อำนาจเก่าล่มสลาย(1)

ผมมองเรื่องนี้   “คลาสสิก”   เรื่องราวเพียงครึ่งศตวรรษของธุรกิจทรงอิทธิพล ที่เชื่อมโยงหลายมิติกับสังคมไทยและโลก เป็นกระบวนการอันตื่นเต้นสะท้อนความรุ่งโรจน์และเสื่อม เป็นวงจรหนึ่ง เพียงคนรุ่นหนึ่ง การศึกษาเรื่องราวทำนองนี้ จึงควรอยู่ในช่วงที่เปิดกว้างมากขึ้น ท่ามกลางความเป็นไปอย่างซับซ้อนของสถานการณ์ปัจจุบัน ภายใต้หลายระบบสังคมไทย “พัฒนาอย่างไม่สม่ำเสมอ”

จุดเริ่มต้นของเรื่องมาจากที่ดินแปลงใหญ่ที่สุด(ที่ดินกว่า 600 ไร่ริมถนนวิภาวดี) หรือว่ากันว่าเป็นแปลงสุดท้ายของ บสท. เพิ่งเปิดประมูลขายไปก่อนหน่วยงานเฉพาะกิจนี้ จะหมดบทบาท   ทั้งเป็นสัญลักษณ์ของการล่มสลายของอาณาจักรธุรกิจใหญ่ที่มั่นคง และทั้งเป็นสัญลักษณ์ของความพยายามปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาด้วย

แม้ว่าผมเคยเขียนเรื่องนี้หลายครั้ง ว่าไปแล้วอาจจะเรียกว่าเป็นกลุ่มคนกลุ่มเดียวที่เคยสนทนาอย่างเป็นระบบกับตัวละครสำคัญในเรื่องนี้ ในช่วงรุ่งเรือง  แต่ก็เป็นเพียงเสนอภาพค่อนข้างนิ่งในขณะนั้น  แต่จากเวลาที่ผ่านไป ความเคลื่อนไหวจากจุดเริ่มต้นจนมาถึงจุดสำคัญ ถือเป็นวงจรที่จบลงด้วยตัวมันเอง ภาพตอนนี้จึงเป็นภาพกว้าง  เป็นภาพสะท้อนบทเรียนที่มีพลวัตรของสังคมอย่างน่าสนใจ

ถือเป็นภาพสะท้อนเครือข่ายอำนาจเดิมของสังคมไทย ซึ่งดูมั่นคงอย่างมากในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ไม่นานจากนั้น ต้องทลายลงอย่างไม่ท่า

สุกรี โพธิรัตนังกูร เป็นนักธุรกิจรุนที่มากับโอกาสในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง  เช่นเดียวกับผู้ก่อตั้งกลุ่มเซ็นทรัล(นี่เตียง แซ่เจ็ง)  กลุ่มสหพัฒน์( เทียม โชควัฒนา ) หรือแม้แต่ธนาคารกรุงเทพ(ชิน โสภณพนิช ) ถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่อยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้  ทั้งๆที่เส้นทางของพวกเขาดูไม่แตกต่างกันมากนัก

โอกาสจากสงครามโลก

“การค้าส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากญี่ปุ่น และฮ่องกง ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ธุรกิจ เชื่อว่าการค้าของคนจีนโพ้นทะเล อันเกี่ยวกับการส่งออกนำเข้าร่ำรวยจากภาวะสงคราม เพราะอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บวกกับดีมานด์ที่วิ่งเร็วแซงหน้าซับพลายอย่างไม่เห็นหลัง ใครเก็งถูกจังหวะก็รวยชั่วข้ามคืน”ผมเคยเขียนและสรุปประเด็นนี้เรื่องนี้เอาไว้ครั่งหนึ่ง (บทเรียนสุกรี โพธิรัตนังกูร   นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2542)

“ตามแบบฉบับชาวจีนในแผ่นดินไทย ด้วยค้าขายโซห่วย ธุรกิจขั้นต้น ท่ามกลางการค้าส่งออกข้าวของชาวจีนโพ้นทะเลที่ทรงอิทธิพล     ขณะที่ฝรั่งตะวันตกเปิดห้างสินค้าที่ยกระดับอีกขั้น– สินค้าคอนซูเมอร์ กับสังคมชั้นสูง โดยมีญี่ปุ่นในยุคโซโกะโซชะ เปิดกิจการอย่างเงียบๆแทรกตัวอยู่ด้วย เมื่อสงครามโลกระบิดขึ้น ความยุงยากเกิดขึ้นพร้อมๆกับโอกาสใหม่  ห้างฝรั่งปิดตัวเอง ญี่ปุ่นเข้ามาบทบาทพร้อมกับกองทหาร  กลุ่มการค้าชาวจีนดั้งเดิม กลุ่มใหญ่ ต่อต้านญี่ปุ่น กลุ่มที่จำเป็นหรือต้องการค้าขายกับญี่ปุ่นมีโอกาสขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มใหม่…แต่เมื่อสงครามโลกจบลง แม้ญี่ปุ่นจะเป็นผู้พ่ายแพ้สงคราม แต่มีกลุ่มชาวจีนในไทยกลุ่มหนึ่ง  พร้อมจะเสี่ยงด้วยการตั้งกิจการค้าขายกับญี่ปุ่นโดยตรง “กลุ่มนักธุรกิจเชื้อสายจีนกลุ่มใหม่ที่เติบโตหลังสงครามโลกครั้งที่สองจำนวนหนึ่งเดินทางมาด้วยแนวนี้( จากส่วนหนึ่งของข้อเขียน บทเรียนสหพัฒน์(1) ช่วงก้าวกระโดด )

สายสัมพันธ์ผู้มีอำนาจ

เช่นเดียวกับตำนานเก่าของนักธุรกิจรุ่นนั้น เขาเริ่มต้นจากพ่อค้าผ้าพายเรือเร่ขายตามแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเจ้าพระยา จนมาถึงสามารถตั้งร้านค้าในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ถือเป็นจุดตั้งต้นของความสำเร็จและจำเป็นต้องมีสายสัมพันธ์ใหม่ หากต้องการก้าวต่อไป

ยุคนั้นถือเป็นช่วงการปกครองแบบเผด็จการของรัฐบาลทหาร ในช่วงนั้นดำเนินโนบายชาตินิยม พยายามบั่นทอนอิทธิพลทางเศรษฐกิจของชาวจีนในแผ่นดินไทย  ด้วยการสร้างอุตสาหกรรม  หรือระบบเศรษฐกิจโดยรัฐ ทางออกของพ่อค้าหรือนักธุรกิจชื้อสายจีนทางเดียวก็คือ พยายามข้าไปอยู่วงจรใหม่ของผู้อำนาจในขณะนั้นเสียเลย     เมื่อสถานการณ์คลี่คลายอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่รัฐสร้างขึ้นมีปัญหา  กลุ่มนักธุรกิจจึงเข้าสวมเพื่อปรับปรุงและบริหารต่อไป

จากแนวคิดนี้สุกรี โพธิรัตนังกูร เริ่มต้นเข้าสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอด้วยต้นทุนและความเสี่ยงไม่มากในช่วงรัฐบาลถนอม-ประภาส ด้วยการเข้าเช่าโรงงานทอผ้าของกองทัพ

ร่วมทุนกับต่างชาติ

จุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมไทยที่สำคัญ ต้องอาศัยเทคโนโลยี่ของต่างประเทศ   ในช่วงนั้นการลงทุนอุตสาหกรรมพื้นฐานของไทยจำนวนไม่น้อย อาศัยการร่วมทุนกับธุรกิจญี่ปุ่น นอกจากสุกรีในอุตสาหกรรมสิ่งทอแล้ว สยามกลการร่วมทุนประกอบรถยนต์ หรือสหพัฒน์ เริ่มผลิตสินค้าคอนซูเมอร์

นักธุรกิจไทยกลุ่มนี้ จำนวนไม่น้อยเติบโต และขยายอาณาจักรธุรกิจยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา  ความสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี่จากต่างประเทศ จึงเป็นเรื่องสำคัญมากในเวลานั้น  ภายใต้สายตาที่มองเฉพาะโอกาสในประเทศเท่านั้น

สายสัมพันธ์ธนาคาร

จุดบรรจบสำคัญทำให้สุกรี โพธิรัตนังกูร เชื่อมั่นตนเองอย่างมาก คงมาจากเหตุการณ์ในปี 2516    ในการก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอครบวงจร   การลงทุนสู่ฐานรากสำคัญในอุตสาหกรรมเส้นใยสังเคราะห์คุณภาพสูง ด้วยความร่วมมือกับเจ้าของเทคโนโลยี่รายใหญ่ของโลกแห่งฝรั่งเศส ทั้งยังร่วมทุนกับธนาคารใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วย—ธนาคารกรุงเทพ   โดยชาตรี โสภณพนิช เข้ามาเป็นประธานกรรมการบริษัทร่วมทุนใหม่ด้วย–ไทยเมล่อน โปลีเอสเตอร์

