กลุ่มไทยเจริญ(ตอนที่1) ภาพใหญ่

ถ้าจำเป็นต้องเขียนเรื่อง “ฟุตบอลโลก” กระแสคึกโครมสยบความเคลื่อนไหวทุกสิ่งในกรุงเทพฯในขณะนี้แล้ว   ผมขอเขียนถึงเบียร์ช้าง ในฐานะสปอนเซอร์รายใหญ่ การถ่ายทอดสดฟุตบอลรายการนี้ในเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กลยุทธ์สำคัญที่เรียกว่า Sport marketing ถือเป็นร่องรอยเชื่อมโยงไปถึงภาพใหญ่ ความพยายามอย่างไม่หยุดยั้งในการสร้างเครือข่ายธุรกิจ

แต่สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษที่ซ่อนอยู่ คือความเคลื่อนไหวที่เป็นจริงเป็นจังของเจริญ สิริวัฒนภักดี ด้วยบทสนทนาเรียบๆ ว่าด้วยเข้าสู่ธุรกิจใหม่—ธุรกิจการเกษตร ผมเชื่อว่าสะท้อนภาพความซับซ้อนที่น่าสนใจของยุทธ์ศาสตร์ใหม่

ผมเคยเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ เจริญ สิริวัฒนภักดี ครั้งล่าสุดตั้งแต่ปี 2549 ถือเป็นช่วงสำคัญมากของกลุ่มธุรกิจของเขา กำลังก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง

การศึกษาบทเรียน ความสำเร็จของนักธุรกิจ หรือบุคคลผู้ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งในสังคมไทย  แนวทางของผม มิได้มุ่งเสนอเพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้อ่าน เป็นสำคัญ  หากนำเสนอแนวทางหรือยุทธ์ศาสตร์ที่มีความสัมพันธ์กับบริบททางสังคม ด้วยความพยายามให้ความสำคัญ “ความสามารถในการบริหาร”กิจการของบุคคล พอประมาณผสมผสานกับความเข้าใจ   การปรับตัว และผลกระทบสังคมโดยรวม 

“เจริญ สิริวัฒนภักดี สร้างฐานธุรกิจมาด้วยความยากลำบาก จนกลายเป็น “คนสุดท้าย” ในระบบเศรษฐกิจเก่า ที่มีความสัมพันธ์กับระบบอุปถัมภ์ และสัมปทาน ซึ่งกลายพันธุ์ไปมากแล้วในปัจจุบัน ความสำเร็จของเขาดูมั่นคงและมีรากฐานมากคนหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา แม้เขาจะต้องสูญเสียกิจการที่สำคัญไปบ้าง แต่ก็รักษาส่วนสำคัญที่สุดไว้ได้ เขาผ่านช่วงนั้นมาได้และขยายตัวใหม่อย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา จึงดูเหมือนไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเดินทางเข้าสู่จุดเปลี่ยนแปลงหรือหัวเลี้ยวหัวต่อในขณะนี้”

“เจริญ สิริวัฒนภักดี รู้มานานแล้วว่า “คุณค่าธุรกิจ” ที่มาจากระบบอุปถัมภ์และสัมปทานไม่คงทน เพราะตลาดเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายและรวดเร็วกว่าที่ใครๆ คิดกัน และที่สำคัญมันไม่ใช่สินทรัพย์ที่ส่งต่อให้ทายาทได้ เขาพยายามสร้างเครือข่ายที่มากกว่าสิ่งนั้นมาก่อนแล้วในช่วงก่อนวิกฤติ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

เป็นที่เข้าใจกันว่า ฐานธุรกิจสำคัญที่สุดของเขาอยู่ที่เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ณ วันนี้ เจริญและทีมผู้บริหารมืออาชีพที่ปราดเปรื่องของเขาคงพิเคราะห์แล้วว่า คุณค่าของธุรกิจนี้ที่แท้จริงน่าจะอยู่ที่ความสามารถการบริหารเครือข่ายการตลาด ไม่น่าจะใช่ตัวสินค้าเดิมอีกต่อไป หากเขามีสินค้าที่มีฐานแข็งแรง เข้าเสียบอย่างเหมาะเจาะกับสิ่งที่มีอยู่เดิม ย่อมจะสร้างฐานและขยายธุรกิจที่มั่นคงต่อไป ที่สำคัญกว่านั้น เขาได้เดินทางจากธุรกิจเก่าไปสู่ธุรกิจใหม่ที่มีอนาคตมากขึ้น

ธุรกิจเก่าในความหมายนี้ชัดเจนอยู่แล้ว ธุรกิจที่อิงกับระบบอุปถัมภ์ ซึ่งมีคุณค่าเฉพาะตัว (เจริญ) อย่างมาก ซึ่งนับวันมีทั้งต้นทุน และความเสี่ยงมากขึ้น หากก้าวพ้นไปสู่ธุรกิจที่อาศัยการตลาดระดับกว้างแล้ว ก็ย่อมจะเป็นการ “เปลี่ยนผ่าน” ที่ดี ที่ราบรื่นอย่างมากทีเดียว แม้ว่าการเปลี่ยนผ่านนี้จะต้องลงทุนหลายพันล้านบาทก็นับว่าคุ้มค่า” ตัดตอนมาจากบทความ “ตัน กับ เจริญ” (มกราคม 2549) อรรถาธิบายเรื่องราวการซื้อกิจการ”โออิซิ” (เครื่องดื่มชาเขียว และร้านอาหาร) ในขั้นตอนสำคัญขอพัฒนาธุรกิจเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ไปสู่เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ด้วย

“กลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น หรือ TCC Group เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่กลุ่มหนึ่งของคนไทย ซึ่งได้ก่อกำเนิดขึ้นจากพื้นฐานความตั้งใจของคุณเจริญและคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ที่มีความมุ่งมั่นต้องการเห็นธุรกิจของคนไทยแข็งแกร่ง เป็นที่เชื่อมั่นและสามารถก้าวสู่การแข่งขันได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

TCC Group เริ่มจากกิจการขนาดเล็กเมื่อปี 2503 มีการขยายตัวและพัฒนาจนเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ในปัจจุบันประกอบด้วย   สายธุรกิจที่สำคัญ 4 สาย คือ สายธุรกิจเครื่องดื่ม สายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สายธุรกิจอุตสาหกรรม การค้าและสินค้าอุปโภคบริโภค และสายธุรกิจประกันและเช่าซื้อ”ผมเข้าใจเองว่า website นี้( www.tcc.co.th) สร้างขึ้นในระยะเดียวกัน ซึ่งเป็นช่วงความพยายามปรับตัวครั้งสำคัญ ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2544    หรือตั้งแต่ตั้งตัวขึ้นอย่างมั่นคงหลังจากวิกฤติการณ์ ปี 2540   

ขณะนั้น ถือได้ว่ากลุ่มไทยเจริญ หรือทีซีซี ยุคใหม่กำลังเริ่มต้นขึ้น

ปี 2544 กลุ่มทีซีซี ได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทเบอร์ลียุคเกอร์ นอกจากจะเป็นรุกเข้าธุรกิจอุตสาหกรรม และสินค้าคอนซูเมอร์ ถือเป็นการขยายเส้นทางธุรกิจใหม่ครั้งแรกๆ ด้วยแนวทางใหม่ (บริษัทนี้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย) แล้ว ยังหมายถึงการเข้าครอบครองกิจการเก่าแก่สะท้อนถึงความเชื่อมโยงจาก “คนหน้าใหม่” เข้าสู่รากฐานสังคม

“การถือกำเนิดของหุ้นส่วนในประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2425 จากอดีตแห่งความภาคภูมิกว่า 120 ปีในประเทศไทย บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (“บีเจซี”) ในวันนี้ เป็นหนึ่งในบรรดาบริษัทชั้นนำของไทย ในการประกอบธุรกิจพาณิชยกรรมนำเข้า-ส่งออก การผลิต และการให้บริการ

จุดเริ่มต้นของบีเจซี มาจากหุ้นส่วนทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง ระหว่างตระกูลเบอร์ลี่และตระกูลยุคเกอร์ ที่ได้ร่วมกันก่อตั้ง บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ อันเป็นหนึ่งในบริษัททางการค้ายุคแรก ๆ ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่งในราชอาณาจักรสยาม” (www.berlijucker.co.th )

จากนั้นบริษัทนี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์ป้อนโรงงานผลิตเครื่องดื่ม กิจการหลักของกลุ่มทีซีซี   ปัจจุบันยอดขายต่อปีทะลุ 2หมื่นล้านบาทไปแล้ว

ปี 2546  เริ่มต้นยุคใหม่ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการร่วมทุนครั้งใหญ่ระหว่าง TCC Land จากประเทศไทย และ CapitaLand จากสิงคโปร์ ทั้งคู่จะตั้งบริษัทร่วมลงทุนในสัดส่วน 60: 40 ด้วยทุนจดทะเบียนแรกเริ่ม 2,000 ล้านบาท โดยชื่อว่า TCC Capital land ซึ่งจะลงทุนพัฒนาและบริหารโครงการที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน และศูนย์การค้าในประเทศไทย นับเป็นครั้งแรกที่มีผู้ร่วมทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไทย จากก่อนหน้านี้ต่างชาติจะเข้ามาบริหารโครงการเพียงอย่างเดียว

CapitaLand เป็นกลุ่มบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย ในเครือ Temasek Holdings มีสำนักงานใหญ่ อยู่ที่สิงคโปร์ ธุรกิจหลักคือโครงการที่พักอาศัย เพื่อการค้าและอุตสาหกรรม และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอสังหาริมทรัพย์ เช่น สถาบันการเงินและกองทุน ในกว่า 50 เมืองใหญ่ทั่วโลก

TCC Land เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ TCC Group เริ่มด้วยด้วยการใช้เงินสดจำนวนมากจากธุรกิจสุรา ซื้ออสังหาริมทรัพย์สะสมต่อเนื่องมาแล้วนับสิบปี จนกลายเป็นกิจการลงทุนในธุรกิจโรงแรม ศูนย์ประชุม ศูนย์การค้าและสถานสันทนาการ เช่น โรงแรมในเครืออิมพีเรียล โรงแรมพลาซ่า แอทธินี ทั้งที่กรุงเทพฯ และนิวยอร์ก ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พันธุ์ทิพย์ พลาซา และสโมสรราชพฤกษ์  เท่าที่ประเมินอย่างคร่าวๆ(เนื่องจากบริษัทยังไม่ได้เข้าตลาดหุ้น การเปิดเผยข้อมูลมีอยู่อย่างจำกัด)จะถือว่ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีสินทรัพย์อันดับต้นๆของประเทศไปแล้ว  `ความสำคัญนี้ได้รับการรับรองแล้วจากกิจการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์อย่าง Temasek Holdings

จากความสัมพันธ์กับสิงคโปร์ครั้งนี้  พัฒนาต่อเนื่องไปสู่การพัฒนาธุรกิจดั้งเดิมด้วย

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน)  ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยเมื่อเดือนตุลาคม 2546 โดยรวมกิจการผลิตเบียร์และสุรา ของกลุ่มทีซีซี รวมทั้งการซื้อกิจการเพิ่มเติมในช่วงนั้น เข้ามาเป็นกลุ่มบริษัท    

เริ่มต้นด้วยความพยายามอย่างยิ่งในการเข้าสู่ตลาดหุ้นในประเทศไทย แต่ด้วยต่อต้านจากองค์กรเอกชน และองค์การศาสนาพุทธ อย่างรุนแรงและกว้างขวาง  ในที่สุดจึงหันเหไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (“SGX”) (30 พฤษภาคม 2549)

“เป็นการจดทะเบียนครั้งใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การจดทะเบียนครั้งนี้สามารถระดมทุนได้ถึงประมาณ 1,580 ล้าน เหรียญสิงคโปร์ หรือประมาณ 38,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้ใช้เงินที่ได้รับจากการขายหุ้นจำนวนหนึ่งมาใช้ชำระเงินกู้ระยะสั้น และบางส่วนสำหรับเป็นเงินทุน หมุนเวียน ไทยเบฟไม่เพียงแต่เป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่ยังเป็นผู้ผลิตที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกด้วย”ข้อมูลของบริษัทเอง(www.thaibev.com )แสดงไว้   อาจทำให้ผู้เกี่ยวข้องในสังคมธุรกิจไทยบางส่วนรู้สึกเสียดาย

การจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ ถือเป็นจุดเปลี่ยนแปลงบางประการที่สำคัญจากนั้น

“ตั้งแต่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ไทยเบฟได้วางแผนกลยุทธ์เพื่อขยายกิจการไปยังต่างประเทศผ่าน International Beverage Holdings Limited (“IBHL”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นโดยบริษัททั้งหมดเป็นผู้ดำเนินการ ปัจจุบัน IBHL ได้ตั้งสำนักงานขายใน 6 ประเทศ และเริ่มส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์หลัก 2 ชนิดคือ เบียร์ช้างและสุราแม่โขง ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และอื่นๆ รวมไปถึงการขยายตลาดสุราสก็อตวิสกี้ โดย Inver House Distillers Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ IBHL” ข้อมูลอีกตอนของไทยเบฟ กล่าวไว้อย่างเจาะจง 

เราเคยวิเคราะห์กันว่ากลุ่มทีซีซี มีอิทธิพลหลายด้านในสังคมไทย  เนื่องจากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีเงินสดหมุนเวียนจำนวนมาก    แต่ก็ไม่มีใครประเมินได้อย่างถูกต้อง   จากการเข้าตลาดหุ้นในสิงคโปร์ เข้าใจว่ามีข้อกำหนดในการเปิดเผยข้อมูลอย่างเข้มงวดพอสมควร  จึงรู้ว่ารายได้ต่อปีของกลุ่มธุรกิจนี้ไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนบาท

จากนั้น  เจริญ สิริวัฒนภักดี ก็ถูกกล่าวถึงในระดับโลกมากขึ้น Forbes Magazine นิตยสารธุรกิจของสหรัฐ ซึ่งเป็นเจ้าของการจัดอันดับความร่ำรวยของนักธุรกิจทั่วโลก   โดยได้จัดอันดับ Southeast Asia‘s 40 richest เป็นครั้งที่สองในปี2548     ปรากฏรายชื่อเจริญ สิริวัฒนภักดี เข้าอันดับมาใหม่เป้นครั้งแรก ในฐานะผู้มีทรัพย์สินรวมกันมากกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ  เป็นอันดับที่  5  โดยถือเป็นอันดับหนึ่งของไทย แซงหน้าเฉลียว อยู่วิทยาแห่งกระทิงแดง   ธนินทร์ เจียรวนนท์  หรือแม้แต่ทักษิณ ชินวัตรในขณะนั้น ทั้งนี้  Forbes  ตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า หลังจากเจริญ พยายามนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นนั้น เขาจำเป็นเปิดเผยข้อมูลกิจการในเครือข่ายตนเองมากขึ้น

ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ขัดแย้งกับบุคลิกของเจริญ สิริวัฒนภักดีอย่างมาก จากจุดเริ่มต้นในฐานะที่มีโปรไฟล์ไม่ดีนัก บวกกับธุรกิจอิทธิพลในระบบอุปถัมภ์ ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนถูกโจมตีตลอดมานั้น   เขาจึงเป็นคนเก็บตัวมากที่สุดคนหนึ่งในสังคมธุรกิจไทย   ในหลายปีมานี้เขาได้สร้างความประหลาดใจ พยายามสร้างเครือข่ายธุรกิจใหม่อย่างเป็นระบบ   ชักนำมืออาชีพที่มีชื่อเสียงจำนวนมากมาแวดล้อม  พร้อมกับความพยายามเปิดเผยข้อมูลกิจการต่อสาธารณะชนมากขึ้น

แรงบันดาลใจของความพยายามปรับตัวครั้งใหญ่  มาพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านจากรุ่นของเข่าสู่รุ่นลูกอย่างชัดเจน ดังที่เคยตั้งข้อสังเกตแต่ต้น  

ดูเหมือนเจริญเจริญ สิริวัฒนภักดี จะเชื่อมั่นในตัวทายาทอย่างมาก ในแง่มุมที่ว่าด้วยการศึกษาในฐานะที่ทั้งเขาและภรรยา ไม่มีการศึกษาในระบบที่ดี ขณะทีเดียวกันก็เชื่อมั่นโมเดลของตนเองที่ว่าด้วยสามี-ภรรยาบริหารงานด้วยกันอย่างใกล้ชิด  สามารถนำพากิจการก้าวหน้าไปได้ด้วย

บุตรและบุตรีของเจริญ ทั้งหมด กำลังก้าวสู่วัยเกิน30 ปี พร้อมด้วยผ่านการศึกษาอย่างดีมาจากต่างประเทศ ใครๆก็ว่า เจริญกับ วรรณา เลี้ยงลูกได้ดี   บุตรีที่เข้ามาบริหารกิจการล้วนแต่งงานแล้วกับบุคคลที่เชื่อได้ว่ามีความสามารถในการบริหาร โดยมีการจัดแบ่งกิจการออกไปให้แต่ละครอบครัวใหม่อย่างชัดเจน

ในช่วงกับการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ด้วยความพยายามเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะชนมากขึ้น เจริญตัดสินใจนำบรรดาบุตรและบุตรีของเขาขึ้นสู่ตำแหน่งการบริหารในระดับสูงโดยทันที แม้ว่าพวกเขาและเธอแทบไม่มีประสบการณ์ในการบริหารมาก่อน   ขณะเดียวกันในการทุกกิจการในกลุ่ม  เจริญ  สิริวัฒนภักดี ก็ดำรงตำแหน่งประธานและประธานบริหารด้วย 

สิ่งที่น่าสนใจประหนึ่งเป็นจิกซอร์ชิ้นสุดท้าย ณ ขณะนี้ก็คือ การสร้างกลุ่มธุรกิจใหม่ ภายใต้เครือข่ายกลุ่มทีซีซี นั่นคือธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตร  จากฐานความเป็นเจ้าที่ดินนับแสนไร่ ซึ่งเชื่อกันว่าจะสั่นสะเทือนสังคมเกษตร รากฐานดั้งเดิมของไทยอย่างมาก

เจริญ สิริวัฒนภักดี ถือว่าเป็นคนแรก  สามารถเดินผ่านเส้นทางจากธุรกิจในระบบอุปถัมภ์ในฐานะคนคนสุดท้าย  กำลังจะก้าวไปไกลกว่าที่ใครๆคิดไว้—บทสรุปทำนองนี้ จะมีขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการอรรถาธิบายที่ชัดเจนมากกว่านี้

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: