มิได้มีความเชื่อมโยงถึงมิติทางธุรกิจโดยตรง หากเชื่อมถึงความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับสังคมในมิติที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของสังคม แม้จำเป็นต้องตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ที่แน่นอน แต่การแถลงอย่างแน่ชัดของบัณฑูร ล่ำซำว่า จะดูแลรักษาสภาพเดิมอาคารประวัติศาสตร์นี้ไว้อย่างดี ย่อมเชื่อมโยงถึงกิจกรรมทางวัฒนธรรมทางสังคม และสร้างคุณค่าที่น่าสนใจขึ้นมาทันที
แนวคิด และบทเรียนนี้เป็นภาพสะท้อนกว้างพอสมควร แม้ธนาคารกสิกรไทยมีอายุเพียง60 ปีเศษ แต่เห็นคุณค่าประวัติศาสตร์ที่ไกลกว่านั้น ธุรกิจบางแห่งดำรงอยู่อย่างยาวนานกว่านั้น ทั้งมีสินทรัพย์ที่มีคุณค่าประวัติศาสตร์อยู่แล้ว แต่ยังไม่เห็นคุณค่า หรือไม่สามารถแสดงคุณค่าความสัมพันธ์ที่ดี กับสินทรัพย์ที่ว่านั้นได้ ย่อมสัมพันธ์กับ ความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์อันกว้างขวางของผู้นำระดับต่างๆองค์กรนั้นๆ
สิ่งที่สำคัญกว่านั้น ความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวโดยตรงข้องกับกิจการนี้ เป็นมิติที่น่าสนใจอย่างว่ามีความหมายและจะจัดการอย่างไร
ปกติธุรกิจไทย จำเป็นต้องมีสิ่งเรียกว่า “กิจกรรมทางสังคม” เป็นความเข้าใจที่หยาบๆมาก ว่าด้วยการจัดสรรเงินก้อนหนึ่งเพื่อตอบสนองกิจกรรมต่างๆแบบให้เปล่า เป็นงานสังคมสงเคราะห์ที่มองว่าตนเองเป็นผู้ให้ ไม่ให้ความสำคัญการบริหารจัดการเช่นเดียวกับธุรกิจหลัก นอกจากบรรจุตัวเลขงบประมาณประเภทนี้ไว้ และสรุปว่าแต่ปีบรรลุเป้าหมายในการใช้เงินมากน้อยแค่ไหน
“ความเป็นเจ้าของ”สินทรัพย์ที่ว่านี้ มีความหมายแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ “งานสังคมสงเคราะห์” นั่นคือธุรกิจที่มีกระบวนการจัดการที่ต่อเนื่องจากนั้น นั้นคือนำประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจมาใช้หรือมาปรับใช้กับการบริการด้านอื่นๆซึ่งอาจจะมีเป้าหมายที่แตกต่างกันไป ในชีวิตธุรกิจที่ซับซ้อนจากนี้ มิได้มองความเจริญงอกงามหรือคุณค่าทีเพิ่มขึ้นจากตัวเลขงบการเงินเท่านั้น
อีกด้านหนึ่ง ธุรกิจจะได้เรียนรุ้อย่างจริงใจและจริงจังว่า ความเป็น “ผู้ให้”และ “งานสังคมสงเคราะห์” มีมติที่คับแคบมาก ผมไม่คิดเลยว่า ความสนใจกับคาถาใหม่ CRM ของธุรกิจไทยเกินจริงไปมาก การเรียนรู้จากสังคม การเรียนรู้ในมิติต่างๆที่มิใช้ข้ออ้างที่ว่าเพียงว่า “ความต้องการของลูกค้า” (จาการวิเคราะห์ วิจัยอย่างหยาบๆ) เท่านั้น การดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณค่า และยั่งยืนมากขึ้น ความสัมพันธ์กับสังคมเป็นเรื่องจริง มิใช่ฉาบฉวย
ความพยายามธุรกิจทั้งหลาย ด้วยยุทธ์ศาสตร์สื่อสารฝ่ายเดียว ด้วยการลงทุนจำนวนมากจ้างมีเดีย โดยขณะเดียวกันไม่ได้สนใจสื่อสองทางอย่างจริงจัง ไม่ว่าเป็นความพยายามขายสินค้าโดยตรงหรือโดยอ้อม เช่น กรณีที่อ้างความสร้างสรรค์ หรือดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างดี บางคนเชื่อว่า ถือความแนบเนียนในการขายสินค้านั้น โดยหวังว่าโฆษณามาก ๆแล้ว สาธารณะชนจะเชื่อเช่นนั้น มันก็คือHard sell ที่ค่อนข้างจะตลาดๆแล้วในปัจจุบัน และเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งกำลังกลายเป็นสิ่งไม่น่าเชื่อถืออีกต่อไป