การสร้างโรงงานใหม่ในพื้นที่ขนาดใหญ่ตามแนวถนนวิภาวดี จากนั้นพยายามรวมศูนย์อุตสาหกรรมสิ่งทอทีใหญ่ที่สุดในประเทศไทยไว้ที่นี่   ผมยังจำได้ดี สุกรี โพธิรัตนังกูร พาผมและคณะชมโรงงานเป็นเวลานับชั่วโมงด้วยความภาคภูมิใจอย่างมาก(ในราวปี2530)   พร้อมประกาศว่า   “เพราะผมเก่ง”

หากมองในมุมอชาตรี โสภณพนิช แห่งธนาคารกรุงเทพ ในช่วงนั้นกำลังสร้างอาณาจักรธุรกิจการเงินของตนเอง ก่อนจะก้าวขึ้นเป็นผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ  หากว่าตามทฤษฎีของผม ที่ว่าด้วยโมเดลธนาคารครอบครัวในความพยายามขยายเครือข่ายธุรกิจกว้างออกไปจากธนาคาร สถาบันการเงินอื่น สูธุรกิจของพันธมิตร  ในเวลานั้นชาตรีมีพันธมิตรธุรกิจที่เขาพยายามสนับสนุนให้ขยายตัวอย่างมาก ตามยุทธ์ศาสตร์  “ยิ่งธุรกิจพันธมิตรขยายตัว ธุรกิจธนาคารครอบครัวก็ยิ่งขยายตัว”

สุกรี โพธิรัตนังกูร เป็นหนึ่งในเครือข่ายธุรกิจของชาตรี และธนาคารกรุงเทพฯ ในเวลานั้น

ความยิ่งใหญ่ของอุตสาหกรรมสิ่งทอครบวงจรในขั้นสำคัญนี้  ว่าไปแล้วมาจาการสนับสนุนจากชาตรีและธนาคารกรุงเทพอย่างมาก ที่สำคัญมาจากสายสัมพันธ์ทางธุรกิจ โดยเฉพาะกับเครือข่ายธนาคารฝรั่งเศส SOCIETE GENARALE จากเริ่มต้นมาร่วมลงทุนในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินเอเชีย และเต่อมามีส่วนสำคัญในในการชักนำธุรกิจจากฝรั่งเศส (RHONE-POULENC) ร่วมมือกับธนาคารธนาคารกรุงเทพในการร่วมทุนในบริษัทไทยแมล่อนโพลีเอสเตอร์

ในเชิงเศรษฐกิจ อำนาจเดิมซึ่งสถาปนาขึ้นอย่างมั่นคงในช่วงสามทศวรรษก่อนหน้านั้น ได้พังทลายลง   ท่ามกลางความล่มสลายในเชิงโครงสรhางนั้น หลายรายอยู่รอด แต่อีกหลายรายอยู่ไม่รอด เช่นกรณี ทีบีไอของสุกรี โพธิรัตนังกูร

คำอรรถาธิบายอาจจะมีมาบ้าง  แต่เชื่อว่ายังจำเป็นต้องอรรถาธิบายต่อไป  เพื่อเป็นภาพสะท้อนและบทเรียน  ท่ามกลางความล่มสลายและเกิดใหม่ของอำนาจในสังคมไทย  ที่อาจกำลังเกิดขึ้นโดยไมรู้ตัวในขณะนี้ (โปรดอ่านตอนต่อไป)

ลำดับเหตุการณ์สำคัญ

2485

เปิดร้านกิมย่งง้วน ใกล้วัดสามปลื้ม สำเพ็ง เป็นร้านค้าผ้า  ถือเป็นการลงรากครั้งแรกในธุรกิจค้าผ้า หลังจากสุกรี โพธิรัตนังกูร  อาศัยเรือค้าขายตามท้องน้ำแม่กลอง แม่น้ำเจ้าพระยามานานปี

2501

เช่าและฟื้นฟูโรงงานทอผ้าของทหาร ที่วัดสร้อยทอง

2502

ตั้งบริษัทโรงงานอุตสาหกรรมผ้าห่มไทย (THAI BLANKET INDUSTRY หรือTBI) อยู่ที่ซอยเสนานิคม 2 บนเนื้อที่91 ไร่ผลิตผ้าห่ม เพื่อขายกองทัพเป็นส่วนใหญ่ ถือเป็นโรงงานแห่งแรกของเขา และชื่อทีบีไอ จึงกลายเป็นชื่อเรียกกลุ่มธุรกิจนี้ในเวลาต่อมา

2507

SHIKIBO INC. ยักษ์ใหญ่ทอผ้าในประเทศญี่ปุ่น  ตัดสินใจร่วมทุนกับสุกรี ครั้งแรกในบริษัทโรงงานอุตสาหกรรมผ้าห่มไทย  โดยนำเงินลงทุนพร้อมๆ กับเทคนิคการปั่นด้ายที่ทันสมัยของโลก   ในเวลาต่อมาได้ลงทุนอีกจนถึงโรงที่ 3 จากอุตสาหกรรมผ้าห่มไทย ไทยทรีครอต (2509) ผลิตสินค้าสำเร็จและเทคโนโลยีการย้อมผ้าทันสมัย และไทยซินเนทิคส์ เท็กซ์ไทล์ (2511) ในบริเวณเดียวกันที่ซอยเสนานิคม 2 เพื่อขยายกำลังการปั่นด้าย รวมทั้งได้เพิ่มการผลิตด้ายประเภทใยสังเคราะห์ขึ้นมาด้วย โรงงานแห่งนี้ว่ากันว่า ตอนนั้นทันสมัยที่สุด ในเอเชียอาคเนย์

2513

ต่อมาเมื่อ SHIKIBO (รวมถึง NOMURA TRADING) ถอนตัวไป NISSHO-IWAI, TOYOMENKA และ KANEBO จากญี่ปุ่นก็เข้ามาร่วมทุน กับกลุ่มทีบีไอ อีกระยะหนึ่ง ในขณะเดียวก็ขยายกิจการ ตั้งบริษัทไทยอเมริกันเท็กซ์ไท้ (2513) ไทยแอโร่ (2515) และ บริษัทไทยแม้ล่อนเท็กซ์ไท้ (2516)

2516

บริษัท ไทยเมล่อน โปลีเอสเตอร์ ก่อตั้ง เป็นการร่วมทุนระหว่าง สุกรี โพธิรัตนังกูร ธนาคารกรุงเทพ และRHONE-POULENCของฝรั่งเศส เป็นโรงงานผลิตเส้นใยสังเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย และเอเชีย

2524

บริษัทไทเอโร่ จำกัด กิจการในเครือทีบีไอกิจการแรกเข้าตลาดหุ้น  บริษัทนี้ได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากบีโอไอ ดำเนินกิจการผลิตเสื้อสำเร็จรูปจำหน่ายต่างประเทศทั้งหมด  โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯและยุโรปตะวันตก ซึ่งมีการจัดสรรระบบโควตา

2536

บริษัทไทยเมล่อนโปลีเอสเตอร์ จำกัด    บริษัทสำคัญเข้าจดทะเบียนและซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้น

2538   

ชาตรี โสภณพนิช ได้ขายหุ้นทั้งหมด(ในเวลาใกล้เคียงกับ RHONE-POULENC ) ในไทยเมล่อน โปลีเอสเตอร์  และลาออกจากการเป็นประธานกรรมการ เชื่อกันว่าธนาคารกรุงเทพ จะไม่อนุมัติสินเชื่อเพิ่มเติมให้บริษัทนี้อีก ด้วยเหตุผลอุตสาหกรรมสิ่งทอกำลังอัสดง

2540

บริษัท ไทยเมล่อน โปลีเอสเตอร์ และกลุ่มสิ่งทอในเครืออีกหลายแห่ง ประสบปัญหาธุรกิจไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยคาดกันว่ามีหนี้สินกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท เจ้าหนี้รายใหญ่ คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงเทพ ซึ่งต่อมาธนาคารไทยพาณิชย์ได้ยื่นฟ้องล้มละลาย

บริษัทไทเอโร่ จำกัด  ถูกเพิกถอนออกจากตลาดหุ้น  เนื่องจากมีผลประกอบการขาดทุนติดต่อ 5 ปี

2541

บริษัทไทย แมล่อนเท็กซ์ไทล์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของไทยแมล่อน โปลีเอสเตอร์ ประกาศปิดโรงงาน และจากนั้นไม่นานโรงงานในเครือก็ทยอยปิดตามมาเป็นละลอก

2543

บริษัทไทยเมล่อนโปลีเอสเตอร์ จำกัด (มหาชน)ถูกเพิกถอนออกจากตลาดหุ้น     ด้วยเหตุผลว่า การดำเนินแผนการปรับโครงสร้างหนี้ไม่ประสบความสำเร็จ  ในระหว่างความพยายามทำแผนปรับโครงสร้างหนี้ ที่ดินประมาณ 600 ไร่ที่ตั้งโรงงาน ริมถนนวิภาวดี-รังสิต ก็ตกไปเป็นของบริษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.)

2553

ศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดไทยแมล่อนโปลีเอสเตอร์ของ หลังจากมีคดีฟ้องรองกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ไทยอยู่พักหนึ่ง

2554

บริษัทบริหารสินทรัพย์ไทย( บสท.)ประกาศเปิดประมูลที่ดินแปลงใหญ่อันเป้นของกลุ่มที่บีไอเดิม จำนวนกว่า 600 ไร่    ก่อนที่บสท.จะปิดกิจการลง

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: