Soft Power (2) มหาวิทยาลัยไทย

ใน 5ปีมานี้ดูเหมือนมหาวิทยาลัยไทยมีการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง บางสิ่งบางอย่างมีสีสันอย่างมากช่วงหนึ่งของระบบการศึกษาไทย     ในขณะที่เปิดหลักสูตรใหม่สอนเป็นภาษาอังกฤษกันมากมายนั้น สำหรับหลักสูตรพื้นฐานก็พยายามค้นค้นคิด ทดลอง และปรับเปลี่ยน ระบบคัดเลือกเข้าเรียนระดับมหาวิยาลัยอย่างมากมายเช่นเดียวกัน

ดูเหมือนเป็นความพยายามในการพัฒนาแต่ก็มีบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญยังไม่เปลี่ยน

ผมต้องขออนุญาตผู้อ่านเล่าเรื่องตนเองมากเป็นพิเศษ ในฐานะผู้ปกครองนักเรียนที่กำลังจะเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย ย่อมมีประสบการณ์โดยตรงพอจะอ้างอิงได้   แม้ว่าส่วนใหญ่มิใช่ประสบการณ์ตรงในประเทศไทย แต่เป็นความพยายามจะอ้างอิงระบบต่างประเทศในเชิงหลักการโดยเฉพาะเรื่องการศึกษา ผมเชื่อว่ามีหลักการพื้นฐานเช่นเดียวกันทั่วโลก  เมื่อไม่นานมานี้ผมเคยเขียนมาแล้วตอนหนึ่ง ว่าด้วยจุฬาฯและการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก (โปรดอ่าน  การศึกษามีมาตรฐานเดียว )

 จะว่าไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยไทยในยุคนี้เสียเลยก็ไม่เชิง หลายปีมานี้ญาติพี่น้องมักมาปรึกษาผมเสมอ พวกเขาและเธอคงคิดว่า เคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับการหาโรงเรียนให้ลูกๆ หรือเป็นคนชอบอ่านหนังสือก็แล้วแต่  ผมได้ช่วยอ่านเอกสารต่างๆ(ในแต่ละปีดูเหมือนมีการเปลี่ยนแปลง และมีรายละเอียดซับซ้อนพอสมควร) แล้วประเมินโอกาสให้คำแนะนำในการเลือกวิชาเรียน ว่าไปแล้วก็มีส่วนอยู่บ้างไม่มากก็น้อย หลานๆ สามารถข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของเมืองไทยได้

 สิ่งที่สำคัญของการเฝ้ามองเรื่องนี้  ในแนวคิดหลักของบทความเสนอภาพสะท้อนจากพลังอำนาจที่อาจมองไม่เห็นซึ่งขับเคลื่อนสังคมไทย   เป็นความพยายามแสวงหาทางออก  ว่าด้วยหลักการและสิทธิพื้นฐานเกี่ยวกับ โอกาส และทางเลือก  ในเรื่องการศึกษา ซึ่งจากนี้ไปจะมีแรงกดดันให้เปิดกว้างมากขึ้น

 “หนึ่ง–ผู้คนที่มีความปรารถนาจะส่งบุตรหลานไปศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมในต่างประเทศนั้น พวกเขาควรจะเชื่อมโยง เป้าหมายของเราจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เข้ากับการปรับยุทธ์ศาสตร์ในเรื่องการศึกษาของชาติที่จำเป็นต้อง ปรับตัวครั้งใหญ่  ผมหวังว่าผู้คนเหล่านี้จะเชื่อมโยงเป้าหมายของตนเอง เข้ากับยุทธ์ศาสตร์ในการสร้างคน มิใช่เพียงเป็นบุคลากรที่มีโอกาสมากกว่าคนอื่นๆในสังคมไทยเท่านั้น หากจะเป็นสร้างทรัพยากรมนุษย์ของชาติในการทำให้ชาติไทยสามารถ ทั้งแข่งขันในระดับโลก หรือดำรงอยู่ในโลกในฐานะที่สำคัญและบุคลิกของชาติไทยอยู่

ข้อความข้างต้น เป็นแนวคิดพื้นฐานของผมเอง คัดมาจากบทนำหนังสือ  หาโรงเรียนให้ลูก (2545) ของตนเอง มาจากผลผลิตจากความพยายามศึกษาข้อมูลโรงเรียนมัธยมที่สอนเป็นภาษาอังกฤษทั่วโลก เพื่อจะหาที่เรียนให้บุตรคนโต จากนั้นไม่นานผมก็ส่งลูกไปเรียนที่นิวซีแลนด์ ในช่วงประเทศนี้กำลังเปลี่ยนแปลงหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาครั้งใหญ่

 ความพยายามของประเทศเล็กๆพลเมืองเพียง 4 ล้านคน แต่มีนักวิทยาศาสตร์ได้รางวัลโนเบลสองคน พยายามแสวงหาหลักสูตรของตนเองให้แยกตัวออกจากประเทศอังกฤษที่เป็นประหนึ่งผู้ดูแลทั้งทางตรง และทางอ้อมมาตั้งแต่เริ่มต้นประเทศนี้     หลักสูตรของนิวซีแลนด์พยายามตอบสนองผู้คนของเขา   พยายามผสมวิชาการกับวิชาชีพ และพยายามมองไปข้างหน้าว่าพลเมืองของเขาต้องมีความรู้และทักษะอย่างไร แต่ในบางขณะมองข้ามความเชื่อมโยงมาตรฐานกับการศึกษากระแสหลักของโลกไปบ้าง

 ผมค่อนข้างสับสนและมีปัญหาพอสมควรเมื่อบุตรคนโตใกล้จบการศึกษาระดับมัธยม  โดยเฉพาะในการเทียบเคียงผลการศึกษาของบุตร(ตามระบบนิวซีแลนด์)เข้ากับมาตรฐานประเทศอื่นๆ แม้แต่กับระบบใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร ตามแนวคิดอันมั่นคงของเราที่ว่า จะไม่ให้บุตรเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยใน2ประเทศ (ไทยและนิวซีแลนด์)   จนที่สุดเมื่อบุตรชายคนเล็ก ถึงเวลาจะเดินทางไปเรียนที่นิวซีแลนด์ จึงตัดสินใจให้เรียนหลักสูตรที่มิใช่ของนิวซีแลนด์ หากเป็นหลักสูตรของอังกฤษ (Cambridge International Examination—CIE) เป็นหลักสูตรทางเลือกของประเทศที่กำลังปรับระบบการศึกษา นักการเมืองนิวซีแลนด์บางคนบอกว่า เป็นหลักสูตรที่ใช้ในประเทศอาณานิคม

 นั้นเป็นการตัดสินใจก่อนหน้าไปแล้ว ในที่สุด เมื่อบุตรคนโตจบมัธยมจากนิวซีแลนด์หลังจากเรียนมา 5ปีก็ดำเนินการสมัครเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยในประเทศออสเตรเลียและอังกฤษ ตอนนั้นผมไม่ค่อยแน่ใจ ผลการเรียนของนิวซีแลนด์กับประเทศจะเปรียบเทียบกันอย่างไร เทียวถามใครต่อใคร ก็ไม่มีใครตอบได้ชัดเจน แม้แต่กระทรวงศึกษานิวซีแลนด์

การวางแผนการเลือกวิชาเรียนระดับมหาวิทยาลัยของบุตรตนเอง  ดูสับสนและไม่มั่นใจ ต่างกันอย่างมากเมื่อเทียบกับตอนที่ผมให้คำปรึกษาและแนะนำหลานๆเข้ามหาวิทยาลัยไทย

แต่สุดท้ายสิ่งที่ผมเผชิญกลับน่าสนใจอย่างยิ่ง  มหาวิทยาลัยทั้งในออสเตรเลียและอังกฤษทุกแห่งสามารถมีคำตอบให้เสมอ  จากระบบและกระบวนการทำงานแม้มาตรฐานโดยรวมดูไม่ชัดเจนและแตกต่างกัน  โดยเพียงพิจารณาผลการเรียนในระดับมัธยมและไม่มีระบบการสอบคัดเลือกแยกต่างหาก

ผมเริ่มต้นศึกษาเรื่องนี้มาแล้วอย่างน้อย 2 ปี โดยอ่านจากWebsiteมหาวิทยาลัยหลายสิบแห่งทั่วโลก ขอProspectusให้ส่งมาอ่านที่บ้านจากมหาวิทยาลัยเกือบร้อยแห่งทั่วโลก ทั้งนี้ไม่รวมการเดินทางไปงานแฟร์ที่เปิดขึ้นในกรุงเทพฯซึ่งถือว่าตลาดของมหาวิทยาลัยต่างประเทศแห่งหนึ่ง (แม้ว่าการแฟร์จะให้ความสำคัญในการศึกษาปริญญาโทมากเป็นพิเศษแต่ระดับปริญญาตรีก็พอมีคำตอบได้บ้าง)  รวมทั้งมีโอกาสเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยในต่างประเทศบางแห่งด้วย  จากความต้องการศึกษาเพื่อสนับสนุนให้บุตรชายสามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยและวิชาที่เหมาะสมกับความสามารถ ความต้องการได้อย่างดี เท่านั้น หากได้ภาพใหญ่ของระบบการศึกษาช่วงสำคัญนี้ระดับโลกด้วย(บางที่อาจจะเขียนหนังสือเรื่อง“หามหาวิทยาลัยให้ลูก”ขึ้นมาสักเล่มในไม่ช้านี้ ก็เป็นได้)

ภาพเริ่มต้นจากเฉพาะเจาะจงก่อนทั้งสามประเทศ(นิวซีแลนด์  ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร)ที่ผมอ้างมาข้างต้น  มีระบบการศึกษาคล้ายคลึงกัน คือมีการวัดผลปลายปี ด้วยข้อสอบระดับประเทศติดต่อกันในช่วงมัธยมถึง 3 ปี จากนั้นคะแนนผลการเรียนในปีสุดท้าย (เป็นสำคัญ) จะถูกประเมินว่าสามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้หรือไม่ในเกณฑ์กว้างๆ   ผลการเรียนระดับบุคคลสามารถนำไปใช้ไปเลือกวิชาแต่ละมหาวิทยาลัยที่ต้องการ โดยสามารถประเมินโอกาสได้อย่างดีพอสมควร

ส่วนภาพที่ใหญ่ขึ้น ทั้งสามประทศมีระบบทางเลือกให้กับผู้เรียนจบระดับมัธยมไว้อย่างหลากหลาย  สำหรับผู้ที่คะแนนไม่สามารถเข้าเรียนในระกับมหาวิทยาลัยตามเกณฑ์พื้นฐานที่มีไว้ สามารถแสวงหาทางเลือกอื่น   เท่าทีทราบอย่างน้อย 2ทาง หนึ่งให้โอกาสเรียนเพิ่มเติมและสมัครเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ในช่วงระยะสั้นๆ หรือบางกรณีให้โอกาสในการเรียน  โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาในการเรียนเพิ่มเลย (เช่นMonash College สถาบันการศึกษาที่เปิดขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ที่มีผลการศึกษาไม่ถึงเกณฑ์เข้า Monash Universityได้เลย  โดยที่ไม่เสียเวลาเรียน ผู้ผ่านการเรียนโดยใช้เวลา1 ปีสามารถเข้าเรียนปีที่สองของมหาวิทยาลัยได้) อีกทางหนึ่ง ผ่านการทำงานมีประสบการณ์ระยะหนึ่ง คุณค่าประสบการณ์สามารถทดแทนผลการเรียนระดับมัธยมที่ไม่ถึงเกณฑ์เข้ามหาวิทยาลัยได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพที่กว้างขวางในเชิงหลักการพื้นฐาน  ระบบการศึกษาของประเทศเหล่านี้สร้างเส้นทางหลากหลายในการเดินทางเข้าศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ไม่จำเป็นต้องการศึกษาสามัญของระดับมัธยมเท่านั้น  มันเป็นเส้นทางที่ปฏิบัติได้จริง มีข้อมูลยืนยันสิ่งนี้อย่างชัดเจนว่าเส้นทางนี้ มีผู้คนเดินทางจำนวนไม่น้อยเลย

ภาพสะท้อนหนึ่ง จากความเข้าใจของผมเอง  มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานที่มีบุคคลากร มีความสามารถจัดระบบในการเรียน การวิจัยเพื่อพัฒนาคนให้มีความพร้อมในการเริ่มต้นทำงานประกอบอาชีพ  ถือเป็นภาระหน้าที่สำคัญ จากพื้นฐานนั้นมหาวิทยาลัยย่อมถือว่ามีประสบการณ์และองค์ความรู้มากที่สุดในกระบวนการเรียนระดับอุดมศึกษาทั้งระบบ ทั้งนี้รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงมาสู่ความสามารถในการคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมในการเรียนซึ่งเป็นกระบวนการเริ่มต้นด้วย

ระบบการคัดเลือกผู้เข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยทั่วโลกล้วนให้ความสำคัญ  ตั้งแต่กระบวนการพิจารณาเป็นรายบุคคลและการตัดสินในการเลือกผู้เรียนสุดท้าย ล้วนอยู่ทีมหาวิทยาลัย    ส่วนระบบกลางเป็นเพียงการจัดระบบเพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนให้กับมหาวิทยาลัย    อีกด้านหนึ่งอำนวยความสะดวก บริการผู้สมัครได้รับข้อมูลต่างๆอย่างครบถ้วนถูกต้อง    ภารกิจสำคัญของหน่วยงานกลางอยู่ที่การรวบรวมข้อมูลในภาพรวมทั้งหมด  นำไปพิเคราะห์วิจัยเพื่อการจัดระบบและพัฒนาระบบให้ดีขึ้น  ตลอดจนการปรับเปลี่ยนนโยบายของรัฐให้เหมาะสมเป้าหมายเพื่อประสิทธิภาพของระบบ   มิใช่เรื่องอำนาจอย่างที่เราจมปลักกันและถือเป็นเรื่องสำคัญจนเกินเหตุ

ที่สำคัญที่สุดระบบทั้งหมดเพื่อเป็นหลักประกันในเชิงหลักการ  การศึกษาคือการสร้าง โอกาสและทางเลือกอย่างเต็มที่ให้กับผู้คนและสังคม

วันนี้ผมและบุตรชายกำลังหมกหมุน มีความลำบากพอสมควรในเลือกวิชาเรียนและมหาวิทยาลัยที่เข้าเรียน ตามประสาของคนที่ไม่ชินกับโอกาสทีเปิดกว้าง ถือเป็นประสบการณ์ครั้งแรกในชีวิตก็ว่าได้   เริ่มต้นจากความไม่มั่นใจจึงส่งใบสมัครเผื่อเลือกไปนับสิบแห่ง   แล้วมหาวิทยาลัยนับสิบแห่งก็เสนอ(Offer) ทางเลือกมาให้

 มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรมีระบบกลาง เรียกว่า UCAS  ผู้สมัครสามารถเลือกวิชาที่เรียนได้ ไม่เกิน 5อันดับในรอบแรก ข้อมูลของผู้สมัครจะถูกส่งไปยังสถาบันการศึกษาต่างๆ โดยทางสถาบันเหล่านั้นไม่มีสิทธิที่จะรู้ว่าผู้สมัครเลือกที่ไหน จัดอันดับอย่างไร แม้แต่ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน ดังนั้นเมื่อผู้สมัครที่มีผลการเรียนถึงเกณฑ์ที่ภาควิชาแต่ละแห่งพอใจ ก็จะได้รับข้อเสนอ เข้าเรียน

ในขณะออสเตรเลียมีทั้งระบบกลางบางรัฐ(ในกรณีนักเรียนต่างชาติ)และสมัครตรงแต่ละแห่ง  ในกรณีสมัครผ่านระบบกลางสามารถเลือกได้ประมาณ 9วิชา โดยแต่ละมหาวิทยาลัยจะเสนอวิชาที่ผู้เรียนผ่านเกณฑ์สูงสุดเพียงอันดับเดียว   ส่วนสมัครตรงก็สามารถสมัครได้ทุกมหาวิทยาลัย โดยสามารถเลือกเผื่อได้จำนวนหนึ่ง แต่สุดท้ายมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะเสนอเพียงวิชาเดียว

ระบบสมัครนี้ถือเป็นเกณฑ์ทั่วไปของมหาวิทยาลัยทั่วโลก  โดยเปิดโอกาสให้ตัดสินใจสุดท้ายอย่างอิสระพอสมควร  รวมทั้งมีสิทธิ์ขอเลื่อนการเข้าเรียนได้ไม่เกิน1 ปี

ผมเข้าใจว่าในแต่ละปี มหาวิทยาลัยเผชิญความยุ่งยากพอสมควรในกระบวนการตัดเลือกผู้เข้าเรียน ต้องตอบจดหมาย(ทั้งจดหมายไปรษณีย์ และ Email) ต้องแจกจ่ายเอกสารจำนวนมาก ฯลฯ โดยที่การลงทุนนี้อาจจะมากกว่าสิบเท่าของจำนวนที่รับนักศึกษาได้จริง   กระบวนการจัดการเพื่อเปิดโอกาสและทางเลือกของคนอื่น ย่อมทำให้มีความยุ่งยากเสมอแต่ถือเป็นการลงทุนที่จำเป็น   การลงทุนที่จำเป็นอย่างสำคัญที่สุดคือปรับหลักคิดพื้นฐาน มิใช่เรื่องงบประมาณเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์   เทคโนโลยีราคาแพง ฯลฯ

เราอยู่ในวังวนของความเคยชินกับระบบ“มือที่มองไม่เห็น”จัดการโอกาสและทางเลือกให้ผู้คนในสังคมกันมานาน ผมคิดว่าเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก แต่หากจะเริ่มต้นการเปลี่ยนครั้งใหญ่ สิ่งที่เป็นไปได้ควรจะเริ่มจากเรื่องการศึกษาก่อน โดยเฉพาะเริ่มต้นจากองค์กรความรู้ของสังคม เช่น มหาวิทยาลัย

ส่วนเรื่องใหญ่กว่านั้น   โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการเมือง ผมขอไม่พูดถึงครับ

จาก ENTRANCE    สู่ ADMISSION

 2548- ADMISSION

ระบบการคัดเลือกบุคคลจะเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งถูกนำมาใช้จริงครั้งแรก แทนการสอบเอนทรานซ์ในระบบเดิม  ระบบใหม่นี้คะแนนของผู้ที่จะถูกคัดเลือกเข้าสู่สถาบันอุดมศึกษาจะไม่ได้มาจากการสอบเพียงอย่างเดียวทั้งหมด (O – NET (Ordinary National Educational Test) เป็นแบบสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน เป็นการวัดผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะ ในวิชา ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษ) แต่ยังมีคะแนนบางส่วนจากเกรดเฉลี่ยของที่โรงเรียนมาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาเข้าศึกษาต่อด้วย    

 2553-GAT PAT

ระบบการจัดสอบความถนัดทั่วไป (General Aptitude Test หรือ GAT) และความถนัดเฉพาะด้าน/วิชาการ (Professional a Aptitude Test หรือ PAT) เพื่อใช้เป็นคะแนนในการนำไปสอบระบบกลางเพิ่มเติมเข้าในระบบ ADMISSION   องค์ประกอบในการยื่นคะแนนเข้ามาหาวิทยาลัย ปี 2553   1) GPAX (คือ ผลการเรียนเฉลี่ย 6 ภาคเรียน) 20 %   2) O-NET 30 %   3) GAT 10-50 %   4) PAT 0-40 %

 พิเคราะห์จากพัฒนาการข้างต้น  ล้วนเริ่มต้นมาจากผู้ดูแลการศึกษา  หวังว่าจะจัดทำระบบคัดเลือกที่สามารถเลือกคนที่ต้องการ จากมุมมองฝ่ายเดียว และเชื่อมั่นระบบนี้จะทำงานได้เองอย่างแก้วสารพัดนึก โดยเฉพาะการจัดการความเป็นปัจเจกของผู้ต้องการเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาได้

 แม้ว่าปัจจุบันมหาวิทยาลัยจะเพิ่มทางเลือกมากขึ้น เปิดหลักภาษาอังกฤษมากขึ้น เป็นเพียงทางเลือกสำหรับคนที่มีโอกาสมากอยู่ แล้วในสังคม โดยอ้างอิงอย่างหยาบๆจากฐานทางเศรษฐกิจเท่านั้น

ส่วนความพยายามรับตรงของแต่ละมหาวิทยาลัย แนวคิดก็เหมือนกันกับข้างต้น    เป็นการสร้างทางเลือกและความสะดวกสบายให้กับระบบของมหาวิทยาลัยเป็นสำคัญ มิฉะนั้นคงไม่มีระบบบีบบังคับผู้เรียน  เช่น การกำหนดเส้นตายการตอบรับ  ห้ามสมัครผ่านระบบกลาง  หรือแม้กระทั่งจ่ายค่าเรียนล่วงหน้า

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

One thought on “Soft Power (2) มหาวิทยาลัยไทย”

  1. ชอบงานเขียนของคุณด้านการศึกษา เพราะเป็นมุมมองจาก demand side ซึ่งเป็นมุมมองที่ผู้กำหนดนโยบายการศึกษาไทยไม่ค่อยจะสนใจนัก นโยบายการศึกษาไทยนั้นผลิตกันโดยเน้น supply side เสียเป็นส่วนใหญ่ อย่างที่คุณสรุปไว้ใน 2 บรรทัดสุดท้าย

    ปัญหาสำคัญคือระบบเศรษฐกิจไทยนั้นเติบโตมาได้ด้วยการแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศผ่านโลกาภิวัฒน์มาเป็นศตวรรษ แต่ระบบการศึกษาไทยนั้นไม่พยายามสร้างทักษะเพื่อเตรียมพร้อมเยาวชนไทยให้เป็นประชากรในโลกไร้พรมแดน ไม่ว่าทั้งในระดับมัธยม หรือระดับอุดมศึกษา สร้างเพียงแค่แรงงานที่จะเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีจากประเทศอื่นเท่านั้น

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: