บทที่ควรสรุป

ขออนุญาตนำบทสรุปที่สำคัญบางมิติของบทความชุดสังคมธุรกิจไทย (2540-ปัจจุบัน)ที่เขียนมาแล้วถึง 20 ตอน เพื่อเป็นการทบทวนความคิดทั้งผู้เขียนและผู้อ่าน น่าจะเป็นเรื่องควรเป็นไปและควรอ่านในช่วงเริ่มต้นปี  ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของความพยายามมองไปข้างหน้า

แรงปะทะ

“ความจริง ภาพต่อเนื่องจากมุมมองในระบบเศรษฐกิจจากบทความชุดใหญ่นี้   เชื่อและคิดว่าในช่วงที่ผ่านมา สามทศวรรษนั้น โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษสุดท้ายสังคมเศรษฐกิจไทย มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากที่สุดในหลายมิติ แม้ว่าผมเชื่อว่าปรากฏการณ์ทางการเมือง เป็นปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายตามเนื้อหาในบทความนี้ แต่ตั้งใจจะไม่กล่าวถึงโดยตรง” เป็นบทนำที่เกรินกล่าวไว้ในตอนนี้เรื่องชุดนี้ (โหมโรง กรกฎาคม 2554) ซึ่งถึงเวลาควรอรรถาธิบายเพิ่มเติมในมิติการเมืองบ่างก็ได้

ผมมีความเชื่อว่า การเมืองไทยเป็นภาพสะท้อนช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสถานการณ์  พลังขับเคลื่อนสำคัญมาจากภาวะสังคมธุรกิจไทยตอบสนอง(ตอบรับหรือปฎิเสธ)อย่างไม่สมดุลต่ออิทธิพลระบบเศรษฐกิจโลก   ด้านหนึ่ง –กลุ่มอิทธิพลทางธุรกิจดั้งเดิม ล้วนผ่านประสบการณ์เลวร้าย บางส่วนฟื้นตัวมาได้อีกครั้ง บางส่วนยังต้องดิ้นรนต่อไป และอีกบางส่วนต้องมีอันเป็นไป ดีกรีของความความไม่แน่ใจ ความกังวล เกิดขึ้นในระดับต่างๆกัน ปรากฏการณ์ปฏิกิริยาเชิงลบต่อ “ตัวแทน”ธุรกิจระดับโลก ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มักมาจากฝ่ายนี้   แต่อย่างไรเสียกลุ่มอิทธิพลทางธุรกิจดั้งเดิมที่พัฒนาไปมากแล้ว เสียงพึมพรำมักมาพร้อมกับการยอมรับความเป็นไปอย่างดุษณี

อีกด้านหนึ่ง — กลุ่มธุรกิจอิทธิพลใหม่  ส่วนใหญ่เติบโตมาจาการเกาะเกี่ยวกับกระแสทุนนิยมโลกมากเป็นพิเศษ  ส่วนหนึ่งผ่านกลไกลตลาดการเงิน  ภายใต้แก่นของปรากฏการณ์ที่แตกต่างจากอดีต(ไม่ว่ากรณี พร สิทธิอำนวย  จนถึงปิ่น จักกะพาก) ตรงที่พลังอำนาจแม้จะถูกตีโต้ ถดถอยในบ้างบางช่วง บางเวลา แต่ไม่ถึงกับล้มพับเสียทั้งหมด  นอกจากนี้ปรากฏการณ์ความสัมพันธ์ใหม่ มาจากผู้นำกลุ่มมีความเชื่อมโยงกับรายย่อยมากขึ้น  ซึ่งถือว่าเป็นเครือข่ายหรือดาวบริวาร เป็นฐานพลังของความอยู่รอด ความหวังและโอกาส   จึงกลายเป็นพลังที่แสดงอำนาจออกมาอย่างน่าสนใจ

สิ่งที่น่าสนใจก็คือในช่วงเวลาที่ผ่านมาและจากนี้ไป ทั้งสองกลุ่มดูเหมือนเผชิญหน้ากันโดยตรง

 

บทเรียนในช่วงกว่าสองทศวรรษเป็นบทเรียนสำคัญมาก  ก่อนวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่มาถึง  เป็นช่วงผู้มีอิทธิพลดั้งเดิม มีความมั่นใจตนเองมากที่สุด มีความเชื่อมั่นว่า มีความสามารถควบคุมระบบและกลไกทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าปัจจุบันมากมายนัก แต่จากปรากฏการณ์ท้าทายได้มาถึงอย่างไม่คาดฝัน และพวกเขาต้องประสบปัญหามากมายในเวลาต่อมา   ขณะเดียวกันกลุ่มอิทธิพลใหม่ที่อุบัติขึ้นอย่างน่าเกรงขามเป็นช่วงๆนั้น  ดูเหมือนว่าสามารถทนแรงเสียดทานได้มากกว่ายุคก่อนๆ แต่ทว่านับวันแรงตีโต้ก็รุนแรงมากขึ้นๆเป็นลำดับ   ภาพความไม่มั่นใจ ความกังวลกับอนาคตจึงปรากฏขึ้นกับทั้งสองฝ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

แม้ว่าแรงปะทะนี้ยังจะเกิดขึ้นอีกอย่างต่อเนือง  แต่ในบางด้านมีความพยายามประนีประนอมก้นเกิดขึ้นด้วย  ผมไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าในกระบวนการสร้างความสมดุลระหว่างอิทธิพลเก่า-ใหม่ในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย  จะทำลายหรือสร้างระบบและสถาบันทางการมืองอย่างไร่หรือไม่ เพียงใด  แต่ในที่สุดสังคมธุรกิจไทยคงสร้างความสมดุล ว่าด้วยจัดสรรผลประโยชน์  และแข่งขันในระดับที่คงอยู่ร่วมกันได้  โดยไม่ได้สร้างกระเพื่อมสู่มิติอื่นๆเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ในวงจร

 

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สังคมธุรกิจไทย คงไม่อาจทำลายสายสัมพันธ์หรืออิทธิพลของธุรกิจระดับโลกได้

ในความพยายามอรรถาธิบายสังคมธุรกิจไทยในช่วงประมาณสองทศวรรษ  ซึ่งถือเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดนั้น ในช่วงต้นๆผมตั้งใจพิจารณาปรากฏการณ์ในสองขั้วใหญ่—ระบบตลาดการเงินซึ่งถือเป็นหน้าด่านเชื่อมกับระดับโลก กับเกษตรกรรมไทยดั้งเดิมซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นระบบเศรษฐกิจล้าหลังและพัฒนาไปอย่างเชื่องช้าในหลายทศวรรษมานี้

 

หนึ่ง- เมื่อเพ่งมองเข่าในใจกลางของระบบทุนนิยม ถือว่าสังคมเศรษฐกิจไทยได้เขาเป็นส่วนหนึ่ง ในวงจรความผันแปรที่มีการปรับตัวอย่างเข้มขน กลายเป็นเป็นเนื้อเดียวกับระบบทุนนิยมค่อนข้างสมบูรณ์  คงต้องโฟกัสไปที่ระบบตลาดทุนและตลาดเงิน โดยเพิ่งมองผ่านกลไกสถาบันสำคัญคือตลาดหุ้นและธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย

 

โครงสร้างความสัมพันธ์กับเครือข่ายทุนนิยมระดับโลก สะท้อนผ่านตลาดหุ้นและระบบสถาบันการเงินไทยมีความสลับซับซ้อนมากกว่าในช่วงก่อนหน้าอย่างมาก

–โครงสร้างตลาดทุนไทยมองผ่านผู้เล่นสำคัญมีปรากฏโฉมหน้าอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะเชื่อมโยงกับยุทธ์ศาสตร์ระดับโลก ไปจนถึงเครือข่ายระดับภูมิภาคถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ (จากตอนผู้เล่นสำคัญ(1)) ทั้งนี้เป็นสถานการณ์โหมโรงของบริบทใหม่ระดับภูมิภาคจะสร้างระบบเชื่อมโยงกับทางเศรษฐกิจอย่างแนบแน่นและจริงจังมากขึ้น

แต่อีกด้านหนึ่งในสังคมธุรกิจไทย การก่อเกิดพลังใหม่ๆ  “ผู้มาใหม่”อย่างเงียบๆ เกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างจริงจังในระบบตลาดทุน เป็นโอกาสใหม่ของผู้คนในระบบ ในช่วงเวลาที่ค่อนข้างสับสน   เป็นเรื่องที่ไม่ฉาบฉวยอีกอีกต่อไป (โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากตอน โฉมหน้าผู้บุกรุก(4) นักลงทุน)

–ความเคลื่อนไหวของสถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ไทย ภายหลังระบบที่ถูกปกป้องไว้สำหรับอิทธิพลเก่าถูกทำลาย โครงสร้างใหม่เปิดโอกาสอย่างกว้างขวางให้กับระดับธนาคารทั้งระดับโลกและ ระดับภูมิภาค เข้ามามีบทบาทอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ธนาคารไทย  เป็นช่วงต่อของสถานการณ์ใหม่ทั้งเศรษฐกิจระดับภูมิภาคกำลังหลอมรวม  กับการเปิดทางให้ธนาคารในประเทศสามารถมีบริการครบวงจรมากขึ้น  ภาพรวมธุรกิจธนาคารในประเทศ จึงมีความเคลื่อนไหว คึกคักและมีสีสันมากกว่ายุคใดๆ(อ่านตอนเครือข่ายแห่งเครือขาย)

สอง-บทความชุดนี้ให้ความสำคัญของความเป็นไปของเกษตรกรรมไทย ดูเผินๆเหมือนมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆอย่างที่เคยเป็น แท้จริงในช่วงระยะใกล้ที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย  โดยเฉพาะในมิติเชื่อมโยงกับธุรกิจระดับโลกอย่างมากมาย พิจาณาแล้วยกระดับความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมากขึ้นๆ

–ขั้นที่หนึ่ง การลงทุน  แม้เปิดฉากขึ้นมานานแล้วประมาณ3-4 ทศวรรษ   แต่ความเคลื่อนไหวดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งรูปแบบและความหลากของนักลงทุน โดยมีความซับซ้อนมากขึ้น กระจายพื้นไปกว้างขวางมากขึ้น

–ขั้นสอง โมเดลและโนวฮาว สาระสำคัญอยู่ที่มี่ความพยายามครอบครองและควบคุมพื้นที่ขนาดใหญ่ที่เรียกว่า    อิทธิพลของโมเดลนี้สร้างผลสะเทือนขยายวงมากขึ้น การครอบครองพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อเกษตรกรรมสมัยใหม่ เป็นไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวางอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้และจากนี้ไป โมเดลธุรกิจกำลังเปลี่ยนผ่านจากโครงสร้างง่ายให้ซับซ้อนมากขึ้น ทั้งแนวดิ่งและแนวนอน

–ขั้นสาม เครือข่ายระดับโลก  พื้นทีเกษตรกรรมของไทยที่มีความพยายามยืนยันแนวคิดความเป็นสมบัติของชาติที่สำคัญที่เหลืออยู่ และดูเหมือนเป็นสินทรัพย์ที่จำต้องได้นั้น ได้เปลี่ยนแปลงแนวคิด  “ความเป็นเจ้าของ” ด้วยนิยามใหม่อย่างสิ้นเชิงไปแล้ว ไม่ว่าใครจะรู้หรือเข้าใจหรือไม่ก็ตาม แม้ที่ดินของไทยมิได้ถือครองโดยเครือข่ายธุรกิจระดับโลกในทางกฎหมาย แต่ที่ดินเกษตรกรรมของไทยจากนี้จะถูกควบคุมมากขึ้น  ในพื้นที่ที่ขยายออกไปมากขึ้น  ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายธุรกิจเกษตรกรรมครบวงจรระดับโลก จากการผลิตวัตถุดิบเพื่อตอบสนองการผลิตอาหารที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ไปจนถึงเป็นแหล่งวิจัย พัฒนาและผลิตพันธุ์ใหม่ ภายใต้แนวทางที่มั่นคงตามวิสัยทัศน์ของสังคมธุรกิจโลกที่ว่า เกษตรกรรมจะเป็นอนาคต ด้วยจินตนาการที่กว้างไกลกว่านี้มาก

เช่นเดียวกับบทสรุปตอนสุดท้ายในเรื่องเกษตรกรรมไทย(ที่ควรต่อจากบทความตอนที่แล้ว–เกษตรกรรมไทย(5) เครือข่ายระดับโลก) ควรเพิ่มไว้ด้วยความครุ่นคิดในทำนองเดียวกันต่อไป

มูลค่าธุรกิจปุ๋ยเคมีและสารเคมีอื่นมีมูลค่ามากที่สุดในปัจจัยการผลิตเกษตรกรรมไทยยุคใหม่ แต่ดูเหมือนว่าเครือข่ายธุรกิจโลก ส่วนใหญ่ไม่ได้เข้ามาเมืองไทยด้วยตนเอง  มักผ่านกลไกอุตสาหกรรมขั้นกลางและปลายที่ต้องพึ่งพิงสารเคมีขั้นต้นจากต่างประเทศ ทั้งนี้บรรดาธุรกิจยักษ์ใหญ่สามารถควบคุมได้อย่างดี  ขณะที่ธุรกิจเมล็ดพันธ์เติบโตในเมืองไทยโดยใช้เวลานานพอสมควร มูลค่าเท่าที่มีข้อมูลน้อยกว่าหลายเท่า เครือข่ายธุรกิจระดับโลกกลับมาอยู่เมืองไทยอย่างลงหลักปักฐาน ทั้งนี้นอกจากจะมองว่าเป็นธุรกิจแห่งอนาคตของเกษตรกรรมสมัยใหม่แล้ว พื้นที่เกษตรกรรมในประเทศ ถือเป็นพื้นที่งอกเงยของความรู้และเมล็ดพันธุ์ที่สามารถส่งออกกระจายไปทั่วโลก

สังคมธุรกิจไทยไม่เหมือนเดิมแล้ว

 

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: