ธนาคารไทยเปลี่ยนแปลงไปมากแล้วจริงๆ จากระบบธุรกิจที่เน้นความมั่นคง ไปสู่ความตื่นเต้น หวือหวามากขึ้นๆ
ผมเคยเขียนเรื่องธนาคารไทยมาพอสมควร แม้จะยังไม่ได้เล่าเรื่องสนุกๆทำนองว่า ปัจจุบันในการประชุมคณะกรรมการธนาคารไทย เหลือเพียงธนาคารกรุงเทพแห่งเดียวเท่านั้น ที่ใช้ภาษาไทย แต่เรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่เคยกล่าวไว้ ว่าด้วยธนาคารใหญ่ใหม่ มีเหตุการณ์ต่อเนื่องสำคัญสนับสนุนแนวคิดข้างต้นอย่างน่าสนใจ จึงควรฉายภาพกว้างอย่างซับซ้อนให้มากขึ้น
แม้ว่าจำเป็นต้องเล่าเรื่องพื้นฐานธนาคารแห่งนี้พอสังเขป แต่ที่สำคัญต่อจากนั้น จะโฟกัสบทบาทในการสร้างผลสะเทือนต่อภาพรวมธุรกิจธนาคารไทยให้ตื่นเต้นและวูบไหวอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
จากธนาคารที่เกิดขึ้นมาจากผลพวงของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี2475 จากนั้นกลายเป็นธนาคารของตระกูลรัตนรักษ์ ถือเป็นตระกูลรุ่นบุกเบิกตระกูลหนึ่งของสังคมธุรกิจไทย สามารถสร้างฐานธุรกิจอย่างมั่นคงในช่วงสงครามเวียดนาม มีเครือข่ายธุรกิจสำคัญ -โดยเฉพาะปูนซีเมนต์นครหลวง และเจ้าของสัมปทานเครือข่ายฟรีทีวีรายใหญ่ที่สุด (ช่อง7)
ธนาคารกรุงศรีอยุธยายุคก่อนหน้านี้ดำเนินธุรกิจไปอย่างเรียบๆ และดูเหมือนไม่ได้เผชิญปัญหาหนักหนาเช่นธนาคารอื่นๆ ในช่วงวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจต่างๆ หลายคนรวมทั้งผมเองด้วย ประเมินผู้ถือหุ้นใหญ่ธนาคารนี้ในมุมมองเชิงบวก ว่าเข้าใจแก่นธุรกิจธนาคารไทย ด้วยความพยายามรักษามาตรฐานการบริหาร ซึ่งถือว่าเป็นการรักษาความมั่นคงธนาคารในยุคผันแปรก่อนหน้านั้นไว้ได้อย่างดีพอสมควร
แต่แล้วได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่อย่างตื่นเต้นอย่างคาดไม่ถึง ด้วยพัฒนาการก้าวเป็นธนาคารใหญ่ใหม่(ตามคำนิยามของผม)อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่ปี(เริ่มตั้งแต่ปี2550) รายงานประธานกรรมการ(วีรพันธ์ ทีปสุวรรณ)ในรายงานประจำปี 2549 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้กล่าวถึงช่วงต่อสำคัญไว้อย่างเข้าถึงเหตุการณ์และอารมณ์ โดยยกบทบาทกฤต์ รัตน์รักษ์ อดีตประธานกรรมการไว้อย่างสูง ทั้งมีวิสัยทัศน์ในการชักนำพันธมิตรที่ดีเข้ามาถือหุ้นและบริหาร และถือเป็นการ “เสียสละอย่างใหญ่หลวง” ด้วยการลาออกจากทุกตำแหน่งในธนาคารจากบทบาทบริหารธนาคารมา35 ปี “โดยเฉพาะในช่วง 10ปีหลังที่ท่านทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจด้วยความวิริยะอุตสาหะ เพื่อนำพาให้การบริหารธนาคาร สามารถต่อสู่กับอุปสรรค และปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ”
ว่าไปแล้วถือเป็นตรรกะที่สมเหตุสมผล ภาพที่กว้างกว่านั้น กฤต รัตน์รักษ์ ถือเป็นรัตนรักษ์รุ่นที่สองที่มีความสามารถข้ามผ่านอุปสรรถและวิกฤติมาได้ ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ด้วยแนวคิดที่ข้ามผ่านจากระบบธุรกิจครอบครัว สู่ยุคมืออาชีพ ความจริงแนวคิดและกระบวนการปรับตัวของเขาเริ่มมาตั้งแต่ปี 2541 ตั้งแต่กรณีHolcim (จากสวิสเซอร์แลนด์) มาถือหุ้นและบริหารบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง ซึ่งพิสูจน์ในเวลาต่อมาว่าเป็นโมเดลที่ดี เช่นเดียวกับกรณีธุรกิจประกันชีวิตในปี2544 ซึงร่วมทุนกับซีพีและ Allianz (จากเยอรมนี) ยักษ์ใหญ่ธุรกิจระดับโลก
สำหรับธนาคารกรุงศรีอยุธยา GE Capital International Holdings Corporation เครือธุรกิจระดับโลกจากสหรัฐฯเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนมากกว่ากลุ่มผู้ถือรายใหญ่เดิม (เท่าที่ดูข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์) ที่สำคัญจากนั้น คือการเปลี่ยนอำนาจบริหารครั้งใหญ่จากกลุ่มเดิมสู่กลุ่มใหม่ ประธานกรรมการบริหารและกรรรมการผู้จัดการ และตำแหน่งสำคัญทั้งมวลอยู่ในมือของตัวแทนของ GE Capital ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ ว่าไปแล้ว อาจเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งเดียว ที่โครงสร้างการบริหารอยู่ในมืออาชีพชาวต่างชาติอย่างครอบคลุม
จากนั้นจึงเริ่มต้นของการสร่างเครือข่ายธนาคารเพื่อรายย่อย( Retail banking) ในจินตนาการใหม่สำหรับวงการธนาคารไทยได้เห็นและควรเรียนรู้ โดยเฉพาะกระบวนการเข้าซื้อกิจการและเครือข่ายสินเชื่อรถยนต์ และบัตรเครดิต จากเครือข่ายเดิมของ GE Capital และAIG ซึ่งถือว่าเป็นเครือข่ายการเงินระดับโลกของสหรัฐ ทีอยู่ในประเทศไทย และล่าสุดเข้าชื้อธุรกิจการเงินเพื่อรายย่อยของHSBCประเทศไทยทั้งธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และธุรกิจเงินฝาก
ปรากฏการณ์นี้ สร้างผลสะเทือนต่อธนาคารไทยในสองมติสำคัญ
หนึ่ง–“ธนาคารเป็นเรื่องสากล เพราะว่าผู้ใช้บริการไม่สนใจว่าเจ้าของแบงก์นี้จะเป็นใคร เขาสนใจว่า เขาจะได้รับบริการที่ดีเท่านั้น แบรนด์เนมหรือความเป็นธนาคารไทย ที่มันบางเต็มที มันหวังพึ่งไม่ได้ มีอยู่อย่างเดียว ก็คือ สนองความต้องการลูกค้าให้ได้” บัณฑูร ล่ำซำ แห่งธนาคารกสิกรไทยกล่าวกับผมไว้เมื่อปี2543 กำลังจะเป็นเรื่องจริง และลงลึกมากขึ้น ระบบและเครือข่ายธนาคารที่เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายระดับโลก กำลังเข้าถึงกลุ่มลูกค่าคนไทยรายย่อย ธนาคารไทยเดิมอาจเคยคิดว่ามีความสามารถเข้าถึงและครอบครองไว้แต่ไหนแต่ไร กำลังสั่นคลอนมากขึ้น ความจริงอีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจกลับเป็นว่า แม้แต่ธนาคารใหญ่อย่างธนาคารกรุงเทพที่มีความสัมพันธ์กับสังคมธุรกิจไทยมาช้านานและแนบแน่น กำลังปรับระบบและแนวทางเข้าสู่ธุรกิจธนาคารเพื่อรายย่อยย่างยากลำบากพอสมควรในเวลานี้
สอง-ธนาคารพาณิชย์ไทยที่ดูไม่อาจแยกแยะบุคลิกและลักษณะธุรกิจออกจากกันได้ชัดเจน GE Capital และธนาคารกรุงศรีอยุธยา กำลังเปลี่ยนมุมมองนี้ โดยเฉพาะการเป็นธนาคารรายย่อยรายใหญ่ที่สุดของไทย ภายใต้โครงสร้างที่ไม่จำเป็นต้องเป็นธนาคารใหญ่ที่สุด นั่นคือความพยายามสร้างบริการที่เป็นจุดเด่น (Product differentiation) ขนาดธนาคารไม่สำคัญเหมือนเดิม มีความหมายสองด้าน ด้านหนึ่ง ขนาดใหญ่ไม่ได้ความว่าเป็นผู้นำธุรกิจทุกด้าน และอีกด้าน การก้าวข้ามเป็นธนาคารใหญ่ เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว มิได้เรียบเรื่อยเช่นแต่เดิม
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กำลังกระตุ้นให้บรรดานายธนาคารไทยและผู้เฝ้ามอง ปรับความคิดและจินตนาการเกี่ยวกับธนาคารไทยเสียใหม่
เหตุการณ์สำคัญ
มกราคม 2550 GE Capital สถาบันการเงินเพื่อรายย่อยชั้นนำของโลกได้บรรลุข้อตกลงการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา ถือหุ้นใหญ่33% ขณะที่ตระกุลรัตนรักษ์ ถือหุ้น25% โดยส่งทีมเข้ามาบริหารงานในตำแหน่งสำคัญ
กุมภาพันธ์ 2551 ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเข้าซื้อกิจการบริษัท จีอี แคปปิตอล ออโต้ ลีส ซึ่งมีสินทรัพย์ 78,000 ล้านบาท และเงินให้สินเชื่อ 75,000 ล้านบาท ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) (AYCAL)
เมษายน 2552 เข้าซื้อหุ้นธนาคาร เอไอจี เพื่อรายย่อย และ บริษัท เอไอจี คาร์ด (ประเทศไทย) ในราคา 1,600 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวมกันประมาณ 32,800 ล้านบาท มีฐานสินเชื่อ 21,900 ล้านบาท เงินฝาก18, 600 ล้านบาท และมีจำนวนบัตรเครดิตประมาณ 222,000 บัตร
กันยายน 2552 เข้าซื้อกิจการบริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิสเซส –บริษัทในเครือของ บริษัทอเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป อิงค์ เป็นผู้ให้บริการไมโครไฟแนนซ์โดยเฉพาะสินเชื่อที่ใช้ทะเบียนรถเป็นหลักประกัน มีเครือข่ายสาขากว่า 160 แห่งทั่วประเทศ
พฤศจิกายน 2552 เข้าซื้อธุรกิจการเงินเพื่อผู้บริโภคของจีอี แคปปิตอล ในประเทศไทย จากนั้นธนาคารกรุงศรีอยุธยากลายเป็นผู้ให้บริการบัตรเครดิตรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยจำนวนบัตรหมุนเวียนในระบบมากกว่า 3 ล้านใบ และให้บริการลูกค้ากว่า 8 ล้านราย
มกราคม 2555 ลงนามสัญญาเข้าซื้อธุรกิจการเงินเพื่อรายย่อยของธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทยทั้งธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และธุรกิจเงินฝาก โดยมีมูลค่าการซื้อขายจำนวน 3,557 ล้านบาท