การเรียนรู้จากสังคมเป็นสิ่งสำคัญมากขึ้น มีมิติต่างๆมากขึ้น บางที่บัณฑูร ลำซำ ที่เคยคิดธุรกิจธนาคารมีความเป็นท้องถิ่นน้อยมากนั้น วิถีชีวิตของคนในจังหวัดน่าน อาจจะมีสาระนำไปสร้างบริการธนาคารที่แตกต่างอย่างจับต้องได้ ให้เข้ากับลูกค้าชาวเอเชียได้ดีกว่าธนาคารต่างชาติก็เป็นได้ โดยไม่เพียงให้ความสำคัญเฉพาะการจัดการลิสต์ลูกค้าที่อยู่ในฐานข้อมูลที่ลงทุนระบบเทคโนโลยี่ไว้อย่างมากมายเท่านั้น
เมื่อไม่นานมานี้ ผมอ่านบทเรียน ความสัมพันธ์ที่กว้างกว่านั้น คือการบริหารความสัมพันธ์ระดับโลกของประเทศต่างๆ จากยุคสงครามเย็น มาสู่โลกาภิวัตน์นั้น หลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรป เริ่มเรียนรู้ว่า การสร้างอิทธิพลของประเทศมีมิติมากว่าในอดีตมาก เช่น เยอรมนีหลังทลายกำแพงเบอร์ลิน มียุทธ์ศาสตร์ใหม่ดำเนินนโยบายการทูตแบบนุ่มนวล ผ่านงานทางวัฒนธรรม เช่นดนตรี กีฬา งานออกแบบ เป็นต้น หรือกรณี British Council ของสหราชอาณาจักรเป็นบทเรียนดั้งเดิมที่พัฒนาการอย่างต่อเนือง (Monocle magazine, September09 “Weapon of Mass Seduction: Why soft is the new hard” และ Monocle magazine, December09, January10 “A Better Blueprint-Global …01 Soft power diplomacy school”)
สำหรับสังคมธุรกิจไทย จิมทอมป์สัน ก็ทำมาแล้ว แม้ว่าผู้คนจะมองสินค้าเริ่มต้นมากจาสินค้าที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมแต่วันนี้สินค้าและบริการขยายไปมาก แต่ผู้บริโภคก็ยังเชื่อมั่นเช่นนั้น
“จิ่ม ทอมป์สันฟาร์ม ตั้งใจในการสร้างคุณค่าฟาร์ม อ้างอิงกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่น ในโมเดลที่ซับซ้อนขึ้น เป็นการสร้างสินค้าทางวัฒนธรรมระดับสูงขึ้น จากเดิมเพียงผู้ค้าสินค้าไหมไทยดูเหมือนมีความพยายามเชื่อมโยงอย่างงายๆกับ พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมปืสัน (สถานที่เก็บโบราณวัตถุไทย ตามแบบฉบับนักสะสมของเก่า) ซึ่งไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงในการกระบวนการสร้างสินค้า บทเรียนจิมทอปสัน ท้าทายสังคมธุรกิจไทยเสมอ” (อ่านเรื่อง ภาพสะท้อนเขาใหญ่ (3) จากคีรีมายา ถึงจิมทอมป์สันฟาร์ม)
“สังคมธุรกิจไทย กำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุคห่างการสร้างคุณค่าเชิงวัฒนธรรม จากนี้ไป เหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งธุรกิจและองค์กรอื่นๆ เจาะจงสื่อสารกับสังคม ย่อมมีความจริงใจและความละเมียดมากขึ้น ชิ้นส่วนแห่งองค์ประกอบสำคัญ มิใช่เรื่องเอิกเกริก ที่ใช่ไอเดียพื้นๆ และก็มิใช่เรื่องทางเทคนิคที่เข้าใจมิติของการออกแบบบางมิติเท่านั้น หากเป็นงานระดับคุณค่าเชิงวัฒนธรรม มีการศึกษา ค้นคว้า สามารถเชื่อมโยงระหว่างกันกับการ “ออกแบบ”หลายมิติ และที่สำคัญตอบสนอง”คุณค่า”ขององค์กรกับสังคม และยุทธ์ศาสตร์ของกิจการด้วย”(อ้างจากงานเขียนของผมเองในหนังสือ Information Architect)
บัณฑูร ล่ำซำ แห่งธนาคารกสิกรไทย เป็นอีกคนหนึ่งที่เข้าใจเรื่องนี้อย่างดี
บัณฑูร ล่ำซำ
เกิด
15 มกราคม 2496
การศึกษา
โรงเรียนเซ็นคาเบรียล
โรงเรียนสาธิตประสานมิตร
High School, Phillips Exeter Academy
ปริญญาตรี วิศวกรรมเคมี , Princeton University
MBA, Harvard Business School
ประสบการณ์
2520 ร้อยตรี ประจำกองบัญชาการทหารสูงสุด
2522 พนักงานฝ่ายต่างประเทศ ธนาคารกสิกรไทย
2527 ประสานงานจัดระบบคอมพิวเตอร์
2535 กรรมการผู้จัดการ
2547 – ปัจจุบัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
2546 – ปัจจุบัน ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์การ