ว่าไปแล้ว ถนนธนะรัชต์ กับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก ตั้งแต่เมื่อ 50 ปีที่แล้ว เป็นพัฒนาการความสัมพันธ์ เชื่อมโยงผู้คนกลุ่มใหม่ๆที่เคลื่อนย้าย และแวะเวียนเข้ามาในอาณาบริเวณเขาใหญ่อย่างไม่ขาดสาย
2500-2527
จุดเริ่มต้นสำคัญมาจากการเกิดขึ้นของถนนมิตรภาพ เส้นทางยุทธ์ศาสตร์ในช่วงสงครามเวียดนาม และการต่อต้านคอมมิวนิสต์ การสร้างถนนตัดผ่าผืนป่าขนาดใหญ่ของประเทศ และตามมาด้วยการซอยผืนนป่า ด้วยถนนย่อยเพื่อการเข้าถึง เป็นบริบทของการเกิดขึ้นและการพัฒนาในช่วงแรกๆของเขาใหญ่ที่ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า
ถนนมิตรภาพ หรือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 เป็นถนนหลวงที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาทั้งด้านงบประมาณ และ เทคนิค นับเป็นทางหลวงสายแรกของประเทศไทยที่มีผิวจราจรลาดยาง (Asphalted Concrete) เดิมตั้งชื่อถนนช่วงสระบุรี-ปากช่อง-นครราชสีมา ว่า “ถนนสุดบรรทัด” ตั้งแต่ ปี2493 ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น ถนนมิตรภาพ เมื่อ ปี 2500
ถนนธนะรัชต์ ถนนสายรองแยกจากถนนมิตร สู่เขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เปิดใช้ในปี 2505 ถือเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์กับเรื่องราวการต่อสู่เพื่อดำรงอยู่ของผืนป่าสำคัญของไทย
ว่ากันว่าปี 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์สำรวจป่าเขาใหญ่ จบลงด้วยคำสั่งจัดตั้งอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทย จากนั้นอีก 3 ปีได้ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติอย่างเป็นทางการ เรื่องราวที่ดูง่ายเช่นนี้ ย่อมมีทีมาน่าสนใจเสมอ
“2 ตุลาคม 2502 –นายออกัสโต ปาเจลลา สัญชาติอิตาเลียน เสนอโครงการพัฒนาพื้นที่บนเขาใหญ่ ต่อนายกรัฐมนตรี โดยจะทำการพัฒนาเขาใหญ่ให้เป็นสถานตากอากาศ มีการสร้างโรงแรม สนามกอล์ฟ สนามขี่ม้า สระว่ายน้ำ โรงไฟฟ้า การประปา คอกผสมพันธุ์สัตว์และเลี้ยงสัตว์ ตัดถนนขึ้นเขาใหญ่ และบ่อนกาสิโน โดยขอกรรมสิทธิ์ในที่ดิน 5,000 ไร่ 16 ตุลาคม 2502–หลวงวิจิตรวาทการนำเรื่องของนายออกัสโต ปาเจลลา เสนอนายกรัฐมนตรี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ บันทึก “ดำเนินการได้ (แต่ผมไม่ชอบกาสิโนเลย)” ข้อความนี้อ้างมาโดยไม่ตัดตอน จากมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ (มูลนิธินี้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธาน ) เรื่อง “บันทึกเหตุการณ์ที่สำคัญเกี่ยวกับเขาใหญ่ 2518” www.khaoyai.org )
เมื่อเป็นเช่นนั้น ทางหลวงแผ่นดินสายปากช่อง-เขาใหญ่ ซึ่งชื่อว่า “ถนนธนะรัชต์” สร้างเสร็จและเปิดขึ้นโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นประธานในพิธี ถนนสายนี้แยกจากถนนมิตรภาพถึงเขาใหญ่ระยะทาง 40 ก.ม. (ต่อมาเป็นที่ทราบกับว่าเป็นถนนหลวงหมายเลข 2090) ย่อมมีความเชื่อมโยงและต่อเนื่องกับแนวคิดการพัฒนาพื้นที่บนเขาใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นแนวทางอันสับสนและขัดแย้ง ถือเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทาง ผ่านประสบการณ์ในเส้นทางอันคดเคี้ยว และยาวไกลพอสมควร
จากบันทึกเหตุการณ์ฉบับที่อ้างข้างต้น ได้พบร่องร่อยแนวความคิดในยุคเผด็จการ เป็นความคิดที่สับสนและขัดแย้งกันเอง ระหว่างการการท่องเที่ยว การรักษาสภาพพื้นป่า และพื้นที่ทางการทหาร นอกจากจะเป็นที่ตั้งของสถานีสื่อสารของทหารอเมริกันในยุคสงครามเวียดนาม (ทุกวันนี้ คือสถานทีเรดาร์ของกองทัพอากาศบนยอดเขาเขียว ) แหล่งพักผ่อนและบันเทิงแล้ว ยังมีโครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่มูลค่าถึง 400 ล้านบาท (ในปี2512) รวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อกระแสการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม (รวมทั้งทางการเมืองด้วย) ของขบวนนักศึกษาในช่วงก่อนตุลาคม ปี 2516 เรื่องราวเงียบๆ ลับลมคมในก็ถูกเปิดขึ้น ขยายวงกว้างจากรณีเขาใหญ่ จนถึงกรณีทุ่งใหญ่นเรศวร อันอื้อฉาวในปี 2516
“18 พฤษภาคม 2515–รัฐบาลสั่งระงับการสร้างเขื่อนบนเขาใหญ่โดยสิ้นเชิง เนื่องจากมีการทำลายป่าอย่างมากมาย ถนนที่สร้างเข้าไปเพื่อสำรวจ กลายเป็นเส้นทางให้ชาวบ้านบุกรุกถางป่า นอกจากนั้นยังได้รับการคัดค้านจากประชาชน และนักวิชาการต่างๆ รวมทั้งสหภาพอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งโลก (IUCN) ก็มีหนังสือมาคัดค้าน และขอให้รัฐบาลระงับการก่อสร้างด้วย” ข้อมูลจากประวัติเขาใหญ่ที่อ้างแล้วข้างค้น
IUCN (International Union for Conservation of Nature) เป็นองค์กรและเครือข่ายว่าด้วยสิ่งแวดล้อมที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในโลก มีสมาชิก ทั้งองค์กร และประเทศมากกว่า 160 ประเทศ ปัจจุบันสำนักงานตั้งที่อยู่ที่ Gland ใกล้ Geneva Switzerland นับเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อพอประมาณ เรื่องราวที่คนไทยรู้กันไม่มากนักในเวลานั้น องค์กรนานาชาติสนใจ จากนั้นมา “เขาใหญ่” ดูเหมือนจะอยู่ในสายตาขององค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องเสมอมา
อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์แสวงหาความบันเทิงอย่างเอิกเริกในป่า ก็ดำเนินไปเป็นครั้งคราวด้วยเช่นกัน “10 พฤศจิกายน 2516 —ทางโรงแรมเขาใหญ่ อ.ส.ท. (ชื่อเดิมของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) ได้จัดให้มีงานลอยกระทงและมีรำวง เวลา 23.00 น. ผู้มาเที่ยวงานเกิดทะเลาะวิวาทกัน ยามสายตรวจเข้าไประงับเหตุการณ์ แล้วแจ้งให้เลิกรำวง นอกจากนั้นยังพบว่าพนักงาน อ.ส.ท. คนหนึ่ง ดื่มสุราจนเมา ได้จุดประทัดและดอกไม้ไฟ อันเป็นการกระทำผิด พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ จึงเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 100 บาท” ขออ้างบันทึกที่อ้างไว้ อีกครั้ง ถือเป็นบันทึกที่มีสีสันมากชิ้นหนึ่ง
ในเวลาเดียวกันนั้น พื้นที่ป่านอกเขตอุทยานเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ขบวนการแสวงหาพื้นที่ใหม่เพื่อการการเกษตรของผู้อพยพมาจากต่างถิ่น กลุ่มใหญ่ที่จับจองพื้นที่ขนาดหย่อม ขณะที่ผู้มีอำนาจ เข้าจับจองพื้นที่ขนาดใหญ่ รวมไปถึงความพยายามพัฒนาแหล่งน้ำของรัฐ เป็นเชิงสนับสนุนการเกษตร ด้วยการสร้างเขื่อนในบริเวณใกล้เคียง เช่นเขื่อนลำพระเพลิง และเขื่อนลำตะคลอง กระบวนการนี้ได้แผ้วทาง ทำลายพื้นป่าสมบูรณ์จำนวนมาก
ในปี 2525 ถนนธนะรัชต์ได้ขยายเส้นทาง โดยตัดถนนสายปราจีนบุรี-เขาใหญ่มาบรรจบกัน เป็นทางเลือกของการเดินทางจากกรุงเทพฯ โดยใช้ระยะทางสั้นกว่า เส้นทางมาจากนถนมิตรภาพ ถือเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยตรง ในขณะนั้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้กลายเป็นทีท่องเทียวยอดนิยมของคนเมืองหลวงไปแล้ว
2527-2545
คุณค่าของเขาใหญ่ที่อ้างอิงได้นั้น เจาะจงกับผืนป่าในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติอย่างจริงจัง เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างสัมพันธ์กัน เมื่อสงครามเวียดนามจบลง ความวิตกกังวลของภัยคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนคลี่คลายไป ในยุคชายชาติ ชุณหะวัณ คุณค่าของเขาใหญ่ คือธรรมชาติป่าเขาเขตร้อนผืนใหญ่ ยังคงสภาพที่ดีอยู่พอสมควร ด้วยความเป็นอุทยานแห่งชาติ ถือเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศมาตั้งแต่ปี2505 ได้ก้าวขึ้นอีกขั้นด้วยแนวทางที่ชัดเจน เมื่อได้รับรองเป็น ASEAN Heritage Parkปี 2527
“เขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย เป็นสถานที่ซึ่งเต็มไปด้วยความงดงามทางธรรมชาติอันน่าทึ่ง เทือกเขาดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลกนั้น มีพื้นที่ครอบคลุมกว่า 2000 ตารางกิโลเมตรเขาใหญ่ได้ชื่อว่าเป็นบ้านของสัตว์ป่ามากมายหลายชนิด รวมไปถึงชะนี ลิงหางสั้นนกเงือก ผีเสื้อ และช้างมีพืชพรรณมากกว่า 2000 ชนิดที่เติบโตอยู่ในอุทยานแห่งนี้” ผมชอบคำอรรถาธิบายนี้ของมูลนิธิเพื่อนป่า (www.freeland.org/th )
มีเหตุการณ์สำคัญช่วงต่อจากปี2527(ASEAN Heritage Park) คือความพยายามเสนอเป็น มรดกโลกมาครั้งแรกในปี 2533 พร้อมๆกับการตัดสินใจยกเลิก กิจการที่พัก โรงแรม และสนามกอล์ฟในพื้นที่อุทยาน เป็นสถานการณ์ที่น่าตื่นเต้นคู่ขนานไปกับกระแสการพัฒนาพื้นที่นอกอุทยาน ในช่วงอสังหาริมทรัพย์เฟื่องฟูทั่วประเทศ โดยลามมาถึงเขาใหญ่ด้วย
แม้ว่าจากนั้นอีกหลายปี(ปี 2548) อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทับลาน ปางสีดา ตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการให้เป็น “มรดกโลกทางธรรมชาติ”จากองค์การยูเนสโก (UNESCO World Heritage Site)ภายใต้ชื่อกลุ่ม “ดงพญาเย็น-เขาใหญ่” แต่คุณค่าของเขาใหญ่ ได้ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ก่อนหน้านั้นแล้ว
คุณค่าของเขาใหญ่ มีความหมายที่แยกแยะ และความสัมพันธ์อย่างชัดเจน ระหว่างอุทยานแห่งชาติที่กลายเป็นพื้นที่อ้างอิงสำคัญ ขณะเดียวพื้นที่ใกล้เคียงได้พัฒนาอย่างคึกโครมต่อเนื่องในฐานะที่พักตากอากาศแห่งใหม่ของคนเมืองหลวง
พื้นที่ใจกลางของการพัฒนา โรงแรม บ้านพักตากอากาศ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เริ่มต้นผุดขึ้นริมถนนธนะรัชต์ในช่วงประมาณ 20 กิโลเมตรแรกจากถนนมิตรภาพ แม้กระจายตัวออกไป ก็ล้วนเป็นเส้นทางที่แยกและกระจุกตัวไม่ไกลจากถนนสายหลักนี้ทั้งสิ้น
2545-ปัจจุบัน
ในฐานะอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็น”มรดกโลกทางธรรมชาติ”จากองค์การยูเนสโก (UNESCO World Heritage Site) มีความหมายสำคัญมิใช่เพียงสิ่งอ้างอิงที่มีค่า มีผลโดยตรงต่อการยกระดับคุณค่าแหล่งท่องเที่ยว พร้อมๆกับการยกระดับคุณค่า(รวมถึงราคา)ของสถานที่ตากอากาศในอาณาบริเวณนั้นด้วยเท่านั้น หากหมายถึงจากนี้ไป ระบบการบริหารจัดการ รักษาพื้นป่า ดูแลสิ่งแวดล้อมของอุทยานแห่งชาติจะยกระดับขึ้น ด้วยมาตรฐานสากล ด้วยกฎ กติกาขององค์การยูเนสโก อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ไม่เพียงเป็นแหล่งทองเที่ยงเชิงธรรมชาติของโลก ที่มีนักท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ทั่วโลกแวะเวียนไปมาเท่านั้น หากรวมถึงการมาของนักวิชาการ ตัวแทนองค์การ มูลนิธิ และทีมวิจัยในระดับนานาชาติด้วย การแวะเวียนของคนกลุ่มนี้ ประหนึ่งเป็นการเฝ้ามอง ติดตาม และตรวจสอบการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาตินี้ไปด้วย
ความเคลื่อนไหวของเครือข่ายโรงแรมระดับโลก เข้ามาปักหลักในอาณาบริเวณนี้ ล้วนมีความสัมพันธ์กับความเชื่อข้างต้น ทั้งคีรีมายา(โรงแรมของคนไทยแต่อยู่ในเครือข่ายDesign Hotels AG สำนักงานใหญ่อยู่ที เบอร์ลิน เยอรมนี ปัจจุบันมีโรงแรมในเครือข่ายเกือบ 200 แห่งในกว่า 40ประเทศ) และ Mountain Lodge Khao Yai (ในเครือ U Hotels & Resorts เชนใหม่ ตามแผนการใหญ่ของคีรี กาญจนพาสน์เจ้าของโครงการธนาซิตี้และรถไฟฟ้ามหานคร( BTS) ภายใน 2 ปี จะสร้างโรงในไทย เวียดนาม อินโดนิเชีย ลาว กัมพูชา รวมกันประมาณ 20 แห่ง) ล้วนอ้างอิง “จุดขาย”สำคัญ UNESCO World Heritage ด้วย (ดู www.kirimaya.com และ www.mountainlodgekhaoyai.com )
การขยายตัวของสถานที่ตากอากาศ ดำเนินอย่างครึกโครมที่สุดในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ล่าสุดโดยผนวกกับพื้นที่บริเวณวังน้ำเขียว “การเติบโตของอาณาบริเวณอำเภอวังน้ำเขียว ในช่วง5 ปีมานี้น่าทึ่งมาก เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่งของคนกรุงเทพฯ มาพร้อมกับสถานที่พักตากอากาศ ที่เติบโตเป็นดอกเห็ด พัฒนาการจะเริ่มจากตำบลไทยสามัคคี ขยายวงขึ้นตลอดเวลา เริ่มด้วยผู้ประกอบรายย่อยจากกรุงเทพฯ และพ่อค้า ข้าราชการต่างจังหวัด ไปสู่นักลงทุนขนาดกลางจากกรุงเทพฯแล้ว เป็นโมเดลเช่นเดียวกับ มวกเหล็กในอดีต ก่อนจะมาเป็นเขาใหญ่ปัจจุบัน (ถนนธนะรัชต์ เป็นเครือข่ายสำคัญ) ความเชื่อมโยงระหว่างถนนมิตรภาพกับถนนหมายเลข304 กลายเป็นเส้นเลือดสำคัญเชื่อมต่อกัน ผนึกกำลังกัน พร้อมๆกับขยายอาณาบริเวณพื้นที่บริเวณเขาใหญ่ให้กว้างขึ้น ขณะเดียวกันมีแรงดึงดูดมากขึ้น” (จากเรื่อง ยุทธ์ศาสตร์ถนน )
“เขาใหญ่มีผู้ที่มาท่องเที่ยวพักผ่อนปีละกว่า 1 ล้านคน มีโรงแรม และรีสอร์ท สำหรับนักท่องเที่ยวกว่า 2,000 ห้อง มีบ้านของคนกรุงเทพที่ใช้พักผ่อน กับครอบครัว และสังสรรค์กับเพื่อนฝูงในวันหยุดกว่า 2,000 หลัง และขยายตัวขึ้นตลอดเวลา มีสนามกอล์ฟ 6 แห่ง เป็นศูนย์อบรมสัมมนา ของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนตลอดทั้งปี คุณคิดว่า เขาใหญ่น่าเที่ยว หรือน่าลงทุน หรือทั้งสองอย่าง” อ้างจากข้อมูล อธิบายสภาพตลาดเขาใหญ่ โดยโครงการใหม่ล่าสุด เปิดตัวเมื่อปลายปีที่แล้ว บนถนนธนะรัชต์ (www.palio-khaoyai.com ) ให้ภาพชุมชนใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็วได้ชัดเจนพอสมควร
โดยเนื้อแท้ชุมชนใหม่ ประกอบด้วยชนชั้นกลางจากกรุงเทพฯ(ทั้งเจ้าของบ้านพักตากอากาศ เจ้าของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนักท่องเที่ยวผู้แวะเวียน) เป็นฐานของชุมชนที่มีบุคลิกเฉพาะตัว ไลฟ์สไตล์ ตามกระแสสมัยใหม่ มีความสามารถในการเรียนรู้และปรับตัว บางครั้งก็ขัดแย้งในตัวเอง เป็นภาพสะท้อนถึงการพัฒนาชุมชนของเขาใหญ่อย่างหลากหลาย และ ซับซ้อน อย่างไรก็ตามภาพรวมและกระแสหลักชุมชน มาจากแรงจูงใจในการแสวงหา สภาพธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมที่ดี มีฐานอ้างอิงระดับใดระดับหนึ่งมาจากคุณค่าของ “ดงพญาเย็น-เขาใหญ่”ในฐานะมรดกโลกทางธรรมชาติ
ผมมองการรวมตัวกันอย่างรวดเร็ว(ผ่านFace book) ของชุมชนใหม่นี้ ในการคัดค้านการขยายถนนธนะรัชต์ เป็นปรากฏการณ์สำคัญ สะท้อนการพัฒนาของชุมชนไปอีกขั้นหนึ่ง ตกผลึก เป็นปึกแผ่น ท่ามกลางความหลากหลาย ซับซ้อน เป็นชุมชนที่มีกระบวนการเรียนรู้ ปรับตัว เข้าใจความเป็นจริง และที่สำคัญเริ่มต้นแสดงบทบาทมีส่วนรวม ทั้งในการบริหารและกำหนดทิศทางชุมชนของตนเอง
และหวังว่าการรวมตัวครั้งสำคัญนี้ มิได้เกิดขึ้นเพียงชั่ววูบ หากพัฒนาเป็นพลังสร้างสรรค์ของชุมชนใหม่ และท้าทายผู้มีอำนาจในวัฒนธรรมเก่าได้อย่างแท้จริง
People must join together to fight those who will destroy nature for their own profit.