China Connection

แท้จริงแล้ว ความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับจีนแผ่นดินใหญ่ของสังคมธุรกิจไทยอย่างเต็มรูปแบบ อย่างมียุทธ์ศาสตร์ เพิ่งจะเริ่มต้นอย่างจริงจัง

 ก่อนหน้านั้น ถือเป็นความสัมพันธ์ของเครือข่ายชาวจีนโพ้นทะเลในภูมิภาคนี้ หรือไม่ก็เป็นเพียงการลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่  กรณีศึกษาคลาสสิตของธุรกิจไทยในสองกรณีนี้ กรณีแรกต้องยกให้ธนาคารกรุงเทพ ส่วนกรณีที่สองต้องเป็นซีพี

ก่อนหน้านั้นถือเป็นความสัมพันธ์ทางธุรกิจของนักธุรกิจไทยกับนักธุรกิจชาวจีนพัฒนาต่อเนืองมา โดยเฉพาะหลังจากจีนแผ่นดินใหญ่เปิดประเทศ และเริ่มนโยบายเศรษฐกิจเสรีเป็นบางส่วน  การลงทุนจากจีนในประเทศไทยเริ่มต้นมีอย่างประปรายไม่กี่ปีมานี้ ดูไม่สำคัญนัก ในฐานะประเทศและตลาดที่เล็กมากเมื่อเปรียบเทียบตลาดภายในของจีนเอง    ตรงกับข้ามอย่างสิ้นเชิง กับกระแสอันคึกคักการลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่ของธุรกิจไทย   อาจกล่าวได้ว่าไม่มีธุรกิจใหญ่ในประเทศรายใด ไม่มีแผนการลงทุนหรือดำเนินแผนการลงทุนในจีน

ยิ่งไปกว่านั้นหลายปีมานี้ธุรกิจไทย ล้วนได้รับบทเรียนมิติต่างๆเกี่ยวกับในการลงทุนในประเทศจีน  ไม่เว้นแม่แต่ เอสซีจี กลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่  ได้ชื่อว่ามีแผนการลงทุนอย่างรอบคอบ ยังต้องกลับมาทบทวนและปรับยุทธ์ศาสตร์เกี่ยวกับการลงทุนในประเทศนี้กันครั้งใหญ่

ความเคลื่อนไหวอย่างสำคัญล่าสุดของธุรกิจจีนแผ่นดินใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นภาพยุทธ์ศาสตร์  เป็นภาพสะท้อนถึงความสำคัญของประเทศไทยอย่างจับต้องได้   ควรรวมขั้นตอนสำคัญ  3 ขั้น จากกรณีที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ด้วย

ขั้นที่หนึ่ง- ธนาคารจีนในประเทศไทย

 ธนาคารพาณิชย์ไทยที่ถือหุ้นโดยธนาคารจีนเกือบ  100% เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วนี้เอง

เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2553 ธนาคารไอซีบีซี ได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในธนาคารสินเอเชีย และได้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อจากธนาคารสินเอเชีย เป็น ธนาคาร ไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ “Industrial and Commercial Bank of China (Thai) Public Company Limited” ในภาษาอังกฤษ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2553 ซึ่งชื่อใหม่ของธนาคาร นับเป็นการสะท้อนถึงการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มไอซีบีซีอย่างเป็นทางการ” อ้างจาก www.icbcthai.com )

ผมเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ค่อนข้างละเอียด(อ่านได้จาก ธนาคารกรุงเทพ(1)   และ สินเอเชีย ) ว่าด้วยความพยายามของธนาคารกรุงเทพในการเป็นธนาคารแห่งแรกของไทยที่เข้าไปดำเนินกิจการธนาคารเต็มรูปแบบในจีน อันเป็นช่วงเดียวกับธนาคารจีนแห่งนี้เข้ามาถือหุ้นใหญ่ธนาคารสินเอเชีย ซึ่งแต่เดิมถือหุ้นใหญ่โดยธนาคารกรุงเทพฯ จึงเป็นที่เข้าใจกันได้ว่า เป็นกระบวนการเจรจาแลกเปลี่ยนครั้งสำคัญ

ไอซีบีซี  คือกิจการธนาคารขนาดใหญ่ในจีน มีพัฒนาการคล้ายๆกับวิสาหกิจอื่นๆในประเทศนั้น เมื่อเปลี่ยนเป็นธุรกิจ ก็พัฒนาอย่างรวดเร็ว และมีแรงบันดาลใจระดับโลก ไอซีบีซี ก่อตั้งขึ้นในปี 2527 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Industrial and Commercial Bank of China Ltd เมื่อตุลาคม 2548 และได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่เซี่ยงไฮ้และฮ่องกงพร้อมกันในวันที่ 27 ตุลาคม 2549 ซึ่งถือเป็นการเสนอขายหุ้นครั้งแรกต่อประชาชนที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก ไอซีบีซีมีจุดให้บริการทั้งหมดเกือบ  20.000 แห่งในสาธารณรัฐประชาชนจีน มีสำนักงานสาขาและบริษัทในเครือในต่างประเทศทั้งหมดประมาณ 150 แห่ง และมีความสัมพันธ์กับธนาคารต่างๆ ทั่วโลก ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 ไอซีบีซีมีสินทรัพย์รวม จำนวน 11.4 ล้านล้านหยวน (1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประมาณ)

จากข้อมูลของธนาคาร ไอซีบีซี (ไทย)เองได้กล่าวถึงจุดแข็งทางธุรกิจเอาไว้อย่างน่าสนใจ

จุดแข็งของ ICBC คือการมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง มีโครงสร้างทางธุรกิจที่หลากหลาย โดยเฉพาะการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจแบบข้ามชาติ และเน้นธุรกิจธนาคารพาณิชย์ โดยยังคงรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในสาธารณรัฐประชาชนจีนไว้ได้จนถึงทุกวันนี้”

การเริ่มต้นของธนาคารจีนในประเทศไทย  เป็นพื้นฐานและความสัมพันธ์กับยุทธ์ศาสตร์การขยายตัวธุรกิจจีนในประเทศไทยอย่างจริงเอาจังมากขึ้น

ขั้นสอง– เข้าถึงตลาดผู้บริโภค

ความสนใจเกี่ยวกับธุรกิจจีนในเมืองไทยจุดพลุขึ้น เมื่อนักลงทุนจีนประกาศลงทุนโครงการศูนย์การค้าส่งขนาดใหญ่ชานกรุงเทพฯ เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา  อาจจะกล่าวว่าเมื่อการลงทุนเป็นไปตามโครงการที่วางแผนและโฆษณาเอาไว้ จะเป็นศูนย์การค้าที่มีขนาดที่สุดในประเทศไทย

โครงการ  China City Complex ลงทุน 4.5หม่นล้านบาทโดย รัฐวิสาหกิจของยูนาน –Ashima Yunnan Cultural Industry Group กำลังจะเกิดขึ้น ริมถนนบางนา-ตราด ในจุดยุทธ์ศาสตร์สำคัญในสายตาของนักลงทุนชาวจีน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับแผนการลงทุนด้านโลจิสติกส์ในอนาคตด้วย ทั้งนี้ เป้าหมายของกลุ่มทุนจีนครั้งนี้ชัดเจน ในการขยายตลาดสินค้าจีนในไทยและอาเซียนด้วย

ที่สำคัญสินค้าจีน ซึ่งเป็นที่รู้จักและบริโภคในฐานะสินค้าราคาถูกและเป็นทางเลือกของผู้บริโภคไทยมาระยะหนึ่งในตลาดอย่างไม่เป็นการเป็นงานเท่าที่ควร   จากนี้มีเป้าหมายอย่างจริงจัง ในการเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคไทยอย่างมั่นคง  ทั้งนี้หากมองในแง่สินค้าคอนซูเมอร์ของจีนเท่านั้น อาจจะมาจากปัจจัย 2 ประการที่มาถึงจุดที่ควรเป็นไป

ประการแรก ตลาดผู้บริโภคไทย เป็นตลาดขนาดพอสมควรที่บริโภคสินค้าจีนมาแล้วระยะหนึ่ง และแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง เป็นที่เชื่อว่าสินค้าคอนซูเมอร์ของจีน มีฐานะในตลาดอย่างมั่นคงได้

ประการสำคัญ  จีนในฐานะแหล่งผลิตสินค้าสำคัญทั่วโลก เป็นผู้รับจ้างผลิตสินค้าแบรนด์ระดับโลกมาแล้ว  ได้สะสมและพัฒนาโนวฮาวของตนเองขึ้น จนสามารถมั่นใจไดว่าจะผลิตสินค้าคอนซูเมอร์ที่หลากหลายตอบสนองตลาดที่กว้างขึ้นได้ ตลาดไทยที่ขนาด และรสนิยม  อันสามารถเป็นดัชนีของการเข้าสู่ตลาดโลกต่อไปได้

การกระโจนเข้าสู่ตลาดระดับผู้บริโภคโดยตรงนั้น แสดงให้เห็นวิวัฒนาการที่ก้าวเร็ว และเอาจริงเอางอย่างมาก

ขั้นสาม-เส้นทางยุทธ์ศาสตร์

โอกาสที่ว่าคืออาเซียนจะกลายเป็นศูนย์กลางการระบายสินค้าจากประเทศจีนและญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นมหาอำนาจของเอเชียในทศวรรษหน้า โดยทั้งจีนและญี่ปุ่นกำลังมองถึงการสร้างโครงข่ายการคมนาคมในอาเซียน ซึ่งมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง” (พันศักดิ์ วิญญรัตน์ “ยุทธ์ศาสตร์ Reversed Cross สำหรับประเทศไทยในทศวรรษหน้า” 8 ธันวาคม 2552( http://www.siamintelligence.com/pansak-reversed-cross )อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับเขาโดยละเอียดจากเรื่อง พันศักดิ์ วิญญรัตน์ Professional Thinker  )

พันศักดิ์ วิญญรัตน์  อดีตประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีไทย 2 คน (ชาติชาย ชุณหะวัณ และทักษิณ ชินวัตร) แม้ว่าปัจจุบันดูเหมือนจะให้ความสนใจเรื่องจักรยานเป็นพิเศษ ใช้เวลาขับขี่ไปตามที่สาธารณะต่างๆ ไม่ว่าพุทธมณฑล เชียงใหม่ เขาใหญ่ หรือแม้แต่ Hyde Parkกลางกรุงลอนดอน    แต่เขาก็สนใจเรื่องยุทธ์ศาสตร์ของไทยเสมอ   เป็นคนแรกที่เปิดประเด็นถนนยุทธ์ศาสตร์นี้

กล่าวเฉพาะประเทศจีน ดำเนินการตามแผนการที่ว่านั้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว

แผนการเรื่องถนนยุทธ์ศาสตร์ของจีนค่อนข้างแนบเนียน  ด้วยข้อเสนอให้ไทยมีส่วนร่วมในหุ้นส่วนข้างมาก (51%)ในโครงการ  แผนการสร้างระบบรถไฟความเร็วสูง จึงเสนอหลายเส้นทางโดยเฉพาะจากด้านบนของประเทศไทยที่ติดชายแดนลาวสู่กรุงเทพฯ (เชียงใหม่ หนองคาย และอุบลราชธานี)   โดยทางจีนมีการสร้างทางรถไฟจากคุนหมิงมายังลาวแล้วด้วย   ปลายทางสำคัญจากกรุงเทพฯ มุ่งสู่ชายฝั่งทะเลตะวันออก และข้ามชายแดนภาคใต้ ที่ปาดังเบซาร์ ผ่านมาเลเซีย สู่ช่องแคบมะละกา

เท่าที่ติดตาม การเจรจาระดับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐทั้งสองคืบหน้าไปมาก คาดว่าจะเข้สู่กระบวนพิจารณาระดับรัฐบาล เป็นไปได้มากว่าจะมีขึ้นภายในปีนี้

ภาพยุทธ์ศาสตร์ของธุรกิจจีนแผ่นดินใหญ่ ต่อประเทศไทย  อาจจะมองเห็นได้อย่างน้อย สองมติสำคัญ

ภูมิศาสตร์  ในฐานะเป็นศูนย์กลางอาเซียนที่กำลังก่อรูปเป็นระบบเศรษฐกิจเดียว จะกลายเป็นจุดเชื่อมดินแดนของจีนส่วนในที่ไม่ติดทะเล  เพิ่มช่องทางในการนำสินค้าจีนกระจายทั้งในเขตเศรษฐกิจอาเซียน ไปจนถึงสู่ตลาดโลกอย่างกว้างขวาง อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ประสบการณ์  เข้าใจว่าผู้บริโภค  เจ้าของกิจการ และผู้บริหารธุรกิจไทย  มีประสบการณ์กับโลกทุนนิยมมานานกว่าชาวจีน  ย่อมเป็นดัชนีของการเปลี่ยนแปลงที่ว่าด้วย รสนิยม วิถีชีวิต  การบริหาร บทเรียนและข้อมูล ซึ่งจีนหวังว่าการศึกษาประสบการณ์ไทยที่มากกว่าการขายสินค้าคอนซูเมอร์  เป็นประตูอีกบานหนึ่งในความเข้าใจการเปลี่ยนแปลง และสามารถปรับตัวในโลกยุคใหม่ได้

สำหรับประเทศไทยแล้ว  จากนี้ไปภูมิสถาปัตยกรรมทางธุรกิจไทยจะเปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างมากมาย   ในฐานะที่เป็นทั้ง  “ผู้บริโภค” “เจ้าของกิจการ” และ “ผู้บริหารธุรกิจ” ที่อ่อนไหวตามกระแสหลักของโลกสมัยใหม่ มาตั้งแต้หลังยุคสงครามเวียดนาม มาจนถึงโลกาภิวัฒน์ โดยอ้างอิงโลกตะวันตกเป็นพิเศษนั้น จะเกิดส่วนผสมใหม่ที่น่าสนใจมากขึ้น

การติดตามและทำความเข่าใจคลื่นการลงทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่  มีความสำคัญมากกว่า ความวิตกหรือการมองโลกในแงดีเกินไป  กับสิ่งที่ชัดเจนว่า คลื่นพายุแห่งการเปลี่ยนแปลงกำลังจะเกิดขึ้น

 —————————————————————————————

จากเครือข่ายชาวจีนโพ้นทะเล…

ธนาคารกรุงเทพ

 ธนาคารกรุงเทพ ในช่วงหนึ่งเผชิญปัญหาทางการเมือง  จากการเปลี่ยนแปลงอำนาจครั้งใหญ่  จาก“ผิน-เผ่า” สู่ “ถนอม-ประภาส”

“ตลอดระยะเวลา 5 ปีเศษที่นายชินใช้ฮ่องกงเป็นฐานปฏิบัติงานด้านต่างประเทศให้ธนาคารกรุงเทพนั้น นับเป็นอีกช่วงชีวิตหนึ่งซึ่งมีความสำคัญ ทั้งตัวนายชินเอง และธนาคารกรุงเทพด้วย เพราะนายชินได้มุมานะที่จะสร้างหลักฐานในฮ่องกงซึ่งเปรียบเสมือนบ้านที่สองของเขาให้มั่นคง พร้อมขยายธุรกิจต่างประเทศของธนาคารให้กว้างขวางออกไปในหมู่พ่อค้านักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเล

 เขาจึงทุมเทความพยายามอย่างเต็มที่ ในการสร้างความสัมพันธ์ทางการเงินอย่างแน่นเฟ้นกับนักธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เช่น Robert Kwokแห่งมาเลเซีย   Lim Sioe Liong แห่งอินโดนิเชีย   Robin Loh แห่งสิงคโปร์ และ  Ng Teng Fong แห่งอ่องกง ซึ่งในขณะนั้นเพิ่งอยู่ในขั้นเริ่มต้นก่อร่างสร้างอาณาจักรธุรกิจของตนเองอยู่  ทำให้นักธุรกิจเหล่านั้นในกาลต่อมากลายเป็นนักธุรกิจใหญ่ มีความผูกพันกับธนาคารกรุงเทพอย่างแน่นเฟ้น”

(จากหนังสือ “ชิน โสภณพนิช 2453-2531” ในบท จากกรุงเทพฯ สู่ฮ่องกงปี2501-2507  เรียบเรียงโดย กมลลักษณ์ โตสกุล )

 ….สู่การบุกเบิกตลาดมังกร

ซีพี

ปี 2464 เจี่ยเอ็กชอ ต้นตระกูลเจียรวนนท์  เดินทางเข้ามาเมืองไทย ตั้งร้าน จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผัก โดยนำเข้ามาจากจีนแผ่นดินใหญ่  ถือเป็นช่วงยุคอาณานิคม  ขณะเดียวกันในประเทศจีนกำลังเกิดความวุ่นวายทางการเมือง  การเกิดขึ้นของพรรคคอมมิวนิสต์และสงครามการต่อต้านญี่ปุ่น  ถือเป็นช่วงการอพยพหนีภัยครั้งใหญ่ของชาวจีนแผ่นดินสู่โพ้นทะเล เครือข่ายชาวจีนจึงครอบคลุมภูมิภาคนี้  ดังนั้นการดำเนินธุรกิจของพวกเขาจึงเริ่มด้วยแรงบันดาลใจในการเชื่อมโยงเครือข่ายนี้เสมอ   ซีพีก็เริ่มต้นจำการค้าเมล็ดพันธุ์พืชผัก ในเครือข่ายนี้ภายใต้สถานการณ์ที่ยุ่งยากพอสมควร

ปี 2522 ซีพีเข้าสู่ประเทศจีนอย่างจริงจังในสถานการณ์ที่ประเมินแล้วว่าเป็นผลดี  แม้ว่าในเวลานั้นตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ยังถูกมองข้าม

รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เพิ่งเปิดความสัมพันธ์กับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน(2518) จากนั้นได้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทย-จีน (2521) ในช่วงเดียวกับ เติ้งเสี่ยวผิง ขึ้นเป็นผู้นำของจีนแผ่นดินใหญ่ และประกาศนโยบายปฏิรูปทางเศรษฐกิจ   แม้ว่าจะเกิดวิกฤติการณ์ตลาดหุ้นในฮ่องกง และส่งผลกระทบไปทั่วภูมิภาค รวมทั้งตลาดหุ้นไทยด้วยก็ตาม (2522)

ซีพีเริ่มด้วยโครงการเกษตรครบวงจร ตามมณฑลสำคัญๆ ต่างๆ เป็นการยก “โมเดลธุรกิจ” ที่ประสบความสำเร็จอย่างดีในภูมิภาคไปใช้ และขยายตัวอย่างรวดเร็วในจีนแผ่นดินใหญ่ โดยใช้เวลาประมาณ 5 ปี ก็ขยายกิจการในลักษณะมีมาร์เก็ตแชร์ที่สูงในแผ่นดินใหญ่ ช่วงเวลาดังกล่าวซีพีมุ่งให้ความสำคัญในจีนแผ่นดินใหญ่ค่อนข้างมาก

ความสำเร็จของซีพีในประเทศ มิใช่ราบรื่นทั้งหมด แต่ก็เป็นสร้างฐาน สร้างความสมดุลของการปรับตัว ในสถานการณ์ต่างๆ ในฐานะเครือข่ายธุรกิจระดับโลก ที่มีฐานลงทุนสำคัญในจีนแผ่นดินใหญ่รายแรกๆ

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

One thought on “China Connection”

  1. เรียนคุณวิรัตน์

    ผมเป็นคนเขียนบทความ “ยุทธ์ศาสตร์ Reversed Cross สำหรับประเทศไทยในทศวรรษหน้า” ที่อ้างในบทความครับ ยินดีที่เห็นคุณวิรัตน์ซึ่งผมตามอ่านมานานได้นำเนื้อหาในบทความนี้ไปอ้างอิง (ผมอ่าน “ลูกจ้างหมายเลขหนึ่ง” แล้วประทับใจเรื่องวิสัยทัศน์ในการสร้างศูนย์ข้อมูล และการปรับโครงสร้างกอง บก. ให้เหมาะกับโลกดิจิทัลมาก)

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: