อำนาจเก่าล่มสลาย(2)

แม้ว่าจะมี “คำตอบสำเร็จรูป”ว่าด้วยการล่มสลายของอาณาจักรธุรกิจใหญ่ของไทย โดยอ้างอิงวิกฤติการณ์ปี2540กันมามากแล้ว แต่แต่ละกรณีมักมีคำตอบเฉพาะเจาะจง ลงลึกมากว่านั้นเสมอ โดยเฉพาะกรณีนี้ สำหรับอาณาจักรธุรกิจสิ่งทอไทยที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งล่มลงเพียงคนรุ่นเดียว ย่อมเป็นคำอรรถาธิบาย เป็นบทเรียนที่เพิ่งเกิดเมื่อไม่นานมานี้ ไม่เพียงเฉพาะสังคมธุรกิจไทยเท่านั้น

กลุ่มทีบีไอ ของสุกรี โพธิรัตนังกูร ในช่วง2 ทศวรรษสุดท้าย (2516-2536) ถือว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีปัญหาจนถึงกับล่มสลายไปจากระบบ เป็นเหตุผลที่หนักแน่นเอาการ จากมุมมองผ่านเครือข่ายอันเข้มแข็ง หาใครเทียบได้ยากในเวลานั้น

หนึ่ง –เครือข่ายโรงงานขนาดใหญ่ที่สุด ค่อนข้างครบวงจรอุตสาหกรรมสิ่งทอ ตั้งแต่การผลิตใยสังเคราะห์ไปจนถึงการผลิตเสื้อผาสำเร็จรูป มีกำลังการผลิตมากที่สุดกว่าทุกรายในเวลานั้น

ความใหญ่ที่ทรงอิทธิพลของธุรกิจไทยในเวลานั้น มีความหมายกว้างออกไปถึง ความสัมพันธ์ย่างแน่นแฟ้นกับอำนาจรัฐ  ระบบราชการและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวกับสิทธิพิเศษของธุรกิจเอกชน  ซึงว่าไปแล้วถือเป็นสังคมวงในแคบๆเวลานั้น สังคมที่คงปรัชญาให้ความสำคัญกับรายใหญ่อย่างมาก โดยเฉพาะรายใหญ่ที่มีฐานเติบโตมาจากโครงสร้างอำนาจอันมั่นคงดั้งเดิมของสังคมไทย จากความสัมพันธ์กับกองทัพ ตั้งแต่ยุคถนอม-ประภาส

สุกรี  โพธิรัตนังกูร มีความสัมพันธ์ที่ดีกับชำนาญ เพ็ญชาติ บุตรเขยจอมพลถนอม กิตติขจร ผู้ซึ่งเป็นนักธุรกิจธนาคารที่มีบทบาทอย่างมากอย่างเงียบๆในช่วงนั้น(ราวปี2510-2530)

สอง-ความสัมพันธ์กับระบบธนาคาร จากจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์กับธนาคารขนาดกลางอย่างสหธนาคาร(ธนาคารที่มีผู้ถือหุ้นและผู้บริหารคนสำคัญในยุคนั้น—ชำนาญ เพ็ญชาติ ต่อมาธนาคารแห่งนี้มีปัญหาขัดแย้งระหว่างผู้ถือหุ้น และมีอันต้องล่มไปในช่วงวิกฤติการณ์ปี 2540) สูธนาคารที่ใหญ่ขึ้น หลังจากธนาคารเหล่านั้นมองว่าทีบีไอเป็นธุรกิจใหญ่ มีความมั่นคง   โดยเฉพาะกับธนาคารกรุงเทพ ในยุคต้นของชาตรี โสภณพนิช และต่อมาถึงธนาคารไทยพาณิชย์

ความสัมพันธ์พิเศษกับธนาคารในฐานะลูกค้าชั้นดี  ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญของความอยู่รอดและเติบโตของธุรกิจไทยในเวลานั้น

สาม-ความสัมพันธ์กับเจ้าของเทคโนโลยีระดับโลก  จากญี่ปุ่น(Shikibo และ Kanebo) สู่ตะวันตก (Rhône-Poulenc S.A แห่งฝรั่งเศส) ในประเด็นนี้มีมิติของความสัมพันธ์ที่ควรวิเคราะห์ด้วย

ธุรกิจไทยยอมรับว่า อุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นใหม่เพื่อผลิตสินค้าตอบสนองความต้องการในสังคมไทย ต้องการเทคโนโลยี่พื้นฐานจากพันธมิตรจากต่างประเทศ  หากใครเข้าถึงเทคโนโลยี่เหล่านี้ได้  ถือเป็นความสำเร็จและความมั่นคงสำคัญทางธุรกิจ ในหลายกรณีความร่วมมือกับธุรกิจต่างประเทศที่มาพร้อมทุนและเทคโนโลยี่ กลายเป็นโมเดลทางธุรกิจสำคัญ  ท่ามกลางกระแสการลงทุนของธุรกิจระดับโลกจากซีกโลกตะวันตกและญี่ปุ่นในช่วงสงครามเวียดนามและต่อจากนั้น ความจริงจากนั้นพบว่า มีกลุ่มธุรกิจไทยที่เติบโตกลายเป็นกลุ่มธุรกิจทรงอิทธิพลในเวลาต่อมาหลายกลุ่ม  เดินทางมาตามเส้นทางนี้

แต่อีกด้านหนึ่งเจ้าของธุรกิจที่มีพื้นฐานในเมืองไทยอยู่แล้ว   ซึ่งมักให้ความสำคัญในการการครอบงำการบริหารมากเป็นพิเศษ  มักเชื่อมั่นว่าจะสามารถเรียนรู้เทคโนโลยี่จากต่างประเทศได้  โดยมองความร่วมมือเป็นเพียงกลยุทธ์หนึ่งทางธุรกิจ  กรณีทีบีไอดูเหมือนจะเป็นเช่นนี้  จึงมีปรากฏการณ์ของความสัมพันธ์ไม่ค่อยราบรื่นกับพันธมิตรนัก

เครือข่ายและความสัมพันธ์ข้างอย่างครบถ้วน สมบูรณ์  ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญของกลุ่มทีบีไอ ของสุกรี  โพธิรัตนังกูร สามารถยืนอยู่แถวหน้าของสังคมธุรกิจไทย ในฐานะผู้นำเบ็ดเสร็จในอุตสาหกรรมสิ่งทอ  เป็นความเชื่อมั่นอันเต็มเปี่ยมของสังคมธุรกิจไทยที่ค่อนข้างแข็งตัวในเวลานั้น

ความเชื่อเช่นนี้มาจากรากฐานความคิด เป็นภาพสะท้อนสังคมไทยที่ว่าด้วยอำนาจในเวลานั้นด้วยอย่างแยกไม่ออก

จากสภาพตลาดและการเริ่มต้นของธุรกิจสำคัญในช่วงสงครามเวียดนามโอกาสล้วนเปิดมาจากความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจ  ความเชื่อว่าด้วยเรื่องสายสัมพันธ์ (Connection) เกิดขึ้นอย่างเข้มข้น   บวกกับสภาพตลาดทีมีคู่แข่งอย่างจำกัด ความวิตกกังวลในมิติที่กว้างขึ้นกว่าสายสัมพันธ์มักจะมองไม่เห็นนัก โดยเฉพาะภาพกว้างสภาพความเป็นไปของตลาดนอกประเทศที่เชื่อมโยงกับเมืองไทย   แม้ว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอเวลานั้นผูกพันกับระบบโควตาจากยุโรปและสหรัฐ แต่นักธุรกิจไทยมองความสำคัญของอำนาจการจัดสรรของรัฐมากกว่า

ความเชื่อมันในความสามารถของตนเองและเชื่อมโยงกับอำนาจสายสัมพันธ์อย่างเข้มข้น  แม้ในบางครั้งเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างเจ็บปวด แต่รากเหง้าหรือซากความคิดนี้ไม่ได้ตายไปในสังคมไทย

ความเชื่อมั่น ว่าด้วยศึกษาติดตามความเป็นไปของสังคมระดับกว้างที่เชื่อมกับผู้บริโภคมากขึ้น  กำลังเป็นภาคต่อจากนั้น ต้องยอมรับว่านักธุรกิจ หรือทุนไทยในยุคหนึ่ง มีความเข้าใจเรื่องนี้อย่างจำกัด  เช่นเดียวกับเข้าใจในมิติอื่นทางสังคมในเวลานั้น และบางมิติลากยาวมาถึงเวลานี้ด้วย

กรณีสุกรี   โพธิรัตนังกูร มีเหตุปัจจัยของความเป็นไป  ลงลึกรายละเอียด  อย่างน่าสนใจมากทีเดียว

ความยิ่งใหญ่ ครบวงจร  หรือความพยายามการผูกขาดทางธุรกิจ  ถือกันว่าเป็นแนวทางของเจ้าของธุรกิจไทย ดูเหมือนสุกรี โพธิรัตนังกูร ดำเนินแผนการมาทำนองนั้น  แต่ในเวลาต่อมาปรากฏการณ์ชัดเจนว่า แนวทางนั้น ไม่สามารถรักษาความสำเร็จ หรือแม้แต่ความอยู่รอดเสมอไป

–ตลาดสิ่งทอในประเทศช่วงหนึ่งเป็นตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการกระตุ้นผู้บริโภคไทยเข้าสูการบริโภคสินค้าสมัยใหม่มากขึ้นในช่วงสงครามเวียดนาม   และจากตลาดที่มีความแน่นอนด้วยโควตาในการส่งออก  โดยกำเนิดขึ้นมาจากองค์การการค้าโลก( World Trade Organization—WTO ) เพื่อจัดสรรระบบโควตาสิ่งทอให้กับตลาดในยุโรปและสหรัฐ โดยเริ่มมาตั้งแต่ราวปี2515   ส่งผลอุตสาหกรรมที่ใหญ่และครบวงจรในประเทศด้อยพัฒนา กลายเป็นผู้ส่งสินค้าออกได้โควตาจำนวนมาก และได้เปรียบเชิงธุรกิจอย่างมาก  เบื้องหลังและบริบทความสำเร็จของทีบีไอ มีความสัมพันธ์กับระบบนี้อย่างแยกไม่ออก     แต่สถานการณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้นตลอดไป   ต่อมาราวปี 2538  WTO ได้ส่งสัญญาณว่าระบบโควตาจะสิ้นสุดลง และอีก10 ปี   ต่อมาก็เป็นเช่นนั้น ดูเหมือนสอดคล้องกับสถานการณ์อุตสาหกรรมสิ่งทอไทยต้องเผชิญความเสียศูนย์และการปรับตัวครั้งใหญ่

นี่คือสาเหตุสำคัญ มาจากความเข้าใจธรรมชาติธุรกิจอย่างจำกัด เป็นการเรียนรู้ของคนเพียงรุ่นเดียว ที่มองโลกในแง่ดีมาตลอด  โดยไม่ได้ศึกษาและเรียนรู้ปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุมและสายสัมพันธ์ของตนเอง

–เมื่อสภาพตลาดกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมาก การปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อความอยู่รอด เป็นเรื่องสำคัญมาก สำหรับอุตสาหกรรมพื้นฐานอย่างสิ่งทอ  การปรับตัวมักจะมาจากการลงทุนใหม่ การแสวงหาโนว ฮาวใหม่ด้วย  การลงทุนด้วยเงินจำนวนมากจึงเป็นปัจจัยสำคัญ   แต่ดูเหมือนช่วงนั้นธนาคารหรือสถาบันการเงินไทยกำลังให้ความสำคัญกับการขยายตัวทางลัดด้วยวิศวกรรมทางการเงินอย่างบ้าคลั่ง  ด้วยเทคนิคการระดมเงินสมัยใหม่ ขยายเครือข่ายผ่านการซื้อและครอบงำกิจการ ที่มีความเชื่อมโยงกับตลาดหุ้น  แม้ว่าแนวทางนี้จะเกื้อกูลธุรกิจใหญ่  แต่ก็มักทำให้ธุรกิจใหญ่ หรืออุตสาหกรรมบางแห่งขาดโฟกัสพื้นฐานเดิม  กลายเป็นการแสวงหาทางออกที่เบี่ยงเบนจากเดิมไป ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วไปก่อนวิกฤติการณ์ปี 2540จะมาเยือน

ต่อมาได้บทสรุปว่าแต่สิ่งนี้ไม่ได้สร้างการบริหารที่มีประสิทธิภาพของธุรกิจ  มิใช่การปรับตัวตัวเข้าสู่สถานการณ์ใหม่อย่างแท้จริง   สำหรับทีบีไอเป็นช่วงต่อสำคัญระหว่างวัยชราของสุกรี โพธิรัตนังกูร กับการรับช่วงของทายาท ปัญหาการปรับตัว ซึ่งเป็นแรงปะทะของความเชื่อและประสบการณ์ที่แตกต่างกันของคนสองรุ่น  เกิดขึ้นในเวลาคับขัน ย่อมไม่ใช่เรื่องดีเลย

–การมองเทคโนโลยี อย่างมีข้อจำกัดของทุนไทย    จากความสัมพันธ์ไม่ค่อยราบรื่นกับเจ้าของเทคโนโลยี ในที่สุดความสัมพันธ์กับเจ้าของเทคโนโลยีจาสกญี่ปุ่นได้ขาดสะบั้น  สุกรี  โพธิรัตนังกูร พยายามขยายโรงงานต่อไปด้วยเครื่องจักรจากจีน ซึ่งเป็นการเดินทางที่ผิดพลาด เพราะจีนไม่มีเทคโนโลยีระดับโลก ความพยายามพัฒนาหรือปรับปรุงเครื่องจักรของตนเอง ก็เป็นสิ่งเป็นไปไม่ได้

–อุตสาหกรรมสิ่งทอในยุคนั้นไม่เพียงมองข้ามข้อจำกัดเรื่องโนวฮาวของตนเอง  ยังรวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ซึ่งต่อมามีความสำคัญมากขึ้น ตอนนั้นเพียงพอใจที่จะเป็นผู้รับจ้างผลิตสินค้าแลบรนด์เนมระดับโลก  แต่ต่อมาในยุคปลายระบบโควตา   สินค้าแบรนด์เหล่านั้นหนีไม่สู่การตลาดการผลิตที่ต้นทุนถูกกว่า  ปัญหายิ่งหนักขึ้นไปอีกเพราะธุรกิจไทยไม่ได้สนใจสร้างแบรนด์ของตนเองขึ้นมา  ไม่ได้สนใจแสวงหาหรือสร้างตลาดโลกของตนเองอย่างเข้มข้นเท่าที่ควร   มุมมองทางอุตสาหกรรม มีความแข้งตัวอย่างมาก  จำกัดในเรื่องการผลิตเป็นส่วนใหญ่  ข้อจำกัดนี้  ถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุด สร้างความเชื่อมโยงที่กระท่อนกระแท่นระหว่างธุรกิจไทยกับสังคมและตลาดโดยรวมทั้งในประเทศและระดับโลก

ซึ่งผมถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของธุรกิจไทยไม่ว่าเวลานั้นหรือเวลานี้

ศึกษาบทเรียนการปรับตัวจากอดีตพันธมิตร

 

Shikibo

ก่อตั้งเมื่อเกือบ 120 ปีที่เมืองโฮซาก้า ญี่ปุ่น ผ่านการปรับตัวอย่างมากมายหลายครั้ง จากในฐานะอุตสาหกรรมสิ่งทอรายใหญ่ จนปัจจุบันลดขนาดลงแหลือพนักงานเพียงประมาณ 600 คน โดยมุ่งวิจัยและพัฒนาผลิตใหม่ เป็นธุรกิจสิ่งทอที่มีความชำนาญเฉพาะด้านมากขึ้น

ปัจจุบันสามารถค้นคว้าสิ่งที่เรียกว่า ผลิตเสื้อผ้าเพื่อสุขภาพ(Healthy Comfortable Clothing) มาจากวัตถุดิบพื้นฐาน เป็นเส้นใยสังเคราะห์ต่อต้านไวรัสที่เรียกว่า FLUTECT®,”

Kanebo

มีอายุมากว่า120 ปี ก่อตั้งทีมเมืองหลวงโตเกียว อยู่ในกิจการสิ่งทอ เครื่องสำองค์ เวชภัณฑ์ และอาหาร    โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอต้องปรับตัวหลายครั้งเช่นเดียวกัน ด้วยการแยกกิจการออกจากกันต่างหาก แต่เอาตัวไม่รอด ต้องอยู่ภายในการแก้ไขและปรับปรุงกิจการโดยรัฐพักหนึ่ง ก่อนจะขายกิจการส่งทอให้กับ Seiren Co ไปเมื่อปี 2548    ขณะนี้ถือว่า Kanebo ไม่มีธุรกิจส่งทออีกต่อไปแล้ว

ขณะที่   Seiren Co ดำเนินธุรกิจหลากหลาย ตั้งแต่สิ่งทอ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรและชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์

Rhône-Poulenc S.A

เคยเป็นเครือข่ายธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของฝรั่งเศส ด้วยการผลิตสินค้าเคมีภัณฑ์ เส้นใยสังเคราะห์ และเวชภัณฑ์ ต่อมาในปี 2542 ได้ควบรวมกิจการกับ Hoechst AGแห่งเยอรมมี กลายเป็น  Aventis ตั้งอยู่ที่เมืองStrasbourgฝรั่งเศส

ตามประวัติ เริ่มต้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสิ่งทอด้วยมีผลิตภัณฑ์อ้มและผลิตเส้นใยสังเคราะห์ ต่อมาได้ปรับทิศทางธุรกิจเข่าสู่เวชภัณฑ์ เมื่อรวมกิจการแล้ว จุดโฟกัสกลายเป็นกิจการเน้นด้านเวชภัณฑ์ และห้องปฏิบัติการ

ต่อมาในปี2547 Aventis ได้ควบรวมกิจการกับ Sanofi เครือข่ายธุรกิจเวชภัณฑ์ระดับโลกที่ตั้งอยู่ที่ปารีส ฝรั่งเศส   แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น Sanofi-Aventis เมื่อเดือยพฤษภาคมของปีนี้เอง

ผมพยายามค้นคว้า  ผลิตภัณฑ์รากฐานเดิม–เส้นใยสังเคราะห์ที่เกี่ยวพันกับอุตสาหกรรมสิ่งทอ ของเครือข่ายธุรกิจใหญ่ คงเล็กมาก เสียจนหาไม่พบ

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

2 ความเห็นบน “อำนาจเก่าล่มสลาย(2)”

  1. อยากให้เขียนเรื่องของบันเทิง ตันติวิท และความเติบโตของธนาคารธนชาต ควบรวมกับนครหลวงไทย โตเร็วมาก

    และทิศทางของธนาคารไทย ในมติชน ขอบคุณครับ

    1. กำลังทำงานอยู่พอดี เข้าใจว่าเรื่องนี้–ระบบการเงินไทย: ภาพใหญ่ภาพใหม่ จะตีพิมพ์ในฉบับหน้า โดยมีขยายความหลายตอนครับ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: